Skip to main content
sharethis

ตอนหนึ่งในการประชุมนานาชาติว่าด้วยเรื่องการลักลอบค้าสัตว์ป่า ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 17-18 พ.ย. ที่ผ่านมา ที่กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม Colman O’Criodain ผู้จัดการฝ่ายนโยบายต่อต้านการค้าสัตว์ป่า องค์กรกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) อ่านแถลงการณ์ของ WWF โดยระบุว่า นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์ เนื่องจากหลายประเทศที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็น สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และประเทศเยอรมนี ต่างให้คำยืนยันที่จะเพิ่มเงินทุนสนับสนุนการทำงานขององค์กรนานาชาติเพื่อต่อต้านอาชญากรรมด้านสัตว์ป่า (International Consortium on Combating Wildlife Crime: ICCWC) และองค์การตำรวจอาชญากรรมระหว่างประเทศ (Interpol) รวมไปถึงประเทศเวียดนามเอง ซึ่งเป็นที่ตั้งของตลาดค้าสัตว์ป่าขนาดใหญ่ ก็ได้ให้คำมั่นที่จะขยายการทำงานไปให้ครอบคลุมถึงการติดตามเส้นทางการลักลอบค้าสัตว์ป่าอย่างผิดกฎหมาย อย่างไรก็ตาม ยังเป็นที่น่าผิดหวังที่หลายประเทศยังขาดความกระตือรือร้นในการสานต่อภารกิจ เพื่อหยุดยั้งการลักลอบค้าสัตว์ป่าอย่างผิดกฎหมาย

เขากล่าวต่อว่า ความตั้งใจของประเทศเวียดนามในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม นับเป็นเรื่องที่น่าชื่นชมเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นการเน้นย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของการแก้ไขปัญหาการลักลอบค้าสัตว์ป่าในอนุภาคลุ่มน้ำโขง ที่มีการลักลอบค้าสัตว์ป่าซึ่งส่งผลกระทบต่อสัตว์ป่าหลายสายพันธุ์ อาทิ แรด ช้าง และตัวนิ่มจากแอฟริกา ทว่า ในอีกด้านหนึ่งประเทศเวียดนามถือเป็นศูนย์กลางตลาดการลักลอบซื้อขายสัตว์ป่าขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก เราจึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ประเทศเวียดนามจะดำเนินมาตรการเพื่อหยุดยั้งการค้าสัตว์ป่าอย่างจริงจังและมีแผนการการทำงานอย่างเป็นรูปธรรม 

คำปฏิญาณที่ประเทศผู้เข้าร่วมให้การรับรองร่วมกัน คือ การเร่งตรวจสอบตลาดค้าสัตว์ป่าภายในประเทศและจุดลักลอบค้าสัตว์ป่า รวมถึงเพิ่มบทลงโทษทางกฎหมายที่รุนแรงมากขึ้นและประสานความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อหยุดยั้งการลักลอบค้าสัตว์ป่าข้ามพรมแดน โดยเน้นเรื่องการปฏิรูปกฎหมายและการปิดฟาร์มเสือ ที่จำเป็นต้องมีการหารือร่วมกันในรายละเอียดให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น

"เราหวังว่าประเทศที่เข้าร่วมการประชุมจะยึดมั่นในคำสัญญาเพื่อยุติวงจรการลักลอบค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย ซึ่งครอบคลุมถึงตลาดค้าส่งสัตว์ป่า และร้านอาหารหรือร้านขายผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับสัตว์ป่า โดยสินค้าที่นิยมซื้อขายกัน อาทิ งาช้าง หนังเสือ นอแรด เกล็ดตัวนิ่ม และสัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์อีกเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องน่าเสียดายเป็นอย่างยิ่งว่า หลายประเทศในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงไม่ได้ใช้โอกาสนี้ แถลงมาตรการหรือแผนการกดดันด้านเวลาเพื่อปิดตลาดค้างาช้าและฟาร์มเสือในประเทศของตน" เขาระบุ

ด้าน Thinh Van Ngoc ผู้อำนวยการ WWF สำนักงานประเทศเวียดนาม แถลงว่า การประชุมนานาชาติว่าด้วยเรื่องการลักลอบค้าสัตว์ป่า ณ กรุงฮานอย ถือเป็นโอกาสครั้งสำคัญที่ทุกประเทศจะหันมาให้ความสนใจกับประเด็นการลักลอบซื้อขายสัตว์ป่าผิดกฎหมายอย่างจริงจังมากขึ้น เรารู้สึกชื่นชมในความพยายามของรัฐบาลเวียดนามที่ได้จัดการประชุมครั้งนี้ขึ้น แต่สิ่งที่เรามุ่งหวังมากไปกว่านั้นคือ คำมั่นสัญญาที่ชัดเจนจากผู้บริหารระดับสูงของภาครัฐ รายละเอียดของแผนการดำเนินงาน และกรอบระยะเวลาในการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม

เขาชี้ว่า หากเราไม่เริ่มต้นตอนนี้ สัตว์ป่าหลายชนิดจะตกอยู่ในสภาวะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ในไม่ช้า ทั้งนี้ การสูญเสียของแรดชวา ไปจากป่าของเวียดนาม นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 นับเป็นสัญญาณเตือนที่สำคัญให้เราต้องช่วยกันดำเนินการอย่างจริงจัง เพื่อหาหนทางหยุดยั้งการสูญพันธุ์ของสัตว์ป่าชนิดอื่นๆ อาทิ ช้าง เสือ และตัวลิ่ม ไม่ให้ประสบชะตากรรมเช่นเดียวกัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net