คุกหญิง: คนล้นคุก Over Criminalization กฎหมายยาเสพติด และกระบวนการยุติธรรม

นโยบายและกฎหมายยาเสพติดบนแนวคิด Criminalization กวาดต้อนคนเข้าคุก โทษหนัก นิยามแข็งตัว อดีตรอง ปปส. ชี้ข้อสันนิษฐานเด็ดขาด สะดวกกับฝ่ายจับกุมและฝ่ายฟ้องคดี แต่ไม่เป็นธรรมกับประชาชนกระบวนการยุติธรรมมีจุดอ่อน ศาลไม่ให้ประกันเพราะกลัวถูกเพ่งเล็ง เป็นเหตุผู้ต้องหาต้องถูกขังรวมกับนักโทษเด็ดขาด พบผู้ต้องขังหญิง 3.5 หมื่นคน โดนคดียาเสพติดถึง 30,821 คน

ภาพจาก www.thaidrugpolice.com

ปัญหาผู้ต้องขังล้นคุกทั้งหญิงและชายกำลังเป็นวิกฤตใหญ่ของระบบราชทัณฑ์ เรียกว่าคุกกำลังจะแตก ชาติชาย สุทธิกลม อดีตอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เล่าว่า

“ผมเป็นอธิบดีกรมราชทัณฑ์ตอนปี 2552 มีผู้ต้องขัง 1.8 แสนคน ออกมาตอนปี 2554 ตอนนั้น 2.1 แสน ตอน 1.8 แสน ก็เริ่มแย่แล้ว วันนี้ปี 2559 3.1 แสน แล้วจะอยู่กันไหวเหรอ เราจึงเห็นการทำเรือนนอนสองชั้น ห้องขนาดไม่ใหญ่มากนอนกันห้าสิบกว่าคน ทั้งแดนชายและแดนหญิง”

โฟกัสเฉพาะผู้ต้องขังหญิง ประเทศไทยมีสัดส่วนผู้ต้องขังหญิงสูงเป็นอันดับ 1 ของโลก และมีอัตราผู้ต้องขังหญิงต่อประชากร 100,000 คน เท่ากับร้อยละ 71.2 ซึ่งสูงเป็นอันดับ 1 ของโลกอีกเช่นกัน

ตัวเลขจากกรมราชทัณฑ์ระบุว่า ข้อมูล ณ วันที่ 1 มิถุนายน 2559 นับเฉพาะผู้ต้องขังหญิงที่เป็นนักโทษเด็ดขาดมีทั้งสิ้น 35,768 คน เป็นนักโทษเด็ดขาดจากคดี พ.ร.บ.ยาเสพติดจำนวนถึง 30,821 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 86.17 พูดให้เข้าใจง่ายๆ คือ ทุกๆ ผู้ต้องขังหญิง 100 คน จะเป็นผู้ต้องขังหญิงจากคดียาเสพติด 86 คน

นี่คือตัวเลขที่ผิดปกติอย่างรุนแรง เราไม่สามารถพูดถึงหรือหาวิธีแก้ไขสภาพความเป็นอยู่ของผู้ต้องขังหญิง โดยละเลยไม่พูดถึงกฎหมายยาเสพติดและระบบกระบวนการยุติธรรมที่ดำรงอยู่ได้ เพราะมันเป็นต้นตอสำคัญที่กวาดผู้คนเข้าคุก จนเกิดสภาพคุกแตก

...............

หากจะสรุปรากฐานความคิดของรัฐไทยต่อยาเสพติดใน 1 คำ Criminalization หรือทำให้ยาเสพติดเป็นอาชญากรรม น่าจะเป็นคำคำนั้น มันได้เหมารวมผู้คนจำนวนมากที่ข้องเกี่ยว...หรือแม้กระทั่งไม่ข้องเกี่ยว ให้กลายเป็นอาชญากร

กล่าวคือเรานำเข้าแนวคิดการปราบปรามยาเสพติดจากอเมริกา บวกกับทัศนคติของสังคมไทยที่ถูกปลูกฝังโทษภัยของยาเสพติดและการตีตราผู้ที่เกี่ยวข้องมาอย่างยาวนาน ยากลำบากมากที่ผู้มีอำนาจจะกล้าเปลี่ยนแปลงนโยบายยาเสพติด กรณีพลเอกไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ที่เคยมีนโยบายนำยาบ้าออกจากบัญชียาเสพติดประเภทที่ 1 และเปลี่ยนเป็นยาเพื่อใช้ประโยชน์ในการรักษาโรค เสียงด่าทอตามมาเป็นพรวน จนแนวคิดนี้เงียบหายไปในที่สุด

กฤตยา อาชวนิจกุล จากโครงการขับเคลื่อนนโยบายการปฏิรูประบบเรือนจำผู้ต้องขังหญิงและกระบวนการยุติธรรมที่เกี่ยวข้อง สมาคมนักวิจัยประชากรและสังคม และสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ถึงกับกล่าวว่า นโยบายข้างต้นที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเสนอนั้น เป็นนโยบายที่ก้าวหน้าที่สุดเท่าที่รัฐบาลทหารชุดนี้เคยเสนอ

ผู้ต้องขังหญิงที่เป็นนักโทษเด็ดขาดมีทั้งสิ้น 35,768 คน เป็นนักโทษเด็ดขาดจากคดี พ.ร.บ.ยาเสพติดจำนวนถึง 30,821 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 86.17 พูดให้เข้าใจง่ายๆ คือ ทุกๆ ผู้ต้องขังหญิง 100 คน จะเป็นผู้ต้องขังหญิงจากคดียาเสพติด 86 คน

รู้กันดีว่าไทยมีการปราบปรามยาเสพติดอย่างเด็ดขาด อย่างน้อยที่สุดจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญคือนโยบายสงครามยาเสพติดสมัยทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ทำให้เกิดการฆ่าตัดตอนกว่า 2,500 ศพ ในปี 2546 และแม้ว่าเราจะผ่านการรัฐประหารมาอีก 2 ครั้ง แต่นโยบายด้านนี้ก็ไม่ได้เพลาไม้เพลามือลง (ซ้ำยังออกมาในรูปของการเข้มงวดกับผู้ต้องขังทั้งชายและหญิง จนกระทบสิทธิพื้นฐานทั่วไปของพวกเขาและเธอ)

“จุดเปลี่ยนแปลงของนโยบายยาเสพติดสมัยนายกฯ ทักษิณ ซึ่งแตกต่างจากนโยบายของรัฐบาลอื่นๆ ที่ข้าราชการมีบทบาทเยอะ ทำข้อเสนอเชิงนโยบายขึ้นมา แต่นายกฯ ทักษิณมีการตั้งคณะทำงานขึ้นมา มีการคิดนโยบาย บทบาทของ ปปส. (สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด) ลดลง จึงมีจุดเด่นว่าข้าราชการไม่สามารถครอบงำนักการเมืองได้ ปี 2546 มีการประกาศยุทธศาสตร์ยาเสพติด ถ้าดูด้วยความเป็นธรรม มันไม่ได้ปราบอย่างเดียว มีการใช้อาสาสมัครพลังแผ่นดินในการลงไปดู มีการให้โอกาสเลิก เป็นการพลิกโฉมหน้า นโยบายทางอาญาที่เกี่ยวข้อง เช่น จะมีโทษอื่นๆ มั้ยที่ไม่ใช่โทษทางอาญา” พิทยา จินาวัฒน์ อดีตที่ปรึกษาและรองเลขาธิการ ปปส. กล่าว

น่าแปลกใจ ทั้งที่ปราบกันหนักหน่วงเพียงนี้ ตัวเลขยาบ้าที่เป็นของกลางที่ยึดได้ 54.2 ล้านเม็ดในปี 2553 พอถึงปี 2557 ตัวเลขของกลางกลับไม่ลดลง ตรงกันข้าม มันเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวที่ 111.9 ล้านเม็ด

ทำไมการปราบปรามยาเสพติดอย่างต่อเนื่อง เด็ดขาดของรัฐ กลับให้ผลตรงกันข้าม? การทำให้ยาเสพติดเป็นอาชญากรรมใช่ทางออกจริงหรือไม่?

พิทยาอธิบายว่า การจัดการปัญหายาเสพติดประกอบด้วย 2 ส่วน คือส่วนนโยบายและส่วนของกฎหมาย ซึ่งมีความเกี่ยวข้องและไปในทิศทางเดียวกัน สำหรับไทย พิทยามองว่า เราไม่ได้แค่ Criminalization ยาเสพติด แต่เรา Over Criminalization

และนั่นสะท้อนออกมาผ่านกฎหมายที่มีการกำหนดฐานความผิดและอัตราการลงโทษที่รุนแรง ในบางกรณี...ก็รุนแรงจนไม่สมเหตุสมผลกับความผิด

................

พูดอย่างเข้าใจง่ายที่สุด ถ้าคุณเป็นผู้ถูกกล่าวหาในคดียาเสพติดก็มีความเป็นไปได้สูงที่จะติดคุก เพราะกฎหมายที่แข็งตัว บวกกับทิศทางการพิจารณาคดีของศาลที่จำเป็นต้องเดินตามกฎหมาย ในที่นี้อาจรวมถึงทัศนคติของสถาบันตุลาการไทยต่อคดียาเสพติดด้วย

พิทยา กล่าวว่า กฎหมายยาเสพติดของไทยมีลักษณะความผิดและโทษทางอาญาสูง พื้นฐานความคิดคือ Criminalization และ Zero Tolerance หรือไม่อดทนต่อยาเสพติด อยู่ภายใต้อิทธิพลการส่งออกความคิดของสหรัฐฯ กฎหมายยาเสพติดของไทยจึงรองรับกับนโยบายของรัฐ เขาอธิบายปัญหาการนิยามฐานความผิด

“มันเป็นข้อสันนิษฐานเด็ดขาดของกฎหมาย เพื่อให้สะดวกกับฝ่ายจับกุมและฝ่ายฟ้องคดี แต่ไม่เป็นธรรมกับประชาชน เช่น กรณียาบ้า ถ้าตำรวจจับมาจะตั้งข้อหาอะไรดี เขาจึงตีเส้นขึ้นมาเส้นหนึ่งเลยว่า เรื่องของปริมาณ ถ้ามีเกิน 15 เม็ดถือว่าครอบครองเพื่อจำหน่าย ถ้าต่ำกว่าถือว่าครอบครองเพื่อเสพ โทษมันผิดกันเลย แล้วยังเปิดโอกาสให้คอร์รัปชั่นด้วย"

“สมมติผมเป็นผู้เสพ ผมซื้อยาบ้ามา 15 เม็ด เพราะเวลาผมไปซื้อทีมันหายากและเสี่ยงที่จะถูกตำรวจจับ พอซื้อมา ผมก็จะแกะใส่ซองเล็กๆ สองเม็ดสามเม็ด แล้วซุกไว้สำหรับเสพ แต่นิยามการผลิตมันรวมถึงการแบ่งบรรจุ ทั้งที่ผมเป็นผู้เสพ แต่ถ้าผมถูกจับผมจะโดนข้อหาผลิต หรือคำว่า จำหน่าย ไม่ใช่ขายอย่างเดียว ยังรวมถึงการแจกจ่ายหรือให้เพื่อน ถ้าถูกจับถือว่าจำหน่าย

“หรือกรณีนำเข้า เขียนว่านำข้ามราชอาณาจักรมา แต่ในอนุสัญญาเจตนารมณ์ของกฎหมายจากต่างประเทศ นำเข้าจะแบ่งเป็นเพื่อใช้เองหรือเพื่อขาย โดยกรณีหลังถึงจะมีโทษรุนแรง อย่างคดีเมื่อสองปีก่อน ผู้หญิงติดยา เอาข้ามมาเม็ดครึ่ง ใช้ไปครึ่งเม็ด ถูกจำคุกตลอดชีวิต สารภาพเหลือ 25 ปี ศาลชั้นต้นรอลงอาญาและให้เข้าบำบัด แต่ศาลอุทธรณ์และฎีกาตีความตามตัวอักษร

“มันเป็นข้อสันนิษฐานเด็ดขาดของกฎหมาย เพื่อให้สะดวกกับฝ่ายจับกุมและฝ่ายฟ้องคดี แต่ไม่เป็นธรรมกับประชาชน เช่น กรณียาบ้า ถ้าตำรวจจับมาจะตั้งข้อหาอะไรดี เขาจึงตีเส้นขึ้นมาเส้นหนึ่งเลยว่า เรื่องของปริมาณ ถ้ามีเกิน 15 เม็ดถือว่าครอบครองเพื่อจำหน่าย ถ้าต่ำกว่าถือว่าครอบครองเพื่อเสพ โทษมันผิดกันเลย แล้วยังเปิดโอกาสให้คอร์รัปชั่นด้วย จะเอากี่เม็ดล่ะ แค่เพิ่มเม็ดเดียว แล้วก็ไม่ให้ดุลพินิจแก่ผู้พิพากษา ซึ่งศาลเองจากการสัมมนา เลขาศาลยุติธรรมบอกว่าลำบากใจมาก บางทีก็ต้องหาทางออก ซึ่งบางทีก็ไม่เหมาะสม คือถ้าฟังความแล้วทั้งสองข้าง ถ้ามีเหตุให้สงสัยก็ยกฟ้องเลย เพราะเส้นนี้นิดเดียว ตลอดชีวิตเลย”

...............

‘ยี่ต๊อก’ ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่เดินคู่ไปกับกฎหมายที่แข็งตัว กฤตยา อธิบายว่า

“เรามีการศึกษาพบว่า ผู้พิพากษาจะลงโทษกรณียาเสพติดสูงมากและมักไม่มีการลดโทษ อันนี้เป็นกรณีในประเทศไทย คือผู้พิพากษาจะมีระบบที่เรียกว่า ยี่ต๊อก คือเขามาประชุมกัน ถ้าเป็นคดีลักษณะแบบนี้จะต้องโดนลงโทษ กี่ปี จะได้ลดโทษไหม ระบบยี่ต๊อกนี้แข็งตัว ถ้าผู้พิพากษาคนไหนลงโทษต่ำกว่ายี่ต๊อกจะถูกจับตามอง

“ยกตัวอย่างเช่น การค้ายาเสพติดข้ามแดน กฎหมายไทยโทษประหารชีวิต แต่มันไม่ได้บอกว่าค้าเท่าไร ปริมาณเท่าไหร่ เพราะฉะนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นคือ คนพกยาบ้า 11 เม็ดข้ามประเทศลาวมาไทย โดนข้อหาค้ายาเสพติดข้ามราชอาณาจักร โทษประหารชีวิต คุกแห่งหนึ่งที่อีสานมีผู้ต้องขังหญิงประมาณ 500 คน เป็นชาวลาวประมาณ 200 คน และ 99 เปอร์เซ็นต์ของคนลาวทั้งหมดเป็นคดียาเสพติด ทุกคนโดนโทษเยอะ เพราะกฎหมายตัวนี้”

นอกจากนี้ ผู้ต้องหาในคดียาเสพติดก็มักจะไม่ได้รับสิทธิประกันตัว กฤตยา กล่าวว่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะศาลเกรงว่าหากให้ประกันตัวตนเองจะถูกเพ่งเล็ง

สถิติผู้ต้องขังหญิงในคดียาเสพติดของกรมราชทัณฑ์ ณ วันที่ 1 มิถุนายน 2559 จำนวน 36,742 คน เป็นผู้ต้องขังระหว่างอุทธรณ์-ฎีกา, ระหว่างไต่สวน-พิจารณา และระหว่างสอบสวนถึง 5,716 คน คิดเป็นร้อยละ 15.56

นี่ย่อมหมายความว่า หากผู้ต้องขังระหว่างเหล่านี้ได้รับสิทธิประกันตัว จะช่วยลดความแออัดในคุกลงได้เกือบ 6,000 คน ประเด็นสำคัญอีกข้อหนึ่งคือ ตามหลักการราชทัณฑ์และระเบียบที่มีอยู่นั้น ผู้ถูกกล่าวหาที่ยังไม่ถูกพิพากษาเด็ดขาดจะต้องไม่ถูกควบคุมตัวรวมกับผู้ต้องขังเด็ดขาด

ชาติชาย กล่าวว่า ผู้ต้องขังระหว่าง ถ้าสามารถใช้กระบวนการอื่น ไม่ต้องให้ประกันก็ได้ เพราะให้ประกันสังคมก็จะระแวง แต่การให้ประกันต้องเป็นทางหนึ่งเพราะเป็นสิทธิในรัฐธรรมนูญ ถ้าสังคมหวาดระแวงหรือผู้ต้องหามีพฤติกรรมที่น่าหวาดระแวง ศาลอาจให้ประกันโดยมีเงื่อนไขก็ได้ ซึ่งมีการเสนอตั้งแต่สมัยของชาติชายเป็นอธิบดีกรมราชทัณฑ์แล้วในการใช้เครื่องติดตามตัว แต่ยังไม่มีความคืบหน้า

“เรามีการศึกษาพบว่า ผู้พิพากษาจะลงโทษกรณียาเสพติดสูงมากและมักไม่มีการลดโทษ อันนี้เป็นกรณีในประเทศไทย คือผู้พิพากษาจะมีระบบที่เรียกว่า ยี่ต๊อก คือเขามาประชุมกัน ถ้าเป็นคดีลักษณะแบบนี้จะต้องโดนลงโทษ กี่ปี จะได้ลดโทษไหม ระบบยี่ต๊อกนี้แข็งตัว ถ้าผู้พิพากษาคนไหนลงโทษต่ำกว่ายี่ต๊อกจะถูกจับตามอง"

“ผมเสนอคุกเอกชน ไม่ได้เอามาเพื่อให้คนพวกนี้เสวยสุข แต่เอามาเพื่อรองรับคนที่ไม่ได้รับการประกัน เพราะสังคมหวาดระแวง และการใส่เครื่องนี้ไม่ได้ช่วย เพราะอย่างที่พูดกันค้ายาเสพติด อยู่ที่ไหนก็ค้าได้ คนพวกนี้ที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาคดีเท่านั้นที่มาอยู่ในคุกเอกชน เพื่อลดจำนวนผู้ต้องขังในคุกได้พอสมควร ดีกว่าที่จะเอาผู้ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคดี ซึ่งยังไม่สามารถกล่าวหาเขาได้ว่าเป็นผู้กระทำผิดไปอยู่รวมกับผู้ต้องขังเด็ดขาด ซึ่งหลักการราชทัณฑ์ให้อยู่ปะปนกันไม่ได้ แต่ไม่สามารถทำได้ ถึงแม้หลักการจะมี ระเบียบจะมี แต่บ้านเราต้องอยู่รวมกัน เพราะไม่มีที่”

...............

กฎหมายยาเสพติดที่มีโทษรุนแรง กระบวนการยุติธรรมที่มีช่องโหว่และแข็งตัว ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ นโยบายรัฐที่ Criminalization ยาเสพติดเป็นอาชญากรรมและแปรผู้เสพเป็นอาชญากร คือสาเหตุสำคัญที่กวาดต้อนผู้คนจำนวนมากเข้าคุก

พูดเฉพาะกรณีผู้ต้องขังหญิง มันอาจไม่ใช่เพียงเพราะความโลภโมโทสันหรือความชั่วร้ายส่วนตัว ที่ทำให้พวกเธอต้องกลายเป็นคนคุก ภายใต้เครื่องแบบคนคุก เบื้องหลังลูกกรงเหล็ก มีอะไรมากกว่านั้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท