ชาตรี ประกิตนนทการ: สถาปนิกสยามบนการเปลี่ยนแปลงสู่ความ (ไม่) เป็นสมัยใหม่

งานวิจัยของชาตรี ประกิตนนทการ นำเสนอการก่อรูปของ "สถาปนิก" ในสังคมไทยสมัยใหม่ช่วงต้นทศวรรษ 2470 เช่นเดียวกับอาชีพนายช่างและวิศวกรที่นิยามตัวเองและแยกตัวออกจาก "ช่าง" ในแบบประเพณี การเกิดขึ้นของสมาคมวิชาชีพ การสร้างโรงเรียน องค์ความรู้ และกระบวนการสร้างกฎหมายเพื่อรองรับวิชาชีพ

ในการนำเสนองานวิจัย "โครงการวิจัยเมธีวิจัยอาวุโส พัฒนาการและความเปลี่ยนแปลงของความคิดว่าด้วยความ(ไม่)เป็นสมัยใหม่ในสังคมไทย" เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2559 ที่ห้องประชุมริมน้ำ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์นั้น

ในช่วงเช้า ชาตรี ประกิตนนทการ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร นำเสนอหัวข้อ "สถาปนิกสยามบนการเปลี่ยนแปลงสู่ความ (ไม่) เป็นสมัยใหม่" โดยมาจากงานวิจัยฉบับเต็มที่ชื่อ "กำเนิดสถาปนิกสยาม บทบาทและอำนาจในสังคมสมัยใหม่ ในช่วง 2459 ถึง 2508"

ชาตรีเริ่มอธิบายว่าโจทย์ของการศึกษาคือ เมื่อพูดเรื่องความเป็นสมัยใหม่ของศิลปวัฒนธรรมโดยเฉพาะสถาปัตยกรรม เราจะพูดถึงแนวคิด สไตล์ หรือไอเดียของสถาปัตยกรรม แต่งานที่ผ่านมาส่วนใหญ่ไม่ค่อยสนใจสิ่งที่เป็นองค์กรทางวิชาชีพของสถาปนิกเท่าไหร่ หรือมีคนทำบ้างแต่น้อย จึงลองศึกษาเรื่องความเป็นสมัยใหม่ผ่านการก่อรูปของสิ่งที่เรียกว่าวิชาชีพ ไม่ได้เน้นไปที่รูปแบบของสถาปัตยกรรมที่มีผู้ศึกษาผ่านงานวิชาการด้านประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมมากมาย แต่จะเน้นที่ตัววิชาชีพเป็นหลัก

สมมติฐานคือ ตัวของสิ่งที่เรียกว่า "สถาปนิก" เป็นสิ่งใหม่เกิดขึ้นเมื่อประมาณไม่ถึง 100 ปีที่ผ่านมา ถ้าเราอ่านงานประวัติศาสตร์ในอดีตโดยเฉพาะในวงการสถาปัตยกรรม ก็จะอธิบายสถาปนิกว่าก็คือช่างในแบบประเพณี อธิบายว่าสถาปนิกคือลูกหลานของช่างในอดีต แต่ขอเสนอในงานของผมคือสถาปนิกไม่ใช่ลูกหลานของช่าง และช่างไม่ใช่บรรพบุรุษของสถาปนิก สถาปนิกเป็นสิ่งประดิษฐ์ใหม่ทางวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นไม่ถึง 100 ปีที่ผ่านมา แน่นอนเวลาเราดูตึกหรืองานก่อสร้างในอดีต ที่เราเรียกว่าช่างทำ ก็คือคนที่ทำหน้าที่ออกแบบหรือก่อสร้างตึกมีมานาน แต่ช่างกับสถาปนิกมีความต่างมากกว่าความเหมือนในทัศนะของผม

โดยงานศึกษาของชาตรี มีการศึกษาผ่านปัจจัย 5 ส่วนที่ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า "สถาปนิก" ขึ้นได้แก่ 1. วิธีการสร้างศัพท์บัญญัติว่าสถาปนิกคือใครและทำอะไร 2. ผ่านสมาคมวิชาชีพคือ "สมาคมสถาปนิกสยาม" 3. การสร้างโรงเรียนหรือสรุปรวบยอดคือการให้ปริญญาบัตรโดยเฉพาะปริญญาตรี 4. การสร้างความรู้แบบไทย ก็คือ ต้องเป็นการดึงความรู้ในอดีตอธิบายผ่านกระบวนการ หรือมาตรฐาน หรือเครื่องมือแบบตะวันตก หรือสากล ความรู้แบบไทยเพียวๆ ประเภทขุดมาจากอดีต ลงรักปิดทองทำอย่างไร จะถูกจัดว่าเป็นช่างแบบโบราณ ไร้สถานะ เมื่อใดก็ตามที่คุณอธิบายความรู้แบบไทยผ่านเครื่องมือหรือวิธีการแบบสมัยใหม่ หรือจริงๆ ก็คือที่ตะวันตกในภาพศิวิไลซ์ เมื่อนั้นจะเป็นความรู้แบบไทยที่เหมาะสม 5. สุดท้ายกระบวนการสร้างกฎหมายเพื่อรองรับวิชาชีพ

สำหรับศัพท์บัญญัติ คำว่า "สถาปัตยกรรม" (architecture) "สถาปนิก" (architect) เป็นการแปลเป็นภาษาไทยในช่วงรัชกาลที่ 6 โดย หม่อมเจ้าอิทธิเทพสรรค์ กฤดากร ซึ่งไปเรียนสถาปัตยกรรมอย่างจริงจังในฝรั่งเศสและเป็นคนแรกๆ โดยกระบวนการในช่วง 40-50 ปี จนถึงช่วงหม่อมเจ้าอิทธิเทพสรรค์ ทำให้วงการก่อสร้างที่เดิมเรียกว่า "ช่าง" มีการแตกตัวออกไปเยอะมาก และคนหลายกลุ่มไม่ยอมรับที่จะจัดตัวเข้าไปอยู่เป็นช่างอีกต่อไป เช่นแยกออกไปเป็น "นายช่าง" "วิศวกร" และ "สถาปนิก" ซึ่งไม่เรียกตัวเองว่าช่าง และในช่วง 40-50 ปีดังกล่าวมีความพยายามในการอธิบายว่าตัวเองต่างจากช่างอย่างไร ทั้งนี้ หม่อมเจ้าอิทธิเทพสรรค์และสถาปนิกรุ่นบุกเบิกแรกๆ พยายามนิยามขอบเขตวิชาชีพตัวเองว่าสถาปนิกคือใคร และต่างจากช่างแบบไหน

โดยในที่นี้ชาตรีศึกษาผ่านงานเขียนของหม่อมเจ้าอิทธิเทพสรรค์ และกลุ่มสถาปนิกยุคแรก โดยสรุปจะพบว่าเนื้อหาของเขา โดยหลักนอกจากพูดเรื่องวิชาการที่เหมือนการให้ความรู้ทั่วไปแล้ว ครึ่งหนึ่งของบทความในยุคแรกคือช่วงต้นทศวรรษ 2470 ถึง 2490 เป็นการสร้างขอบเขตและพื้นที่ของตัวเองว่า "สถาปนิก" คือใคร และพยายามอธิบายสังคมว่าสถาปนิกทำแบบนี้ ดีกว่าแบบนี้ และขณะเดียวกันการนิยามตัวเอง ยังเป็นไปเพื่อแยกตัวเองกับช่างแบบโบราณ และแข่งกับพวกที่เรียกว่านายช่าง และวิศวกร ไปด้วย การแข่งนี้ก็เพื่อไปจัดอันดับสถานะทางวิชาชีพของตนเองเพื่อไปอยู่ในยอดสุดของพีระมิดวงการก่อสร้าง สถาปัตยกรรม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท