Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


 

หลังปฏิวัติสยาม 2475 ใช่ว่าจะไม่มีข้อเสนอให้ “แยกศาสนาจากรัฐ” เสียทีเดียว เพราะ “นายผี” หรืออัศนี พลจันทร (2461-2532) เคยเสนอผ่านบทความ “ศาสนาถูกกระชากไปสู่ตะแลงแกง” ในนามปากกา “อินทรายุธ” เผยแพร่ในอักษรสาส์น ฉบับประจำเดือนพฤศจิกายน 2492 ว่า

อันที่จริงศาสนาเป็นเรื่องส่วนตัวของประชาชน ไม่ใช่เรื่องส่วนรวม จึงควรแยกกันให้เด็ดขาดจากรัฐ และจากการอบรมสั่งสอนประชากรของประเทศ ไม่ควรที่ใครจะถูกกีดกันหวงห้ามหรือรังแก ในการที่จะนับถือศาสนาใดศาสนาหนึ่ง

ข้อเสนอดังกล่าวสะท้อนแนวคิดโลกวิสัย (secularism) และขบวนการทำให้เป็นโลกวิสัย (secularization) ที่ถือเป็นสิ่งบ่งบอก “สภาวะสมัยใหม่” (modernity) อย่างหนึ่งในโลกตะวันตก นั่นคือการแยกศาสนาจากรัฐ-การเมือง ไม่นำความจริงสูงสุดหรือความดีสูงสุดตามความเชื่อทางศาสนามาเป็นอุดมการณ์ในการปกครอง และแยกศาสนาออกจากปริมณฑลของพื้นที่สาธารณะ ให้ศาสนาอยู่ในปริมณฑลของพื้นที่ส่วนตัวเป็นต้น

รูปธรรมคือ ต้องแยกศาสนจักรออกจากสถาบันการปกครอง คือให้องค์กรทุกศาสนาเป็นเอกชน รัฐต้อง “เป็นกลางทางศาสนา” (religion neutral) ไม่มีหน้าที่อุปถัมภ์ศาสนาใดๆ มีหน้าที่เพียงรักษาเสรีภาพและความเสมอภาคในการที่ปัจเจกบุคคลจะนับถือหรือปฏิเสธศาสนาใดๆ รัฐไม่ส่งเสริมและไม่ต่อต้านศาสนาใดๆ แต่ให้ศาสนาเป็นเรื่องส่วนตัวของประชาชนที่จะนับถือ อุปถัมภ์ศาสนาใดๆ หรือปฏิเสธไม่นับถือศาสนาใดๆ โดยรัฐต้องปฏิบัติต่อคนมีศาสนาและไม่มีศาสนาเสมอภาคกัน

แต่ข้อเสนอของนายผีนอกจากสะท้อนแนวคิดโลกวิสัยดังกล่าวแล้ว ยังเป็นการวิพากษ์บนจุดยืนแบบมาร์กซิสม์ (Marxism) ที่โจมตีว่า “ศาสนาเป็นดังยาฝิ่นของประชาชน ดังนั้นการจัดการศาสนาในทางที่ถูกต้องแล้ว ประชาชนทุกคนย่อมจะมีความเสรี” ขณะเดียวกันเขาก็ยืนยันว่า “ศาสนาเป็นเรื่องส่วนตัวของประชาชน” ซึ่งแปลว่าเขาไม่ได้เสนอให้รัฐ “ไม่มีศาสนา” เพราะศาสนาที่เป็นยาฝิ่นหมายถึงศาสนาที่ถูกชนชั้นนำ (elites) ใช้เป็นเครื่องมือสนับสนุนสถานะและอำนาจของชนชั้นตัวเองเท่านั้น

ข้อเสนอแยกศาสนาจากรัฐของนายผีเกิดขึ้นในช่วงทศวรรษ 2490 ซึ่งเป็นช่วงอำนาจของคณะราษฎรถูกทำลายลง และเป็นช่วงที่ชนชั้นนำฝ่ายอนุรักษ์นิยมตีความพุทธศาสนาสร้าง “อำนาจนำทางวัฒนธรรม” (cultural hegemony) เพื่อสนับสนุน “อำนาจนำทางการเมือง” (political hegemony) ของฝ่ายตนที่สถาปนาขึ้นในรัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ.2492 เป็นต้นมา

ขณะที่ชนชั้นฝ่ายอนุรักษ์นิยมสร้าง “ความทรงจำร่วม” ทางประวัติศาสตร์ว่าพุทธศาสนากับสถาบันการปกครองและวิถีชีวิตของชนชาติไทยเป็นอันหนึ่งอันเดียวมาโดยตลอด ทำให้ประเทศชาติอยู่รอดมาได้ เป็นชาติที่มีเอกลักษณ์ทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมเป็นของตัวเองที่เราควรภาคภูมิใจ

ฉะนั้น โดยความทรงจำร่วมทางประวัติศาสตร์ดังกล่าว จึงไม่มีเหตุผลที่สังคมไทยต้องแยกศาสนาจากรัฐ เพราะนอกจากสังคมเราจะไม่มีการใช้ศาสนากดขี่ประชาชนเหมือนประวัติศาสตร์ของโลกตะวันตกแล้ว ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันระหว่างพุทธศาสนากับสถาบันการปกครอง ยังช่วยให้ชนชั้นปกครองทำการปกครองโดยธรรมและหล่อหลอมจิตใจคนไทยให้เปิดกว้างต่อศาสนาอื่นๆที่เข้ามาเผยแผ่ในไทยได้อย่างเสรี โดยไม่มีความขัดแย้งจนเกิดสงครามศาสนาและระหว่างนิกายศาสนาดังที่เคยเกิดขึ้นในโลกตะวันตก 

ทว่าในทศวรรษ 2490 จิตร ภูมิศักดิ์ (2473-2509) ได้เสนอข้อโต้แย้งบนกรอบคิดแบบมาร์กซิสม์ที่มีนัยสำคัญสนับสนุนข้อเสนอแยกศาสนาจากรัฐของนายผีชัดเจนขึ้น ในบทความที่เขียนขึ้นขณะที่ยังเป็นนิสิตจุฬา ปี 2 ชื่อยาวว่า “พุทธปรัชญาแก้สภาพสังคมตรงกิเลส วัตถุนิยมไดอะเลคติคแก้สภาพสังคมตรงตัวสังคมเองและแก้ไขด้วยการปฏิวัติ มิใช่ปฏิรูปตามแนวทางของสิทธารถ ปรัชญาวัตถุนิยมไดอะเลคติคกับปรัชญาของสิทธารถผิดกันอย่างฉกรรจ์ที่ตรงนี้” ชื่อสั้นของบทความนี้คือ “ผีตองเหลือง” ซึ่งได้กลายเป็นบทความประวัติศาสตร์ เพราะจิตถูกนิสิตหัวอนุรักษ์นิยมจับ “โยนบก” และถูกสั่งพักการเรียน

แต่สาระสำคัญจริงๆ ในบทความนี้มี 2 ส่วนหลักๆ คือ การเสนอข้อโต้แย้งที่สะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างและปัญหาเชิงปรัชญาสังคม

ปัญหาเชิงโครงสร้างที่จิตรชี้ให้เห็นคือ ระบบสงฆ์ไทยไม่ได้ช่วยให้พระสงฆ์ประพฤติปฏิบัติตนตามหลักการที่แท้จริงของพุทธศาสนา หากเป็นระบบที่รองรับอภิสิทธิ์ของคนจำนวนหนึ่งที่อาศัยผ้าเหลืองบวชเข้ามาเพื่อยกระดับทางชนชั้นของตนเอง และทำให้คนจำนวนหนึ่งใช้ “ผ้าเหลือง” บังหน้าทำมาหากินเอาเปรียบสังคม

ส่วนปัญหาเชิงปรัชญาความคิด เป็นการโต้แย้งความคิดของฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่ทั้งตีความพุทธศาสนาสนับสนุนอุดมการณ์จารีตและประชาธิปไตยแบบไทย รวมทั้งมีฝ่ายก้าวหน้าพยายามเสนอว่าพุทธศาสนาเป็นสังคมนิยม จิตรชี้ให้เห็นความแตกต่างว่า พุทธปรัชญาแม้จะคล้ายกับมาร์กซิสม์ในแง่ที่ต้องการยกระดับสังคมให้ยุติธรรมขึ้น แต่ก็แตกต่างอย่างสำคัญตรงที่พุทธปรัชญามุ่งแก้ปัญหาสังคมที่กิเลสคน ทว่ามาร์กซิสม์มุ่งแก้ปัญหาที่ตัวระบบหรือโครงสร้างทางสังคม

อีกอย่าง สิทธารถ(พุทธะ) เป็นเพียง “นักปฏิรูป” ไม่ใช่ “นักปฏิวัติ” วิธีการของสิทธิธารถจึงเป็นการ “ประนีประนอม” ที่ยังไงๆ ชนชั้นนำยุคเก่าก็สามารถดำรงสถานะที่ได้เปรียบในโครงสร้างสังคมอยู่เสมอไป แต่มาร์กซิสม์มุ่งให้เกิดการปฏิวัติประชาชนเพื่อเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสังคมอย่างถึงราก

แม้จะถูก “ประชาทัณฑ์” เพราะบทความดังกล่าว แต่พลังความคิดที่ “ตกผลึก” ของจิตรก็ไม่มีอำนาจใดหยุดยั้งได้ ในเวลาไล่เลี่ยกันเขาได้เขียนหนังสือ “โฉมหน้าของศักดินาไทย” ในนามปากกา “สมสมัย ศรีศูทรพรรณ” เนื้อหาเป็นการเสนอโครงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับศาสนาที่มีความหมายตรงข้ามอย่างสิ้นเชิงกับความทรงจำร่วมทางประวัติศาสตร์ที่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมปลูกฝังประชาชน

งานของจิตรชี้ให้เห็นว่า ภายใต้โครงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างศาสนากับรัฐตามที่เป็นมาและเป็นอยู่ สถาบันการปกครองและสถาบันศาสนา หรือชนชั้นปกครองกับศาสนจักรมีความสัมพันธ์ในเชิงอุปถัมภ์ค้ำจุนกัน มีผลประโยชน์ร่วมกันตลอดมา

ภายใต้ความสัมพันธ์เช่นนี้ศาสนาย่อมจะถูกใช้เป็นเครื่องมือมอมเมาประชาชนให้ยอมสยบ จงรักภักดีอยู่ใต้อำนาจผู้ปกครองมากกว่าจะมีสำนึกลุกขึ้นมาต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมทางสังคม และเป็นผลเสียต่อพุทธศาสนาเอง เพราะทำให้ “คงเหลืออยู่แต่เฉพาะร่างของพุทธศาสนาที่กลายเป็นยาฝิ่นมอมเมาประชาชน” ซึ่งไม่ได้หมายความว่าจิตรปฏิเสธหลักปรัชญาพุทธศาสนา

แต่สิ่งที่จิตรรวมทั้งนายผีปฏิเสธคือ ระบบความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ระหว่างสถาบันการปกครองกับสถาบันศาสนา ที่ผลิตสร้างศาสนาในรูปของความเชื่อ ประเพณี พิธีกรรมสนับสนุนการปกครองที่ไม่ให้สิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาคแก่ประชาชน และสร้างสำนึกของผู้ใต้ปกครองให้ยอมสยบต่ออำนาจของชนชั้นบน เพราะถูกปลูกฝังให้เชื่อในบุญบารมีและคุณธรรมผู้ปกครองตามคำสอนทางศาสนา

กล่าวโดยสรุป ข้อเสนอ “แยกศาสนาจากรัฐ” ตามความคิดของนายผีและจิตร ก็คือข้อเสนอให้ศาสนาเป็นเรื่องส่วนตัวของประชาชน ซึ่งสอดคล้องกับหลักการของรัฐโลกวิสัยในยุคสมัยใหม่ และสอดคล้องกับหลักปรัชญาพุทธเองที่มุ่งแก้กิเลสหรือความทุกข์ทางจิตใจของปัจเจกบุคคล

เพราะ “ร่าง” ของพุทธศาสนาที่รับใช้รัฐเป็นร่างที่ไร้ “จิตวิญญาณ” แห่งความพ้นทุกข์ แม้แต่พลังจิตสำนึกที่อยากเห็นสังคมเสมอภาคมากขึ้นตามตามเจตนารมณ์ของพุทธะก็ถูกบิดเบือนไป เพราะรัฐได้สถาปนาศาสนจักรให้พระสงฆ์มีระบบชนชั้นหรือฐานันดรศักดิ์ขึ้น เพื่อเป็นกลไกสนับสนุนอำนาจและอุดมการณ์อนุรักษ์นิยมมายาวนาน

ข้อวิพากษ์ของนายผีและจิตรได้เผยให้เราได้เห็นว่า ประวัติศาสตร์สยามไทยในแง่การใช้ศาสนาครอบงำกดขี่ประชาชนก็ไม่ต่างจากประวัติศาสตร์สังคมตะวันตก เพียงแต่อาจมีระดับและรายละเอียดต่างกัน แต่การครอบงำก็เหมือนกันคือ ทำให้สังคมไม่สามารถจะมีเสรีภาพ ความเสมอภาคในความหมายสมัยใหม่ได้จริง

การแยกศาสนาจากรัฐจึงเป็นทางเดียวที่จะปลดปล่อยศาสนาจากการตกเป็นเครื่องมือครอบงำของรัฐ และยกระดับสังคมให้มีเสรีภาพ ความเสมอภาค หรือเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น

0000

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net