ความต่างของออสเตรีย-เยอรมนี การเผชิญหน้าประวัติศาสตร์และอิทธิพลของนีโอนาซี

ในการเลือกตั้งเมื่อไม่นานมานี้ชาวออสเตรียส่วนใหญ่ดูเหมือนจะเทคะแนนให้พรรคขวาจัดนีโอนาซีซึ่งแม้ว่าสุดท้ายจะพ่ายการเลือกตั้งแต่ก็มีคะแนนเสียงเยอะมาก ขณะที่การเลือกตั้งในเยอรมนีที่จะมีขึ้นในปีหน้ากลับมองว่าพวกขวาจัดจะไม่ได้รับคะแนนเสียงมากเท่า บทความของ Foreign Policy วิเคราะห์ว่าเป็นเพราะเยอรมนีมีการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ความโหดร้ายที่เผด็จการในประเทศตัวเองเคยทำไว้ แต่ออสเตรียกลับพยายามปกปิดรอยบาปของตัวเอง

เยอรมนีและออสเตรียล้วนเป็นประเทศยุโรปกลางที่ใช้ภาษาเยอรมันเป็นภาษากลางและมีต้นตอทางวัฒนธรรมคล้ายกัน แต่ก็เป็นประเทศที่มีความแตกต่างในรสนิยมการเมืองของประชาชนเมื่อมีการประเมินว่าชาวออสเตรียส่วนใหญ่เลือกผู้นำคนใหม่เป็นนักการเมืองขวาจัดอย่าง นอร์เบิร์ต โฮเฟอร์ ในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 4 ธ.ค. ที่ผ่านมา ถึงแม้ว่าในที่สุดแล้วผลการเลือกตั้งจะออกมาไม่เหมือนกับที่ประเมินไว้คือการที่โฮเฟอร์แพ้การเลือกตั้ง และผู้ชนะคือ อเล็กซานเดอร์ แวน เดอ เบลเลน แต่ก็มีผู้เลือกโฮเฟอร์มากถึงราวร้อยละ 46 ทำให้ชวนมองว่าเหตุใดออสเตรียถึงมีแนวโน้มเอียงขวานีโอนาซีมากกว่าเยอรมนีทั้งๆ ที่เยอรมนีเป็นประเทศต้นกำเนิดนาซีในสงครามโลกครั้งที่สอง

บทความของนิตยสาร Foreign Policy เมื่อวันที่ 2 ธ.ค. ที่ผ่านมาชวนสำรวจเยอรมนีและออสเตรียโดยระบุว่าถึงแม้ทั้งสองประเทศนี้จะมีวัฒนธรรมประจำชาติคล้ายคลึงกันตั้งแต่การมีรากฐานจากศาสนาคริสต์ มีดนตรีที่บรรเจิด มีความสร้างสรรค์ด้านเทคโนโลยี มีจรรยาบรรณอย่างแข็งขันในการทำงาน รวมถึงมีปัญหาด้านสังคมและการเมืองที่คล้ายกันอย่างเรื่องการพยายามหลอมรวมผู้อพยพ การจัดการกับแรงงานที่เริ่มเข้าสู่ภาวะประชากรสูงวัยและการหาทางอยู่ร่วมกับรัสเซียที่รุกล้ำมากขึ้นเรื่อยๆ

อย่างไรก็ตามก่อนหน้าผลการเลือกตั้งออสเตรียจะเปิดเผยออกมาก็มีการคาดการณ์กันไว้ว่าโฮเฟอร์ จากพรรคขวาจัดอย่างออสเตรียนฟรีดอมปาร์ตีหรือ เอฟพีโอ (FPO) จะเป็นฝ่ายชนะ ถ้าเขาชนะก็จะกลายเป็นประธานาธิบดีขวาจัดคนแรกในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป โดยที่พรรคเอฟพีโอเป็นพรรคแนวนีโอนาซีที่ก่อตั้งมาตั้งแต่เมื่อราว 60 ปีที่แล้วที่ต่อต้านการอพยพของชาวมุสลิมและต่อต้านเหล่าผู้นำเสรีนิยม ขณะที่การเลือกตั้งในเยอรมนีที่จะมีขึ้นในปีหน้ามีแนวโน้มว่ายังมีผู้นิยมแนวทางเสรีนิยมประชาธิปไตย พหุนิยม และความเปิดกว้างอยู่ อะไรที่ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ของทั้งสองประเทศนี้มีทัศนคติต่างกัน

บทความใน Foreign Policy ระบุว่าชาวออสเตรียส่วนหนึ่งในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เคยมีส่วนร่วมปฏิบัติการที่โหดร้ายของพรรคนาซีแต่ชาวออสเตรียก็มีท่าทีไม่ยอมรับว่ามีส่วนร่วมและยืนยันว่าอาชญากรรมของพรรคนาซีเป็นฝีมือชาวเยอรมันเพียงฝ่ายเดียว และดูเหมือนว่าฝ่ายสัมพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่สองก็รู้เห็นเป็นใจกับการทำให้ออสเตรียดูเป็นผู้บริสุทธิ์ด้วยเพราะอยากแยกออสเตรียจากเยอรมนีโดยการประกาศว่า "ออสเตรียเป็นประเทศเสรีประเทศแรกที่เป็นเหยื่อการรุกรานของพวกฮิตเลอร์" อีก 20 ปีต่อมาก็ได้รับเอกราชและฝ่ายสัมพันธมิตรก็มีการเซ็นสัญญาว่าจะนำย่อหน้าที่ระบุว่าออสเตรียมีส่วนร่วมกับอาชญากรรมยุคนาซีออก

ขณะที่ฝ่ายสัมพันธมิตรมีส่วนร่วมในการชำระล้างภาพลักษณ์ให้ออสเตรียแต่วิธีเล่นการเมืองในออสเตรียหลังจากนั้นก็ใช้วิธีการทำให้ชาวยิวผู้ที่เป็นเหยื่อหลักๆ ของนาซีกลายเป็นคนชายขอบต่อไปด้วยการไม่ยอมชดเชยให้กับครอบครัวชาวยิวที่ถูกสังหารหมู่ อีกทั้งทัศนคติของผู้คนก็ยังคงคิดว่าควรจะจำกัดชาวยิวและรู้สึกไม่เป็นมิตรกับชาวยิว

บทความใน Foreign Policy ระบุว่าแต่ในช่วงกลางคริสตทศวรรษที่ 1950 ที่มีการใช้สื่อมวลชนออสเตรียขายภาพลักษณ์ผ่านวัฒนธรรมชั้นสูงเคลือบน้ำตาลผสมกับการโหยหาอดีตผนวกไปกับภาพลักษณ์การถูกรุกรานจากเยอรมนี ทำให้เยอรมนีดูเป็นพวกป่าเถื่อนและออสเตรียดูคลาสสิก ทั้งที่จริงๆ แล้วอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ผู้นำนาซีถือกำเนิดในออสเตรีย และแม้แต่ในความจริงข้อนี้ออสเตรียเองก็พยายามกลบเกลื่อนทำให้คนทั้งโลกเชื่อว่าฮิตเลอร์เกิดในเยอรมนี อ้างว่าบีโธเฟนเป็นชาวออสเตรียซึ่งแน่นอนว่าทำให้ชาวเยอรมันไม่พอใจ

จนกระทั่งมีอยู่ครั้งหนึ่งที่สื่อเดอสปีเกล ของเยอรมนีแฉเรื่องที่เคิร์ต วัลด์ไฮม์ อดีตเลขาธิการสหประชาชาติและผู้ลงสมัครเลือกตั้งประธานาธิบดีออสเตรียปี 2529 เคยมีส่วนร่วมกับหน่วยทหารของนาซีที่กระทำโหดเหี้ยมต่อพลเรือนบอสเนียและกรีซ ทำให้วัลด์ไฮม์แสร้งทำเป็นจำเรื่องเหล่านั้นไม่ได้และถูกสื่อดิอิโคโนมิสต์และสื่อตะวันตกอื่นๆ ล้อโรคแสร้งจำไม่ได้นี้ว่าเป็น "โรควัลด์ไฮมเมอร์" แต่ในบ้านตัวเองเขากลับใช้คำวิจารณ์จากต่างชาติให้เป็นประโยชน์กับตัวเองโดยอ้างว่าเป็นการที่ต่างชาติพยายามโจมตีประเทศออสเตรียมากขึ้นจนทำให้เขาชนะการเลือกตั้ง

แต่ก็มีชาวออสเตรียจำนวนมากไม่ชอบวัลด์ไฮม์ จากการใช้น้ำเสียงเหยียดชาวยิวและหวาดกลัวคนนอกอย่างไม่มีเหตุผลโดยเฉพาะคนหนุ่มสาว มีนักประวัติศาสตร์ออสเตรียรุ่นใหม่ในยุคนั้นเริ่มสำรวจประวัติศาสตร์ชาติตัวเองว่าเคยมีส่วนร่วมอะไรกับนาซีในสงครามโลกบ้างทำให้เห็นภาพประวัติศาสตร์การที่ออสเตรียมีส่วนร่วมกับนาซีชัดขึ้นแต่ก็ถูกคนในประเทศโต้ตอบกล่าวหาว่านักประวัติศาสตร์เหล่านี้ขุดคุ้ยสิ่งเลวร้ายของบ้านตัวเอง พวกที่หาประโยชน์จากปฏิกิริยาโต้ตอบนี้คือพรรคฟรีดอมภายใต้ผู้นำคนใหม่อย่างเยิร์ก ไฮเดอร์ ที่นอกจากเรื่องนี้แล้วยังอ้างนโยบายแบบพรรคนาซีในอดีตถึงขั้นชื่นชมนโยบายของนาซี อีกทั้งยังฉวยโอกาสที่คนในประเทศต่อต้านผู้อพยพจากตะวันออกกลาง อ้างโยงประวัติศาสตร์ที่มุสลิมชาวเติร์กเคยล้อมกรุงเวียนนา

แต่วิธีการแบบไฮเดอร์คงใช้ไม่ได้ผลถ้าเป็นในเยอรมนี นอกจากจะไม่มีกลุ่มขวาจัดอยู่ในรัฐบาลกลางของเยอรมนีแล้วเยอรมนียังมีรากฐานการเผชิญหน้ากับประวัติศาสตร์ แน่นอนว่าจำนวนมากก็พยายามปฏิเสธความโหดร้ายในอดีตเช่นเดียวกับออสเตรียรวมถึงยังคงมีความไม่พอใจชาวยิวอยู่ ยังไม่มีกระบวนการปลดความเป็นนาซีออกไปได้ดีพอ ยังมีอดีตผู้เคยมีส่วนร่วมกับนาซีจำนวนหนึ่งอยู่ในส่วนราชการ แต่อะไรที่ทำให้สองประเทศนี้ต่างกัน

บทความใน Foreign Policy ระบุว่าเยอรมนีตะวันตกเคยชดเชยทางการเงินให้ผู้รอดชีวิตจากการสังหารหมู่ของนาซี (ขณะที่เยอรมนีตะวันออกไม่ทำเพราะอ้างว่า "ทุนนิยมฟาสซิสต์" ของฮิตเลอร์ไม่เกี่ยวข้องกับพวกเขา) รวมถึงมีการตั้งหน่วยงานสืบสวนการกระทำความผิดของนาซีหลายหน่วยงานจนทำให้ไม่มีมายาคติความเข้าใจผิดที่ว่ารัฐเยอรมนีสมัยสงครามโลกไม่เกี่ยวข้องกับนาซี นอกจากนี้ยังมีการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ให้จดจำกลุ่มที่เคยลุกขึ้นต่อต้านนาซีมาก่อน รวมถึงการก่ออาชญากรรมอันโหดร้ายของพวกเกสตาโปเช่นการนำเสนอในพิพิธภัณฑ์

นอกจากนี้ในช่วงยุคคริสตทศวรรษ 1960 ยังมีการขบถของกลุ่มนักศึกษาในการเรียกร้องให้สื่อกระแสหลักและสถานศึกษาเผชิญหน้ากับนาซีเยอรมันซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เกิดขึ้นในออสเตรีย ทำให้หลังจากนั้นในช่วงคริสตทศวรรษ 1980 มีสารคดีเกี่ยวกับนาซีและสงครามโลกครั้งที่ 2 เผยแพร่ไปทั่ว แต่สิ่งที่ทำให้ชาวเยอรมนีตระหนักถึงความโหดร้ายที่แท้จริงคือมินิซีรีส์ของสหรัฐฯ ที่ชื่อว่า "การสังหารหมู่" (Holocaust) เป็นสิ่งที่ส่งผลต่อชาวเยอรมนีเช่นเดียวกับที่ภาพยนตร์ "มนต์รักเพลงสวรรค์" (The Sound of Music) ส่งผลต่อชาวออสเตรีย

 

เรียบเรียงจาก

Germany + Nazi Denial = Austria, Foreign Policy, 02-12-2016
http://foreignpolicy.com/2016/12/02/germany-nazi-denial-austria/

Austria defeated the far-right Norbert Hofer – finally, some hope for Europe, The Guardian, 05-12-2016
https://www.theguardian.com/commentisfree/2016/dec/05/defeat-austria-far-right-norbert-hofer-hope-europe
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท