Skip to main content
sharethis
 
ก.แรงงานลงพื้นที่โคราช สร้างอาชีพให้คนพิการและทหาร
 
ปลัดกระทรวงแรงงาน ลงพื้นที่นครราชสีมา ลงนามความร่วมมือ โครงการพลังประชารัฐสร้างโอกาสคนพิการและผู้สูงอายุ มีงานทำ มีอาชีพ พร้อมนโยบายการปฏิบัติงานการจัดหางานให้กับกลุ่มคนพิการและผู้สูงอายุแก่เจ้าหน้าที่สำนักงานจัดหางานจังหวัด 20 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
 
หม่อมหลวงปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน มีกำหนดการลงพื้นที่ จังหวัดนครราชสีมา ในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2559 เวลา 10.00 น. ณ อาคารสุรสัมมนาคาร มหาวิทยาลัยสุรนารี เพื่อร่วมลงนามความร่วมมือโครงการพลังประชารัฐสร้างโอกาสคนพิการและผู้สูงอายุ มีงานทำ มีอาชีพ กับ พลโท วิชัย แชจอหอ แม่ทัพภาคที่ 2 นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา และศ.ดร.ประสาท สืบค้า อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เพื่อให้กลุ่มคนพิการ ทหารที่ปลดประจำการจากความพิการในการสู้รบ และครอบครัวทหารที่มีความพิการ ผู้สูงอายุ เข้าถึงข้อมูลข่าวสาร มีโอกาสการได้งานทำ และการประกอบอาชีพอย่างทั่วถึง โดยความร่วมมือในครั้งนี้จะทำให้คนพิการและผู้สูงอายุ ทหารที่ปลดประจำการจากความพิการในการสู้รบ และครอบครัวทหารที่มีความพิการได้รับการจ้างงานและส่งเสริมอาชีพเกิดการถ่ายนวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านการเกษตรให้คนพิการและผู้สูงอายุได้นำไปใช้ในการประกอบอาชีพ รวมถึงการได้รับมอบอุปกรณ์และวัสดุในการประกอบอาชีพอีกด้วย
 
กระทรวงแรงงาน หวังว่าจะทำให้มีการจ้างงานและการประกอบอาชีพในภาคตะวันออกเฉียงเหนือในปี 2560 รวม 2,773คน เป็นคนพิการ 2,099 คน ผู้สูงอายุ 400 คน ทหารที่ปลดประจำการจากความพิการในการสู้รบ และครอบครัวทหารที่มีความพิการ 274 คน พร้อมสร้างมูลค่าจากรายได้เฉลี่ยรวม 300 ล้านบาทต่อปี รวมถึงขับเคลื่อนพัฒนาเศรษฐกิจของภาคตะวันออกเฉียงเหนือให้เติบโตและส่งผลต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ อีกทั้งยังเป็นการยกระดับการแข่งขันและพัฒนานวัตกรรมของประเทศให้มีความเข้มแข็งยิ่งขึ้น
 
ในวันเดียวกัน ปลัดกระทรวงแรงงาน จะเป็นประธานการประชุมแนวทางการจ้างงานคนพิการและใช้สิทธิตามาตรา 35 กับนายจ้าง สถานประกอบการ กลุ่มจังหวัดนครชัยบุรินทร์ และเจ้าหน้าที่กองทัพภาคที่ 2 รวมถึงมอบนโยบายการปฏิบัติงานการจัดหางานให้กับกลุ่มคนพิการและผู้สูงอายุ แก่เจ้าหน้าที่สำนักงานจัดหางานจังหวัด 20 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
 
 
เลขาธิการ ศอ.บต. เตือนแรงงานไทยอย่าหลงเชื่อ หวังเดินทางไปทำงานในมาเลเซีย
 
(17 พ.ย.) นายศุภณัฐ สิรันทวิเนติ เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวถึงกรณี 21 คนไทยที่ถูกจับกุมที่ประเทศมาเลเซีย ซึ่งก่อนหน้านี้ ได้รับการชักชวนจากนายหน้าค้าแรงงานในพื้นที่ โดยอ้างว่าจะพาไปทำงานขายของที่รัฐยะโฮร์ ประเทศมาเลเซีย เดินทางไปพร้อมกับคนอื่นๆ อีกรวม 21 คน ส่วนใหญ่เป็นชาวบ้านจากหลายอำเภอของ จ.ยะลา เดินทางข้ามแดนทางรถยนต์ที่ด่านนอก อ.สะเดา จ.สงขลา เมื่อวันที่ 24 ก.ย.59 ที่ผ่านมา เพราะไม่มีใบอนุญาตทำงาน ซึ่งทางญาติของคนไทยกลุ่มดังกล่าวได้ทำการร้องขอความช่วยเหลือมาที่ ศอ.บต. เพื่อเข้าให้การช่วยเหลือติดตาม เพราะหลังจากเดินทางไปประเทศมาเลเซียก็ไม่ติดต่อกลับมาหาทางบ้านอีกเลย
 
โดย นายศุภณัฐ สิรันทวิเนติ เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ได้สั่งการกองกิจการต่างประเทศ ศอ.บต. ประสานงานกับสถานทูตไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปติดตามช่วยเหลือคนไทย 21 คน ที่ถูกกักตัวอยู่ที่รัฐยะโฮร์ ประเทศมาเลเซีย เนื่องจากถูกหลอกไปขายแรงงานนั้น
 
ล่าสุด เมื่อวันที่ 15 พ.ย.ที่ผ่านมา คณะผู้แทนฝ่ายไทย อันประกอบด้วย น.ส.ศิรินทรา จันทพันธ์ อัครราชทูต สถานทูตไทย ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเชีย นายอรรถพงศ์ พันธรัตน์ อัครราชทูต ที่ปรึกษาฝ่ายกงสุล พ.อ.สิรภพ ศุภวานิช ผู้ช่วยทูตทหารบก และนายธีรุตม์ ศุภวิบูลย์ผล ผอ.กองกิจการต่างประเทศ ศอ.บต. เดินทางไปเยี่ยมแรงงานไทยจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ถูกหลอกไปขายแรงงาน และถูกจับดังกล่าว ซึ่งหลังจากการตรวจสอบข้อมูล และพูดคุยกับทุกฝ่ายแล้วพบว่า กฎหมายการค้ามนุษย์ของไทยกับมาเลเซียมีความแตกต่างกัน ไทยกำหนดองค์ประกอบความผิดหลายอย่าง เช่น ต้องโดนหลอก ข่มขู่ บังคับ แต่มาเลเซียถึงแม้จะรับรู้ว่ามาทำงานอะไรด้วยความเต็มใจ แต่ถ้ามีคนดำเนินการจัดการจัดหาที่พัก อาหาร รถยนต์ และแบ่งปันผลประโยชน์กันก็ถือว่ามีความผิดข้อหาค้ามนุษย์ ซึ่งกรณี 21 คนที่ถูกจับกุม จะถูกกันตัวไว้เป็นพยาน และจะขึ้นศาลในวันที่ 17 พ.ย.2559 นี้ จำนวน 3 คน ส่วนที่เหลือจะทยอยขึ้นศาลต่อไป
 
จากการสอบถามคาดว่าจะดำเนินคดี และมีโอกาสพิพากษาเร็วที่สุดคือ ช่วงเดือนมกราคม 2560 ขึ้นอยู่กับคำให้การของพยาน และผู้ต้องหา 2 คนว่าจะรับสารภาพ หรือสู้คดีอย่างไร ส่วน นายอับดุลนาเซ วาเด็ง และนายอับดุลเลาะห์ ไม่ทราบนามสกุล เจ้าของร้าน Aniza ที่ถูกจับ (ผู้ต้องหา) ผู้จัดการพามา จัดหาที่พัก จัดหาอาหารให้จะถูกดำเนินคดีค้ามนุษย์ เบื้องต้นทราบว่า มีโทษจำคุกสูงสุด 5 ปี โดนแยกขังอีกที่หนึ่ง การทำงานที่ยะโฮร์ เถ้าแก่จะเอารถไปส่งตามถนน ธนาคาร ตอน 8 โมงเช้า ทำงานจนถึง 23.00 น. จัดหาอาหารให้ 2 มื้อ เช้าและค่ำ จัดที่พักให้อยู่ ให้ขายข้าวเกรียบถุงละ 10 RM เถ้าแก่แบ่งไป 8 RM แบ่งให้คนขาย 2 RM และตอนเดินทางเข้ามาเลเซีย แต่ละคนจ่ายค่าเดินทางเอง
 
ทั้งนี้ ศอ.บต. พร้อมที่จะนำคณะญาติของทุกคนไปเยี่ยมทันที เมื่อทางการมาเลเซียเปิดโอกาสให้เข้าเยี่ยมได้ โดย ศอ.บต. ได้ประสานกับฝ่ายเจ้าหน้าที่มาเลเซีย ทางมาเลเซียขอให้มีหนังสือจากสถานทูต และจะนำเสนอผู้บังคับบัญชาในลำดับต่อไป ระหว่างนี้ กองกิจการต่างประเทศ ศอ.บต. ได้ดูแล และเลี้ยงอาหารให้แก่ผู้ถูกควบคุมตัวทั้งหมด พร้อมคณะเจ้าหน้าที่สถานทูตไทย คณะเจ้าหน้าที่มาเลเซียด้วยแล้ว เพื่อความสะดวกในการประสานงานต่อไป ตลอดจนได้สั่งการให้บัณฑิตอาสาในพื้นที่ได้ไปเยี่ยม และคอยดูแลญาติของทุกคน โดย ศอ.บต. จะประสานงาน และพร้อมจัดรถอำนวยความสะดวกพาญาติพี่น้องของทุกคนไปเยี่ยมทันทีที่ทางการมาเลเซียอนุญาต และจะติดตามช่วยเหลือต่อไป
 
นอกจากนี้ เลขาธิการ ศอ.บต. ยังได้ฝากแจ้งเตือนคนไทยที่ต้องการเดินทางไปทำงานยังมาเลเซีย ว่า ขอให้เดินทางเข้าประเทศอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อป้องกันการถูกชักชวนไปค้าแรงงานผิดกฎหมาย
 
 
กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน นำหลักการมีส่วนร่วมในการทำงานแก้ปัญหาละเมิดสิทธิในอุตสาหกรรมแปรรูปไก่ส่งออก
 
นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยว่า กสร. ได้นำหลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เรื่อง การมีส่วนร่วมมาเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหา โดยให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน และผู้ประกอบการ ได้ร่วมกันแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิแรงงานในอุตสาหกรรมแปรรูปไก่ส่งออก การดำเนินการดังกล่าวก่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างสามหน่วยงาน ได้แก่ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กรมปศุสัตว์ และสมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย ร่วมกันส่งเสริมให้ผู้ประกอบการฟาร์มเลี้ยงไก่ นำแนวปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดี (Good Labour Practices : GLP) ไปใช้ในการปรับปรุงสภาพการจ้าง การทำงานให้มีการใช้แรงงานในกระบวนการผลิตอย่างมีจริยธรรม เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศคู่ค้า อันจะส่งผลให้สินค้าเนื้อสัตว์ปีกของประเทศไทยได้รับการยอมรับจากเวทีการค้าโลกว่าผลิตขึ้นอย่างมีคุณภาพและจริยธรรมในการใช้แรงงาน โดยขณะนี้มีฟาร์มเลี้ยงไก่ที่แสดงความมุ่งมั่นและดำเนินการปรับปรุง สภาพการจ้าง สภาพการทำงานแล้ว จำนวน 3,208 แห่ง ซึ่งทาง กสร. จะร่วมกับกรมปศุสัตว์ และสมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย ดำเนินการให้ฟาร์มเลี้ยงไก่ซึ่งมีอยู่ประมาณ 4,100 แห่ง ที่เป็นสมาชิกของสมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อการส่งออกไทย นำแนวปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดี หรือ GLP ไปดำเนินการให้ครบถ้วนภายในเดือนธันวาคม 2559 อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมแปรรูปเนื้อไก่ส่งออกเป็นภาคอุตสาหกรรมที่ทำรายได้ให้กับประเทศไทยไม่น้อยกว่าปีละ 80,000 ล้านบาท
 
 
ก.แรงงานคาดปี 2560 สร้างอาชีพให้คนพิการและผู้สูงอายุภาคอีสาน 2,773 คน
 
กระทรวงแรงงาน ร่วมมือกับ แม่ทัพภาคที่ 2 จังหวัดนครราชสีมา และอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี สร้างโอกาสให้คนพิการและผู้สูงอายุ มีงานทำ มีอาชีพ ในปี 2560 คาดจะมีการจ้างงานและการประกอบอาชีพในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ใน รวม 2,773 คน
 
หม่อมหลวงปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยระหว่างการเป็นประธานเปิดโครงการประชารัฐสร้างโอกาสคนพิการและผู้สูงอายุ มีงานทำ มีอาชีพ โดยมีรองแม่ทัพภาคที่ 2 รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และอธิบดีกรมการจัดหางาน ร่วมลงนามความร่วมมือ ณ อาคารสุรสัมมนาคาร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา ว่า รัฐบาลมีนโยบายให้ความสำคัญต่อประชาชน อยู่ดีมีสุข กระทรวงแรงงาน มียุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงและเศรษฐกิจ เป็นกลไกการบริหารจัดการกำลังคมของชาติให้กระจายลงสู่ทุกภาคการผลิตของประเทศอย่างสมดุล โดยยึดหลักใน 3 มิติ คือ ศักยภาพของกำลังแรงงานและต้นทุนมนุษย์ ความมีประสิทธิภาพของตลาดแรงงาน และความมั่นคงในการดำรงชีวิตจากการทำงาน ซึ่งในปี 2560 กระทรวงแรงงานได้กำหนดยุทธศาสตร์ด้านแรงงาน การป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน การส่งเสริมการจ้างงานคนพิการและผู้สูงอายุ การยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบ สอดรับยุทธศาสตร์ชาติในด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพ ให้มีโอกาสความเสมอและเท่าเทียมกันทางสังคม
 
อีกทั้ง พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มีแผนการปฏิบัติงานระยะที่ 1ของปี 2560 ในมิติใหม่การส่งเสริมการมีงานทำ การยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบ คนพิการ ผู้สูงอายุ รวมถึงการเพิ่มผลิตภาพแรงงานสู่ไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งการจัดโครงการพลังประชารัฐสร้างโอกาสคนพิการและผู้สูงอายุมีงานทำ มีอาชีพ เป็นการน้อมนำกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานแก่คณะกรรมการมูลนิธิอนุเคราะห์คนพิการ ในพระบรมราชูปถัมภ์ของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2517 ความตอนหนึ่งว่า งานช่วยเหลือคนพิการนี้ ก็มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะว่าผู้พิการไม่ได้อยากจะเป็นผู้พิการ และอยากช่วยเหลือตนเอง ถ้าเราไม่ช่วยเขาให้สามารถที่ปฏิบัติงานอะไรเพื่อชีวิต และเศรษฐกิจของครอบครัวจะทำให้เกิดสิ่งที่หนักในครอบครัวหนักแก่ส่วนรวม ฉะนั้น นโยบายที่จะทำก็คือ ช่วยเขาให้ช่วยเหลือตนเองได้ เพื่อจะทำให้เขาสามารถเป็นประโยชน์ต่อสังคม
 
กระทรวงแรงงาน จึงได้น้อมนำกระแสพระราชดำรัสมาเป็นแนวทางในการส่งเสริมการมีงานทำให้กับประชาชนทุกกลุ่ม ซึ่งกลุ่มคนพิการและผู้สูงอายุถือเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณค่า สามารถทำงานในสถานประกอบการหรือประกอบอาชีพที่ทำให้เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวม สำหรับ 20 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีนายจ้างสถานประกอบการที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายจ้างงานคนพิการในปี 2559 จำนวน 891 แห่ง การจ้างงานคนพิการเข้าทำงานในสถานประกอบการ จำนวน 1,544 คน ได้รับสิทธิตามมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ พ.ศ. 2550 จำนวน 555 คน สร้างมูลค่า 226 ล้านบาทต่อปี และในปี 2560 คาดว่าจะมีการจ้างงานและการประกอบอาชีพในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวม 2,773 คน เป็นคนพิการ 2,099 คน ผู้สูงอายุ 400 คน ทหารที่ปลดประจำการจากความพิการในการสู้รบ และครอบครัวทหารที่มีความพิการ 274 คน
 
 
ศรชล.เขต 1 จับโรงงานแปรรูปสัตว์น้ำสมุทรสาคร 12 แห่ง กระทำผิดกฎหมาย
 
(18 พ.ย.) ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) สั่งการให้ ศูนย์ประสานการปฏิบัติในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล เขต 1 (ศรชล.เขต 1) นำโดย พล.ร.ท.สุรศักดิ์ เมธยาภา ผอ.ศรชล.เขต 1 สนธิกำลังร่วมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติการปูพรมเข้าตรวจสอบโรงงานแปรรูปสัตว์น้ำ ตามบัญชีเป้าหมาย 19 แห่ง ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร เพื่อจัดระเบียบความเรียบร้อย ตรวจสอบ และจับกุมหากตรวจพบมีการกระทำผิดกฎหมาย
 
ปฏิบัติการครั้งนี้ ศรชล.เขต 1 ได้สนธิกำลังร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ตำรวจภูธร ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง กรมประมง กรมจัดหางาน อุตสาหกรรม พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ประกันสังคม สวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และมีกำลังทหารเรือ จากหน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง (สอ.รฝ.) จำนวน 130 นาย มาให้การดูแลด้านความปลอดภัย โดยมี นาวาเอกไพศาล มีศรี รอง ผบ.สอ.รฝ. ควบคุมการปฏิบัติ เป็นไปด้วยความเรียบร้อย
 
พล.ร.ทสุรศักดิ์ เปิดเผยว่า ตามที่ ศปมฝ. หน่วยรับผิดชอบหลักในการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม (IUU FISHING) ได้มอบหมายให้ ศรชล.เขต 1 มีหน้าที่รับผิดชอบการตรวจสอบสถานแปรรูปสัตว์น้ำ เพื่อให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างรวดเร็วมีประสิทธิภาพ ในช่วง 10 วันที่ผ่านมา ศรชล.เขต 1 ได้ดำเนินการเข้าตรวจครั้งนี้เป็นครั้งที่ 4
 
จากการตรวจสอบครั้งนี้ พบมีโรงงานแปรรูปสัตว์น้ำกระทำผิดกฎหมาย จำนวน 12 แห่ง ได้แก่ประเภท การจ้างงาน/พ.ร.บ.การทำงานคนต่างด้าว พ.ศ.2553 จำนวน 4 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 จำนวน 1 แห่ง พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 จำนวน 2 แห่ง และ พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ.2535 จำนวน 5 แห่ง เบื้องต้น ได้ดำเนินคดีต่อผู้ประกอบการในฐานความผิดนั้นๆ
ทั้งนี้ เพื่อให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างจริงจัง เป็นรูปธรรมที่ยั่งยืน อันจะส่งผลไปในทางที่ดี ต่อการประเมินของสหภาพยุโรปในอนาคต
 
 
จัดหางานลำปางเตือนระวังถูกหลอกเรียนภาษาไปทำงานเกาหลี
 
นางพรปวีณ์ วิชิต จัดหางาน จ.ลำปาง เปิดเผยว่า ปัจจุบันนี้การเดินทางไปทำงานสาธารณรัฐเกาหลีตามระบบการจ้างแรงงานต่างชาติ (EPS) ซึ่งเป็นการจัดส่ง คนหางานไปทำงาน โดยกรมการจัดหางาน เป็นที่นิยมสำหรับคนหางานจำนวนมาก ซึ่งระบบนี้กำหนดให้คนหางานที่จะเดินทางไปทำงานต้องสอบผ่านความสามารถภาษาเกาหลี (EPS -TOPIK) ตามที่ทางการเกาหลีกำหนด
 
ดังนั้น การไปทำงานในระบบนี้ขั้นตอนแรก คนหางานจะต้องสมัครเพื่อเข้าทดสอบ ความสามารถภาษาเกาหลี (EPS-TOPIK) ก่อนเป็นอันดับแรก จึงมี โรงเรียนเอกชนที่เปิดสอนภาษาเกาหลี สำหรับการไปทำงานตามระบบการจ้างแรงงานต่างชาติ EPS เกิดขึ้นจำนวนมาก
 
โดยกรมการจัดหางานได้รับแจ้ง พร้อมทั้ง พบว่าโรงเรียนเอกชนที่เปิดสอนภาษาเกาหลีบางแห่งโฆษณา ชวนเชื่อทางสื่อสังคมออนไลน์ เช่น ไลน์ เฟซบุ๊ค ว่าหากสนใจเรียนกับโรงเรียนสามารถส่งไปทำงานสาธารณรัฐเกาหลีได้แน่นอน หรือหากสอบผ่านความสามารถภาษาเกาหลี ทางสาธารณรัฐเกาหลี จะรับรองงาน และเดินทางไปทำงานได้ทันที หรือทางโรงเรียนหานายจ้างไว้ให้สำหรับคนที่สอบผ่านแล้ว เป็นต้น
ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นการโฆษณาชวนเชื่อและแอบอ้างเกินกว่าความเป็นจริง เนื่องจากเมื่อคนหางานสอบผ่านความสามารถภาษาเกาหลี แล้ว นายจ้างทางสาธารณรัฐเกาหลีจะเป็นผู้คัดเลือกเอง กรมการจัดหางานหรือบุคคลภายนอกไม่สามารถเข้าไปเกี่ยวข้อง หากมีข้อสงสัยหรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถสอบถามได้ที่ กองบริหารแรงงานไทยไป ต่างประเทศ โทรศัพท์ 0-2245-6706-7 ในวัน และเวลาราชการ
 
 
ทำร้ายพยาบาล เหตุไม่พอใจให้รอทำแผลนิ้วเท้า มัวแต่ไปใส่ท่อช่วยหายใจ
 
สมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทยฯ เผย พยาบาล รพ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว ถูกผู้ป่วยและเพื่อนผู้ป่วยอีก 2 คนรุมทำร้าย เหตุไม่พอใจ หลังมาทำแผลที่เท้า แต่ถูกแจ้งให้รอเพราะต้องใส่ท่อช่วยหายใจให้ผู้ป่วยที่อาการหนักกว่า แจงบุคลากรสาธารณสสุขถูกผู้ป่วยทำร้ายขณะปฏิบัติหน้าที่เพิ่มมากขึ้น ร้อง รพ.หามาตรการป้องกันรัดกุมกว่านี้
 
เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2559 Facebook/สมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทยฯ ได้โพสต์ข้อความกรณี นายปฏิพล อ่อนน้อม พยาบาลวิชาชีพ โรงพยาบาลอรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว ถูกผู้ป่วยและเพื่อนอีก 2 คนที่มาด้วยกันรุมทำร้ายร่างกายขณะปฏิบัติหน้าที่ในคืนวันลอยกระทงวันที่ 14 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา เกิดเหตุจากผู้ป่วยมาขอทำแผลนิ้วเท้าที่ห้องฉุกเฉิน แต่เกิดความไม่พอใจ หลังพยาบาลแจ้งว่ากำลังช่วยแพทย์ทำการช่วยเหลือผู้ป่วยอีกคน พร้อมรูดม่านให้เห็นว่าแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ กำลังใส่ท่อช่วยหายใจให้ผู้ป่วยที่อาการหนักกว่าอยู่
 
“สมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทยฯ ขอเป็นกำลังใจให้ นายปฏิพล อ่อนน้อม พยาบาลวิชาชีพ ปฏิบัติงานที่โรงพยาบาลอรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว ที่ถูกทำร้ายร่างกายขณะปฏิบัติหน้าที่ และขอชื่นชมอย่างจริงใจที่ถึงแม้ว่าตนเองจะบาดเจ็บจากเหตุการณ์ดังกล่าว แต่ยังยืนปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนจบเวร
 
เหตุเกิดดังกล่าว เกิดขึ้นเวลา 4 นาฬิกา คืนวันลอยกระทง ผู้ทำร้ายคือผู้ป่วยที่มาขอทำแผลที่นิ้วเท้า พยาบาลแจ้งว่ากำลังช่วยแพทย์ช่วยผู้ป่วยอีกคนอยู่ และรูดม่านให้เห็นหมอ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ กำลังใส่ท่อช่วยหายใจผู้ป่วย ผู้ป่วยและเพื่อนอีก 2 คนไม่พอใจ รุมชกต่อยเตะ
 
นายปฏิพล อ่อนน้อม พยาบาลวิชาชีพ มีรอยฟกช้ำที่ท้อง หัวโนบริเวณกกหูซ้าย แผลถลอกที่เข่า และรอยขีดข่วนที่นิ้วมือ หลังเกิดเหตุยังทำงานต่อจนลงเวรดึก คุณแม่ของน้องที่เป็นพยาบาลอยู่แห่งเดียวกัน แจ้งว่าน้องยังทำงานได้ แต่จิตใจยังหวาดกลัว
 
การถูกทำร้ายทางร่างกายจากผู้ป่วย ได้แก่ ถูกต่อย เตะ กัด ข่วน กระชากผม ฟก บวมช้ำ ช้ำเลือด บาดแผล เคล็ดขัดยอก ปวดเมื่อย หรืออันตรายร้ายแรงอื่น ๆ ส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นกับผู้ให้ความช่วยเหลือผู้ป่วย และพบได้บ่อยในแผนกฉุกเฉิน
 
แม้ว่าทุกโรงพยาบาลจะมีหลักการและขั้นตอนในการเฝ้าระวังเหตุการณ์ทำร้ายเจ้าหน้าที่แล้วนั้น แต่กลับพบว่าปัจจุบันมีอุบัติการณ์ทำร้ายเจ้าหน้าที่เพิ่มมากขึ้นในทุกปี รพ.เองคงต้องหามาตรการป้องกันและให้ความปลอดภัยกับเจ้าหน้าที่ให้รัดกุมมากขึ้น
 
แพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ ต่างทุ่มเททำหน้าที่ดูแลรักษาท่านและญาติพี่น้องของท่านอย่างเต็มกำลังความสามารถ อยากวิงวอนให้ทุกท่านให้กำลังใจและช่วยกันสอดส่องดูแลซึ่งกันและกัน ไม่ได้เรียกร้องให้มาดูแลเจ้าหน้าที่ แต่ขอให้ท่านดูแลตนเอง ดูแลญาติของท่าน ให้มีสุขภาพที่ดี หลีกเลี่ยงเหตุการณ์ที่เสี่ยงต่อสุขภาพ
 
 
กระทรวงแรงงาน จับมือสภาอุตฯ ท่องเที่ยว ปั้นเด็กมหาวิทยาลัยราชภัฏ ฝึกทักษะบุกท่องเที่ยว 
 
นายธีรพล ขุนเมือง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.)เปิดเผยว่า จากการที่รัฐบาลมีนโยบายในการพัฒนา 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยอุตสาหกรรมด้านการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและท่องเที่ยวเชิงสุขภาพอยู่ในกลุ่ม s curve หรือกลุ่มแรกที่จะต้องเร่งพัฒนาเพื่อต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการรองรับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต (New Engine of Growth) นั้น พลเอกศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะแรงงาน สอดรับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลง และกลุ่มที่ยังต้องใช้ทักษะที่พึ่งพากำลังแรงงานจากมนุษย์ กพร.จึงบูรณการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และมหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศในการพัฒนากำลังแรงงานป้อนสู่อุตสาหกรรมดังกล่าว
 
นายธีรพล กล่าวต่อไปว่า การบูรณาการมีแนวทางความร่วมมือ อาทิ การสำรวจความต้องการของตลาดแรงงาน และจัดฝึกอบรมในสาขาที่ขาดแคลน เช่น สาขาพนักงานต้อนรับส่วนหน้า สาขาพนักงานดูแลห้องพัก พนักงานให้บริการด้านสปา พนักงานนวดแผนไทย นอกเหนือจาการพัฒนาทักษะเฉพาะด้านแล้ว ต้องพัฒนาทักษะด้านอื่นๆที่เกี่ยวข้องควบคู่กันไปด้วย เช่นการฝึกอบรมด้านภาษาต่างประเทศ อาทิ ภาษาอังกฤษและภาษาจีน ในเนื้อหาหลักสูตรอาจสอดแทรกหัวข้อการนำ Application ช่วยในการแปลภาษา จะทำให้ผู้อบรม เรียนรู้ได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น รวมถึงสื่อสารได้สะดวกมากขึ้นด้วย
 
นายธีรพล กล่าวต่ออีกว่า จากการหารือกับสภาอุตฯ ท่องเที่ยว อยากจะเน้นฝึกอบรมให้กลุ่มเป้าหมายที่เป็นนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับชั้นปีที่ 3 และ 4 ในสาขาที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว เพราะปัจจุบันนักศึกษากลุ่มนี้เป็นกำลังสำคัญอยู่แล้วแต่เราต้องสร้างกำลังแรงงานที่จะรองรับอุตสาหกรรมด้านการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและเตรียมพร้อมยกระดับอุตสาหกรรมเพื่อต่อยอดความเจริญเติบโต สำหรับการฝึกอบรมจะเป็นแบบสหศึกษา โดยจะมีฝึกอบรมในลักษณะการทำงานจริงในสถานประกอบกิจการ ซึ่งสอดคล้องกับการจัดตั้งสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน เทคโนโลยีชั้นสูง ที่เน้นด้านการท่องเที่ยวที่ กพร.ได้จัดตั้งเป็นสถาบันนำร่องด้านนี้จำนวน 2 แห่ง คือจังหวัดภูเก็ต และจังหวัดเชียงใหม่
 
อย่างไรก็ตาม การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศไทยมีแนวโน้มการขยายตัวในทิศทางที่เพิ่มขึ้น เป็นการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ผู้ประกอบอาชีพด้านนี้จะมีรายได้สูงขึ้น อาทิ สาขา นักส่งเสริมสุขภาพแบบองค์รวม สปาตะวันตก(โภชนาบำบัด) อัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน ระดับ 2 สูงถึง 815 บาทต่อวัน ดังนั้นจึงถือได้ว่านี่เป็นจุดเริ่มต้นของภาครัฐ เอกชน และภาคการศึกษาที่จะร่วมมือกัน เตรียมพร้อมในการพัฒนาบุคลากรด้านการท่องเที่ยว เพื่อรับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ทั้งแรงงานเดิมและแรงงานใหม่ ปลูกฝังให้รักและเห็นความสำคัญในวิถีไทย วิถีถิ่นและภาคภูมิใจในความเป็นไทย ตลอดจนรักษาอาชีพด้านการท่องเที่ยวนี้ไว้ เพราะนี้คืออาชีพที่ “เครื่องจักรกล ทำไม่ได้” นายธีรพล กล่าว
 
 
สสส. ทุ่มงบ 5.7 ล้านให้ ก.แรงงานสร้างคนต้นแบบวินัยอุตสาหกรรม
 
นายธีรพล ขุนเมือง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) เปิดเผยว่า พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้ความสำคัญในการพัฒนาบุคลากร และทักษะฝีมือให้กับกำลังแรงงาน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ในส่วนของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาทักษะฝีมือกำลังแรงงานของประเทศ กพร. จึงได้ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสมาคมนายจ้างผู้ประกอบการพัฒนาทรัพยากรบุคคล ในการบูรณาการภารกิจการพัฒนาฝีมือแรงงาน โดยการจัดทำ “โครงการต้นแบบ การเสริมสร้างวินัยที่ส่งผลต่อสุขภาวะ ความปลอดภัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานของเยาวชนที่ขาดโอกาสทางการศึกษา”
 
นายธีรพล กล่าวต่อไปว่า โครงการต้นแบบการเสริมสร้างวินัยที่ส่งผลต่อสุขภาวะ ความปลอดภัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานของเยาวชนที่ขาดโอกาสทางการศึกษา เป็นโครงการความร่วมมือระหว่างกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน สสส. และสมาคมนายจ้างผู้ประกอบการพัฒนาทรัพยากรบุคคล โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างกำลังแรงงานให้มีคุณภาพและทักษะนิสัยอุตสาหกรรม หรือวินัยที่ส่งผลต่อสุขภาวะ ความปลอดภัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน เพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาศักยภาพให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน
 
รวมทั้งสอดคล้องกับการดำเนินงานของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ในการพัฒนาทักษะรองรับการเข้าสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 นิสัยอุตสาหกรรม 9 พฤติกรรม 9 ความสำเร็จ และการประเมินความเสี่ยงตาม พ.ร.บ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2555
 
การดำเนินงานโครงการนี้ ได้ร่วมกันดำเนินการจัดฝึกอบรมให้แก่ผู้เข้ารับการฝึก ในหลักสูตร เตรียมเข้าทำงาน ของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ในสาขาอาชีพต่างๆ จำนวน 1,235 คน ในพื่นที่ 11 จังหวัด ได้แก่ นครสวรรค์ พิษณุโลก สระแก้ว สุราษฎร์ธานี ตรัง นครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี อุบลราชธานี เชียงใหม่ และเชียงราย ซึ่งกำหนดแผนจัดอบรมแบ่งออกเป็น 3 ระยะ
 
โดยระยะที่ 1 ฝึกอบรม 3 วัน (วันศุกร์-อาทิตย์) ระยะเวลาการฝึก 12 ชั่วโมง ระยะที่ 2 การสร้างความคุ้นเคยระหว่างการฝึกในหน่วยงาน กพร.เท่านั้น ซึ่งสมาคมจะจัดทำสมุดเพื่อบันทึกการเสริมสร้างวินัยที่ส่งผลต่อสุขภาวะ ความปลอดภัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน โดยมีเพื่อนร่วมสาขาการฝึก จะเป็นผู้ประเมินเป็นรายวัน มีการแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อประเมินการฝึกรายสัปดาห์ และมีอาจารย์ผู้สอนประเมินผลการฝึกบุคคลรายเดือน และระยะที่ 3 เป็นการประเมินผู้รับการฝึก และได้รับวุฒิบัตรเพื่อมอบให้แก่ผู้เข้ารับการฝึกดังกล่าว
 
นอกจากนี้ จะมีการจัดฝึกอบรมวิทยากรต้นแบบของกรมพัฒนาฝีมือแรงงานที่เกี่ยวข้องทั้ง 11 แห่ง ๆ ละ 10 คน รวม 110 คน โดย สสส. ให้การสนับสนุนงบประมาณดำเนินการจำนวน 5,970,000 บาท และมีสมาคมนายจ้างผู้ประกอบการพัฒนาทรัพยากรบุคคลเป็นผู้บริหารโครงการฯ โดยจะมีการลงนามบันทึกข้อตกลงในวันที่ 16 ธันวาคม 2559 ณ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 5 นครราชสีมา นายธีรพล กล่าว
 
 
กระทรวงแรงงาน ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปราบปรามต่างด้าวแย่งอาชีพคนไทย ล่าสุดจับกุมได้แล้ว 847 คน
 
นายสุทธิ สุโกศล ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน ในฐานะรองโฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า จากผลการสำรวจของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ พบมีแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานและแย่งอาชีพคนไทย ล่าสุดถูกจับกุมแล้วจำนวน 847 คนซึ่งอาชีพที่แรงงานต่างด้าวเข้ามาทำมากสุดคือ อาชีพค้าขาย รองลงมาคือ อาชีพรักษาความปลอดภัย และมัคคุเทศก์ และยังสามารถจับกุมแรงงานต่างด้าวในอาชีพที่ไม่อนุญาตได้จำนวน 669 คน ซึ่งมีสัญชาติที่หลากหลายนอกเหนือจากลาว พม่า และกัมพูชา ยังมีแรงงานต่างด้าว สัญชาติจีน อินเดีย และเวียดนาม และรัสเซีย โดยหลังจากนี้จะมีการบูรณาการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบ รับรู้ และไม่ใหัการสนับสนุนแรงงานต่างด้าวที่แย่งอาชีพคนไทย
 
 
"เทรนเนอร์" ร้องศาลแรงงานทรูฟิตเนสค้างจ่าย
 
สัปดาห์ที่แล้ว เมื่อวันที่ 17 พ.ย. มีลูกค้ากลุ่มนี้ ได้รวบรวมรายชื่อกว่า 100 รายชื่อ ยื่นร้องทุกข์กับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ว่าต้องการได้รับเงินคืนจากทรู ฟิตเนส หลังจากที่ทรู ฟิตเนส ประกาศปิดสาขาที่ห้างเซน แอท เซ็นทรัลเวิลด์ โดย ทรู ฟิตเนส ให้เหตุผลว่าทางห้างไม่ต่อสัญญาเช่าพื้นที่ให้ ขณะที่ตามสัญญาการใช้บริการ ก็ไม่มีเหตุผลเรื่องการคืนเงิน จากการปิดสาขา
 
นอกจากปัญหาที่เกิดกับลูกค้าแล้ว วันนี้ (21 พ.ย.) เมื่อช่วงบ่ายที่ผ่านมา กลุ่มเทรนเนอร์ ทรู ฟิสเนต 17 คน ได้รวมตัวกันยื่นฟ้องศาลแรงงาน หลังได้รับผลกระทบจากการขาดจ่ายเงินเดือน โดยเฉลี่ยคนละไม่ต่ำกว่าหนึ่งเเสนบาท
 
ข้อมูลการขาดจ่ายเงินเดือนนั้น กลุ่มเทรนเนอร์ ระบุว่ายังไม่ได้รับเงินเดือนครบตามสัญญา โดยเงินเดือนในเดือนตุลาคม ถูกบังคับแบ่งจ่ายเป็นเปอร์เซ็นต์โดยล่าสุด ได้รับเพียง 30% ของเงินเดือนเท่านั้น และทางทรู ฟิตเนส ยังไม่ได้จ่ายค่าคอมมิชชั่นมาตั้งแต่เดือนมีนาคม ส่งผลกระทบให้มียอดค้างจ่ายเทรนเนอร์ บางคนมากถึง 400,000 บาท
 
ตัวแทนเทรนเนอร์ ยังระบุว่า ได้มีการสอบถามกับผู้บริหารมาโดยตลอด จนล่าสุดคือได้รับทราบว่า มีการประกาศปิด ทรูฟิตเนส สาขาเซน แอท เซ็นทรัลเวิลด์ โดยให้แจ้งกับลูกค้าว่า ทางทรูฟิตเนสหมดสัญญาเช่าสถานที่ ขณะที่ยังให้ขายคอร์สฟิตเนสให้ลูกค้า โดยอ้างว่าจะจ่ายค่าคอมมิชชั่นให้ 50% และให้แจ้งลูกค้าว่าให้ไปเล่นสาขาอโศก
 
ที่มาของรายได้หลักแสนของ เทรนเนอร์ ในธุรกิจฟิตเนสโดยรวม นั้น ปกติแต่ละคนจะมีเงินเดือน ประมาน 9,000-10,000 บาท แต่มีการว่าจ้างพิเศษโดยสมาชิกแต่ละคน หรือเรียกว่าค่าเทรนเนอร์ต่อครั้งอยู่ที่ชั่วโมงละ 1,000 บาท นอกจากนี้ยังมีค่าคอมมิชชั่นจากการขายคอร์ส โดยทั่วไปจะมีเป้าต้องขายสมาชิกให้ได้เดือนละ 150,000 บาท โดยเทรนเนอร์จะเป็นส่วนหนึ่งในเครือข่ายที่มีผู้จัดการเป็นหัวหน้าทีม
 
 
กสร. เตรียมเอาผิดนายจ้างเหตุคนงานปั่นด้าย จ.อยุธยา เสียชีวิตชี้มีความผิดตามกฎหมายความปลอดภัย
 
กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน รวบรวมหลักฐานเตรียมดำเนินคดีกับนายจ้างสถานประกอบกิจการปั่นด้าย จังหวัดอยุธยา เหตุรถโฟล์คลิฟชนลูกจ้างเสียชีวิต ชี้นายจ้างมีความผิดตามกฎหมายความปลอดภัยในการทำงาน
 
นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวถึงกรณีลูกจ้างที่เสียชีวิตจากเหตุรถโฟล์คลิฟต์เฉี่ยวชนในสถานประกอบกิจการ จ.อยุธยาว่า ผู้เสียชีวิตเป็นลูกจ้างของโรงงานซึ่งประกอบกิจการปั่นด้าย และมีการใช้รถโฟล์คลิฟหรือรถยกสำหรับยกก้อนฝ้าย จากการตรวจสอบพบว่า นายจ้างมีความผิดฐาน ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายความปลอดภัยในการทำงาน โดยไม่ได้จัดให้มีการตรวจสอบสภาพรถยกทุกครั้งก่อนการใช้งาน ไม่มีสัญญาณเสียงหรือแสงไฟเตือนภัยในขณะทำงาน ไม่มีการกำหนดเส้นทางและตีช่องทางเดินของรถยก ไม่ได้ติดตั้งกระจกนูนหรือวัสดุอื่นที่คล้ายกันไว้ในบริเวณทางแยกหรือทางโค้งที่มองไม่เห็น ไม่มีคู่มือ การใช้ การตรวจสอบ และการบำรุงรักษารถยก และไม่ได้จัดให้ลูกจ้างที่เปลี่ยนงานได้รับการฝึกอบรมตามหลักสูตรที่กฎหมายกำหนด ทั้งนี้ การฝ่าฝืนดังกล่าวต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับ ไม่เกิน 400,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งขณะที่อยู่ระหว่างการรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อเตรียมดำเนินคดี กับนายจ้างต่อไป
 
"กสร. ได้กำชับให้สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดทั่วประเทศ เข้มงวดในการตรวจสอบและกำกับดูแลให้นายจ้าง สถานประกอบกิจการที่มีการใช้งานรถโฟล์คลิฟต์ในการเคลื่อนย้ายวัสดุต้องปฏิบัติ ตามมาตรฐานที่กำหนดในกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหารและการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2542 อย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันมิให้เกิดเหตุลูกจ้างได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตอีก และมิให้นายจ้างต้องถูกดำเนินคดี หากสถานประกอบกิจการใดมีข้อสงสัยเรื่องมาตรฐานและข้อกำหนดทางกฎหมายความปลอดภัยในการทำงาน
 
สามารถสอบถามได้ที่กองความปลอดภัยแรงงาน โทร.0 2448 8338 ทุกวันในเวลาราชการ หรือที่ www.oshthai.org" อธิบดีกสร. กล่าว
 
 
สมาคมช่างเหมาไฟฟ้าฯ จับมือกรมพัฒนาฝีมือแรงงานเปิดศูนย์ประเมินความรู้ความสามารถช่างไฟฟ้า
 
นางอัจฉรา แก้วกำชัยเจริญ รองอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวในงานพิธีเปิดศูนย์ประเมินความรู้ ความสามารถของสมาคมช่างเหมาไฟฟ้าและเครื่องกลไทย ณ ชั้น 7 อาคารแอลพีเอ็นเทาวเวอร์ถนนนางลิ้นจี่ เพื่อตอบรับ ในพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน (ฉบับที่ 2)พ.ศ.2557 ให้ได้มาตรฐานตาม (ตามมาตรา)26/4(2)
 
พระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2557 กำหนดให้การประกอบอาชีพในสาขาอาชีพ ตำแหน่งงาน หรือลักษณะงานใดที่อาจเป็นอันตรายต่อสาธารณะหรือต้องดำเนินการโดยผู้มีความรู้ความสามารถที่ได้รับการรับรองความรู้ความสามารถ โดยมีระบบการประเมินเพื่อรับรองความรู้ความสามารถ และให้นายทะเบียนหรือพนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจควบคุมการดำเนินการของศูนย์ประเมินความรู้ความสามารถ กำหนดให้ค่าธรรมเนียมที่ได้รับจากการรับรองความรู้ความสามารถตกเป็นของกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อนำไปใช้ในการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับการรับรองความรู้ความสามารถอีกทั้งกำหนดให้ผู้ประกอบกิจการได้รับสิทธิ์ประโยชน์ตามที่กฎหมายกำหนดเพื่อเป็นการจูงใจให้ผู้ประกอบกิจการเข้าร่วมในกระบวนการพัฒนาฝีมือแรงงาน รวมทั้งปรับปรุงองค์ประกอบของคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงานให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น
 
นายสุจิ คอประเสริฐศักดิ์ นายกสมาคมช่างเหมาไฟฟ้าและเครื่องกลไทย กล่าวว่า ศูนย์ประเมินความรู้ความสามารถของสมาคมฯซึ่งตั้งอยู่ที่ ชั้น 7 อาคาร LPN จัดตั้งขึ้น เพื่อรองรับสมาชิกของสมาคมและช่างที่เป็นบุคคลทั่วไปในวิชาชีพช่างไฟฟ้า ให้มีมาตรฐานตามมาตรา 26/4(2) แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ.2557 ในสาขา อาชีพ ช่างไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ และคอมพิวเตอร์ซึ่งผู้ปฏิบัติงานด้านช่างไฟฟ้าภายในอาคาร ต้องมีหนังสือรับรองความรู้ความสามารถโดยจะต้องสอบผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติสาขาอาชีพช่างไฟฟ้าภายในอาคาร ระดับ 1 และผ่านการประเมินความรู้ความสามารถในสาขาอาชีพช่างไฟฟ้าจึงจะได้รับหนังสือรับรองความรู้ความสามารถและสามารถประกอบวิชาชีพได้ตามกฎหมายที่ระบุไว้ เพื่อพัฒนาและยกระดับมาตรฐานฝีมือแรงงานของผู้ประกอบอาชีพช่างไฟฟ้าในประเทศไทยให้มีมาตรฐาน
 
สมาคมช่างเหมาไฟฟ้าและเครื่องกลไทยในฐานะตัวแทนผู้ประกอบการด้านติดตั้งงานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการยกระดับมาตรฐานฝีมือแรงงาน โดยได้ส่งตัวแทนเข้าร่วมเป็นคณะอนุกรรมการจัดทำมาตรฐานฝีมือแรงงานและในกิจกรรมต่างๆ ร่วมกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ตลอดระยะเวลานานกว่า 10 ปี รวมถึงได้มีการเปิดศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน จำนวน 8 ศูนย์ และได้ยืนจดเป็นศูนย์ประเมินความรู้ความสามารถตามมาตร 26/4 (2) เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2559 โดยได้เริ่มดำเนินการเปิดประเมินเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม ปัจจุบันมีผู้ผ่านการประเมินจากศูนย์ประเมินความรู้ความสามารถของสมาคมแล้วมากกว่า 652 คน
 
ทั้งนี้ในกลุ่มสมาชิกของสมาคมฯ ที่ประกอบไปด้วยกลุ่มผู้ประกอบการ ต่างๆ เช่น ผู้รับเหมาไฟฟ้า, ผู้ผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้า สุขาภิบาล ประปา เครื่องปรับอากาศและการสื่อสาร การจัดตั้งศูนย์ในส่วนของสมาคมเองจะเป็นการยกระดับมาตรฐานวิชาชีพไฟฟ้าให้เป็นมาตรฐานสากล รวมทั้งการส่งเสริมความรู้ความสามารถของกลุ่มสมาชิก ให้มีมาตรฐานมากขึ้นนอกเหนือจากที่พรบ. กำหนด
พระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2557 ยังมีผลบังคับใช้ใน วันที่ 26 ตุลาคม 2559 เป็นต้นไป
 
 
ก.แรงงานชูระบบโซนนิ่งจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวนำร่อง 2 จังหวัด
 
นายสุทธิ สุโกศล ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน ในฐานะรองโฆษกกระทรวงแรงงาน แถลงผลการประชุมคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาค้ามนุษย์และแรงงานผิดกฎหมาย ครั้งที่6/2559 ซึ่งมี พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธาน โดยให้ข้อมูลว่า ที่ประชุมได้เร่งรัดการแก้ไขพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ และพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อให้ประเทศไทยมีความพร้อมที่จะรับรองอนุสัญญาฉบับองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 98 เรื่องการรวมตัวและการเจรจาต่อรองของผู้ใช้แรงงาน พร้อมทั้งแก้ไขกฎหมายคุ้มครองการใช้แรงงานเด็กให้มีโทษที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งได้ผ่าน สนช. แล้ว
 
นอกจากนี้ให้มีการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวในลักษณะโซนนิ่ง นำร่องในจังหวัดสมุทรสาคร และจังหวัดระนอง ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีแรงงานต่างด้าวทำงานอยู่เป็นจำนวนมากเป็นระดับต้นๆ ของประเทศ ใช้โมเดล 3 มิติ ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม ด้านความมั่นคง จากนั้นจะขยายผลสู่จังหวัดที่มีแรงงานต่างด้าวมากกว่า 50,000 คน ใน 11 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สุราษฎร์ธานี เชียงใหม่ นนทบุรี นครปฐม ระยอง ภูเก็ต สงขลา และตาก โดยจะขอความร่วมมือจากกระทรวงมหาดไทย สั่งการไปยังผู้ว่าราชการทุกจังหวัดดำเนินการตามจังหวัดนำร่องต่อไป พร้อมทั้งเร่งรัดจัดจ้างล่าม โดยให้จ้างล่ามคนไทยก่อน หากหาคนไทยไม่ได้จะมีการประกาศจากสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่ออนุญาตให้จ้างคนต่างด้าวเป็นผู้ช่วยปฏิบัติงานด้านนี้ เพื่ออำนวยความสะดวกในการตรวจคุ้มครองทั้งแแรงงานต่างด้าวในกิจการทำประมง และเป็นไปตามกระบวนการดูแลแรงงานต่างด้าวที่เป็นมาตรฐานสากล
 
การประชุมในครั้งนี้ยังได้พิจารณาแต่งตั้งบุคลากรเป็นพนักงานตรวจแรงงานเพิ่มเติมอีกประมาณ 255 คน ให้มีพนักงานตรวจแรงงานครบ 1,500 คน เพื่อให้การแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์เกิดผลสัมฤทธิ์และเป็นรูปธรรม รวมทั้งได้พิจารณาการจัดทำคู่มือลูกเรือ SeaBook ของแรงงานประมงต่างด้าว เพื่อเป็นคู่มือตรวจสอบลูกเรือประมง สัญชาติ การเข้ามาทำงานถูกต้องกฎหมาย โดยคาดว่าจะมีการทดสอบระบบและพร้อมใช้ภายในเดือนธันวาคมนี้ สำหรับการตรวจสอบแรงงานต่างด้าวเข้ามาแย่งอาชีพของคนไทย มีผลการดำเนินการตามคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 100 และ 101 โดยกรมการจัดหางานได้ตรวจสอบสถานประกอบการ และจับกุมดำเนินคดีกับแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายแล้ว จำนวน 847 คน อาชีพที่แรงงานต่างด้าวนิยมทำคือ ค้าขาย รปภ. และมัคคุเทศ ด้านตำรวจตรวจคนเข้าเมืองจับกุมแรงงานต่างด้าว จำนวน 669 คน มีแรงงานต่างด้าวนอกเหนือจากเมียนมา ลาว และกัมพูชา คือ จีน อินเดีย เวียดนาม และรัสเซีย
 
นายสุทธิ กล่าวเพิ่มเติมว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ย้ำให้ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้ประชาชนได้รับทราบเรื่องของการแก้ไขการค้ามนุษย์ ขอความร่วมมือประชาชนในสองด้านคือ การไม่ร่วมมือหรือใช้แรงงานต่างด้าวค้าขายและทำสิ่งที่ผิดกฎหมาย และไม่สนับสนุนกิจการที่แรงงานต่างด้าวทำงานโดยมิชอบด้วยกฎหมาย
 
 
ครม.เห็นชอบปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำใน 69 จังหวัด มีผลปี 2560
 
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำของคณะกรรมการค่าจ้าง ประจำปี 2560 รวม 69 จังหวัด ซึ่งถือเป็นการปรับค่าจ้างขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปีนับตั้งแต่ปี 2556 โดยจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.60 เป็นต้นไป
 
อย่างไรก็ดี มีเพียง 8 จังหวัดที่ไม่ได้รับการอนุมัติให้มีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ประกอบด้วย ชุมพร, ตรัง, นครศรีธรรมราช, นราธิวาส, ปัตตานี, ยะลา, ระนอง และสิงห์บุรี
 
"ที่ไม่ปรับเพิ่ม เนื่องจากจังหวัดเหล่านี้มีโรงงานอุตสาหกรรมในจำนวนไม่มาก ขณะเดียวกันความต้องการจะปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานไม่ได้มี ซึ่งได้ถามกระทรวงแรงงานแล้ว กระทรวงฯ ชี้แจงว่าทั้ง 8 จังหวัด ไม่ได้เสนอขึ้นค่าจ้างแรงงานภายในจังหวัดเอง แสดงว่ายังไม่มีความจำเป็นต้องปรับขึ้นค่าจ้างแรงงาน เฉลี่ยแล้วจะทำให้ค่าจ้างแรงงานในประเทศไทยปรับเพิ่มขึ้น 1.7%" นายกอบศักดิ์ กล่าว
 
ทั้งนี้ การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำของคณะกรรมการค่าจ้าง อยู่บนพื้นฐานของความเสมอภาคและการรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายแล้ว เพื่อให้นายจ้างสามารถประกอบธุรกิจอยู่ได้ และลูกจ้างสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างเป็นสุข และเชื่อมั่นว่าจะไม่เป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ หรือมีผลทำให้ราคาสินค้าและอัตราเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นจนส่งผลกระทบต่อภาวะการครองชีพของประชาชนโดยทั่วไป
 
"เป็นการพิจารณาจากดัชนีค่าครองชีพ อัตราเงินเฟ้อ มาตรฐานค่าครองชีพ ต้นทุนการผลิต ผลิตผลแรงงาน ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) ตลอดจนภาวะเศรษฐกิจและสังคมของแต่ละจังหวัด" ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุ
 
สำหรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ปี 2560 เป็นดังนี้
 
- จังหวัดที่ได้รับการปรับขึ้นวันละ 5 บาท เป็น 305 บาท มี 49 จังหวัด ประกอบด้วย กาญจนบุรี กาฬสินธุ์ กำแพงเพชร จันทบุรี ชัยนาท ชัยภูมิ เชียงราย ตราด ตาก นครนายก นครพนม นครสวรรค์ น่าน บึงกาฬ บุรีรัมย์ ประจวบคีรีขันธ์ พะเยา พัทลุง พิจิตร พิษณุโลก เพชรบุรี เพชรบูรณ์ แพร่ มหาสารคาม มุกดาหาร แม่ฮ่องสอน ยโสธร ร้อยเอ็ด ราชบุรี ลพบุรี ลำปาง ลำพูน เลย ศรีสะเกษ สกลนคร สตูล สมุทรสงคราม สระแก้ว สุโขทัย สุพรรณบุรี สุรินทร์ หนองคาย หนองบัวลำภู อ่างทอง อำนาจเจริญ อุดรธานี อุตรดิตถ์ อุทัยธานี และอุบลราชธานี
 
- จังหวัดที่ได้รับการปรับขึ้นวันละ 8 บาท เป็น 308 บาท มี 13 จังหวัด ประกอบด้วย กระบี่ ขอนแก่น ฉะเชิงเทรา ชลบุรี เชียงใหม่ นครราชสีมา ปราจีนบุรี พระนครศรีอยุธยา พังงา ระยอง สงขลา สระบุรี และสุราษฎร์ธานี
- จังหวัดที่ได้รับการปรับขึ้นวันละ 10 บาท เป็น 310 บาท มี 7 จังหวัด ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี ภูเก็ต สมุทรปราการ และสมุทรสาคร
 
นายกอบศักดิ์ กล่าวด้วยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กำชับด้วยว่าไม่ต้องการให้การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในครั้งนี้ เป็นจุดเริ่มต้นของการปรับขึ้นราคาสินค้า โดยขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันดูแล เพราะการปรับขึ้นค่าจ้างนี้ก็เพื่อต้องการเพิ่มรายได้ให้แก่ประชาชนสามารถดำรงชีพได้ดีขึ้น
 
 
ศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐฯ ชี้ พ.ร.บ.ระเบียบการบริหารงานบุคคล ก่อให้เกิดความแตกแยกในหมู่ชาวอุดมศึกษา
 
รศ. ดร. วีรชัย พุทธวงศ์ อาจารย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะเลขาธิการศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ หรือ CHES กล่าวว่าร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ ประชาคมอุดมศึกษาทุกภาคส่วนต่อต้านมาหลายปี หากเป็นกฎหมายของชาวอุดมศึกษาจริง จะมีโทษมากกว่าคุณ และจะที่สนองบุคคลเพียงบางกลุ่ม เป็นกฎหมายที่มีเบื้องหลังที่ก่อให้เกิดความแตกแยกในหมู่ชาวอุดมศึกษา เริ่มตั้งแต่ที่มาของ คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจ ซึ่งตนเองก็เป็นหนึ่งในรายชื่อของคณะอนุกรรมฯ ชุดนี้ พบว่ามีหลายคนมีความเกี่ยวโยง เป็นพรรคพวกกัน ตั้งขึ้นมาเฉพาะกิจเพื่อลากร่างกฎหมายฉบับนี้ให้ผ่านให้ได้ ผู้มีส่วนได้เสียที่แท้จริงไม่ได้เข้าร่วม เคยทำประชามติก็ไม่ผ่านหลายครั้ง โดนถอดออกจากที่ประชุม ก.พ.อ. ให้ไปทบทวน ประชาคมอุดมศึกษาไม่เห็นด้วยในเนื้อหาหลายอย่าง ก็ไม่ดำเนินการแก้ไข แต่มีความพยายามดันร่าง พ.ร.บ. นี้ต่อให้สุดซอย จนอนุกรรมการเฉพาะกิจหลายท่านไม่เข้าร่วมประชุมด้วย รวมถึงตนเองด้วย
ทั้งนี้ ยังสงสัยในเรื่ององค์ประชุมว่าอาจไม่ครบหรือไม่ และผ่านมติไปหารัฐมนตรีได้อย่างไร
 
รศ. ดร. วีรชัย พุทธวงศ์ กล่าวต่อว่า เลขาธิการ สกอ. พึ่งเข้ามาใหม่ อาจยังไม่ทราบข้อมูลที่แท้จริง ตนเองอยากแนะนำว่า อย่าฟังคนของท่านเพียงไม่กี่คน ให้ดูประวัติย้อนหลังถึงความต้องการของชาวอุดมศึกษาจริงๆ ร่างกฎหมายฉบับนี้จะบังคับทุกกลุ่ม ทั้งพนักงานมหาวิทยาลัย ข้าราชการ ลูกจ้าง หากดีจริง ทำไมไม่บังคับใช้กับ บุคลากรของ สกอ. รวมถึงเลขาธิการ สกอ. ด้วย และในอดีต มีมติจากที่ประชุมหลายกลุ่ม ไม่รับร่างกฎหมายฉบับนี้ รวมถึง CHES และที่ประชุมสภาคณาจารย์ทุกมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ที่ประชุมอธิการบดีในอดีตก็ยังเคยมีมติไม่รับร่างนี้ ท่านรับรู้หรือไม่ และอยากตั้งคำถามว่า มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ต่างมี พ.ร.บ. เป็นของตนเองอยู่แล้ว มีระบบบริหารงานบุคคลที่ดีกว่า ร่าง พ.ร.บ. ฉบับที่กำลังดันอยู่นี้อย่างมาก จะให้มหาวิทยาลัยเหล่านั้นทำอย่างไร หากกฎหมายฉบับนี้บังคับใช้
 
รศ. ดร. วีรชัย กล่าวเสริมต่อว่า ปัญหาหลักของพนักงานมหาวิทยาลัย ณ สภาพปัจจุบันคือเรื่องสิทธิการรักษาพยาบาล ซึ่ง CHES เคยประสาน สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช) เพื่อช่วยดำเนินการจัดทำต้นแบบกองทุนสุขภาพ ล้อระบบราชการ ตามโมเดลที่ สปสช เคยทำสำเร็จมาแล้วให้กับ กลุ่มพนักงานของ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท) จนสามารถเบิกจ่ายระบบจ่ายตรงที่โรงพยาบาลได้เหมือนระบบราชการ ซึ่ง ทาง สกอ. และ สปสช เคยบรรลุข้อตกลงมาครั้งหนึ่ง แต่เกิดการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารกะทันหัน และก็ไม่ได้ผลักดันต่อ ซึ่งเป็นประโยชน์มากต่อพนักงานมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ แต่กลับมาผลักดันร่าง พ.ร.บ. บริหารงานบุคคลฉบับนี้ ซึ่งมีเนื้อหาบังคับให้แต่ละมหาวิทยาลัยจัดทำกองทุนสุขภาพกันเอง ซึ่งอาจมองว่าดี แต่จะดีต่อเฉพาะมหาวิทยาลัยขนาดใหญ่เท่านั้น มหาวิทยาลัยขนาดเล็กเสียเปรียบ เป็นเบี้ยหัวแตก เป็นกองทุนแยกย่อยที่ไม่มีพลังเหมือน อปท. ในอดีต ที่แต่ละท้องถิ่นดูแลสวัสดิการกันเอง ทำให้กระทรวงมหาดไทยมาขอให้ สปสช รวมกองทุนแยกย่อยให้ใหญ่ขึ้น จนเป็นกองทุน อปท. ที่ดีกว่าระบบราชการด้วยซ้ำ
 
รศ. ดร. วีรชัย กล่าวทิ้งท้ายว่า CHES จะเป็นแกนในการทักท้วง ร่าง พ.ร.บ. นี้ และหากยังยึดเยื้อดันให้สุดซอย เพื่อสนองอีโก้ของกรรมการบางคน ก็อาจต้องประท้วง และฟ้องศาลปกครองต่อไป
 
 
ร้องนายกโดน “ทอท.” เบี้ยวไม่จ่ายค่าจ้าง 167 ล้านบาท
 
เมื่อเวลา 11.20 น. วันที่ 22 พฤศจิกายน ที่ศูนย์บริการประชาชน สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี นายวิทยา อนุกูล ผู้อำนวยการโครงการรับจ้างงานบริหารและจัดการด้านการขนส่งสินค้าภายในเขตปลอดอากรท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ของกิจการร่วมค้า ยูนิเวอร์แซล เอวีเอชั่น เซอร์วิสเซล (ยูเอเอส) พร้อมด้วยพนักงานบริษัทประมาณ 30 คน ยื่นหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ขอให้แก้ปัญหากรณีบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด มหาชน (ทอท.) ไม่จ่ายเงินติดค้างค่าจ้างตามสัญญา โดยนายวิทย กล่าวว่า บริษัท ยูเอเอส ได้รับสัมปทานในการบริหารจัดการในพื้นที่เขตปลอดอากร เป็นเวลา 10 ปี ซึ่งทางบริษัทต้องออกเงินในการบริหารจัดการไปก่อนแล้วจึงเรียกเก็บจาก ทอท. แต่ 3 ปีที่ผ่านมา ทอท.ติดค้างการชำระเงินกว่า 167 ล้านบาท และที่ผ่านมาทางบริษัทเคยมีปัญหาเกี่ยวกับการจ่ายเงินเดือนพนักงานมาแล้ว ดังนั้น จึงเกรงว่าปลายเดือนพฤศจิกายน จะเจอปัญหาเช่นนี้อีก จึงต้องมาร้องขอให้นายกฯให้ความช่วยเหลือ
 
 
ไทยประกันชีวิต ออกประกันใหม่ “เติมเงินยามป่วย” คุ้มครองทั้งชีวิต-เงินชดเชยรายได้ 3 ต่อ ขณะ สศช. ชี้ ค่าใช้จ่ายสุขภาพ 3 ใน 4 หมดไปกับค่ารักษา
 
นายสวัสดิ์ นฤวรวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ และ Chief Life Operation Officer บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เพื่อกระตุ้นยอดขายในช่วงปลายปี 2559 บริษัทได้พัฒนาแบบประกันใหม่ “ไทยประกันชีวิต เติมเงินยามป่วย” หรือ “แผนค่ารักษาพยาบาลรายวัน รีฟันด์ พลัส(1)” เป็นแบบประกันที่ให้ความคุ้มครองครอบคลุม ทั้งคุ้มครองชีวิต และเงินชดเชยรายได้พิเศษถึง 3 ต่อ คือเมื่อรักษาในโรงพยาบาลทั้งจากเจ็บป่วยและอุบัติเหตุ รับเงินชดเชยค่ารักษาพยาบาลรายวันสูงสุดวันละ 3,000 บาท นานสูงสุด 365 วัน
 
กรณีผ่าตัดใหญ่ รับเงินชดเชยสูงสุด 60,000 บาทต่อการรักษาหนึ่งครั้ง และเมื่อออกจากโรงพยาบาล ยังได้รับเงินปลอบขวัญสูงสุด 3,000 บาท และหากไม่มีการเคลมสินไหมทดแทนทุกกรณีตลอดสัญญา จะได้รับเบี้ยประกันปีสุดท้ายคืน 100%
 
แบบประกัน “ไทยประกันชีวิต เติมเงินยามป่วย” สามารถสมัครได้ง่ายๆ โดยไม่ต้องตรวจสุขภาพ รับประกันตั้งแต่อายุ 16 - 60 ปี ระยะเวลาชำระเบี้ยประกันและระยะเวลาคุ้มครอง 5 ปี
 
ทั้งนี้ เพื่อสร้างการรับรู้ในวงกว้าง บริษัทฯ จึงได้จัดทำภาพยนตร์โฆษณาในลักษณะ Direct Response TVC ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ช่องต่างๆ เพื่อประชาสัมพันธ์การขายแบบประกันดังกล่าว ซึ่งจะขายผ่านช่องทาง Tele Sale
 
แบบประกันดังกล่าว เป็นหนึ่งใน Signature Products ประเภทไม่เคลม มีคืน ของบริษัทฯ ที่เหมาะกับกลุ่มวัยทำงานในทุกสาขาอาชีพ ทั้งกลุ่มที่มีสวัสดิการเดิม แต่ต้องการสร้างสวัสดิการเพิ่มเติม เช่น ข้าราชการ พนักงานบริษัท และกลุ่มอาชีพอิสระ ที่ต้องการสร้างหลักประกันและเพิ่มความมั่นคงทางการเงินให้ครอบครัว เช่น เจ้าของกิจการ ธุรกิจ SME นักร้อง นักแสดง พ่อค้า แม่ค้า เป็นต้น
 
โดยเฉพาะในยามเจ็บป่วยหรือเกิดอุบัติเหตุ อาจต้องหยุดพักและรักษาตัวในโรงพยาบาลส่งผลให้ครอบครัวขาดรายได้ แบบประกันนี้จึงเป็นทางเลือกในการลดภาระค่าใช้จ่าย และผ่อนคลายความกังวลใจ และหากไม่มีการเคลมสินไหมทดแทนทุกกรณี ยังได้รับเบี้ยฯ ปีสุดท้ายคืน
 
“จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ชี้ให้เห็นว่า ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ 3 ใน 4 เป็นการใช้ไปกับค่ารักษาพยาบาล ซึ่งมีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้คนไทยมีค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเช่นเดียวกัน หากรายได้ต้องสูญเสียไปในแต่ละวันที่เจ็บป่วยหรือไม่สามารถทำงานได้ รายจ่ายจะกลายเป็นภาระใหญ่ที่ตามมา โดยเฉพาะคนทำงานที่ไม่มีสวัสดิการรองรับ จึงควรมีแผนสำรองในการลดภาระทางการเงิน แบบประกันไทยประกันชีวิต เติมเงินยามป่วย จึงเป็นแบบประกันที่ตอบโจทย์”
 
 
รักษาการประธาน คสรท. แนะ รัฐเพิ่มสวัสดิการแรงงานลดค่าใช้จ่ายให้สามารถอยู่ได้ พร้อมแต่งตั้งคณะกรรมการวิจัยโครงสร้างค่าแรงที่ต้องไม่ต่ำกว่าเงินเฟ้อ
 
นายชาลี ลอยสูง รักษาการประธานสมานฉันท์แรงงานไทย หรือ คสรท. เปิดเผยกับสำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น. ถึงมติคณะรัฐมนตรีในการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำปี 2560 ใน 69 จังหวัด ว่า มติ ครม. ออกมาก็ต้องยอมรับ แม้จะไม่เห็นด้วยในหลักการที่การปรับขึ้นค่าแรงไม่เท่ากันทั่วประเทศ แต่เป็นการขึ้นเป็นรายพื้นที่ตั้งแต่ 5 - 10 บาท ซึ่งการปรับขึ้นดังกล่าวรัฐบาลจะต้องเพิ่มมาตรการในการควบคุมดูแลราคาสินค้า เนื่องจากการปรับขึ้นค่าจ้างจะส่งผลให้ราคาสินค้าขยับเพิ่มขึ้น รวมถึงการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นเพื่อพิจารณาและวิจัยโครงสร้างค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งเบื้องต้นอาจจะให้มีการปรับขึ้นหลังจากที่แรงงานทำงานครบ 1 ปี การปรับขึ้นขั้นต่ำจะต้องเท่ากับอัตราเงินเฟ้อ ณ ปีนั้น ๆ เพื่อให้ผู้ใช้แรงงานสามารถอยู่ได้ 
 
นอกจากนี้ ต้องการให้รัฐบาลเข้ามาดูแลในเรื่องของสวัสดิการของแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานที่มาจากต่างจังหวัดให้สามารถอยู่ได้ โดยไม่ต้องทำงานล่วงเวลามากนัก
 
 
พนักงานบริษัทยาโน่ร่วมพันคนปักหลักชุมนุมเรียกร้องโบนัสสิ้นปี
 
เมื่อช่วงค่ำวานนี้ (22พ.ย.) พนักงานษัทยาโน่ อีเลคทรอนิค ประเทศไทย จำกัด ตั้งอยู่ในเขตอุตสาหกรรม 304 ต.ท่าตูม อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี ซึ่งเป็นโรงงานผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์รถยนต์ กล้องถ่ายรูป และชิ้นส่วนเครื่องมือแพทย์ ได้ปักหลักชุมนุมเรียกร้องโบนัส หลังจากทราบว่า โบนัสสิ้นปีลดลงเหลือเพียง 1.5 เดือน จากที่เคยได้ 3.5 เดือนเมื่อปีที่แล้ว ภายหลังจากมีการกระจายข่าวออกไป ทำให้พนักงานเกิดความไม่พอใจ จนพนักงานในกะเช้าไม่ยอมเข้าโรงงานและมีพนักงานเกือบ 1,000 คน ออกมานั่งปักหลักอยู่ในสนามในโรงงานโดยหนึ่งในพนักงานที่ร่วมประท้วงบอกว่า ทุกปีโรงงานจะประกาศโบนัสประจำปี ตั้งแต่วันที่ 20 พ.ย.ของทุกปี แต่ปีนี้เลื่อนไปเป็นวันที่ 14 ธ.ค.ซึ่งผิดปกติ จากโบนัสที่โรงงานเคยจ่ายให้ จะอยู่ที่ 3.5 เดือน แต่ปีนี้จะจ่ายให้ 1.5 เดือน ถือว่าไม่เป็นธรรมนายสมพงษ์ คล้อยแคล้ว สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.ปราจีนบุรี เข้าเจรจาไกล่เลี่ย โดยบอกว่าข้อเรียกร้องของพนักงานประกอบด้วย ขอโบนัสขั้นต่ำรวม 3 เดือน , ค่าเดินทางกลับบ้าน 3,000 บาท ,ห้ามปลดหรือโยกย้ายพนักงานที่หยุดงานประท้วง, เรียกร้องเบี้ยขยัน 700 - 900 บาท และ เพิ่มค่าครองชีพ 500 บาท จากเดิม 292 บาท ขณะที่ทางหัวหน้างานของบริษัทได้ประกาศว่าเกิดความผิดพลาดและทางโรงงานยังไม่มีการประเมินผลจึงขอเลื่อนออกไปสร้างความไม่พอใจให้แก่พนักงาน ทำให้พนักงานยังคงปักหลักอยู่ภายในโรงงาน โดยมี สภ.ศรีมหาโพธิ ส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าควบคุมสถานการณ์ล่าสุดวันนี้ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.ปราจีนบุรี ได้พยายามดำเนินการตามข้อเรียกร้องของพนักงาน โดยขอให้จัดผู้แทนพนักงานเข้าเจรจรจากับทางนายจ้าง โดยคาดว่าจะมีการเจราจรในวันนี้อีกครั้ง
 
 
กลุ่มอุตสาหกรรมลดจ่ายโบนัส เหตุเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว
 
ผลสำรวจจากสถาบันเสริมสร้างขีดความสามารถมนุษย์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ที่รวบรวมจาก 535 สถานประกอบการ ใน 12 คลัสเตอร์อุตสาหกรรม พบว่าภาพรวมการปรับขึ้นค่าจ้างอยู่ที่ร้อยละ 4.17 และมีการให้โบนัสเฉลี่ย 1.87 เดือน ซึ่งลดลงเล็กน้อยตามสภาวะเศรษฐกิจและการส่งออก แต่ไม่น่าจะมีผลต่อแรงงานมากนัก
 
โดยคลัสเตอร์อุตสาหกรรมที่ปรับค่าจ้างมากที่สุด อันดับ 1 คือกลุ่มพลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ร้อยละ 5 อันดับ 2 ปิโตรเคมี ร้อยละ 4.7 และอันดับ 3 ผลิตภัณฑ์สุขภาพและความงาม ร้อยละ 4.68 ส่วนการจ่ายโบนัสคลัสเตอร์อุตสาหกรรมที่ให้มากที่สุด อันดับ 1 คือยานยนต์/ชิ้นส่วน 3.37 เดือน อันดับ 2 ปิโตรเคมี 2.2 เดือน อันดับ 3 เครื่องใช้ไฟฟ้า/อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องปรับอากาศ 1.82 เดือน
 
ไทยมีแรงงานอุตสาหกรรมทั้งหมดในปี 2558 เกือบ 6.2 ล้านคน และต้องการกำลังคนเพิ่ม ร้อยละ 4.48 ทำให้ประเมินว่าปี 2560 ต้องการคนเพิ่มและทดแทนคนเกษียณประมาณ 2.7 แสนคน แต่ประธานสถาบันส่งเสริมขีดความสามารถมนุษย์ มองว่าความต้องการแรงงานมีแนวโน้มลดลงจากเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้น
 
สำหรับกลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วน ที่ยังรักษาแชมป์จ่ายโบนัสมากที่สุด ภาคแรงงานให้ข้อมูลว่าการเติบโตของอุตสาหกรรมนี้ยังไปได้ดีต่อเนื่องถึงปี 2560 และยอดผลิตปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 2 ล้านคันตามเป้าหมาย
 
ขณะที่ตัวเลขอย่างไม่เป็นทางการจากสมาพันธ์แรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย โรงงานผลิตรถยนต์ส่วนมากอยู่ที่ 8 เดือน โรงงานผลิตชิ้นส่วนขนาดใหญ่ อยู่ที่ 6-7 เดือน ส่วนโรงงานขนาดเล็ก อยู่ที่ 5-6 เดือน
 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net