รายงาน: ชุมชนบ่อแก้วจากผู้สูญเสียที่ดินทำกิน สู่ความร่วมแรงบนคราบเหงื่อไคลของชีวิตชาวนา

เป็นปกติทุกปีที่สมาชิกชุมชนบ่อแก้ว ต.ทุ่งพระ อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ ร่วมลงแรงเกี่ยวข้าว บนผืนนาของสมาชิกชุมชน ผลผลิตจะแบ่งปันให้ชาวบ้านในชุมชนที่ไม่มีที่นาได้บริโภคก่อนจะนำออกขาย

กลิ่นหอมๆ ส่งกลิ่นกระจายฟุ้งไปทั่วท้องนา รวงข้าวสีทองสุกงอมชูยอดพลิ้วเอนไหวไปตามแรงแกว่ง ยามต้องลมหนาวที่กำลังโชยเข้ามาเตะต้องกายอย่างเย็นเฉียบในช่วงระหว่างเดือนพฤศจิกายน เป็นการส่งสัญญาณเข้าสู่ฤดูกาลของชาวนาในหลายพื้นที่ ให้ความสนใจกับการร่วมลงแรงเกี่ยวข้าว

วิชชุนัย ศิลาศรี ชาวบ้านทุ่งพระ อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ และเป็นสมาชิกชุมชนบ่อแก้ว ที่ได้รับผลกระทบเรื่องที่ดินทำกิน เล่าให้ฟังว่า เป็นปกติทุกปี และในวันนี้ (18 พ.ย.59) เป็นอีกวันเช่นกัน ที่สมาชิกชุมชนบ่อแก้ว จะมาร่วมกันเกี่ยวข้าว เพราะเดิมทีพวกเขาเคยมีที่ทำไร่ทำนาเป็นของตัวเอง แต่ภายหลังเมื่อปี 2521 องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (ออป.) เริ่มเข้ามาดำเนินการปลูกสร้างสวนป่าคอนสาร หรือสวนป่ายูคาลิปตัส ครอบคลุมพื้นที่ไปกว่า 4,400 ไร่ ทับที่ทำกินชาวบ้าน ทำให้หลายครอบครัวกลายเป็นคนไร้ที่ดินทำกิน ซึ่งพื้นที่ทำไร่ของตนเองได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน แต่ยังถือว่าโชคดีที่ยังเหลือผืนนา อยู่ประมาณ 9 ไร่

เสียงเคียวเกี่ยวข้าว สลับกับเสียงพูดคุย ปนเสียงหัวเราะ ดังขึ้นเป็นระยะๆ ใครเหนื่อยก็นั่งพักตามร่มไม้ปลายนา หายเหนื่อยก็กลับมาควงเคียวเกี่ยวกันต่อ แสงแดดอ่อนๆ ที่ละเลงยามเช้า กระทั่งช่วงบ่ายจะเริ่มแรงขึ้น แม้ความเหนื่อยล้าบนคราบเหงื่อไคลที่ถูกแสงแดดแตะต้องกายจะทำให้ดูอบอ้าวไปทั่วเรือนร่าง แต่ความรู้สึกข้างในของพวกเขาดูช่างอบอุ่นบนความอิ่มเอิบใจของลูกชาวนา

วิชชุนัย บอกอีกว่า “สมาชิกชุมชนบ่อแก้วส่วนใหญ่ไม่มีที่ดินในการทำนาข้าว บางรายพอมีที่ดินเหลือ อย่างเช่นที่นาของตนเอง สมาชิกชุมชนบ่อแก้วก็จะมาร่วมลงแรงตั้งแต่ ไถนา หว่านเมล็ด ดำนา ตลอดจนถึงฤดูกาลเก็บเกี่ยว เพราะผืนนาข้าวนี้ถือว่าเป็นที่นาของสมาชิกชุมชน พวกเรามาช่วยกันโดยไม่ได้หวังเงินค่าจ้าง แต่ตอบแทนด้วยการแบ่งให้คนที่มาช่วยกันนำข้าวไปหล่อเลี้ยงชีวิตครอบครัว อีกทั้งเราไม่ได้หวังผลจากการขายข้าว แต่หากเหลือพอที่จะขาย ก็จะขายให้แก่เฉพาะในพื้นที่นั้น ถือเป็นการช่วยเหลือกัน”

คราบหยาดเหงื่อไคลที่เกาะตามใบหน้าจรดจนปลายคางก่อนจะย้อยร่วงหยดรดผืนดิน กว่าจะเป็นข้าวแต่ละเม็ด คือความยากแค้นแสนสาหัส เป็นฉากหลังอันขมขื่นที่ชาวนาคนจนๆ ล้วนได้รับการกระทำมาอย่างต่อเนื่อง ดังเช่นชาวนาอย่างวิชชุนัย เผยออกมาว่า

“จากราคาข้าวปีที่แล้วจะอยู่ในราคากิโลกรัมละ 14 – 15 บาท พอมาช่วงปีนี้ท่ามกลางวิกฤตการณ์ราคาข้าวที่ได้ข่าวมาอย่างต่อเนื่องว่า พี่น้องชาวนากำลังได้รับความทุกข์เดือดร้อนแสนสาหัสด้วยราคาตกต่ำอย่างน่าใจหาย ส่งผลให้ชาวนาหลายชีวิตต้องพยายามดิ้นรนช่วยเหลือตนเอง เท่าที่รับทราบในหมู่สมาชิกว่า จะนำข้าวออกขายกันเองโดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง อย่างไรก็ตามวิชชุนัยย้ำเสมอว่า ผลผลิตจากข้าวจะแบ่งปันให้ชาวบ้านในชุมชนที่ไม่มีที่นาที่ได้มาช่วยกันลงแขกเกี่ยวข้าวก่อน ส่วนที่เหลือจะนำเก็บไว้บริโภคกันเองภายในครัวเรือนเพราะกลัวไม่มีข้าวพอกิน และหากจะขาย จะนำออกขายช่วงเดือนกันยายน ของช่วงเริ่มฤดูกาลทำนาในปีถัดไป เพราะจะดูด้วยว่าข้าวที่เหลือมีเพียงพอที่จะขายมากน้อยเท่าไร และราคาข้าวอยู่ในระดับใด”

นอกจากประโยชน์และคุณค่ามากมายมหาศาล จากแรงมาเป็นรวงจนเป็นเมล็ดข้าว อาหารหลักที่หล่อเลี้ยงชีวิตทุกคนให้เติบวัยมาถึงทุกวันนี้ ขณะเดียวกันสิ่งที่เห็นเหล่านี้คือผืนนาจากหนึ่งในสมาชิกของชุมชนบ่อแก้วที่ได้รับผลกระทบในสิทธิที่ดินทำกิน ได้มาร่วมแรงทำนาและปันน้ำใจให้กันด้วยการแลกข้าว เหล่านี้คือความร่วมมือร่วมใจกันของชุมชนบ่อแก้ว ที่ไม่เคยยอมจำนนต่อความไม่เป็นธรรม และเป็นเส้นชีวิตทางเดียวที่เลือกให้พวกเขาต้องต่อสู้เพื่อความอยู่รอด

ทว่า ใครจะรู้ลึกถึงจิตวิญญาณชาวนาบ้างว่า หากไม่มีชาวนา หรือหากราคาข้าวอาจตกต่ำลงมากกว่านี้ หรือว่าหากอาชีพการทำนาต้องสูญสิ้นไปด้วยเหตุใดก็ตาม ก็ไม่รู้ว่าจะมีข้าวกินหรือไม่ และหากที่ดินทำกินชาวนาถูกยึดไปมากกว่านี้ แล้วอนาคตข้างหน้า ใครจะรับผิดชอบต่อชีวิตและครอบครัวของพวกเขา


 

ข้อมูลเพิ่มเติม ชุมชนบ่อแก้ว ต.ทุ่งพระ อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ

จากกรณีศึกษากระบวนการต่อสู้เพื่อที่ดินของชุมชนบ่อแก้ว เป็นการปรากฏตัวของผู้ประสบปัญหาการสูญเสียที่ดินทำกิน ภายหลังจากเมื่อปี 2521 องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) ยึดที่ดินทำกินของชาวบ้านไปปลูกยูคาลิปตัส บนเนื้อที่กว่า 4,400 ไร่ ส่งผลให้หลายครอบครัวต้องถูกอพยพจากที่ดินทำกิน บางครอบครัวแตกสลาย กลายเป็นแรงงานรับจ้าง เพราะไม่มีที่ดินทำกิน

ต่อมาปี 2547 ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบความเดือดร้อนที่ดินทำกินใน 5 ตำบล ของอำเภอคอนสาร คือ ต.ทุ่งลุยลาย ,ต.ทุ่งพระ ,ต,ดงกลาง ,ต.ทุ่งนาเลา และ ต.ห้วยยาง ร่วมกันจัดตั้ง “เครือข่ายองค์กรชาวบ้านอนุรักษ์ลุ่มน้ำเซิน (สมาชิกเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน คปอ.)” เพื่อเรียกร้องสิทธิที่ดินทำกินพร้อมกับผลักดันให้เกิดกระบวนการแก้ไขปัญหาในระดับนโยบาย
ช่วงปี พ.ศ. 2548 – 2552 พวกเขาผลักดันให้เกิดกลไกการตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยมีกลไกรัฐร่วมกับฝ่ายประชาชน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และหน่วยงานระดับท้องถิ่น ผลปรากฏว่า ทุกกลไกดังกล่าวข้างต้น มีความเห็นตรงกันว่า “สวนป่าคอนสารปลูกสร้างทับที่ดินทำกินของประชาชน ให้ยกเลิกสวนป่าแล้วนำที่ดินมาจัดสรรแก่ผู้เดือดร้อนต่อไป” อย่างไรก็ตาม มติดังกล่าวไม่ได้รับการปฏิบัติจาก อ.อ.ป. แต่อย่างใด
 

สู่การทวงคืน และพลิกฟื้นผืนแผ่นดิน
ภายหลังจากการดำเนินการแก้ไขปัญหาของหน่วยงานภาครัฐเป็นไปอย่างล่าช้า ปฏิบัติการเข้ายึดพื้นที่ในวันที่ 17 กรกฎาคม 2552 ชาวบ้านผู้เดือดร้อนกว่า 200 คน จึงได้เข้ายึดพื้นที่พร้อมกับปักหลักในพื้นที่พิพาท และจัดตั้ง “ชุมชนบ่อแก้ว” ขึ้นมาเพื่อแสดงสัญลักษณ์ความเป็นเจ้าของพื้นที่ เพื่อรอคำตอบในการแก้ไขปัญหาสวนป่าคอนสารจากรัฐบาล โดยชาวบ้านมีข้อเรียกร้องทั้งสิ้น 4 ข้อ คือ ให้ยกเลิกสวนป่าคอนสารโดยเด็ดขาด ให้จัดสรรที่ดินให้ชาวบ้านผู้เดือดร้อนในรูปแบบโฉนดชุมชน ในระหว่างการแก้ไขปัญหาให้ชาวบ้านสามารถทำประโยชน์ในพื้นที่ เพื่อเตรียมการพัฒนาพื้นที่นำร่องโฉนดชุมชน จำนวนเนื้อที่ 1,500 ไร่

สู่ยุคทวงคืนผืนป่า ในสมัย คสช.
อย่างไรก็ตาม ปัญหาอุปสรรคสำคัญได้ส่งผลกระทบต่อชาวบ้านชุมชนบ่อแก้วอีกครั้งในช่วงหลังรัฐประหาร โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ คสช. กล่าวคือ เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2557 มีการปิดประกาศของจังหวัดชัยภูมิ เรื่อง การป้องกันและปราบปรามการลักลอบตัดไม้และบุกรุกพื้นที่ป่าจังหวัดชัยภูมิ ตามคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 64/2557 ลงวันที่ 14 มิถุนายน 2557

ต่อมา ชาวบ้านเดินทางไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ เพื่อเข้ายื่นหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงต่อผู้มีอำนาจที่เกี่ยวข้อง อาทิ ผู้อำนวยการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัดชัยภูมิ (ผบ.กกล.รส.จว.ชย) สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ องค์การสหประชาชาติ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเนื้อหาระบุว่า ขอให้ทบทวนพิจารณายกเลิกประกาศจังหวัดชัยภูมิ ในคำสั่งที่จะขับไล่ชาวบ้านออกจากพื้นที่ โดยหนังสือที่ยื่นมีข้อเรียกร้อง ดังนี้

1.ให้ยกเลิกประกาศจังหวัดชัยภูมิ เรื่อง การป้องกันและปราบปรามการลักลอบตัดไม้และบุกรุกพื้นที่ป่าจังหวัดชัยภูมิ

2.ให้พิจารณามาตรการและแนวทางการคุ้มครองสิทธิในที่ดินและทรัพย์สินของชาวบ้านที่เดือดร้อน เพื่อให้เกิดความปกติสุขในการดำเนินชีวิต จนกว่าจะมีกระบวนการในการแก้ไขปัญหาในทางนโยบายต่อไป

3. ให้พิจารณาแผนการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนโดยชุมชน
และในวันที่ 7 ตุลาคม 2557 ได้มีการประชุมหารือเพื่อแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) ณ ห้องประชุมอรรถไกวัลวที ชั้น 1 อาคารสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล มติที่ประชุม : มอบหมายให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีมีหนังสือประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาแก้ไขปัญหา เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของราษฎรโดยขอให้มีการชะลอการดำเนินการใดๆ ที่อาจเป็นมูลเหตุให้เกิดความขัดแย้งจนกว่ากระบวนการพิจารณาแก้ไขปัญหาจะมีผลเป็นที่ยุติต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท