ผู้หญิงในไอซ์แลนด์นัดเลิกงานเวลา 14.38 น. ประท้วงเรียกร้องค่าแรงเท่าเทียม

แม้ว่าไอซ์แลนด์จะเคยมีประวัติศาสตร์การประท้วงครั้งใหญ่ของผู้หญิงทั่วประเทศเมื่อ 41 ปีที่แล้ว จนทำให้เกิดความก้าวหน้าด้านความเท่าเทียมทางเพศมากที่สุดในโลก แต่ในมิติเศรษฐกิจ ผู้หญิงในไอซ์แลนด์ก็ยังไม่ได้รับค่าแรงเท่าเทียมกับผู้ชาย ทำให้พวกเธอนัดเลิกงานก่อนเวลาเพื่อร่วมชุมนุมเรียกร้อง โดยมีการคำนวณว่าผู้หญิงเสมือนต้องทำงานฟรีหลัง 14.38 น. เทียบกับค่าแรงชาย

26 ต.ค. 2559 เมื่อวันที่ 24 ต.ค. ของ 41 ปีก่อน ผู้หญิงทั่วประเทศไอซ์แลนด์เคยนัดหยุดงาน รวมถึงงานบ้านอย่างการทำอาหาร เพื่อประท้วงซึ่งถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมกันในไอซ์แลนด์ จากที่มีผู้หญิงเข้าร่วมราวร้อยละ 90 จนถึงในปีนี้สหภาพแรงงานและองค์กรสตรีต่างก็สนับสนุนให้ผู้หญิงในไอซ์แลนด์ออกจากงานในเวลา 14.38 น. เพื่อร่วมกันประท้วงเรียกร้องค่าแรงที่เท่าเทียม

หนึ่งในการประท้วงจัดขึ้นช่วง 15.15 น. ของวันที่ 24 ต.ค. 2559 ที่จัตุรัสไอสเตอเวิลลุร์ (Austurvöllur) ในเมืองเรคยาวิก และมีแผนการประท้วงแบบเดียวกันอีกทั่วประเทศเพื่อเรียกร้องค่าแรงที่เท่าเทียมกันระหว่างหญิงและชาย หนึ่งในความคิดเห็นท้ายบทความของไอซ์แลนด์รีวิวระบุว่ามีหญิงที่เป็นผู้อพยพในไอซ์แลนด์ร่วมหยุดงานประท้วงด้วย

สาเหตุที่พวกเธอนัดหยุดงานตั้งแต่ 14.38 น. พร้อมๆ กันนี้ก็ไม่ใช่เรื่องบังเอิญแต่อย่างใด เพราะเมื่อเทียบกับรายได้จากการทำงานของผู้ชายแล้วผู้หญิงในไอซ์แลนด์เหมือนต้องทำงานฟรีหลังจากเวลา 14.38 น. เป็นต้นไป ถ้าหากประเมินจากแนวโน้มในช่วงสิบปีที่ผ่านมามันต้องใช้เวลาถึง 52 ปีในการที่จะทำให้ช่องว่างรายได้ที่ต่างกันระหว่างเพศในไอซ์แลนด์หมดลง

เมืองเรคยาวิกซึ่งเป็นแหล่งนัดชุมนุมในปัจจุบันยังเคยเป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์ในปี 2518 ที่มีการนัดหยุดงานทั่วประเทศของผู้หญิงในไอซ์แลนด์ ผู้หญิงจำนวนมากออกจากงานเพื่อชุมนุมที่ย่านดาวน์ทาวน์ และในปี 2548 ก็มีการเฉลิมฉลองการนัดหยุดงานหมู่ของผู้หญิงอีกครั้ง โดยมีการนัดเลิกงานเร็วกว่าปกติในรูปแบบคล้ายกับในปีนี้ แต่ในปี 2548 มีการนัดเลิกงานกันตั้งแต่เวลาบ่าย 14.08 น. ในปี 2551 มีการนัดเลิกงานช้าออกไปกว่าเดิมเป็นเวลา 14.25 น. ซึ่งแม้จะดูพัฒนาการบ้างแต่ถ้าหากยังพัฒนาในระดับเดิมอยู่ก็คงต้องรอถึงปี 2611 กว่าที่ชายและหญิงในไอซ์แลนด์จะได้รับค่าแรงเท่าเทียมกัน

ดิอินดิเพนเดนต์รายงานว่าถึงแม้ไอซ์แลนด์จะเป็นประเทศที่มีความเท่าเทียมกันทางเพศมากที่สุดในโลกแต่ผู้หญิงก็ยังมีรายได้โดยเฉลี่ยน้อยกว่าชายร้อยละ 14-18 อย่างไรก็ตามผู้หญิงในไอซ์แลนด์ก็ได้รับความเป็นธรรมในด้านอื่นๆ ดีเมื่อเทียบกับคนทำงานผู้หญิงในพื้นที่อื่นๆ จำนวนมากในยุโรป

กิลฟี อาร์น-บยอร์นสัน ประธานสมาพันธ์แรงงานไอซ์แลนด์กล่าวว่า ถึงแม้กฎหมายไอซ์แลนด์จะสั่งห้ามการกีดกันเลือกปฏิบัติทางเพศ แต่สัญญาจ้างที่ไม่เท่าเทียมก็มาจากการอ้างว่าพิจารณาจากการศึกษาและประเภทของงานไม่ได้มาจากเพศสภาพ แต่ไม่ว่าจะเป็นช่องว่างค่าแรงที่มาจากข้ออ้างใดก็ตามก็ไม่มีใครยอมรับได้ที่จะต้องรอไปถึง 50 ปีเทียบเท่ากับช่วงชีวิตหนึ่งเพื่อที่จะได้ค่าแรงอย่างเสมอภาค

หญิงอายุ 26 ปีรายหนึ่งที่เข้าร่วมประท้วงให้สัมภาษณ์ต่อสื่อ Refinery29 ว่าเธอรู้สึกแย่เมื่อเห็นสถิติเรื่องความไม่เท่าเทียมกันระหว่างหญิงชาย ที่ไม่ได้เพียงแต่เกิดขึ้นในที่อื่นๆ แต่ยังเกิดขึ้นในประเทศเธอเองด้วย

ในประวัติศาสตร์การประท้วงครั้งใหญ่เมื่อปี 2518 นำโดยกลุ่มสตรีและกลุ่มสหภาพแรงงานประสบความสำเร็จในการทำให้สื่อต่างๆ พูดถึงเรื่องราวการถูกกีดกันทางเพศและการได้รับค่าแรงน้อยกว่าเพศชาย อีกทั้งยังดึงดูดความสนใจจากต่างชาติได้ด้วย หลังจากนั้นไอซ์แลนด์ก็มีความก้าวหน้าเรื่องความเท่าเทียมทางเพศในมิติทางการเมืองและวัฒนธรรมมากขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่การมี ส.ส.หญิงในสภา การอนุญาตให้ผู้ชายลาเลี้ยงดูลูกได้ และการมีนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกเมื่อปี 2553 คือ โยฮันนา ซิกูร์ดาร์ดอตตีร์ เธอยังเป็นผู้นำคนแรกที่เปิดเผยตัวเองว่าเป็นคนรักเพศเดียวกันด้วย

 

เรียบเรียงจาก

Women in Iceland to Leave Work at 2:38 PM, Iceland Review, 24-10-2016
http://icelandreview.com/news/2016/10/24/women-iceland-leave-work-238-pm

Iceland's women leave work at 2.38pm to protest gender pay gap, The independent, 25-10-2016
http://www.independent.co.uk/news/world/europe/iceland-women-protest-strike-gender-pay-gap-leave-work-early-a7378801.html

The day Iceland's women went on strike, BBC, 23-10-2015
http://www.bbc.com/news/magazine-34602822

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท