Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

The harm inflicted on religion by those who defend it improperly is greater than the harm caused by those who attack it properly

(Al-Ghazali, Tahafut al-Falasifah, p.11)

 

“ความเสียหายอันเกิดจากการปกป้องศาสนาอย่างไม่เหมาะสมมีความร้ายแรงยิ่งกว่าความเสียหายของศาสนาอันเกิดจากผู้ที่โจมตีมันอย่างเหมาะสม”

(อิหม่าม อัล-ฆอซาลี, ตาฮาฟุต อัล ฟาลาซีฟะฮ์, หน้า 11)


การประท้วงกลางกรุงจากาตาร์ที่นำโดย FPI (Front Pembela Islam: แนวหน้าผู้ปกป้องอิสลาม) ในวันศุกร์ที่ 4 พ.ย. ที่ผ่านมาแม้เป็นปรากฏการณ์ที่ไม่ได้เป็นเรื่องแปลกใหม่ในวงการเมืองอินโดนีเซีย แต่การประท้วงครั้งนี้มีนัยยะสำคัญยิ่งในแง่ของพัฒนาการทางการเมืองของประเทศนี้นับตั้งแต่พลังประชาธิปไตยได้ทำการโค่นล้มระบอบอำนาจนิยมซูฮาร์โต้ในปี 1998 การประท้วงในครั้งนี้เป็นการแสดงพลังของขบวนการเคลื่อนไหวอิสลามแนวการกลับไปสู่รากฐานดั้งเดิม (Fundamentalism) ทั้งยังเป็นการประกาศว่าพวกเขาเป็นกลุ่มที่มีอำนาจเข้มแข็งพอที่ทุกฝ่ายไม่อาจมองข้ามได้ และเป็นการเปิดศักราชใหม่ของการเมืองที่อิสลามจะเป็นเสียงเรียกให้ผู้คนออกมาชุมชุม (Rallying cry) เมื่อเกิดข้อถกเถียงในประเด็นสาธารณะที่เกี่ยวข้องกับการปะทะกันของคุณค่าทางศาสนาและคุณค่าของความเป็นสมัยใหม่ (modernity) ซึ่งถ้าไม่มีการจัดการที่ดีพอและพลังของการรอมชอมอันเป็นลักษณะสำคัญของอิสลามในอินโดนีเซียอ่อนแอลง ประเทศนี้จะกลายเป็นเสมือนหนึ่งปากีสถานที่กลุ่มการเมืองและศาสนาแนวเดียวกันนี้ได้ใช้อิสลามเป็นเครื่องมือในการต่อรองทางการเมือง อิสลามสายแข็ง (Hardliner) จะครองพื้นที่การเมืองในท้องถนน การเมืองของความรู้สึกจะเข้าแทนที่การเมืองของเหตุผลและอาจสร้างปัญหาของการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายมากกว่าการแสวงหาฉันทามติร่วมกันในสังคมดังที่เคยเป็นมา ภาพพจน์ที่แข็งกร้าวจะเข้าแทนที่ลักษณะอิสลามในอินโดที่นักวิชาการผู้ศึกษาอิสลามกล่าวว่าเป็น “รอยยิ้มแห่งอินโดนีเซีย”  

บรรยากาศของความเป็นประชาธิปไตยภายหลังระบอบซูฮาร์โต้ทำให้กลุ่มต่างๆในสังคมทั้ง NGOs ประชาสังคม กลุ่มแนวคิดทางศาสนา กลุ่มทางการเมืองและผลประโยชน์ในรูปแบบต่างๆเจริญงอกงามมีพื้นที่ในการแสดงออกและสร้างกิจกรรมของตัวเองอย่างคึกคัก เมื่อโซ่ตรวนแห่งอำนาจนิยมได้ถูกปลดลงโดยพลังประชาธิปไตยในประเทศที่มีมุสลิมประมาณ 250 ล้านคนนี้ กลุ่มทางศาสนาซึ่งถูกกดทับและถูกกระทำมากที่สุดภายใต้ระบอบซูฮาร์โต้จึงเป็นกลุ่มที่มีพลังน่าเกรงขามที่สุด เนื่องจากมีการจัดองค์กรอย่างเป็นระบบ มีสมาชิกที่ชัดเจน และจากการที่กลุ่มศาสนาส่วนใหญ่ทำงานในเชิงสังคมสงเคราะห์และการศึกษาทำให้พลังของพวกเขามีรากฐานที่มั่นคงและได้รับการสนับสนุนจากชุมชนอย่างกว้างขวางอีกด้วย

FPI นำโดย ฮาบี๊บ มูฮัมหมัด ริซิก ชิฮ้าบ (Habib Muhammad Rizieq Syihab, 1965-)      ซึ่งจบการศึกษาคณะนิติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยกษัตริย์ซาอูด กรุงริยาด ประเทศซาอุดิอารเบีย เป็นกลุ่มเคลื่อนไหวทางศาสนาที่มีแนวทางอันเข้มงวดในการตีความคำสอนทางศาสนา โดยต้องการนำเอาคำสอนในศาสนาอิสลามมาปฏิบัติให้เกิดขึ้นจริงตามความเข้าใจอิสลามในลักษณะตีความตามตัวอักษรอันเข้มงวดและเถรตรงของพวกเขา โดยไม่ให้ความสำคัญมากนักกับสภาพแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงของบริบททางสังคม นอกจากนั้นการปฏิบัติตามการตีความดังกล่าวก็เป็นไปในลักษณะบังคับ (enforce) จากบนสู่ล่าง ด้วยกองกำลังทหารบ้าน (paramilitary) ที่พวกเขามีอยู่ มากกว่าการค่อยๆสร้างความตระหนักรู้ ยกระดับการศึกษาและทำงานร่วมกันกับภาคประชาสังคมในการเปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไปจากล่างขึ้นบนดังเช่นการทำงานของสององค์กรหลักทางศาสนาในอินโดนีเซีย คือ มูฮัมมาดียะฮ์ (Muhammadiyyah) และ นะฮดาตุ้ล อูลามาอ์ (Nahdlatul Ulama) ซึ่งทำงานในเชิงเผยแพร่ศาสนาผ่านการสร้างเครือข่ายและสร้างสถาบันทางสังคมสังคม เช่น โรงเรียน มหาวิทยาลัย โรงพยาบาล สหกรณ์ ตลอดจน องค์กรภาคประชาสังคมและองค์กรการกุศลอื่นๆ

FPI เติบโตจากสภาพสังคมที่เต็มไปด้วยการคอรัปชั่น ยาเสพติด อาชญากรรม ความเสื่อมทรามทางศีลธรรมอันเกิดจากการแพร่ขยายของสถานบันเทิงเริงรมย์ บ่อนการพนัน โสเภณี และความหย่อนยานในการบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่ของเจ้าหน้าที่รัฐ  โดยเฉพาะในช่วงระหว่างปี 1998-2000 ทำให้การเคลื่อนไหวของ FPI ได้รับการยอมรับจากชาวบ้านชนชั้นล่างเนื่องจากพวกเขาต้องทนอยู่กับสภาพปัญหาทางสังคมและไม่มีใครเอาจริงเอาจังกับการแก้ไขปัญหาดังกล่าวนอกจาก FPI ที่มักจะส่งคำเตือนไปยังสถานบันเทิงที่เปิดเกินเวลาที่กฎหมายกำหนดและหากสถานบันเทิงเหล่านั้นยังคงไม่สนใจต่อคำเตือนพวกเขาจะดำเนินการด้วยวิธีรุนแรง พฤติกรรมดังกล่าวของ FPI เป็นที่ถกเถียงอย่างมากถึงความถูกต้องชอบธรรม และมีความพยายามจะแบนองค์กรนี้จากหลายฝ่าย   

เหตุการณ์ที่ทำให้ FPI เป็นที่รู้จักและได้รับการสนับสนุนจากชุมชนมุสลิมว่าเป็นแนวหน้าในการปกป้อง อิสลามอย่างแท้จริงเกิดขึ้นเมื่อมีเด็กหนุ่มมุสลิมในชุมชน Ketapang ในจังหวัด อัมบอนถูกกลุ่มวัยรุ่นคริสเตียนทำร้ายร่างกาย เมื่อพ่อของเด็กเข้าไปเพื่อช่วยเหลือ กลับถูกทำร้ายและถูกทรมานร่างกายจนต้องส่ง โรงพยาบาล ข่าวเหตุการณ์ดังกล่าวได้สร้างความโกรธและกระทบกระทั่งกันระหว่างชาวมุสลิมและชาวคริสต์ แต่เหตุการณ์มาถึงจุดเดือดเมื่อกลุ่มชายฉกรรจ์ชาวคริสต์หัวรุนแรงประมาณ 100 คน ได้รวมตัวกันทำร้ายชาวมุสลิมและเผามัสยิด ผู้นำชุมชนมุสลิมได้ขอความช่วยเหลือจาก FPI ซึ่งมีสำนักงานอยู่ที่ Petamburan เมื่อ FPI มาถึงทั้งสองฝ่ายต่างตะลุมบอนเข้าหากันแล้ว มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตแต่ FPI สามารถยับยั้งไม่ให้เหตุการณ์บานปลายไปเป็นทุ่งสังหารได้ และในสัปดาห์ต่อมาซึ่งเป็นผลต่อเนื่องมาจากเหตุการณ์ใน Petamburan ได้เกิดความรุนแรงในชุมชน Kupang ซึ่งเป็นเมืองหลวงของจังหวัด East Nusa Tenggara อันเป็นจังหวัดที่มีชาวคริสต์เป็นชนส่วนใหญ่ โดยเริ่มต้นเมื่อชาวคริสต์พร้อมใจกันออกมาตามท้องถนนและเผามัสยิดทุกมัสยิดที่พวกเขาเดินผ่าน มีมุสลิมเสียชีวิตไปกว่า 10 คนจากเหตุการณ์ดังกล่าว FPI ออกแถลงการณ์อย่างแข็งกร้าวเรียกร้องให้รัฐบาลสืบสวนสอบสวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและนำคนผิดมาลงโทษและเรียกร้องให้ชาวคริสต์หลีกเลี่ยงการกระทำที่เป็นการยั่วยุต่อชาวมุสลิมรวมทั้งเรียกร้องให้มุสลิมทำการต่อสู้ (jihad) เพื่อปกป้องเกียรติยศของอิสลาม

ภายใต้คำขวัญ “ใช้ให้กระทำความดี และยับยั้งจากความชั่ว (Amr bil maruf wal nahi al-munkar)”ซึ่งเป็นข้อความจากคัมภีร์อัลกรุอ่านและเป็นข้อความที่มุสลิมคุ้นเคยกันดี FPI ได้ใช้ข้อความสั้นๆพื้นๆและเข้าใจง่ายนี้ดึงดูดชนชั้นล่างที่ไม่ได้รับการเอาใจใส่จากรัฐและเอือมระอากับการคอรัปชั่นและความเหลวแหลกทางศีลธรรม ให้ร่วมกันต่อสู้ (jihad) เพื่อทำลายความชั่วและการคอรัปชั่น (gusur kemaksiatan)โดยถือเป็นหน้าที่ทางศาสนา (fardu)ของมุสลิมทุกคนที่จะต้องกระทำ ทั้งนี้ในภาษาและโลกทัศน์ของมุสลิม คำว่า “Maksiat (ความชั่วช้า/มีนัยยะของการก่อให้เกิดความเสื่อมทางศีลธรรม)” และ “jihad (การดิ้นรนต่อสู้/มีนัยยะของการต่อสู้กับความชั่วทางศีลธรรมภายในตนเองและในสังคม)” เป็นสองคำที่สามารถปลุกเร้าความรู้สึกร่วมทางศาสนา การร่วมกันต่อสู้กับ Maksiat เป็นหน้าที่ที่มีเกียรติยิ่งทางศาสนา ด้วยเหตุนี้ สมาชิกและผู้ที่เห็นด้วยกับแนวทางของ FPI จึงขยายตัวและเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว Misbahul Anam เลขาธิการของ FPI อ้างว่า FPI มีสมาชิก 15 ล้านคน และมีสาขาตั้งอยู่ใน 17 จังหวัดทั่วทั้งประเทศ[1]

แต่การรวมกลุ่มเป็นขบวนการเคลื่อนไหวโดยตัวมันเองคือการเมือง ซึ่งย่อมต้องมีอำนาจเข้ามาเกี่ยวข้อง และเมื่อต้องขับเคลื่อนผู้คนออกสู่ท้องถนนจำเป็นที่จะต้องใช้ประโยคที่เข้าใจง่ายเร้าอารมณ์ ด้วยการลดทอนความสลับซับซ้อน ความประณีต บริบท และปัจจัยอื่นๆของอิสลามลงมาให้อยู่ในระดับที่ง่ายต่อการเข้าใจมากที่สุด  วิธีการเช่นนี้มีด้านที่อันตรายและราคาที่จะต้องจ่ายอย่างมหาศาล ผลของความเข้าใจเรื่องญิฮาดอย่างง่ายๆเป็นตัวอย่างได้ดีถึงภัยพิบัติที่จะมาเยือนเมื่อขาดความประณีต บริบท และความสลับซับซ้อนของการนำเอาคำนี้ไปใช้ ยิ่งไปกว่านั้น บทเรียนจากการต่อสู้ในซีเรียพิสูจน์ให้เห็นว่าการใช้ความแข็งกร้าวและภาษาของการต่อสู้เพื่อปรับปรุงและพัฒนาสังคมแทนการรอมชอมและแสวงหาความเห็นพ้องทำให้ประเทศที่สวยงามที่สุดประเทศหนึ่งในโลกอาหรับต้องมีสภาพที่น่าหดหู่ดังเช่นในปัจจุบัน แน่นอนว่ามีปัจจัยอื่นๆด้วยเช่นการแทรกแซงจากมหาอำนาจ แต่การแทรกแซงจะมีความหมายและมีผลก็ต่อเมื่อเกิดการต่อสู้และแบ่งฝักแบ่งฝ่ายของคนในสังคม

กรณีการประท้วงในครั้งนี้ เกิดขึ้นในบริบทที่จะมีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงจาการ์ต้าเมืองหลวงของอินโดนีเซีย เมื่อผู้ว่าฯคนปัจจุบันคือ นาย Basuki Tjahja Purmama ซึ่งเป็นชาวคริสต์เชื้อสายจีนประกาศว่าจะลงสมัครรับเลือกตั้ง และได้ออกมาบรั๊ฟคู่ต่อสู้ทางการเมืองที่กล่าวว่าการเลือกผู้ที่ไม่ใช่มุสลิมมาเป็นผู้นำนั้นเป็นข้อห้ามทางศาสนา โดยเขากล่าวว่า “อย่าไปเชื่อคนอื่น ในใจลึกๆของพ่อแม่พี่น้องมันก็ได้ไม่ใช่เหรอ แต่จะมีคนโง่ๆกลุ่มหนึ่งอ้างโองการจากคัมภีร์อัลกรุอ่าน บทที่ชื่อ อัลมาอีดะฮ์ วรรคที่ 51 ว่าเป็นแบบนั้นแบบนี้ที่จะไม่เลือกผมJangan percaya sama orang bias aja kan dalam hati kecil bapak ibu. Enggak bias milih saya. Yang ada dibohongin pake surat al-Maidah:51 macam macam itu. Itu hak bapak ibu ya…” แม้คำพูดของ นาย Basuki จะเป็นการหมิ่นเหม่ ต่อการเอาตัวเอง (ซึ่งไม่ใช่มุสลิม) เข้าไปตีความและหาว่ามุสลิมโง่ที่เข้าใจตามแบบของมุสลิม และเขาควรจะต้องรับผิดชอบทางการเมือง และขอโทษต่อชาวมุสลิม (ซึ่งผู้เขียนยังมองไม่ออกว่าดูหมิ่นศาสนาอิสลามตรงไหน) แต่การที่ฝ่ายมุสลิมและมีความสัมพันธ์กับ FPI ซึ่งเป็นคู่แข่งทางการเมืองของนาย Basuki นำเอาประเด็นด้านศาสนามาใช้ประโยชน์ทางการเมืองในเบื้องแรกย่อมเป็นสิ่งที่ไม่อาจยอมรับได้เช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การตีความโองการในคัมภีร์อัลกรุอ่านตามตัวอักษรแบบง่ายๆของ FPI ว่าการเลือกผู้ที่มิใช่มุสลิมมาเป็นผู้นำผิดหลักการศาสนาตามโองการที่ 51 ในบทที่ชื่อว่า อัลมาอีดะฮ์ ของคัมภีร์อัลกรุอ่าน[2]

 เป็นที่เข้าใจได้ว่าในระบอบการเมืองในอดีตนั้นชุมชนทางการเมือง (political community)วางอยู่บนรากฐานของศาสนา ศูนย์รวมความภักดีทางการเมือง (political loyalty) ของผู้คนคือศาสนา การภักดีต่อศาสนาหมายถึงความภักดีทางการเมือง ด้วยเหตุนี้ความเป็นศาสนาเดียวกันจึงมีความสำคัญ ถ้าผู้นำไม่ใช่ผู้ที่นับถือศาสนาเดียวกันจะไม่สามารถสถาปนาความภักดีทางการเมืองให้เกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง ซึ่งจะเกิดปัญหาการกบฏตามมา อัลกรุอ่านโองการดังกล่าวสะท้อนสภาพปัญหาทางการเมืองในขณะนั้นและต้องการแก้ไขปัญหาดังกล่าว (ประกอบกับกิจกรรมการสอดแนมของชาวยิวและชาวคริสต์กลุ่มหนึ่งที่ต้องการทำลายชุมชนทางการเมืองมุสลิมที่เพิ่งตั้งไข่) อีกทั้งการขึ้นมาเป็นผู้นำในอดีตเกิดจากการใช้กำลัง ระบบการสืบสันติวงศ์และการขยายอาณาจักร การนับถือศาสนาเดียวกันจึงเป็นเรื่องปกติ สมเหตุสมผล และเป็นวิถีของชุมชนการเมืองในลักษณะดังกล่าว

แต่ความเป็นประเทศ และความเป็นรัฐชาติในปัจจุบันแตกต่างจากชุมชนทางการเมืองในอดีต การสร้างชาติเกิดจากความความพยายามที่มาจากผู้คนทุกศาสนาและทุกชาติพันธุ์ (แม้ว่าชาติพันธุ์ของชนส่วนใหญ่จะครอบงำอยู่ก็ตาม) สร้างชุมชนร่วมกันผ่านข้อตกลงร่วมกันซึ่งสะท้อนออกมาในรูปของรัฐธรรมนูญ ยิ่งไปกว่านั้น การต่อสู้เพื่อปลดปล่อยชุมชนออกจากการยึดครองของเจ้าอาณานิคมตะวันตกและสร้างรัฐชาติขึ้นมาใหม่ก็มาจากหยาดเหงื่อและเลือดเนื้อของผู้คนในทุกศาสนาและทุกชาติพันธุ์ การตีความว่าผู้นำจะต้องเป็นมุสลิมเท่านั้นจึงเป็นการตีความที่ไม่คำนึงถึงสภาพบริบทของสังคม (ahistorical interpretation) จิตใจคับแคบ (narrow minded) เห็นแก่ตัว (selfishness) ซึ่งไม่ใช่เป้าหมายของอิสลามที่อ้างตัวว่าเป็นศาสนาแห่งความยุติธรรม ศาสนาแห่งความเมตตา และเป็นศาสนาของมนุษยชาติ

การนำศาสนามาเป็นเครื่องมือทางการเมือง การลดทอนความประณีตของศาสนา การไม่นำพาต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในการทำความเข้าใจตัวบท ล้วนแล้วแต่นำมาซึ่งผลร้ายต่อสังคมมุสลิม ผลของความตั้งใจที่จะปกป้องศาสนากลับทำลายศาสนาในที่สุดดังคำพูดของอิหม่ามฆอซาลี ที่ยกมาข้างต้น  

        

        

 

เชิงอรรถ

[1] Jajang Jahroni, Defending the Majesty of Islam: Indonesia’s Front Pembela Islam, 1998-2003 (Chiang Mai: Silkworm Books, 2008), 32.

[2] ในโองการดังกล่าวมีใจความว่า…”โอ้บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย พวกเจ้าจงอย่าได้ยึดเอาชาวยิวและชาวคริสต์มาเป็นมิตร บางส่วนของพวกเขาคือมิตรของอีกบางส่วน…”

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net