พม.ยืดเวลายังไม่เสนอใช้ ม.44 ปลด ผอ.พอช. หลังไม่พอใจย้ายชาวบ้านพื้นที่พิพาทไม่สำเร็จ

องค์กรชุมชนอีสานใต้ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงนายกฯ หลังมีกระแสข่าวเตรียมให้อำนาจตาม ม.44 สั่งปลด ผอ.พอช. เหตุรัฐมนตรีกระทรวงพัฒนาสังคมฯ ไม่พอใจผลงานย้ายชาวบ้านริมคลองลาดพร้าม ป้อมมหากาฬ ไม่สำเร็จ ล่าสุดยอมยืดเวลาให้ทำงานต่อ ประธาน สอช. ระบุ การทำงานกับชาวบ้านต่อค่อยเป็นค่อยไป ใช้มาตรการรุนแรงไม่ได้

ภาพจาก Transborder News

ดูจะเป็นประเด็นใหญ่ที่ถูกพูดถึงกันในวงแคบๆ สำหรับกรณีที่ พล.ต.อ.อุดลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) ได้เตรียมเสนอเรื่องต่อนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพื่อให้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 ในการปลด นายพลากร วงศ์กองแก้ว จากตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(พอช.)

เมื่อวันที่ 29 พ.ย. 2559 องค์กรชุมชนภาคอีสานใต้ 8 จังหวัด ได้ทำจดหมายเปิดผนึกส่งถึงนายกรัฐมนตรีแล้ว โดยสังคม เจริญทรัพย์ ตัวแทนชาวบ้านได้อ่านแถลงการณ์ถึงหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เรื่อง ความเป็นอิสระในการดำเนินงานของพอช.โดยระบุว่า จากการที่มีเจตจำนงจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมฯ แจ้งยังประธาน พอช. เพื่อให้ ผอ.พอช. ลาออกจากตำแหน่ง เพราะเห็นว่าบริหารงานเกี่ยวกับการสร้างบ้านมั่นคงริมคลองลาดพร้าวไม่บรรลุนโนบายของรัฐบาล โดยประธานกรรมการ พอช. ไม่อาจดำเนินการตามความต้องการของฝ่ายการเมืองได้ เพราะการดำเนินงานของผู้อำนวยการฯ ผ่านเกณฑ์การประเมินของคณะกรรมการฯ ฝ่ายการเมืองจึงมีแนวคิดในการใช้มาตรา 44 ให้ผู้อำนวยการฯ พ้นจากตำแหน่งนั้น การกระทำของฝ่ายของฝ่ายการเมืองคือ พล.ต.อ. อดุลย์ ดังกล่าว เครือข่ายองค์กรชุมชนทั่วประเทศที่ทำงานร่วมกับ พอช. เห็นว่าเป็นการแทรกแซงการทำงานที่จะนำไปสู่การทำลายแนวคิด อุดมการณ์ การก่อตั้งและการดำเนินงานของ พอช. จึงมีจุดยืนและข้อเสนอดังนี้ (อ่านจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรีด้านล่าง)

“เครือข่ายองค์กรชุมชนทั่วประเทศเห็นว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ไม่ควรแทรกแซงการดำเนินงาน และเปิดโอกาสให้ พอช. ได้ทำงานตามแนวคิด อุดมการณ์ขององค์กรที่ดำรงมากว่า 16 ปี หากฝ่ายการเมืองยังคงใช้อำนาจแทรกแซงการบริหารของ พอช. ไม่เพียงแก้ปัญหาไม่ได้เท่านั้น แต่จะเป็นการทำลายแนวคิด อุดมการณ์ขององค์กรที่สร้างคุณูปการในการสร้างความเข้มแข็งของสังคมจากฐานรากมาโดยตลอด เครือข่ายองค์กรชุมชนพร้อมให้มีการตั้งวงหารือกับทาง คสช. เพื่อหาวิธีการคลี่คลายให้ทุกฝ่ายได้ร่วมมือกันทำงานต่อไป” จดหมายเปิดผนึกระบุ

ขณะเดียวกัน รายงานข่าวแจ้งว่า ก่อนหน้านี้ พล.ต.อ.อดุลย์ ได้เคยแสดงความไม่พอใจต่อการทำหน้าที่ของพลากรมาแล้วหลายครั้ง เนื่องจากเห็นว่าไม่สามารถจัดการปัญหาชาวบ้านให้ย้ายออกจากพื้นที่ที่เกิดข้อพิพาทได้ เช่น กรณีชุมชนป้อมมหากาฬ และชุมชนริมคลองต่างๆ ซึ่งรัฐบาลชุดปัจจุบันและกรุงเทพมหานคร มีนโยบายที่จะย้ายชาวบ้านออกจากริมคูคลองเพื่อก่อสร้างเขื่อนคอนกรีตและประตูระบายน้ำในการแก้ปัญหาน้ำท่วม โดยเฉพาะริมคลองลาดพร้าว ซึ่ง พม. ตั้งเป้าไว้ว่าให้ย้ายชาวบ้านออกกว่า 3,000 ครอบครัวให้แล้วเสร็จในปี 2559 โดยให้ พอช. จัดทำโครงการบ้านมั่นคงสำหรับบุคคลเหล่านี้ แต่ปรากฏว่า พอช. สามารถจัดทำบ้านมั่นคงให้ได้เพียงแค่ 100 กว่าหลัง เนื่องจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมธนารักษ์ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ส่วนใหญ่ไม่สามารถส่งมอบที่ดินให้ได้ เช่นเดียวกับกรุงเทพมหานครที่ไม่สามารถดำเนินการใดๆ ได้เลย

ข่าวแจ้งว่าพล.ต.อ.อดุลย์จึงได้มีคำสั่งด้วยวาจาไปยัง สมพร ใช้บางยาง ประธานคณะกรรมการ(บอร์ด) พอช. เพื่อขอให้ พลากร ลาออก แต่เมื่อสมพรนำเรื่องไปแจ้งให้พลากรทราบ พลากรยืนยันที่จะไม่ลาออกเพราะเชื่อว่าตนเองไม่ได้ทำอะไรผิด ที่สำคัญคือในการประเมินของคณะกรรมการประจำปีก็ระบุชัดเจนว่าพลากรมีผลงานผ่านการประเมิน

ต่อมาเมื่อวันที่ 30 พ.ย. 2559 สภาองค์กรชุมชน(สอช.)ได้จัดประชุมระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบลครั้งที่ 1/2559 ในหัวข้อ “สมัชชาองค์กรชุมชน 9 ปี : เปิดพื้นที่กลางสร้างนโยบายสาธารณะ”  ที่โรงแรมเอบีน่า เฮ้าส์ ถนนวิภาวดีรังสิต อย่างไรก็ตามประเด็นที่น่าสนใจกลับอยู่นอกห้องประชุม เนื่องจากได้มีการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางถึงกรณีที่มีกระแสข่าวว่าพล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว เตรียมเสนอนายกรัฐมนตรีให้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ปลดพลากร วงค์กองแก้ว ผอ.สถาบันองค์กรชุมชน (พอช.) เนื่องจากไม่พอใจการทำงานของพลากร ขณะที่ขบวนชาวบ้านใน สอช.มองว่าเป็นการเข้ามาแทรกแซงการทำงานของฝ่ายการเมือง และกำลังเคลื่อนไหวต่อต้าน

จินดา บุญจันทร์ ประธานที่ประชุมระดับชาติสภาองค์กรชุมชนตำบล ให้สัมภาษณ์ว่า การสรรหาผู้อำนวยการของ พอช. ที่ผ่านมาสรรหาตามคุณสมบัติที่เหมาะแก่ภารกิจของ พอช. ซึ่งเน้นที่การหนุนเสริมความเข้มแข็งของชุมชนให้ทำงานอย่างบูรณาการกับหน่วยงานอื่นๆ หลายแห่ง เช่น กรุงเทพมหานคร , กรมธนารักษ์, กรมเจ้าท่า, กรมโยธาธิการและผังเมือง ซึ่งกระทรวงพัฒนาสังคมฯ ทำหน้าที่ประสานงานให้หน่วยงานทุกคนรับผิดชอบต่อหน้าที่ พอช.เป็นเพียงหน่วยงานลูกที่ทำงานโดยอาศัยความร่วมมือระดับฐานรากระดับชุมชน

”ตัวอย่างง่ายๆ ที่ผมจะเล่าก็คือหากเป็นนโยบายรัฐ รัฐต้องการเร่งด่วนเพราะใช้อำนาจพิเศษ เช่นสั่งให้จัดระเบียบชุมชนแออัดให้ได้ภายใน 1 ปีก็ต้องทำให้ทัน ให้ตรงเวลา ไม่ทันก็ต้องใช้มาตรการหนัก แต่ พอช.คือ อย่างน้อย 3 ปี ทำแบบค่อยเป็นค่อยไป จะใช้วิธีการรุนแรงไม่ได้ ” จินดา กล่าว

จินดา กล่าวด้วยว่า โดยส่วนตัวเชื่อมั่นว่าหากเครือข่ายองค์กรชุมชนทำงานอย่างเข้มแข็ง ตัวผู้อำนวยการจะเป็นเพียงส่วนบุคคลเท่านั้น ถ้าชุมชนเข้มแข็ง พลากรจะมีผลพลอยได้ด้วยคืออยู่ต่อ เพราะพลากรผ่านการประเมินในด้านภารกิจ พอช.แล้ว แต่ถ้าเมื่อใดใช้มาตรา 44 ปลด มันเป็นอำนาจพิเศษ เหนือข้อตกลงที่เคยระบุไว้ ตอนนี้กังวลอย่างเดียวว่าสิ่งที่พ่วงมาจากอำนาจจะเป็นการบังคับใช้กฎหมายพิเศษ ค่อนข้างจะมั่นใจว่า หากปลดด้วยวิธีการนี้ชาวบ้านลุกฮือแน่ๆ และไม่แน่ว่าในอนาคต อาจจะมีการไปยื่นหนังสือที่ทำเนียบฯ หากฝ่ายการเมืองยังไม่หยุด

จินดากล่าวว่า ถ้าการสรรหาผู้บริหารคนใหม่เกิดขึ้นภายใต้นโยบายรัฐอาจจะทำให้รูปแบบคำสั่งในการดำเนินงานของ พอช.เปลี่ยนไปบ้าง อาจจะทำงานยากขึ้น แต่กระบวนการต่างๆ ที่ทำไป 9 ปี ยังอยู่เช่นเดิม เพราะฉะนั้นฝ่ายการเมืองควรเข้าใจว่า อำนาจที่มาจากภาคการเมืองโดยตรงไม่สามารถจัดการกับองค์กรชุมชนได้ทั้งหมด มีแต่จะเกิดความขัดแย้ง จึงควรยุติการแทรกแซงจะดีกว่า

ด้าพลากร กล่าวว่า สำหรับตนนั้นภารกิจปัจจุบันคือ การทำงานต่อไป ไม่ได้รู้สึกหวั่นไหวหรือสั่นคลอนกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

“ตอนนี้ผมได้รับมอบหมายให้ดูแลชุมชนคลอง แม้จะจัดระเบียบ จัดการชุมชนได้บ้าง ไม่ได้บ้าง แต่ชุมชนไม่ได้หยุดกระบวนการ บางพื้นที่กำลังเร่งมือ งานกลุ่มออมทรัพย์และบริหารเศรษฐกิจภายในชุมชน คือผมอยากให้ทำต่อไป และทำให้เต็มที่ ไม่ต้องกังวลว่าจะมีอะไรเปลี่ยนแปลงใน พอช. หรือจะมีนโยบายใหม่หรือไม่ เพราะเรามีกฎหมายเฉพาะแล้ว ที่ผ่านมา พอช.เราได้สร้างความแข็งแรงและผลักดันให้หน่วยงานให้มีการทำงานอย่างบูรณาการ”พลากรกล่าว

รายงานข่าวแจ้งว่า ภายหลังจากเริ่มมีข่าวความขัดแย้งและจะมีการปลดพลากรออกจากตำแหน่ง ล่าสุดพล.ต.อ .อดุลย์ ได้แจ้งกับพลากรแล้วว่าจะให้โอกาสทำงานต่อไป โดยแกนนำของ สอช. วิเคราะห์ถึงท่าทีที่เปลี่ยนแปลงของพล.ต.อ.อดุลย์ในครั้งนี้ว่า อาจไม่ใช่เพราะชาวบ้านเริ่มออกมาเคลื่อนไหวกดดัน แต่เนื่องจากการใช้มาตรา 44 นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย จำเป็นจะต้องดูองค์ประกอบหลายเงื่อนไข เช่น ระเบียบวินัยขององค์กร หรือการถูกร้องเรียนโดยหน่วยงานต่างๆ

ภาพจาก Kowit Phothisan

จดหมายเปิดผนึกถึงหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

วันที่ 28 พฤศจิกายน 2559

เรื่อง ความเป็นอิสระในการดำเนินงานของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)

เรียน หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)/ นายกรัฐมนตรี

จากการที่มีเจตจำนงจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มายังประธานกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. เพื่อให้ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ลาออกจากตำแหน่ง เพราะเห็นว่าบริหารงานเกี่ยวกับการสร้างบ้านมั่นคงริมคลองลาดพร้าว ไม่บรรลุนโนบายของรัฐบาล โดยประธานกรรมการ พอช. ไม่อาจดำเนินการตามความต้องการของฝ่ายการเมืองได้ เพราะการดำเนินงานของผู้อำนวยการฯ ผ่านเกณฑ์การประเมินของคณะกรรมการฯ ฝ่ายการเมืองจึงมีแนวคิดในการใช้มาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญ ชั่วคราว พ.ศ. 2557 ให้ผู้อำนวยการฯ พ้นจากตำแหน่งนั้น

การกระทำของฝ่ายของฝ่ายการเมืองคือ พลเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ดังกล่าว เครือข่ายองค์กรชุมชนทั่วประเทศที่ทำงานร่วมกับ พอช. เห็นว่าเป็นการแทรกแซงการทำงานที่จะนำไปสู่การทำลายแนวคิด อุดมการณ์ การก่อตั้งและการดำเนินงานของ พอช. จึงมีจุดยืนและข้อเสนอดังนี้

1.องค์กรชุมชนมีพัฒนาการไม่น้อยกว่า 40 ปี เพื่อรวมตัวช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และได้อาศัยประสบการณ์สร้างนวัตกรรมงานพัฒนา มีความก้าวหน้า ทั้งปริมาณและคุณภาพมาอย่างต่อเนื่อง บนหลักการการพึ่งตนเอง สร้างความเข้มแข็งเพื่อเข้าไปมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาประเทศ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว เครือข่ายองค์กรชุมชนร่วมกับภาคีพัฒนาทั้งภาครัฐและเอกชนในการผลักดันให้เกิดองค์กรของรัฐที่มีความเป็นอิสระ คล่องตัว และยืดหยุ่น มีหน้าที่ในการสนับสนุนความเข้มแข็งขององค์กรชุมชนและประชาสังคม ซึ่งหน่วยงานรัฐปกติ มีข้อจำกัดในระบบของราชการไม่อาจดำเนินการได้ ซึ่งการร่วมกันทำงานมา 6 ปี ก็ได้เกิดองค์กรดังกล่าวขึ้น โดยอาศัย พ.ร.บ.องค์การมหาชน พ.ศ. 2542 ออกเป็น พรฎ.จัดตั้งสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน เป็นองค์การมหาชน เริ่มดำเนินการตั้งแต่ 26 ตุลาคม 2543 พอช. จึงเป็นหน่วยงานของรัฐแนวใหม่ ที่บริหารโดยเน้นความเป็นอิสระ คล่องตัว ยืดหยุ่น และมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน เพื่อสร้างความเข้มแข็งของสังคมจากฐานราก ด้วยพลังองค์กรชุมชนและประชาสังคม

2. ตลอด 16 ปีที่ผ่านมา พอช. ได้เปิดโอกาสให้องค์กรชุมชนได้สร้างความเข้มแข็ง เพื่อเป็นแกนหลักในการพัฒนาร่วมกับภาคีอื่นๆ อีกทั้งได้มีการถักทอเป็นเครือข่าย ทั้งเชิงประเด็นและเชิงพื้นที่ทุกระดับ สร้างนวัตกรรมงานพัฒนาจนเป็นที่ยอมรับของหน่วยงานต่างๆ อย่างกว้างขวาง ซึ่งปัจจุบันได้ยกระดับเป็นยุทธศาตร์ชุมชนจัดการตนเอง ที่ใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง โดยใช้เครื่องมือต่างๆ อย่างหลากหลาย เช่น พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ. 2551 การใช้ข้อมูลไปสู่การจัดทำแผนชุมชน ตลอดจนการใช้งานประเด็นต่างๆ เป็นเครื่องมือสร้างความเข้มแข็งองค์กรชุมชน

3. ผลจากการความเข้มแข็งขององค์กรชุมชนดังกล่าวข้างต้น ไม่เพียงทำให้ชุมชนได้เข้าไปมีส่วนร่วมกับภาครัฐในการจัดทำแผนพัฒนาชุมชนท้องถิ่น ตามสิทธิพื้นฐานที่รัฐธรรมนูญได้รับรองไว้เท่านั้น แต่ยังเป็นกำลังสำคัญในการทำให้เกิดและสนองนโยบายต่างๆ ของรัฐบาลได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น โครงการแก้ปัญหาความไม่มั่นคงในการอยู่อาศัยของคนจนในเมือง(บ้านมั่นคง) ซึ่งดำเนินการไปแล้วกว่า 1 แสนครอบครัว การจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชน ทำให้ประชาชนที่เข้าไม่ถึงสวัสดิการของรัฐได้มีความมั่นคงในชีวิต จำนวน 5,900 กองทุน การสร้างความเข้มแข็งโดยการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชน 5,500 ตำบล โครงการแก้ไขปัญหาความไม่มั่นคงในที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินของชาวชนบท การแก้ไขปัญหาความไม่มั่นคงในที่อยู่อาศัยกรณี 5 จังหวัดภาคใต้ การสร้างความมั่นคงของระบบเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางประชารัฐ ตลอดจนได้สร้างความร่วมมือในการพัฒนาร่วมกับหน่วยงานของรัฐและเอกชน ในระดับภูมิภาคและท้องถิ่นด้วยดีตลอดมา ซึ่งผลการดำเนินงานดังกล่าวข้างต้น เครือข่ายองค์กรชุมชนทั่วประเทศมีความเห็นว่า การดำเนินงานเพื่อสร้างความเข้มแข็งนั้นจะเกิดขึ้นไม่ได้ หากไม่ได้รับการสนับสนุนอย่างสำคัญจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน หรือ พอช. ในการสร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กรชุมชน ซึ่งองค์กรชุมชนถือว่า พอช. คือ องค์กรของรัฐที่ชุมชนเป็นเจ้าของ และสามารถเป็นที่พึ่งได้ ทั้งด้านแนวคิดการพัฒนา และเรื่องอื่นๆ

4. การแทรกแซงของฝ่ายการเมืองดังกล่าวข้างต้น กรณีที่ผู้อำนวยการ พอช. ไม่อาจบริหารงานให้บรรลุนโยบายของรัฐบาลได้นั้น ข้อเท็จจริงแล้ว ในการสร้างบ้านมั่นคง พอช. มีหน้าที่ในการจัดกระบวนการ สนับสนุนให้ชาวบ้านมาทำงานร่วมกัน ตั้งแต่การรวมตัวกันเป็นองค์กรชุมชน การออมทรัพย์ การออกแบบบ้าน การกำหนดกติกา การสร้างบ้าน ตลอดจนการออกแบบระบบอื่นๆ ของชุมชน ซึ่งต้องอาศัยความเข้าใจ และต้องใช้เวลา แต่กรณีบ้านมั่นคงริมคลองลาดพร้าว ปัญหามีความสลับซับซ้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐบาลไม่อาจทำให้ผู้อาศัยคืนพื้นที่ให้กับ พอช. เข้าไปดำเนินการได้ งานจึงไม่บรรลุเป้าหมาย ซึ่งหากรัฐบาลไม่อาจแก้ไขปัญหาการคืนพื้นที่ได้ ไม่ว่าจะเปลี่ยนผู้บริหาร พอช. กี่คน ก็ไม่อาจทำให้งานบรรลุผลตามนโยบายของรัฐได้

จากกรณีดังกล่าวข้างต้น เครือข่ายองค์กรชุมชนทั่วประเทศเห็นว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ไม่ควรแทรกแซงการดำเนินงาน และเปิดโอกาสให้ พอช. ได้ทำงานตามแนวคิด อุดมการณ์ขององค์กรที่ดำรงมากว่า 16 ปี หากฝ่ายการเมืองยังคงใช้อำนาจแทรกแซงการบริหารของ พอช. ไม่เพียงแก้ปัญหาไม่ได้เท่านั้น แต่จะเป็นการทำลายแนวคิด อุดมการณ์ขององค์กรที่สร้างคุณูปการในการสร้างความเข้มแข็งของสังคมจากฐานรากมาโดยตลอด เครือข่ายองค์กรชุมชนพร้อมให้มีการตั้งวงหารือกับทาง คสช. เพื่อหาวิธีการคลี่คลายให้ทุกฝ่ายได้ร่วมมือกันทำงานต่อไป

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา นำเสนอต่อรัฐบาลเพื่อพิจารณาดำเนินการในแนวทางที่เหมาะสม และขอขอบคุณมา ณ โอกาสนี้

ขอแสดงความนับถือ
เครือข่ายองค์กรชุมชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
8 จังหวัด ตอนล่าง

เรียบเรียงจาก: Transborder News

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท