Skip to main content
sharethis

18 พ.ย. 2559 ตั้งแต่ช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมาบรรษัทยักษ์ใหญ่แห่งโลกไซเบอร์อย่างเฟซบุ๊กและกูเกิลถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในเรื่องที่ข่าวปลอมและเว็บไซต์ข่าวเทียมต่างๆ อาจจะมีส่วนในการส่งอิทธิพลต่อผลลัพธ์การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ครั้งล่าสุด ทำให้ทางเฟซบุ๊กและกูเกิลประกาศเมื่อช่วงต้นสัปดาห์ว่าพวกเขาจะมีมาตรการบางอย่างกับเว็บไซต์ที่เผยแพร่ข่าวลวง

กูเกิลประกาศเมื่อบ่ายวันที่ 14 พ.ย. ที่ผ่านมาว่าพวกเขาจะสั่งแบนไม่ให้เว็บไซต์เผยแพร่ข่าวลวงใช้พื้นที่โฆษณาของพวกเขาได้ ทางด้านเฟซบุ๊กก็ประกาศว่าจะมีการปรับเปลี่ยนนโยบายของ "เครือข่ายกลุ่มเป้าหมายเฟซบุ๊ก" (Facebook Audience Network) ที่เป็นระบบวิเคราะห์พฤติกรรมผู้ใช้เฟซบุ๊กโดยระบุว่าจะไม่ให้มีการโฆษณาเว็บไซต์ข่าวปลอมหรือเว็บที่มีเนื้อหาชวนให้ไขว้เขวหรือเป็นไปในทางผิดกฎหมาย โดยโฆษกของเฟซบุ๊กกล่าวอีกว่าทีมงานของพวกเขาจะจับตาผู้เผยแพร่ข่าวสารทั้งหมดทั้งที่มีอยู่เดิมและในอนาคตเพื่อให้แน่ใจว่าจะปฏิบัติตาม

นิวยอร์กไทม์ระบุว่า การตัดสินใจของสองบรรษัทไอทียักษ์ใหญ่ในครั้งนี้ส่งสัญญาณให้เห็นว่าพวกเขาไม่สามารถละเลยการเรียกร้องของผู้คนให้เล็งเห็นถึงอำนาจความรับผิดชอบของข้อมูลข่าวสารที่มีต่อการเลือกตั้งสหรัฐฯ โดยส่วนที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากคือเฟซบุ๊กที่มีคนมองว่าทำให้เกิดความนิยมในตัวโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้ที่เพิ่งชนะการเลือกตั้งครั้งล่าสุดในสหรัฐฯ จากการแพร่กระจายข้อมูลที่ชวนให้ไขว้เขวหรือแม้กระทั่งไม่เป็นความจริงอย่างรวดเร็ว เช่น ข่าวลวงที่อ้างว่าพระสันตะปาปาฟรานซิสสนับสนุนทรัมป์

ทางด้านระบบโฆษณาของกูเกิลที่เรียกว่าแอดเซนส์นั้นผู้จัดทำเว็บอิสระใช้เผยแพร่โฆษณาบนเว็บของพวกเขาและสร้างรายได้ผ่านการคลิกชมโฆษณา โดยที่กูเกิลจะจ่ายส่วนแบ่งค่าโฆษณาส่วนหนึ่งที่ได้รับจากผู้ลงโฆษณาให้กับเจ้าของเว็บไซต์ มีผู้เผยแพร่เว็บไซต์มากกว่า 2 ล้านรายที่ใช้เครือข่ายโฆษณาแอดเซนส์

เดิมทีกูเกิลมีนโยบายนำโฆษณาที่ชวนให้ไขว้เขวออกจากระบบของตนอยู่แล้วอย่างเช่นพวกของเก๊หรือเว็บหลอกลดน้ำหนัก แต่นโยบายใหม่ของกูเกิลจะขยายรวมถึงการสั่งห้ามเนื้อหาที่นำเสนอเนื้อหาข้อมูลเท็จในโฆษณาตามเว็บไซต์ต่างๆ ด้วย พวกเขาจะพิจารณาโดยอาศัยทั้งระบบอัตโนมัติและใช้บุคคลคอยดูว่าเป็นเนื้อหาจริงหรือเท็จ เว้นแต่เว็บไซต์ที่จงใจนำเสนอเรื่องราวข่าวปลอมในแบบเสียดสีประชดประชัน (satire) เช่น The Onion จะไม่ถูกมองว่าเป็นเนื้อหาเทียม

ทั้งนี้ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ยังกล่าวในที่ประชุมแถลงข่าวขณะเยือนเยอรมนีว่าข่าวปลอมในเฟซบุ๊กและพื้นที่สื่ออื่นๆ เป็นสิ่งที่ทำลายกระบวนการทางการเมืองของสหรัฐฯ "ถ้าพวกเราไม่ใส่ใจว่าอะไรคือความจริงอะไรคือสิ่งที่ไม่จริง ถ้าพวกเราแยกแยะไม่ได้ระหว่างการถกเถียงที่จริงจังกับโฆษณาชวนเชื่อ เราก็มีปัญหาแล้ว"

เดอะ การ์เดียนระบุว่าในเฟซบุ๊กมีกลุ่มคนหรือบุคคลที่ทำตัวเป็นสื่อที่ดูน่าสงสัยมีทั้งพวกสร้างทฤษฎีสมคบคิดต่างๆ นานาและการบิดเบือนข้อมูลสาดโคลนใส่ฝ่ายตรงข้ามเช่นเว็บข่าวที่อ้างว่าฮิลลารี คลินตัน ผู้สมัครเลือกตั้งคู่แข่งโดนัลด์ ทรัมป์ ก่อเหตุฆาตกรรมซึ่งเป็นข่าวปลอมหลอกล่อให้คนคลิกอ่าน

 

เรียบเรียงจาก

Google and Facebook Take Aim at Fake News Sites, New York Times, 14-11-2016

http://www.nytimes.com/2016/11/15/technology/google-will-ban-websites-that-host-fake-news-from-using-its-ad-service.html?_r=0

Barack Obama on fake news: 'We have problems' if we can't tell the difference, The Guardian, 18-11-2016

https://www.theguardian.com/media/2016/nov/17/barack-obama-fake-news-facebook-social-media

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net