Skip to main content
sharethis

แฟ้มภาพ เว็บไซต์ สภาพัฒนาการเมือง

17 พ.ย. 2559 ธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ ประธานสภาพัฒนาการเมือง(สพม.) แถลงรายงานผลการสำรวจความเห็นและการรับฟังความเห็นต่อการจัดทำ ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ 4 ฉบับ ประกอบด้วย ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. และ ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว.โดยสำรวจความเห็นในเดือนพฤศจิกายนจาก 3 ส่วน ประกอบด้วย1.กลุ่มตัวอย่างหรือโพลจำนวน 7,515 คน 2.คณะทำงานเครือข่ายภาคประชาสังคมระดับกลุ่มจังหวัด(คปก.) ในภาคต่าง ๆ จำนวน 1,150 คน 3.สนทนากลุ่มหรือโฟกัสกรุ๊ปจำนวน 12 คน ซึ่งมาจากพรรคการเมือง นักวิชาการ โดยจะนำข้อเสนอดังกล่าวส่งถึงกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต่อไป

ธีรภัทร์ กล่าวว่า ผลการสำรวจความเห็นประชาชนใน 10 ประเด็น โดยประเด็นสำคัญ ๆ อาทิ เรื่องการเซ็ตซีโร่กกต.ชุดปัจจุบัน และให้สรรหาใหม่ให้ครบตามจำนวนที่กำหนดในรัฐธรรมนูญใหม่ และควรกำหนดให้กระทรวงมหาดไทยมีส่วนร่วมบริหารจัดการการเลือกตั้งเพื่อสนับสนุนการทำงานและลดภาระของกกต. โดยพบว่าประชาชนร้อยละ 68.50 เห็นด้วยกับการให้กระทรวงมหาดไทยมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการเลือกตั้ง เพื่อเป็นการสนับสนุนงานทำงานและลดภาระของ กกต. และเห็นด้วยกับการเซตซีโร่กกต.71.8

“ส่วนคปก.เห็นด้วยกับการเซ็ตซีโร่ กกต.ชุดปัจจุบัน และให้สรรหาชุดใหม่ แต่ไม่เห็นด้วยกับการให้กระทรวงมหาดไทยร่วมจัดเลือกตั้ง ด้านโฟกัสกรุ๊ปพรรคการเมือง ไม่เห็นด้วยกับการเซ็ตซีโร่ กกต.แต่ควรปรับปรุงการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งยังไม่เห็นด้วยที่กระทรวงมหาดไทยจะมีส่วนร่วมจัดการเลือกตั้ง เพราะจะเกิดปัญหาทับซ้อนของอำนาจ” ธีรภัทร์ กล่าว

ธีรภัทร์ กล่าวว่า ส่วนประเด็นการเซ็ตซีโร่พรรคการเมืองในปัจจุบันให้สิ้นสภาพเมื่อประกาศใช้พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับพรรคการเมืองฉบับใหม่ พบว่าประชาชนร้อยละ 75.08 เห็นด้วยกับการเซ็ตซีโร่พรรคการเมืองเช่นเดียวกับคปก. แต่อีกกลุ่มตัวอย่างหนึ่งเห็นว่าปัญหาทางการเมืองไม่ได้มีสาเหตุจากพรรคการเมืองเพียงอย่างเดียว

“ปัญหาของพรรคการเมืองไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยการเซ็ตซีโร่เท่านั้น ทั้งยังส่งผลให้ระบบพรรคอ่อนแอส่วนความเห็นจากโฟกัสกรุ๊ปไม่เห็นด้วยกับการเซ็ตซีโร่พรรคการเมืองปัจจุบัน เพราะทำให้ถอยหลังกลับ แต่ควรพัฒนาพรรคการเมืองให้เป็นสถาบันทางการเมืองและเกิดเป็นพรรคของประชนชนอย่างแท้จริง” ธีรภัทร์ กล่าว

ประวิช ไม่กังวล ปมคุณสมบัติตาม รธน.ใหม่ กกต.ชุดปัจจุบันอาจต้องพ้นจากตำแหน่ง 

ประวิช รัตนเพียร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับคุณสมบัติของกกต.ตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่อาจทำให้ กกต.ชุดปัจจุบันต้องพ้นจากตำแหน่ง ว่า เรื่องนี้ไม่ใช่หน้าที่ของกกต.หรือกรรมการองค์กรอิสระที่จะให้ความเห็น เพราะผู้ที่มีหน้าที่ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญเป็นหน้าที่ของ กรธ. และสุดท้ายขึ้นอยู่กับสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) เป็นผู้พิจารณา

“ผมไม่ได้กังวลใจ ที่ผ่านมากกต.ได้สอนเรื่องพลเมืองดีวิถีประชาธิปไตย ซึ่งหมายถึงต้องเคารพกฎหมายและทำหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุด ดังนั้น จึงต้องทำตัวเป็นแบบอย่าง และไม่ว่ากฎหมายจะออกมาอย่างไร ทุกคนต้องปฏิบัติตาม ขอให้กรธ.ใช้ดุลยพินิจอย่างอิสระในการวินิฉัย ก่อนส่งร่างกฎหมายลูกให้สนช.พิจารณา” ประวิช กล่าว

สมชัย อัดเวทีรับฟังความเห็น ของ กรธ. เป็นเพียงพิธีกรรม

สมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงเวทีรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยกกต.และร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวุฒิสมาชิก(ส.ว.) ว่า การออกกฎหมายทั้งสองฉบับมีความสำคัญ แต่จากการร่วมประชุมเมื่อวานนี้(16 พ.ย.) ทำให้เห็นว่า กรธ.จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นเพียงพิธีกรรม ขาดความจริงใจที่จะให้ประชาชนรับรู้เนื้อหาสาระอย่างแท้จริง ไม่มีตัวแทนพรรคการเมืองเข้าร่วมแสดงความคิดเห็น ส่วนร่างกฎหมายที่นำมาเสวนาเป็นของเดิมที่กกต.เคยเสนอไปแล้ว ทั้งที่ร่างใหม่ที่ กรธ.ปรับแก้มีความเปลี่ยนแปลงจากเนื้อหาเดิม

“กรธ.ควรจัดเวทีแสดงความคิดเห็นแบบนี้อีกครั้งหลังได้ข้อสรุปแล้ว ไม่เช่นนั้นจะถือว่าเป็นการปลูกถ่ายพิธีกรรมทางการเมือง ไม่อยากให้กรธ.ทำตัวเป็นนักศึกษาที่ทำวิทยานิพนธ์ แต่ไม่ยอมพบอาจารย์ที่ปรึกษา และเมื่อใกล้กำหนดส่งวิทยานิพนธ์ก็จะบีบให้อาจารย์ที่ปรึกษาต้องอนุมัติจบ ไม่เช่นนั้นจะถึงว่าไม่ให้ความเป็นธรรมกับนักศึกษา กรธ.ต้องดำเนินการด้วยความโปร่งใส ตรงไปตรงมา เปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายแสดงความคิดเห็น” สมชัย กล่าว

สมชัย กล่าวถึงการกำหนดคุณสมบัติกรรมการองค์กรอิสระตามร่างรัฐธรรมนูญใหม่ว่า หากจะให้เกิดความเป็นธรรมต้องบังคับใช้กับทุกองค์กรอิสระ แต่ต้องคำนึงถึงผลกระทบอย่างรอบคอบ อย่าทำให้สังคมมองว่า ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดกำลังต้องการเปลี่ยนแปลงองค์กรอิสระ เปิดพื้นที่ให้คนของตัวเองมาทำหน้าที่ เป็นการยึดพื้นที่ทางการเมืองขององค์กรอิสระ โดยอ้างเรื่องคุณสมบัติ

“ผมไม่ได้พูดเพื่อประโยชน์ของตัวเอง มั่นใจว่ามีคุณสมบัติเกินกว่าที่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่กำหนด แต่ห่วงภาพรวมว่าจะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกับองค์กรอิสระอื่น ๆ” สมชัย กล่าว

 

ที่มา สำนักข่าวไทย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net