Skip to main content
sharethis

คุยกับสุรชาติ บำรุงสุข หลังสังคมไทยเกิดปรากฏการณ์เปิดเบื้องลึก ด้วยข้อมูลที่ผิดไปจากข้อเท็จจริง ท่ามกลางการตั้งคำถามถึงปฏิบัติการ IO สุรชาติระบุยิ่งปฏิบัติการด้วยความเท็จ ยิ่งทำให้ปฏิบัติการนั้นหมดคุณค่าด้วยตัวของมันเอง

กระแสคลื่นแห่งการปฏิวัติได้เกิดขึ้นเป็นครั้งที่ 3 แล้ว หากเรานับการปฏิวัติเกษตรกรรม และการปฏิวัติอุตสาหกรรม เป็นสองจุดเปลี่ยนหลักของมนุษย์ การปฏิวัติทั้งสองครั้งส่งผลอย่างยิ่งใหญ่ต่อชีวิตของมนุษย์อย่างไม่เคยเป็นมาก่อน สำหรับสังคมไทยหากย้อนกลับไปอย่างน้อยเมื่อ 20 ปีก่อน เราคงจินตนาการไม่ออกว่าชีวิตที่สามารถเข้าถึงเครือข่ายอินเทอร์เน็ตได้ตลอดเวลาผ่านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่พกพาง่ายอย่าง แท็บแล็ต และสมาร์ทโฟนเป็นอย่างไร แต่ทุกวันนี้เราอยู่กับมัน เราอยู่กับโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างเหลือเชื่อ

การเข้าถึงความรู้ ข้อมูล ข่าวสาร ง่ายดายเพียงแค่ขยับนิ้วมือ ความรู้ ข้อมูล และข่าวสารจากมุมใดมุมหนึ่งของโลก หรือในสังคมที่ย่อให้แคบลงมาในระดับประเทศย่อมส่งผลต่อพฤติกรรม การตัดสินใจ และส่งผลต่อความเชื่อ ความคิดของมนุษย์ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ความเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมมนุษย์ในลักษณะดังกล่าว ถูกศึกษา และเกิดกระบวนการพัฒนาข่าวสารที่ไหลเวียนอยู่อย่างไม่จำกัดให้กลายเป็นเครื่องมือทางการทหาร และทางการเมือง ที่เรียกว่า Information Operation หรือ IO

ในขณะที่ข้อมูลข่าวสาร และความรู้ ไหลเวียนอย่างมากมาย สิ่งที่เราสังเกตเห็นได้คือ ภายในคลังข้อมูลข่าวสารเหล่านั้น มีทั้งเรื่องที่เป็นข้อเท็จจริง และเรื่องที่ผิดไปจากข้อเท็จจริงปะปนกันไป และที่สังเกตเห็นได้อีกอย่างคือ แม้จะเป็นข้อมูลข่าวสารที่ผิดไปจากข้อเท็จจริง แต่มันกลับทำงานทางความคิดกับมนุษย์ได้ไม่แตกต่างไปจากข้อมูลที่ยืนอยู่บนฐานข้อเท็จจริง อย่างในกรณีการอัดคลิปเล่าเรื่อง เปิดเผยข้อมูลเบื้องลึก เบื้องหลังของปรากฏการณ์ทางการเมือง โดยช่องยูทูบวิหคเรดิโอ หรือวิทยุออนไลน์ใต้ดินของกลุ่มการเมืองอีกฝั่งหนึ่ง

คงไม่ง่ายเท่าใดนัก สำหรับการใช้ชีวิตในโลกข้อมูลข่าวสาร ในสังคมซึ่งเต็มเปี่ยมด้วยความขัดแย้งทางการเมือง ประชาไทสัมภาษณ์ ศาสตราจารย์ สุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์ประจำภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ศึกษาวิจัยเรื่องความมั่นคง และกองทัพมาอย่างต่อเนื่อง ถึงประเด็นดังกล่าว IO คืออะไร ถูกนำมาใช้ในสังคมไทยอย่างไร รวมทั้งความท้าทายในปัจจุบันที่ใครต่างก็สามารถเป็นผู้ปฏิบัติการได้ และอยู่ไม่ไกลจากตัวเรา กระทั่งตัวเราเองก็อาจจะกลายเป็นผู้ปฏิบัติการ

ศาสตราจารย์ สรุชาติ บำรุงสุข (ภาพจากMCOT)

 

เมื่อรับเข้ามาฝั่งไทยแล้ว ถูกแปลงเป็นหัวข้อในโรงเรียนทหาร หรือหัวข้อในทางยุทธวิธี ถึงที่สุดผมคิดว่าปฏิบัติการข่าวสารไทย มันไม่มีอะไรเกินกว่าปฏิบัติการด้านจิตวิทยาในอดีต

 

สิ่งที่เรียกว่า IO ตามหลักวิชาการทางการทหารคืออะไร และ IO ถูกนำเข้ามาใช้ในสังคมไทยอย่างไร

ปฏิบัติการข่าวสาร หรือ Information Operation ที่ปัจจุบันเราได้ยินกันบ่อยๆ ซึ่งมีตัวย่อว่า IO คงต้องยอมรับว่าคำนี้เป็นคำใหม่ที่เกิดขึ้นในยุคหลังสงครามเย็น ในโลกยุคที่เป็นโลกาภิวัตน์ คนที่เปิดประเด็นอย่างมีนัยสำคัญ โดยให้ความสำคัญกับมิติของข่าวสารน่าจะเป็น อัลวิน ทอฟเลอร์ (Alvin Toffler) ในหนังสือเรื่องคลื่นลูกที่สาม หรือ The Third Wave ซึ่งตีพิมพ์ในปี ค.ศ.1980 หรือเมื่อ 36 ปีก่อน

ผมคิดว่า ทอฟเลอร์เปิดประเด็นชัดคือ การให้น้ำหนักว่าโลกในอนาคตจะเป็นโลกด้านข่าวสารหรือสารสนเทศ ฉะนั้นในมุมมองของ ทอฟเลอร์ เราจะเห็นว่าหลังจากนั้นมันมีคำที่เกิดขึ้นสืบเนื่อง เช่น คำว่า สงครามข้อมูลข่าวสาร (Information Warfare) ซึ่งเป็นคำใหญ่และครอบคลุมสิ่งที่เราเรียกว่า IO อยู่ภายในนั้น

ผมเชื่อว่าคำๆ นี้แต่เดิม ยังไม่เข้ามาสู่สังคมไทยเท่าไหร่ แม้เราจะติดตามงานของ ทอฟเลอร์ ก็จริง แต่ในมิติด้านความมั่นคง ผมคิดว่าเรื่องสงครามข่าวสารที่เป็นความหมายขนาดใหญ่ และเราเชื่อว่าเวลาขณะนั้นเรายังไม่เผชิญ แต่เราก็เริ่มรับรู้ว่าข่าวสารมีความสำคัญมากขึ้น

ฉะนั้นในช่วงหนึ่งเราจะเริ่มเห็น เช่น ในบทความผมที่เขียนเรื่อง สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ หลังจากเหตุการณ์ปล้นปืนในช่วงแรก ผมใช้คำๆ นี้มาก เพราะว่าฝ่ายที่ต่อต้านรัฐใช้ข่าวสารเป็นเครื่องมือในการต่อสู้กับรัฐ ไม่ใช่เพียงการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธเท่านั้น แต่จะเห็นบริบทชัดว่าในกรณีความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ นอกเหนือจากสงครามที่อยู่ในรูปของกองกำลังติดอาวุธนั้น ยังมีสงครามอีกชุดหนึ่งที่สู้รบกันผ่านข้อมูลข่าวสาร ฉะนั้นถ้าจะเรียกอย่างที่เราเห็นในสามจังหวัด ซึ่งบทความผมหลังจากปี พ.ศ. 2547 ได้พูดถึงเรื่องนี้ค่อนข้างบ่อย แล้วยอมรับว่าเป็นความสำเร็จของผู้ก่อความไม่สงบในสามจังหวัดที่มีขีดความสามารถในการใช้ข่าวสาร เพื่อการต่อต้าน หรือต่อสู้กับฝั่งรัฐไทย

แต่ในอีกมุมหนึ่งผมเชื่อว่า เรื่องพวกนี้เป็นผลพวงจากความสัมพันธ์ทางทหารระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกา เราเข้าไปมีความสัมพันธ์ทั้งในแง่ของการฝึก การรับรู้ข้อมูลข่าวสารต่างๆ ในบริบทที่เป็นหลักนิยม หรือในชุดวิธีคิดทางการทหารของอเมริกัน ผมเชื่อว่าแม้การฝึกคอบร้าโกลด์  (Cobra Gold) เอง ก็มีการพูดถึงเรื่อง IO มาเป็นระยะเวลาพอสมควร นอกจากนั้นทหารไทยที่เข้าไปเรียนในโรงเรียนทหารของสหรัฐฯ ก็อาจจะเอาชุดความรู้ หรือเอกสารพวกนี้กลับบ้าน

ในส่วนของกองทัพสหรัฐฯ ในยุคหลังสงครามเย็น เมื่อสหรัฐฯ เปิดปฏิบัติการทางทหาร สหรัฐฯ ยอมรับว่าข่าวสารเป็นโจทย์อีกชุดหนึ่ง ใช่แต่เป็นเพียงโจทย์ของผู้บังคับบัญชาในสนามเท่านั้น แต่ยังเป็นโจทย์ของผู้บังคับบัญชาระดับสูงที่อยู่แนวหลัง ดังเห็นได้จากกรณีที่สหรัฐฯ ส่งกองกำลังเข้าไปในประเทศปานามา ในการบุกจับตัวประธานาธิบดีของปานามา ที่มีคดีเกี่ยวข้องกับยาเสพติด สหรัฐฯ ยอมรับว่าในกรณีอย่างนี้ ข่าวสารเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่กระทรวงกลาโหมต้องให้ความสำคัญ ยิ่งระยะเวลาทอดนานขึ้นในช่วงสงครามเย็น เราเห็นการขยายตัวของกระแสโลกที่เป็นโลกกาภิวัตน์ ข่าวสารมีบทบาทกับชีวิตคนในด้านต่างๆ มากขึ้น โจทย์ในมุมแคบ ต้องใช้คำว่าในโจทย์ที่เป็นโจทย์แคบของปฏิบัติการทางทหารก็คือ ข่าวสารจะมีบทบาทอย่างไรกับปฏิบัติการทางทหาร ฉะนั้นภายใต้บริบทอย่างนี้ กองทัพสหรัฐฯ จึงทำการศึกษาแล้วสร้างเป็นหลักนิยม หลักคิดสำหรับนายทหารขึ้น

งานชิ้นต้นๆ มีทั้งงานที่ออกมาภายในเหล่าทัพ ไม่ว่าจะเป็นกองทัพบก กองทัพเรือ หรือกองทัพอากาศของสหรัฐฯ เอง แต่ตัวเอกสารสำคัญเป็นเอกสารที่ออกโดย คณะเสนาธิการร่วมของกองทัพสหรัฐฯ หรือที่เรียกว่า JOINT PUBLICATION 3-13 ซึ่งออกมาต้นปี 2006 และถ้าเราย้อนกลับไปดูในหลักวิชาทางหารทหาร IO ในเบื้องต้นมีส่วนประกอบหลักๆ หลายส่วนคือ เรื่องของสงครามอิเล็กทรอนิกส์ เรื่องปฏิบัติการเครือข่ายคอมพิวเตอร์ เรื่องของปฏิบัติการด้านจิตวิทยา เรื่องของการลวงทางการทหาร เรื่องของความมั่นคงในการปฏิบัติการ ฉะนั้นจะเห็นว่า องค์ประกอบมันมีรายละเอียดอยู่พอสมควร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จะเห็นชัดว่า IO มีความเกี่ยวข้องกับเรื่องสงครามอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งส่วนนี้ผมเชื่อว่าในมุมของคนทำงานเรื่องความมั่นคง สงครามอิเล็กทรอนิกส์ เป็นเรื่องใหญ่ แล้วก็เป็นโจทย์ขนาดใหญ่อีกชุดหนึ่ง แต่ในประเทศเล็กๆ โอกาสที่จะใช้โจทย์นี้ หรือมีขีดความสามารถเรื่องสงครามอิเล็กทรอนิกส์ อาจจะเป็นอะไรที่ยังห่างไกลพอสมควร

คนที่รับเอาชุดความคิดอย่าง IO เข้ามา อาจจะไม่เห็นองค์ประกอบใหญ่ในแบบที่เป็นชุดความคิดของอเมริกัน เมื่อรับเข้ามาฝั่งไทยแล้ว ถูกแปลงเป็นหัวข้อในโรงเรียนทหาร หรือหัวข้อในทางยุทธวิธี ถึงที่สุดผมคิดว่าปฏิบัติการข่าวสารไทย มันไม่มีอะไรเกินกว่าปฏิบัติการด้านจิตวิทยาในอดีต

พูดง่ายๆ ก็คือ ในฐานะที่กองทัพไทยส่วนหนึ่งมีประสบการณ์มาแล้วกับปฏิบัติการด้านจิตวิทยาในช่วงของสงครามต่อสู้คอมมิวนิสต์ หรือในช่วงสงครามเย็น แต่ถ้ามองความต่างระหว่างปฏิบัติการข่าวสาร กับปฏิบัติการจิตวิทยา ผมคิดว่าปฏิบัติการข่าวสารมีกรอบความคิดที่ใหญ่กว่า มีเครื่องมือที่ถูกนำเข้าไปเกี่ยวข้องมากกว่า ฉะนั้นเมื่อหันกลับมามองในบ้านเราผมคิดว่าลักษณะเป็นการใช้เพียงเพื่อหวังผลว่า เมื่อปฏิบัติการข่าวสารแล้วจะสามารถเปลี่ยนแปลงความคิดของคน หรือสามารถครอบงำความคิดของคนให้เห็นเหมือนกับฝ่ายที่เป็นผู้กระทำ ซึ่งอันนี้จะตอบชัดว่า มันเป็นเพียงปฏิบัติการจิตวิทยาเท่านั้นเอง

ในบริบทอย่างนี้ เมื่อสถานการณ์ความมั่นคงไทย ส่วนหนึ่งเราเห็นในบริบทของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผมคิดว่าจนวันนี้ขีดความสามารถในการปฏิบัติการข่าวสารต่อปัญหาในสามจังหวัด ถ้าประเมินกันก็เป็นอะไรที่เป็นหัวข้อใหญ่ที่ต้องคิด ที่สำคัญยังเป็นเครื่องหมายคำถามใหญ่ๆ ว่าจริงๆ แล้ว ฝั่งความมั่นคงของรัฐไทยประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใดกับการปฏิบัติการข่าวสารในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

 

เราจะเห็นชัดว่าในความขัดแย้งไม่ว่าจะเป็นช่วงรัฐประหารปี 2549 หรือรัฐประหารปี 2557 ปฏิบัติการข่าวสารกลายเป็นองค์ประกอบสำคัญของการสร้างความสำเร็จในการทำรัฐประหาร หรือพูดง่ายๆ คือ เราจะเห็นได้ชัดเจนว่า ฝ่ายรัฐประหารได้ใช้ปฏิบัติการข่าวสารเป็นเครื่องมือปูทางไปสู่การยึดอำนาจ

 

แต่ในมุมหนึ่งผมคิดว่า โจทย์ชุดนี้มันมากับปัญหาการเมืองไทย ความชัดเจนที่เราเห็นก็คือ รัฐประหารในปี 2549 รวมถึงรัฐประหารในปี 2557 มันมีการใช้เครื่องมือในการสร้างข้อมูล มีการใช้ข่าวสารเป็นเครื่องในการโน้มน้าวคน โน้มน้าวความคิดของคนที่เป็นผู้รับสาร ให้เห็นว่า ฝ่ายการเมือง ฝ่ายรัฐบาล หรือพรรคการเมืองทั้งหลายมีปัญหา เราจะเห็นชัดเช่น ตัววิ่งที่อยู่ในช่องสถานนีโทรทัศน์บางช่อง หรือการส่งผ่านข้อมูลข่าวสารที่อยู่ในช่องทางที่เป็นกระแสอนุรักษ์นิยม หรือเป็นชุดสื่อที่มีท่าทีในการต่อต้านรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

ฉะนั้นการใช้เครื่องมือในบริบทของไทยในเวทีการเมือง ปฏิบัติการข่าวสารยังอยู่ในมิติแคบคือ เป็นการใช้เพื่อการต่อสู้ทางการเมือง โดยฝั่งทหารจะถือว่าตนมีเครื่องมือ และมีชุดความคิดที่ต้องการจะส่งผ่าน เราจะเห็นชัดว่าในความขัดแย้งไม่ว่าจะเป็นช่วงรัฐประหารปี 2549 หรือรัฐประหารปี 2557 ปฏิบัติการข่าวสารกลายเป็นองค์ประกอบสำคัญของการสร้างความสำเร็จในการทำรัฐประหาร หรือพูดง่ายๆ คือ เราจะเห็นได้ชัดเจนว่า ฝ่ายรัฐประหารได้ใช้ปฏิบัติการข่าวสารเป็นเครื่องมือปูทางไปสู่การยึดอำนาจ

ซึ่งที่จริงหลายคนก็บอกว่าสหรัฐฯ เองก็ใช้ปฏิบัติการข่าวสารในการโค่นล้มรัฐบาลของประธานาธิบดี ซัดดัม ฮุสเซน ในประเทศอิรัก โดยใช้ปฏิบัติการข่าวสารในการทำลายความชอบธรรมของรัฐบาลซัดดัม ก่อนที่ปฏิบัติการทางการทหารจะเกิด ผมคิดว่าถ้าเราเอาตัวแบบของอิรักมาย้อนกลับมาดูสถานการณ์การเมืองในไทย จะพบว่ามีอาการคล้ายกันอยู่พอสมควรคือ เราเห็นฝ่ายต่อต้านรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เราเห็นกลุ่มอนุรักษ์นิยม รวมถึงปีกทหารนิยมที่ต้องการทำรัฐประหาร ใช้ปฏิบัติการข่าวสารเป็นการทำลายความชอบธรรมของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอย่างชัดเจน และต้องยอมรับว่าประสบความสำเร็จ เพราะทำให้คนไทยจำนวนหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับบรรดาชนชั้นกลางนเมือง หรือบรรดาผู้ที่ชื่นชอบรัฐประหาร หันกลับไปเป็นผู้สนับสนุนระบบทหารอย่างเข้มแข็ง

หมายความว่าการใช้ปฏิบัติการข่าวสาร ไม่จำเป็นที่จะต้องวางอยู่บนฐานของความจริง หรือข้อเท็จจริง  เสมอไปด้วยหรือเปล่า

คำถามนี้เป็นโจทย์ใหญ่ ในช่วงหลังผมเองก็เจอกับคำถามนี้เสมอว่า ในการปฏิบัติการข่าวสาร จำเป็นหรือไม่ที่ต้องอิงอยู่กับข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริง หรือปฏิบัติการข่าวสารเป็นเหมือนกับปฏิบัติการใส่สีตีไข่ คือละเลงทุกอย่าง อันนี้เป็นความลำบาก เพราะว่า ต้องอธิบายในหลักทางทฤษฎี ปฏิบัติการข่าวสาร เดินไปไม่ถึงจุดของการใส่สีตีไข่ขนาดนั้น แต่เป็นการใช้เครื่องมือเพื่อที่จะเอาข่าวสารมาเป็นเครื่องมือ และบูรณาข่าวสารกับเครื่องมือต่างๆ เช่นกรณีของสงครามอิเล็กทรอนิกส์ หรืออะไรก็แล้วแต่ โดยหวังว่าปฏิบัติการอย่างนี้ จะทำให้กองทัพของข้าศึก หรือทำให้ผู้ตัดสินใจทางการทหารของข้าศึก มีขีดความสามารถในด้านข่าวสารลดลง หรือสามารถที่จะครอบงำการตัดสินของฝ่ายข้าศึก จุดน่าสนใจในกรณีของไทยปฏิบัติการข่าวสารมันกลายเป็นเรื่องของความขัดแย้งทางการเมือง ซึ่งต้องยอมรับว่า มันเป็นโจทย์ที่ต่างกับสิ่งที่ถูกสอน หรือถูกระบุไว้ ที่เป็นชุคความคิด หรือหลักนิยมของสหรัฐฯ ถ้าเราย้อนกลับไปอ่านจะเห็นความชัดเจนก็คือ เป้าหมายของปฏิบัติการข่าวสารคือการกระทำกับรัฐบาลข้าศึก หรือกระทำกับกองทัพข้าศึกเป็นด้านหลัก แต่ของเราความน่ากังวลก็คือในโจทย์การเมืองไทยนั้น ผู้เห็นต่างทางการเมืองกลายเป็นข้าศึกเสียเอง

ความละเอียดอ่อนของปฏิบัติการข่าวสารก็คือ ถ้าเราปฏิบัติการข่าวสารโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบระยะยาว ผลกระทบที่จะตามมาชัดเจนคือ ปฏิบัติการชุดนี้จะเป็นเครืองมือของการสร้างความแตกแยกชุดใหญ่ของสังคมไทย แล้วเมื่อปฏิบัติการข่าวสารประสบความสำเร็จในการครอบงำความคิดของผู้รับสารแล้ว ความยากลำบากก็คือ การเปลี่ยนความคิดของพวกเขาในอนาคตจะเป็นเรื่องยาก และยิ่งปฏิบัติการข่าวสารทวีความเข้มข้น หรือทวีความหนักหน่วงของปฏิบัติการซึ่งอาจจะเป็นผลของความขัดแย้งทางการเมือง ก็จะยิ่งทำให้การคลายตัวของความขัดแย้งในการเมืองไทยเป็นไปได้ยากขึ้น

ถ้าเราพูดโยงออกมาจากนอกกรอบปฏิบัติการข่าวสาร เราจะเห็นอย่างหนึ่งคือ หลายฝ่ายพูดถึงการปรองดอง แต่ในขณะเดียวกันเราจะเห็นชัดเจนว่า โจทย์การปรองดอง เป็นอะไรที่หายไปเฉยๆ ท่ามกลางปฏิบัติการข่าวสาร และความขัดแย้งทางการเมือง ถ้ายังปฏิบัติการข่าวสารอย่างเข้มข้น การสร้างความปรองดองจะเป็นปัญหาใหญ่ของการแก้ไขปัญหาการเมืองไทยในอนาคต

 

วันนี้ในความเป็นจริงทุกคนกำลังทำตัวเองเป็นสื่อ และในภาวะที่พวกเราทุกคนเป็นสื่อ ทุกคนกำลังทำหน้าที่ปฏิบัติการข่าวสารไม่แตกต่างกับสิ่งที่ฝ่ายทหารถูกสอนในช่วงยุคหลังสงครามเย็น เพื่อเตรียมรับสงครามกับข้าศึกในแบบของอเมริกัน

 

ช่วยอธิบายรูปธรรมของการปฏิบัติการทางข่าวสารในไทยได้ไหมว่า มีการทำในลักษณะใด และเป็นเรื่องเฉพาะทหารเท่านั้นที่ทำ หรือเป็นเรื่องที่คนอื่นๆ ก็ทำได้

ผมคิดว่าวันนี้ ต้องยอมรับว่าในโลกสมัยใหม่ที่เราเรียกว่าเป็นโลกดิจิตอล คนทุกคนเป็นสื่อโดยตัวของเขาเอง พูดง่ายๆ คือพวกเราที่มีสมาร์ทโฟน หรือสามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ จะเห็นอย่างหนึ่งว่าวันนี้ถ้ามองในกรอบใหญ่คนที่ทำสื่อ สื่อสิ่งพิมพ์ หรือทีวี เจอคู่แข่งที่ใหญ่มาก โลกที่มีสามร์ทโฟน หรือโลกที่เป็นสมาร์ททั้งหลายในบริบทของข่าวสาร มันทำให้ยักษ์ใหญ่ของสื่อไม่ว่าจะเป็นทีวี หนังสือพิมพ์ หรือวิทยุ เผชิญกับยักษ์ใหม่ที่มากับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ แล้วทำให้คนทุกคนที่มีอุปกรณ์เหล่านี้กลายเป็นผู้สื่อข่าวด้วยตัวเอง กลายเป็นผู้ส่งข่าว หรือแม้กระทั่งต้องยอมรับในภาษาที่หนักขึ้นว่า เป็นผู้สร้างข่าวด้วยตนเองก็ได้

ในบริบทที่คนทุกคนกลายเป็นผู้สื่อข่าว เป็นผู้ส่งข่าว รวมทั้งเป็นผู้สร้างข่าวด้วยตัวเองได้ มันทำให้ปฏิบัติข่าวสารที่จากเดิมมันถูกสร้างเพื่อใช้สำหรับทำภารกิจทางการทหาร หรือจากเดิมใช้ในเครือข่ายทางทหารเช่น เรื่องของสงครามอิเล็กทรอนิกส์ เรื่องของคอมพิวเตอร์เน็ตเวิร์กทางทหาร หรือเรื่องของการลวงทางทหาร ปัจจุบันมันเริ่มไม่ใช่ และกลับกลายเป็นว่าคนทุกคนกลายเป็นผู้ปฏิบัติการข่าวสารอยู่ในสังคมด้วยกันทั้งหมด หรือพูดง่ายๆ ถ้าวันนี้เรามองการส่งข่าว เราจะเห็นชัด ใครที่เป็นคนที่ตามข่าวสารจะตอบได้อย่างหนึ่งว่า วันนี้มีทั้งข้อมูลข่าวสารจริง และข้อมูลข่าวสารปลอม กระจายอยู่ทั่วอินเทอร์เน็ต กระจายอยู่ทั่วในไลน์ ฉะนั้นนี่ก็ตอบเราอย่างหนึ่งว่า วันนี้ในความเป็นจริงทุกคนกำลังทำตัวเองเป็นสื่อ และในภาวะที่พวกเราทุกคนเป็นสื่อ ทุกคนกำลังทำหน้าที่ปฏิบัติการข่าวสารไม่แตกต่างกับสิ่งที่ฝ่ายทหารถูกสอนในช่วงยุคหลังสงครามเย็น เพื่อเตรียมรับสงครามกับข้าศึกในแบบของอเมริกัน

แต่พอมาถึงโจทย์ในไทยวันนี้ หรือโลกในต่างประเทศเองก็ตาม หรือแม้กระทั่งเราย้อนกลับไปดูกรณีของอาหรับสปริงในปี ค.ศ. 2011-2012 ก็จะเห็นตัวอย่างชัดว่าความสำเร็จของอาหรับสปริงส่วนหนึ่งเป็นเพราะปฏิบัติการข่าวสารที่มาจากโลกอินเทอร์เน็ต ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ต่อสู้กับระบบอำนาจนิยม ไม่ว่าจะเป็นในตูนิเชีย หรืออียิปต์ก็ตาม แต่ในขณะเดียวกันเราก็ต้องยอมรับว่า ในบริบทของสังคมไทย ฝ่ายอนุรักษ์นิยม ฝ่ายผู้นิยมรัฐประหารทั้งหลาย ซึ่งมักจะเป็นชนชั้นกลางเป็นผู้มีขีดความสามารถในการใช้เครืองมือเหล่านี้มากขึ้น ผมคิดว่าในด้านหนึ่งเราเห็นด้านกลับเหมือนกัน ผมคิดว่าในความขัดแย้งทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นการล้อมปราบเสื้อแดงในปี 2552 หรือการล้อมปราบใหญ่ในปี 2553 ก็ต้องยอมรับว่า ในการล้อมปราบปี 2552 และการล้อมปราบใหญ่ปี 2553 ปฏิบัติการข่าวสารของฝ่ายรัฐ หรือฝ่ายกองทัพ อาจจะต้องถือว่าอยู่ในจุดที่เหนือกว่า อาจจะเป็นเพราะฝ่ายนี้คุมเครื่องมือหลายอย่าง

ฉะนั้นโลกในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นบริบทของสังคมไทย หรือบริบทของสังคมใหญ่ที่อยู่รอบเราเองก็ตาม วันนี้โจทย์เรื่องข่าวสารมันถอยกลับไปสู่คำพูดในยุคที่ อัลวิน ทอฟเลอร์ เริ่มเปิดประเด็นว่า โลกในคลื่นลูกที่สามจะเปลี่ยนชีวิตของโลกขนานใหญ่ ผมคิดว่าสิ่งที่เรากำลังเห็น ถ้าข่าวสารกลายเป็นเครื่องมือชุดใหม่ ในอีกมุมหนึ่งเราก็จะเห็นปฏิบัติการข่าวสารของพรรคการเมือง ในการต่อสู้ในเวทีเลือกตั้ง ผมคิดว่าเราก็เห็น ตัวแบบที่ชัดในกรณีของการแข่งขันระหว่างพรรครีพับลิกัน กับพรรคเดโมแครต ในสหรัฐฯ เราเห็น Information Operation ในอีกแบบหนึ่ง ทั้งในกรณีของคลินตัน และทรัมป์ ผมคิดว่าวันหนึ่งถ้าการเมืองไทยกลับสู่ภาวะปกติที่มีการเลือกตั้ง IO ของพรรคการเมืองในการแข่งขันเพื่อดึงคะแนนเสียง ก็จะเป็นอีกมิติหนึ่งที่เราจะเห็น หรือพูดง่ายๆ วันนี้ข้อสรุปใหญ่ สิ่งที่เรามองเห็นชัดคือ วันนี้สังคมไทยไม่ต่างจากสังคมโลกที่ข่าวสารขับเคลื่อนทางความคิด ขับเคลื่อนการตัดสินใจ ขับเคลื่อนการกระทำของคน ฉะนั้นเมื่อข่าวสารกลายเป็นแก่นกลางของชีวิตคน ความน่าสนใจก็คือ การที่ข่าวสารเป็นแก่นกลางของชีวิตในโลกสมัยใหม่ ที่เป็นโลกาภิวัตน์ มันทำให้พวกเรากลายเป็นผู้ปฏิบัติการข่าวสารไปด้วย แต่ในขณะเดียวกันความน่ากลัวก็คือ เราก็เป็นผู้รับสารของการปฏิบัติการข่าวสารจากคนอื่นไม่แตกต่างกัน

 

สิ่งที่บรรดาคนซึ่งเปิดปฏิบัติการข่าวสารต้องตระหนักอย่างหนึ่งก็คือ ถึงคุณจะอยากใช้ข้อมูลที่ได้จากการสร้างข่าวเท็จ ข่าวปลอม แต่ถ้าถูกจับได้จนถึงจุดหนึ่ง เช่นในกรณีที่เป็นเว็บ เว็บนั้นก็จะหมดค่าไป หรือในกรณีที่เป็นตัวบุคคล อย่างที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเราเห็นตัวอย่างคนที่โพสต์แล้วข้อมูลผิด มันกลายเป็นเป้า ซึ่งในมุมหนึ่งทำให้ผู้อ่านรู้สึกว่าความน่าเชื่อถือของข้อมูล หรือความน่าเชื่อถือของสิ่งต่างๆ ที่นำเสนอผ่านปฏิการข่าวสารหมดค่าด้วยตัวของมันเอง

 

ระหว่าง IO กับ Propaganda เหมือนหรือต่างกันอย่างไร

ผมคิดว่าคำถามนี้เหมือนกับการถามว่า ปฏิบัติการข่าวสารต้องคำนึงถึงข้อมูลมากน้อยเพียงใด ผมคิดว่าในยุคเก่าที่เราสู้กับคอมมิวนิสต์ในยุคสงครามเย็น หนึ่งในกิ่งงานที่สำคัญในการต่อสู้คือ การสู้กันผ่านมิติของการโฆษณาชวนเชื่อ หรือจะใช้ภาษาสุภาพนิดหนึ่งคือ สู้กันผ่านมิติของโฆษณาทางการเมือง ถ้าเราสังเกตลักษณะของการโฆษณาทางการเมืองในแบบเปิด บ่อยครั้งเราจะเห็นชัดว่า ผู้ทำก็พยายามหลีกเลี่ยงการใช้ข้อมูลโกหก เพราะถ้าใช้ข้อมูลโกหกมากจนถูกจับได้บ่อยๆ ปฏิบัติการข่าวสารชุดนั้น หรือปฏิบัติการจิตวิทยาชุดนั้น หรือปฏิบัติการโฆษณาชวนเชิญชุดนั้นจะหมดศักยภาพด้วยตัวของมันเอง

ฉะนั้นผมคิดว่า สิ่งที่บรรดาคนซึ่งเปิดปฏิบัติการข่าวสารต้องตระหนักอย่างหนึ่งก็คือ ถึงคุณจะอยากใช้ข้อมูลที่ได้จากการสร้างข่าวเท็จ ข่าวปลอม แต่ถ้าถูกจับได้จนถึงจุดหนึ่ง เช่นในกรณีที่เป็นเว็บ เว็บนั้นก็จะหมดค่าไป หรือในกรณีที่เป็นตัวบุคคล อย่างที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเราเห็นตัวอย่างคนที่โพสต์แล้วข้อมูลผิด มันกลายเป็นเป้า ซึ่งในมุมหนึ่งทำให้ผู้อ่านรู้สึกว่าความน่าเชื่อถือของข้อมูล หรือความน่าเชื่อถือของสิ่งต่างๆ ที่นำเสนอผ่านปฏิการข่าวสารหมดค่าด้วยตัวของมันเอง

ผมคิดว่าหากนักปฏิบัติการข่าวสาร จะทำตัวเป็นนักโฆษณาชวนเชื่อในรูปแบบของสงครามแบบเก่า ข้อเตือนใจที่ดีที่สุดก็คือ ถ้าโกหก แล้วถูกจับได้เรื่อยๆ ปฏิบัติการชุดนั้นก็จะจบในตัวของมันเอง

 

ข้อมูลข่าวสารหลายๆ อย่างที่อาจจะส่งผลต่อความคิดของคนในสถานการณ์ปัจจุบัน มีลักษณะของการปฏิบัติการที่เป็นองค์กร มีศูนย์กลาง หรือมีแผนงานเป็นขั้นตอนหรือไม่

ผมไม่กล้าตอบในบริบทของไทยว่าไปถึงจุดนั้นไหม แต่คิดว่ามันมีพื้นที่บางส่วนที่เล่นบทเหมือนกันคือเป็นตัวจุดกระแส เราจะเห็นชัดว่ามันมีการเปิดประเด็นผ่านสื่อบางฉบับ มีการเปิดประเด็นผ่านเว็บไซต์บางเว็บไซต์ แล้วก็จะมีคนตามเอาสิ่งที่ปล่อยมา เอาไปส่งต่อเพื่อให้เกิดกระแสโจมตีอีกฝ่ายหนึ่งอะไรอย่างนั้นเป็นต้น มันคล้ายกัน คือถ้ามองปฏิบัติการข่าวสารในบริบทของทหาร ในทุกปฏิบัติการมันต้องมีตัวเซ็นเตอร์หรือศูนย์ปฏิบัติการ แต่ว่าในโลกที่ข่าวสารมันไหลเวียนอย่างไม่มีขีดจำกัดเซ็นเตอร์หรือศูนย์ปฏิบัติการณ์ข่าวสารมันไม่มีความจำเป็นที่ต้องเป็นเหมือนศูนย์ของทหารในอดีต ฉะนั้นศูนย์ตรงนี้มันอาจจะกลายเป็นเว็บไซต์บางเว็บไซต์ มันอาจจะกลายเป็นสื่อบางฉบับ หรือเป็นบุคลที่เป็นตัวสื่อ หรือเป็นบุคคลที่เป็นตัวจุดประเด็น

นั่นแปลว่า ปฏิบัติการข่าวสาร ปฏิบัติการจิตวิทยา อยู่รอบๆ ตัวเราทั้งนั้นเลย

ทุกอย่างอยู่กับตัวเรา ผมคิดว่ามากกว่าใกล้ก็คือ แม้แต่ตัวเราเองเราก็เป็นนักปฏิบัติการข่าวสารไม่แตกต่างกัน พูดง่ายเป็นดังที่ผมอธิบาย ในชีวิตของโลกสมัยใหม่ ข่าวสารคือตัวเรา เมื่อข่าวสารเป็นตัวเราเราก็เป็นคนที่อยู่กับข่าว เล่นกับข่าวไม่แตกต่างจากสื่อทั้งหลาย เพราะอดีตเรามักจะบอกว่าข่าวสารเป็นเรื่องของสื่อ แต่ทุกวันนี้ไม่ใช่ ซึ่งในบริบทอย่างนี้มันเป็นโจทย์ชุดใหม่ที่น่าสนใจ เพราะในโจทย์ชุดนี้ของสังคมไทย มันซ่อนความขัดแย้งทางการเมืองไว้ด้วย คำถามใหญ่ในอนาคตก็คือ ปฏิบัติการข่าวสารเป็นไปได้ไหมที่จะเป็นเครื่องมือในช่วยสร้างความสมานฉันท์ สร้างความปรองดอง และปลดล็อคความขัดแย้งในสังคมไทย แต่ถ้ายังเชื่อว่าปฏิบัติการข่าวสารใช้เพื่อการโจมตีผู้เห็นต่าง ปฏิบัติการข่าวสารจะเป็นเครืองมือสร้างความแตกแยกขนานใหญ่

 

โดยทฤษฎีในโลกที่มีข้อมูลข่าวสารจำนวนมาก คนน่าจะมีความสามารถในการตรวจสอบข่าวสารได้ แต่กลายเป็นว่าในโลกที่มีข่าวสารมาก ข่าวสารที่มากกลับครอบวิธีคิดของคนมากกว่าที่เราเห็นในอดีต

 

มันเคยเกิดมาแล้วในแง่ที่ทำให้คนออกไปฆ่ากัน หรือทำให้คนจำนวนหนึ่งในสังคมไทยออกฉันทานุมัติในการฆ่าคนอีกกลุ่มหนึ่ง ที่เห็นว่าเป็นศัตรู

ถ้ากลับไปเปรียบเทียบช่วงปี พ.ศ. 2519 เราจะเห็นชัดว่าปฏิบัติการข่าวสารเขาทำผ่านหนังสือปีกขวาหลายฉบับ และผ่านสถานีวิทยุทางทหารบางแห่ง ถ้าย้อนกลับไปดูยุคนั้น ขณะที่ปฏิบัติการข่าวสารซึ่งไม่ได้ขยายวงกว้างมากนัก ยังนำไปสู่การฆ่าขนานใหญ่ที่ธรรมศาสตร์ได้ ผมเคยตั้งคำถามว่าถ้าในยุคที่ผมเป็นผู้นำนักศึกษาในปี พ.ศ. 2519 แล้วมีโลกที่เป็นโซเซียลมีโลกที่เป็นสมาร์ททั้งหลาย จะนำไปสู่ปฏิบัติการข่าวสารต่อต้านคอมมิวนิสต์ ต่อต้านนักศึกษาขนาดใหญ่ในเวลานั้น การฆ่าในวันที่ 6 ตุลา จะใหญ่กว่าที่เราเห็นหรือไม่ ฉะนั้นผมคิดว่าอย่างน้อยเราเห็นตัวแบบของสิ่งที่เกิดขึ้นในยุคนั้นที่มีสถานีวิทยุไม่กี่แห่ง หนังสือพิมพ์ไม่กี่ฉบับ เทียบกับปัจจุบันไม่ได้เลย และปัจจุบันผมคิดว่าส่วนหนึ่ง ทุกคนที่ส่งแชร์ ส่งเน็ต ส่งไลน์ น้อยคนมากที่จะเช็คความถูกต้องของข้อมูลก่อนว่าข้อมูลที่ส่งมันถูกต้องหรือไม่ เพราะข้อมูลที่เขาเห็นมันตรงกับความเชื่อของเขา กลายเป็นว่าวันนี้มันกลับหัวกลับหางกันหมด เพราะโดยทฤษฎีในโลกที่มีข้อมูลข่าวสารจำนวนมาก คนน่าจะมีความสามารถในการตรวจสอบข่าวสารได้ แต่กลายเป็นว่าในโลกที่มีข่าวสารมาก ข่าวสารที่มากกลับครอบวิธีคิดของคนมากกว่าที่เราเห็นในอดีต

สิ่งที่เราคุยกันวันนี้ต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องที่น่ากลัว แต่ต้องยอมรับว่านี่คือความเป็นจริงของโลกในยุคเรา เพราะว่าการปฏิวัติด้านสารสนเทศ หรือ Information Revolution ที่มากับสารสนเทศสมัยใหม่ทั้งหลายผมคิดว่าในอดีตมันถูกตั้งโจทย์ว่ามันจะเปลี่ยนการต่อสู้ระหว่างรัฐ การต่อสู้ในเรื่องของสงคราม แต่ในปัจจุบันมันใหญ่กว่านั้น มันกำลังเปลี่ยนชีวิตของคนทั้งหมด และมันมีผลกระทบต่อความขัดแย้งทางการเมือง และการต่อสู้ทางการเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net