Skip to main content
sharethis
สปสช.เผยผลสำเร็จการรักษา “ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจผ่านสายสวน” ภายใต้ระบบบัตรทอง เกิดจากความร่วมมือหน่วยบริการภาครัฐและเอกชน ช่วยผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาเพิ่ม ลดอัตราการเสียชีวิต พร้อมเผยปี 2560 ยกคุณภาพบริการหัตถการสายสวนหัวใจ กำหนดหน่วยบริการหัตถการสายสวนหัวใจ ผู้ป่วยสิทธิบัตรทองต้องขึ้นทะเบียนผ่านเกณฑ์ประเมิน เผยมีหน่วยบริการผ่านเกณฑ์ประเมินแล้ว 58 แห่ง
 
13 พ.ย. 2559 นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา รองเลขาธิการ รักษาการเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า “โรคหลอดเลือดหัวใจ” หรือ “โรคหัวใจขาดเลือด” เป็นหนึ่งในกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่เป็นปัญหาสาธารณสุขระดับโลกรวมถึงประเทศไทย ทั้งยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง จากข้อมูลสำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขระบุว่า ปี 2557 ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากโรคหัวใจขาดเลือด จำนวน 18,079 คน หรือเฉลี่ยชั่วโมงละ 2 คน คิดเป็นอัตราการตายของโรคหัวใจขาดเลือดเท่ากับ 27.83 ต่อแสนประชากร โดยปี 2558 (ตั้งแต่เดือน ต.ค. 57- มิ.ย. 58) พบอัตราการตายเท่ากับ 20.32 ต่อแสนประชากร
 
ทั้งนี้ผู้ป่วยที่มีภาวะโรคหลอดเลือดหัวใจจำเป็นต้องได้รับการรักษา ซึ่งการทำหัตถการรักษาโรคหลอดเลือดโคโรนารีผ่านสายสวน (Percutaneous Coronary Intervention, PCI) เป็นวิธีการรักษาที่มีประสิทธิผลและได้รับการยอมรับในทางการแพทย์ ซึ่ง สปสช.ตระหนักถึงความสำคัญในการดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้และบรรจุเป็นสิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พร้อมพัฒนาระบบบริหารจัดการเพื่อสนับสนุนหน่วยบริการในการรักษาผู้ป่วย ทั้งการจ่ายค่าบริการตาม DRGs อุปกรณ์ และขดลวดขยายหลอดเลือด (Stent) ในระบบ VMI ส่งผลให้ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจได้รับการทำหัตถการผ่านสายสวนหัวใจเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากร้อยละ 4.51 ในปี 2548 เป็นร้อยละ 26.25 ในปี 2558 (ข้อมูลรายงานการสร้างหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ 2558) ช่วยลดอัตราการเสียชีวิตลงได้ 
 
นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า ผลสำเร็จการเข้าถึงหัตถการผ่านสายสวนหัวใจเพื่อรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปัจจัยสำคัญมาจากความร่วมมือหน่วยบริการทั้งภาครัฐและเอกชนที่ได้ร่วมให้การรักษาผู้ป่วย และเพื่อเป็นการสนับสนุนการพัฒนาหน่วยบริการให้มีคุณภาพและมาตรฐาน เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงได้ตามความจำเป็นด้านสุขภาพ ตลอดจนการพัฒนาระบบกลไกและเครือข่าย ซึ่งเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปี 2555-2560 สปสช.ได้มีการจัดทำ “เกณฑ์การตรวจประเมินเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการรับส่งต่อเฉพาะด้านบริการหัตถการผ่านสายสวนให้กับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจ” ทั้งด้านบริการ อุปกรณ์ รังสี การจัดการ แพทย์ และผู้ช่วยแพทย์ โดยประกาศเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2558 โดยมีคณะทำงานพัฒนาระบบบริการรักษาโรคหลอดเลือดโคโรนารีผ่านสายสวนทำหน้าที่ประเมินและได้ดำเนินการในปี 2559 ที่ผ่านมา
 
ด้าน นพ.ปานเทพ คณานุรักษ์ ผู้อำนวยการแผนงานสนับสนุนระบบบริการโรคเรื้อรังและโรคเฉพาะ  สปสช. กล่าวว่า จากประกาศเกณฑ์การตรวจประเมินเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการรับส่งต่อเฉพาะด้านบริการหัตถการผ่านสายสวนหัวใจ ขณะนี้ได้มีหน่วยบริการที่ขอขึ้นทะเบียนและมีผลการตรวจผ่านเกณฑ์ประเมิน 58 แห่ง เป็นหน่วยบริการของรัฐ 43 แห่ง และหน่วยบริการเอกชน 15 แห่ง โดยหน่วยบริการที่ไม่ผ่านเกณฑ์การตรวจประเมินต้องทำการปรับปรุงเพื่อให้การบริการหัตถการผ่านสายสวนหัวใจเป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด ทั้งนี้เพื่อให้การบริการหัตถการผ่านสายสวนหัวใจในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจมีคุณภาพและมาตรฐานเพิ่มขึ้น    
 
อย่างไรก็ตามจากการพัฒนาระบบบริหารจัดการด้านรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจที่ผ่านมานี้ ยังส่งผลให้ในปี 2560 สปสช.กำหนดให้หน่วยบริการที่ให้บริการหัตถการผ่านสายสวนหัวใจภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ต้องได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการรับส่งต่อเฉพาะด้านหัตถการสายสวนหัวใจ พร้อมกันนี้ยังได้ให้มีการบริหารจัดการส่งต่อผู้ป่วยที่รับบริการหัตถการสายสวนหัวใจภายในเขต และให้มีการติดตามคุณภาพการให้บริการ โดยจัดทำเป็นแผนระยะสั้นและระยะยาว ทั้งนี้เพื่อยกระดับการดูแลผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้ดียิ่งขึ้นต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net