Skip to main content
sharethis

แม่ชาวอเมริกัน โพสต์เล่าเรื่องในบล็อกส่วนตัว หลังลูกพิการได้รับโดนัทฟรี เมื่อไปซื้อโดนัท ชี้คนยังมองคนพิการอย่างสงสาร แต่ไม่ได้มองอย่างเท่าเทียมและยอมรับในความสามารถ

ภาพหน้าจอจากเว็บไซต์ ดิฮัฟฟิงตันส์โพสต์ แสดงรูปของแมกซ์

26 ต.ค. 2559 แอลเลน เซียสแมน แม่ชาวอเมริกันเขียนเล่าเหตุการณ์ผ่านบล็อกส่วนตัว ในเว็บไซต์เดอะฮัฟฟิงตันโพสต์ เมื่อลูกชายทั้งสองคนเดฟและแมกซ์ได้รับโดนัทฟรีจากผู้หญิงคนหนึ่ง เหตุเพราะเห็นว่าเขามีความพิการ

เธอเล่าว่า เดฟลูกชายที่ไม่พิการเล่าให้ เธอฟังว่า เขาและแมกซ์ที่พิการด้วยโรคซีรีบรัล เพาร์ซี่ หรือซีพี (ซีพีเป็นโรคที่ทำให้กล้ามเนื้อทั่วร่างกายนั้นเกร็ง จนทำให้ใช้งานลำบาก ผู้ที่เป็นโรคนี้อาจใช้งานแขน ขาหรืออาจพูดลำบาก) เข้าไปที่ร้านดังกิ้น โดนัท และออกมากับโดนัทฟรีหนึ่งถุงที่พนักงานมอบให้กับแมกซ์ เดฟอธิบายว่า แมกซ์พยายามบอกกับพนักงานว่าเขาต้องการนมช็อกโกแลต แต่พนักงานหญิงที่เคาน์เตอร์กลับจ้องมองเฉยๆ พร้อมบอกว่า “เขาไม่พูดอะไรเลย” ทั้งที่แมกซ์พูดอยู่ตรงนั้น

หลังจากนั้นพนักงานหญิงก็ได้ถามแมกซ์ว่า เขาชอบโดนัทชิ้นไหน แมกซ์ได้ชี้ไปยังโดนัทชิ้นที่มีเยลลี่ พนักงานคนดังกล่าวจึงหยิบให้เขาสองชิ้น แต่กลับคิดเงินเพียงแค่กาแฟและนมช็อกโกแลตเท่านั้น

เซียสแมนกล่าวว่า แน่นอนว่าพนักงานหญิงเป็นคนที่มีน้ำใจ แต่การให้โดนัทฟรีแก่แมกซ์เพราะสงสารที่เขาพิการ นั้นทำให้เธอกังวลใจ และสิ่งที่แย่ยิ่งกว่าคือเธอไม่เห็นด้วยกับการที่มีคนหยิบยื่นของหวานให้กับเขาด้วยความสงสารที่พ่วงมากับความคิดที่ว่า ภาวะพิการเป็นความโชคร้ายอย่างหนึ่งและชีวิตของคนพิการจะต้องอยู่กับความเศร้าอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยง จนทำให้เขาควรได้รับโดนัทฟรี

โดยเธอหวังว่า คนที่ได้อ่านเรื่องเหล่านี้จะปฏิบัติต่อคนพิการอย่างธรรมดามากขึ้น ถ้าหากพนักงานหญิงคนดังกล่าวไม่ได้ให้โดนัทกับเด็กวัยรุ่นทุกๆ คนเป็นปกติ เธอก็ไม่ควรที่จะให้โดนัทแก่แมกซ์เช่นกัน แม้แมกซ์จะมีความแตกต่างที่มองเห็นได้อย่างกล้ามเนื้อหงิกเกร็งจากโรคที่เขาเป็นอยู่ แต่แมกซ์ก็เป็นเพียงวัยรุ่นคนหนึ่ง และเขาก็สมควรได้รับการปฏิบัติอย่างวัยรุ่นคนอื่นๆ เช่นกัน

นอกจากนี้ เธอเล่าว่า บางครั้งคนอื่นมักสวดมนต์ภาวนาให้คนพิการ เธอเคยได้พูดคุยกับ แคทินกา นิวฮอฟ ผู้เขียนเรื่อง “The Fabulous Adventures of a Four-Legged Woman” (การผจญภัยอันน่าตื่นเต้นของหญิงที่มีสี่ล้อ) ซึ่งเล่าเรื่องราวต่างๆ ของตัวเองผ่านประสบการณ์การนั่งวีลแชร์ในถนนเมืองนิวยอร์ก โดยมีลูกชายของเธออยู่เคียงข้าง เธอเล่าว่า มีผู้หญิงคนหนึ่งได้เข้ามาทำความสนิทสนมคุ้นเคยพร้อมบอกว่า เธอจะทำการอธิษฐานเพื่อนิวฮอฟ

เซียสแมนเสริมว่า บางครั้งเรื่องเหล่านี้อาจสร้างความสุขใจให้ในบางโอกาส มีคนจำนวนมากคิดว่าคนพิการนั้นไม่สามารถทำอะไรได้และต้องการความช่วยเหลือในเรื่อง และยังมีคนอีกมากที่คิดว่าคนพิการสมควรต้องได้รับการสวดภาวนาอยู่เสมอ เพราะคิดว่าชีวิตของพวกเขาช่างไม่ต่างอะไรกับโศกนาฏกรรมอันแสนเศร้าสลด

“ในฐานะแม่ของลูกพิการ ฉันมองไม่เห็นโศกนาฏกรรมอันแสนเศร้าเลยสักนิด ฉันเห็นเพียงเด็กผู้ชายคนหนึ่งผู้ซึ่งมีทุกอย่างสมบูรณ์แบบไม่ต่างอะไรกับลูกคนอื่น ดูสิ เขาก็เป็นเด็กวัยรุ่นคนหนึ่งเท่านั้น” เธอกล่าว

นอกจากการสวดมนต์อ้อนวอน และโดนัทเยลลี่แล้ว ความท้าทายอื่นๆ ที่แมกซ์ต้องเจอเมื่อปฏิสัมพันธ์กับคนที่ไม่รู้จักเขาคือ คนอื่นไม่รู้ว่าจะพูดหรือแสดงพฤติกรรมอย่างไร ตอนที่แมกซ์ยังเด็กกว่านี้ คนอื่นชอบถามเซียสแมนว่า “เขาเข้าใจฉันไหม?” ทั้งที่แมกซ์เองก็ยืนอยู่ตรงนั้น ในตอนนี้พวกเขาเหล่านั้นก็อาจเพียงแค่ยิ้มให้กับแมกซ์ จ้องมอง โดยไม่เข้าไปใกล้ชิดสนิทสนมกับแมกซ์

คาร่า ไลโบวิตซ์ นักเขียนและนักกิจกรรมแห่ง That Crazy Crippled Chick เล่าถึงช่วงเวลาที่เธอไปต่ออายุบัตรห้องสมุดกับแม่ วันนั้นเธอเหนื่อยและขี้เกียจมาก จึงตัดสินใจให้แม่เดินข้ามถนนไปทำให้แทน แต่กลับพบว่าคาร่าต้องเซ็นต์ในเอกสารแบบฟอร์มบางอย่างที่แม่ไม่สามารถทำแทนได้

“ฉันเลยต้องข้ามถนนไปเอง ซึ่งนั่นก็โอเค” เธอกล่าวถึงเหตุการณ์วันนั้น “แต่พอเจ้าหน้าที่ห้องสมุดเห็นฉันกับไม้เท้าพยุงตัว ก็เห็นได้ชัดเลยว่าเธอรู้สึกไม่ดีนักที่จะให้ฉันเข้าไปข้างใน เธอเดินไปหาแม่ของฉันแล้วพูดไปว่า “เธอไม่รู้มาก่อนว่าฉัน...” และเสียงก็เงียบไปและพยายามจะเริ่มใหม่อีกครั้ง “คุณควรบอกฉันก่อนหน้านี้ว่าเธอ...””

ไลโบวิตซ์กล่าวต่อว่า เห็นได้ชัดเจนว่า เจ้าหน้าที่พยายามอย่างมากที่จะไม่สร้างความขุ่นเคืองใจ ซึ่งเธอและแม่ก็ได้แสดงให้เห็นว่าไม่ได้มีปัญหา เธอลงชื่อในแบบฟอร์มและจากมา ก่อนที่จะระเบิดเสียงหัวเราะออกมาอย่างห้ามไม่ได้ ทั้งนี้เธอเสริมว่า ความกระอักกระอ่วนใจและความใจดีผิดที่ผิดทางเหล่านี้ล้วนเกิดจากความลำบากใจในการปฏิบัติตัวต่อผู้ที่แตกต่างไปจากตัวเอง รวมไปถึงการสันนิษฐานผิดๆ เพราะคนจำนวนมากซึ่งก็หมายรวมถึงตัวเธอเอง ไม่ค่อยมีประสบการณ์ทำความรู้จักกับคนพิการคนอื่นๆ มากนัก

“เราอาจจะได้รับการสั่งสอนจากพ่อแม่ให้มองดูว่าอะไรคือความเหมือน มากกว่าจะมองหาความแตกต่าง” เธอกล่าว

ไลโบวิตซ์ตั้งข้อสังเกตว่า การรับรู้ของคนที่เธอเห็นมักเปลี่ยนไปตามความพิการที่พวกเขาเห็นเธอ ตอนเธออยู่มหาวิทยาลัย เมื่อเธอใช้วอล์กเกอร์หรือไม้เท้าช่วยพยุงตัวแทนการนั่งวีลแชร์ ผู้คนมักมีความสุขเมื่อเห็นว่าเธอกำลังเดินและมักพูดว่า ‘ดีใจที่เห็นเธอดีขึ้น!’ ราวกับว่าเธอกำลังฟื้นจากไข้หวัด ทั้งที่ในความจริงแล้ว การเดินเป็นอะไรที่ลำบากกว่า เธอไม่ชอบเดินและคิดว่าตัวเองสามารถทำอะไรได้มากกว่าขณะอยู่บนวีลแชร์ แต่ผู้คนก็จะมีภาพในหัวอยู่แล้วว่า การเดินนั้นดีกว่า

เช่นเดียวกับกรณีของแมกซ์ หลายคนมักคิดว่า การพูดนั้นเป็นอะไรที่ดีกว่า แม้ว่าแมกซ์จะมีแอปพลิเคชั่นที่ ช่วยในการพูด ซึ่งทำให้เขาสามารถสื่อสารได้ง่ายกว่าพูดด้วยตัวเองก็ตาม และเมื่อไม่เข้าใจ คนอื่นจึงมักตะขิดตะขวงใจหรือหยิบยกเอาความเอื้ออารีสงสารตามสัญชาตญาณมาใช้ และมองข้ามเรื่องความเท่าเทียม และนี่ไม่เพียงเกิดขึ้นเฉพาะกับเด็กหรือผู้ใหญ่ที่มีความพิการแบบแมกซ์ แต่สามารถเกิดขึ้นกับคนที่เป็นดาวน์ซินโดรม ออทิสติก และความพิการอื่นๆ ได้อีกด้วย

เธอเสริมว่า หลายครั้ง เด็กที่มีความพิการจะได้รับสิทธิพิเศษ เช่น ไม่ต้องต่อคิวในสวนสนุก ซึ่งช่วยให้ทั้งเด็กที่กลัวคนเยอะๆ หรือเด็กกล้ามเนื้ออ่อนล้าง่ายที่อาจเหนื่อยจากการรอแถวนาน ได้มีโอกาสเล่นอย่างเพลิดเพลินในสวนสนุกเช่นกัน แต่การให้โดนัทฟรีกับเด็กผู้ชายคนหนึ่ง เพราะรู้สึกสงสาร ไม่ได้ช่วยให้เกิดความเท่าเทียม แต่กลับลดคุณค่า เธอและลูกได้เผชิญหน้ากับเหตุการณ์ต่างๆ เหล่านี้มานับไม่ถ้วน ไม่ว่าจะเป็นการได้ไอศกรีมฟรี ได้ของเล่นฟรี ได้เล่นเครื่องเล่นฟรี หรืออะไรก็ตามแบบฟรีๆ เพราะมีความพิการ

และแน่นนอนว่าพนักงานร้านโดนัทต้องการทำให้แมกซ์รู้สึกว่ามีวันดีๆ และสร้างมิตรภาพกับเขา ด้วยการให้โดนัทฟรี แต่แมกซ์ก็เป็นเพียงคนๆ หนึ่ง ที่ต้องการความเป็นปกติในแบบที่ทุกคนเป็น

เธอเองเน้นย้ำว่า ไม่อยากให้ลูกชายเติบโตขึ้นมาด้วยความคิดที่ว่า เขาสามารถได้สิ่งของทุกอย่างมาฟรีๆ เพราะความพิการ และเธอดีใจที่จะได้ใช้โอกาสนี้สอนลูกชายว่า คนทุกคนรวมถึงแมกซ์เองต้องแสดงให้คนอื่นเห็นว่า คนทุกคนล้วนมีความสามารถในเส้นทางของตัวเอง

“คนเราทุกคนมีความต้องการ เช่น ต้องการเป็นที่รัก ต้องการสื่อสาร ต้องการเป็นส่วนหนึ่งของบางสิ่ง เราแบ่งปันความหวังและความฝันเหมือนกัน มีความสนใจและความชื่นชอบที่เหมือนกัน เรามีความต้องการในการคิดและโต้แย้ง เรามีความรับผิดชอบที่จะต้องดำรงชีวิตอยู่อย่างมีเป้าหมายและมีความหมาย เราแบ่งปันสิ่งต่างๆ เหล่านี้กับคนอื่นเพราะพวกเราไม่มีความแตกต่างกัน พวกเราทุกคนเหมือนกัน” เธอกล่าว

เธอทิ้งท้ายว่า ถึงแม้แมกซ์อาจไม่เข้าใจในเรื่องโดนัทเยลลี่นี้ เธอก็ยังคาดหวังให้คนอื่นเปลี่ยนความคิดที่มีต่อคนพิการและเมื่อแมกซ์โตขึ้นก็คงไม่มีคนต้องการให้โดนัทกับเขาอีกต่อไป แต่หากคนเหล่านั้นไม่เปลี่ยนความคิด เธอก็หวังว่าแมกซ์จะสามารถบอกกับพวกเขาได้ว่า “คุณไม่ต้องให้ผมหรอกครับ ผมสามารถจ่ายสิ่งเหล่านั้นเพื่อตัวผมเองได้ แต่ยังไงก็ขอบคุณนะ”

 

แปลและเรียบเรียงจาก

http://www.huffingtonpost.com/ellen-seidman/you-dont-have-to-give-my-_b_12363454.html

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net