เทพมนตรีประกาศหาเจ้าของ 'หมุดคณะราษฎร' ขีดเส้นตายสิ้นปีนี้ ถ้าไม่มีจะขุดออก

สมศักดิ์ อธิบายความสำคัญของคณะราษฎรต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ในปัจจุบัน พร้อมชี้สิ่งของที่ระลึก เช่น หมุดคณะราษฎร เป็นแค่สิ่งของ รื้อทิ้งก็ไม่สามารถรื้อทิ้งการกระทำที่แวดล้อมสิ่งของนั้น ที่เกิดไปแล้ว และมีผลลูกโซ่ต่อเนื่องกันมาได้

เมื่อวันที่ 31 ต.ค. ที่ผ่านมา เทพมนตรี ลิมปพยอม นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ โพสต์ภาพหมุดปฏิวัติ 2475/หมุดคณะราษฎร ผ่านเฟซบุ๊ก 'Thepmontri Limpaphayorm' ในลักษณะสาธารณะ ว่า "ประกาศหาเจ้าของ ถ้าไม่มาขุดเอาไป ภายในวันที่ 30 ธ.ค. 2559 ผมกับเพื่อนๆ ถือว่าไม่มีเจ้าของ จะไปเอาออกหรือทำให้หมดสภาพเอง ถ้ายังอยากเก็บรักษาไว้ รีบขุดออกไปเสียให้พ้น"

โดย ก่อนหน้านั้น เทพมนตรี โพสต์ถามผ่านเฟซบุ๊กดังกล่าวด้วยว่า มีคนมาขอความเห็นตนว่า ตั้งแต่คณะราษฎรปฏิวัติ 2475 มาถึงปัจจุบัน ก็เป็นเวลาประมาณ 85 ปีแล้ว เราได้นักการเมือง รัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี ที่โกงกินบ้านเมืองมามากมาย สมควรที่จะถอนหมุดอันนี้ออกหรือไม่ มีคนพูดกันว่าหมุดอันนี้เป็นความอัปยศของระบอบประชาธิปไตยก็มี คิดเห็นประการใดบ้าง

ล่าสุดวันนี้ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ ได้นำโพสต์ของกรณีประกาศถอนมุดคณะราษฎรดังกล่าว ของ เทพมนตรี ไปวิจารณ์ผ่านเฟซบุ๊ก 'Somsak Jeamteerasakul' ถึงผลพวงต่อเนื่องจากปฏิบัติการของคณะราษฎรต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ในปัจจุบัน รวมทั้งสถานะของตระกูลมหิดลและตระกูลบริพัตร โดยสมศักดิ์ ยังได้โพสต์ภาพแผนภูมิการสืบราชสมบัติ เป็นภาพที่ใช้สอนนักศึกษาวิชาประวัติศาสตร์การเมืองไทยด้วย

"สิ่งของที่ระลึก เช่น หมุดคณะราษฎร หรืออนุสาวรีย์ประชาธิปไตย, ชัยสมรภูมิ ฯลฯ ยังไงก็เป็นแค่สิ่งของ รื้อทิ้งก็ไม่สามารถรื้อทิ้งการกระทำที่แวดล้อมสิ่งของนั้น ที่เกิดไปแล้ว และมีผลลูกโซ่ต่อเนื่องกันมาได้" สมศักดิ์ ระบุ

สมศักดิ์ ระบุด้วยว่า หมุดคณะราษฎร ทำขึ้นจากมติของหน่วยราชการสมัยนั้น และฝังอยู่ในถนน ถือเป็นสมบัติราชการ การทำลายสมบัติราชการมีโทษทางกฎหมายอยู่
 
"ความจริง "หมุด" ดังกล่าว ไม่ได้รับการให้ความสำคัญเลย จนกระทั่งประมาณทศวรรษ 2530 ในช่วงสั้นๆ แล้วก็เงียบไป จนกระทั่งเกิดวิกฤติการเมืองครั้งนี้ เลยมีการมาให้ความสำคัญใหม่" สมศักดิ์ ระบุ
 

หมุดปฏิวัติ 2475/ หมุดคณะราษฎร

หมุดดังกล่าวเป็นหมุดกลมสีทองเหลือง ฝังลงบนพื้น กลางถนน ระหว่างฐานของพระบรมรูปทรงม้าและประตูทางเข้า สนามเสือป่า ที่ตั้งกองบัญชาการทหารสูงสุดในอดีต เพื่อเป็นที่ระลึกถึงจุดที่ พันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฎร ประกาศเปลี่ยนระบบการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตย และอ่าน "ประกาศคณะราษฎร" ฉบับแรก เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 หมุดทางเหลืองนี้จารึกว่า "24 มิถุนายน 2475 เวลาย่ำรุ่ง ณ ที่นี้ คณะะราษฎรได้ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญเพื่อความเจริญของชาติ"

โดยคาดว่า หมุดทองเหลือง หรือ "งานศิลปกรรมชิ้นแรกๆ ในยุคแห่งคณะราษฎร" มีการประกอบพิธีฝังหมุดเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2479 โดยพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรีและเป็นหัวหน้าคณะราษฎรเป็นผู้ฝังหมุด และต่อมาในปี 2481 มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีลงวันที่ 18 กรกฎาคม 2481 ให้วันที่ 24 มิถุนายนของทุกปี เป็น "วันชาติ" ก่อนที่วันชาติถูกเปลี่ยนไปเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระมหากษัตริย์ เมื่อปี พ.ศ. 2503 ในสมัยการปกครองของจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์

หมุดดังกล่าวเริ่มกลับมามีบทบาทโดยเฉพาะเป็นสถานที่จัดงานรำลึกเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยในวันที่ 24 มิ.ย. ของทุกปีช่วงวิกฤติการเมืองปัจจุบันจะมีการจัดงานรำลึกบริเวณดังกล่าว และมีการแสดงออกทางการเมืองบริเวณนั้นด้วย

อย่างไรก็ตามมีผู้พยายามทำลายหมุดดังกล่าวมาโดยตลอด เช่น มีการนำวัสดุสีดำมาลาดทับ การนำของแข็งมาขีดจนเป็นรอยจำนวนมาก รวมทั้งการปฏิบัติการเชิงสัญลักษณ์ เช่น นำเพราะมาประกอบพิธีสะกด โดยเมื่อต้นปี 2558 สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด ได้โพสต์ภาพชาวบ้านกลุ่มหนึ่งกำลังทำพิธีกับหมุดคณะราษฎร ที่ปักไว้กับถนนหน้าพระที่นั่งอนันตสมาคม โดยนายสมบัติเผยว่าเป็นการทำพิธีถอนหมุดออก แต่เป็นเพียงแค่การทำพิธีตามความเชื่อเท่านั้น โดยตนเห็นว่าระหว่างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย กับหมุดคณะราษฎรซึ่งเป็นสัญลักษณ์ประชาธิปไตย ตนชอบไอเดียหมุดคณะราษฎรมากที่สุด ซึ่งเรียบง่าย มีความหมายในเชิงสัญลักษณ์

ภาพ ชาวบ้านกลุ่มหนึ่งกำลังทำพิธีกับหมุดคณะราษฎร

วิดีโอที่มีคนไปทำความสะอาดหมุดเมื่อปี 2553

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท