แปรอักษรในช่วงแปรผัน

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

อยู่ดีๆ กิจกรรมการแปรอักษรก็กลายเป็นที่นิยมกันทุกภาคส่วน เมื่อก้าวเข้าสู่รัชกาลที่ 10…

กล่าวตามกันมาว่า การแปรอักษรแรกอุบัติขึ้นในไทยเมื่อปลายทศวรรษ 2480  ในการแข่งขันฟุตบอลระหว่างโรงเรียนอัสสัมชัญกับโรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย ที่สนามศุภชลาสัย เมื่ออัฒจันทร์ฝั่งอัสสัมปรากฏแปรอักษรคำว่า "อ.ส.ช." สีขาวบนพื้นกากีแกมเขียว จัดการโดยอาจารย์และศิษย์เก่าอัสสัมชัญเฉิด สุดารา เอง โดยใช้นักเรียนในชุดยุวชนทหารสีกากีแกมเขียวนั่งเรียงเป็นตัวอักษร และชุดยูนิฟอร์มสีขาวของนักเรียนนั่งให้เป็น background สร้างความอัศจรรย์บนอัฒจันทร์แก่ผู้ชมในงานอย่างมาก ซึ่งในการแปรอักษรครั้งนั้น ใช้ประชากรนักเรียนสิริรวม 1,000  คน [1]

ต่อมาการเชียร์กีฬาด้วยวิธีนี้ก็พัฒนาเทคนิคเรื่อยมา จากสลับตำแหน่งของผู้ที่สวมเสื้อสีตามที่กำหนด สลับด้านเสื้อ สวมถอดเสื้อทับ เป็นกระดาษสีและผ้าสีต่างๆ ร่ม สมุดสีต่างๆ ติดบนแผ่นไม้อัด และเพิ่มรายละเอียดของสีขึ้นเรื่อยๆ หรือการวาดรูปลงบนกระดาษแผ่นใหญ่ แล้วตัดแบ่งซอยย่อยให้กองเชียร์ถือ และสามารถพัฒนาเป็นภาพเคลื่อนไหวราวทีวี แม้เริ่มมีรูปภาพประกอบการเชียร์ แต่ยังคงเรียกว่า “แปรอักษร” อยู่ ขณะเดียวกันการเชียร์แปรอักษร ก็แพร่ขยายจากโรงเรียนในเครือจตุรมิตร (“สวนกุหลาบ เทพศิรินทร์จำให้มั่น อัสสัมชัญกรุงเทพคริสเตียนร่วมเพียรจัดหา”) ไปสู่งานเชียร์กีฬาแห่งอื่นเช่น ฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์

กิจกรรมการแสดงหมู่ลักษณะนี้ ไม่เพียงต้องใช้แรงงานมนุษย์จำนวนมาก เพื่อความสวยงามเพลิดเพลินใจแก่ผู้ชมจากตำแหน่งที่ไกลออกไป แสดงถึงศักยภาพในการควบคุมไพร่พลจำนวนมากได้ และอำนาจมากพอที่จะทำให้มวลชนปฏิบัติตามคำสั่งได้พร้อมเพรียงกัน มีสภาวะที่สยบยอมมากพอที่จะทนต่อสภาพภูมิอากาศที่ทรมาน เช่นอากาศร้อนอบอ้าว กลางแจ้ง หรือหนาวจัด และระเบียบวินัยอันเคร่งครัด สภาวะที่กองเชียร์ต้องชวนอึดอัด ไม่ได้เห็นการแข่งขันหรือผลงานที่ตัวเองได้ร่วมสร้าง หลังการฝึกซ้อมแปรอักษรต้องใช้ความอดทน แข็งแรง พร้อมเพรียง เคลื่อนที่อย่างรวดเร็ว ราวกับฝึกทหาร

แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่ต้องคำนึง เพราะผู้เชียร์ได้ถูกสลายปัจเจกบุคคลเป็นเพียงเม็ดสีเล็กๆ เฉดหนึ่งเท่านั้นของตัวอักษรขนาดใหญ่ ร่างกายของพวกเขาและเธอมีหน้าที่เพียงก้มหน้าก้มตาปฏิบัติตามโค้ดที่กำหนด ในนามแห่งสามัคคี และการอุทิศเสียสละทั้งกายและใจให้หมู่คณะ

ด้วยเหตุนี้กิจกรรมเชียร์แปรอักษรจึงถูกตั้งข้อสังเกตว่า หากไม่เป็นไปเพื่อเชียร์แข่งขันกีฬาแบบทีมที่เป็นสัญลักษณ์อีกรูปแบบของสงครามและกิจกรรมทดแทนการใช้ความรุนแรงเพื่อหมู่คณะ ก็เป็นวัฒนธรรมการแสดงหมู่ที่นิยมในประเทศระบอบเผด็จการ ในลัทธิบูชาผู้นำ หรือสำนึกอำนาจนิยม เช่นการแสดงแปรอักษรเนื่องในโอกาสพิเศษต่างๆ ของสถาบันการศึกษาทางวีรชนทหารเม็กซิโก เพื่อรำลึกและสร้างความภาคภูมิใจและประวัติศาสตร์สงครามของประเทศ, พิธีเปิดและปิดงานโอลิมปิกฤดูร้อน ค.ศ.1980 ที่มอสโก ขณะยังเป็นสหภาพโซเวียต ที่ต้องใช้นักเรียนทหารร่วม 6,800 นาย ฝึกซ้อมมาครึ่งปี

การแสดงแปรอักษรที่ขึ้นชื่อที่สุดระดับโลกก็คือ มหกรรมแสงสีเสียง “Arirang Festival” ของเกาหลีเหนือ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ mass games หรือศิลปะกายกรรมการแสดง ที่เว่อร์วังอลังการ ทุ่มทุนสร้างขว้างงบใส่ ใช้ทรัพยากรมนุษย์อย่างบ้าคลั่งเป็นนักแสดงเคลื่อนไหวประสานพร้อมเพรียงกันเพื่อแสดงถึงความเข้มแข็งพลกำลังของหมู่เหล่า และเป็นบทพิสูจน์ความเชื่องและภักดีของมวลชนว่ามากพอที่จะยอมเป็นอะไรก็ได้ให้กับผู้นำสูงสุดหรือไม่ แม้แต่ยอมเป็นเพียง pixel จุดเดียวของภาพในหน้าจอทีวีขนาดใหญ่ ให้นั่งดูเพื่อความบันเทิงก็ตาม

มันจึงกลายเป็นอีกงานศิลปะแนวสัจจนิยมของสังคมนิยม (Socialist realism) ที่พัฒนาโดยสหภาพโซเวียตจนกลายเป็นที่นิยมในกลุ่มประเทศสังคมนิยม อย่างไรก็ตามการแปรอักษรก็ยังคงมีลมหายใจอยู่ในโลกเสรี ประเทศระบอบประชาธิปไตย เช่นการแปรอักษรเชียร์ฟุตบอล

ในระบอบ “ประชาธิปไตยครึ่งใบ” หรือเชื่อกันว่าเป็น “ประชาธิปไตยแบบไทยๆ” ที่กลายเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีการเมืองในแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ควบคุมกำกับอยู่ [2] ภายใต้ที่รัฐบาลเปรม ติณสูลานนท์ปกครองเป็นเวลายาวนาน (พ.ศ. 2523 – 2531) มหา’ลัยธรรมศาสตร์เองก็มีการแปรอักษรครั้งสำคัญของประวัติศาสตร์ ในงานฟุตบอลประเพณี พ.ศ. 2526 ที่น.ศ.ยอมเสี่ยง ลักลอบแปรอักษรภาพรำลึกถึงปรีดี พนมยงค์กลางสนามศุภฯ ว่า

"พ่อสร้างชาติด้วยสมองและสองแขน
พ่อสร้างแคว้นธรรมศาสตร์ประกาศศรี
พ่อของข้านามระบือชื่อ “ปรีดี”
แต่คนดีเมืองไทยไม่ต้องการ"

กลายเป็นครั้งแรกๆ ที่กล่าวถึงปรีดีในด้านบวกบนที่สาธารณะอย่างชัดเจน และท้าทายบริบทสังคมการเมืองในขณะนั้น หลังจากที่ปรีดีถูกทำให้ลืมและสร้างภาพให้เป็นปีศาจร้ายของการเมืองไทยมาตลอด

เล่ากันปากต่อปากจากผู้ที่อยู่เหตุการณ์ว่าการแปรอักษรครั้งนั้นสร้างเสียงปรบมือไปทั่วทั้งสนามกีฬา บรรดาศิษย์เก่ามหา’ลัยยืนร้องไห้ด้วยความปรีดี ปรีดีเองที่อาศัยอยู่ในฝรั่งเศส หลังลี้ภัยการเมืองจากไทย ก็ได้มีจดหมายมาขอบคุณนักศึกษาที่ยังรำลึกถึงกันอยู่ ก่อนที่จะสิ้นใจไม่กี่เดือนให้หลัง

“ความน่าอัศจรรย์” จนน่าขนลุกของมันอาจจะไม่ได้อยู่ที่รูปหรือตัวอักษรต่างๆ ตระการตา กระดุกกระดิกเคลื่อนไหวไปมาได้เท่านั้น แต่หากเป็นการใช้แรงงานมนุษย์จำนวนมากมายที่ละทิ้ง “ความเป็นมนุษย์” ไปแล้ว พร้อมเพรียงที่จะเชื่อฟังโค้ดคำสั่งอย่างว่านอนสอนง่าย ซึ่งมันไม่เพียงประกันความมั่นใจให้กับผู้ปกครอง แต่ยังประคับประคองความมั่นใจให้กับบรรดา “เม็ดสี” ทั้งหลายว่า ยังมี “พวกเดียวกัน” อยู่ ราวกับว่ากำลังอยู่ในช่วงเวลาแห่งความรู้สึกไม่มั่นคง (ซึ่งในขณะเดียวกันก็ได้สร้าง “พวกอื่น” ไปพร้อมกัน) ด้วยการพยายามแสวงหา “พวกเดียวกัน” ไปพร้อมกับการประกาศจินตนาการร่วมกัน

เพราะพวกเขาและเธอไม่เพียงไม่มีโอกาสเห็นภาพที่จะปรากฏขึ้นขณะแปรอักษร แต่สมาชิกอันมหาศาลบนอัฒจันทร์หรือลานแปรอักษรที่เชื่อว่าเป็น “พวกเรา” นั้น ก็ไม่ได้รู้จักมักจี่กันทั้งหมด

 

 

[1] เสรี เสรีวัฒโนภาส และคณะ. (2546). อัสสัมชัญประวัติ. กรุงเทพฯ : สมาคมอัสสัมชัญ.
[2] อดินันท์ พรหมพันธ์ใจ. รัฐราชการไทยในสมัยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์: ปัญหาระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบ (2523 – 2531)วารสารสังคมศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปีที่ 45 ฉบับที่ 2 กรกฎาคม-ธันวาคม 2558 น. 75-104

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท