Skip to main content
sharethis

ที่มาเว็บ ธปท.

22 พ.ย. 2559 หลังจาก เมื่อวันที่ 10 พ.ย. ที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงผลการดำเนินงานธนาคารพาณิชย์ของไทยในไตรมาส 3 ของปี 2559 ระบุว่า คุณภาพสินเชื่อด้อยลงอย่างต่อเนื่องทั้งในสินเชื่อธรุกิจ โดยเฉพาะสินเชื่อ SME และสินเชื่ออุปโภคบริโภค สัดส่วน NPL หรือ หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ต่อสินเชื่อรวมเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 2.89 จากไตรมาสก่อนที่ร้อยละ 2.72 ขณะที่สินเชื่อบัตรเครดิตมีการปรับตัวขึ้น ตัว NPL จาก 4.25 เป็น 5.10 ถ้าไปดูตั้งแต่เรามีข้อมูลก็เป็นระดับตัว NPL ของสินเชื่อบัตรเครดิตที่สูงที่สุดตั้งแต่มีข้อมูลมาประมาณ 10 กว่าปีนั้น (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม)

วานนี้ (21 พ.ย.59) เว็บไซต์ฐานเศรษฐกิจ รายงานว่า ปิยะ พงษ์อัชฌา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน) หรือ JMT เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ปีหน้ามีแนวโน้มที่ธนาคารพาณิชย์และผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน(นอนแบงก์)จะประกาศขายหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ประมาณ 1แสนล้านบาท ซึ่งเป็นผลพวงจากภาวะเศรษฐกิจทำให้สินเชื่อทั้งในส่วนที่นอนแบงก์และสถาบันการเงินรุกทำตลาดโดยมีการเติบโตในอัตรา 30% ก่อนหน้ากลายเป็นเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว

สำหรับสิ้นปีนี้มีเอ็นพีแอลออกเสนอขายจำนวน 6 หมื่นล้านบาท โดยเจเอ็มทีซื้อเข้ามาแล้ว 1 หมื่นล้านบาทที่เหลือเดือนพ.ย.-ธ.ค. จะซื้ออีก 1 หมื่นล้านบาทซึ่งเป็นไปตามเป้า 2 หมื่นล้านบาทใช้งบลงทุน 1,200 ล้านบาทโดยสิ้นปีพอร์ตรวมจะอยู่ที่ 1.1 แสนล้านบาท ขณะเดียวกันกำลังเจรจากับ 5 สถาบันการเงินคาดว่าจะไปตกลงกันในปีหน้า ซึ่งตั้งเป้าซื้อทั้งปี 3 หมื่นล้านบาท ใช้งบลงทุนประมาณ 1,500 ล้านบาทปัจจุบันเจเอ็มทีมีส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่ในสัดส่วน 90%

“ปีนี้หนี้ค้างชำระ 12 งวดสถาบันการเงินเจ้าหนี้จะบันทึกค่าใช้จ่ายทางบัญชีแล้วขายออกเลยซึ่งกระชับขึ้น เมื่อก่อนหลังตัดหนี้แล้วเจ้าหนี้จะติดตามทวงถามระยะหนึ่งก่อนจะนำออกขาย แต่เป็นผลบวกกับเราโดยยังสามารถรักษาผลตอบแทนจากการลงทุนที่ 12% ที่สำคัญหลังกฎหมายทวงถามหนี้มีผลบังคับใช้ทำให้สถาบันการเงินเจ้าหนี้ต้องการมืออาชีพ” ปิยะ ระบุ

บัตรเครดิตใหม่ยอดร่วง

วันนี้ (22 พ.ย. 59) เว็บไซต์ฐานเศรษฐกิจ  ยังรายงานสถาการณ์ธุรกิจบัตรเครดิตกับการจัดการหนี้เสียด้วย โดย พิทยา วรปัญญาสกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธุรกิจบัตรเครดิต บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน)(เคทีซี) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ภาพรวมหนี้จัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษ (SM) หรือผิดนัดชำระตั้งแต่ 31-90 วัน ของบริษัทในช่วง 9 เดือนแรกปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยอยู่ที่ 1.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 1.3% ส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ปรับเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนจาก 2.0% มาอยู่ที่ 2.1%

ทั้งนี้ภาพรวมหนี้กล่าวถึงเป็นพิเศษและเอ็นพีแอลยังอยู่ในวิสัยที่ควบคุมได้ แต่จากแนวโน้มเศรษฐกิจโดยรวมที่ยังฟื้นตัวไม่ดีนัก บริษัทจึงยังต้องเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด โดยในส่วนของลูกค้าเก่าจะดูแลการชำระหนี้ ส่วนลูกค้าใหม่จะดูในเรื่องของการใช้จ่ายผ่านบัตร (Spending) อย่างไรก็ตามบริษัทไม่มีการปรับเพิ่มหลักเกณฑ์การอนุมัติสินเชื่อแต่อย่างใด แต่ด้วยคุณภาพของลูกค้าที่ไม่ผ่านหลักเกณฑ์การอนุมัติ ส่งผลให้ยอดการอนุมัติบัตรใหม่ตกลงเหลืออยู่ที่ 44-45% จากปีก่อนอยู่ที่ 49-50% เนื่องจากลูกค้ามีภาระหนี้ต่อรายได้ที่สูงกว่าเกณฑ์และไม่ผ่านเครดิตบูโร

วรรณวิมล กนกธนาพร กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท บัตรกรุงศรีอยุธยา จำกัด เปิดเผยว่า ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมาบริษัทได้ให้พนักงานติดตามทวงถามหนี้(Collection) หยุดติดตามหนี้หรือส่งข้อความเตือนลูกค้า เนื่องจากไม่ได้อยู่ในบรรยากาศที่ควรเรียกเก็บเงิน อาจมีผลให้การชำระหนี้คืนล่าช้าไปบ้าง แต่ไม่ได้ส่งผลต่อตัวเลขหนี้จัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษและภาพรวมเอ็นพีแอลปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งหลังจากกลางเดือนนี้บริษัทได้เริ่มให้พนักงานกลับมาติดตามหนี้เป็นปกติแล้ว คาดว่าตัวเลขเอ็นพีแอลทั้งปีน่าจะอยู่ที่ระดับ 1.8-1.9%
 
ขณะที่ยอดการอนุมัติปรับตัวลดลงจากระดับ 40-45% ในปีก่อนเหลือประมาณ 40% เป็นผลมาจากบริษัทเพิ่มความเข้มงวดตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา จึงทำให้สัดส่วนการอนุมัติบัตรปรับลดลง ส่วนใหญ่ที่ไม่ผ่านจะเป็นเรื่องของภาระหนี้ต่อรายได้ที่เกินกำหนดที่ 40% โดยปีนี้บริษัทตั้งเป้าเพิ่มบัตรใหม่อยู่ที่ 2 แสนใบ คาดว่าภายในสิ้นปีน่าจะสามารถทำได้เป้าหมาย จากปัจจุบันมีฐานลูกค้าบัตรกรุงศรีอยุธยาอยู่ที่ 1.9-2 ล้านใบ
 

ชาวนาค้านรัฐขายหนี้เสียให้เอกชนหวั่นถูกเร่งรัดทวงหนี้สินค้างจ่าย

ขณะที่ โพสต์ทูเดย์ รายงานวันนี้(22 พ.ย.59) ว่า บำรุง คำอยู่ แกนนำเครือข่ายหนี้สินชาวนาแห่งประเทศไทย (คนท.) เปิดเผยว่า ได้ตัวแทนเครือข่ายชาวนาฯ จำนวน 13 คน เข้ายื่นหนังสือถึงนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายเศรษฐกิจ ผ่านศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เห็นด้วยกับแนวทางการปฏิรูปโครงสร้างภาคเกษตรกรรมของประเทศไทย แต่ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดที่จะขายหนี้เสียให้แก่ผู้ต้องการนำไปเพื่อบริหารจัดการหนี้เสีย แบบบรรษัท บริหารสินทรัพย์ไทย (บสท.) เพราะผู้ซื้อหนี้เสียไปจะเร่งรัดทวงถามหนี้ค้างจ่าย

บำรุง กล่าวอีกว่า ปัจจุบัน คนท.มีสมาชิกมากกว่า 8 แสนคน มีการเรียกร้องเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินของชาวนามานานถึง 13 ปีแล้ว ยังไม่ประสบผลสำเร็จทั้งหมด โดยทุกวันนี้ชาวนาเป็นลูกหนี้ ยังไม่มีหนทางใช้คืนเงินต้น ของวงเงินกู้ และยังต้องจ่ายดอกเบี้ยให้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และสถาบันการเงิน รวมถึงแหล่งเงินกู้นอกระบบอยู่ ขณะเดียวกันยังประสบปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วม รวมถึงต้นทุนการผลิตสูง ค่าครองชีพสูง และราคาขายพืชผลทางการเกษตรตกต่ำเนื่องจากถูกนายทุนกดราคารับซื้อ

ทีมเศรษฐกิจรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่มี สมคิด รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายเศรษฐกิจ ได้เสนอแนวคิดในการแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกร ด้วยการปฏิรูปโครงสร้างภาคเกษตรกรรมของประเทศไทย โดยให้รัฐบาลใช้มาตรา 44 ประกาศตัดหนี้สะสมของเกษตรกรไทยทั้งประเทศ โดยแยกออกเป็นหนี้สินดีและหนี้สินเสีย ซึ่งหนี้สินดีให้จัดตั้งเป็นกองทุนฟื้นฟูเกษตรกร ขณะที่ในส่วนหนี้สินเสียนั้นทางทีมเศรษฐกิจได้เสนอให้ดำเนินการบริหารจัดการหนี้เสียแบบ บสท.เพื่อขายหนี้สินให้แก่ผู้ต้องการซื้อ ซึ่งตรงจุดนี้ทางเครือข่ายชาวนาฯ ไม่เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งเพราะเท่ากับว่าจะเปิดช่องให้มีการเร่งรัดทวงถามหนี้จากบริษัทเอกชนที่ซื้อหนี้สินไปยิ่งจะเติมทุกข์ให้กับชาวนาทั่วประเทศ ดังนั้นทางเครือข่ายหนี้ชาวนาฯ เสนอให้รัฐบาลยกหนี้สินทั้งหมดเป็นศูนย์แทน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net