ภาวะกลับไม่ได้ ไปไม่ถึง: ประชากรย้ายถิ่นจากรัฐฉานและนโยบายสัญชาติ

สำรวจความฝันและความเป็นอยู่ของประชากรย้ายถิ่นจากรัฐฉานที่พำนักอยู่ในประเทศไทย หลายครอบครัวยังหวังกลับไปพร้อมหน้าพร้อมตาที่บ้านเกิด แต่ก็มีอีกหลายครอบครัวหวังเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่นี่ ขณะที่ลูกหลานของพวกเขาเติบโตขึ้นในสังคมไทยพร้อมความรู้สึกว่าที่นี่ก็คือบ้าน พร้อมติดตามนโยบายด้านสัญชาติและสถานะบุคคลของรัฐไทย และแนวโน้มการปรับตัวเพื่อตอบโจทย์ประชากรข้ามแดน และภาวะสังคมผู้สูงอายุ

ในรอบหลายทศวรรษมานี้ หลายชีวิตจากรัฐฉานตัดสินใจเดินทางข้ามแดนมายังภาคเหนือของไทย ที่ซึ่งพวกเขาใช้ทักษะความสามารถ ความมานะ ที่พวกเขามีติดตัวประกอบอาชีพเลี้ยงครอบครัว ในขณะที่คนรุ่นลูกหลานตั้งใจเรียนในระบบการศึกษาอย่างเต็มที่และมีความฝันจะตอบแทนสังคม อย่างไรก็ตามสิทธิการอยู่อาศัยและประเด็นสัญชาติยังเป็นข้อจำกัดสำหรับพวกเขา

 

เยี่ยมเยือนครัวเรือนแรงงานย้ายถิ่นจากรัฐฉาน

ที่ท้ายหมู่บ้านแถบชานเมืองในจังหวัดเชียงใหม่เป็นที่ตั้งของชุมชนที่พักอาศัยของชุมชนช่างก่อสร้าง ซึ่งทำงานก่อสร้างให้กับโครงการหมู่บ้านจัดสรรแห่งหนึ่ง ที่ดินท้ายหมู่บ้านแห่งนี้ เจ้าของโครงการหมู่บ้านจัดสรรได้จัดหาไว้เพื่อให้ช่างก่อสร้าง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานชาติพันธุ์ไทใหญ่จากรัฐฉานมาพักอาศัยรวมกัน โดยผู้อาศัยจ่ายเฉพาะค่าน้ำกับค่าไฟ

ทางเดินหน้าบ้านของชุมชนช่างก่อสร้างแห่งหนึ่งที่ท้ายหมู่บ้านแถบชานเมืองใน จ.เชียงใหม่

พ่อค้ารถเร่บรรทุกสิ่งของอุปโภค อาหารสดและอาหารแห้ง มาเปิดท้ายปิกอัพเป็นตลาดนัดในช่วงเย็นภายในบริเวณลานกว้างของชุมชนช่างก่อสร้างดังกล่าว

 

ย่านที่พักอาศัยดังกล่าวเป็นบ้านฝาไม้กระดาน บ้างก็เป็นไม้ไผ่ซีก หลังคามุงสังกะสี ปลูกเป็นแถวตอน 3 แถว แถวหนึ่งนับบ้านได้ 10 หลังคาเรือน รวมทั้งชุมชนตก 30 หลังคาเรือน ระหว่างแถวมีทางเดินกว้างราว 4 เมตร พอจูงรถจักรยานยนต์สวนกันได้ สายไฟโยงใยไปตามต้นเสาไฟฟ้าทำด้วยไม้ ส่วนต้นสายนั้นแยกมาจากเสาไฟฟ้าที่ปากทางเข้าชุมชน หน้าบ้านของพวกเขามีนั่งร้านยกสูงสำหรับวางถังน้ำ ใช้เป็นพื้นที่สำหรับทำกับข้าวและล้างภาชนะ

ราวห้าโมงเย็น สมาชิกชุมชนเริ่มกลับมาจากสถานที่ก่อสร้าง พวกพ่อบ้านแม่บ้านจับจ่ายซื้ออาหารสด รวมทั้งสิ่งของอุปโภคจำเป็นจากพ่อค้ารถเข็นที่มาตั้งเพิงขายชั่วคราวที่ปากทางเข้าชุมชน บ้างก็ขี่จักรยานยนต์มีลูกๆ ซ้อนท้ายมาด้วย นัยว่าเพิ่งรับกลับมาจากโรงเรียนในเมืองเชียงใหม่

ภารกิจหลังกลับถึงบ้าน บางบ้านเริ่มหุงหาอาหารที่หน้าบ้าน บ้างก็เริ่มอาบน้ำที่ลานตรงบ่อน้ำกลางแจ้งในชุมชน ซึ่งในชุมชนมีบ่อน้ำอยู่ 2 จุด เมื่ออาหารยกลงจากเตา หลายบ้านเริ่มล้อมวงรับประทานอาหารเย็นภายในบ้าน

ครอบครัวหนึ่งที่เพิ่งรับประทานอาหารเย็นเรียบร้อย คือครอบครัวของพี่สอง (นามสมมติ) และนางแสง (นามสมมติ) สองสามีภรรยาที่ทำงานก่อสร้างให้กับโครงการหมู่บ้านแห่งดังกล่าว

พี่สอง อายุ 43 ปี เป็นคนเชื้อสายไทใหญ่ เกิดที่บ้านหนองกอก อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ โดยถือบัตรชุมชนบนพื้นที่สูง ซึ่งผู้ที่ถือบัตรดังกล่าวตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเมื่อ 15 มิถุนายน 2559 กำหนดให้ต้องขออนุญาตต่อนายอำเภอที่ภูมิลำเนา ในกรณีที่ต้องออกนอกเขตจังหวัดซึ่งถือเป็นเขตพื้นที่ควบคุมคนต่างด้าว

ส่วนนางแสง อายุ 36 ปี มาจากลายค่า อำเภอทางตอนใต้ของรัฐฉาน ประเทศพม่า เข้ามาทำงานที่เมืองไทยในปี 2542 ปัจจุบันถือบัตรอนุญาตทำงานของคนต่างด้าวสัญชาติพม่า นางแสงเล่าว่าสมาชิกเกือบทุกหลังคาเรือนของชุมชนช่างก่อสร้างแห่งนี้ล้วนมาจากลายค่า โดยเครือข่ายญาติพี่้น้องต่างบอกกันปากต่อปาก ทำให้ชาวไทใหญ่จากลายค่า เข้ามาทำงานเป็นช่างก่อสร้างประจำโครงการหมู่บ้านจัดสรรแห่งนี้จำนวนมาก

 

ลายค่าในภูมิศาสตร์ของสงครามและความขัดแย้ง

ที่ตั้งของเมืองลายค่า (จุดสีชมพูและแผนที่แสดงการบังคับอพยพชาวบ้าน 1,478 หมู่บ้าน กินพื้นที่ 11 อำเภอของรัฐฉานช่วง พ..2539–2541 ทำให้ชาวบ้านกว่า แสนคนไร้ที่อยู่อาศัย เฉพาะที่ลายค่า มีผู้ได้รับผลกระทบ 8,735 ครอบครัว (ที่มาดัดแปลงจากรายงานของมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนรัฐฉาน (SHRF) เมษายน 2541)

ลายค่าในอดีตถือเป็นพื้นที่ขัดแย้งหนึ่งในรัฐฉาน มักมีการปะทะกันระหว่างกองทัพพม่าและกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่คือกองทัพรัฐฉาน (SSA) โดยกองทัพพม่ามักใช้ยุทธการตัดสี่ได้แก่ ข่าวสาร เสบียง คน และเงินทุน เพื่อตัดการสนับสนุนกองกำลังชนกลุ่มน้อย

จากข้อมูลของมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งรัฐฉาน (SHRF) ระบุว่าในปี 2539-2541 มีการย้ายประชาการจากหมู่บ้านใน 11 อำเภอของรัฐฉานภาคใต้ให้เข้าไปอยู่ในตัวเมือง ส่งผลให้หมู่บ้านกว่า 1,478 แห่ง ต้องกลายเป็นหมู่บ้านร้าง ชาวบ้านกว่า 3 แสนคนต้องไร้อยู่ที่อาศัย โดยเฉพาะที่อำเภอลายค่า มีหมู่บ้านถูกบังคับย้าย 201 แห่ง รวมผู้ได้รับผลกระทบ 8,735 ครอบครัว (อ่านรายงานของ SHRF)

นอกจากนี้ในปี 2552 เคยมีข่าวกองทัพพม่าบังคับโยกย้ายชุมชนในอำเภอลายค่ากว่า 30 หมู่บ้านให้ไปอยู่ที่ตำบลท่าหมาก-ลาง เพื่อตัดการสนับสนุนกองกำลังชนกลุ่มน้อยด้วย (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

ส่วนผลการสำรวจแรงงานข้ามชาติจากพม่าในประเทศไทย เมื่อปี 2558 โดยองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) (อ่านรายงานของ IOM) ชี้ว่าในภาพกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ระบุว่า ปัจจัยทางเศรษฐกิจเป็นสาเหตุลำดับแรกที่ทำให้เดินทางเข้ามาทำงานในประเทศไทย ขณะที่มีกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 7 ที่ระบุว่าเข้ามาประเทศไทยเพราะหนีจากการถูกกดขี่ทางการเมืองและความขัดแย้ง

แต่หากจำแนกกลุ่มตัวอย่าง แยกตามภูมิลำเนาที่เดินทางมา พบว่า กลุ่มตัวอย่างที่เป็นแรงงานข้ามชาติมาจากรัฐฉานเกินร้อยละ 50 ระบุถึงด้านความไม่ปลอดภัยในพื้นที่ เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ตัดสินใจเดินทางมาประเทศไทย

ขณะที่รัฐกะเหรี่ยง ซึ่งเป็นรัฐที่มีความขัดแย้งของสงครามเช่นเดียวกัน โดยกลุ่มตัวอย่างที่เป็นแรงานข้ามชาติจากรัฐกะเหรี่ยงประมาณร้อยละ 21 ที่ระบุถึงความไม่ปลอดภัยในพื้นที่ เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ตัดสินใจเดินทางมาประเทศไทย

โดย IOM เสนอว่าสาเหตุที่ข้อมูลเชิงสถิติจากแรงงานข้ามชาติระหว่างรัฐฉานกับรัฐกะเหรี่ยงมีผลที่ต่างกัน ปัจจัยหนึ่งเป็นเพราะตามแนวชายแดนไทย-พม่าด้านติดกับรัฐกะเหรี่ยงมีค่ายผู้ลี้ภัย ในขณะที่พื้นที่ภาคเหนือของไทยที่ติดกับรัฐฉานไม่มีค่ายผู้ลี้ภัยที่เป็นทางการ ผลก็คือผู้ที่อพยพมาจากรัฐกะเหรี่ยงหากไม่อยู่ในค่ายผู้ลี้ภัย ก็จะอยู่หรือทำงานนอกค่ายผู้ลี้ภัย ในขณะที่ผู้ที่มาจากรัฐฉานส่วนใหญ่ มีทางเลือกเพียงเข้ามาเป็นแรงงานย้ายถิ่นอยู่ในประเทศไทย

 

 

แรงงานฝีมือและการศึกษาของลูกสาว

สองและแสงพบกันจากการทำงานก่อสร้างกับบริษัทรับเหมาที่รับงานก่อสร้างหมู่บ้านจัดสรรโครงการใหญ่ในเชียงใหม่ และเนื่องจากบริษัทรับเหมามีโครงการก่อสร้างมาเรื่อยๆ กับบริษัทดังกล่าว ทั้งคู่จึงทำงานกับโครงการแห่งนี้มาตลอด โดยบริษัทจะแบ่งจ่ายค่าตอบแทนเป็นรายปักษ์ แบ่งเป็นต้นเดือน 1 รอบ และกลางเดือน 1 รอบ

สำหรับสองทำงานในตำแหน่งช่างฉาบปูน ซึ่งเป็นงานใช้ทักษะและเป็นประเภทงานที่ขาดช่างผู้ชำนาญ พี่สองบอกว่ารายได้ในแต่ละวัน ผู้รับเหมาจะจ่ายให้ตามปริมาณงาน เมื่อสอบถามว่าเฉลี่ยได้ค่าตอบแทนวันละเท่าไหร่ พี่สองประเมินว่ารายรับมากน้อยแตกต่างกันไป แต่วันหนึ่งไม่ต่ำกว่าวันละ 500 บาท

“อย่างเช่น วันนี้มีฉาบปูน 20 ตารางเมตร เขาจ้างเราตารางเมตรละ 70 บาท แต่ก็ไม่ได้อย่างนี้ทุกวันนะ”

ส่วนแสง ทำงานเป็นผู้ช่วยช่างก่อสร้างอีกที โดยได้ค่าตอบแทนน้อยกว่าทักษะและปริมาณงานในแต่ละวัน โดยเฉลี่ยวันหนึ่งได้ประมาณ 350 ถึง 400 บาท

ทั้งคู่มีลูกสาว 2 คน คนโตอายุ 16 ปี เรียนชั้น ม.3 โรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งหนึ่งใน อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ คนเล็กอายุ 6 ปี เพิ่งเข้าเรียนชั้นอนุบาล 3 พวกเขาอาศัยอยู่ในบ้านไม้หลังเล็กในชุมชนช่างก่อสร้างที่นี่ แสงบอกด้วยว่าลูกสาวคนโตตั้งใจเรียนดี และกำลังอยู่ระหว่างตัดสินใจว่าจะเรียนอาชีวะหรือมัธยมปลาย

เมื่อถามว่าวางแผนจะกลับบ้านที่ลายค่าหรือไม่ แสงตอบว่า ก็อยากกลับบ้าน แต่พอมีลูก ลูกๆ ก็โตและกลายเป็นคนที่นี่ไปแล้ว

 

ประชากรย้ายถิ่นและความสำคัญทางเศรษฐกิจ

จากรายงานที่สำรวจเมื่อปี 2015 ขององค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) (อ่านรายงาน) ระบุว่าประเทศไทยมีประชากรย้ายถิ่นจากนอกประเทศเข้ามาราว 3.5 ล้านคน ในจำนวนนี้ 3 ล้านคนอยู่ในตลาดแรงงาน คิดเป็นร้อยละ 7 ของประชากรวัยกำลังแรงงานในประเทศไทย และมีตัวเลขประมาณการว่าแรงงานย้ายถิ่นเหล่านี้ 2.3 ล้านคนมาจากพม่า

ในกรณีของแรงงานจากพม่า ผลสำรวจกลุ่มตัวอย่างของ IOM ระบุว่า โดยเฉลี่ย แรงงานส่งเงินกลับคนละ 962 เหรียญสหรัฐต่อคนต่อปี โดยประเมินว่ามีเงินจากน้ำพักน้ำแรงส่งกลับราว 1.7 พันล้านเหรียญสหรัฐต่อปี ในจำนวนนี้ 1.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ ถูกส่งกลับไปให้ครอบครัวของพวกเขาในรัฐชาติพันธุ์อย่างรัฐมอญ รัฐฉาน รัฐกะเหรี่ยง และภาคตะนาวศรี

กรณีของแรงงานจากรัฐฉาน พวกเขาจะส่งเงินกลับบ้านเฉลี่ย 545 เหรียญสหรัฐต่อคนต่อปี คิดเป็นวงเงินรวม 197.67 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี ซึ่งน้อยกว่าค่าเฉลี่ยของวงเงินที่แรงงานจากพม่าจะส่งกลับบ้าน

โดยความถี่ของการส่งเงินกลับคือหลายๆ เดือนจะส่งเงินกลับไปสักครั้งหนึ่ง ผ่านช่องทางการเงินที่ไม่เป็นทางการเช่น กิจการโอนเงินของนายหน้า ครอบครัว หรือเพื่อน โดยเหตุที่ต้องส่งเงินผ่านช่องทางเหล่านี้ ก็เพราะอุปสรรคที่ปลายทาง เช่น ภูมิลำเนาของครอบครัวอยู่ในชนบท การทำธุรกรรมที่ธนาคารในเมืองต้องแสดงบัตรประชาชน หรือมีบัญชีธนาคาร

 

แม่เลี้ยงเดี่ยวจากรัฐฉานกับลูกชายวัย 4 ขวบ

บ้านเล็กๆ อีกหลังหนึ่งในชุมชนช่างก่อสร้าง มีสมาชิก 2 คน คือนางมุง (นามสมมติ) อายุ 39 ปี เป็นชาวไทใหญ่จากลายค่า ซึ่งกำลังป้อนข้าวให้กับน้องโย (นามสมมติ) ลูกชายอายุ 4 ขวบ นางมุงหย่าร้างกับสามีแล้ว ทำให้ภาระการเลี้ยงลูกชายตกเป็นหน้าที่ของเธอ

นางมุงมีพี่น้องทั้งหมด 4 คน ยังอยู่ที่ลายค่า 2 คน ที่บ้านมีอาชีพทำนาข้าวเจ้าสลับกับปลูกกระเทียม นอกจากนี้มีปลูกข้าวเหนียวอยู่บ้างในไร่นาสำหรับใช้ทำขนม ส่วนพี่สาวอีกคนของนางมุงอยู่ที่ ตำบลเปียงหลวง อำเภอเวียงแหง พื้นที่ชายแดนทางเหนือของจังหวัดเชียงใหม่อยู่ติดต่อกับตอนใต้ของรัฐฉาน นางมุงเคยมาทำงานที่เชียงใหม่ระยะหนึ่งในปี 2546 ทำได้ปีเศษ ก็กลับภูมิลำเนาและกลับมาทำงานอีกครั้งในปี 2549 โดยทำบัตรอนุญาตทำงานของคนต่างด้าว

ที่ไซต์งานก่อสร้าง นางมุงทำงานเป็นช่างฉาบปูนและงานขัดพื้นปูน นอกจากรายได้เฉลี่ยวันละ 300 บาทแล้ว ในบางวันนางมุงจะทำงานล่วงเวลาวันละ 3-4 ชั่วโมง ทำให้มีรายได้ราว 9,000-10,000 บาทต่อเดือน ปัจจุบันรายจ่ายหลักนอกจากค่าอาหารเลี้ยงปากท้องแล้ว ยังต้องจ่ายค่าฝากเลี้ยงลูกชายที่โรงเรียนอนุบาลเอกชนแห่งหนึ่งตกเดือนละ 1,600 บาท นอกจากนี้นางมุงยังผ่อนรถจักรยานยนต์ 1 คัน โดยใช้เป็นพาหนะรับส่งลูกไปที่โรงเรียนอนุบาล โดยเดือนหนึ่งนางมุงเติมน้ำมัน 100 บาท ที่เสียเงินเติมน้ำมันไม่มาก เป็นเพราะวันหนึ่งๆ ใช้ขับขี่ไปรับ-ส่งน้องโยที่โรงเรียนอนุบาล ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากชุมชนเท่านั้น

นางมุงกล่าวว่าก่อนหน้านี้ก็เคยส่งเงินกลับไปให้พ่อแม่ที่รัฐฉาน แต่พอเลี้ยงลูกชายรายรับที่เหลือก็เก็บไว้เพื่อให้เป็นทุนสำหรับการศึกษาของลูกชายในอนาคตแทน แต่อนาคตของนางมุง ยังมีความฝันต่างจากครอบครัวของสองและแสง โดยนางมุงหวังว่าถ้าเก็บเงินก้อนใหญ่ได้ก็อยากกลับบ้าน และพาน้องโยซึ่งกำลังอยู่ในวัยหัดพูดภาษาไทยจากโทรทัศน์และชั้นเรียนอนุบาลกลับด้วย

 

ห้องเรียนนอกเวลาและครูอาสาของลูกหลานแรงงาน

นักเรียนในห้องเรียนนอกเวลา ที่สอนโดยครูอาสาสมัครจากกลุ่มพลังเยาวชนรัฐฉาน

“ลูกหลานไทใหญ่ที่เกิดเชียงใหม่ จะพูดภาษาไทใหญ่ได้จากพ่อแม่ พูดภาษาเหนือเพราะต้องสื่อสารกับคนในชุมชน ส่วนภาษาไทยกลางจะพูดได้เมื่อเรียนหนังสือในชั้นเรียน” แสงเมือง ครูอาสาสมัครชาวไทใหญ่ในชุมชนช่างก่อสร้างกล่าวถึงทักษะด้านภาษาของบุตรหลานชาวไทใหญ่ที่เกิดในเชียงใหม่

แสงเมืองปัจจุบันเป็นหนึ่งในครูอาสาสมัครของกลุ่มพลังเยาวชนรัฐฉาน (Shan Youth Power) เครือข่ายเยาวชนจากรัฐฉานที่ทำงานด้านการศึกษาและการสื่อสาร พวกเขาส่งสมาชิกของกลุ่มไปเป็นครูอาสาสมัครเพื่อทำหน้าที่สนับสนุนการศึกษาให้กับชุมชนชาวไทใหญ่ที่อยู่ในเชียงใหม่ โดยช่วยสอนภาษาไทใหญ่ ภาษาอังกฤษ และวิชาอื่นๆ ในช่วงนอกเวลาเรียนให้กับบุตรหลานชาวไทใหญ่ พื้นที่เป้าหมายมีทั้งชุมชนก่อสร้าง ชุมชนภาคการเกษตร โดยพ่อแม่ผู้ปกครองในชุมชนจะช่วยกันจัดหาสถานที่สำหรับจัดการเรียนการสอนให้พวกเขา

โดยในเชียงใหม่ กลุ่มพลังเยาวชนรัฐฉานเปิดชั้นเรียนของครูอาสาสมัครได้ 4 แห่ง กระจายไปตามชุมชนที่มีแรงงานชาวไทใหญ่ที่มาจากรัฐฉาน แต่ละชั้นเรียนมีนักเรียนระหว่าง 20 ถึง 30 คน โดยมีครูทั้งหมด 11 คน เป็นครูเต็มเวลา 8 คน และครูอาสาสมัคร 3 คน

สำหรับสถานที่ซึ่งเป็นชั้นเรียนในชุมชนช่างก่อสร้างนั้น พวกชาวบ้านช่วยกันหาวัสดุมาก่อสร้างเป็นเรือนไม้ไผ่ยกพื้น หลังคามุงหญ้าคา ฝามุงสังกะสี 2 ด้าน ที่เหลือเปิดโล่ง ที่พื้นเรือนปูเสื่อกก มีกระดานดำ 1 หลัง มีโต๊ะไม้ขาเตี้ย 4-5 ตัววางไว้ด้านหนึ่งของห้อง เมื่อจะเริ่มชั้นเรียนทั้งครูและนักเรียนจะช่วยกันยกโต๊ะมาตั้งกลางเพิงไม้ไผ่ เมื่อถึงเวลาเรียนจะออกเป็น 3 กลุ่ม คือเด็กโต เด็กกลาง และเด็กเล็ก โดยแต่ละกลุ่มจะนั่งขัดสมาธิอยู่โต๊ะตัวเดียวกัน หันหน้าล้อมวง

สำหรับเย็นวันนี้ เป็นการสอนวิชาภาษาไทใหญ่ให้กับนักเรียน ครูอาสาสมัคร 2 คน ช่วยกันแบ่งกลุ่มนักเรียนออกเป็น 3 กลุ่มตามวัย ชั้นเด็กโตเรียนภาษาไทใหญ่ระดับสูง เด็กกลางเริ่มเรียนภาษาไทใหญ่เบื้องต้น ส่วนเด็กเล็ก ครูทำหน้าที่หลักเหมือนจับปูใส่กระด้ง นอกจากนี้ก็สอนให้เด็กเล็กหัดอ่านอักษรและสระภาษาไทใหญ่ไปพลาง โดยให้เด็กโตมาช่วยดู ก่อนที่ครูจะผละไปสอนเด็กกลาง และเด็กโต

แสงเมืองกล่าวว่าแต่เดิมลูกหลานชาวไทใหญ่ที่ติดตามครอบครัวมาอยู่เชียงใหม่มีอัตราการออกจากโรงเรียนกลางคันสูงมาก มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่ตัดสินใจเรียนจนจบการศึกษาภาคบังคับ ทำให้การจัดการศึกษาตามชุมชนที่มีแรงงานอาศัยจึงเป็นส่วนสำคัญหลักของการศึกษาสำหรับลูกหลานของครอบครัวแรงงาน แต่ปัจจุบันพ่อแม่ผู้ปกครองเริ่มอาศัยอยู่ในเชียงใหม่ระยะยาว และยินดีเสียค่าใช้จ่ายส่งลูกเรียนหนังสือมากขึ้น ทำให้ในระยะหลังการจัดการศึกษาตามชุมชนของกลุ่มพลังเยาวชนรัฐฉานเปลี่ยนหน้าที่เป็นการสอนเสริมในส่วนที่เยาวชนเหล่านั้นมีความต้องการเรียนเพิ่มเติมแทน

แสงเมืองบอกว่า นักเรียนไทใหญ่ในระยะหลัง ตัดสินใจเรียนในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ ทั้ง ปวช. หรือเรียนจนถึง ปวส. รวมไปถึงการเรียนในระดับมหาวิทยาลัย นอกจากนี้ บางคนก็เรียนต่อในระบบการศึกษานอกโรงเรียน หรือเรียนแบบสอบเทียบเพื่อนำวุฒิไปศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาก็มี โดยส่วนมากใช้หนังสือเดินทางที่ออกโดยรัฐบาลพม่าเป็นเอกสารสมัครเรียน แต่ถ้าใครมีบัตรบุคคลบนพื้นที่สูงที่ราชการไทยออกให้ก็จะใช้บัตรนี้

จากการสำรวจของแสงเมือง ในเรื่องการศึกษาต่อของเยาวชนไทใหญ่ในเชียงใหม่ แสงเมืองบอกว่ามี 2-3 ปัจจัยสำคัญ ปัจจัยแรก เรื่องระยะทาง เด็กไทใหญ่อาจไม่ได้เรียนต่อในขั้นการศึกษาที่สูงขึ้น หากจบการศึกษาที่โรงเรียนใกล้ที่พักหรือที่ทำงานของพ่อแม่ แต่โรงเรียนในระดับชั้นที่สูงกว่าอยู่ห่างไกลบ้าน มีค่าเดินทางมากขึ้น ตัวเด็กอาจตัดสินใจไม่เรียนต่อ หรือพ่อแม่ตัดสินใจไม่ส่งลูกเรียน

ปัจจัยต่อมาคือ ตัวพ่อแม่ เพราะหากพ่อแม่ที่เข้ามาทำงานในเชียงใหม่ตัดสินใจกลับบ้าน แต่โดยมากพ่อแม่จะให้โอกาสลูกซึ่งกำลังเรียนในระดับชั้นมัธยมต้นหรือมัธยมปลาย ให้เรียนจนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 หรือ มัธยมศึกษาปีที่ 6 แล้วค่อยชวนลูกกลับบ้านที่รัฐฉาน

นอกจากนี้ หากพ่อแม่ไม่มีกำลังทางเศรษฐกิจพอที่จะส่งลูกเรียนต่อ ก็มีเยาวชนไทใหญ่จำนวนมากที่พยายามเรียนให้จบวุฒิการศึกษาระดับหนึ่งก่อน แล้วทำงานเพื่อเก็บเงินส่งตัวเองเรียนหรือเลือกดร็อบการเรียน 1 ปีเพื่อทำงานแล้วกลับไปเรียนต่อจนจบ

สำหรับคำถามว่าเยาวชนชาวไทใหญ่ในเชียงใหม่ เลือกเรียนแบบใดมากกว่ากันระหว่างสายสามัญกับสายอาชีพ แสงเมืองกล่าวว่าเท่าที่ทำข้อมูล ผู้ชายอยากเรียนสายอาชีพเพราะการเรียนทางช่างสำหรับพวกเขาคือโอกาสในการทำงาน ทั้งสายก่อสร้าง ช่างเครื่องยนต์ หรือสถาปนิก ขณะที่ผู้หญิงที่เรียนสายอาชีพก็จะสนใจการบัญชี การโรงแรม รวมทั้งคหกรรม ทั้งนี้แม้ผู้หญิงจะเลือกเรียนสายเครื่องยนต์หรืออุตสาหกรรมก็ได้ แต่การตัดสินใจเลือกสาขาก็ยังอยู่ในกรอบวัฒนธรรมที่ว่าอาชีพนี้ผู้หญิงทำได้ อาชีพนี้ทำไม่ได้

ส่วนการศึกษาสายสามัญ แสงเมืองบอกว่าเคยมีกรณีที่เด็กอยากเรียนสายสามัญ แต่เมื่อปรึกษาครูที่โรงเรียนก็ทำให้เด็กเปลี่ยนความคิดและหันไปเรียนสายอาชีพ ทั้งที่เด็กอาจไม่อยากเรียนสายอาชีพจริงๆ เช่น เคยมีกรณีที่เด็กปรึกษาว่าอยากเรียนพยาบาล แต่ครูที่ปรึกษาให้คำแนะนำว่าอาชีพพยาบาลเป็นอาชีพสงวน ทั้งที่ใน พ.ร.บ.วิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ ไม่ได้มีข้อห้าม ยกเว้นการรับราชการ อย่างไรก็ตาม ทำให้เด็กตัดสินใจเรียนต่อด้านบัญชีแทน

แสงเมืองกล่าวด้วยว่า การโยกย้าย การกลับบ้านของพ่อแม่ ยังคงเป็นโจทย์ใหญ่ของการตัดสินใจเรียนต่อของเด็ก “บางทีเด็กได้ไปเยี่ยมบ้านเกิดที่รัฐฉาน ด้านหนึ่งก็อาจคิดว่าได้มาเยี่ยมบ้านเราก็ดี มันก็สนุกดีนะ แต่อีกด้านหนึ่งก็คิดมากว่าถ้าไปอยู่จริงๆ ก็ไม่รู้จะใช้ชีวิตยังไง เพราะเด็กโตมากับการใช้ชีวิตในรูปแบบที่เชียงใหม่มากกว่า” โดยแสงเมืองเสนอว่าสำหรับลูกหลานชาวไทใหญ่ที่มาโตที่เชียงใหม่ ที่จริงอาจกลับไปอยู่บ้านที่รัฐฉานก็ได้อยู่ แต่ก็ต้องมีการปรับตัว ซึ่งเขายอมรับว่าสิ่งนี้ก็เป็นโจทย์ลำบากใจที่เกิดขึ้นกับครอบครัวชาวไทใหญ่เวลาที่ต้องตัดสินใจว่าจะกลับบ้านหรือจะอยู่เชียงใหม่ต่อไป

 

อพยพทั้งครอบครัวเพื่อชีวิตที่ดีกว่า และความหวังเรื่องสัญชาติ

ย่านหอพักเชิงดอยสุเทพ ย่านหลังมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งพี่นวลอาศัยอยู่

หิ้งพระพุทธรูปที่บ้านของพี่นวล ซึ่งยังคงแบบฉบับของชาวไทใหญ่

 

เย็นวันนึ่ง ที่ชุมชนกลางสวนสลับกับย่านหอพักเชิงดอยสุเทพ ในถนนซอยหลังมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ไปหลายกิโลเมตร เรามีนัดพูดคุยกับ พี่นวล ชาวไทใหญ่อายุ 43 ปี ซึ่งเพิ่งกลับจากงานประจำในตำแหน่งแม่ครัวประจำห้องอาหารของโรงแรมขนาดกลางแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่

พี่นวลเล่าว่า พ่อแม่ของพี่นวลเป็นชาวไทใหญ่จากลอยแหลม พี่นวลเป็นลูกคนที่ 4 จากพี่น้องทั้งหมด 6 คน พี่นวลติดตามพ่อแม่เข้ามาอยู่เมืองไทยตั้งแต่ปี 2518 หรือตั้งแต่พี่นวลอายุ 2 ขวบ โดยมาอยู่ที่บ้านยาง ตำบลแม่งอน อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งประชากรส่วนใหญ่ของชุมชนแห่งนี้ เป็นชาวจีนยูนนานที่อพยพมาพร้อมกับทหารจีนคณะชาติ กองพล 93

โดยพ่อแม่มาอยู่เมืองไทยเพราะเห็นว่า ทำกินแล้วยังพอมีเงินเหลือใช้จ่ายไม่เหมือนกับที่อยู่ในรัฐฉาน จึงตัดสินใจขายที่ดินทั้งหมดที่บ้านเกิดเพื่อเป็นทุนรอนค่ารถ พาทั้งครอบครัวพาลูกๆ มาอยู่ที่บ้านยาง โดยครอบครัวของพี่นวลถือบัตรชุมชนบนพื้นที่สูง (บัตรสีชมพู) ตามที่มีการสำรวจโดยกระทรวงมหาดไทย

เมื่ออายุ 23 ปีในปี 2539 ครอบครัวของพี่นวลก็เข้ามาอยู่ที่ตัวอำเภอฝาง แต่กว่าจะมาถึงตำแหน่งแม่ครัว เดิมในปี 2555 ที่พี่นวลเข้ามาสมัครงานกับโรงแรมแห่งนี้ในตำแหน่งพนักงานล้างถ้วยชาม ทำความสะอาดครัว แต่เจ้าของโรงแรมได้แนะนำว่า ถ้าแม่ครัวทำอะไร ก็ให้เข้าไปดู จะได้เรียนรู้งาน และต่อไปจะได้เปลี่ยนอาชีพได้ แม้จะไม่รู้หนังสือ แต่ก็ใช้วิธีจำตามคำแนะนำของแม่ครัวคนก่อนจนขึ้นใจ ว่าแกงอย่างหนึ่งต้องมีส่วนประกอบ มีเครื่องปรุงอะไรบ้าง และในปริมาณเท่าไหร่

“ก็ใช้วิธีลองทำอาหาร ทำเสร็จแล้วก็ให้เขาลองดูว่าได้ไหม เจ้านายก็ไว้ใจ บอกด้วยว่าตั้งใจทำนะพี่นวล ไม่ต้องกลัวเสียของ ถ้าไม่อร่อยก็ไม่ว่ากัน ทำแล้วก็ลองชิมดู เจ้านายเราใจดีมากนะ” พี่นวลกล่าวถึงช่วงเรียนรู้งาน

ทั้งนี้พี่นวลเข้ามาทำงานในตำแหน่งแม่ครัวประจำโรงแรมตั้งแต่ปี 2557 โดยปัจจุบันได้เงินเดือนๆ ละ 11,000 บาท เมื่อหักจ่ายสมทบประกันสังคมก็เหลือ 10,500 บาท โดยโรงแรมแห่งนี้มีตำแหน่งแม่ครัวประจำ 2 คน และมีผู้ช่วยอีก 1 คน

หน้าที่ของพี่นวลในแต่ละวัน จะต้องเตรียมอาหารเช้าให้พอกับจำนวนของผู้เข้าพักโรงแรม วันใดมีผู้เข้าพักเป็นคณะใหญ่ 30 คนขึ้นไป ก็จะเตรียมเป็นอาหารบุฟเฟ่ต์ หากวันใดมีผู้เข้าพักน้อยก็ปรุงแค่พอกับจำนวนผู้เข้าพัก หรือปรุงแบบอาหารตามสั่ง โดยยึดคติการทำงานที่ว่า “...ไม่ต้องเครียด ถ้าวันนี้จะทำแกงเผ็ด เราก็บอกน้องที่ช่วยงานที่เขียนหนังสือได้ ให้เตรียมซื้อหมู ซื้อมะเขือ กะทิ ก็จัดเตรียมไว้...”

“...ที่ว่ายาก ก็ยากพอสมควรนะ เราก็กลัวมันเค็ม กลัวไม่อร่อย กลัวมันไหม้ กลัวมีกลิ่นเหม็น แต่เราก็ต้องใช้ความรู้ทุกสิ่งทุกอย่างในตัวเรา ทำออกมาให้ได้” พี่นวลกล่าวถึงวิธีรับมือในการทำงาน

“เจ้านายสอนอะไรเราก็จำไว้ เราทำเต็มที่ เพราะเขาก็ให้เงินเดือนเต็มที่ เราก็ตั้งใจทำเสียอย่าง ถ้าไม่ตั้งใจทำ อะไรเราก็จะทำไม่เป็นไปเสียหมด นี่พี่นวลอ่านหนังสือ เขียนหนังสือไม่ได้นะ ใช้วิธีจำอย่างเดียว” พี่นวลกล่าว

สำหรับชีวิตครอบครัว นวลแต่งงานกับชาวพม่าจากย่างกุ้ง ซึ่งทำอาชีพพนักงานรักษาความปลอดภัยให้กับบริษัทเอกชนในเชียงใหม่ มีลูกด้วยกัน 2 คน คนโตเป็นผู้หญิงอายุ 23 ปี ปัจจุบันแต่งงานมีลูก 1 คน กับสามีคนไทยที่จังหวัดลำพูน ส่วนลูกคนเล็กเป็นผู้ชายอายุ 15 ปี พอเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ก็ทำงานรับจ้างในสวนส้ม โดยพักอยู่กับคุณยาย หรือแม่ของพี่นวลที่อำเภอฝาง อย่างไรก็ตามลูกชายของพี่นวลยังไม่ได้สัญชาติไทย และยังถือบัตรบุคคลพื้นที่สูง

เมื่อถามถึงความรู้สึกว่าที่ไหนที่ลูกๆ ของนวลรู้สึกว่าเป็นบ้าน นวลบอกว่าคือประเทศไทย ทั้งนี้สามีเคยชวนลูกๆ ไปเที่ยวพม่า แต่ลูกๆ ก็ไม่ยอมกลับ บอกว่าพูดภาษาพม่าไม่เป็น

แม้จะเข้ามาอยู่เมืองไทยเกือบ 40 ปีแล้ว แต่จนถึงปัจจุบัน ก็ยังไม่มีญาติคนใดของนวลที่ได้รับสัญชาติไทย โดยยังถือบัตรประจำตัวบุคคลบนพื้นที่สูง และมีบันทึกข้อมูลการอยู่อาศัยในทะเบียนประวัติบุคคลบนพื้นที่สูงที่ทางราชการสำรวจระหว่าง พ.ศ. 2541-2542

เมื่อถามถึงอนาคต นวลกล่าวว่าก็คงทำงานอยู่ในประเทศไทย ลูกๆ ก็โตเมืองไทย ส่วนแม่ของนวล ปัจจุบันยังอยู่ที่อำเภอฝาง โดยลูกๆ ที่ทำงานในเมืองส่งเงินกลับไปให้แม่เป็นค่าใช้จ่ายเดือนละ 1-2,000 บาท ส่วนครอบครัวของนวล ลูกสาวคนโตก็หมดห่วงไปแล้วหลังแต่งงานมีครอบครัว ส่วนลูกชายคนเล็ก นวลหวังว่าลูกชายจะได้เรียนต่อมากกว่าชั้น ม.3 แต่ยังติดเรื่องไม่มีเงินพอจะส่งเสีย

 

นโยบายด้านประชากรและคนเข้าเมือง:
เมื่อไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ

อดิศร เกิดมงคล นักวิจัยด้านแรงงาน ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (MWG)

 

อดิศร เกิดมงคล นักวิจัยด้านแรงงานข้ามชาติ และผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (MWG) กล่าวถึงนโยบายด้านประชากรของรัฐบาลไทยว่า ในอนาคตอันใกล้ไทยกำลังประสบกับภาวะแรงงานขาดแคลน ทั้งในภาคก่อสร้าง งานบริการประเภทต่างๆ รวมทั้งคนรับใช้ในบ้าน และภาคการผลิตอื่นๆ เช่น ภาคการเกษตร โดยที่ผ่านมาจะเห็นนโยบายของรัฐมีการปรับตัวเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เช่น เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2559 มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี “เรื่อง กำหนดประเภทงานที่คนต่างด้าวอาจขอรับใบอนุญาตเพื่อทำงานตามมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว” ซึ่งมีผลทำให้ผู้ที่ถือบัตรชุมชนบนพื้นที่สูง และรุ่นลูก สามารถทำงานได้ทุกประเภทงาน (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

ซึ่งประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีฉบับนี้ จะช่วยให้ประชากรชาติพันธุ์ที่ถือบัตรชุมชนบนพื้นที่สูงสามารถทำงานได้ตรงกับศักยภาพที่ตัวเองมีอยู่ เช่น ที่ผ่านมาแม้จะเรียนจบในระดับปริญญาตรี หรือประกาศนียบัตรวิชาชีพ แต่ไม่สามารถทำงานได้ตามความถนัดของตัวเองเนื่องจากมีข้อจำกัดของประเภทอาชีพที่สามารถทำได้ ตามที่ระบุใน พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว อย่างไรก็ตามอาชีพในลักษณะวิชาชีพที่ใช้ทักษะบางประเภท ก็ยังไม่อนุญาตให้ประชากรกลุ่มชาติพันธุ์ประกอบอาชีพ เพราะยังคงระบุคุณสมบัติว่าต้องมีสัญชาติไทย เช่น อาชีพข้าราชการ ทนายความ เป็นต้น

ต่อประเด็นที่ว่า ประชากรชาติพันธุ์ที่อยู่บนพื้นที่สูง รวมทั้งคนรุ่นลูกซึ่งเติบโตและได้รับการศึกษาในประเทศไทย ในระยะยาวจะมีโอกาสได้สัญชาติไทยหรือไม่ อดิศรกล่าวว่า ที่ผ่านมาขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาล แต่เงื่อนไขในระยะหลังคือ แนวโน้มของประชากรเกิดน้อยลง ขณะที่รัฐเริ่มมีแนวคิดที่เห็นความสำคัญของคนที่เกิดและโตในประเทศไทยโดยรัฐก็มีแนวโน้มจะให้สัญชาติแก่คนเหล่านี้ หรือผ่อนผันให้อยู่ในประเทศไทยได้ถาวร

ทั้งนี้หลักเกณฑ์ของกระทรวงมหาดไทยที่จะให้สัญชาติไทย แบ่งออกเป็นหลายกลุ่มเช่น

หนึ่ง หลักสายเลือด เมื่อพ่อหรือแม่มีสัญชาติไทย ก็จะทำให้ลูกได้รับสัญชาติตามหลักสายเลือด

สอง เป็นบุคคลต่างด้าวอยู่ในไทยมานาน ต้องการมีสัญชาติไทย และมีคุณสมบัติตามที่กำหนด สามารถขอแปลงสัญชาติไทย โดยอยู่ในดุลยพินิจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

สาม ได้สัญชาติไทยตามนโยบายที่ราชการกำหนดกลุ่มเป้าหมาย เช่น ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย “เรื่อง การสั่งให้บุคคลซึ่งไม่มีสัญชาติไทย ที่เกิดในราชอาณาจักรไทยโดยบิดาและมารดาเป็นคนต่างด้าว ได้สัญชาติไทยเป็นการทั่วไป และการให้สัญชาติไทยเป็นการเฉพาะราย” เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2555 ซึ่งครอบคลุมผู้ที่เกิดในประเทศไทย ซึ่งเป็นบุตรของบุคคลซึ่งไม่มีสัญชาติไทยที่เป็นคนไทยพลัดถิ่น กลุ่มชาติพันธุ์ 14 กลุ่ม คนไร้รากเหง้า และให้สัญชาติไทยเป็นการเฉพาะแก่บุตรของบุคคลต่างด้าวที่มีผลงานและอยู่ในสาขาวิชาชีพที่ขาดแคลน (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

จากแนวปฏิบัติที่ผ่านมาของรัฐบาลไทย อดิศรเสนอว่า “รัฐไทยมักให้สัญชาติไทยกับคนที่อยู่ในประเทศไทยมาระยะเวลาหนึ่ง และรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทยแล้ว”

โดยประโยชน์ของการให้สัญชาติเป็นกรณีแบบนี้ เป็นการตอบโจทย์หลายด้าน ทั้งเรื่องของการเพิ่มกำลังแรงงาน ทำให้เขารู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทย ช่วยแก้ไขปัญหาการเข้าไม่ถึงการบริการของรัฐ เช่น ด้านสาธารณสุข ทั้งนี้รัฐเองยังรู้สึกว่ามีส่วนพัฒนาทรัพยากรมนุษย์มาระดับหนึ่ง แนวทางปฏิบัติเชิงนโยบายมักจะให้สัญชาติกับบุคคลเหล่านี้

 

สถานะพิเศษ’ ข้อเสนอเชิงนโยบาย
เอื้อต่อประชากรข้ามแดน เชื่อมโยงเศรษฐกิจไทย
-พม่าในอนาคต

ต่อคำถามเรื่องของบุตรหลานที่ติดตามพ่อแม่ที่เป็นแรงงานย้ายถิ่น พ่อแม่มีสัญชาติพม่า และถือบัตรอนุญาตทำงานบุคคลต่างด้าว ซึ่งไม่อยู่ในเงื่อนไขที่จะได้สัญชาติ แต่พวกเขาเติบโตและได้รับการศึกษาในประเทศไทย และรู้สึกกังวลจนใจหากในอนาคตต้องติดตามครอบครัวกลับประเทศต้นทางนั้น

อดิศรมีเสนอเชิงนโยบายว่า มีทางเลือก 2 แบบ คือในอนาคตรัฐบาลอาจมีนโยบายให้สัญชาติ บุคคลที่ได้รับการศึกษาในประเทศไทย มีคุณสมบัติ หรือความเชี่ยวชาญตามที่ต้องการ

อีกแบบหนึ่งก็คือ หากบุตรหลานมีความผูกพันกับประเทศไทย ก็ใช้วิธีพิสูจน์สัญชาติพ่อแม่ที่เป็นแรงงานข้ามชาติ และพิสูจน์สัญชาติของบุตรด้วย เพื่อให้มีทางเลือกในอนาคต ควบคู่ไปกับการให้สิทธิอาศัยทั้งในลักษณะอยู่ชั่วคราวหรือถาวร โดยวิธีนี้ แม้จะไม่ถึงขั้นให้สัญชาติไทย แต่เป็นการผ่อนปรนด้านสิทธิการอยู่อาศัย คือรัฐสามารถออกแบบได้ว่าจะอนุญาตให้อยู่อาศัยเป็นการชั่วคราวแล้วใช้วิธีต่ออายุ หรือให้อยู่เป็นการถาวร โดยมาตรการนี้สามารถใช้ พ.ร.บ.คนเข้าเมืองมาช่วยจัดงานได้

อดิศรยังเสนอวิธี “ให้สถานะพิเศษ” กับบุตรหลานของแรงงานข้ามชาติที่เติบโตและเรียนในประเทศไทยว่า แม้ว่าบุคคลกลุ่มนี้จะถือสัญชาติพม่าตามพ่อแม่ แต่รัฐบาลไทยสามารถมีมาตรการพิเศษ เช่น อนุญาตให้มีถิ่นที่อยู่อาศัยในประเทศไทยเป็นกรณีพิเศษ ซึ่งระยะเวลาอยู่อาศัยก็แล้วแต่การออกแบบทางนโยบาย โดยข้อดีก็คือ ทำให้คนกลุ่มนี้เดินทางข้ามรัฐไปมาเพื่อกลับภูมิลำเนา และกลับมาประเทศไทยเพื่อประกอบอาชีพได้ โดยวิธีการนี้จะเป็นผลดีต่อการลงทุนและการประกอบธุรกิจที่เชื่อมโยงระหว่าง 2 ประเทศไทย-พม่า ในอนาคต

อดิศรกล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า นโยบายด้านคนเข้าเมืองและประชากรของไทย มีแนวโน้มที่จะปรับตัวและตอบสนองต่อเงื่อนไขที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งนี้สังคมไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และยังมีความต้องการแรงงานในภาคเศรษฐกิจ บุตรหลานของแรงงานข้ามชาติหลายคนมีศักยภาพค่อนข้างมาก เกิดและเติบโตในประเทศไทย และได้รับการศึกษาในประเทศไทย หลายคนมีทักษะและความชำนาญเฉพาะด้านที่สังคมไทยต้องการ ทั้งนี้ไทยสามารถเรียนรู้นโยบายด้านประชากรได้จากสิงคโปร์ ที่เปิดกว้างให้คนต่างชาติที่มีทักษะเข้าไปประกอบอาชีพและได้สิทธิในการพำนักอาศัยถาวร

 

ข้อมูลประกอบ

International Organization for Migration. Supplementary Report - Assessing Potential Changes in Migration Patterns of Myanmar Migrants. 11 February 2016, https://goo.gl/Bu7Fji

Shan Human Rights Foundation. DISPOSSESSED: A report on forced relocation and extrajudicial killings in Shan State, Burma. April 1998, https://goo.gl/4rkyrk

ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การสั่งให้บุคคลซึ่งไม่มีสัญชาติไทย ที่เกิดในราชอาณาจักรไทยโดยบิดาและมารดาเป็นคนต่างด้าว ได้สัญชาติไทยเป็นการทั่วไป และการให้สัญชาติไทยเป็นการเฉพาะราย, ราชกิจจานุเบกษา, เล่มที่ 129 ตอนพิเศษ 177 ง 23 พฤศจิกายน 2555, http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2555/E/177/50.PDF

ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดประเภทงานที่คนต่างด้าวอาจขอรับใบอนุญาตเพื่อทำงานตามมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2551, ราชกิจจานุเบกษา, เล่มที่ 133 ตอนพิเศษ 260 ง 15 พฤศจิกายน 2559, http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2559/E/260/6.PDF

ขอขอบคุณ อานนท์ ตันติวิวัฒน์ และแสงเมือง ที่เอื้อเฟื้อเรื่องข้อมูลและการประสานงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท