สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 27 ต.ค.-2 พ.ย. 2559

แมนพาวเวอร์กรุ๊ป เผยทิศทางแรงงานช่วงไตรมาส 4 กลับมาคึกคักรับปีใหม่ สายงานการผลิตและโลจิสติกส์ ฮึดสู้ส่งท้ายปี ไม่มีตก ไม่มีปลด ไม่มีออกแน่นอน/รง.แนะนายจ้างตั้ง "สหกรณ์ออมทรัพย์" แก้ปัญหาหนี้นอกระบบผูเใช้แรงงาน ตามรอยเศรษฐกิจพอเพียง ระบุปัจจุบันมี 540 แห่งปี 60 ตั้งเป้าเพิ่มอีก 25 แห่ง/ก.แรงงานรับลูกสภาพัฒน์ฯแก้ปัญหาต่างด้าวแย่งงานคนไทย/มีผลแล้ว กม.คุ้มครองผู้รับงานไปทําที่บ้าน ค่าตอบแทนต้องไม่น้อยกว่าในสถานประกอบการ
 
กสร.เชิญชวน นายจ้าง สถานประกอบกิจการ ฝึกอบรมมาตรฐาน TLS
 
นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.)กล่าวว่า ปัจจุบันการดำเนินธุรกิจใด ๆ ก็ตาม จะต้องให้ความสำคัญกับความรับผิดชอบทางสังคมโดยเฉพาะประเด็นสังคมและแรงงานที่ต้องคำนึงถึงการใช้แรงงานที่เป็นธรรม กสร. เล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนามาตรฐานแรงงานให้ผู้ประกอบการทุกประเภททุกขนาด เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจและสามารถดำเนินกิจการได้อย่างถูกต้อง โดยได้จัดให้มีการอบรมเชิงปฏิบัติการมาตรฐานแรงงานไทย (Thai Labour Standard : TLS)ระดับสมบูรณ์ และระดับพื้นฐาน ให้กับผู้ประกอบการในส่วนกลางและภูมิภาค เพื่อนำไปพัฒนาระบบมาตรฐานแรงงานในสถานประกอบกิจการได้อย่างสมบูรณ์
 
ทั้งนี้ การจัดทำระบบมาตรฐานแรงงานไทยและขอการรับรองมาตรฐานแรงงานไทย (Thai Labour Standard : TLS)เป็นความรับผิดชอบต่อสังคมด้านแรงงาน ซึ่งมาตรฐานแรงงานไทยจะเป็นเครื่องมือให้ผู้ใช้แรงงานได้รับการคุ้มครองแรงงานอย่างเป็นธรรม ไม่มีการใช้บังคับแรงงาน ไม่เลือกปฏิบัติ มีสิทธิเสรีภาพในการร่วมเจรจาต่อรอง สวัสดิการแรงงาน มีสุขภาพอนามัยที่ดี และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ผู้ประกอบการได้มีการพัฒนาระบบมาตรฐานแรงงานไทยได้อย่างยั่งยืน และดำเนินธุรกิจได้อย่างมั่นคงเป็นที่ยอมรับในระดับสากล
 
อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวต่อไปว่า สถานประกอบกิจการใดสนใจเข้ารับการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการมาตรฐานแรงงานไทย (Thai Labour Standard : TLS) มรท. 8001-2553 สามารถดูรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ สำนักพัฒนามาตรฐานแรงงาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (tls.Labour.go.th) หรือสอบถามรายละเอียดได้ที่กลุ่มงานพัฒนาระบบมาตรฐานแรงงาน สำนักพัฒนามาตรฐานแรงงาน ในวันและเวลาราชการ หมายเลข 02-245-8294,02-246-8370
 
 
คนไทยแห่ทำงาน “พ่อครัวแม่ครัว” ในต่างประเทศ รายได้สูงถึง 9 หมื่นบาทต่อเดือน
 
นายสุทธิ สุโกศล ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน ในฐานะรองโฆษกกระทรวงแรงงาน กล่าวถึง สถานการณ์การจ้างแรงงานในตำแหน่งพ่อครัวแม่ครัวไทยที่ไปทำงานในต่างประเทศ ว่าจากข้อมูลฝ่ายส่งเสริมตลาดแรงงานในต่างประเทศ กองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ระบุว่า ตั้งแต่ปี 2555-2559 (ม.ค.-ส.ค. 59) พบว่ามีแรงงานไทยที่ได้รับอนุญาตให้เดินทางไปทำงานต่างประเทศตำแหน่งพ่อครัว-แม่ครัว มีมากถึง 16,447 คน แยกเป็นเพศชาย 12,402 คน คิดเป็นร้อยละ 75.41 เพศหญิง 4,045 คน คิดเป็นร้อยละ 24.59 รวมทุกประเภทการแจ้งเดินทางจำนวน 3,954 คน และแจ้งเดินทางกลับไปทำงาน (Re-entry) จำนวน 12,493 คน โดยเฉลี่ยในแต่ละปีจะมีแรงงานไทยเดินทางไปทำงานตำแหน่งงานพ่อครัวแม่ครัว ประมาณ 3,500 คน ส่วนใหญ่เป็นการเดินทางด้วยตนเอง โดยแต่ละคนจะมีรายได้เฉลี่ยประมาณ 40,000-90,000 บาทต่อเดือน ส่วนประเทศที่มีพ่อครัวแม่ครัวไทยไปทำงานมากที่สุด 5 อันดับแรก คือ ญี่ปุ่น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สิงคโปร์ อังกฤษ และนิวซีแลนด์ ตามลำดับ
 
นายสุทธิกล่าวว่า กระทรวงแรงงาน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และกรมการจัดหางานได้ส่งเสริมการมีงานทำให้กับพ่อครัว แม่ครัวไทยทั้งในและต่างประเทศ พร้อมยกระดับมาตรฐานฝีมือแรงงานให้แก่ผู้ประกอบการอาหารรองรับครัวไทยสู่ครัวโลก เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลในการกระตุ้นอุตสาหกรรมอาหารไทย โดยเฉพาะด้านการส่งออกอาหารไทย ให้เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศอีกทางหนึ่ง ทั้งนี้ เชื่อว่าอาหารไทยไม่ว่าครัวที่ไหนก็ต้องมีรสชาติคือรสไทยเดียวกัน เนื่องจากการรักษามาตรฐานรสชาติที่กลมกล่อม ไม่ผิดเพี้ยนไปจากต้นตำรับดั้งเดิมของคนไทย ด้วยวัตถุดิบที่คัดสรรด้วยคุณภาพและไม่มีผลกระทบต่อสุขภาพ ส่วนความสุภาพ และมีจิตบริการ ของผู้ประกอบการอาหารไทยจนเป็นที่ต้องการของต่างประเทศ จุดนี้ถือเป็นเอกลักษณ์ของความเป็นไทยที่ต่างชาติชื่นชอบและยอมรับ
 
ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่วิทยาลัยแรงงาน กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน โทรศัพท์ 0-2245-1707 ต่อ 321-2 ภายในวันและเวลาราชการ
 
 
กสร. หนุนตั้งสหกรณ์ในสถานประกอบกิจการ
 
นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยว่า กสร. มีภารกิจหลักในการส่งเสริม สนับสนุนให้มีการจัดสวัสดิการแรงงานตามกฎหมายและนอกเหนือกฎหมายให้แก่ลูกจ้างในสถานประกอบกิจการ โดยแนวทางหนึ่งที่ กสร. ดำเนินการมาโดยตลอด คือ การรณรงค์ ส่งเสริมให้มีการจัดตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์ ในสถานประกอบกิจการ ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของการจัดสวัสดิการด้านเศรษฐกิจนอกเหนือจากสวัสดิการรูปแบบอื่น ๆ โดยมุ่งส่งเสริมให้นายจ้าง ลูกจ้าง ตลอดจนเครือข่ายเห็นความสำคัญและประโยชน์ที่จะได้รับจากสหกรณ์ออมทรัพย์ และสามารถขยายผลจนเกิดความร่วมมือระหว่างกัน เพื่อช่วยแก้ปัญหาด้านการเงินและให้ลูกจ้างมีเงินออม ทั้งนี้ สหกรณ์ออมทรัพย์ในสถานประกอบกิจการมีเป้าหมายปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำ และลูกจ้างได้เงินปันผลจากหุ้นในสหกรณ์และมีเงินสะสมไว้ใช้ในตอนเกษียณอายุ การทำงาน
 
ในปีงบประมาณ 2560 นี้ กสร. จะเร่งขับเคลื่อนนโยบายการส่งเสริมให้สถานประกอบการจัดตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์ โดยจะมีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการส่งเสริมให้มีการจัดตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์ในสถานประกอบกิจการและรัฐวิสาหกิจกับหน่วยงานและเครือข่ายแรงงาน สนับสนุนให้ความรู้เชิงวิชาการเกี่ยวกับการจัดตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์ฯ จัดเสวนาพาเพื่อนร่วมตั้งสหกรณ์ เสริมสร้างวินัยทางการเงินของผู้ใช้แรงงาน ทั้งนี้ ทาง กสร. มีกองทุนเพื่อผู้ใช้แรงงาน ปล่อยกู้ให้แก่สหกรณ์ออมทรัพย์ในสถานประกอบกิจการที่ต้องการเงินทุนหมุนเวียน ซึ่งขณะนี้มีวงเงินอยู่ 390 ล้านบาท โดยมีหลักเกณฑ์ คือ วงเงินกู้ไม่เกิน 1.5 เท่าของทุนเรือนหุ้นรวมเงินทุนสำรอง เมื่อหักหนี้อื่นที่สหกรณ์มีอยู่แล้วต้องไม่เกินวงเงินกู้ยืมประจำปี ที่นายทะเบียนเห็นชอบและกู้ได้สูงสุดไม่เกิน 20 ล้านบาท ส่วนการชำระเงินคืนแบ่งเป็นเงินกู้ระยะยาวชำระคืนภายใน 5 ปี คิดดอกเบี้ยร้อยละ 3 และเงินกู้ระยะสั้นชำระคืนภายใน 1 ปี คิดดอกเบี้ยร้อยละ 2.75
 
 
"ลอรีอัล" ผุดโครงการจ้างงาน หนุนผู้ขาดโอกาสทางสังคม
 
ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 มีเป้าหมายให้คนพิการมีโอกาสใช้ความสามารถของตนในการสร้างรายได้ และพึ่งพาตัวเอง โดยระบุให้นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการ และหน่วยงานของรัฐรับคนพิการเข้าทำงาน หากไม่สามารถดำเนินการได้จะต้องส่งเงินเข้ากองทุน หรือต้องจัดหาสถานที่ให้คนพิการได้จำหน่ายสินค้าหรือบริการ
 
ลอรีอัลเป็นหนึ่งในองค์กรที่ให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าวนอกเหนือจากการปฏิบัติตามกฎหมายแล้วยังส่งเสริมให้บริษัทต่างๆ ตระหนักผ่านโครงการจัดหาจัดจ้างผู้ขาดโอกาสทางสังคม (Solidarity Sourcing Program) ซึ่งมีเป้าหมายให้มีการดำเนินโครงการในลอรีอัล ทุก ๆ สาขาทั่วโลก
 
"นาตาลี เกอร์ชไตน์ เคอโรดี" กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่าบริษัทเริ่มต้นโครงการเมื่อปีที่ผ่านมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อมอบโอกาสความเท่าเทียมทางอาชีพให้แก่ผู้ขาดโอกาส ทำให้พวกเขาเหล่านั้นมีรายได้ และอาชีพที่มั่นคง ดังนั้น จึงร่วมจัดทำโครงการร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจอย่างซัพพลายเออร์ ซึ่งตำแหน่งงานสำหรับผู้ขาดโอกาสส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับการติดฉลากข้อมูลบนผลิตภัณฑ์
 
"เรามีเป้าหมายที่จะช่วยสร้างงานให้แก่ผู้ขาดโอกาสจำนวน50คนภายในปีนี้โดยปัจจุบันมีผู้พิการและผู้เกษียณอายุ 47 คน ได้รับประโยชน์จากโครงการนี้ และปีหน้าคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 60 คน ขณะที่ซัพพลายเออร์ที่เข้าร่วมโครงการมีทั้งหมด 6 ราย"
 
ความร่วมมือครั้งนี้ไม่เพียงเป็นความสัมพันธ์ที่ทางบริษัท และพันธมิตรต่างได้ประโยชน์ หรือ Win-Win เพียงสองฝ่ายเท่านั้น แต่ยังเป็นการทำงานร่วมกันที่ Win-Win-Win คือมีผู้ได้ประโยชน์ร่วมกันทั้งสามฝ่าย ได้แก่ พันธมิตรของลอรีอัล บริษัทลอรีอัล และสังคมไทย
 
"เรามีเป้าหมายที่จะขยายการดำเนินโครงการไปยังพันธมิตรทางธุรกิจรายอื่น ๆ เพิ่มขึ้น เพื่อเปิดโอกาสให้กับผู้ขาดโอกาสได้รับประโยชน์ในวงกว้างยิ่งขึ้น ไปพร้อมกับพัฒนาการเติบโตของธุรกิจเราอย่างต่อเนื่องต่อไป"
 
สำหรับการกระตุ้นให้ซัพพลายเออร์เข้าร่วมโครงการจะต้องมีการสื่อสารมากขึ้นให้พวกเขาเห็นความสำคัญของโครงการนี้ซึ่งตามปกติแล้วผู้ประกอบการที่เข้ามาเป็นพันธมิตรกับบริษัทต้องเข้าใจหลักการทำงานของลอรีอัลด้วยดังนั้น เมื่อพวกเขามาประชุมกับบริษัท และได้รับสารของเรื่องนี้ จึงคาดหวังว่าซัพพลายเออร์จะได้แรงบันดาลใจ และกลับไปจัดทำโครงการในสถานประกอบการของตัวเอง
 
"นาตาลี เกอร์ชไตน์ เคอโรดี" กล่าวอีกว่า Solidarity Sourcing Program เป็นเหมือนหนึ่งในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของลอรีอัล โดยมีเป้าหมายว่าภายในปี 2020 ต้องการให้ 20% ของซัพพลายเออร์ของลอรีอัลเข้าร่วมโครงการนี้ ทั้งนั้น นับเป็นการดำเนินงานภายใต้พันธสัญญา "Sharing Beauty With All" หรือ "แบ่งปันความงามให้ทุกสรรพสิ่ง" ซึ่งสอดรับกับมิติด้านพัฒนาอย่างยั่งยืน (Developing Sustainably) ที่เปิดโอกาสให้คนขาดโอกาสสามารถเข้าถึงอาชีพและการมีงานทำ
 
"พันธสัญญายังประกอบอีก 3 มิติ คือ การสร้างความเป็นอยู่อย่างยั่งยืน (Living Sustainably) โดยบริษัทจะเปิดเผยข้อมูลที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างโปร่งใส และสร้างความตระหนักให้กับผู้บริโภคในการใช้ชีวิตซึ่งอยู่บนพื้นฐานของความยั่งยืน"
 
นอกจากนั้นยังมีเรื่องของการสร้างนวัตกรรมอย่างยั่งยืน(InnovativeSustainably) โดย 100% ของผลิตภัณฑ์ของกลุ่มลอรีอัลจะได้รับการปรับคุณลักษณะที่สร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อม อีกทั้งบริษัทกำลังปรับปรุงอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับการจัดสินค้าให้มีน้ำหนักเบา เพื่อไม่สิ้นเปลืองทรัพยากร และช่วยเหลือสิ่งแวดล้อมในภาพรวม
 
สุดท้ายเป็นการผลิตอย่างยั่งยืน (Producing Sustainably) เน้นการลดผลกระทบที่เกิดจากโรงงานและศูนย์กระจายสินค้า ซึ่งตอนนี้ลอรีอัล ประเทศไทย สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการขนส่งสินค้าได้ 13% ขณะที่ศูนย์กระจายสินค้าแห่งใหม่ลดการใช้พลังงานไฟฟ้าไปได้ 40% และลดการใช้น้ำได้ 50% ขณะเดียวกัน ได้ปรับปรุงออฟฟิศให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
 
 
แอมโมเนียโรงงานผลิตไก่แช่แข็ง จ.สมุทรสาคร ทำลูกจ้างเจ็บ 51 ราย
 
จากกรณีเกิดเหตุสารแอมโมเนียรั่วที่ บริษัท อินเตอร์เซีย จำกัด ที่ตั้งเลขที่ 153/3 หมู่ 4 ต.ท่าทราย อ.เมือง จ.สมุทรสาคร เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2559 นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า จากการตรวจสอบของพนักงานตรวจความปลอดภัย ของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) พบว่าสถานประกอบกิจการดังกล่าว ประกอบกิจการ ผลิตอาหารประเภท ไก่ปรุงสำเร็จแช่แข็ง มีลูกจ้างจำนวน 708 คน เป็นสัญชาติพม่า 500 คน เบื้องต้นได้รับรายงานว่า มีช่างซ่อมบำรุงทำงานบริเวณอาคารเครื่องทำความเย็น ทำการเปิดวาล์วเพื่อแดรนน้ำมันที่เครื่องอินเตอร์ คลู ปรากฎว่าปิดวาล์วไม่สนิทมีสารแอมโมเนียรั่วไหลปะปนออกมา เมื่อเวลา 9.30 น. และในเวลา 9.40 น. สามารถปิดวาล์วได้
 
"ขณะที่เกิดการรั่วไหลของแอมโมเนียมีลูกจ้างอยู่ทำงานอยู่ในไลน์ผลิตประมาณ 300 คน ได้มีการอพยพลูกจ้างตามแผนฉุกเฉิน แต่ก็มีลูกจ้างได้สัมผัสสารแอมโมเนียและมีการระคายเคืองตาและจมูกจำนวน 51 ราย ถูกนำส่งโรงพยาบาลมหาชัย 1 จำนวน 1 คน โรงพยาบาลสมุทรสาคร จำนวน 20 คน โรงพยาบาลวิชัยเวช จำนวน 27 คน และโรงพยาบาลเอกชัย จำนวน 4 คน" อธิบดี กสร. กล่าวและว่า ในเบื้องต้นได้ส่งพนักงานตรวจความปลอดภัย ศูนย์ความปลอดภัยแรงงานเขตพื้นที่ 7 เข้าเยี่ยมคนเจ็บและสอบถามข้อมูลที่โรงพยาบาล พร้อมทั้งได้ประสานสำนักงานประกันสังคม หน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานได้เข้าไปดูแลให้ความช่วยเหลือลูกจ้างจากเหตุการณ์นี้เช่นกัน และพนักงานตรวจความปลอดภัยจะเข้าไปตรวจสอบว่าสถานประกอบกิจการดังกล่าวได้ปฏิบัติตาม กฎกระทรวง กําหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดําเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทํางานเกี่ยวกับสารเคมีอันตราย พ.ศ. ๒๕๕๖ แล้วหรือไม่
 
นายสุเมธ กล่าวว่า นอกจากนี้ จะตรวจสอบว่ามีมาตรการดำเนินการป้องกันเกี่ยวกับสารเคมีอันตราย เช่น ต้องมีการแจ้งให้ กสร. ทราบภายใน 7 วันนับแต่วันที่มีสารเคมีอันตรายอยู่ในครอบครอง ต้องจัดให้มีมาตรการควบคุมลูกจ้างให้ปฏิบัติตามวิธีการที่ทํางานเกี่ยวกับสารเคมีอันตรายทราบและเข้าใจวิธีการในการทํางานที่ถูกต้องและปลอดภัย ต้องประเมินความเสี่ยงและจัดทํารายงานการประเมินความเสี่ยง เป็นต้น และเมื่อเกิดเหตุในลักษณะเช่นนี้ต้องมีการรายงานทันที รวมทั้งสอบสวนวิเคราะห์และรายงานให้ กสร.ทราบภายใน 7 วัน หากตรวจสอบแล้วนายจ้างไม่ปฎิบัติตามกฎหมายมีโทษจำคุก 1 ปี ปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท
 
 
เล็งปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 8 จ.ที่ไม่ได้ปรับ 1-2 บาท
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ ส.อ.ท. เปิดเผยว่า จากมติคณะกรรมการค่าจ้างที่เห็นชอบให้ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2560 ปีหน้า 5-10 บาทต่อวัน ใน 69 จังหวัด และไม่ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในอีก 8 จังหวัด นั้นเห็นว่าเป็นอัตราที่ภาคเอกชนรับได้ เนื่องจากเป็นไปตามข้อเสนอของภาคเอกชนที่ขอให้ทางคณะกรรมการค่าจ้างไม่ควรขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเท่ากันทั่วประเทศ เพราะภาวะเศรษฐกิจ ค่าครองชีพ ความสามารถของแรงงาน และความต้องการแรงงานในแต่ละพื้นที่ของผู้ประกอบการแตกต่างกัน
 
อย่างไรก็ตาม อาจมีการปรับปรุงใหม่ในกลุ่มจังหวัดที่ไม่ได้พิจารณาปรับขึ้น 8 จังหวัด เพราะมีการเรียกร้องจากฝ่ายแรงงานไปยังนายกรัฐมนตรี ทำให้คณะกรรมการค่าจ้างต้องกลับมาหารือกัน เชื่อว่าเป็นไปได้ที่จะปรับขึ้นได้เล็กน้อย 1-2 บาท ส่วนผลกระทบกับธุรกิจเอสเอ็มอียอมรับว่าอาจมีผลกระทบต่อต้นทุนบ้าง ส่วนผลต่อราคาสินค้าอุตสาหกรรมนั้นไม่ปรับขึ้นแต่เป็นห่วงว่าจะทำให้ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคปรับขึ้น จึงต้องขอให้กระทรวงพาณิชย์เข้ามาควบคุมดูแลในเรื่องนี้
 
 
ศูนย์วิจัยกสิกรฯ ชี้ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทำต้นทุนผู้ประกอบการเพิ่ม 0.7%
 
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ตามที่คณะกรรมการค่าจ้างมีมติเห็นชอบหลักการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำปี 2560 โดยจะปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 5-10 บาท/วัน ใน 69 จังหวัด และไม่ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในอีก 8 จังหวัด โดยค่าจ้างขั้นต่ำอัตราใหม่นี้คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.60 หากผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ขณะที่คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) มองว่าการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำดังกล่าวไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น จึงได้เสนอให้ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 360 บาท/วันเท่ากันทั่วประเทศนั้น
 
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำตามมติคณะกรรมการค่าจ้างเฉลี่ย 1.8% น่าจะเป็นการบรรเทาภาระค่าครองชีพของผู้มีรายได้น้อยได้ส่วนหนึ่ง หลังจากไม่ได้ปรับมาเป็นระยะเวลา 3 ปี แต่จะส่งผลให้ต้นทุนการผลิตในส่วนค่าจ้างของผู้ประกอบการในปี 2560 เพิ่มขึ้นบ้างราว 0.6% ในภาคการผลิตและภาคการค้าและบริการ และเพิ่มขึ้น 1.4% ในภาคก่อสร้าง ขณะที่มีผลต่ออัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2560 อย่างจำกัด โดยปรับสูงขึ้นอีก 0.03% และส่งผลต่อการบริโภคภาคเอกชนและ GDP ในปี 2560 เพียงเล็กน้อย
 
ทั้งนี้ การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำตามมติคณะกรรมการค่าจ้างเฉลี่ย 1.8% นั้นน่าจะเป็นการบรรเทาภาระค่าครองชีพของผู้มีรายได้น้อยได้ส่วนหนึ่ง หลังจากไม่ได้ปรับมาเป็นระยะเวลา 3 ปี ขณะที่ค่าครองชีพที่วัดจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของผู้มีรายได้น้อยเดือนก.ย.59 เพิ่มขึ้น 1.5% จากเดือนธ.ค.56 (ปีที่มีการปรับขั้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาท/วันเท่ากันทั่วประเทศ) โดยจะส่งผลให้ต้นทุนผู้ประกอบการเพิ่มขึ้นบ้างที่เฉลี่ย 0.7% ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับจำนวนการพึ่งพิงแรงงานขั้นต่ำในสถานประกอบการว่ามีมากน้อยเพียงใด
 
อย่างไรก็ดี การแก้ไขประเด็นเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำอย่างยั่งยืนนั้น ทางฝั่งแรงงานควรมีการปรับตัวโดยการยกระดับทักษะ พัฒนาฝีมือและคุณภาพแรงงานเพื่อก้าวข้ามการพึ่งพิงอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ในขณะที่ผู้ประกอบการก็ควรยกระดับห่วงโซ่การผลิตไปผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นเพื่อให้สอดรับกับทางฝั่งแรงงาน
 
 
พนักงานโตโยต้ากว่า 15,000 คน จัดพิธีแสดงความอาลัย และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
 
มร.เคียวอิจิ ทานาดะ เจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด นำคณะผู้บริหารและพนักงานบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด กว่า 15,000 คน ใน 8 สถานที่ประกอบการ จัดพิธีแสดงความอาลัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เพื่อแสดงออกถึงความจงรักภักดี และน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ที่ทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทยอย่างหาที่สุดมิได้ เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2559
 
8 สถานที่ประกอบการ ที่จัดพิธีแสดงความอาลัย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช 1) บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด สำนักงานใหญ่ (สำโรง) 2) บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด สำนักงานกรุงเทพฯ 3) โรงงานประกอบรถยนต์ โตโยต้า โรงงานบ้านโพธิ์ 4) โรงงานประกอบรถยนต์ โตโยต้า โรงงานเกตเวย์ 5) ศูนย์ฝึกอบรมโตโยต้า สุวินทวงศ์ 6) ศูนย์โลจิสติคส์เพื่อการส่งออกชิ้นส่วน บางประกง 7) ศูนย์อะไหล่โตโยต้าภาคพื้นเอเชียแปซิฟิค 8) บริษัท โตโยต้า บอดี้ เซอร์วิส จำกัด
 
 
สถานการณ์การจ้างแรงงานในพื้นที่ จ.ลำพูน เดือนตุลาคม 2559
 
พบมีการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างแบบเป็นค่าจ้างรายวัน จากการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างทำงานเป็นรายชิ้นจ่ายตามค่าจ้างตามผลงาน บริษัทแห่งหนึ่งมีการโยกย้ายพนักงานประมาณ 300 คนในกิจการเดียวกัน แต่แยกโรงงาน บริษัทขนาดใหญ่แห่งหนึ่งมีพนักงานกว่า 5,000 คน ต้องการลดเป้าหมายให้พนักงานออก 850 คน
 
30 ต.ค. 2559 นางสาวอรทัย วงศ์ไชย แรงงานจังหวัดลำพูน เปิดเผยว่า สถานการณ์ด้านแรงงานจังหวัดลำพูน การจ้างแรงงานในพื้นที่จังหวัดลำพูน ห้วงเดือนตุลาคม 2559 มีการโยกย้ายพนักงานประมาณ 300 คนในกิจการเดียวกัน แต่แยกโรงงานมีการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างแบบเป็นค่าจ้างรายวัน จากการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างทำงานเป็นรายชิ้นจ่ายตามค่าจ้างตามผลงาน สำนักงานแรงงานจังหวัดลำพูน ได้มอบหมายเจ้าหน้าที่เข้าไปทำความเข้าใจระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง จนเป็นที่พอใจของผู้ใช้แรงงาน ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างได้ทำความเข้าใจว่าเป็นการย้ายจากโรงงานหนึ่ง ไปอีกโรงงานหนึ่งที่มีรั้วติดกัน
 
สำหรับสถานการณ์ในช่วงที่ผ่านมามีนัยยะสำคัญเกิดจากสภาพปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ การสั่งสินค้าในช่วงที่ผ่านมาลดน้อยลงจนเป็นเหตุทำให้นายจ้างต้องลดขนาดของสถานประกอบการลง จากที่มีพนักงานกว่า 5,000 คน ต้องการลดเป้าหมายให้พนักงานออก 850 คน โดยวิธีให้ลูกจ้างสมัครใจที่จะลาออก ซึ่งทางบริษัทฯ จ่ายเงินค่าชดเชยตามกฎหมายและเปิดโอกาสให้พนักงานได้แจ้งความจำนงที่จะออกจากงานแล้ว เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2559 ที่ผ่านมา มีลูกจ้าง ที่สมัครได้เข้าร่วมโครงการทั้งหมด 650 คน ซึ่งจะต้องสิ้นสภาพการจ้างวันทำงานวันสุดท้ายคือวันที่ 31 ตุลาคม 2559 โดยสิทธิประโยชน์บริษัทฯ ได้แจ้งเรื่องกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในเรื่องการใช้สิทธิประโยชน์ต่างๆ แล้ว หน่วยงานในสังกัดในกระทรวงแรงงานของจังหวัดลำพูน ประกอบด้วย สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน สำนักงานจัดหางาน และประกันสังคม จะดำเนินการช่วยเหลือทั้งหมด 650 คนโดยให้ลูกจ้าง มาแจ้งขอใช้สิทธิ์กรณีการประกันตนการว่างงาน หรือถ้าต้องการจะประกอบอาชีพ สามารถไปสมัครเพื่อประกอบอาชีพใหม่ และเข้าอบรมกับศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัดลำพูน รวมทั้งการหาช่องทางในการที่จะหางานทำใหม่ โดยสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานแรงงานจังหวัดลำพูน หมายเลขโทรศัพท์ 053-525615-6
 
 
แรงงานปรับเกณฑ์ออกหนังสือรับรอง
 
เมื่อวันที่ 31 ต.ค. นายวรานนท์ ปีติวรรณ รองปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน่ประชุมเห็นชอบร่างประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน โดยการปรับหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการยื่นขอรับการประเมิน การออกหนังสือรับรองความรู้ความสามารถ อายุหนังสือรับรองความ รู้ความสามารถ และการออกใบแทนหนังสือ รับรองความรู้ความสามารถ โดยสาระสำคัญกำหนด ดังนี้
 
1.ให้ศูนย์ประเมินความรู้ความสามารถออกหนังสือรับรองฯ และบัตรประจำตัวขนาดพกพาให้กับผู้รับรองฯ โดยเพิ่มคิวอาร์โค้ดบนบัตร รองรับยุคอุตสาหกรรม 4.0 เพื่อให้สะดวกในการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่
 
2.ให้ปรับปรุงรูปแบบหนังสือ และบัตรประจำตัวผู้ได้รับหนังสือรับรอง โดยมีเลขประจำตัวประชาชนและรูปถ่าย เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบและป้องกันการปลอมแปลง 3.ยกเลิกแบบใบแทนหนังสือรับรองฯ เดิม โดยกำหนดให้ใช้แบบเดียวกับหนังสือรับรองความรู้ความสามารถ แต่ให้มีข้อความใบแทนอยู่ด้านหน้าของหนังสือรับรอง เพื่อลดค่าใช้จ่ายของศูนย์ฯ และป้องกันการสับสน
 
4.กำหนดให้ผู้ที่ยื่นหนังสือรับรองฯ ครั้งแรก หรือผู้ที่ได้ยื่นคำขอประเมินใหม่ฉบับเดิมไว้แล้ว สามารถปฏิบัติงานในสาขาอาชีพหรือลักษณะงานที่กำหนดต่อไปได้ จนกว่าจะได้รับแจ้งผลการประเมิน เพื่อเป็นการคุ้มครองให้ผู้ประกอบอาชีพในสาขาอาชีพที่มีหนังสือรับรองฯ สามารถทำงานได้ในระหว่างรอผลการประเมิน
 
5.ให้ขยายอายุหนังสือรับรองฯ จากเดิม 3 ปี เป็น 5 ปี โดยนับตั้งแต่วันที่ออกหนังสือรับรองความรู้ความสามารถ เพื่อให้เหมาะสมกับค่าธรรมเนียม รวมทั้งค่าบริการในการประเมิน ตลอดจนเป็นการลดภาระของผู้ประ กอบอาชีพที่จะต้องเข้ารับการประเมินใหม่ในเวลาอันสั้นด้วย
 
 
ก.แรงงานย้ำห้ามเด็กต่ำกว่า 18 ปีทำงานในประมงทะเลเจอจับปรับเป็นล้าน
 
นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน(กสร.) เปิดเผยว่า พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้สั่งการให้เดินหน้าขับเคลื่อนการดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ การกดขี่แรงงานอย่างจริงจังและต่อเนื่อง เพื่อให้ลูกจ้างได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน ไม่เลือกปฏิบัติ ไม่มีการใช้แรงงานหรือสนับสนุนให้มีการใช้แรงงานเด็ก ไม่มีการบังคับใช้แรงงานในรูปแบบต่างๆ และดูแลให้แรงงานที่เป็นกลุ่มเสี่ยงได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายให้เกิดผลในทางปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพ ตลอดจนกำกับดูแล ให้นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบกิจการ ลูกจ้าง ปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานอย่างเคร่งครัด โดยที่ผ่านมาได้ปรับปรุงกฎหมายเพื่อให้คุ้มครองแรงงานได้อย่างครอบคลุมและทั่วถึงมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มแรงงานเด็กและแรงงานในงานประมงทะเล โดยออกกฎกระทรวงว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเล พ.ศ. 2557 ซึ่งมีสาระสำคัญคือ ห้ามจ้างลูกจ้างอายุต่ำกว่า 18 ปี และแก้ไขเพิ่มเติมอัตราโทษความผิดที่กระทำต่อแรงงานเด็ก ให้ระวางโทษในอัตราสูงสุด ซึ่ง กสร. ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการตรวจแรงงานและให้บังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ผลการตรวจแรงงาน พบนายจ้างใช้แรงงานเด็กอายุต่ำกว่ากฎหมายกำหนด โดยดำเนินคดีไปแล้ว 4 ราย อัตราค่าปรับรวม 1 ล้านบาท
 
กฎหมายดังกล่าวมีขึ้นเพื่อป้องกันมิให้แรงงานประมงทะเลถูกเอารัดเอาเปรียบจากการจ้างงาน ถูกละเมิดสิทธิจากการทำงานและมีสภาพแวดล้อมในการทำงาน ที่ปลอดภัย มีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น ทั้งนี้ หากพบว่ามีการใช้แรงงานเด็กที่ไม่เป็นไปตามกฎหมาย นายจ้างมีความผิดโดยมีอัตราโทษสูงสุดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่น้อยกว่า 400,000 บาท ต่อแรงงานเด็กหนึ่งคน หรือทั้งจำทั้งปรับ และเพื่อให้การคุ้มครองแรงงานเกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคมและประชาชนทุกคน ต้องช่วยกันสอดส่องดูแลหากพบเห็นการกระทำผิด ด้านแรงงาน สามารถแจ้งได้ที่สายด่วน 1546
 
 
แมนพาวเวอร์กรุ๊ป เผยทิศทางแรงงานช่วงไตรมาส 4 กลับมาคึกคักรับปีใหม่ สายงานการผลิตและโลจิสติกส์ ฮึดสู้ส่งท้ายปี ไม่มีตก ไม่มีปลด ไม่มีออกแน่นอน
 
จากสถานการณ์เศรษฐกิจชะลอตัวในรอบปีผ่านมา ส่งผลต่อทิศทาง และการขับเคลื่อนของตลาดแรงงานอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มธุรกิจภาคอุตสาหกรรม ในสายงานผลิตและส่งออก (Manufacturing & Logistics) แมนพาวเวอร์กรุ๊ป ประเทศไทย จึงจัดทำผลสำรวจล่าสุด "ทิศทางตลาดแรงงาน" พร้อมเปิดแผนงานทิศทางการรุกตลาดในฐานะผู้นำด้านการจัดหาบุคลากรเชิงนวัตกรรมระดับโลก ประจำปี 2559 เพื่อเป็นแนวทางช่วยลดช่องว่างทั้งอุปสงค์ (Demand) และอุปทาน (Supply) ของตลาดแรงงานในประเทศไทย อีกทั้งยังเป็นการช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับธุรกิจในประเทศในการเตรียมพร้อมรับมือไทยแลนด์ 4.0 ต่อไป
 
นางสาวสุธิดา กาญจนกันติกุล ผู้จัดการฝ่ายการตลาด แมนพาวเวอร์กรุ๊ป กล่าวว่า จากยุทธศาสตร์สำคัญภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่จะนำพาประเทศก้าวสู่โมเดล "ประเทศไทย 4.0" หรือ "ไทยแลนด์ 4.0" มาใช้ เพื่อผลักดันประเทศให้หลุดพ้นกับดัก 3 กับดักที่กำลังเผชิญ คือ กับดักประเทศรายได้ปานกลาง, กับดักความเหลื่อมล้ำ และกับดักความไม่สมดุลของการพัฒนา โดยมีเป้าหมายเพื่อนำประเทศมุ่งสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนโมเดลเศรษฐกิจจากการพึ่งพาการลงทุนต่างประเทศ มีการลงทุนการวิจัยและพัฒนาตัวเองน้อยมาก โดยมุ่งเน้นการพัฒนาการศึกษาคน สร้างการวิจัยและพัฒนา โครงสร้างเศรษฐกิจ ให้ไทยสามารถอยู่ได้ในศตวรรษที่ 21 ซึ่งรัฐบาลต้องกล้าพอที่จะถอดกับดักจากการดึงเงินลงทุนต่างประเทศ เอาเทคโนโลยีของต่างชาติมา และต้องยืนอยู่บนขาตัวเองในระดับหนึ่ง ซึ่งโมเดลนี้ค่อนข้างเป็นเรื่องใหม่ที่แรงงานส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจว่า ไทยแลนด์ 4.0 จะส่งผลกระทบต่อแรงงานหรือไม่ เมื่อมีการเลิกจ้างแรงงานกลุ่มลูกจ้างเหมาค่าแรงในกลุ่มภาคอุตสาหกรรม ทำให้รู้สึกถึงความไม่มั่นคงในการมีงานทำ และในอนาคต หากกล่าวว่าอุตสาหกรรมไทยยังขาดแรงงานจำนวนมากจนต้องนำเครื่องจักรมาทำงานแทนซึ่งตนมองว่า ไม่จริง เพราะมีแรงงานจำนวนมากที่ตกงานหากดูจากตัวเลข และในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา เกิดปัญหาในเรื่องของวิกฤตเศรษฐกิจ และวิกฤตการทางการเงิน ในหลายๆ ภาคส่วน ซึ่งเหตุเหล่านี้ มีผลกระทบต่อธุรกิจภาคอุตสาหกรรมจนเกิดการชะลอตัวทั้งในส่วนของกลุ่มสายงานการผลิตและส่งออก
 
ในส่วนของสายการผลิต (Manufacturing) ผลกระทบทางเศรษฐกิจต้องยอมรับว่า มีผลกระทบมาก หากมองในภาพรวม อาทิ การรับงานเป็นโปรเจค หรือออเดอร์แบบชั่วคราวโดยมีอัตราที่ลดลง ทั้งสายการผลิตยานยนต์ที่เกิดการชะลอตัวอย่างเห็นได้ชัด ทั้งด้านการผลิตอันเนื่องจากอยู่ในช่วงวางแผนทิศทางด้านการประหยัดพลังงานสู่ความเป็น Green Car ทั้งรถยนต์ไฮบริด (HV), รถยนต์ปลั๊กอินไฮบริด (PHV) และรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่งจะกลายเป็นตลาดยานยนต์สำหรับเจเนอเรชั่นต่อไป อีกทั้งมองจากภาพรวมของการส่งออก เนื่องจากความต้องการจากต่างประเทศน้อยลงและอุปสงค์ในประเทศที่ยังคงชะลอตัว จนส่งผลให้พนักงาน สัญญาจ้าง (outsource) มีการลดจำนวนลงหรือถูกลดโอทีในช่วงกลางปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ตั้งแต่ 1ม.ค. 2560 เป็นต้นไป มีการปรับค่าแรงขั้นต่ำ 5-10 บาท ใน 69 จังหวัด ส่วนอีก 8 จังหวัดไม่มีการปรับขึ้นค่าจ้างยังคงใช้อัตราเดิม (จากค่าแรงเดิมที่ 300 บาท) ด้านแรงงานต่างด้าวในกลุ่มนี้เริ่มมีลดน้อยลง เนื่องจากมี พรบ.ออกมาคุ้มครองสิทธิของคนไทย โดยมีผลบังคับใช้ไปแล้วตั้งแต่ 1 ตุลาคม ในส่วนของพนักงานประจำในสายงานผลิต ได้แก่ วิศวกรในสายการผลิต พนักงานบัญชี พนักงานฝ่ายผลิต ธุรการ ล่ามแปลภาษา ล้วนแต่ยังเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน เนื่องจากต้องอาศัยความรู้เฉพาะทาง และความเชี่ยวชาญทางภาษา จึงทำให้กลุ่มพนักงานประจำในสายการผลิตยังคงเป็นที่ต้องการอย่างต่อเนื่อง
 
งานระบบการจัดการขนส่งสินค้า (Logistics) ต้องยอมรับว่าได้ผลกระทบอย่างแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นการส่งออกหรือการจัดเก็บสินค้า แต่ด้วยจะใกล้เข้าช่วงเทศกาลปีใหม่จึงทำให้สายงานในกลุ่มนี้กลับมาคึกคักอีกครั้ง เนื่องจากต้องมีการนำเข้าส่งออกของขวัญ ผลิตภัณฑ์อาหาร แต่ก็อาจจะเบาลงในช่วงกลางปี ทั้งนี้อาจจะส่งผลเพียงเล็กน้อย เพราะกลุ่มงานโลจิสติกส์ส่วนใหญ่เป็นการร่วมทุนจากต่างชาติทั้ง ยุโรป อเมริกา ญี่ปุ่น ซึ่งมีระบบการจัดการที่ดีมีความเป็นมืออาชีพ อีกทั้งแรงผลักดันของรัฐบาลที่จะทำให้ไทยเป็น Logistics Hub คนที่สนใจอยากทำงานในสายอาชีพนี้ อาจจะต้องเรียนในด้าน โลจิสติกส์โดยเฉพาะ แต่สายอื่นก็สามารถทำได้ เช่น ท่องเที่ยวที่ต้องมีความรู้ด้านภาษาอังกฤษ หรือจบทางด้านภาษามาโดยตรงก็สามารถทำได้ เพียงแต่คุณต้องมีทักษะ ประสบการณ์ ความรับผิดชอบสูง การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่รวดเร็ว และภาษาที่ใช้อาจไม่ใช่แค่ 2 ภาษา ส่วนใหญ่การรับคนเข้าทำงานในส่วนของงานธุรการคลังสินค้าจะเป็นนักศึกษาจบใหม่ ซึ่งสามารถเข้าทำงานในส่วนของการจัดซื้อ หรือSupply Chainได้เลย แต่ข้อเสียของกลุ่มสายงานนี้คือ เด็กรุ่นใหม่ไม่ชอบการทำงานเป็นกะ แต่หากมองในมุมมองของอนาคตต้องยอมรับมีโอกาสก้าวหน้าสูง
 
แต่จากปี 2559 ที่ผ่านมา จะเห็นการย้ายฐานการผลิตในประเทศ ได้กลับมีกลุ่มภาคอุตสาหกรรมหน้าใหม่เข้ามาทดแทน อาทิ จีน สิงคโปร์ ดังนั้นจากเสียงสะท้อนของภาคอุตสาหกรรมปีนี้ถึงปีหน้า กลุ่มสายงานด้านโลจิสติกส์ยังเป็นที่ต้องการ และจากที่สถาบันการศึกษาผลิตบัณฑิตจบใหม่ยังไม่เพียงพอกับตลาดแรงงาน
 
แม้ว่า ในส่วนของภาคการผลิตบางส่วนที่เกิดการชะลอตัวไม่ได้ส่งผลมากนัก เนื่องจาก ยังคงมีความต่อเนื่องแม้ชะลอตัวของอุปสงค์ในประเทศ ตลาดแรงงานยังผันผวนกับด้านโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการส่งออกอย่างไรก็ตามภาคอุตสาหกรรมและโลจิสติกส์ยังคงต้องการบุคลากร แรงงานคุณภาพ ทักษะเฉพาะเป็นเรื่องสำคัญมั่นใจได้ว่าอัตราการปลดพนักงานออกภายในช่วงปลายปีนี้ต้องบอกเลยว่าไม่มีอย่างแน่นอน เนื่องจากไม่มีการขยายตัวธุรกิจ ไม่มีการรับพนักงานเพิ่ม มีแต่การทดแทนพนักงานที่ออก ทั้งในส่วนของพนักงานสัญญาจ้างและพนักงานประจำ อีกทั้งตอนนี้ ยังมีนักลงทุนหน้าใหม่จากประเทศจีนเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น รวมถึงประเทศที่เข้ามาลงทุนอยู่ก่อนแล้วอย่างญี่ปุ่น ดังนั้น ภายในปีหน้าเศรษฐกิจประเทศไทยอาจมีการปรับตัวที่ดีขึ้น และด้วยมุมมอง งานด้านสายการผลิตในกลุ่มวิชาชีพและโลจิสติกส์ เรื่องภาษาถือว่าเป็นอันดับ 1 ควรมีการเตรียมตัวให้พร้อม ในปัจจุบันภาษาที่ 2 ไม่เพียงพอ ต้องมีทักษะภาษา 3 ทักษะการทำงานรอบด้าน หรือ Multi Skill ก็ถือเป็นเรื่องสำคัญเพราะไม่มีองค์กรไหน ที่จ้างคนหนึ่งคนและให้ทำงานอย่างเดียว ข้อดีคือ เป็นการพัฒนาฝีมือในหลายๆ ด้าน เพื่อความเติบโตในสายอาชีพนั้นๆ เพราะในปัจจุบันนี้โลกมีการหมุนไปอย่างรวดเร็ว การแข่งขันด้านศักยภาพแรงงานเกิดขึ้นตลอดเวลา ซึ่งทุกองค์กรมองข้ามเรื่องทุนมนุษย์ไม่ได้เช่นกัน สุธิดากล่าวสรุป
 
 
ประชารัฐท่องเที่ยวเตรียมผลักดันโครงการ “อะเมซิ่ง ไทย โฮสต์” สร้างงานผู้เกษียณอายุทำพาร์ทไทม์ช่วยเหลือนักท่องเที่ยว
 
นายชนินทธ์ โทณวณิก รองประธานกรรมการ และประธานกรรมการบริหาร บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานสานพลังประชารัฐ ด้านการส่งเสริมท่องเที่ยวและไมซ์ กล่าวว่า เตรียมผลักดันข้อเสนอเรื่องการยกระดับคุณภาพการท่องเที่ยวไทยให้รัฐบาลพิจารณาเพิ่มเติม ได้แก่ อะเมซิ่ง ไทย โฮสต์ (Amazing Thai Host) แบ่งเป็นโครงการที่ 1 การสนับสนุนการจ้างงานผู้เกษียณอายุราชการร่วมเป็นอาสาสมัครประจำแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ทำหน้าที่ให้ความช่วยเหลือและประสานงานเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งเป็นโมเดลของประเทศที่มีการพัฒนาด้านการจัดการท่องเที่ยวกว่า 20 ประเทศทั่วโลก อาทิ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ แคนาดา นำมาใช้ประสบความสำเร็จ
 
โครงการนี้จะว่าจ้างคนวัยเกษียณประจำแต่ละท้องถิ่นที่ยังมีศักยภาพมาทำงานสัปดาห์ละ 3-4 วัน วันละ 4-5 ชั่วโมง ประจำจุดที่ต้องพบปะนักท่องเที่ยว ผู้สูงอายุที่เข้าร่วมโครงการไม่จำกัดเฉพาะอดีตข้าราชการ แต่การคัดเลือกบุคลากรที่เคยทำงานราชการมาก่อนจะมีความรู้เข้าใจในการช่วยเหลือนักท่องเที่ยวในกรณีที่ต้องติดต่อประสานกับหน่วยงานท้องถิ่น
โครงการต่อมาได้การจัดทีมยามชายหาดประจำแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลต่างๆ โดยว่าจ้างอดีตทหารเรือทำหน้าที่คอยระวังภัยและช่วยเหลือนักท่องเที่ยว ซึ่งแหล่งท่องเที่ยวทะเลของไทยยังไม่มีการสอดส่องและป้องกันอุบัติภัยทางทะเลในลักษณะนี้ทั้งที่เป็นจุดขายหลักของประเทศ และที่ผ่านมาปัญหาด้านความปลอดภัยเป็นปัจจัยลบด้านการท่องเที่ยวมาตลอด เพราะนักท่องเที่ยวบาดเจ็บและเสียชีวิตระหว่างเดินทางในไทยจำนวนมาก
 
นำร่องด้วยการว่าจ้างพนักงาน 1,000 อัตรา เพื่อครอบคลุมแหล่งท่องเที่ยวหลัก 10 จังหวัดแรก โดยกำหนดให้มีมาตรฐานเครื่องแบบสวมใส่ในแบบเดียวกันเพื่อเป็นสัญลักษณ์ให้นักท่องเที่ยวรับรู้ มีโทรศัพท์ที่ติดต่อไปยังศูนย์ข้อมูลกลางเพื่อพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ที่สื่อสารภาษาต่างๆ ได้ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ไม่สามารถสื่อสารภาษากับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้โดยตรง หากได้ผลก็ต้องการให้ขยายโครงการครอบคลุมทั่วประเทศ จะช่วยยกระดับบริการท่องเที่ยวของไทยให้ดีขึ้นแน่นอน
 
“โครงการนี้ยังต้องหารือกันในรายละเอียดต่อไปว่า เมื่อเริ่มดำเนินการแล้วจะมีหน่วยงานใดเป็นผู้รับผิดชอบงบประมาณว่าจ้างพนักงาน ปัจจุบันมีบางพื้นที่ที่ใช้งบประมาณท้องถิ่น เช่น งบองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ทำไปแล้ว เช่น เกาะสมุย หากโครงการนี้ผ่านการเห็นชอบ จะทำให้เกิดมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ”
 
นอกจากนี้มีอีก 2 ข้อเสนอที่อยู่ระหว่างศึกษาและเตรียมผลักดันให้เป็นรูปธรรม ได้แก่ การเสนอให้บรรจุวิชาด้านการท่องเที่ยวเข้าในหลักสูตรการเรียนการสอนระดับมัธยมศึกษา 1-6 เพื่อปลูกฝังองค์ความรู้ด้านท่องเที่ยวระดับรากฐาน เพราะท่องเที่ยวเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ มีสัดส่วนต่อจีดีพี 11% แต่ความรู้และความเข้าใจยังน้อยมาก หากมีการปูพื้นฐานแม้จะไม่ได้ออกไปประกอบอาชีพแต่จะทำให้เยาวชนรู้จักการเป็นเจ้าบ้านที่ดี
 
 
ปัญหากำลังคนในระบบสุขภาพ ชี้งานเพิ่ม-บุคลากรไม่พอ
 
คณะอนุกรรมการวางแผนกำลังคนด้านสุขภาพ ชำแหละปัญหากำลังคนในระบบสาธารณสุข พบบุคลากรไม่เพียงพอ-ผู้ปฏิบัติงานจริงต่ำกว่ากรอบขั้นต่ำ ขณะที่รัฐพยายามลดข้าราชการแต่ภาระงานกลับเพิ่มมากขึ้น หนำซ้ำยังจัดสรรงบประมาณให้ สปสช.ต่ำกว่าต้นทุนจริง เป็นเหตุให้โรงพยาบาลต้องใช้เงินบำรุงจ้างพนักงาน แต่ต้องแบกรับภาระเอง
 
นพ.ฑิณกร โนรี เลขานุการคณะอนุกรรมการวางแผนกำลังคนด้านสุขภาพ เปิดเผยในเวทีอภิปรายหัวข้อ “ก้าวต่อไปด้านกำลังคน ในมิติการเงินการคลัง : การจัดการเงินเดือนบุคลากรกระทรวงสาธารณสุขและประเด็นการเตรียมความพร้อมบุคลากร เพื่อรองรับการพัฒนาคุณภาพในอนาคต”ซึ่งอยู่ภายใต้การประชุมวิชาการระดับชาติด้านหลักประกันสุขภาพของประเทศไทย เมื่อวันที่ 11 ต.ค.2559 ตอนหนึ่งว่า ที่ผ่านมามีการพูดถึงประเด็นการผูกเงินเดือนบุคลากรสาธารณสุขไว้กับงบประมาณของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มาอย่างต่อเนื่อง และมีข้อเสนอให้แยกเงินเดือนออกจากงบเหมาจ่ายรายหัว
อย่างไรก็ตาม จำเป็นต้องพิจารณาความเป็นมา โดย พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 มาตรา 46 ระบุว่า หน่วยบริการมีสิทธิรับค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขจากกองทุน และในวงเล็บ 2 ระบุไว้ว่า ค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขนั้นให้ครอบคลุมถึงค่าใช้จ่ายของหน่วยบริการในส่วนเงินเดือนและค่าตอบแทนบุคลากร ฉะนั้นข้อเสนอให้ตัดเงินเดือนจึงหมายถึงกรณีที่ระบุไว้ในวงเล็บ 2
 
นพ.ฑิณกร กล่าวว่า ที่ผ่านมาระบบสาธารณสุขไทยมีการผลิตบุคลากรเพิ่มมากขึ้น สัดส่วนประชากรต่อกำลังคนด้านสุขภาพดีขึ้น การกระจายตัวดีขึ้น แต่ก็ยังมีความกระจุกตัวในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) มากกว่าภาคต่างๆ โดยพบว่าช่องว่างการกระจายกำลังคนที่กว้างที่สุดคือระหว่าง กทม.กับภาคอีสาน
 
สำหรับประเด็นการรวมค่าแรงในระบบบัตรทองนั้น คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูประบบสาธารณสุขด้านการคลังสุขภาพและระบบหลักประกันสุขภาพผลการศึกษาพบว่า การรวมเงินเดือนในระบบบัตรทองไม่น่าจะเป็นมาตรการที่มีประสิทธิผลในการกระจายข้าราชการ
 
นอกจากนี้ ยังพบอีกว่าการรวมค่าจ้างในระบบบัตรทองมีผลต่อการจ้างลูกจ้างชั่วคราวที่ใช้เงินบำรุงชดเชยในกรณีที่ข้าราชการไม่เพียงพอ ขณะที่การรวมค่าตอบแทนในระบบบัตรทองน่าจะมีผลดีต่อการปฏิบัติงานและการคงอยู่ของกำลังคนในระบบ
 
นพ.ฑิณกร กล่าวอีกว่า สถานการณ์กำลังคนด้านสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ชัดเจนว่าผู้ปฏิบัติงานจริงไม่เพียงพอเมื่อเทียบกับกรอบขั้นต่ำ และตั้งแต่ปี 2545 รัฐบาลมีนโยบายลดกำลังคนภาครัฐ แต่ในขณะเดียวกันภารกิจด้านสุขภาพกลับเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเกิดขึ้นของระบบบัตรทอง การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ หรือแม้แต่ภาระโรคจากการเจ็บป่วยเรื้อรังเพิ่มขึ้น ดังนั้นภาคสาธารณสุขจึงจำเป็นต้องหากำลังคนให้เพียงพอ ซึ่งวิธีการหนึ่งก็คือการจ้างลูกจ้างชั่วคราวด้วยเงินบำรุง และเงินที่หน่วยบริการได้รับจาก สปสช.ก็เป็นเงินบำรุงเช่นกัน
 
อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นคืองบประมาณเหมาจ่ายรายหัวที่ สปสช.ได้รับการจัดสรรจากรัฐบาลต่ำกว่าคำของบประมาณ และในการปฏิบัติงานจริงของหน่วยบริการพบว่าความรุนแรงของโรคที่ต้องนอนในโรงพยาบาลมักสูงกว่าประมาณการ ค่าใช้จ่ายจึงเป็นภาระทางการเงินของโรงพยาบาล
 
“งบประมาณเงินเดือนและค่าตอบแทนบุคลากรที่ สปสช.ได้รับอนุมัติ จึงไม่พอกับรายจ่ายจริงของสถานพยาบาล โดยเฉพาะเรื่องของค่าตอบแทน หรือเรียกได้ว่า สปสช.ได้รับงบประมาณต่ำว่าต้นทุนที่แท้จริงที่จัดทำคำของบประมาณ” นพ.ฑิณกร กล่าว
 
 
มีผลแล้ว กม.คุ้มครองผู้รับงานไปทําที่บ้าน ค่าตอบแทนต้องไม่น้อยกว่าในสถานประกอบการ
 
ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศคณะกรรมการคุ้มครองการรับงานไปทําที่บ้าน เรื่อง อัตราค่าตอบแทนในงานที่รับไปทําที่บ้าน มีเนื้อหาระบุว่า โดยที่มาตรา ๑๖ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้รับงานไปทําที่บ้าน พ.ศ. ๒๕๕๓ การกําหนดค่าตอบแทนในงานที่รับไปทําที่บ้าน หากงานที่รับไปทําที่บ้านมีลักษณะและคุณภาพอย่างเดียวกัน และปริมาณเท่ากัน ให้ผู้จ้างงานกําหนดค่าตอบแทนให้แก่ผู้รับงานไปทําที่บ้านไม่น้อยกว่าอัตราค่าจ้าง ตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานตามที่คณะกรรมการคุ้มครองการรับงานไปทําที่บ้านกําหนด และต้องไม่เป็นการเลือกปฏิบัติ อาศัยอํานาจตามความในมาตรา ๑๖ วรรคหนึ่ง และมาตรา ๒๘ (๓) แห่งพระราชบัญญัติ คุ้มครองผู้รับงานไปทําที่บ้าน พ.ศ. ๒๕๕๓ คณะกรรมการคุ้มครองการรับงานไปทําที่บ้าน จึงออกประกาศไว้ดังต่อไปนี้
 
ข้อ ๑ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
 
ข้อ ๒ อัตราค่าตอบแทนของงานที่รับไปทําที่บ้านในงานที่มีการจ้างงานกันในสถานประกอบกิจการ ต้องไม่น้อยกว่าอัตราค่าจ้างที่จ่ายให้แก่ลูกจ้างในสถานประกอบกิจการ เมื่อคํานวณต่อหน่วยตามลักษณะงานคุณภาพอย่างเดียวกันและปริมาณเท่ากัน
 
ข้อ ๓ อัตราค่าตอบแทนของงานที่รับไปทําที่บ้านในงานที่ไม่มีการจ้างงานกันในสถาน ประกอบกิจการ ให้เป็นไปตามที่ผู้จ้างงานและผู้รับงานไปทําที่บ้านตกลงกัน
 
ข้อ ๔ อัตราค่าตอบแทนของงานที่รับไปทําที่บ้านตามข้อ ๒ และข้อ ๓ ต้องไม่น้อยกว่า อัตราค่าจ้างขั้นต่ําตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานกําหนด
 
ข้อ ๕ ให้พนักงานตรวจแรงงานมีอํานาจวินิจฉัย กรณีมีข้อสงสัยว่าอัตราค่าตอบแทนของงานที่รับไปทําที่บ้านตามข้อ ๒ หรือ
 
ข้อ ๓ น้อยกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ําตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน
 
ประกาศ ณ วันที่ ๓๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๙
หม่อมหลวงปุณฑริก สมิติ
ปลัดกระทรวงแรงงาน
ประธานกรรมการคุ้มครองการรับงานไปทําที่บ้าน
 
 
ก.แรงงานรับลูกสภาพัฒน์ฯแก้ปัญหาต่างด้าวแย่งงานคนไทย
 
นายสุทธิ สุโกศล ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน ในฐานะรองโฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า หม่อมหลวงปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน ได้ติดตามสถานการณ์ด้านแรงงานต่างด้าวและรับทราบรายงานการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ โดยเฉพาะการดำเนินการตามกฎหมายกับแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาแย่งอาชีพคนไทยด้วยการบูรณาการจัดชุดเฉพาะกิจแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง
 
จึงมีความห่วงใยต่อสถานการณ์ดังกล่าว ซึ่งสอดคล้องกับผลสำรวจของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และบริษัท ศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ จำกัด ที่ระบุว่า แรงงานต่างด้าวมีการค้าขายในทุกระดับ โดยในระดับศูนย์สรรพสินค้ามีต่างด้าวเป็นเจ้าของร้าน 6.9% ของจำนวนผู้ค้าทั้งหมด เป็นเจ้าของแผงในตลาดนัด 1.8% เป็นเจ้าของแผงในตลาดสด 20.9 % และเป็นเจ้าของร้านในตลาดชุมชน 9.7 % ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสัญชาติเมียนมา 44.5 % กัมพูชา 21.4 % ลาว 19.8 % เวียดนาม 4.4 % จีน 1.6 % ชนกลุ่มน้อย 5.5 % และอื่นๆ 2.7 % ตามลำดับนั้น
 
นายสุทธิ กล่าวต่อว่า ผลสำรวจดังกล่าวของ สศช. จะเป็นประโยชน์ต่อการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวแย่งอาชีพคนไทยได้ตรงจุด ซึ่งมีความสอดคล้องกับข้อมูลกองทะเบียนจัดหางานกลางและคุ้มครองคนหางาน กลุ่มงานควบคุมตรวจสอบการทำงานของคนต่างด้าว กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ซึ่งได้รายงานข้อมูลผลการตรวจสอบการทำงานของคนต่างด้าวที่แย่งอาชีพคนไทย โดยมียอดสะสมตั้งแต่ (1 ก.ย. – 31 ต.ค. 59) พบว่า ได้เข้าตรวจสอบตาม พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 รวม 489 ราย แยกเป็นแรงงานต่างด้าวที่ประกอบอาชีพค้าขาย หาบเร่ แผงลอย 474 ราย พนักงานรักษาความปลอดภัย 6 ราย และมัคคุเทศก์/นำเที่ยว 9 ราย
 
ทั้งนี้ ตั้งแต่ (1 ก.ย. – 31 ต.ค. 59) ได้ดำเนินคดีกับคนต่างด้าวไปแล้ว 406 ราย แยกเป็นสัญชาติเมียนมา 158 ราย กัมพูชา 104 ราย และ ลาว 65 ราย ที่เหลือเป็นเวียดนาม 22 ราย จีน 21 ราย อินเดีย 16 ราย บังคลาเทศ 1 ราย และอื่นๆ อีก 19 ราย พร้อมทั้งดำเนินคดีกับนายจ้างในสถานประกอบการ 108 แห่ง ที่เข้าข่ายความผิดตามพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551
 
“ท่านปลัดฯ รับทราบและติดตามสถานการณ์มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีความห่วงใยต่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ทุกฝ่าย โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ฝ่ายปกครอง ตม. และพนักงานตรวจแรงงานทั้งของกระทรวงแรงงานเองและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยได้เน้นย้ำให้ใช้มาตรการในการตรวจสกัดกั้นการลักลอบเข้าเมืองของแรงงานต่างด้าว และการตรวจบังคับใช้กฎหมายตามแผนการตรวจอย่างเข้มข้น ตลอดจนให้ทุกหน่วยงานปฏิบัติการข่าวสารอย่างต่อเนื่อง เพื่อรณรงค์ปลูกจิตสำนึกให้คนในชุมชนร่วมมือกันเฝ้าระวังและแจ้งเบาะแสเมื่อพบเห็นการกระทำที่ไม่เป็นไปตามกฎหมาย” รองโฆษกกระทรวงแรงงาน กล่าว
 
อย่างไรก็ตาม หากพบเห็นคนต่างด้าวทำงานผิดประเภทจะมีโทษสำหรับนายจ้าง ซึ่งปรับระหว่าง 10,000 – 100,000 บาท ต่อแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย 1 คน ส่วนโทษสำหรับแรงงานต่างด้าว จำคุก 5 ปี ปรับระหว่าง 2,000 – 100,000 บาท ทั้งนี้ หากแรงงานต่างด้าวยินยอมกลับประเทศต้นทาง จะถูกนำส่งกองตรวจคนเข้าเมืองเพื่อดำเนินการส่งกลับประเทศต้นทาง โดยได้รับการละเว้นโทษจำคุก โดยเป็นไปตามความตกลงระหว่างประเทศ ซึ่งประชาชนทั่วไปสามารถแจ้งเบาะแสได้ที่สายด่วนกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน โทรศัพท์ 1694
 
 
รง.แนะนายจ้างตั้ง "สหกรณ์ออมทรัพย์" แก้ปัญหาหนี้นอกระบบผูเใช้แรงงาน ตามรอยเศรษฐกิจพอเพียง ระบุปัจจุบันมี 540 แห่งปี 60 ตั้งเป้าเพิ่มอีก 25 แห่ง
 
พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน สั่งการให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ดำเนินการส่งเสริมให้ผู้ใช้แรงงานมีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของความเป็นอยู่ของลูกจ้าง ทั้งนี้มีลูกจ้างอีกจำนวนมากที่ประสบปัญหารายได้ไม่เพียงพอต่อรายจ่าย เป็นเหตุให้ไม่มีการออม และต้องกู้ยืมเงินจากแหล่งเงินกู้นอกระบบ ที่มีอัตราดอกเบี้ยสูง ส่งผลลูกจ้างบางคนต้องลาออกหรือทิ้งงานเพื่อหนีเจ้าหนี้ ทำให้ขาดรายได้ในการดำรงชีพในส่วนของผู้ประกอบการก็ประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงาน
 
"กสร.จึงได้น้อมนำแนวพระราชดำริเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ได้พระราชทานแก่ปวงชนชาวไทยนำเป็นหลักในการส่งเสริมให้สถานประกอบกิจการจัดสวัสดิการด้านเศรษฐกิจให้กับผู้ใช้แรงงาน โดยส่งเสริมให้จัดตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์ในสถานประกอบกิจการ เพื่อสร้างเสริมวินัยในการใช้จ่าย รู้จักพอประมาณ ความมีเหตุผล และมีภูมิคุ้มกันด้วยการออม ในกรณีที่มีความขัดสนเรื่องค่าใช้จ่ายลูกจ้างก็สามารถจะกู้ยืมเงินผ่านสหกรณ์ออมทรัพย์ในสถานประกอบกิจการ โดยไม่ต้องมีหลักทรัพย์มาค้ำประกัน และเสียดอกเบี้ยในอัตราถูกซึ่งจะเป็นหนทางในการป้องกันปัญหาการกู้ยืมเงินจากแหล่งเงินกู้นอกระบบของลูกจ้าง"พลเอกศิริชัย กล่าว
 
นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวเสริมว่า ปัจจุบันมีสถานประกอบกิจการที่จัดตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์ฯ จำนวน 540 แห่ง และในปี2560ตั้งเป้าหมายจะให้มีการจัดตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์ในสถานประกอบกิจการอีก 25 แห่ง ลูกจ้างเกี่ยวข้อง 50,000 คน และเพื่อสนับสนุนการดำเนินการจัดสวัสดิการในรูปแบบสหกรณ์ออมทรัพย์ในสถานประกอบกิจการ กสร.มีกองทุนเพื่อผู้ใช้แรงงาน ซึ่งขณะนี้มีวงเงิน 260 ล้านบาท ให้บริการแก่สหกรณ์ออมทรัพย์ในสถานประกอบกิจการกู้ยืมเพื่อเป็นทุนหมุนเวียนในอัตราดอกเบี้ยต่ำ ณ ปัจจุบันได้ให้บริการเงินกู้แก่สหกรณ์ออมทรัพย์ฯ ไปแล้วจำนวน 251 แห่ง เป็นเงิน 1,918,370,000 บาท มีลูกจ้างที่เป็นสมาชิกสหกรณ์และได้รับสิทธิประโยชน์ จำนวน 216,520 คน
 
"และในปี2556 ตั้งเป้าหมายจะให้บริการแก่สหกรณ์ออมทรัพย์ฯ อีก 12 แห่ง เป็นเงิน 120 ล้านบาท ทั้งนี้ กสร. พร้อมให้คำปรึกษานายจ้าง เจ้าของสถานประกอบกิจการที่สนใจจะตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์ หรือต้องการเงินทุนหมุนเวียน โดยสอบถามได้ที่ กองสวัสดิการแรงงาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน หมายเลข 0-2246-0383 ในวันและเวลาราชการ หรือที่เว็บไซด์www.labour.go.th"นายสุเมธ กล่าว
 
 
ก.แรงงานกระชับความร่วมมือดูแลแรงงานย้ายถิ่นฐานอย่างเป็นรูปธรรม
 
นางเดน่า เกรเบอร์ ลาเด็ก (Mrs. Dana Graber Ladek) หัวหน้าสำนักงานองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) ประจำ ประเทศไทยและคณะ เข้าเยี่ยมคารวะ พลเอกศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ณ ห้อง รับรองรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ชั้น 6 ในโอกาสนี้หัวหน้าสำนักงานองค์การระหว่างประเทศ เพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน ประจำประเทศไทย กล่าว ขอบคุณกระทรวงแรงงานสำหรับความร่วมมือ ที่มีมาอย่างต่อเนื่องในการทำงานด้านการย้าย ถิ่นของแรงงานในประเทศไทย และ IOM ได้นำเสนอ ภาพรวมการทำงานในปัจจุบันรวมถึงแผนงาน ที่วางไว้ของ IOM ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการย้ายถิ่น ของแรงงานในประเทศไทย ได้แก่ 1.โครงการความร่วมมือไทย-อิสราเอล เพื่อการจัดหางาน (Thailand Israeli Cooperation) 2.โครงการสร้างความแข็งแกร่งให้กับการปฏิบัติงานร่วมกันระหว่างการย้ายถิ่นและการพัฒนาในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง และ 3.โครงการสนับสนุนกลุ่มประเทศอาเซียนในการมุ่งสู่การเคลื่อนย้ายแรงงานฝีมือที่ มากขึ้น พร้อมเน้นย้ำถึงความพร้อม ของ IOM ในการสนับสนุนกระทรวงแรงงานในการจัดการ การย้ายถิ่นของแรงงานในประเทศไทย
 
พลเอกศิริชัย กล่าวว่า กระทรวงแรงงานยินดีให้ความร่วมมือกับโครงการต่างๆ ของ IOM และขอให้ IOM ผลักดันประเทศที่รับแรงงานไทยเข้าไปทำงานให้ช่วยดูแลแรงงานไทยให้ครอบคลุมด้านต่างๆ มากขึ้น ได้แก่ การตรวจสุขภาพและการแก้ไขปัญหาการจ่ายค่าชดเชย การเลิกจ้าง เป็นต้น ให้ความรู้เรื่องสิทธิหน้าที่ตามกฎหมาย คุ้มครองแรงงานของไทยให้แก่แรงงานข้ามชาติก่อน เดินทางเข้ามาทำงานในประเทศไทยผ่านศูนย์ แรกรับเข้าทำงานและสิ้นสุดการจ้าง เน้นย้ำความร่วมมือในการแบ่งปันข้อมูลประสบการณ์จาก IOM เพื่อการพัฒนาด้านแรงงานในด้านต่างๆ นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ขอความร่วมมือ IOM ช่วยส่งเสริมให้แรงงานไทยนำความรู้เกี่ยวกับ การเกษตรจากการทำงานในอิสราเอลมาพัฒนาการ เกษตรในประเทศไทย รวมถึงการเสริมสร้างทัศนคติที่ดีให้คนไทยยอมรับการเข้ามาทำงานของแรงงาน ต่างด้าวในประเทศไทย โดยจะได้มอบหมายหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องหารือในรายละเอียดต่อไป และหวังว่าจะมีความร่วมมือระหว่างกันเพิ่มมากขึ้นอย่างเป็น รูปธรรมต่อไปในอนาคต
 
 
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท