Skip to main content
sharethis
26 ต.ค. 2559 วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เรื่องโรดแมปเลือกตั้งในขณะนี้ยังไม่ถือว่ามีการเลื่อนใดๆ เกิดขึ้น เพราะถ้าไม่ยึดตามนี้จะมีคนคอย อยากเลื่อน ซึ่งยืนยันว่าไม่เลื่อน ส่วนกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญร่างรัฐธรรมนูญ คือมีเวลา 90 วัน เมื่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาแล้วเสร็จก่อนส่งมายังรัฐบาล รัฐบาลก็ยังมีเวลา 20 วัน ในการนำความขึ้นกราบบังคมทูล จึงไม่มีปัญหา
 
"ตรงนี้มีการประสานเป็นการภายในแล้วว่ากิจการใดเร่งด่วนให้เสนอไปตามขั้นตอน หากไม่เร่งด่วนก็ทำตามกรอบเวลา" วิษณุ กล่าว
 
โดยวานนี้ (25 ต.ค.59) ศ.กิลเลียน ทริกส์ (Prof. Gillian Triggs) ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งเครือรัฐออสเตรเลีย เข้าพบ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ณ ห้องรับรอง ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล ในโอกาสเยือนไทยระหว่างวันที่ 25– 27 ต.ค. 2559 เพื่อเข้าร่วมการประชุม Asia – Pacific Forum on National Human Rights Institutions – NHRIs
ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งเครือรัฐออสเตรเลีย เข้าพบ วิษณุ เครืองาม (ที่มาภาพ เว็บทำเนียบรัฐบาล)
 
วิษณุ ได้ชี้แจงถึงสถานการณ์เมืองไทยและการดำเนินการตาม Roadmap พร้อมยืนยันว่าทุกอย่างกำลังเดินหน้าตามกรอบเวลาที่ได้วางไว้ อย่างไรก็ตาม ช่วงเวลานี้เป็นระยะเวลาพิเศษ จึงจำเป็นต้องดำเนินการตามกฎหมายอย่างเข้มงวดเพื่อทำให้เกิดความสงบเรียบร้อยในประเทศ ซึ่งฝ่ายออสเตรเลียเข้าใจสถานการณ์ประเทศไทยในขณะนี้ สำหรับประเด็นที่ฝ่ายออสเตรเลียให้ความสนใจ คือ ประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนด้านสังคม (Social Human Rights) การต่อต้านการค้ามนุษย์และการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติ พร้อมชื่นชมบทบาทของไทยและแสดงความต้องการที่จะสนับสนุนความร่วมมือระหว่างไทย-ออสเตรเลีย ในระดับภูมิภาคภายใต้กรอบอาเซียนด้วย
 
นอกจากนี้ ศ.กิลเลียน ทริกส์ ได้กล่าวถึง ความร่วมมือระหว่างคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนออสเตรเลียและไทย โดยการเดินทางมาเยือนไทยครั้งนี้ เพื่อการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างสององค์กรผ่านการทำ work shop  ทั้งนี้ ในปัจจุบัน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งเครือรัฐออสเตรเลีย ต้องการส่งเสริมความร่วมมือด้านสิทธิมนุษยชนกับภาคธุรกิจ เพื่อสร้างความตระหนักรู้ในเรื่องนี้  เนื่องจาก พบว่า ในหลายกรณีมีการกระทำที่เข้าข่ายการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อลูกจ้างทั่วโลก ทั้งจากองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่และขนาดเล็กโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ในส่วนของประเทศไทย รองนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนของประเทศไทยเป็นองค์กรอิสระที่ทำงานเชิงรุก โดยในช่วงทีผ่านมา รัฐบาลได้รับฟังข้อเสนอแนะจากคณะกรรมการฯ ในหลายโอกาส และพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเอง ก็ได้ให้ความสนใจในเรื่องนี้ และได้เคยสั่งการให้หน่วยงานภาครัฐของไทยทำงานร่วมกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนอย่างใกล้ชิดเพื่อรับฟังความต้องการและชี้แจงการทำงานระหว่างกัน โดยที่ผ่านมาได้มีการจัดการประชุมระหว่างหน่วยงานด้านความมั่นคงกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนไทยด้วย นอกจากนี้ รัฐบาลไทยได้ให้ความสำคัญเกี่ยวกับประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนทางสังคม (Social Human Rights) โดยเฉพาะแก่ผู้ด้อยโอกาส สิทธิเด็กและสตรี คนทุพพลภาพ รวมถึงสิทธิของผู้สูงอายุ ซึ่งออสเตรเลียเห็นพ้องและชื่นชมบทบาทของไทยในด้านนี้
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net