Skip to main content
sharethis

ประกาศกระทรวงการคลังกู้เงินจาก JICA ของรัฐบาลญี่ปุ่นวงเงิน 1.67 แสนล้านเยน หรือ 5.79 หมื่นล้านบาท ดอกเบี้ย 0.30% สำหรับระยะที่ 3 ของโครงการก่อสร้างระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-รังสิต 26.3 กม. 10 สถานี

งานติดตั้งเหล็กโครงหลังคาสถานีรถไฟฟ้าสายสีแดง สถานีรังสิต เมื่อเดือนกันยายน 2559 (ที่มา: bangsue-rangsitredline)

ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การกู้เงินจากรัฐบาลญี่ปุ่นสำหรับโครงการรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ - รังสิต ระยะที่ 3” (ที่มา: เว็บไซต์ราชกิจจานเบกษา)

 

ในเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 133 ตอนพิเศษ 248 ง วันที่ 31 ตุลาคม 2559 มีการเผยแพร่ “ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การกู้เงินจากรัฐบาลญี่ปุ่นสำหรับโครงการรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ - รังสิต ระยะที่ 3” ซึ่งเป็นการกู้เงินจากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น หรือ JICA มีรายละเอียดดังนี้

“เพื่ออนุวัติตามความในมาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติม กระทรวงการคลังขอประกาศให้ทราบโดยทั่วกันว่า รัฐบาลได้ลงนามในสัญญาเงินกู้กับองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2559 โดยมีรายละเอียด ดังต่อไปนี้

1. เป็นเงินกู้ จำนวน 166,860 ล้านเยน หรือเทียบเท่า 57,907.26 ล้านบาท (คำนวณตามอัตราแลกเปลี่ยนขายถัวเฉลี่ยของเงินบาทกับเงินเยนญี่ปุ่น ณ วันลงนามในสัญญา คือ 34.7041 บาท ต่อ 100 เยน) และกำหนดเบิกจ่ายเงินกู้เสร็จสิ้นภายใน 6 ปี นับจากวันที่สัญญาเงินกู้มีผลใช้บังคับ

2. อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.30 ต่อปี ยกเว้นในส่วนที่ปรึกษา อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.01 ต่อปี กำหนดชำระปีละ 2 งวด โดยชำระในวันที่ 20 มกราคม และ 20 กรกฎาคม ของแต่ละปี

3. อัตราค่าธรรมเนียมเงินกู้ (Front-End Fee) ร้อยละ 0.20 ของวงเงินกู้

4. กำหนดชำระคืนเงินกู้ภายใน 15 ปี รวมระยะเวลาปลอดหนี้เงินกู้ 5 ปี โดยผ่อนชำระปีละ2 งวด ทุกระยะ 6 เดือน เป็นจำนวน 21 งวด ชำระคืนต้นเงินกู้งวดแรกในวันที่ 20 กรกฎาคม 2564และงวดสุดท้ายในวันที่ 20 กรกฎาคม 2574

5. รัฐบาลได้กำหนดจะนำเงินกู้รายนี้ไปใช้จ่ายในโครงการรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ของการรถไฟแห่งประเทศไทย เพื่อก่อสร้างรถไฟชานเมือง ช่วงบางซื่อ - รังสิต โดยให้สถานีบางซื่อ รองรับการเป็นศูนย์กลางการคมนาคมเพื่อการเดินรถไฟทางไกลสายเหนือและสายอีสาน รวมทั้งเป็นศูนย์กลางด้านการเดินทางจากภาคใต้และตะวันออกในอนาคต โดยจะเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟชานเมืองช่วงบางซื่อ - ตลิ่งชัน ซึ่งเป็นการอำนวยความสะดวกในการเดินทางให้กับประชาชน รวมทั้งลดการใช้พลังงานเชื้อเพลิง

ประกาศ ณ วันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559

วิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง รักษาราชการแทน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

000

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า จากข้อมูลในเว็บไซต์โครงการของ ร.ฟ.ท. สำหรับระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-รังสิต เป็นโครงการในแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล (M-MAP) ระยะเร่งด่วนซึ่งได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีเมื่อ วันที่ 22 พฤษภาคม 2550 กรอบวงเงินเดิม 59,888 ล้านบาท โดยได้รับความช่วยเหลือด้านเงินกู้จากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) จากนั้นได้ดำเนินการประกวดราคาจนได้ผู้รับจ้างในสัญญาที่ 1 และ 2 รวมทั้งที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้าง และที่ปรึกษาบริหารโครงการ โดยเริ่มดำเนินการก่อสร้าง เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2556 ใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 4 ปี

สำหรับโครงการมีจุดเริ่มต้นที่สถานีบางซื่อ กม.6+000 (จากหัวลำโพง) บริเวณสามแยกประดิพัทธ์ประมาณ 1.8 กิโลเมตร ทางทิศใต้ของสถานีบางซื่อ ไปตามแนวเขตทางรถไฟในเส้นทางรถไฟสายเหนือ ผ่านเขตจตุจักร บางเขน หลักสี่ ดอนเมือง และไปสิ้นสุดที่สถานีรังสิต จังหวัดปทุมธานี ระยะทางรวมประมาณ 26.3 กิโลเมตร มีทั้งหมด 10 สถานี

ได้แก่ 1. สถานีกลางบางซื่อ (กม.7+800) ตั้งอยู่บริเวณชุมทางบางซื่อ ถนนเทอดดำริในปัจจุบัน2. สถานีจตุจักร (กม.10+275) ตั้งอยู่บริเวณถนนกำแพงเพชร 2 และถนนกำแพงเพชร 6 ใกล้กับบ้านพักนิคมรถไฟ กม.11 3. สถานีบางเขน (กม.13+281) ตั้งอยู่บริเวณแยกบางเขน ช่วงถนนกำแพงเพชร 6 ตัดกับถนนงามวงศ์วาน ตรงข้ามมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ถนนวิภาวดีรังสิต 4. สถานีวัดเสมียนนารี (กม.12+340) ตั้งอยู่ระหว่างสถานีจตุจักรกับสถานีบางเขน บริเวณถนนกำแพงเพชร 6 ตรงข้ามวัดเสมียนนารี 5.สถานีทุ่งสองห้อง (กม.14+750) ตั้งอยู่บริเวณถนนกำแพงเพชร 6 และถนนวิภาวดีรังสิต ใกล้กองกำกับการสุนัขตำรวจ

6. สถานีหลักสี่ (กม.17+943) ตั้งอยู่บริเวณถนนกำแพงเพชร 6 ทางด้านทิศเหนือของแยกหลักสี่ ตรงข้ามกับอาคารไอทีสแควร์ ติดถนนแจ้งวัฒนะ 7. สถานีการเคหะ (กม.19+500) ตั้งอยู่บริเวณถนนกำแพงเพชร 6 และถนนวิภาวดีรังสิต ใกล้แฟลตการเคหะฯ ดอนเมือง 8. สถานีดอนเมือง (กม.21+525) ตั้งอยู่ตรงข้ามอาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานดอนเมือง บริเวณถนนกำแพงเพชร 6 และถนนวิภาวดีรังสิต ใกล้สถานีรถไฟดอนเมืองปัจจุบัน 9.สถานีรังสิต (กม.30+347) ตั้งอยู่บริเวณถนนรังสิต-ปทุมธานี และถนนกำแพงเพชร 6 บริเวณหมู่บ้านรัตนโกสินทร์ 200 ปี 10. สถานีหลักหก (กม.27+477) ตั้งอยู่ระหว่างสถานีดอนเมืองและสถานีรังสิต บริเวณถนนกำแพงเพชร 6 ซึ่งเชื่อมต่อกับถนนเอกทักษิณ และถนนพหลโยธิน ใกล้หมู่บ้านเมืองเอก โดยในอนาคตอันใกล้นี้จะต่อขยายไปยังมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต

สำหรับขอบเขตดำเนินโครงการ สัญญาที่ 1 งานโยธาสำหรับสถานีกลางบางซื่อ และศูนย์ซ่อมบำรุง ประกอบด้วย สถานีกลางบางซื่อ สถานีจตุจักรพร้อมอาคารสถานี  ทางรถไฟยกระดับ จาก กม.6+600 ถึง กม.12+201.700 ศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าชานเมือง ศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟทางไกล ลานจอดรถไฟ และอาคารอื่นๆ ที่สัมพันธ์กับการควบคุมการเดินรถ ถนน สะพานยกระดับ และระบบระบายน้ำ สัญญาที่ 2 งานโยธาสำหรับทางรถไฟบางซื่อ-รังสิต

สำหรับการก่อสร้างตามสัญญาที่ 3 ประกอบด้วย งานระบบไฟฟ้าและเครื่องกลฯ สำหรับระบบรถไฟช่วงบางซื่อ-รังสิต งานวางรางขนาด 1 เมตร (Meter Gauge) ระบบไฟฟ้ากำลังเพื่อรถไฟฟ้า ระบบควบคุมการเดินรถและระบบอาณัติสัญญาณ ระบบสื่อสารโทรคมนาคม ระบบจัดเก็บค่าโดยสารอัตโนมัติ

สิ่งอำนวยความสะดวกของศูนย์ซ่อมบำรุงและอุปกรณ์  ระบบรักษาความปลอดภัยควบคุมทางเข้าออกและระบบปฏิบัติการพร้อมด้วยระบบสารสนเทศ สถานีจ่ายไฟและหม้อแปลงไฟฟ้าอัตโนมัติ  รื้อถอน ปรับปรุง ดัดแปลง และ/หรือย้ายรางเดิม ปรับระดับทางข้ามและอาณัติสัญญาณ/สื่อสารโทรคมนาคม การจัดหาตู้รถไฟฟ้าและปรับปรุงระบบความปลอดภัยการเดินรถ (ATP) ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน และจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมพร้อมคู่มือแนะนำการปฏิบัติของระบบเดินรถ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net