Skip to main content
sharethis

นักวิชาการทีดีอาร์ไอระบุ กรณีเซเว่นฯ ไม่ขายวัน-ทู-คอล ไม่ผิดกฎหมายแข่งขันทางการค้า กฎหมายห้ามธุรกิจโตไม่ได้ แค่ควบคุมพฤติกรรม ส่วนกรณีซีพีจับมืออาลีเพย์รุกอี-เพย์เม้นต์ เชื่อระยะสั้นผู้บริโภคได้ประโยชน์ แต่ระยะยาวน่าเป็นห่วง ด้านสตาร์ทอัพหวังรัฐดูแลการแข่งขันให้เกิดความเป็นธรรม กฎหมายแข่งขันทางการค้าฉบับใหม่ช่วยป้องกันการผูกขาด

ในช่วงเดือนที่ผ่านมา ปรากฏข่าวธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเครือเจริญโภคภัณฑ์หรือซีพี 2 ข่าว ที่ถูกกล่าวถึงและจับตามอง ตั้งแต่กรณีเซเว่น อีเลฟเว่น ธุรกิจร้านสะดวกซื้อรายใหญ่ของไทยยุติการขายซิมการ์ดและบัตรเติมเงินวัน-ทู-คอลของไอเอเอส และล่าสุดคือกรณีซีพีจับมือกับอาลีเพย์ ยักษ์ใหญ่จากประเทศจีน ภายใต้การนำของแจ๊ค หม่า

ทั้งสองเรื่องราวดูจะไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกัน นอกเสียจากมีซีพีปรากฏอยู่ในเนื้อหา แต่เชื่อว่าผู้คนจำนวนมากอาจเกิดคำถามว่า สิ่งที่เซเว่นฯ ทำผิดกฎหมายแข่งขันทางการค้าหรือไม่? การจับมือกับอาลีเพย์จะทำให้ซีพีรุกคืบสู่ธุรกิจนี้อย่างไร? และที่สำคัญ พลังอำนาจที่มีอยู่มากมายในตลาดอันเป็นผลจากการครอบครองธุรกิจตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำของซีพี หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะมีผู้คนวิตกกังวลว่าจะเกิดการผูกขาดในอนาคต ขณะที่กฎหมายแข่งขันทางการค้าที่อยู่ระหว่างการแก้ไขก็ยังไม่ใช่เครื่องการันตี

เซเว่นฯ ไม่ขายวัน-ทู-คอล ไม่ผิด กม.แข่งขันทางการค้า

เป็นที่ทราบกันว่า ประเทศไทยมี พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า ตั้งแต่ปี 2542 เพื่อป้องกันการผูกขาดและการมีอำนาจเหนือตลาดของธุรกิจใหญ่ แต่ที่ผ่านมากลไกต่างๆ ที่วางไว้กลับไม่ทำงาน เซเว่นฯ เป็นธุรกิจสะดวกซื้อในเครือซีพี ซึ่งมีทรู บริษัทที่ให้บริการเครือข่ายสัญญาณมือถือรวมอยู่ด้วย แบบนี้จะเท่ากับว่าซีพีกำลังใช้เครือข่ายธุรกิจที่ตนมีกีดกันคู่แข่งหรือไม่ เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัย สถาบันเพื่อการพัฒนาประเทศไทยหรือทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า

“เซเว่นฯ ไม่ผิด พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า เพราะจะผิดก็ต่อเมื่อเป็นการเลือกปฏิบัติ ซึ่งต้องพิสูจน์ เลือกปฏิบัติหมายความว่าถ้าทรูหรือดีแทคใช้บริการแบบเดียวกับเอไอเอส แล้วเก็บราคาถูกกว่าเอไอเอส อย่างนั้นผิด แต่เท่าที่อ่านไม่ใช่ เขาบอกว่ามาร์จิ้นที่เก็บจากทรูและดีแทคคือห้าและเจ็ดเปอร์เซ็นต์ จึงไม่สามารถพิสูจ์ได้ว่าเก็บเอไอเอสแพงกว่า นี่จึงไม่ใช่การเลือกปฏิบัติ

“ประการที่ 2 อาจจะบอกว่าเป็นลักษณะของการปฏิเสธที่จะให้บริการ เพราะเซเว่นฯ เป็นช่องทางจัดจำหน่ายที่สำคัญ ดังนั้น การปฏิเสธไม่ให้ขายก็เป็นการลิดรอนสิทธิทำให้เดือดร้อนเสียหาย ก็ต้องถามว่าเซเว่นฯ เป็นช่องทางการขายที่มีนัยสำคัญต่อเอไอเอสแค่ไหน ตามหลักกฎหมายแข่งขันทางการค้า การถามว่าช่องทางจำหน่ายนี้สำคัญแค่ไหนก็เหมือนมีอำนาจเหนือตลาด คือตลาดค้าปลีกบัตรเติมเงิน ตลาดที่เรากำลังพูดถึงคือตลาดค้าปลีกบัตรเติมเงินของเอไอเอส ไม่ใช่ขายของชำ ถึงแม้เซเว่นฯ จะเป็นร้านสะดวกซื้อ แต่ตลาดที่พูดถึงนี้ไม่ใช่ตลาดร้านสะดวกซื้อ แต่เป็นตลาดการจำหน่ายบัตรเติมเงิน เราก็ต้องถามว่าเขามีอำนาจเหนือตลาดนี้หรือเปล่า คือต้องมีส่วนแบ่งตลาดเกิน 50 เปอร์เซ็นต์ ต้องดูว่าโทรศัพท์มือถือมีช่องทางเติมเงินอะไรบ้าง แล้วก็ต้องเอารายได้จากแต่ละช่องทางมาบวกกันให้หมด เพื่อดูว่าที่จำหน่ายผ่านเซเว่นฯ เกิน 50 เปอร์เซ็นต์หรือเปล่า

“ถ้าช่องทางของเอไอเอสมีจำนวนมาก เซเว่นฯ ก็หลุดอีก ทั้งเรื่องการเลือกปฏิบัติและการใช้อำนาจเหนือตลาดโดยการกีดกันการจำหน่าย เพราะเท่าที่ดูแล้วช่องทางการจำหน่ายบัตรเติมเงินของเอไอเอสมีเยอะมาก”

อ่านถึงตรงนี้อาจทำให้หลายคนรู้สึกขัดเคือง ถึงกระนั้น ก็ต้องทำความเข้าใจว่า กฎหมายแข่งขันทางการค้าไม่ใช่การจำกัดการเติบโตของธุรกิจ แต่เป็นกฎหมายที่ควบคุมพฤติกรรมของบริษัทไม่ให้สร้างความเสียหายต่อระบบการแข่งขันในตลาด กล่าวคือกฎหมายแข่งขันทางการค้าแยกแยะพฤติกรรมที่เป็นการผูกขาด ทำให้คนอื่นเสียหาย กับพฤติกรรมที่เป็นไปตามหลักทางพาณิชย์

“การที่เซเว่นฯ มีอำนาจมากขึ้น เราปฏิเสธไม่ได้ แต่เราก็ต้องคุมพฤติกรรมเขา กรณีนี้ไม่เข้า เพราะเอไอเอสมีช่องทางจำหน่ายจำนวนมาก แม้ว่าช่องทางนี้จะสะดวกสำหรับคนบางคน แต่ก็ไม่สามารถเรียกได้ว่าเป็นช่องทางเดียว ถ้าเอไอเอสอยากใช้ช่องทางนี้ก็ต้องจ่าย เซเว่นฯ ไม่ได้ห้าม คือถ้าห้าม ไม่ว่าจะจ่ายเท่าไหร่ แบบนี้ผิดแน่ แต่เขายอมให้ เพียงแต่อัตราที่จ่ายต้องเท่ากับดีแทค สังคมก็ต้องตั้งคำถามว่าเขาชาร์จเท่ากับดีแทค ทำไมเอไอเอสไม่ยอมจ่าย คู่แข่งคุณจ่าย 5 แต่คุณจ่าย 3 มาตลอด เมื่อเขาเรียกร้องให้จ่ายเท่ากับคู่แข่ง แต่คุณไม่จ่าย ก็แปลว่าเอไอเอสคิดในเชิงพาณิชย์ ก็เป็นไปได้ ทุกอย่างตัดสินด้วยธุรกิจ”

เซเว่นฯ มีอำนาจเหนือตลาดหรือไม่? สำนักแข่งขันทางการค้าต้องตอบ

ยังมีคำถามตามมาอีกว่า การสยายปีของเซเว่นฯ ประมาณ 9,500 แห่งทั่วประเทศ ที่ทำรายได้สูงถึง 336,441.80 ล้านบาทในไตรมาส 3 ของปี 2559 ถือว่ามีส่วนแบ่งตลาดเกินกว่าร้อยละ 50 หรือไม่

“เป็นคำถามที่ถามกันมาก ซึ่งสำนักแข่งขันทางการค้าต้องเป็นคนตอบคำถามนี้ ในต่างประเทศการจะตอบว่าใครมีอำนาจเหนือตลาด ไม่ใช่ง่าย คุณต้องระบุให้ชัดว่าตลาดร้านสะดวกซื้อคืออะไร คุณจะรวมอะไรเข้ามาในตลาดนี้บ้าง ถ้าอยากจะรู้ว่าเซเว่นฯ มีส่วนแบ่งตลาดเท่าไหร่ คุณต้องเอารายได้ของเขาบวกกับรายได้ของทุกร้านที่เป็นคู่แข่ง”

รวมร้านโชห่วยด้วยหรือไม่

“นี่คือคำถาม ดิฉันจะตอบคำถามนี้ได้อย่างไรว่าร้านชำที่ห่างออกไปอีก 10 เมตร เป็นคู่แข่งหรือไม่ ทั้งหมดนี้ต้องทำข้อมูล สถิติ ซึ่งสำนักแข่งขันต้องทำ ซึ่งมีคนตีความแล้วว่า ร้านสะดวกซื้อเป็นธุรกิจบริการ ไม่ใช่ธุรกิจขายสินค้า ให้บริการในการซื้อสินค้าโดยสะดวก ตลาดนี้มีใครบ้างนอกจากเซเว่นฯ

“แต่ถ้าแข่งบนเกมเดียวกัน กติกาที่เป็นธรรมเหมือนกัน ผมว่ารายย่อยยังมีโอกาสที่จะชนะรายใหญ่ได้ ถ้าแพล็ตฟอร์มดี นักลงทุนชอบ แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่บริษัทใหญ่ใช้การผูกขาดบางอย่างหรือเกิดความไม่ยุติธรรมในระบบขึ้น จุดนี้รัฐบาลอาจต้องลงมาดูว่าจะทำยังไงให้เกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรม ต้องดูว่าเจ้าใหญ่จะมีธรรมาภิบาลแค่ไหน”

“หลักการที่จะกำหนดว่าเซเว่นฯ มีอำนาจเหนือตลาดหรือไม่ คำถามคือถ้าเซเว่นฯ ขึ้นราคาสินค้าทั้งร้าน 5 เปอร์เซ็นต์ เกณฑ์นี้ คุณจะเลิกซื้อมั้ย หรือยังต้องซื้อ ถ้าคำตอบคือยังไงก็ต้องซื้อ อย่างนี้แปลว่ามีอำนาจเหนือตลาด” เดือนเด่นกล่าว

ซีพีจับมืออาลีเพย์ ปลาเร็วกินปลาช้า สตาร์ทอัพต้องปรับตัวก่อนถูกกิน

ภาพการจับมือระหว่างธนินทร์ เจียรวนนท์ แห่งซีพี กับแจ็ค หม่า แห่งอาลีบาบา กรุ๊ป เพื่อรุกตลาดอี-เพย์เม้นต์ เป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญของซีพี ตามสไตล์เจ้าสัวธนินทร์ที่เชื่อว่า ธุรกิจยุคนี้ไม่ใช่ยุคปลาใหญ่กินปลาเล็กอีกต่อไป แต่เป็นยุคปลาเร็วกินปลาช้า บริษัท แอสเซนด์ กรุ๊ป ในเครือซีพี ที่กระโจนเข้าสู่ธุรกิจอี-เพย์เม้นต์ตั้งแต่ 9 ปีก่อน รุกเร็วอีกครั้งท่ามกลางกระแสฟินเทค และด้วยศักยภาพของอาลีบาบากรุ๊ป น่าจะยิ่งทำให้แอสเซนด์ กรุ๊ป ขยับตัวได้เร็วกว่าใครๆ

ธนัฐ ศิริวรางกูร นักวางแผนการเงินอสระและที่ปรึกษาการลงทุน นักเขียน เจ้าของเพจคลินิกกองทุน กล่าวกับประชาไทว่า การจับมือระหว่างอาลีเพย์และซีพีครั้งนี้สร้างผลกระทบสูงต่อวงการธุรกิจแน่นอน ซึ่งคนในวงการสตาร์ทอัพเองก็คิดว่าคงหลีกเลี่ยงผลกระทบไม่ได้ แต่ก็ขึ้นอยู่กับกลุ่มธุรกิจที่อาลีเพย์จะจับในช่วงแรกๆ คือกลุ่มไหน ปัจจุบันกลุ่มธุรกิจฟินเทคในประเทศไทยมีประมาณ 4 กลุ่มใหญ่ คือ บริหารเงินลงทุน, อี-เพย์เม้นท์, ประกันภัย และการปล่อยกู้กันเองระหว่างรายย่อยหรือ P2P Lending

“ส่วนตัวผมคิดว่า เขาน่าจะเข้ามาที่ธุรกิจการโอนเงิน-ชำระเงินก่อน แล้วจึงเข้าสู่ธุรกิจปล่อยกู้ ซึ่งตอนนี้แบงค์ชาติยังไม่ได้ออกกฎให้รายย่อยปล่อยกู้กันเองได้ เพราะฉะนั้นเขาคงมาตัวเพย์เม้นต์ก่อน แล้วจึงข้ามไปที่การบริหารเงินลงทุนกับประกันภัยเลย ระหว่างสองตัวนี้ประกันภัยน่าจะมาก่อน เพราะการบริหารเงินลงทุนต้องมีใบอนุญาต ระหว่างนี้ฟินเทคจึงมีโอกาสปรับตัวได้ แต่ก็ต้องเร็วพอสมควร ถ้าอาลีเพย์เริ่มที่อี-เพย์เม้นต์ก่อน ผมคิดว่าธนาคารจะได้รับผลกระทบก่อน ส่วนปลายปีหน้าผมคิดว่าเขาน่าจะทำตัวตลาดซื้อขายกองทุนและประกัน แต่ก็ต้องไปดูเรื่องใบอนุญาต ในปี 2018 เขาก็จะทำเป็น Wealth One Stop Service เลย คือทำธุรกรรมได้ทุกอย่างผ่านเซเว่นฯ”

ธนัฐ กล่าวอีกว่า สตาร์ทอัพมีข้อเสียอยู่ข้อหนึ่งคือไม่มีกำลังคนหรือหน้าร้านมากพอที่จะสู้ในต่างจังหวัด จึงต้องใช้โทรศัพท์มือถือ เพราะว่าคนในต่างจังหวัดยังมีที่ใช้โทรศัพท์มือถือแบบเดิมอยู่ อาจจะยังเข้าไม่ถึงอินเตอร์เน็ต ดังนั้น การมีหน้าร้านอย่างเซเว่นฯ จึงเป็นสิ่งที่ทำให้ซีพีได้เปรียบมาก เรียกว่าเป็น Unfair Competitive Advantage

“และถ้าอนาคตโปรไวเดอร์ลดราคาแพ็กเกจอินเตอร์เน็ตลงมา คนเข้าถึงได้มากขึ้น แน่นอนว่าซีพีก็คงมีแผนหนึ่ง แผนสอง และก็อาจจะโปรโมทผ่านแอพพลิเคชั่นของทรู ซึ่งจะเป็นข้อได้เปรียบของเขาอีก

“แต่ถ้าแข่งบนเกมเดียวกัน กติกาที่เป็นธรรมเหมือนกัน ผมว่ารายย่อยยังมีโอกาสที่จะชนะรายใหญ่ได้ ถ้าแพล็ตฟอร์มดี นักลงทุนชอบ แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่บริษัทใหญ่ใช้การผูกขาดบางอย่างหรือเกิดความไม่ยุติธรรมในระบบขึ้น จุดนี้รัฐบาลอาจต้องลงมาดูว่าจะทำยังไงให้เกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรม ต้องดูว่าเจ้าใหญ่จะมีธรรมาภิบาลแค่ไหน”

ระยะสั้นผู้บริโภคได้ประโยชน์-ระยะยาวต้องระวังผูกขาด

อย่างไรก็ตาม ดีลธุรกิจระหว่างซีพีกับอาลีเพย์ก็อาจเป็นประโยชน์ต่อเอสเอ็มอีและผู้บริโภค หากในอนาคตมีการให้บริการสินเชื่อ เดือนเด่น กล่าวว่า อาลีเพย์มีข้อมูลมหาศาล ถ้ามองในแง่ดี มันเป็นการทำให้เอสเอ็มอีไทยที่ไม่เคยมีใครให้เครดิตสามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้ เพราะอาลีบาบามีข้อมูลทุกอย่าง รู้ว่ายอดขายเท่าไหร่ ลูกค้ากลุ่มไหนเป็นผู้ซื้อ เนื่องจากการซื้อขายออนไลน์ผ่านช่องทางอาลีบาบาจะถูกเก็บข้อมูล

“เพราะคนที่พร้อมจะให้เงินกู้คุณมากที่สุดคือคนที่รู้จักคุณมากที่สุด อาลีฯ มีบันทึก ดังนั้น อาลีฯ ไม่เพียงแต่ขายของ แต่ยังให้ข้อมูลทางการตลาดแก่เอสเอ็มอีด้วย ส่วนสินเชื่อเพื่ออุปโภคบริโภค ในช่วงแรกมันเป็นเรื่องดีแน่นอน เพราะทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกเพิ่มขึ้น ยกเว้นทุกคนเทมาที่นี้ แล้วก็เกิดการผูกขาด ระยะยาวถ้าคนทิ้งระบบเดิมและมาอยู่ระบบใหม่หมด แล้วคนวิ่งกลับไปที่เดิมไม่ได้ นี่เป็นโมเดลเราที่เราเป็นห่วง แต่ระยะสั้นเป็นประโยชน์ ปัญหาจะเกิดขึ้นเมื่อคุณไม่มีทางเลือกแบบเดิมอีกต่อไปแล้ว”

นอกจากนี้ การใช้เซเว่นฯ ซึ่งกระจายอยู่ทุกหัวระแหงเป็นอี-เพย์เม้นต์ เกตเวย์ ยังทำให้ซีพีมีบิ๊ก ดาต้า (Big Data) การใช้จ่ายของผู้บริโภคที่แน่นอนว่าจะมีค่ามากในวันข้างหน้า

เหตุนี้กฎหมายแข่งขันทางการค้าที่กำลังแก้ไขอยู่ ถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะกำกับดูแลพฤติกรรมของบริษัทใหญ่ไม่ให้สร้างความเสียหายต่อการแข่งขันและเอาเปรียบผู้บริโภค เดือนเด่น กล่าวว่า เนื้อหาที่การปรับปรุงใหม่ถือว่าดีกว่าเดิม เช่น การกำหนดให้สำนักแข่งขันทางการเป็นองค์กรอิสระ ทำงานเต็มเวลา ไม่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธานคณะกรรมการเช่นที่ผ่านมา เพราะต้องการให้ปลอดการแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง การฟ้องร้องเปลี่ยนจากศาลยุติธรรมทั่วไปเป็นศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ เป็นต้น โดยในส่วนเนื้อหาที่เกี่ยวกับการแข่งขันทางการค้ายังคงเดิม ซึ่งเดือนเด่นกล่าวว่า ตัวเนื้อหาเดิมไม่มีปัญหา ยังสามารถปรับใช้กับสถานการณ์ปัจจุบันได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net