Skip to main content
sharethis

นักมานุษยวิทยาระบุความเศร้าเป็นกลไกต่อรอง จัดการความขัดแย้งในแต่ละสังคมที่มีการแสดงออกแตกต่างกันไป แต่ ‘รัฐไทย’ พยายามจัดระเบียบการแสดงออกความเศร้าให้เหมือนกัน ขณะที่ความโกรธคือรูปแบบหนึ่งของความเศร้าและใช้กับผู้ที่เป็นปฏิปักษ์กับความเศร้าของตน สะท้อนวิธีคิดแบ่งขั้วดี-เลวในสังคมไทย

นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ ภาพจาก sacvdochannel https://www.youtube.com/watch?v=Ry-eqLfvRdg

‘ความเศร้า’ เป็นอารมณ์พื้นฐานของมนุษย์ การแสดงออกซึ่งความเศร้าในแง่หนึ่งก็คือการเยียวยาจิตใจชนิดหนึ่ง ไม่ให้ชีวิตต้องจมดิ่งอยู่กับการสูญเสีย แต่มิได้หมายความว่าคนทุกคนจะจัดการกับความสูญเสียที่เกิดขึ้นได้

ในฐานะมนุษย์ที่อยู่ร่วมกันเป็นสังคมที่มีแต่จะเติบใหญ่ขึ้นทุกวัน ความเศร้าดูจะมีหน้าที่สลับซับซ้อนเพิ่มขึ้นไปกว่าเรื่องของปัจเจกแต่ละคน แต่เป็นกลไกในการจัดระเบียบหลายสิ่งอย่างในสังคม อย่างน้อยนักมานุษวิทยาก็คิดเช่นนั้น

มานุษยวิทยาของความเศร้า

นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ หัวหน้ากลุ่มงานวิจัย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร อธิบายว่า ในทางมานุษยวิทยามีแนวคิดในการวิเคราะห์ความเศร้าโศกของมนุษย์อยู่ 2 แนวสำคัญ หนึ่งคือแนวจิตวิเคราะห์ ซึ่งจะพยายามมองคนในลักษณะที่เป็นอารมณ์ความรู้สึกเชิงปัจเจก และสอง-เป็นมานุษยวิทยาแนวประกอบสร้างทางสังคมที่จะมองบริบทและเงื่อนไขทางวัฒนธรรมที่หล่อหลอมให้ความเศร้าโศกถูกแสดงออก กล่าวคือมิติของความโศกเศร้าในทางมานุษยวิทยาจะพยายามมองทั้งมิติทางอารมณ์เชิงปัจเจกกับมิติทางบริบทวัฒนธรรม ซึ่งก็ใช่ว่าทั้งสองแนวทางจะสามารถอธิบายได้อย่างไร้ที่ติ เพราะทั้งสองแนวก็ยังมีข้อจำกัดในการอธิบายอยู่พอสมควร

พูดถึงวัฒนธรรมของความโศกเศร้า นักมานุษยวิทยามักสนใจอธิบายประสบการณ์ที่มีผลกระทบโดยตรงต่อความสูญเสียคนที่เป็นที่รักว่าส่งผลกระทบในเชิงจิตวิทยาหรืออารมณ์ความรู้สึกของคนอย่างไร เช่น อาจจะรู้สึกเป็นวิกฤตด้านอารมณ์ เช่นเคยผูกพันกับใครบางคนมายาวนาน วันหนึ่งเสียเขาไปก็จะเกิดการช็อกทางอารมณ์ อาจนำไปสู่การแสดงความเศร้าโศกเสียใจ กินไม่ได้นอนไม่หลับเป็นเวลานาน ซึ่งวิธีการแสดงออกในแต่ละวัฒนธรรมย่อมมีการแสดงออกไม่เหมือนกัน นฤพนธ์อธิบายว่า

“ในบางวัฒนธรรมการสูญเสียคนที่เป็นที่รักเป็นเรื่องของปัจเจก โดยเฉพาะในสังคมตะวันตก แต่ในบางสังคม การสูญเสียคนอันเป็นที่รักเป็นเรื่องของชุมชน ของคนจำนวนมาก ดังนั้นการแสดงออกในแง่ปัจเจกกับคนหมู่มากก็อาจจะไม่เหมือนกัน เช่น ถ้าเป็นการแสดงออกในเชิงปัจเจก คนแต่ละคนก็จะมีวิธีการแสดงออกในแบบที่ตัวเองคุ้นเคย เช่นอาจจะร้องไห้กับเพื่อนหรือญาติพี่น้อง บางคนอาจจะปลีกตัวเองหรือตัดขาดจากโลกภายนอกเพื่อเยียวยารักษาความสูญเสีย ความโศกเศร้า หรือเพื่อลืมการสูญเสีย เป็นการแสดงออกเชิงปัจเจกที่ไม่เหมือนกัน

“ส่วนการแสดงออกของคนหมู่มากจะถูกกระทำผ่านพิธีกรรมบางอย่างหรือการปฏิบัติเหมือนๆ กัน เช่น การจัดพิธีเชิงศาสนาเพื่อรำลึกถึงคนที่สูญเสียไปแล้ว และเชิญคนในครอบครัว ในหมู่บ้าน ญาติพี่น้องมารับรู้การสูญเสียร่วมกัน เพื่อที่จะบ่งบอกว่าคนคนนี้มีคุณค่าความหมายต่อชุมชนนี้อย่างไร ในสังคมตะวันตกอาจจะใส่ชุดสีดำ ในบางวัฒนธรรมอาจไปรวมตัวกันในบ้านของผู้ตาย หรือไปจัดงานในที่ที่เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เป็นต้น เพื่อรำลึก ผ่อนคลายความโศกเศร้าให้น้อยลง อันนี้เป็นการวิเคราะห์ทางมานุษยวิทยาที่พยายามมองมิติเชิงปัจเจกและสังคมไปพร้อมๆ กัน”

“การสร้างกฎเกณฑ์หรือทฤษฎีความเศร้าที่จิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาพยายามบอกว่า ขั้นตอนหรือกระบวนการที่มนุษย์จะเยียวยาความเศร้าจะต้องออกมาเป็นแพทเทิร์นเดียวกัน นักมานุษยวิทยาอาจไม่คิดอย่างนั้น แต่มนุษย์ในแต่ละวัฒนธรรมแสดงความเศร้าผ่านเงื่อนไขทางวัฒนธรรม"

นอกจากนี้ ความเศร้ายังมีส่วนช่วยในการต่อรองและขจัดความขัดแย้งที่เกิดขึ้น นฤพนธ์ยกตัวอย่างสังคมชนเผ่า เวลามีคนในครอบครัวเสียชีวิต ญาติพี่น้องต้องมาประชุมร่วมกันว่าจะจัดงานไว้อาลัย เช่น จะเผาหรือฝัง หรือทำตามขนบธรรมเนียมประเพณีอย่างไร ซึ่งพี่น้องในสังคมชนเผ่าค่อนข้างจะเป็นสังคมขนาดเล็ก ไกล่เกลี่ยต่อรองง่าย เชื่อฟังพ่อมดหมอผีหรือผู้ประกอบพิธีกรรม แต่ในสังคมที่มีความซับซ้อนอย่างในสังคมเมือง สังคมอุตสาหกรรม สังคมทุนนิยมสมัยใหม่ เวลาผู้เสียชีวิตเป็นบุคคลสาธารณะจะมีองค์กรส่วนต่างๆ เข้ามาเกี่ยวข้องและมีวิธีคิดในการจัดงานที่หลากหลาย ดังนั้น หน่วยงานกลางซึ่งก็คือรัฐบาลต้องเข้ามาไกล่เกลี่ยต่อรอง โดยต้องเลือกเอาขนบธรรมเนียมบางอย่างมาเป็นบรรทัดฐาน เช่น จารีตประเพณีอย่างที่ปฏิบัติกันมาเป็นตรงกลางเพื่อให้การต่อรองเรื่องการไว้ทุกข์เป็นไปในทางเดียวกัน นี่เป็นการไกล่เกลี่ยต่อรองเรื่องการไว้ทุกข์ เพื่อให้อยู่ในระเบียบ ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐเป็นผู้ให้ความเห็นชอบ

“การสร้างกฎเกณฑ์หรือทฤษฎีความเศร้าที่จิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาพยายามบอกว่า ขั้นตอนหรือกระบวนการที่มนุษย์จะเยียวยาความเศร้าจะต้องออกมาเป็นแพทเทิร์นเดียวกัน นักมานุษยวิทยาอาจไม่คิดอย่างนั้น แต่มนุษย์ในแต่ละวัฒนธรรมแสดงความเศร้าผ่านเงื่อนไขทางวัฒนธรรม ที่มีขั้นตอนที่อาจไม่ต้องเหมือนตะวันตก ความเศร้าจึงไม่ใช่เกณฑ์ตายตัวที่ใช้อธิบายทุกสังคมได้เหมือนกัน อาจจะอธิบายได้เฉพาะสังคมสมัยใหม่ที่รับรู้ข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อ ผ่านวัฒนธรรมป็อป แต่ในสังคมที่ตัดขาดจากสิ่งเหล่านี้ ความเศร้าอาจจะมีเงื่อนไขอีกแบบหนึ่ง จึงเป็นคำถามที่นักมานุษยวิทยาพยายามตรวจสอบว่า เราจะอธิบายความเศร้าภายใต้กฎเกณฑ์ตายตัวหรือจะอธิบายภายใต้ความหลากหลายของความหมายของความเศร้า”

เมื่อ ‘รัฐไทย’ จัดระเบียบความเศร้า

เมื่อการแสดงความเศร้าเป็นเรื่องเชิงวัฒนธรรม มันจึงเป็นเรื่องยากที่จะหา ‘กฎเกณฑ์’ การแสดงความเศร้าได้ นักมานุษยวิทยาพยายามตั้งข้อสังเกตว่า ความเศร้าเป็นเรื่องเชิงสัญชาติญาณที่มนุษย์ทุกสังคมมีเหมือนกันหรือไม่ หรือความเศร้าเป็นเงื่อนไขในแต่ละพื้นที่ซึ่งทำให้ผู้คนเศร้าแตกต่างกัน แนวคิดที่ว่าไม่ว่ามนุษย์จะอยู่ในพื้นที่ไหนของโลกจะมีการแสดงความเศร้าออกมาคล้ายๆ กัน ก็จะตั้งคำถามว่าถึงแม้ความเศร้าจะเป็นกลไกทางจิต เช่น ร้องไห้ มนุษย์ทุกคนบนโลกร้องไห้เป็น แต่การร้องไห้มีความหมายแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ คนร้องไห้ภายใต้ความหมายที่ไม่เหมือนกัน ดังนั้นการนิยามความเศร้าเป็นคาแรกเตอร์ร่วมของมนุษย์อาจอธิบายได้ไม่สอดคล้องกับเงื่อนไขของมนุษย์ที่มีวัฒนธรรมแตกต่างกัน

การแสดงออกซึ่งความเศร้าในแต่ละวัฒนธรรมหรือกระทั่งในแต่ละบุคคลจึงยากที่จะเหมือนกัน ความขัดแย้งจะเกิดขึ้นก็เมื่อมีอำนาจเข้ามาข้องเกี่ยวและกำหนดกฎเกณฑ์ว่า บุคคลควรแสดงความเศร้าออกมาอย่างไร นฤพนธ์วิเคราะห์ผ่านแว่นมานุษยวิทยาว่า สังคมไทยพยายามจะสร้างรูปแบบหรือกฎเกณฑ์บางอย่าง ซึ่งเป็นกฎเกณฑ์ที่ถูกสร้างขึ้นภายใต้ ‘รัฐไทย’

“รัฐไทยเข้ามามีบทบาทในการจัดระเบียบความเศร้าของประชาชน เช่น คุณจะต้องไว้ทุกข์กี่วัน แต่งชุดอย่างไรจึงจะเรียกว่าเป็นการไว้ทุกข์ ไว้อาลัย คุณจะต้องมีพิธีปฏิบัติอย่างไร มีขั้นตอนตามที่กำหนดอย่างไร รวมทั้งสื่อมวลชนก็เป็นเครื่องมือถ่ายทอดกฎระเบียบของความเศร้า เหล่านี้เป็นการจัดระเบียบความเศร้าที่รัฐไทยพยายามควบคุม

“ถามว่ากฎระเบียบที่รัฐไทยเข้ามาควบคุม ประชาชนทำไมถึงน้อมรับ อันนี้น่าสนใจมากกว่า เนื่องจากมีไอคอนของความเศร้า ซึ่งในวาทกรรมทางสังคม ไอคอนของความเศร้าเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่จะทำให้ประชาชนยอมรับหรือไม่ยอมรับ ถ้าคุณนำคนที่ไม่เป็นไอคอนในความหมายของการเป็นคนดี การจัดระเบียบความเศร้าอาจไม่ประสบความสำเร็จ เพราะคนบางคนอาจจะรู้สึกว่าไม่ต้องทำตามกฎระเบียบนี้ก็ได้ แต่ที่คนยอมทำตาม เพราะไอคอนของความเศร้าถูกนิยามว่าเป็นคนดี ซึ่งเราจะไม่ตัดสินว่าวาทกรรมนี้ดีหรือไม่ดี แต่เมื่อมีวาทกรรมของการเป็นคนดี สังคมไทพร้อมที่จะรับและถ่ายทอดสู่คนรอบข้างตลอดเวลา ซึ่งปัจจุบันวาทกรรมการเป็นคนดีมีพลังมากว่า ความหมายของการเป็นคนดียิ่งใหญ่เสียจนทุกคนยอมรับโดยไม่มีคำถาม อันนี้คือวาทกรรมทางสังคมที่มีผลทำให้ไอคอนของความเศร้านำไปสู่การปฏิบัติตามกฎระเบียบของความเศร้าได้อย่างประสบผลสำเร็จอย่างดี”

วาทกรรมคนดีที่มีพลังล้ำลึกในสังคมไทย การแสดงความเศร้าออกมากลายเป็นรูปแบบหนึ่งของความดี และการไม่แสดงออกผกผันกลับเป็นความชั่วร้ายโดยปริยาย นฤพนธ์ ยกตัวอย่างว่า

“รัฐไทยเข้ามามีบทบาทในการจัดระเบียบความเศร้าของประชาชน เช่น คุณจะต้องไว้ทุกข์กี่วัน แต่งชุดอย่างไรจึงจะเรียกว่าเป็นการไว้ทุกข์ ไว้อาลัย คุณจะต้องมีพิธีปฏิบัติอย่างไร มีขั้นตอนตามที่กำหนดอย่างไร รวมทั้งสื่อมวลชนก็เป็นเครื่องมือถ่ายทอดกฎระเบียบของความเศร้า เหล่านี้เป็นการจัดระเบียบความเศร้าที่รัฐไทยพยายามควบคุม"

“เช่นถ้าดูจากผลงานที่ทำเอาไว้ คนที่มองต่างออกไปจะเริ่มรู้สึกว่าถ้าพูดอะไรที่ขัดกับความรู้สึกตรงนั้น เขาจะกลายเป็นคนเลวในสายตาคนส่วนใหญ่ เพราะการวิพากษ์ผลงานของคนดี เหมือนกับว่าผู้ที่วิพากษ์เป็นคนชั่วไปเลยโดยปริยาย จึงสุ่มเสี่ยงต่อการแบ่งแยก ทั้งที่คนวิพากษ์ไม่ได้มีเจตนาจะบอกว่าผลงานนั้นไม่ดี แต่เขาอาจจะมีวิธีคิดในเรื่องผลงานอีกแบบหนึ่ง การวิพากษ์วิจารณ์ผลงานของคนดีในสังคมไทยจึงทำได้ยาก เพราะคนที่มองต่างจะกลายเป็นคนชั่วไปเลย”

ระเบียบของความเศร้าในสังคมที่หลากหลายซับซ้อน

นฤพนธ์นำกรอบวิเคราะห์ข้างต้นมาอธิบายสถานการณ์ในสังคมไทย ณ เวลานี้ว่า

“คนที่รักในหลวงมีจำนวนมาก ข้อมูลเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจก็ยิ่งใหญ่ จนทำให้ความเศร้ากลายเป็นอัตโนมัติ เพราะเราจะเห็นข้อมูลพระราชกรณียกิจต่างๆ มากมาย สิ่งเหล่านี้เป็นสัญลักษณ์ ที่มากกว่าการเป็นคนดี แต่เป็นสัญลักษณ์ของความมีบุญาบารมี สังคมไทยให้ความสนใจคนที่มีบุญาบารมี ยิ่งใหญ่และเป็นคนดี การที่คนที่มีบุญาบารมีและทำประโยชน์ให้กับคนจำนวนมากสามารถอธิบายได้ด้วยวัฒนธรรมไทย ซึ่งมองกษัตริย์เป็นสมมติเทพตามคติความเชื่อแบบฮินดูตั้งแต่สมัยอยุธยา ประกอบกับพระราชกรณียกิจต่างๆ ที่สอดรับกับวาทกรรมการพัฒนามนุษย์ วาทกรรมการพัฒนาประเทศ วาทกรรมสมมติเทพกับวาทกรรมเรื่องการพัฒนามันมาเจอกัน ก็ยิ่งมีพลังมากในการยกย่องบุคคลให้เป็นคนที่ทุกคนจะแสดงความไว้อาลัยอย่างไม่มีใครปฏิเสธได้”

รากเดิมทางวัฒนธรรมที่ดำรงอยู่ก่อนแล้วเป็นฐานอย่างดีให้รัฐเข้ามารับช่วงต่อ โดยทำหน้าที่เป็นผู้จัดระเบียบและกำหนดวิธี ‘การแสดงออก’ ของความเศร้าให้ผู้คนต้องปฏิบัติตาม

“คนไทยยินดีที่จะนับถือพระมหากษัตริย์เป็นสมมติเทพอยู่แล้ว และรัฐไทยก็เข้ามาสร้างตั้งนานแล้วในการเชิดชูสถาบันกษัตริย์เป็นหนึ่งในสามสถาบันหลัก เพื่อที่จะบอกว่าประเทศไทยมีสถาบันสำคัญ 3 ส่วนนี้เป็นที่ยึดเหนี่ยว กลไกที่รัฐเข้ามาสร้างก็ทำมาตลอด ไม่ว่าจะเป็นการจัดพระราชพิธี กฎเกณฑ์ต่างๆ ในการสัมพันธ์กับสถาบัน รัฐไทยนำรากฐานทางวัฒนธรรมมาผสมกับกฎระเบียบใหม่ที่มีการปรับใช้ตลอดเวลา”

ถึงรัฐไทยจะพยายามจัดระเบียบความเศร้า ทว่า ในสังคมที่มีความสลับซับซ้อนและหลากหลายก็ดูจะเป็นอุปสรรคต่อการจัดระเบียบความเศร้าของรัฐ ซึ่งข้อเท็จจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ แต่ละบุคคลมีการแสดงออกถึงความโศกเศร้าแตกต่างกันไป หรือกระทั่งว่าบางคนไม่เศร้า เมื่อใครสักคนไม่ได้แสดงความเศร้าออกมาตามระเบียบที่รัฐไทยขีดกรอบ ความรุนแรงก็ดูจะเป็นผลที่เลี่ยงได้ยาก

“การล่าแม่มด ใช่ เป็นอารมณ์โกรธ เมื่อคนที่รักเสียชีวิตไป ทำไมบางคนจึงไม่แสดงการไว้อาลัย คนที่รู้สึกว่าคนที่ไม่ไว้อาลัยเป็นปฏิปักษ์ต่ออารมณ์เศร้าของเขา เขาก็จะโกรธ คนพวกนี้ควรจะหาทางกำจัด"

“ใช่ เพราะตอนนี้ถ้าเกิดใครใส่เสื้อสีแดงจะกลายเป็นตัวประหลาด สังคมก็จะวิพากษ์วิจารณ์ผ่านโซเชียล มีเดีย เมื่อไม่ได้แสดงพฤติกรรมตามระเบียบที่รัฐกำหนด เช่น รัฐจะขอร้องว่าในช่วงเวลานี้ขอความร่วมมือให้ไว้ทุกข์ 30 วัน ราชการ 1 ปี โดยมีเสื้อผ้าตามแบบที่กำหนดหรือติดโบว์สีดำ นี่เป็นกฎระเบียบของความเศร้าที่ประชาชนต้องทำตาม คนบางคนก็อาจทำตามโดยใจสมัคร แต่บางคนทำตามในฐานะที่เคารพกฎกติกาของสังคม บางคนก็อาจทำตามเพราะไม่มีทางเลือก”

ความโกรธคือส่วนหนึ่งของความเศร้า และปรากฏการณ์ล่าแม่มด

ในมิติเชิงปัจเจก เราคงต้องเข้าใจว่าในห้วงเวลาที่สูญเสียคนที่ตนรัก ความเศร้าทำให้มนุษย์เปราะบาง ซึ่งรูปแบบหนึ่งของการแสดงออกของความเศร้าก็คือ ความโกรธ

“ทฤษฎีนี้มาจากพวกนักมานุษยวิทยาแนวจิตวิเคราะห์ มองว่าขั้นตอนของการแสดงอารมณ์ความรู้สึกเศร้ามีขั้นตอนของอารมณ์ เช่น เมื่อรู้ว่าสูญเสียคนที่รักไป สเต็ปแรกจะช็อก แล้วก็จะเริ่มหาเหตุผลว่าทำไมเราจึงสูญเสียคนที่เรารักไป ไตร่ตรองว่าทำไม จากนั้นก็เข้าสู่โหมดของการเยียวยาจิตใจ ฉันจะรำลึกถึงคนที่เรารักได้ยังไง ถ้าไตร่ตรองแล้วรู้สึกว่าเขายังไม่ควรตาย ยังไม่น่าจะจากไป ก็จะเริ่มรู้สึกโมโห ทำไมเขาถึงตาย จะโกรธคนที่กระทำให้เขาตาย หรือด้วยเงื่อนไขอะไรก็แล้วแต่ที่อาจำให้เขามีชีวิตรอด แต่ทำไมจึงไม่ยอมให้เขามีชีวิตรอด ก็จะหงุดหงิดและโกรธ ถ้าระบายอารมณ์โกรธไม่สำเร็จอาจจะหาหนทางอื่นๆ เช่น อาจจะไปรวมตัวกันกับคนซึ่งมีอารมณ์โกรธแบบเดียวกันเพื่อแสดงออก เรียกร้องความยุติธรรม หรืออะไรก็ตามแต่ แต่ละกรณีไม่เหมือนกัน

“การล่าแม่มด ใช่ เป็นอารมณ์โกรธ เมื่อคนที่รักเสียชีวิตไป ทำไมบางคนจึงไม่แสดงการไว้อาลัย คนที่รู้สึกว่าคนที่ไม่ไว้อาลัยเป็นปฏิปักษ์ต่ออารมณ์เศร้าของเขา เขาก็จะโกรธ คนพวกนี้ควรจะหาทางกำจัด ซึ่งในทางปฏิบัติก็เป็นเรื่องกฎหมายว่า ในสังคมไทยจะต้องถูกควบคุมกันโดยสถาบันบางอย่าง ถึงแม้ว่าเราจะไม่พอใจคนคนนี้ แต่ก็ไปทำร้ายคนคนนี้ไม่ได้ อารมณ์โกรธก็จะยิ่งเทน้ำหนักในการสร้างพรรคพวกเพื่อหว่านล้อมสังคมให้เกิดกระแสจับคนนี้มาลงโทษ เราก็เห็นกันอยู่ในโซเชียล มิเดีย

“กระแสการไล่ล่าคนชั่วในกรณีที่คิดต่างจากคนส่วนใหญ่ก็เป็นภาพสะท้อนของสังคมซึ่งมีวิธีคิดแบ่งแยกขั้วตรงข้ามออกจากกันอย่างเด็ดขาด ทั้งที่ความเห็นที่แตกต่างไม่ได้บอกว่าคนคนนั้นดีหรือชั่ว แต่เป็นเงื่อนไขการใช้ชีวิตที่ไม่เหมือนกัน เติบโตขึ้นภายใต้บริบทที่ต่างกัน ทำให้มองโลกไม่เหมือนกัน”

“การล่าแม่มดปัจจุบันนี้ อารมณ์โกรธสามารถสร้างอารมณ์ร่วมได้ คนที่เขารักมากๆ แล้วมีคนมาพูดขัดอารมณ์ความรู้สึกเขา คนจำนวนมากจะมีอารมณ์ร่วม เกิดกระแสการโจมตี เรียกร้องให้นำคนคนนั้นมาลงโทษ มีการโพสต์ข้อความด่ากัน กระแสพวกนี้ไม่ใช่เฉพาะเรื่องนี้ มีมานานแล้ว คนที่สวนกระแสสังคมกระแสหลักและไม่เข้าหูคนส่วนใหญ่จะกลายเป็นคนชั่วไปเลย ซึ่งคำถามในเชิงมานุษยวิทยา สังคมที่อ่อนไหวต่อความคิดที่แตกต่างแบบสังคมไทย ความคิดแบบขาวกับดำที่สังคมไทยรู้สึกแบ่งแยกอย่างน่ากลัว ถ้าคิดต่างจากฉันก็ไม่ใช่พวกฉัน ในสังคมอ่อนไหวต่อการแบ่งขั้วแบบนี้เสี่ยงต่อการสร้างวาทกรรมการเกลียดชังคนที่เห็นต่าง โดยที่เราอาจจะไม่พยายามเข้าใจคนที่คิดต่างมีบริบทของความคิดเกิดขึ้นภายใต้เงื่อนไขอะไร คนไม่อยากจะเรียนรู้บริบทของคนคนนั้น แต่พร้อมที่จะตัดสินไปเลย โดยไม่ต้องเสียเวลาคิดมาก”

นฤพนธ์อธิบายในตอนท้ายเพื่อให้เห็นเงื่อนไขชีวิตอันหลากหลายที่ประกอบสร้างความคิดความเชื่อของแต่ละคนขึ้นมา และนั่นไม่ใช่สิ่งที่สามารถตัดสินได้ว่าดีหรือเลว

“กระแสการไล่ล่าคนชั่วในกรณีที่คิดต่างจากคนส่วนใหญ่ก็เป็นภาพสะท้อนของสังคมซึ่งมีวิธีคิดแบ่งแยกขั้วตรงข้ามออกจากกันอย่างเด็ดขาด ทั้งที่ความเห็นที่แตกต่างไม่ได้บอกว่าคนคนนั้นดีหรือชั่ว แต่เป็นเงื่อนไขการใช้ชีวิตที่ไม่เหมือนกัน เติบโตขึ้นภายใต้บริบทที่ต่างกัน ทำให้มองโลกไม่เหมือนกัน”

การขยับขยายพื้นที่ในหัวใจให้ยอมรับความแตกต่าง พร้อมๆ การเปิดพื้นที่ทางสังคมให้เกิดการแสดงความเศร้าออกมาอย่างหลากหลาย โดยไม่ต้องผูกขาดกับการจัดระเบียบความเศร้าของรัฐที่ลงมากระทำกับผู้คน

อาจบางทีความเศร้านั้นจะงดงามและมีความเป็นมนุษย์มากยิ่งขึ้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net