แรงงานนอกระบบ ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

ระบบเศรษฐกิจนอกภาคทางการ หรือ Informal Economy เป็นระบบเศรษฐกิจเก่าแก่ตั้งแต่มนุษย์รวมกันเป็นสังคม ประกอบด้วยผู้คนที่เลี้ยงปากท้องตนเองจำนวนมากถึง 2 ใน 3 ของโลก

มีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย ใช้เวลาอันสั้นรวมรวมมาเป็นสังเขปในประเด็นของ แรงงานนอกระบบ และปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมดังนี้ 

(1) ความเหลื่อมล้ำในการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ระหว่างเมืองกับชนบท ระหว่างภาคอุตสาหกรรมกับเกษตรกรรม ทำให้เกิดการกระจุกตัวของตำแหน่งงาน รายได้ และการสะสมทุน อยู่เฉพาะในเมืองและภาคอุตสาหกรรม

(2) เมืองที่กำลังเติบโต ผู้คนหลั่งไหลเข้าสู่เมืองจำนวนมาก แต่งานมีจำกัด ผู้คนจำนวนมากต้องเลี้ยงปากท้องของตนเอง ประเทศไทยไม่มีคนตกงาน เพราะตกงานไม่ได้ มีแต่อดตาย ต้องเป็นหาบเร่แผงลอยบ้าง มอเตอร์ไซค์รับจ้างบ้าง ขับแท็กซี่บ้าง เป็นรปภ. หรือแม่บ้านทำความสะอาด ที่ไม่มีสัญญาจ้างบ้าง รับเอางานมาทำที่บ้านบ้าง ฯลฯ ระบบเศรษฐกิจแบบนี้มีคนเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ระบบเศรษฐกิจแบบ DIY - Do It Yourself สร้างเอง ไม่ต้องง้อรอใคร

ในภาคเกษตรกรรม เกษตรกรก็เป็นประชากรแรงงานนอกระบบขนาดใหญ่ ที่ขยับขยายไปเป็นแรงงานภาคส่วนอื่นได้ยาก และมีทางเลือกในการเปลี่ยนแปลงสถานะสังคมไม่มาก

(3) ตลาดเสรี (Free Market) vs ตลาดนัด (Flea Market) - ตลาดเสรีเชื่อเรื่องการแข่งขันและไม่อยากให้รัฐแทรกแซงตลาด แต่นายทุนในตลาดเสรีนิยมทำธุรกิจผูกขาด และแนบเนียนไปกับรัฐในการทำให้ตลาดมีโครงสร้างเหมาะกับการกินรวบ ดังนั้น จึงอย่าได้แปลกใจ ที่ตลาดนัดหรือหาบเร่แผงลอยต่างๆ ในเมืองหลวง ซึ่งเป็นตลาดเสรีของแท้ จะถูกไล่รื้อและเบียดขับออกไป เพื่อเปลี่ยนแปลงทางเดินเท้า - เศษพื้นที่อันน้อยนิดที่เป็นผลของความเหลื่อมล้ำในการจัดการที่ดินและสาธารณสมบัติ) ให้โล่งเตียน เหมาะแก่การสัญจรอันรวดเร็ว ต้อนผู้บริโภคเข้าห้างสรรพสินค้า มหาวิหารของตลาดเสรีที่ผู้คนไม่กี่ตระกูลเป็นเจ้าของ และเสียภาษีในอัตราไม่ก้าวหน้านักเมื่อเทียบกับทั้งโลก

(4) มีผู้เข้าใจผิดว่า พวกคนจนที่ทำมาหากิน มักไม่สุจริตนัก มักทำมาหากินโดยผิดกฎหมาย เป็นต้นว่า กฎหมายทางเท้า กฎหมายลิขสิทธิ์ กฎหมายโน่นนี่ ที่เข้าใจผิดก็เพราะอาจจะไม่ทราบว่า บรรษัทหรือธุรกิจที่จดทะเบียนอย่างเป็นทางการนั้นทำมาหากินอย่างคอร์รัปชันรุนแรงเสียยิ่งกว่า และในขนาดและปริมาณมหาศาลกว่ามาก เพียงแต่รัฐที่ใกล้ชิดนับญาติกับทุนมากก็พร้อมจะยอมเป็นเครื่องมือจัดการกับคนจนในข้อหาผิดกฎหมายเสียยิ่งกว่าจะจัดการกับเศรษฐีที่ติดสินบาทคาดสินบนรัฐเพื่อประโยชน์ของบริษัทตน

(5) ผู้คนจำนวน 22. 6 ล้าน หรือ 2 ใน 3 ของประชากรแรงงานไทยทั้งหมด 31 ล้านคน เป็นแรงงานนอกระบบ ซึ่ง - รายได้เฉลี่ยน้อยกว่าแรงงานในระบบ 2.55 เท่า ต้องจ่ายเงินเข้าประกันสังคมมากกว่าแรงงานในระบบ ต้องมุ่งหน้าเข้าสู่สังคมสูงวัยโดยรายได้ไม่พอสำหรับออม

(6) การแก้ไขปัญหาแรงงานนอกระบบไม่ใช่ทำให้กลายเป็นแรงงานในระบบ หากเป็นการแก้ไขความเหลื่อมล้ำ ต้องจัดการกับโครงสร้างความเหลื่อมล้ำที่เบียดขับคนให้ไปสู่ความไม่มั่นคงทางรายได้ ไม่มีสวัสดิการจากการทำงาน และไม่มีความปลอดภัยในการประกอบอาชีพ และสังคมไทยอาจจะต้องให้เกียรติคนทำมาหากินมากกว่านี้ ไม่ว่าจะรวยหรือจน

0000

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท