“กลัวอนาคต เบื่อปัจจุบัน ถวิลหาอดีต”ปูทางทรัมป์ ลุ้นระเบียบโลกเปลี่ยนแค่ไหน?

14 พ.ย.2559 ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการจัดเสวนาเรื่อง ประธานาธิบดีคนใหม่: บนทางแพร่งนโยบายต่างประเทศและการเมืองภายในหลังการเลือกตั้ง โดยมีผู้ร่วมอภิปรายเป็นอาจารย์ด้านรัฐศาสตร์ของจุฬา คือ รศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี, ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข, ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ไชยวัฒน์ ค้ำชู ดำเนินรายการโดย ผศ.ดร.ปราณี ทิพย์รัตน์

ประชาไทสรุปความดังนี้ 

ไชยวัฒน์ ค้ำชู

>ปรากฏการณ์ทรัมป์นั่นช็อคผู้คนเพราะโพลล์แทบทุกสำนักชี้ว่าฮิลลารีจะได้ตำแหน่งประธานาธิบดี โพลล์มหาวิทยาลัยพรินซ์ตันถึงกับบอกว่าฮิลลารีมีโอกาสชนะ 99% แม้แต่นิตยสารนิวสวีคก็เตรียมฉบับล่วงหน้าพาดหัวว่า เส้นทางสายประวัติศาสตร์สู่ทำเนียบขาวของฮิลลารี และเขียนเตรียมไว้ในบทบก.ถึงปรากฏการณ์ที่คนอเมริกันร่วมกันปฏิเสธแนวทางหาเสียงแบบอนุรักษ์นิยมสุดโต่งของทรัมป์ที่มุ่งสร้างความเกลียดชังและความกลัว

>คนที่ติดตามการเมืองอเมริกาอย่างใกล้ชิดย่อมทราบดีว่า โอกาสที่ทรัมป์จะชนะการเลือกตั้ง หรือ electoral vote นั้นยากมาก และที่เขาชนะในครั้งนี้ก็คะแนนฉิวเฉียด ตัดกันใน 3 มลรัฐใหญ่ คือ มิชิแกน วิสคอนซิน เพนซิวาเนีย เฉียนกันแค่ 1% ชัยชนะครั้งนี้ของทรัมป์ทำให้เกิดข้อถกเถียงว่า ควรเลิก คณะผู้เลือกตั้ง (electoral college) เหลือแต่ popular vote ดีไหมซึ่งก็ไม่ใช่ข้อถกเถียงใหม่ในอดีตเคยมีข้อเรียกร้องนี้มาแล้วหลายครั้ง (อ่านรายละเอียดระบบเลือกตั้ง)

>ถามว่าเหตุใดทรัมป์จึงชนะ มันไม่ใช่เพราะคนอเมริกันส่วนใหญ่เลือกเพราะเขาเป็นคนดี คนอเมริกันบอกว่า “เขาเลือกประธานาธิบดี ไม่ใช่เลือกสังฆราช เขาไม่ได้เลือกอดีตของทรัมป์ แต่เลือกอนาคตของประเทศ” เรียกได้ว่าคนอเมริกันอยู่ในอารมณ์ที่ต้องการความเปลี่ยนแปลงและต้องการใครที่ดูจะมาแก้ไขปัญหาที่พวกเขาเผชิญ

>ทั้ง 3 มลรัฐที่เป็นตัวชี้ขาดชัยชนะดังที่กล่าวไปนั้นเป็นหัวใจสำคัญของอุตสาหกรรมของสหรัฐ และเป็นฐานเสียงของพรรคเดโมแครต แต่ทรัมป์กลับสามารถตีไข่แดงนี้ได้โดยการโน้มน้าวให้เห็นว่าการค้าเสรี หรือ Free Trade ซึ่งเริ่มต้นหรือผลักดันอย่างมากในยุคบิล คลินตัน จากเดโมแครต นั้นทำให้คนจำนวนมากตกงาน  เรียกได้ว่าการต่อต้านกระแสโลกาภิวัตน์เกิดขึ้นอย่างชัดเจน คนรู้สึกได้รับผลกระทบมากกว่าผลดี

>เป็นเรื่องยากที่เมื่อประธานาธิบดีจากพรรคใดครองตำแหน่งติดต่อกัน 2 สมัยแล้วจะได้รับเลือกตั้งอีกในสมัยที่ 3  แม้ในประวัติศาสตร์จะเกิดขึ้นแต่ก็ไม่บ่อยนัก

>ฮิลลารีไม่ได้คะแนนเสียงจากฐานเดิมเท่าโอบามา ฐานดังกล่าวคือ กลุ่มสตรี กลุ่มคนแอฟริกันอเมริกัน กลุ่มลาติโน และกลุ่มเอเชีย

>ถามว่าทรัมป์มาแล้วจะส่งผลอย่างไร เราอาจยังสรุปอะไรไม่ได้ชัดเจนนักในเวลานี้ ไม่แน่ว่าเขาจะเป็นทรัมป์คนเดิมตอนหาเสียงหรือเป็นคนใหม่ที่สุขุมคัมภีรภาพขึ้น อย่างไรก็ตาม โลกแห่งความจริงไม่ง่ายดายแบบที่เขาหาเสียง นโยบายต่างประเทศของผู้นำสหรัฐนั้นเปลี่ยนไม่ได้มากนัก ทรัมป์อาจเหมือนเรแกนที่ตอนแรกนั้นดูขวาจัด แต่พอเป็นประธานาธิบดีจริงๆ นโยบายต่างประเทศก็ไม่ได้ไปไกลขนาดนั้น ระบบประธานาธิบดีสหรัฐไม่ใช่จะทำอะไรได้ง่ายๆ ตามที่ตัวเองหาเสียง ต้องฟังข้าราชการ และมีส่วนของการถ่วงดุลอยู่

สิริพรรณ นกสวน สวัสดี

>พฤติกรรมการตัดสินใจของคนอเมริกัน อันที่จริงมีมายาคติจำนวนมากในการตีความการลงคะแนนครั้งนี้ เช่น เห็นว่าคนเลือกทรัมป์เป็นคนนอกเมือง ไม่จบปริญญาตรี มีฐานะยากจน ซึ่งเป็นความพยายามเชื่อมโยงกับบริบทไทยมากเกินไปโดยไม่จำเป็น อันที่จริงสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นปกติคือ คนขาวที่ไม่จบปริญญาตรีก็เลือกพรรครีพลับริกันอยู่แล้ว ไม่ใช่เพิ่งมาเลือกทรัมป์ในครั้งนี้ คนที่เลือกพรรครีพลับลิกันจะเป็นคนที่รายได้ต่ำกว่า 50,000 ดอลล่าร์ต่อปีกับคนรวยมากไปเลย เรียกว่าเป็น พวกฐาน กับ พวกท็อป ส่วนคนกลางๆ นั้นเลือกเดโมแครต

>อะไรคือ New Normal หรือสิ่งที่ครั้งนี้ต่างไปจากครั้งอื่น คำตอบคือ มันเป็นการพังทลายของกลุ่มพันธมิตรเดิมที่เคยเลือกโอบามา ฮิลลารีประเมินส่วนนี้ต่ำไป 3 มลรัฐที่เป็นตัวแปรหลักนั้นได้ชื่อว่าเป็น “ภูมิภาคขึ้นสนิมทางเศรษฐกิจ” เคยรุ่งเรืองในการประกอบอุตสาหกรรมหนักแต่ก็เสื่อมถอยไปแล้ว ฮิลลารีแทบไม่เข้าไปหาเสียงเลยเพราะเห็นว่าเป็นฐานที่ทำให้โอบามาชนะมาแล้ว แต่ครั้งนี้กลับพบว่าในพื้นที่ดังกล่าวคนขาวทั้งชายหญิงที่ไม่ได้อยู่ในเมืองเลือกทรัมป์หรือรีพับลิกันกันมาก ทั้งที่เคยเป็นฐานของเดโมแครต เหตุเพราะเขารู้สึกว่าการบริหารเศรษฐกิจที่ผ่านมาของเดโมแครตนั้นไม่เวิร์ค แม้ว่าสิ่งที่ทำให้เป็นเช่นนั้นหลักๆ มาจากผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก แต่เขาก็ไปโทษว่ามาจากการค้าเสรี NAFTA (เขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือ) นั้นเริ่มต้นในสมัยบุชผู้พ่อจากรีพลับริกัน แต่ทรัมป์ทำให้คนเข้าใจว่าเริ่มในยุคบิล คลินตันจากเดโมแครต พอโอบามาผลักดัน TPP (ข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก) ผู้คนก็พากันบอกว่า “เอาอีกแล้ว” ทรัมป์ใช้ความสามารถทางโซเชียลมีเดียนำเสนอข้อมูลได้อย่างถูกจุด ประกอบกับฮิลลารีเองก็ยังถูกช่วงชิงชัยชนะจากพรรคที่สามที่แบ่งเก้าอี้ไปด้วย

>ถ้าไม่มี คณะผู้เลือกตั้ง (electoral college) มีแต่ popular vote ผลก็จะออกมาเป็นอีกแบบ เนื่องจากฮิลลารีชนะ popular vote แต่ในเมื่อนี่เป็นกติกาที่ตกลงกันแต่แรก จึงไม่มีผู้สมัครคนไหนโวย อันที่จริงเรื่องการเปลี่ยนแปลงคณะผู้เลือกตั้งนั้นอาจเกิดขึ้นแต่ไม่ใช่ภายใน 10-20 ปีนี้แน่เพราะต้องแก้รัฐธรรมนูญซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มาก อย่างไรก็ตาม ครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 5 แล้วที่ผู้แพ้ popular vote ชนะเลือกตั้ง และพรรคที่เสียเปรียบล้วนแล้วแต่เป็นเดโมแครตทั้ง 5 ครั้ง หลายๆ รัฐอาจมีการเปลี่ยนระบบใหม่ให้ไม่เป็นแบบ winner takes all อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน แต่เป็นระบบ proportion ซึ่งเรื่องนี้สามารถกระทำได้เพียงแก้รัฐธรรมนูญระดับของมลรัฐ

>ถามว่าหลังจากนี้การเมืองภายในสหรัฐจะเปลี่ยนไปมากไหม เชื่อว่ากลุ่ม establishment ยังคงจะคอยกำกับไม่ให้ทรัมป์ได้ทำตามที่หาเสียงได้ง่าย ไม่แน่ว่าหลังดำรงตำแหน่งและดำเนินนโยบายไปสักพักอาจถึงขั้นมี impeachment ก็ได้

>ครั้งนี้อาจเป็นจุดเริ่มต้นของการจัดระเบียบสังคมอเมริกาใหม่ บุช-คลินตัน นำอเมริกาไปสู่เสรีนิยมค่อนข้างมาก มีการแต่งงานของคนเพศเดียวกัน มีกฎหมายควบคุมอาวุธปืน ฯลฯ การที่ทรัมป์ได้รับเลือกตั้งก็เท่ากับเป็นความพยายามดึงอำนาจกลับของกลุ่มอนุรักษ์นิยม โดยทรัมป์จะมีโอกาสแต่งตั้งศาลสูงถึง 2 คน

“สิ่งที่สหรัฐอเมริกาพร่ำสอนการเคารพสิทธิ ความเท่าเทียม ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ทั้งหมดคือคำถามว่าประเทศกำลังพัฒนาจะดำเนินตามโมเดลเดิมของสหรัฐอเมริกาไหม และหากวันนี้สหรัฐจะละทิ้งคุณค่าแบบนั้น สหรัฐจะ great again จริงหรือเปล่า”

สุรชาติ บำรุงสุข

>คนไทยเองก็ไม่ต่างกับคนอเมริกันที่อยู่ภายใต้การครอบงำของโพลล์ “ดูโพลล์มากกว่าดูดีเบต” จึงทำให้รู้สึกว่าครั้งนี้พลิกล็อคอย่างมาก

>หากถามว่าฮิลลารีเป็นตัวแทนของใคร คำตอบคือ เป็นตัวแทนของบรรดาอีลีททั้งหลายและฮิลลารียังมีลักษณะ international ขณะที่ทรัมป์เป็นนักชาตินิยม, นักประชานิยม, นิยมนโยบายโดดเดี่ยว การรวมกันทั้ง 3 คุณสมบัตินี้ของทรัมป์ทำให้เวลาหาเสียงแล้ว “น่าสนใจ” หากฟังฮิลลารีพูด คนรู้สึกว่า ไม่มีอะไรน่าตื่นเต้น เป็นการรับช่วงต่อมาจากโอบามา ขณะที่ทรัมป์ในช่วงหาเสียงหรือดีเบตนั้นทำให้คนตกใจ เนื่องจากแหวกประเพณีอเมริกาพอสมควร

>ชัยชนะของทรัมป์สะท้อนบริบท 3 อย่างในสังคมอเมริกา นั่นคือ

1. ความกลัวอนาคต
2. ความเบื่อปัจจุบัน
3.ความถวิลหาอดีต

กลัวอนาคต- เราจะเห็นว่าโลกาภิวัตน์นั้น คนชั้นล่างรู้สึกถึงผลกระทบเยอะ เขารู้สึกว่าทำงานหนัก ค่าตอบแทนน้อย และขณะเดียวกันงานก็ยังหายไปเรื่อยๆ ประกอบกับเหตุการณ์ 9/11 หรือการก่อการร้ายในปีที่ผ่านมาในฟลอริดาและแคลิฟอร์เนียซึ่งเชื่อมโยงกับไอซิส ทำให้คนอเมริกันรู้สึกไม่มั่นคง สาระของการหาเสียงของทรัมป์จะเห็นว่า เขาไม่ใช่ “ม้าตีนปลาย” แต่เป็น “ม้านอกสนาม” ไม่เคยมีใครเอาม้านอกสนามมาแข่งในการเมือง แต่มันดันโดนใจผู้คน

เบื่อปัจจุบัน- ขณะที่คนรุ่นใหม่ก็เบื่อพวกผู้คุมอำนาจทั้งหลาย หรือ พวก establishment ดังจะเห็นว่ามีคำใหม่คือ ชนชั้นดาวอส (Davos) ซึ่งดาวอสก็คือเมืองในสวิสเซอร์แลนด์ที่เป็นที่ประชุมของชนชั้นนำระดับโลก พวกเขาเริ่มมีคำถามแล้วว่า พวกเขาอยู่ตรงไหน ฮิลลารีเป็นตัวแทนของชนชั้นนำเหล่านี้ อันที่จริง เบอร์นี แซนเดอร์ส ก็เป็นอาการของเดโมแครตที่ต่อต้านกลุ่มชนชั้นนำ เขาเป็น liberal socialist แนวคิดสังคมนิยมอาจเป็นของแสลงในอเมริกา แต่สำหรับชนชั้นแรงงานยังมีการพูดถึงและการเคลื่อนไหวเรื่องนี้อยู่ เป็นการสะท้อนอาการเบื่อปัจจุบัน

ถวิลหาอดีต – การหาเสียงของทรัมป์เป็นการตีความให้อเมริกากลับไปสู่โลกอดีต อาการคล้ายกับ Brexit ที่คนอังกฤษอยากเห็น border หรือเส้นเขตแดนกลับมาอีกครั้ง ทรัมป์หาเสียงว่าอเมริกาควรถอยกลับมาอยู่ในบ้าน หลังจากที่คนเริ่มเห็นความปั่นป่วนในยุโรป

>คนที่นำเสนอสาระอย่างทรัมป์ เมื่อเรามองจากแว่นเสรีนิยม เราย่อมไม่ตอบรับเลย เราเห็นว่าสิ่งที่ทรัมป์พูดเป็นเรื่องตลก เพราะเราถูกครอบงำด้วยแนวคิดเสรีนิยม แต่ในสังคมอเมริกาคนอาจตอบรับกับแนวคิดแบบนี้จำนวนมาก นี่เป็นข้อดีของประชาธิปไตยที่เปิดโอกาสให้นักการเมืองมีสิทธินำเสนอได้ และประชาชนมีสิทธิเลือกได้ การจะจัดระบบเลือกตั้งอย่างไร ยกเลิกคณะผู้เลือกต้งหรือไม่อาจไม่ใช่ประเด็น เราเก็งกันผิดเพราะเราดูสื่ออเมริกันที่เชียร์คลินตันเป็นส่วนใหญ่ ขณะที่หากเราดูสื่อเยอรมันจะเห็นว่าเขาไปสัมภาษณ์คนในชนบทในเพนซิวาเนียซึ่งพบว่าตอบรับทรัมป์หมดเลย

>โดยสรุปวันนี้สังคมอเมริกันเรียกร้องให้ประเทศตนเองเปลี่ยนบทบาทในเวทีโลก ถามว่าการเปลี่ยนนี้จะกระทบอะไรกับการเมืองโลกบ้าง มีหลายประเด็นน่าจับตา เช่น แนวโน้มการประนีประนอมกับรัสเซีย การค้ากับจีนซึ่งทรัมป์มองว่าเสียเปรียบมากเกินไป ท่าทีต่อเกาหลีเหลือซึ่งหลายคนกังวลเพราะทรัมป์เคยพูดว่า "สหรับมีนิวเครีย์ไว้ทำไมถ้าไม่ได้ใช้" สงครามในตะวันออกกลาง และยังมีเรื่องเกี่ยวกับการค้าระหว่างประเทศ คาดว่าศพแรกที่จะเห็นคือ TPP ซึ่งอาจถูกยกเลิก นาฟต้าก็อาจมีการรื้อเจรจาใหม่ หรืออีกอันที่น่าจับตาคือทรัมป์เตรียมฟื้นอุตสาหกรรมถ่านหินตามที่สัญญากับคนงาน ถ้าเป็นเช่นนั้นก็จะผลักให้โลกเข้าสู่ยุคพลังงานแบบเก่า ในด้านความมั่นคง เรื่องข้อพิพาททะเลจีนใต้ก็สำคัญมาก เรื่องนาโต้จะลดภาระค่าใช้จ่ายลงหรือไม่ การถอนทหารจากญี่ปุ่นและเกาหลีใต้จะเกิดขึ้นหรือไม่เพราะหลายคนกังวลว่าหากสหรัฐถอนไปเสาหลักความมั่นคงในภูมิภาคนี้จะพัง 

การเปลี่ยนของการเมืองภายในของมหาอำนาจนั้นมักมีมีผลกระทบมากกว่าที่เราคิด เช่น การขึ้นมาของฮิตเลอร์ในปี 1932 หรือการขึ้นมาของกอร์บาชอฟในรัสเซียก็มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายต่างประเทศจนในที่สุดนำมาซึ่งการสิ้นสุดของสงครามเย็น เรากำลังจะเห็นสิ่งที่อาจเรียกได้ว่า Trumpism หรือ Trump Doctrine หากมันมาเป็นแกนกลางของนโยบายต่างประเทศของอเมริกาจะกระทบต่อระเบียบโลกหรือไม่ ใน 3 เสาหลักคือ ความมั่นคง , เศรษฐกิจ , ข้อตกลงและพันธสัญญาต่างๆ เรื่องนี้ยังไม่ชัดเจนนักและไม่อาจสรุปทั้งหมดได้จากการหาเสียงที่ผ่านมา ต้องดูภายหลังการสาบานตนเข้ารับตำแหน่งในวันที่ 20 ม.ค.ปีหน้า โดยจับตาให้ดีว่า ใครเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ รัฐมนตรีกลาโหม และที่ปรึกษาความมั่นคงทำเนียบขาว ซึ่งสามส่วนนี้จะมีบทบาทอย่างสำคัญในการกำหนดนโยบายต่างประเทศของสหรัฐ

“ระเบียบโลกแบบเสรีนิยมกำลังถูกท้าทาย ระเบียบโลกที่วางรากฐานโดยสหรัฐอเมริกาเอง ถ้าทรัมป์มีนโยบายฉีกออกไปอีกทาง กระแสประชานิยมขวากำลังมา ... ตอนฮิตเลอร์มาระเบียบโลกเปลี่ยน กอร์บาชอฟมาก็นำมาซึ่งการสิ้นสุดสงครามเย็น วันนี้ถามว่าระเบียบโลกจะเปลี่ยนไหม เป็นคำถามใหญ่หลังวันที่ 20 มกราคม”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท