Skip to main content
sharethis
จับบริษัทจัดหางานเถื่อน หลอกส่งคนไปญี่ปุ่น อังกฤษ และสหรัฐอเมริกา/ภาคเอกชน 'ประมง-ก่อสร้าง' ภูเก็ต ต้องการแรงงานต่างด้าว/“กลุ่มใช้แรงงาน-ข้าราชการ-ตร.” ติดอันดับ “เมา” ทำร้ายลูกเมียสูง พบ “แขน-ขา” อาวุธชั้นดี เอาถึงตาย!!/ส.อ.ท. ชี้ปีนี้อุตสาหกรรมรองเท้าทรุดหนักเนื่องจากเสียเปรียบจีน-เวียดนาม ระบุห่วงเอสเอ็มอีไทยไปไม่รอด พร้อมเร่งปรับตัวเพื่อความอยู่รอด/คนเงินเดือนสูงเตรียมจ่ายเพิ่ม! ประกันสังคมจ่อปรับเพดานคำนวณเงินสมทบใหม่ที่ 20,000 บาท ต้องจ่ายสมทบ 1,000 บาทต่อเดือน
 
ศาลนัดไต่สวนสหภาพพยาบาลฟ้องเยียวยาเงินเดือนเหลื่อมล้ำ 8 ธ.ค.นี้
 
น.ส.มัลลิกา ลุนจักร์ ประธานสหภาพพยาบาลแห่งประเทศไทย เปิดเผยความคืบหน้ากรณียื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลางเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2559 ขอให้มีคำสั่งให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) และพวกรวม 9 คน อาทิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาเงินเดือนแห่งชาติ (กงช.) เลขาธิการสำนักงาน ก.พ. ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นต้น เพิกถอนกฎ ระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่งต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับเงินเดือน ซึ่งทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำของเงินเดือนและค่าตอบแทน ความเจริญก้าวหน้าในอาชีพข้าราชการพลเรือนสามัญที่แตกต่างจากข้าราชการกลุ่มอื่นๆ โดยระบุว่าศาลปกครองได้นัดไต่สวนครั้งที่ 2 ในวันที่ 8 ธ.ค. 2559 นี้
 
อย่างไรก็ตาม การที่คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบหลักเกณฑ์และวิธีการให้ข้าราชการพลเรือนสามัญได้รับเงินเดือนสูงกว่าขั้นสูงของตำแหน่งที่ได้รับแต่งตั้ง โดยมีผลในวันที่ 1 ต.ค. 2559 ก็ยิ่งทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำของเงินเดือนระหว่างข้าราชการแท่งทั่วไปและแท่งวิชาการยิ่งกว่าเดิม ทำให้ตนได้ยื่นขอแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องเมื่อวันที่ 27 และ 31 ต.ค. 2559 รวมคำขอทั้งหมด 22 ข้อ แบ่งเป็นคำขอที่เกี่ยวกับข้าราชการพลเรือนทั้งแท่งทั่วไปและแท่งวิชาการรวม 19 ข้อ และเพิ่มคำขอเกี่ยวกับข้าราชการกระทรวงสาธารณสุขอีก 3 ข้อ โดยเฉพาะกลุ่มพยาบาลที่เป็นบุคลากรมากที่สุดของข้าราชการพลเรือนและได้รับผลกระทบจากการบริหารงานบุคคล
 
"ในภาพรวมของ 19 ข้อคือความเหลื่อมล้ำของเพดานเงินเดือนข้าราชการ เดิมในระบบ "ซี" ข้าราชการที่อยู่ในตำแหน่งเท่ากัน มีเพดานเงินเดือนเท่ากัน แต่เมื่อเปลี่ยนมาเป็นระบบ "แท่ง" ในปี 2551 ทำให้ข้าราชการแท่งวิชาการ ระดับชำนาญการ มีเพดานและฐานในการคำนวณ (ค่ากลาง) สำหรับเลื่อนเงินเดือนต่ำกว่าข้าราชการแท่งทั่วไป โดยข้าราชการประเภทวิชาการ ซี 7 ถูกรวบลงไปรวมกับซี 6 ในตำแหน่งระดับชำนาญการ ส่วนข้าราชการซี 7 ประเภททั่วไป ถูกรวบขึ้นไปรวมกับซี 8 ในตำแหน่งระดับอาวุโส ทำให้ข้าราชการประเภทวิชาการ มีเพดานเงินเดือนต่ำกว่าประเภททั่วไปทั้งๆ ที่เคยเป็นข้าราชการซี 7 เท่ากันก่อนเข้าแท่ง นี่คือสิ่งที่เราจะไปให้ข้อมูลแก่ศาลเพื่อขอให้มีการเยียวยา" น.ส.มัลลิกา กล่าว
 
น.ส.มัลลิกา กล่าวอีกว่า การที่ ก.พ.ออกหลักเกณฑ์และวิธีการให้ข้าราชการพลเรือนสามัญได้รับเงินเดือนสูงกว่าขั้นสูงของตำแหน่งที่ได้รับแต่งตั้งเมื่อ 1 ต.ค. 2559 ที่ผ่านมา ซึ่งคนที่ได้ประโยชน์ก็คือคนที่อยู่ในแท่งทั่วไป เดิมจาก ซี 7 ที่เข้าแท่งวิชาการ เงินเดือนตันที่ 43,600 บาท ขณะที่แท่งทั่วไป ขึ้นไปสุดที่ 54,000 บาท พอมีคำสั่งนี้ออกมายิ่งเพิ่มเพดานขึ้นไปอีกเป็น 69,000 บาท แต่แท่งวิชาการขึ้นไปถึงแค่ 58,000 บาท ยิ่งห่างออกไป เป็นการซ้ำเติมข้าราชการในแท่งวิชาการเข้าไปอีก นี่คือความเหลื่อมล้ำในกลุ่มข้าราชการพลเรือนด้วยกันเอง
 
ขณะเดียวกัน ในส่วนของการเพิ่มคำขอเกี่ยวกับข้าราชการกระทรวงสาธารณสุขอีก 3 ข้อนั้น จะอยู่ในข้อที่ 18-20 ของคำฟ้อง ประกอบด้วย
 
ข้อที่ 18 ขอให้มีตัวแทนกลุ่มผู้ฟ้อง มีส่วนร่วมในการทบทวน/แก้ไข/เปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การกำหนดตำแหน่งผู้บริหารองค์กร ให้ทุกวิชาชีพเข้าสู่ตำแหน่งบริหารอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน และควรส่งเสริมให้มีการตั้งกรมพยาบาล เพื่อเป็นกรมที่มีผู้บริหารเฉพาะสายงานวิชาชีพโดยตรง เพราะพยาบาลมีจำนวนมากที่สุดในกระทรวงสาธารณสุข จึงจำเป็นต้องขยายโอกาสความก้าวหน้าและขยายสายงานเพื่อรองรับการบริการประชาชนอย่างทั่วถึง
 
นอกจากนี้ ยังขอให้ทบทวน/แก้ไข/เปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์กำหนดระบบความก้าวหน้าของกลุ่มพยาบาลวิชาชีพให้เหมาะสมตามค่างานอีกด้วย
 
ข้อ 19 ขอให้มีตัวแทนกลุ่มผู้ฟ้อง มีส่วนร่วมทบทวน/แก้ไข/เปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การคิดอัตราค่าตอบแทนของข้าราชการพลเรือนทุกวิชาชีพ โดยการวิเคราะห์ค่างานของแต่ละวิชาชีพ หลักเกณฑ์ค่าตอบแทนพื้นที่เสี่ยงภัย พื้นที่กันดาร โดยเสมอภาคและเท่าเทียมกันทั้งระบบ รวมถึงหลักเกณฑ์การจ่ายเงินตามอัตราเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของข้าราชการพลเรือนตามข้อมูลที่เป็นจริงกับกลุ่มวิชาชีพพยาบาล เนื่องจากมีความตรากตรำลำบากในการปฏิบัติงาน เช่น มีเวลาการทำงานไม่ปกติ การพักผ่อนนอนหลับไม่เป็นปกติ เสี่ยงต่อการติดโรค เสี่ยงอุบัติเหตุจากการทำงาน ต้องรองรับการดูแลผู้ป่วยและญาติตลอด 24 ชั่วโมง
 
และ ข้อ 20 ขอให้คืนอายุราชการแก่พนักงานของรัฐตั้งแต่วันที่ 3 เม.ย.2543-1 เม.ย.2547 ตามหนังสือเวียนกระทรวงสาธารณสุขที่ สธ0201.031/898 ให้มีการนับระยะเวลาการเป็นพนักงานของรัฐเพื่อคำนวนบำเหน็จบำนาญ ให้จ่ายเงินชดเชยเป็นบำเหน็จโดยคำนวณจากอัตราเงินเดือนเดือนสุดท้าย คูณด้วยระยะเวลาราชการที่เป็นพนักงานของรัฐเป็นจำนวนปี ขอให้ทบทวนการปรับเพิ่มเงินเดือนของข้าราชการทุกระดับ ไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำ
 
"อีก 3 ข้อที่เพิ่มมาในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข เพราะว่าพยาบาลเป็นบุคลากรที่มากที่สุดในกระทรวง ที่จะไปให้ข้อมูลศาลคือเราขอเป็นกรมการพยาบาล เพราะว่ามีทุกกรมในกระทรวงสาธารณสุข แต่ทำไมถึงไม่มีกรมการพยาบาลเพื่อที่เราจะได้ทำนโยบาย บริหาร มีอัตรากำลังและมีสิทธิเข้าไปเป็นผู้บริหาร รวมทั้งเรื่องค่าตอบแทนตั้งแต่ฉบับที่ 1 ถึงฉบับที่ 11 แต่ก่อนสมมติหมอได้ค่าโอที 900 บาท พยาบาลได้ 500 บาท ต่อมาเพิ่มให้หมอ 1,100 บาท พยาบาลก็ได้ 600 บาท ต่อมาพอเป็นค่าเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายให้ 2,200 บาท/เดือน พอฉบับที่ 4 ปี 2550 เบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายในพื้นที่ทุรกันดารกระโดดขึ้นมา 60,000 - 70,000 หมื่นบาท แต่พยาบาลไม่ได้ พอไปเรียกร้องก็ได้มา 1,800 บาท ลองคิดดูว่าห่างกันกี่เท่า อันนี้เราก็จะไปพูดให้ศาลฟังว่าเป็นแบบนี้ หรือเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายเมื่อทำงานในพื้นที่อันตรายก็ได้ไม่เท่ากัน ทั้งที่ชีวิตของคนควรมีค่าเท่ากัน แต่พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ อย่างทหารตั้งแต่นายพลถึงพลทหารได้เดือนละ 2,500 เท่ากัน แต่พยาบาลที่ใต้ได้ 1,000 บาท เภสัชกรได้ 5,000 บาท หมอได้ 10,000 บาท" น.ส.มัลลิกา กล่าว
 
ทั้งนี้ การไต่สวนในวันที่ 8 ธ.ค.2559 เพื่อประกอบการพิจารณาของศาลปกครองว่าจะรับหรือไม่รับฟ้องในคดีนี้
 
 
ภาคเอกชน 'ประมง-ก่อสร้าง' ภูเก็ต ต้องการแรงงานต่างด้าว
 
ที่ห้องจามจุรี 1 โรงแรมภูเก็ตเมอร์ลิน อ.เมือง จ.ภูเก็ต นายสนิท ศรีวิหค รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานเปิดโครงการจัดประชุมนายจ้าง/ สถานประกอบการ ผู้นำชุมชน และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ประจำปีงบประมาณ 2560 ซึ่งทางสำนักงานจัดหางานจังหวัดภูเก็ต จัดขึ้นโดยมีนายศักดิ์สกล จินดาสวัสดิ์ ผู้ตรวจราชการกรมการจัดหางาน ปฏิบัติหน้าที่จัดหางานจังหวัดภูเก็ต ประกันสังคมจังหวัดภูเก็ต หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ผู้นำชุมชน นายจ้าง สถานประกอบการ ประมง ก่อสร้าง และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม
 
ทั้งนี้การจัดโครงการดังกล่าว เพื่อชี้แจงข้อกฎหมายและแนวปฏิบัติในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการจ้างแรงงานต่างด้าว รวมทั้งขั้นตอนแนวทางในการนำเข้าแรงงานต่างด้าวที่ได้รับการจดทะเบียนจากศูนย์จดทะเบียนแรงงานต่างด้าวแบบเบ็ดเสร็จ หรือ oss ไปเข้ารับการตรวจสัญชาติ อีกทั้งยังมีกระบวนการขั้นตอนในการขอนำเข้าแรงงานต่างด้าวอย่างถูกกฎหมาย เพื่อให้นายจ้างที่จ้างแรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมา ลาว และกัมพูชา รวมทั้งเจ้าหน้าที่หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ได้รับทราบข้อมูลไปในทางเดียวกัน เพื่อให้เกิดความสะดวกถูกต้องกับทุกฝ่ายในการปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องดังกล่าว
 
นายสนิท ศรีวิหค รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ปัจจุบันจังหวัดภูเก็ต มีนายจ้าง/สถานประกอบการที่จ้างแรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมา ลาว และกัมพูชา จำนวน 10,388 ราย และมีแรงงานต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตทำงานทั้งสิ้น 62,432 คน สัญชาติเมียนมา 61,275 คน ลาว 720 คน และกัมพูชา 437 คน ซึ่งแรงงานต่างด้าวเหล่านี้เป็นแรงงานที่ได้รับอนุญาตทำงานจากศูนย์บริการจดทะเบียนต่างด้าวแบบเบ็ดเสร็จหรือ oss จำนวน 50,783 คน แรงงานผ่านการพิสูจน์สัญชาติจำนวน 7,970 คนและแรงงานนำเข้าจำนวน 3,679 คน
 
“ปัญหาขณะนี้ คือ มีแรงงานบางส่วนที่ยังไม่เข้ามาจดทะเบียนตามเป้าหมายที่วางไว้ โดยเฉพาะแรงงานประมง ซึ่งทางหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องก็พยายามประสานความร่วมมือเพื่อให้เกิดความคล่องตัวและรวดเร็ว”
รวมทั้งทางจังหวัดได้พยายามดำเนินการเพื่อให้แรงงานที่มีการจดทะเบียนแล้วปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด เนื่องจากที่ผ่านมาพบว่า เมื่อแรงงานจดทะเบียนแล้วมีการเปลี่ยนนายจ้าง จึงจำเป็นที่จะต้องมีการทำความเข้าใจร่วมกันระหว่างนายจ้าง และเจ้าหน้าที่ของรัฐ ขณะเดียวกันนายจ้างก็จะต้องไปทำความเข้าใจกับลูกจ้างด้วย เพราะโดยรวมแล้วแรงงานกลุ่มนี้จะเป็นกำลังสำคัญในการที่ทำให้การพัฒนาธุรกิจเดินหน้าไปได้” นายสนิทกล่าว
 
ขณะที่นายสมยศ วงศ์บุญยกุล นายกสมาคมชาวประมงจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ความต้องการแรงงานประมง กล่าวว่า นับตั้งแต่มีการจัดระเบียบเรือประมง ทำให้มีเรือประมงบางส่วนที่มีใบอนุญาตไม่ถูกต้องต้องหยุดให้บริการ ซึ่งภาพรวมมีเรือประมงอยู่ประมาณ 200 ลำ มีความต้องการใช้แรงงานประมาณ 2,000 คน แต่ปรากฎว่ามีแรงงานอยู่ประมาณ 1,200 คน ยังคงขาดแคลนอยู่จำนวนหนึ่ง และไม่มีการเปิดให้จดทะเบียนผ่อนผัน แต่หวังว่าจะได้แรงงานตามนโยบายเอ็มโอยูมาเติมเต็มส่วนนี้ และผู้ประกอบการเองก็ต้องการทำให้ถูกต้อง
 
ด้านนายวิระชัย เสดสม ประธานชมรมผู้ประกอบการธุรกิจรับเหมาจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ในส่วนของผู้รับเหมาก็มีปัญหาในเรื่องของการขาดแคลนแรงงานเช่นกัน เนื่องจากมีแรงงานบางส่วนเมื่อได้รับใบอนุญาตและทำงานไปได้ระยะหนึ่งก็จะเปลี่ยนนายจ้าง และหันไปทำงานในกิจการประเภทอื่นๆ แทน เช่น โรงแรม ร้านอาหาร เป็นต้น ประกอบกับไม่มีการอนุญาตให้เปิดจดทะเบียนใหม่ รวมทั้งปัจจุบันธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของภูเก็ตมีการขยายตัวค่อนข้างมาก จึงทำให้ความต้องการแรงงานมากตามไปด้วย
 
ส่วนประเด็นของการใช้แรงงานในระบบเอ็มโอยู แม้จะเป็นเรื่องที่ดีแต่ก็เกรงจะมีปัญหาเรื่องความรู้ความสามารถของแรงงาน เพราะที่ผ่านมาพบว่า แรงงานส่วนหนึ่งจะไม่มีความรู้ความสามารถในตำแหน่งที่ตัวเองสมัครมา ทำให้ต้องใช้เวลาในการฝึกฝน และเมื่อทำงานไประยะหนึ่งก็จะเปลี่ยนนายจ้าง จึงฝากหน่วยงานภาคที่รับผิดชอบได้พิจารณาในประเด็นปัญหานี้ด้วย
 
 
จับบริษัทจัดหางานเถื่อน หลอกส่งคนไปญี่ปุ่น อังกฤษ และสหรัฐอเมริกา
 
เมื่อวานนี้ (1 ธ.ค.2559)เจ้าหน้าที่ศูนย์ประสานการปราบปรามผู้เป็นภัยต่อคนหางาน กองทะเบียนจัดหางานกลางและคุ้มครองคนหางาน กรมการจัดหางาน เข้าตรวจสอบบริษัทจัดหางาน 2 แห่ง ตั้งอยู่ในซอยลาดพร้าว 130 ที่ร่วมกับสาย/นายหน้าเปิดเฟสบุ๊คชื่อ บริษัทจัดหางานในประเทศญี่ปุ่น ลักลอบจัดหางานให้คนหางานไปทำงานในประเทศญี่ปุ่น อังกฤษ และสหรัฐอเมริกา พบคนหางาน 19 คน กำลังเข้ารับฟังคำชี้แจงจากเจ้าหน้าที่ของบริษัทจัดหางานฯ ก่อนเข้ารับการสัมภาษณ์งานจากตัวแทนนายจ้างในประเทศอังกฤษ จึงทำการสอบปากคำคนหางานทั้งหมดและเจ้าหน้าที่บริษัทจัดหางาน โดยพบว่าบริษัทมีใบอนุญาตจัดหางานถูกต้อง แต่ไม่ได้รับอนุญาตให้จัดหางานไปทำงานในประเทศดังกล่าว เจ้าหน้าที่จึงยึดอายัดเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องไปตรวจสอบข้อเท็จจริง และบันทึกปากคำคนงานรวมทั้งพนักงานของบริษัทไว้เป็นหลักฐาน เพื่อพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายต่อผู้กระทำผิดต่อไป ศูนย์ประสานการปราบปรามฯ จึงขอเตือนคนหางานว่าไม่ควรหลงเชื่อหรือจ่ายเงินค่าบริการหรือค่าใช้จ่ายใดๆให้แก่กลุ่มบุคคลที่อ้างว่าสามารถช่วยเหลือให้ไปทำงานรายได้ดีในต่างประเทศได้ ควรตรวจสอบข้อเท็จจริงกับกรมการจัดหางานก่อนทุกครั้ง โดยสามารถโทรศัพท์มาสอบถาม ร้องทุกข์ หรือแจ้งเบาะแสการหลอกลวงคนหางาน ได้ที่ โทร. 0 2245 6763 หรือ เฟสบุ๊ค เพื่อนคู่คิด มิตรแรงงานไทย
 
 
“กลุ่มใช้แรงงาน-ข้าราชการ-ตร.” ติดอันดับ “เมา” ทำร้ายลูกเมียสูง พบ “แขน-ขา” อาวุธชั้นดี เอาถึงตาย!!
 
สำรวจพบดื่มเหล้าเมาอาละวาด ทำร้ายคนในครอบครัว 74% เป็นผู้ชาย ชี้ “ผู้ใช้แรงงาน” อาชีพก่อเหตุอันดับหนึ่ง อึ้ง! กลุ่มอาชีพสถานภาพทางสังคมสูง “ข้าราชการ - ตำรวจ - ทหาร - ครู” ติดอันดับก๊งเหล้าเมาก่อเหตุด้วย นิยมใช้ “มือ แขน ขา” เป็นอาวุธทำร้ายมากสุด ด้าน “เมีย - ลูก - บุพการี” ตกเป็นเหยื่อความรุนแรง ทำบาดเจ็บสาหัสมากสุด รองลงถึงขั้นตาย
 
ดร.กันยปริณ ทองสามสี อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) วิทยาเขตปัตตานี เปิดเผยถึงผลสำรวจโครงการ “ความรุนแรงและผลกระทบจากการดื่มสุรา โดยการประมวลข่าวในรอบ 10 ปี” ภายในเวทีเสวนา “ภัยเหล้ามือสอง ผลกระทบจากการดื่มแอลกอฮอล์ต่อบุคคลรอบข้างผู้ดื่ม : กรณีเด็กและครอบครัว” ในงานประชุมวิชาการสุราระดับชาติ ครั้งที่ 9 เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า จากการประมวลข่าวที่มีสาเหตุมาจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์เป็นเวลา 10 ปี คือ ตั้งแต่ปี 2549 - 2558 รวมกว่า 500 ข่าว พบว่า ผู้ดื่มสุรามีการสร้างความรุนแรงต่อบุคคลในครอบครัวมากกว่า 100 ข่าว ผู้ดื่มและสร้างความรุนแรงร้อยละ 74 เป็นผู้ชาย อาชีพอันดับ 1 ที่ก่อเหตุคือ ผู้ใช้แรงงาน หรือผู้รับจ้างทั่วไป รองลงมาคือ อาชีพข้าราชการและพนักงานของรัฐ ส่วนลักษณะการดื่มพบว่า ร้อยละ 63 เป็นการดื่มแบบกลุ่มเล็กๆ ประมาณ 2 - 5 คน คือ เจอเลิกงานเจอเพื่อนแล้วนัดกันไปดื่มสังสรรค์ แล้วนำไปสู่การก่อเหตุความรุนแรง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการเมาแล้วกลับไปทำร้ายคนที่บ้าน ไม่ใช่การรวมตัวไปก่อเหตุ ส่วนรองลงมา คือ การดื่มคนเดียว
 
ดร.กันยปริณ กล่าวอีกว่า สำหรับสถานที่ดื่มของผู้ก่อเหตุความรุนแรง พบว่า อันดับหนึ่งคือ การตั้งวงภายในร้าน เพราะสามารถดื่มได้ง่าย สั่งได้คล่อง รองลงมาคือ ที่พักอาศัยหรือในบ้าน สำหรับการก่อเหตุความรุนแรงจากการประมวลข่าว พบว่า มีหลากหลายรูปแบบ แต่ที่พบมากคือ การเมาแล้วข่มขืน ซึ่งจากการข่าวลงผลการสอบสวนผู้ก่อเหตุมักระบุว่า ที่ลงมือข่มขืนไม่ได้เกิดจากการมีอารมณ์ทางเพศ แต่เป็นเพราะความเมา สำหรับสถิติการใช้อาวุธของผู้ก่อเหตุความรุนแรงพบว่า อันดับ 1 คือ การใช้อวัยวะในร่างกายเป็นอาวุธ ทั้งมือ แขน ขา ถือเป็นอาวุธชั้นยอดที่ทำให้ผู้ถูกกระทำความรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ อย่างบางข่าวจะพบว่าเพียงแค่เตะก้านคอเพื่อนเพราะความเมา ก็ทำให้ถึงแก่ชีวิตได้ สำหรับอาวุธโดยสภาพตามกฎหมายที่ใช้มากที่สุดในการก่อเหตุ คือ มีด รองลงมาคือ ปืน ส่วนอาวุธที่ไม่ใช่อาวุธโดยสภาพ ที่ใช้ก่อเหตุมาก คือ ไม้ และ ขวด ขณะที่เหยื่อผู้ถูกกระทำความรุนแรงพบว่า หากผู้ดื่มเป็นผู้ชายเพียงคนเดียว ร้อยละ 80 ผู้ถูกกระทำจะเป็นคู่ครอง รองลงมาจะเป็นบุพการี แต่หากเป็นการดื่มด้วยกันระหว่างสามีภรรยา มักก่อเหตุความรุนแรงแก่ลูก สำหรับผลของความรุนแรงอันดับหนึ่งคือถูกทำร้ายสาหัส รองลงมาคือ ถึงแก่ความตาย
 
“จะเห็นได้ว่าผู้ที่ก่อเหตุไม่ใช่วัยรุ่นอย่างที่คนทั่วไปเข้าใจ แต่เป็นวัยแรงงานที่ช่วยสร้างเศรษฐกิจให้แก่ประเทศ ขณะเดียวกัน อาชีพที่มีสถานภาพทางสังคมสูงอย่างข้าราชการ พนักงานของรัฐ โดยเฉพาะอาชีพที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงอย่างตำรวจ ทหาร กลับมีพฤติกรรมการดื่มแล้วก่อเหตุความรุนแรง นอกจากนี้ ยังมีอาชีพครู นิติกรจากสำนักอัยการ ที่มีข่าวดื่มเหล้าแล้วอาละวาดภายในครอบครัว ซึ่งคนส่วนใหญ่จะไม่คาดคิดว่าคนที่สถานภาพทางสังคมสูง มีความมั่นคง จะเลือกเส้นทางเช่นนี้ ส่วนผู้ถูกกระทความรุนแรงส่วนใหญ่ก็อยู่ในวัยแรงงานเช่นกัน ทำให้ประเทศไทยต้องสูญเสียกำลังสำคัญที่จะช่วยในการขับเคลื่อนประเทศ” ดร.กันยปริณ กล่าวและว่า การแก้ปัญหามองว่าต้องมีกิจกรรมรณรงค์ภายในชุมชน เพื่อดึงให้ครอบครัวที่มีผู้ติดสุราเข้ามาบำบัด และเปลี่ยนพฤติกรรม ซึ่งจากการศึกษาพบว่า คนที่เลิกเหล้าได้ส่วนใหญ่เพราะลูกขอ ภรรยาขอ หรือญาติผู้ใหญ่ที่นับถือขอ จึงเห็นได้ว่าครอบครัวมีส่วนสำคัญในการช่วยให้เลิกเหล้า หากเรารณรงค์โดยดึงแต่ละครอบครัวที่มีปัญหาเข้ามาปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ร่วมเป็นต้นแบบเลิกเหล้าแล้วขยายผลต่อไปยังครอบครัวอื่น ก็จะช่วยลดปัญหาความรุนแรงจากการดื่มเหล้าลงได้
 
 
ส.อ.ท. ชี้ปีนี้อุตสาหกรรมรองเท้าทรุดหนักเนื่องจากเสียเปรียบจีน-เวียดนาม ระบุห่วงเอสเอ็มอีไทยไปไม่รอด พร้อมเร่งปรับตัวเพื่อความอยู่รอด
 
วันนี้ (6 ธ.ค. 59) นายธำรง ธิติประเสริฐ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมรองเท้า สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมรองเท้าปี 2559 จะเติบโต 0% เมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากการส่งออกรองเท้าไทยต้องเผชิญกับภาวะการแข่งขันที่รุนแรงและส่วนหนึ่งเกิดจากการย้ายฐานผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้านในช่วงที่ผ่านมา จึงน่าจะเป็นห่วงผู้ประกอบการขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) หากไม่ปรับตัวก็จะดำเนินธุรกิจต่อไปได้ยาก
 
นายธำรง กล่าวต่อว่า ขณะนี้จีนเป็นเจ้าตลาดอันดับ 1 และเวียดนามเป็นอันดับ 2 ทำให้เอสเอ็มอีไทยลำบากมากในการแข่งขันกับจีนที่แม้ไม่ได้มีต้นทุนการผลิตถูกกว่าแต่ได้เปรียบในแง่ของวอลุ่ม ทำให้ต้นทุนต่ำทำให้สามารถนำบางส่วนมาขายตัดลดราคาได้
 
สำหรับแนวโน้มในปี 2560 คาดหวังว่าจะมีการเติบโตขึ้นจากปัจจัยบวกหลายด้านทั้งภาวะเศรษฐกิจโลกที่น่าจะเริ่มกลับมาฟื้นตัว รวมถึงกำลังซื้อในไทยที่น่าจะดีกว่าปีนี้ จากระดับราคาสินค้าเกษตรที่เริ่มปรับตัวสูงตามทิศทางราคาน้ำมัน และปัจจัยเรื่องของความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก(ทีพีพี) หากนายโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีใหม่สหรัฐฯยกเลิกจริงจะเป็นผลดีสำหรับไทยเพราะก่อนหน้านี้ที่เวียดนามได้เข้าร่วมทีพีพีทำให้ได้เปรียบไทย
 
 
เพิ่มโทษนายจ้างใช้แรงงานเด็กผิดกฏหมายปรับหนักขั้นต่ำ 4 แสนบาท
 
นายอภิญญา สุจริตตานันท์ รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน(กสร.) เปิดเผยว่า ตามที่กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานได้เสนอร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน(ฉบับที่..) พ.ศ. …. แทนกฎหมายฉบับเดิมที่ใช้บังคับมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541 ขณะนี้ร่างกฎหมายดังกล่าวได้รับความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) แล้ว และอยู่ระหว่างขั้นตอนการประกาศใช้เป็นกฎหมาย สาระสำคัญที่ได้เพิ่มเติมในกฎหมายฉบับนี้คือการเพิ่มอัตราโทษสำหรับความผิดเกี่ยวกับการใช้แรงงานเด็ก 3 กรณีด้วยกัน กรณีแรกได้แก่อายุขั้นต่ำของการจ้างแรงงานเด็ก คือ การจ้างแรงงานเด็กซึ่งมีอายุต่ำกว่า 15 ปี เข้าทำงานในงานทั่วไป งานเกษตรกรรม, การจ้างเด็กอายุต่ำกว่า 16 ปี ทำงานในงานขนถ่ายสินค้าทางทะเล และการจ้างเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ทำงานในงานประมงทะเล โดยอัตราโทษสำหรับความผิดดังกล่าวคือปรับตั้งแต่ 400,000 บาท ถึง 800,000 บาท ต่อลูกจ้างหนึ่งคน หรือจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือทั้งปรับทั้งจำ
 
กรณีที่สองการจ้างให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ทำงานในงานที่เป็นอันตราย เช่น งานปั๊มโลหะ งานเกี่ยวกับวัตถุมีพิษ และกรณีสุดท้ายคือการจ้างเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ทำงานในสถานที่ต้องห้าม เช่น ทำงานโรงฆ่าสัตว์ สถานที่เล่นพนัน สถานประกอบกิจการที่เกี่ยวกับการแปรรูปสัตว์น้ำ ในเรือประมงมีอัตราโทษปรับตั้งแต่ 400,000 บาท ถึง 800,000 บาท ต่อลูกจ้างหนึ่งคน หรือจำคุกไม่เกิน 2 ปีหรือทั้งปรับทั้งจำ นอกจากนี้กรณีที่นายจ้างให้ลูกจ้างซึ่งเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ทำงานอันตรายหรือสถานที่ที่ห้ามเด็กทำจนเป็นเหตุให้ลูกจ้างเด็กได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ หรือถึงแก่ความตายนายจ้างจะได้รับโทษเพิ่มมากขึ้นคือ ปรับตั้งแต่ 800,000 บาท ถึง 2,000,000 บาท ต่อลูกจ้าง 1 คน หรือจำคุกไม่เกิน 4 ปี หรือทั้งปรับทั้งจำ
 
รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวเพิ่มเติมว่า การจ้างเด็กเข้าทำงานเป็นเรื่องที่สามารถทำได้และเป็นประโยชน์แก่เด็กที่ต้องการหาประสบการณ์หรือเรียนรู้ที่จะปรับตัวเมื่อก้าวเข้าสู่โลกของการทำงาน ทั้งนี้การปรับอัตราโทษให้เพิ่มสูงขึ้นเพื่อเป็นการคุ้มครองเยาวชนอนาคตของชาติไม่ให้เข้าสู่ตลาดแรงงานก่อนวัยอันควรและการจ้างงานที่ไม่เหมาะสม ตลอดจนเป็นการป้องปรามไม่ให้นายจ้างแสวงหาประโยชน์จากการใช้แรงงานเด็กที่ผิดกฎหมาย ซึ่งมีความร้ายแรงกว่าการทำผิดกฎหมายแรงงานในความผิดอื่น ๆ อย่างไรก็ตามกฎหมายดังกล่าวใช้บังคับเฉพาะกรณีที่เป็นการจ้างแรงงานเท่านั้นไม่ได้หมายรวมถึงการที่พ่อแม่ ผู้ปกครองให้เด็กทำงานในครอบครัว
 
 
โฆษก กห. เผย กมธ. ประมงยุโรป พอใจไทยแก้ IUU ชื่นชมศูนย์ติดตาม - ท่าเรือคืบหน้าก้าวกระโดด เตรียมส่งรายงานภายใน 15 ธ.ค. นี้
 
พล.ต.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม เปิดเผยภายหลังประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน คณะที่ 5 เกี่ยวกับการแก้ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ว่า เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ได้มีการหารือกรรมาธิการด้านการประมงยุโรป ซึ่งกรรมาธิการฯ พอใจการดำเนินการของไทยที่ผ่านมาที่เป็นรูปธรรมและดีขึ้นตามลำดับ พร้อมชื่นชมไทยที่ 1 ปีที่ผ่านมาศูนย์ติดตามและท่าเรือมีความก้าวหน้าอย่างก้าวกระโดด ขณะเดียวกัน กรรมาธิการฯ ต้องการให้ไทยให้ความสำคัญกับการทำประมงขนาดเล็ก เนื่องจากมีผลกระทบต่อประชาชน โดยขอไม่ให้ทำลายสภาพแวดล้อม รวมถึงให้ดูแลแรงงานเด็กซึ่งถือว่าเป็นผู้เสียหาย
 
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้ติดตามขับเคลื่อนเรื่องต่าง ๆ อาทิ กองเรือน่านน้ำ จับ ยึด เรือผิดกฎหมาย การแก้ไขพระราชบัญญัติการทำประมง พ.ศ.2548 ติดตาม ควบคุม เฝ้าระวังจัดทำฐานข้อมูลทั้งหมด พร้อมจัดทำรายงานส่งสหภาพยุโรปในรอบ 6 เดือน คาดว่า จะสามารถส่งรายงานได้ภายในวันที่ 15 ธันวาคม นี้
 
พล.ต.คงชีพ ยังกล่าวว่า กรรมาธิการด้านการประมงยุโรป ได้ให้คำแนะนำในแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ ซึ่งมีการตั้งข้อสังเกตว่าแรงงานที่ต้องนำเด็กเข้ามาในที่ทำงานในฐานะผู้ติดตาม อาจถูกเพ่งเล็งว่าเป็นการใช้แรงงานเด็ก จึงมีแผนถอดสินค้า ได้แก่ อ้อย กุ้ง เครื่องนุ่งห่ม และสื่อลามก ออกจากบัญชีรายชื่อในกระทรวงแรงงานของสหรัฐอเมริกา ซึ่งขณะนี้ กระทรวงแรงงาน สำนักงานสถิติ อยู่ระหว่างการสำรวจข้อมูล โดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยังได้สั่งการถึงการแก้ไขปัญหาแรงงาน อาจต้องนำกฎหมายเข้ามาดำเนินการโดยเตรียมออกฎหมายเกี่ยวกับกับแรงงานและเด็ก โดยกำหนดให้เสนอก่อนเดือนพฤษภาคม 2560 ซึ่งเน้นเนื้อหาคุ้มครองความปลอดภัย และบทลงโทษที่รุนแรงขึ้นหากกระทำความผิด ซึ่งจะทำให้กฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้ในรัฐบาลนี้
 
ส่วนความคืบหน้าการแก้ปัญหาการบินพลเรือนนั้น ทางสหรัฐอเมริกา ระบุว่า ต้องมีการปรับมาตรฐานการบินที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยให้ได้ และไทยต้องออกใบรับรองให้ผู้เดินอากาศใหม่ จากนั้นจึงต้องขอให้ เอฟไอเอ เข้ามาตรวจสอบภายใน 90 วัน และจะต้องปรับปรุงให้ได้หลังจากตรวจสอบไปแล้วภายใน 65 วัน
 
อย่างไรก็ตาม ตั้งเป้าว่าจะทำให้การบินไทยสามารถบินในเส้นทางสหรัฐฯ ได้ภายในปี 2560 โดยการบินไทยจะต้องมีใบอนุญาตเดินอากาศ ซึ่งจะต้องดำเนินการขอจากกระทรวงคมนาคมของสหรัฐฯ และจะต้องผ่านการตรวจสอบจากเอฟไอเอและได้การรับรองมาตรฐานระดับที่ 1 เท่านั้นจึงจะสามารถบินเข้าสหรัฐฯ ได้
 
 
ธอส.ร่วมเป็นหน่วยรับสมัครสมาชิก กอช. ขานรับนโยบายรัฐสร้างความมั่นคงให้ผู้สูงอายุ
 
นายสมพร จิตเป็นธม เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) เปิดเผยว่า ส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาการให้บริการของ กอช.อย่างต่อเนื่อง คือ การเพิ่มจุดให้บริการรับสมัคร และรับเงินออมสะสมเข้ากองทุนของสมาชิก ซึ่งที่ผ่านมามีธนาคารของรัฐ 3 แห่ง คือ ธนาคารกรุงไทย, ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ทำหน้าที่ให้บริการประชาชนในด้านนี้
 
ล่าสุด ได้เข้าร่วมกับ ธอส.ในการเป็นจุดให้บริการสมาชิกและประชาชนที่ต้องการออมเพื่อสร้างหลักประกันพื้นฐานยามชราให้ตนเอง โดยช่วงที่ผ่านมา ธอส. และ กอช.ได้เตรียมการด้านต่างๆ เพื่อให้ทางธนาคารมีความพร้อมมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นความพร้อมของระบบงาน ขั้นตอนกระบวนการจัดการ หรือด้านการส่งเสริมความรู้ความเข้าใจของเจ้าหน้าที่ธนาคาร เพื่อให้ทุกฝ่ายสามารถทำงานสอดประสานและให้บริการประชาชนได้ด้วยความราบรื่น
 
"การที่ ธอส.เข้าร่วมเป็นหน่วยรับสมัครและให้บริการสมาชิก กอช.ในครั้งนี้ ทำให้ปัจจุบัน กอช.มีจำนวนสาขาธนาคารที่ให้บริการงาน กอช.รวมทั้งสิ้น 3,489 สาขาของทั้ง 4 ธนาคารทั่วประเทศ พร้อมด้วยประสบการณ์ ความพร้อม และศักยภาพทางธุรกิจของ ธอส. ที่จะนำเสนอบริการเป็นเลิศเพื่อสร้างความพึงพอใจแก่ประชาชนและสมาชิกที่ใช้บริการได้ต่อไป" นายสมพรกล่าว
 
ปัจจุบัน กอช.มีสมาชิกกว่า 520,000 ราย มีถิ่นที่อยู่กระจายทุกภูมิภาค ขณะที่แรงงานนอกระบบที่มีสิทธิเป็นสมาชิก กอช.มีจำนวนกว่า 25 ล้านคนทั่วประเทศ ดังนั้น กอช.จึงพิจารณาที่จะเพิ่มจำนวนจุดรับสมัครและรับเงินสะสมของสมาชิก โดยหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนที่มีเครือข่ายการให้บริการลูกค้าประชาชนครอบคลุมหลากหลายพื้นที่ สำหรับระยะนี้ยังคงพิจารณาความร่วมมือเฉพาะกับสถาบันการเงินก่อน ซึ่งเป็นไปตามมติคณะกรรมการกองทุนการออมแห่งชาติ
 
ด้านนายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า ธนาคารพร้อมสนับสนุน โดยให้สาขาทั่วประเทศของ ธอส. เป็นช่องทางการรับสมัครและส่งเงินสะสมให้กับกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ซึ่งสอดคล้องและเป็นไปตามนโยบายธนาคารที่มุ่งเน้นเสริมสร้างวินัยการออมภาคประชาชน และส่งเสริมนโยบายภาครัฐในการเตรียมความพร้อมเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) ในอนาคต โดยมุ่งเน้นยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนกลุ่มอาชีพอิสระให้มีการออมอย่างสม่ำเสมอเพี่อมีเงินไว้ใช้ในช่วงหลังอายุ 60 ปี ซึ่งเจ้าหน้าที่ ธอส.พร้อมอำนวยความสะดวกในการเป็นช่องทางให้บริการผ่านหน้าเคาน์เตอร์สาขาของ ธอส.ทั่วประเทศ โดยปัจจุบันธนาคารมีสาขาทั้งสิ้น 200 สาขา สมาชิก กอช.สามารถใช้บริการได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
 
"การที่ ธอส.เข้าร่วมเป็นหน่วยรับสมัครสมาชิกของ กอช.ในครั้งนี้ จะช่วยให้สมาชิก กอช. ได้มีทางเลือกในการใช้บริการที่ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศมากยิ่งขึ้น นอกจากการออมเงินเพื่อนำไปใช้ในช่วงหลังอายุ 60 ปีแล้ว สมาชิก กอช.ซึ่งส่วนใหญ่มีอาชีพอิสระสามารถเข้าร่วม “โครงการ ธอส.โรงเรียนการเงิน" เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนการมีบ้านได้เช่นกัน" นายฉัตรชัย กล่าว
 
ทั้งนี้ ธอส.จะมีเจ้าหน้าให้คำแนะนำ ส่งเสริมความรู้ในการเข้าถึงสินเชื่อในระบบ หรือ Financial Literacy เมื่อปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่และเงื่อนไขที่ธนาคารกำหนด จะช่วยให้มีโอกาสยื่นคำขอพิจารณาสินเชื่อกับธนาคารได้ในอนาคต
 
 
ก.แรงงาน จัดอบรมแรงงานประมงไทย แก้ค้ามนุษย์ นำร่องสมุทรสงคราม
 
นายธีรพล ขุนเมือง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กล่าวว่า ในขณะนี้ พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รมว.แรงงาน ได้มีการแก้ไขช่วยเหลือผู้ประกอบการเรือประมงไทยไปหลายประการแล้ว และเพื่อเป็นการสนับสนุนแรงงานไทยเข้าสู่ระบบการจ้างงานภาคประมงเพิ่มมากขึ้น เพื่อแก้ปัญหาการค้ามนุษย์จึงมอบหมายให้ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานร่วมดำเนินการ โดย กพร. ประสานกับนายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย จะดำเนินการพัฒนาด้านทักษะฝีมือให้กับกลุ่มแรงงานไทยในภาคการประมง เพื่อให้มีความรู้เกี่ยวกับการทำงานในเรือประมง นิสัยอุตสาหกรรม และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้แรงงานสามารถปฏิบัติตัวได้อย่างถูกต้องและสามารถทำงานในเรือประมงได้อย่างเต็มศักยภาพ
 
อย่างไรก็ตาม ในเบื้องต้นจะร่วมกับสมาคมการประมงแห่งประเทศไทยจัดทำหลักสูตรการฝึก “ลูกเรือประมง” แบ่งเป็นภาคทฤษฎี 3 วันและภาคปฏิบัติ 10 วัน เป็นชายอายุ 18-55 ปี มีสุขภาพแข็งแรง ไม่จำกัดวุฒิ โดยเนื้อหาการอบรมเน้นทักษะการทำงานในเรือประมง การใช้ชีวิตบนเรือ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้แรงงานได้รู้ถึงหน้าที่และความรับผิดชอบในการทำงาน รวมทั้งสิทธิต่างๆ ตามกฎหมาย ภายใต้โครงการส่งเสริมแรงงานไทยสู่ภาคประมง และจะนำร่องที่ จ.สมุทรสงคราม โดยความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน อาทิ จังหวัดสมุทรสงคราม และหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานทุกหน่วยงาน ประกอบด้วย สำนักงานจัดหางานจังหวัดทำหน้าที่ด้านการประชาสัมพันธ์ และรับสมัครแรงงานไทยในการเข้าฝึกอบรมก่อนการไปทำงานในเรือประมง สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดทำหน้าที่ดูแลลูกเรือประมง เมื่อจบการฝึกอบรม แล้วเข้าทำงานกับนายจ้าง เพื่อให้ได้รับสวัสดิการตามกฎหมายด้วย ในส่วนของสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานสมุทรสงคราม จะฝึกอบรมตามหลักสูตร โดยรุ่นแรกจะเป็นคนในพื้นที่จังหวัดสมุทรสงคราม กำหนดฝึกอบรมในเดือนมกราคม 2560
 
นายธีรพล กล่าวว่า สำหรับการฝึกอบรมกำหนดจำนวน 5 รุ่น ๆ ละ 20 คน โดยช่วงอบรมภาคทฤษฎีฝึกอบรม ณ สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานสมุทรสงคราม ซึ่งเป็นจำหวัดนำร่อง และสมาคมประมงฯ จะให้เบี้ยเลี้ยงระหว่างฝึกภาคปฏิบัติวันละ 300 บาท เมื่อผ่านการอบรมและเข้าทำงานแล้ว จะมีค่าแรงวันละ 400-600 บาท พร้อมสวัสดิการที่พัก อาหาร และสามารถต่อยอดเพื่อความก้าวหน้าทางอาชีพ เป็นช่างเครื่องยนต์ได้ด้วย
 
ผู้สนใจสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมและสมัครได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ได้ที่สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานสมุทรสงคราม 0 3771 1284 หรือสำนักงานจัดหางานจังหวัดสมุทรสงคราม 0 3471 4342-3 ต่อ 106
 
 
กำลังคนสุขภาพติดกับดัก ‘ขาดแคลน’ มุ่งแต่เติมคน ละเลยบุคลากรในระบบกว่า 4 แสน
 
เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2559 มีการจัดการประชุมระดับชาติ “National Forum on Human Resources for Health 2017: การพัฒนาศักยภาพมนุษย์ในระบบสุขภาพ (HR4H Forum 2017)” ภายใต้แนวคิดคุณค่าคน คุณค่างาน บันดาลสุข ณ อิมแพ็คฟอรั่ม เมืองทองธานี โดยมีบุคลากรด้านสาธารณสุขจากทั่วประเทศเข้าร่วมกว่า 2,000 ราย
 
นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานการประชุม กล่าวเปิดงานและบรรยายพิเศษเรื่อง “การพัฒนาศักยภาพบุคลากร: ประชาชนสุขภาพดี เจ้าหน้าที่มีความสุข ระบบสุขภาพยั่งยืน ทำอย่างไร?” ตอนหนึ่งว่า ขณะนี้สังคมเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว สธ.จึงต้องเปลี่ยนตาม โดยในอนาคตทุกคนจะต้องเผชิญกับความเป็นสังคมเมือง สังคมผู้สูงอายุ โลกที่เชื่อมต่อการค้าการลงทุน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และกฎหมายที่เปลี่ยนแปลงไป ฉะนั้นหากไม่ติดตามเรื่องเหล่านี้ก็จะเปลี่ยนแปลงตัวเองไม่ทัน
 
นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า งานด้านสุขภาพมีความเกี่ยวข้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) แทบทั้งสิ้น โดยจาก 17 เป้าหมาย 169 เป้าประสงค์ จะมีส่วนใดส่วนหนึ่งที่เกี่ยวพันกับงานด้านสุขภาพ แต่ที่อาจจะชัดเจนที่สุดคือเป้าหมายที่ 3 ซึ่งให้ความสำคัญกับ GOOD HEALTH AND WELL-BEING ฉะนั้นในส่วนของ สธ.เองก็จำเป็นต้องปรับตัว โดยขณะนี้ สธ.ได้กำหนดวิสัยทัศน์เป็นองค์กรหลักด้านสุขภาพที่รวมพลังสังคมเพื่อประชาชนสุขภาพดี และมีหน้าที่พัฒนาและอภิบาลระบบสุขภาพอย่างมีส่วนร่วมและยั่งยืน มีเป้าประสงค์สูงสุด (Goal) คือประชาชนสุขภาพดี เจ้าหน้าที่มีความสุข ระบบสุขภาพยั่งยืน
 
สำหรับเป้าหมายในระยะ 20 ปี ของ สธ. ได้แก่ ประชาชนสุขภาพดี คือต้องลดอัตราการตายก่อนวัยอันควรและคนไทยมีอายุเฉลี่ยเพิ่มขึ้น เจ้าหน้าที่มีความสุข คือต้องมีบุคลากรที่เพียงพอกระจายอย่างทั่วถึง และได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสม ที่สำคัญคือต้องมีความสุขและมีความภูมิใจในการทำงาน ระบบสุขภาพยั่งยืน คือต้องมีประสิทธิภาพ ยั่งยืน และเป็นธรรม ซึ่งชี้วัดจากรายจ่ายสุขภาพทั้งหมดต้องไม่เกิน 5% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) และรัฐมีรายจ่ายด้านสุขภาพไม่เกิน 20% ของรายจ่ายทั้งหมด
 
นพ.สมศักดิ์ กล่าวอีกว่า หากต้องการให้บรรลุเป้าหมาย สธ.ต้องดำเนินแผนยุทธศาสตร์เพื่อสร้างความเป็นเลิศใน 4 ด้าน ได้แก่ 1.ส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคเป็นเลิศ (Prevention & Promotion Excellence) 2.บริการเป็นเลิศ (Service Excellence) 3.บุคลากรเป็นเลิศ (People Excellence) 4.บริหารเป็นเลิศด้วยธรรมาภิบาล (Governance Excellence) โดยในส่วนของบุคลากรเป็นเลิศนั้นต้องกำหนดคุณค่าหลัก (Core Value) 4 ประการ หรือ MOPH
 
ทั้งนี้ ประกอบด้วย
 
M : Mastery หรือเป็นนายตนเอง คือเป็นบุคคลที่หมั่นฝึกฝนตนเองให้มีศักยภาพ ยึดมั่นในความถูกต้อง มีวินัย ปฏิบัติตามกฎระเบียบ บนพื้นฐานของการมีสำนึก รับผิดชอบ คุณธรรม และจริยธรรม
 
O : Originality หรือเร่งสร้างสิ่งใหม่ คือสร้างสรรค์นวัตกรรม สิ่งใหม่ ที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อระบบสุขภาพ
 
P : People centered หรือใส่ใจประชาชน คือต้องยึดประชาชนเป็นศูนย์กลางในการทำงานเพื่อประโยชน์อันดีแก่ประชาชน โดยใช้หลักเข้าใจ เข้าถึง พึ่งได้
 
H : Humility หรืออ่อนน้อมถ่อมตน คือมีสัมมาคารวะ มีน้ำใจ ให้อภัย รับฟังความเห็น เสียสละเพื่อประโยชน์ส่วนรวม
 
“มีการศึกษาพบว่า 30% ของความสำเร็จขององค์กร เกิดจากการปฏิบัติตามค่านิยมองค์กร” นพ.สมศักดิ์ กล่าว และว่า ที่ผ่านมามีคำกล่าวว่าคนเข้าทำงานเพราะองค์กรแต่จากไปเพราะหัวหน้า ซึ่งส่วนตัวก็ไม่ทราบว่าเป็นความจริงหรือไม่ อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญที่สุดในการสร้างความผูกพันองค์กรคือต้องเริ่มที่ผู้บริหารก่อน
 
นอกจากนี้ หากพิจารณาสัดส่วนบุคลากรในองค์กรโดยจำแนกตามการมีส่วนร่วม (Gallup’s engagement ratio) จะพบว่าองค์กรทั่วๆ ไปมีสัดส่วนบุคลากรที่ ให้ความร่วมมือ (Engaged) ไม่ให้ความร่วมมือ (Not Engaged) และพวกค้านทุกเรื่อง (Actively Disengaged) อยู่ที่ 33% 49% และ 18% ตามลำดับ อย่างไรก็ตามบุคลากรสาธารณสุขทุกระดับต้องช่วยกันปรับเปลี่ยนองค์กรให้กลายเป็นองค์กรในระดับ World-Class ซึ่งจากข้อมูลพบว่ามีสัดส่วน 67% 26% และ 7% ตามลำดับ
 
“เราต้องเพิ่มสัดส่วนบุคลากร Engaged ให้มากขึ้น และลดกลุ่มคนที่เอาแต่ค้านทุกเรื่อง หรือ Actively Disengaged ลง”นพ.สมศักดิ์ กล่าว
 
รองปลัด สธ. กล่าวอีกว่า สำหรับข้อเสนอในการทำงานคือทุกคนต้องมีส่วนร่วมและมีความเป็นเจ้าของอย่างสร้างสรรค์ ขณะเดียวกันเมื่อทำงานไปก็ต้องเรียนรู้ไป และสามารถติงกันได้แบบพี่ๆ น้องๆ โดยบางครั้งต้องใช้สมอง แต่ในบางครั้งก็ต้องใช้หัวใจเพื่อให้เกิดพลังเครือข่าย ที่สำคัญก็คือต้องกล้าคิดนอกกรอบคือทำในสิ่งที่ไม่เคย และอยากฝากทิ้งท้ายว่างานไม่ใช่ทุกอย่างของชีวิต แต่ครอบครัวและตัวเองสำคัญมาก
 
ด้าน นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ สธ. ในฐานะผู้จัดการประชุม กล่าวว่า เป้าหมายของการจัดประชุมคือการจุดกระแสการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์กำลังคน โดยขณะนี้บุคลากรด้านสาธารณสุขกำลังมีปัญหาเรื่องไม่มีความสุขในการทำงาน รู้สึกกดดัน เหน็ดเหนื่อย เครียด ท้อแท้ เหนื่อยหน่าย และขาดแรงบันดาลใจในการทำงาน เนื่องจากภาระงานเพิ่มขึ้น
 
“มีงานวิจัยซึ่งสำรวจความคิดเห็นพยาบาลจำนวน 3,000 คน พบว่า 49.6% หรือเกือบครึ่งหนึ่ง มีความคิดที่จะลาออกในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา นั่นเป็นภาพสะท้อนบุคลากรในวิชาชีพสาธารณสุขด้านอื่นๆ ด้วย” นพ.โกมาตร กล่าว
 
นพ.โกมาตร กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมายุทธศาสตร์ด้านกำลังคนติดอยู่กับกับดักของความขาดแคลนจึงมุ่งผลิตคนเข้าสู่ระบบเพิ่มเติม โดยไม่คำนึงถึงบุคลากรที่อยู่ในระบบเดิมจำนวนกว่า 4 แสนราย การประชุมในครั้งนี้จึงเป็นการแสดงเจตนารมณ์ในการปฏิรูปยุทธศาสตร์กำลังคน โดยมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับคนในฐานะที่เป็นมนุษย์
 
 
กสร.เป็นกาวใจนายจ้าง ลูกจ้าง ฟาร์อีสท์ปั่นทอ สาขาพุทไธสง จ.บุรีรัมย์ รับเงินช่วยเหลือจากนายจ้างกว่าล้านบาท
 
นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เปิดเผยถึงกรณี ลูกจ้างบริษัท ฟาร์อีสท์ปั่นทออุตสาหกรรม จำกัด สาขาอำเภอพุทธไทสง จังหวัดบุรีรัมย์ ที่นายจ้างให้ย้ายมาทำงานที่สำนักงานสาขาในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร และต่อมาลูกจ้างจำนวน ๑๓๘ คน ได้ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการสวัสดิการแรงงาน กรณีนายจ้างย้ายสถานประกอบกิจการมีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตตามปกติของลูกจ้างหรือครอบครัว จึงขอเลิกสัญญาจ้างและให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยพิเศษตามมาตรา ๑๒๐ แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ ว่า ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายควบคู่ไปกับการประสานให้นายจ้าง และลูกจ้างพูดคุยกัน โดยคำนึงถึงความสัมพันธ์ ความผูกพันที่เคยมีต่อกัน รวมถึงความต้องการที่แท้จริงของทั้งสองฝ่าย ในที่สุดสามารถเจรจาตกลงกันได้โดยนายจ้างยินยอมจ่ายเงินช่วยเหลือให้แก่ลูกจ้างทั้ง ๑๓๘ คน ๆละ ๑๐,๐๐๐ บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น ๑,๓๘๐,๐๐๐ บาท (หนึ่งล้านสามแสนแปดหมื่นบาทถ้วน) ลูกจ้างได้รับเงินแล้วจึงถอนคำร้องและยุติเรื่อง
 
อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวต่อว่า กรณีนี้ถือเป็นตัวอย่างที่ดีที่นายจ้าง ลูกจ้างพยายามแก้ปัญหาร่วมกัน โดยคำนึงถึงความรู้สึกและเหตุผลความจำเป็นของทั้งสองฝ่ายจึงทำให้ปัญหายุติได้ด้วยดี
 
 
คนเงินเดือนสูงเตรียมจ่ายเพิ่ม! ประกันสังคมจ่อปรับเพดานคำนวณเงินสมทบใหม่ที่ 20,000 บาท ต้องจ่ายสมทบ 1,000 บาท/เดือน
 
(7 ธ.ค.) ที่โรมแรมรามาการ์เดนส์ นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวในงานประชุมรับฟังความคิดเห็นการปรับปรุงจำนวนเงินที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบกองทุนประกันสังคม ว่า ในการปรับเพิ่มกรณีผู้ประกันตนมาตรา 33 จากเดิมอัตราขั้นต่ำอยู่ที่ 1,650 บาท และสูงสุดอยู่ที่ 15,000 บาทต่อเดือน เป็นต่ำสุดมี 2 แนวทาง คือ 3,600 บาท หรือ 4,500 บาท และสูงสุดเป็น 20,000 บาทต่อเดือน และกรณีมาตรา 39 ซึ่งเดิมใช้ฐานค่าจ้างที่ 4,800 บาทต่อเดือน อยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะปรับเพิ่มมาเป็นที่ 7,800 บาท หรือ 6,700 บาทต่อเดือน เป็นการพิจารณาปรับเพิ่มในรอบ 26 ปี ตั้งแต่ที่มีการก่อตั้ง สปส. มา ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพสังคมในปัจจุบัน โดยเฉพาะกรณีก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยหลักการเพื่อเพิ่มสิทธิประโยชน์และความมั่นคงของชีวิต นอกจากนี้ ยังมีการพิจารณาปรับเพิ่มทุกๆ 5 ปี เบื้องต้นจะมีการออกเป็นกฎกระทรวง เนื่องจากการแก้ พ.ร.บ. ประกันสังคม มีการใช้เวลานาน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการทำประชาพิจารณ์ 4 ภาค ผ่านมาแล้ว 2 ครั้ง ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการปรับฐานการคำนวณเงินสมทบใหม่ แต่มีบางส่วนเห็นว่าควรปรับตามสภาพเงินเดือนของแต่ละคน เพราะบางคนเงินเดือนสูงก็อยากให้มีการจ่ายเงินเพิ่มเพื่อเป็นหลักประกันในยามชราภาพ
       
ผู้สื่อข่าวถามว่า องค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) เสนอ 5 แนวทางในการปฏิรูปประกันสังคม ซึ่งหนึ่งในนั้นมีการเสนอเรื่องของการปรับฐานการคำนวณเงินสมทบด้วย นพ.สุรเดช กล่าวว่า ขอยืนยันว่าเป็นการปรับเพื่อสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตน ส่วนเรื่องความมั่นคงของกองทุนนั้นมีแนวทางอื่นๆ ที่ดำเนินการอยู่แล้ว เช่น การลงทุนในภาคส่วนต่างๆ เป็นต้น ส่วนการร่างกฎหมายคืนสิทธิผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ที่หลุดจากการเป็นผู้ประกันตน เช่น การลืมจ่าย ทำให้ไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ เป็นต้น ขณะนี้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว จากการรับฟังความคิดเห็นก็ไม่มีใครคัดค้าน ขณะนี้ได้ส่งให้กระทรวงแรงงานพิจารณาให้เร็วที่สุด คาดว่า จะแล้วเสร็จภายใน ม.ค. 2560 โดยยืนยันว่า เรื่องนี้ไม่ใช่ของขวัญปีใหม่ เพราะของขวัญปีใหม่จาก สปส. นั้น มีการจัดเตรียมไว้อยู่แล้ว ซึ่งจะแจ้งให้ทราบภายหลัง
       
 
นายโกวิท สัจจวิเศษ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายประกันสังคม กล่าวว่า ผู้ประกันตนมาตรา 33 นั้น การปรับฐานการคำนวณเก็บเงินสมทบเพิ่มขึ้นสูงสุดเป็น 20,000 บาท ไม่ได้หมายความว่า ทุกคนจะใช้ฐาน 20,000 บาท ในการคำนวณ แต่ยังคิดตามฐานเงินเดือนจริง ส่วนผู้ที่เงินเดือนสูงเกิน 20,000 บาท ก็จะใช้ฐานคำนวณที่ 20,000 บาท ซึ่งการปรับเพิ่มฐานคำนวณสูงสุดจาก 15,000 บาท เป็น 20,000 บาท จะมีผู้ประกันตนและนายจ้างที่ได้รับผลกระทบต้องจ่ายเงินเพิ่มขึ้นเพียง 20% เท่านั้น จากจำนวนผู้ประกันตนทั้งหมด 13 ล้านคน เพราะส่วนใหญ่ฐานเงินเดือนจะไม่เกิน 15,000 บาท ทั้งนี้ การคำนวณเงินสมทบจะคิดอยู่ที่ 5% ของเงินเดือน แต่จะได้รับเงินออมอยู่ที่ 6% ดังนั้น จากเดิมฐานคำนวณสูงสุด คือ 15,000 บาท ต้องจ่ายเงินสมทบที่ 750 บาทต่อเดือน ได้รับเงินออม 900 บาทต่อเดือน เมื่อปรับเป็น 20,000 บาท จะจ่ายเงินสมทบสูงสุดที่ 1,000 บาทต่อเดือน แต่ได้รับเงินออมสูงสุดที่ 1,200 บาทต่อเดือน ส่วนผู้ประกันตนมาตรา 39 ยังใช้การคำนวณที่ 9% เช่นเดิม โดยปัจจุบันใช้ฐาน 4,800 บาท จะจ่ายสมทบต่อเดือนที่ 432 บาท หากปรับฐานเป็น 7,800 บาท จะจ่ายเงินสมทบที่ 702 บาทต่อเดือน หากใช้ฐาน 6,700 บาท จะจ่ายเงินสมทบที่ 603 บาทต่อเดือน ทั้งนี้ การปรับเพิ่มฐานคำนวณยืนยันว่าเพื่อความมั่นคงของผู้ประกันตน เพราะเงินที่เพิ่มขึ้นก็ไปเพิ่มในสิทธิประโยชน์ต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องของเงินออมและเงินชดเชยการขาดรายได้
       
“สำหรับการคืนสิทธิครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 ซึ่งต้องออกเป็น พ.ร.บ. คาดว่า จะออกได้ภายใน 6 เดือนนี้ เพราะมีไม่กี่มาตรา และขอย้ำว่า ครั้งนี้จะเป็นการคืนสิทธิครั้งสุดท้าย มิเช่นนั้น จะมีการขอคืนสิทธิไม่หยุดหย่อน ซึ่งในการปรับฐานเงินเดือนและการคืนสิทธิครั้งนี้ จะทำให้ผู้ประกันตนตามมาตราดังกล่าวได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้น มีเงินออมเพิ่มขึ้น เงินชดเชยการขาดรายได้ก็เพิ่มขึ้นด้วย การปรับฐานการคำนวณนั้นจะมีการออกเป็นกฎกระทรวงแรงงาน ซึ่งอย่างต่ำจะใช้เวลาประมาณ 6 เดือน” นายโกวิท กล่าว
       
นายมานิตย์ พรหมการีย์กุล คณะกรรมการประกันสังคมสัดส่วนลูกจ้าง กล่าวว่า จากการพูดคุยกันในกลุ่มลูกจ้างทุกคนเห็นด้วยกับการปรับฐานการคำนวณเงินสมทบ และจากการคำนวณทางคณิตศาสตร์ประกันภัย โดยนึกถึงลูกจ้างและนายจ้าง เห็นว่า ฐานขั้นต่ำ 3,600 บาท และสูงสุดไม่เกิน 20,000 บาทนั้นอยู่ในอัตราที่เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน แต่โดยส่วนตัวอยากให้คนที่เงินเดือนเกิน 20,000 บาท ใช้การคำนวณเงินสมทบตามฐานเงินเดือนจริงเป็นขั้นบันไดด้วย
       
นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ ผู้แทนนายจ้าง กล่าวว่า การปรับฐานการคำนวณเงินสมทบ นายจ้างย่อมได้รับผลกระทบแน่นอน เพราะเป็นภาระที่เพิ่มขึ้นแก่กลุ่มนายจ้าง แต่เป็นหน้าที่ที่ต้องทำ เพื่อเสริมสร้างให้ลูกจ้างมีหลักประกันที่มั่นคงขึ้น เชื่อว่า คนส่วนมากเห็นด้วยกับการปรับครั้งนี้ และเป็นขวัญกำลังใจของคนทำงานมากขึ้น ซึ่งหากลูกจ้างมีขวัญกำลังใจที่ดี ไม่มีความกังวลในเรื่องของเงินออม ก็จะทำให้การทำงานออกมามีประสิทธิภาพและประสิทธิผลที่ดี ก็ถือเป็นประโยช์กับนายจ้างด้วยเช่นกัน 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net