Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม ที่ผ่านมา ได้การกระจายข่าวอย่างกว้างขวางในโลกออนไลน์ว่า สงครามโลกครั้งที่สาม กำลังจะเกิดขึ้น เช่น มีการเผยแพร่ข่าวว่า สหรัฐฯได้ปรับระดับการเตือนภัยสงครามไปอยู่ในระดับที่ตึงครียด เตรียมพร้อมรบในสงครามนิวเคลียร์กับรัสเซีย อีกด้านหนึ่งก็แพร่ข่าวว่า วลาดีมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ประกาศต่อสหรัฐอเมริกาว่า “ถ้าสหรัฐฯ ต้องการสงคราม เราก็พร้อมจะทำสงครามทุกที่” อีกทั้งยังมีการนำเสนอว่า รัฐบาลรัสเซียได้มีการสั่งการให้ประชาชนตระเตรียมในกรณีที่จะเกิดสงครามนิวเคลียร์แล้ว และยังมีอีกแหล่งข่าวหนึ่งก็เสนอว่า จีนพร้อมจะร่วมมือกับรัสเซีย และมีการเตรียมรับสงครามนิวเคลียร์เช่นกัน

ประเด็นเรื่องความขัดแย้งระหว่างประเทศมหาอำนาจที่เพิ่มทวีขึ้นมีมาก่อนหน้านี้แล้ว โดยเฉพาะมักจะมีการอธิบายกันว่า อเมริกาและรัสเซียขัดแย้งกันหนักจากการสนับสนุนคนละฝ่ายในสงครามซีเรีย ก่อนหน้านี้ ก็เคยมีการเสนอข่าวว่า มีอีก 30 ประเทศที่พร้อมจะสนับสนุนรัสเซียหากเกิดสงคราม กรณีนี้ชัดเจนมากขึ้นเมื่อสื่อกระแสหลักของไทย เช่นไทยรัฐออนไลน์ในวันที่ 16 ตุลาคม ก็ออกข่าวพาดหัวว่า “ซีเรียชนวนระเบิด เตือนสงครามโลกเกิดขึ้นได้ภายใน 30 วินาที” และข่าวลักษณะนี้ก็มีการแชร์ออกไปอย่างกว้างขวาง

การสร้างกระแสเรื่องนี้ ได้สร้างความตระหนกตื่นเต้นให้กับประชาชนจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เติบโตหลังยุคสงครามเย็น เพราะถ้าเกิดสงครามระหว่างมหาประเทศ โลกทั้งหมดคงจะล่มสลาย จากการที่มหาประเทศทั้งสาม คือ สหรัฐ รัสเซีย และ จีน ต่างก็ยังคงมีอาวุธนิวเคลียร์เหลืออยู่ในมือเป็นจำนวนมาก ในประวัติศาสตร์ การทิ้งระเบิดนิวเคลียร์เพิ่งมีเพียง 2 ลูก ที่สหรัฐฯ นำไปทิ้งที่เมืองฮิโรชิมาและนางาซากิ ช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งก็เห็นภาพของความเสียหายเหลือคณานับ และยังเป็นบทเรียนสำคัญมาถึงปัจจุบัน

แต่เมื่อตรวจสอบแล้ว ปัญหาสำคัญของข่าวที่นำเสนอก็คือ โดยมากจะเป็นการอ้างแหล่งข่าวที่ไม่ชัดเจน จากสำนักข่าวที่ไม่เป็นที่คุ้นเคย หรือไม่ก็อ้างจากหนังสือพิมพ์ประเภทแทบลอยด์ในโลกตะวันตก ไม่เคยปรากฏว่าเป็นทีท่าที่เป็นทางการทั้งทางฝ่ายรัฐบาลสหรัฐ รัสเซีย หรือ จีน ยิ่งกว่านั้น เนื้อข่าวบางเรื่องก็เป็นเพียงข้อวิเคราะห์ทางการเมืองที่ขัดกับข้อเท็จจริง เช่น รายชื่อ 30 ประเทศที่อ้างว่า พร้อมยืนข้างรัสเซียหากเกิดสงครามโลก มีชื่อของทั้งจีนและไต้หวัน และมีชื่อของสิงคโปร์ ซึ่งทั้งหมดนี้ไม่มีทางเป็นไปได้

ย้อนหลังกลับไปยุคสงครามเย็น ที่สหรัฐอเมริกาในฐานะผู้นำฝ่ายโลกเสรี มีความเป็นปฏิปักษ์กับสหภาพโซเวียต ซึ่งเป็นประเทศนำฝ่ายคอมมิวนิสต์ แล้วนำมาสู่การเผชิญหน้าด้านกำลังอาวุธ สงครามโฆษณาชวนเชื่อ และสงครามตัวแทน จนก่อให้เกิดความวิตกเรื่องสงครามโลกครั้งที่สามหลายครั้ง โดยเฉพาะเป็นที่ทราบกันดีว่า สหรัฐอเมริกาและอังกฤษเคยพิจารณาแผนการหลายแผนในการโจมตีสหภาพโซเวียตตั้งแต่ระยะต้นสงครามเย็น แต่แผนการเหล่านั้นก็ไม่มีการดำเนินการจริงเพราะไม่อาจจะประเมินศักยภาพในการตอบโต้และผลเสียหาย ยิ่งต่อมาฝ่ายสหภาพโซเวียตก็ผลิตอาวุธนิวเคลียร์ได้เช่นเดียวกัน ทำให้แผนการโจมตีทางการทหารเป็นไปได้ยาก นโยบายที่ใช้จริง คือ การสกัดกั้น (containment policy) และการสร้างพันธมิตรเพื่อการปิดล้อมโซเวียต ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ การจัดตั้งสนธิสัญญานาโต ซึ่งเป็นองค์กรสนธิสัญญาทางการทหารระหว่างสหรัฐฯ กับพันธมิตรตะวันตกเพื่อยับยั้งการคุกคามของโซเวียต

เหตุการณ์รุนแรงแรกสุดในสมัยสงครามเย็น คือ สงครามเกาหลีที่เกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ.2493-2496 เพราะเป็นสงครามแรกและสงครามเดียว ที่นำเอาสหรัฐฯและฝ่ายตะวันตก มาสู้รบกับกองทัพจีนที่มีโซเวียตสนับสนุน จึงเกิดความตึงเครียดระหว่างประเทศหลายครั้ง แต่ในที่สุด สงครามเกาหลีก็ยุติด้วยการเจรจาสันติภาพ วิกฤตการณ์สงครามจึงผ่อนคลายลง

เหตุการณ์รุนแรงที่ใกล้สงครามมหาประเทศที่สุด คือ วิกฤตการณ์คิวบา พ.ศ.2505 ซึ่งสืบเนื่องจากการที่โซเวียตนำขีปนาวุธนิวเคลียร์มาติดตั้งในคิวบา วันที่ 15 ตุลาคม ประธานาธิบดีจอห์น เอฟ. เคนเนดีแห่งสหรัฐฯ ใช้ปฏิบัติการทางทหารปิดล้อมคิวบา แล้วยื่นคำขาดให้โซเวียตถอนขีปนาวุธทั้งหมด สถานการณ์โลกตึงเครียดอย่างที่สุด และนำสู่ความวิตกต่อสงครามเต็มรูปแบบของสองมหาอำนาจ แต่ในที่สุด ฝ่ายรัสเซียยอมผ่อนปรน ในวันที่ 28 ตุลาคม ทั้งสองฝ่ายบรรลุข้อตกลง โดยโซเวียตยอมถอนขีปนาวุธนิวเคลียร์จากคิวบา และสหรัฐฯ ยอมถอนการปิดล้อมทางทะเล สถานการณ์เผชิญหน้าที่จะนำมาสู่สงครามโลกจึงผ่อนคลาย แต่ก็เป็นที่ทราบกันว่า เหตุการณ์นี้นำมาสู่การปลดตำแหน่งของนิกิตา ครุสชอฟ ผู้นำโซเวียตในปีต่อมา

วันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2516 เกิดสงครามอาหรับ-อิสราเอล ซึ่งเรียกว่า สงครามยมคิปปูร์ ฝ่ายอาหรับที่นำโดยอียิปต์ได้รับชัยชนะช่วงต้นของการสู้รบ แต่ต่อมา อิสราเอลสามารถยับยั้งการบุกของฝ่ายอาหรับไว้ได้ ขณะนั้น สถานการณ์ระหว่างสหรัฐฯและโซเวียต ซึ่งสนับสนุนคนละฝ่ายในสงครามก็ตึงเครียดอย่างมาก ทั้งสองฝ่ายต่างสั่งเตรียมพร้อม แต่เหตุการณ์คลี่คลายจากการประกาศหยุดยิงในวันที่ 26 ตุลาคม

หลังจากโซเวียตบุกอัฟกานิสถานในเดือนธันวาคม พ.ศ.2522 ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐและสหภาพโซเวียตหมางเหมินกันอีกครั้ง ดังนั้น ในเดือนมีนาคม พ.ศ.2526 ประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน ได้เสนอโครงการยุทธวิธีป้องกันล่วงหน้า (The Strategic Defense Initiative - SDI) ซึ่งเป็นโครงการติดตั้งขีปนาวุธในอวกาศ เพื่อยิงทำลายล่วงหน้าในกรณีที่จะเกิดการโจมตีจากโซเวียต แต่ฝ่ายโซเวียตเห็นว่า โครงการนี้เป็นการคุกคามความมั่นคง เพราะเปิดทางให้โซเวียตถูกโจมตีได้ทุกจุด

อย่างไรก็ตาม ความตึงเครียดเหล่านี้ลดลงหมด หลังจากคอมมิวนิสต์ล่มสลายเมื่อ พ.ศ.2532 แล้วนำมาสู่การยุติสงครามเย็น ทำให้โลกอยู่ในภาวะความปลอดภัยจากสงครามใหญ่ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเปลี่ยนเป็นการแข่งขันกันทางการค้าและการลงทุน แม้ว่าจะเกิดปัญหาสงครามเฉพาะแห่งเช่นในซีเรีย แต่ยังไม่มีเหตุผลและวิกฤตเพียงพอ ที่มหาประเทศจะทำลายบรรยากาศตลาดโลกาภิวัตน์แบบปัจจุบัน แล้วเปิดฉากทำสงครามล้างโลกกัน

พูดใหม่ว่า เรื่องข่าวลือสงครามโลก เป็นได้เพียงพล็อตเรื่องของนวนิยายแฟนตาซีเรื่องหนึ่งเท่านั้น หรือถ้าเกิดขึ้นจริงก็คงต้องช่างมัน เพราะจะไม่มีใครได้อยู่ดูผลของสงคราม

 


หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกที่ โลกวันนี้วันสุข ฉบับ 587 วันที่ 22 ตุลาคม 2559

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net