จับตาท่าที ‘ดูเตอร์เต’ สานสัมพันธ์จีน ถอยห่างสหรัฐฯ และการมาของทรัมป์

จับตาท่าที 'ดูเตอร์เต' ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ หลังถอยห่างสหรัฐฯ หันจับมือจีน ผู้เชี่ยวชาญฟิลิปปินส์เชื่อ ดูเตอร์เตแค่ต้องการดำเนินนโยบายอย่างอิสระมากขึ้น ให้ความสำคัญกับเอเชีย ลดแรงกดดันจากจีน แต่ตัดสหรัฐฯ ไม่ขาด เพราะผูกพันทั้งด้านสัญญาความร่วมมือและเศรษฐกิจ แนะจับตาดูการขึ้นมาของทรัมป์อาจกระทบแรงงานฟิลิปปินส์ในอนาคต

ประธานาธิบดี โรดริโก ดูเตอร์เต ผู้นำฟิลิปปินส์ ภาพจาก commons.wikimedia.org

จากอดีตนายกเทศมนตรีเมืองดาเวา โรดริโก ดูเตอร์เต ก้าวขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีของประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสูงมาประเทศหนึ่ง มีคริสตจักรคาทอลิกที่ทรงอิทธิพล และเป็นดินแดนที่ได้ชื่อว่าเป็นประเทศตะวันตกในแถบถิ่นตะวันออก-ฟิลิปปินส์ ด้วยบุคลิกโผงผางและนโยบายปราบปรามยาเสพติดและอาชญากรรมแบบถึงลูกถึงคน ทำให้มีทั้งคนที่เกลียดและรักเขา

การดำรงตำแหน่งนายกเทศมตรีเมืองดาเวากว่า 22 ปี น่าจะเป็นเครื่องการันตีได้ในระดับหนึ่งว่า ดูเตอร์เตคงจะมีความเชี่ยวชาญในเชิงการเมืองไม่น้อย และเมื่อต้องขึ้นมาเป็นผู้นำประเทศ การเดินเกมทางการเมืองทั้งภายในและระหว่างประเทศของเขาก็น่าติดตามขึ้นมาทันที เมื่อเขาผรุสวาทใส่บารัก โอบามา ผู้ที่จะเป็นอดีตผู้นำสหรัฐฯ ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ซ้ำยังเคยชูนิ้วกลางให้กับสหภาพยุโรปหรืออียู กรณีที่วิจารณ์นโยบายปราบปรามยาเสพติดของเขา

“การที่ดูเตอร์เตได้รับเลือกตั้งเป็นผู้นำฟิลิปปินส์ เพราะประชาชนต้องการเปลี่ยนแปลง อยากลองผู้นำใหม่ แทนกลุ่มชนชั้นนำเดิมที่ปกครองฟิลิปปินส์มาอย่างยาวนาน และความที่ดูเตอร์เตมีลักษณะไปทางฝ่ายซ้ายทำให้มีผลต่อการกำหนดนโยบายด้วย” คือความเห็นของ สีดา สอนศรี ผู้เชี่ยวชาญการเมืองฟิลิปปินส์ คณบดีวิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

โดยเฉพาะด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ สำหรับคนที่ติดตามสถานการณ์ระหว่างฟิลิปปินส์-สหรัฐฯ-จีน อยู่บ้าง คงทราบดีว่า ฟิลิปปินส์มีความขัดแย้งกับจีนกรณีพิพาทพื้นที่สันดอนทรายสการ์โบโรห์และหมู่เกาะสแปรตลีย์ในทะเลจีนใต้ แม้ว่าศาลอนุญาโตตุลาการถาวร (PCA) ที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ตัดสินให้ฟิลิปปินส์ชนะไปเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา แต่จีนก็ไม่ยอมรับคำตัดสินดังกล่าว ขณะเดียวกัน การขัดแย้งกับประเทศมหาอำนาจอย่างจีน สหรัฐฯ ย่อมเป็นหลังพิงอันแข็งแกร่งของฟิลิปปินส์ในการถ่วงดุลกับแรงกดดันที่จะเกิดขึ้น

แต่ดูเตอร์เตก็แสดงออกว่าต้องการสร้างระยะห่างมากขึ้นกับสหรัฐฯ และเข้าใกล้จีนให้มากกว่าแต่ก่อน ภาพการจับมือกันระหว่างดูเตอร์เตกับสี จิ้น ผิง ประธานาธิบดีของจีน จึงดูมีความสำคัญขึ้นมาทันที สีดา แสดงทัศนะว่า

ดูเตอร์เตต้องการเปลี่ยนแนวนโยบายระหว่างประเทศจากเดิมที่เน้นสหรัฐอเมริกา ไปสู่การดำเนินนโยบายที่เป็นอิสระ (Independent Policy) มากขึ้น และไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด (Nonalignment) ด้วยเหตุนี้ทำให้ดูเตอร์เต ประกาศว่าจะไม่พึ่งสหรัฐอเมริกา อย่างไรก็ตาม สีดาเห็นว่าการประกาศตัดความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ ในช่วงที่ไปเยือนจีนนั้น น่าจะเป็นเพียงโวหารมากกว่าจะเกิดขึ้นจริง

“ที่ประกาศในช่วงที่ไปเยือนจีนว่าจะตัดขาดความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกาคงเป็นไปไม่ได้ เพราะสองชาติมีความสัมพันธ์กันยาวนานและมีสัญญาความร่วมมือระหว่างกันหลายฉบับ โดยเฉพาะสัญญา The Mutual Defense Treaty ในปี ค.ศ.1951 ที่ทั้งสองฝ่ายจะให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันในการป้องกันประเทศ ซึ่งการยกเลิกสัญญาดังกล่าวทำได้ยากมาก

“ความสัมพันธ์ระหว่างฟิลิปปินส์กับสหรัฐอเมริกาอาจจะลดลงไปบ้าง ในแง่ที่ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์คนปัจจุบันมองไปทางตะวันออกหรือ Look East หรือให้ความสำคัญกับเอเชียมากขึ้น เช่นเดียวกับประธานาธิบดีคอราซอน อากีโน ที่ดำเนินนโยบายมองไปทางตะวันออกเหมือนกัน ผิดกันที่อากีโนดำเนินนโยบายโดยที่ไม่ได้ทะเลาะกับบางประเทศ ซึ่งของแบบนี้ประธานาธิบดีไม่จำเป็นต้องพูดเพื่อให้เกิดข้อขัดแย้ง”

“ดังนั้นการที่ดูเตอร์เตพูดว่าจะแยกความสัมพันธ์จากสหรัฐอเมริกา คงเป็นเพียงแค่คำพูดเท่านั้น ในทางปฏิบัติคงไม่สามารถทำได้อย่างที่พูด โดยก่อนหน้านี้ก็มีรัฐบาลฟิลิปปินส์หลายรัฐบาลที่ดำเนินนโยบายต่างประเทศแบบอิสระ ไม่เน้นพึ่งพาใคร เช่น ในสมัยของประธานาธิบดีคอราซอน อากีโน ก็มีนโยบายแสวงหาความร่วมมือรอบทิศทางหรือ Omni Direction คือร่วมมือกับหลายประเทศไม่จำกัดแต่เพียงสหรัฐอเมริกา”

สีดาวิเคราะห์ว่า น่าจะเป็นการตอบโต้สหรัฐฯ ภายหลังการแทรกแซงกิจการภายในของฟิลิปปินส์เท่านั้น แต่ในความสัมพันธ์ด้านอื่นๆ กับสหรัฐฯ ก็ยังคงเดิม ที่ผ่านมาเรือ USS Decatur (DDG 73) ของกองทัพสหรัฐอเมริกาก็เพิ่งลาดตระเวนในทะเลจีนใต้เพื่อรักษาเสรีภาพในการเดินเรือ รวมไปถึงการบริจาคเพื่อช่วยในโครงการอนุรักษ์มรดกโลกในฟิลิปปินส์

อีกทั้งภายหลังการตัดสินของศาลอนุญาโตตุลาการถาวรที่เป็นผลดีต่อฟิลิปปินส์ เป็นไปได้ว่าฟิลิปปินส์อาจเกรงกลัวจีนจะรุกรานมากกว่านี้ จึงมีแนวคิดปรับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยต้องการรักษาความสัมพันธ์อันดีกับจีน ไม่ต้องการยั่วยุ และสร้างบรรยากาศที่สามารถนั่งพูดคุยปัญหากันได้โดยตรง ถึงกระนั้น ก็ยังเป็นการสานความสัมพันธ์ด้านการค้าและเศรษฐกิจเท่านั้น ฟิลิปปินส์ยังคงไม่เห็นด้วยกับการติดตั้งฐานยิงขีปนาวุธของจีน

“ความสัมพันธ์ระหว่างฟิลิปปินส์กับสหรัฐอเมริกาอาจจะลดลงไปบ้าง ในแง่ที่ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์คนปัจจุบันมองไปทางตะวันออกหรือ Look East หรือให้ความสำคัญกับเอเชียมากขึ้น เช่นเดียวกับประธานาธิบดีคอราซอน อากีโน ที่ดำเนินนโยบายมองไปทางตะวันออกเหมือนกัน ผิดกันที่อากีโนดำเนินนโยบายโดยที่ไม่ได้ทะเลาะกับบางประเทศ ซึ่งของแบบนี้ประธานาธิบดีไม่จำเป็นต้องพูดเพื่อให้เกิดข้อขัดแย้ง”

......................

อุตสาหกรรมหลักประเภทหนึ่งของฟิลิปปินส์คือการส่งออกแรงงานไปต่างประเทศ สร้างมูลค่ามหาศาลและหล่อเลี้ยงสังคมฟิลิปปินส์ แต่หลังจากโดนัลด์ ทรัมป์ ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ผู้ประกาศนโยบายไม่ต้อนรับแรงงานอพยพและจะส่งกลับ ฟิลิปปินส์จะหลีกเลี่ยงผลกระทบนี้ได้หรือไม่

“ฟิลิปปินส์กับสหรัฐอเมริกามีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจแนบแน่น มีกิจการที่เรียกว่าการรับเหมาช่วงกระบวนการธุรกิจ (Business Process Outsourcing: BPO) ที่สหรัฐอเมริกาย้ายฐานเข้ามาดำเนินกิจการในฟิลิปปินส์และจ้างงานคนฟิลิปปินส์ 1.2 ล้านคน อย่างไรก็ตาม หากทรัมป์ที่ใช้สโลแกนว่า America First ทำอย่างที่เคยหาเสียงคือนำการจ้างงานกลับไปสหรัฐอเมริกา ก็จะกระทบกับการทำงานของคนฟิลิปปินส์ในกิจการ BPO เหล่านี้"

"สำหรับคนฟิลิปปินส์ที่ไปอาศัยอยู่ในสหรัฐอเมริกาเป็นจำนวนมาก ทั้งที่ไปทำงาน รวมทั้งไปตั้งรกรากถาวรกลายเป็นพลเมืองสหรัฐอเมริกา ในส่วนของกลุ่มที่ไปทำงานในสหรัฐอเมริกาโดยเฉพาะกลุ่มวิชาชีพ เช่น แพทย์ นักกฎหมาย ก็ส่งเงินจำนวนมากกลับประเทศฟิลิปปินส์ ทำให้เงินสำรองของฟิลิปปินส์มีมาก นโยบายของทรัมป์ที่ประกาศจะส่งแรงงานอพยพกลับ น่าจะกระทบกับชาวฟิลิปปินส์ที่เพิ่งเดินทางไปสหรัฐอเมริการุ่นหลังหรือคนที่ไปทำงานชั่วคราว ขณะที่คนฟิลิปปินส์ที่อยู่มานานจนได้สิทธิพลเมืองและเป็นกลุ่มที่มีจำนวนมากกว่าน่าจะไม่ได้รับผลกระทบจากนโยบายนี้”

สีดา กล่าวอีกว่า ในเรื่องของการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับฟิลิปปินส์ เนื่องจากทั้งสองประเทศมีความสัมพันธ์แนบแน่นกันมาอย่างยาวนาน และคนฟิลิปปินส์ก็มีความเข้าใจในรสนิยมการบริโภคของชาวอเมริกัน ทำให้ธุรกิจสำคัญของฟิลิปปินส์อย่างการผลิตและส่งออกของขวัญของที่ระลึกไปยังสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะในช่วงคริสต์มาส ซึ่งในช่วงปลายปีนี้ การดำเนินการค้าดังกล่าวอาจจะยังไม่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากทรัมป์ยังไม่ได้สาบานตนเป็นประธานาธิบดี แต่ในสมัยการบริหารของทรัมป์ก็ต้องจับตาว่านโยบายของเขาจะส่งผลกระทบกับการธุรกิจการค้าของฟิลิปปินส์หรือไม่

“แต่ที่ผ่านมาดูเตอร์เตก็ฉลาด เขาไปเยือนหลายประเทศทั้งจีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น และเมื่อผลการเลือกตั้งสหรัฐอเมริกาปรากฏว่าโดนัลด์ ทรัมป์ชนะ เขาก็แสดงความยินดีกับทรัมป์”

จึงต้องติดตามต่อว่า จังหวะเกมการเมืองระหว่างประเทศของฟิลิปปินส์จะเป็นอย่างไร ความโผงผางของดูเตอร์เต้อาจไม่ได้สะท้อนว่าผู้นำฟิลิปปินส์จะเดินเกมการเมืองแบบโผงผาง...

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท