ถกประเด็นสิทธิหลังดูหนัง สโนว์เดน ท่ามกลางการจับตาของฝ่ายความมั่นคง

“เบิ่งหนัง-ตั้งวงโส” แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ไทยแลนด์ และโครงการจัดตั้งสมาคมการเมืองและความยุติธรรมแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จัดกิจกรรมฉายหนังฟรีประเด็นสิทธิ ที่ จ.มหาสารคาม เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงคุมเข้มหวั่นเกี่ยวการเมือง

เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. 2559 ที่ผ่านมา เวลา 13.00 น. – 19.00 น. ที่โรงภาพยนตร์ SF Cinema City ห้างสรรพสินค้าเสริมไทยคอมเพล็กซ์ จ.มหาสารคาม แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ไทยแลนด์ (Amnesty International Thailand) และ โครงการจัดตั้งสมาคมการเมืองและความยุติธรรมแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asian Politic and Justice Association) ร่วมจัดกิจกรรมรณรงค์ประเด็นสิทธิมนุษยชน ผ่านการชมภาพยนตร์ฟรี เรื่อง สโนว์เดน อัจฉริยะจารกรรมเขย่ามหาอำนาจ ซึ่งเป็นเรื่องราวจากเหตุการณ์เปิดโปงข้อมูลครั้งใหญ่ที่สุดอีกครั้งของสหรัฐอเมริกา โดย เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน อดีตเจ้าหน้าที่ข่าวกรองของเอ็นเอสเอ (สภาความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐ-NSA) ที่ได้แฉปฏิบัติการดักเก็บข้อมูลจำนวนมหาศาลของหน่วยงานความมั่นคงของรัฐบาลสหรัฐ ซึ่งได้สร้างผลสะเทือนครั้งใหญ่ต่อโลกและชีวิตคนจำนวนมากที่ถูกดักเก็บข้อมูลในชีวิตประจำวันโดยไม่รู้ตัว ด้วยฝีมือการกำกับของโอลิเวอร์ สโตน (Oliver Stone) และได้โจเซฟ กอร์ดอน เลวิตท์ (Joseph Gordon Lewitt) และปิดท้ายกิจกรรมด้วยวงเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ชื่อว่ากิจกรรม “เบิ่งหนังตั้ง-วงโส”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศภายในงาน ผู้เข้าร่วมเริ่มเดินทางเข้างานตั้งแต่ 13.00 น. เพื่อรับบัตรชมภาพยนตร์ และ ร่วมกิจกรรมต่างๆ ร่วมลงชื่อเรียกร้องอภัยโทษ “เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน”, เขียนโปสการ์ดถึงประธานาธิบดี บารัก โอบาม , ถ่ายรูปเซลฟี่ “หยุดรุกล้ำความเป็นส่วนตัว” “Don’t invade my privacy” โพสต์ลงเฟสบุ๊คติดแฮชแท็ก #PardonSnowden

ต่อมาเวลาประมาณ 14.00 น. มีเจ้าหน้าที่ความมั่นคงนอกเครื่องแบบ 2 คน เข้ามาสอบถามรายละเอียดกิจกรรมจากทีมผู้จัดงาน “เบิ่งหนัง-ตั้งวงโส”และขออยู่เฝ้าดูตลอดการจัดกิจกรรม จากนั้นยังมีเจ้าหน้าที่ทั้งในและนอกเครื่องแบบเข้ามาเพิ่มอีกกว่า 10 - 20 คน ภายในบริเวณงาน และโรงภาพยนตร์ มีการเรียกทีมผู้จัดงานเข้าพูดคุยสอบถามถึงรายละเอียดของงานเป็นระยะ

หลังจากภาพยนตร์จบ เรืองฤทธิ โพธิพรม สมาชิกโครงการจัดตั้งสมาคมการเมืองและความยุติธรรมแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asian Politics and Justice Association : SAPJA) ได้เริ่มต้นกล่วเปิดงานเสวนาว่า “หลายท่านคงเริ่มคิดว่าเมื่อเราถูกจับตามอง ความเป็นส่วนตัวของเราจะเหลือมากแค่ไหน? จะมีอันตรายใดมาถึงเราบ้าง? ซึ่งวันนี้เราจะไม่พูดแค่ว่ามันจะกระทบอะไรต่อเรา ยังมีประเด็นอื่นอีก เช่น จะกระทบต่อคนอื่นอย่างไร? มุมมองความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจะเป็นอย่างไร?”

ผศ.ดร.ปรีชา สาคร หัวหน้าภาควิชานิเทศศาสตร์ คณะวิทยาการสารสนเทศ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เริ่มต้นการเสวนาโดยการระบุว่า ในเชิงภาพยนตร์ จะมีทฤษฎีที่เรียกว่า ประพันธกร ซึ่งให้ความสนใจในตัวศิลปิน โดยผู้ที่เป็นผู้กำกับเรื่องนี้ โอลิเวอร์ สโตน หากย้อนไปมองอดีตของเขาก็จะเห็นว่า เขาเคยผูกพันกับสงคราม สอนภาษาอังกฤษที่เวียดนาม เคยไปรบที่เวียดนามประมาณ 1 ปี ช่วงปี พ.ศ. 2519 เขามีความพยายามที่จะติดตามนโยบายที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลมาเรื่อยๆ ตั้งแต่สงครามเวียดนามจนถึงเหตุการณ์ 911 จะเห็นว่าหนังหลายเรื่องที่โอลิเวอร์ สโตน พยายามจะพูดถึง เช่นหนังที่ได้รางวัลออสก้าเรื่อง Platoon เป็นความโหดร้ายของสงครามที่เขาไปพบ รัฐบาลอเมริกาทำไมต้องส่งกำลังรบไปช่วงชิงชัยชนะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะ ลาว กัมพูชา เวียดนาม เขาพยายามมองมุมต่างกับรัฐบาล ถ้ามองในมุมทฤษฎีประพันธกร อาจเรียกง่ายๆว่า เป็นลายเซ็นของเขา ถ้าเป็นหนังของโอลิเวอร์ สโตน จะพูดออกมาในแนวนี้

หัวหน้าภาควิชานิเทศศาสตร์ กล่าวต่อไปว่า Snowden เป็นหนังที่สร้างมาจากเหตุการณ์จริง ในแวดวงวิชาการจะมีทฤษฎีหนึ่งที่ใช้สำหรับการดูภาพยนตร์คือ การประกอบสร้างความจริง ซึ่งจะบอกว่าในหนังที่เราดูอาจมีความจริงบ้างบางส่วน แต่ภาพยนตร์คือ สื่อบันเทิงชนิดซึ่งจะต้องเอาคนดูให้อยู่ภายในชั่วโมงครึ่ง จะทำอย่างไรให้คนดูจนหนังจบเรื่อง จนหนังสามารถพิสูจน์ธีมของมันได้

ปรีชา ยกตัวอย่างการมองหนังผ่านกรอบทฤษฎีดังกล่าวว่า ทฤษฏีนี้จะบอกว่าอาจมีความจริงส่วนหนึ่ง และอาจมีสิ่งที่ประกอบสร้างขึ้นมาให้คนดูติดตามเรื่อง เช่น ฉากที่สโนว์เดนเอาเมมโมรี่การ์ดเสียบเข้าไปในเครื่องคอมฯ เพื่อที่จะโหลดเอาข้อมูลมา เรารู้สึกตื้นเต้น จากจังหวะการตัดต่อ มุมภาพ ดนตรี ซึ่งในความเป็นจริงผมไม่อาจรู้ว่าเขาอาจโหลดมาอย่างง่ายๆ ก็ได้แต่ด้วยความเป็นหนังจึงมีสิ่งเร้าให้คนดูรู้สึกตื่นเต้น หรือคล้อยตามสิ่งที่เกิดขึ้น อีกฉากหนึ่งคือขณะที่สโนว์เดนกำลังปาร์ตี้กับเพื่อน มีโดรนบินเห็นภาพวิวสูงๆ บ่งบอกว่าคุณอาจถูกจับตามองอยู่นะ และอีกฉากหนึ่งที่สโนว์เดนเจอกับเจ้าหน้าที่อาวุโสของ CIA ด้วยมุมมองของกล้องทำให้เจ้าที่ดูตัวใหญ่มากเมื่อเทียบกับสโนว์เดน เหตุการณ์จริงเขาอาจคุยกันต่อหน้าก็ได้ แต่ด้วยความที่ผู้กำกับ ต้องการสื่อสารภาษาภาพกับคนดูว่าเจ้าหน้าที่คนนี้ยิ่งใหญ่และสามารถทำอะไรกับคุณก็ได้ ชายชาวอเมริกันตัวเล็กคนเดียว ส่วนตัวเจ้าหน้าที่ CIA คือภาพแทนกฎหมาย ภาพแทนของอเมริกา คนที่มีอำนาจมองคนที่ด้อยอำนาจกว่า ทุกๆ ช็อตคือการสื่อสารหมดเลย หากจะวิเคราะห์วิจารณ์หนังจะมีสามส่วนคือ วิเคราะห์ตัวบท วิเคราะห์บริบท และวิเคราะห์ผู้รับสาร การนำหนังที่มีประเด็นทางสังคมมาเล่าก็สนุกดี แต่ถ้าเราไม่มีภูมิหลังของเรื่องก็จบเลย แต่หนังเรื่องนี้มันมีประเด็นเยอะแยะมากมาย

ดร.คู่บุญ จารุมณี อาจารย์ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ วิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวด้วยว่า บางคนอาจรู้สึกว่าเรื่องเหล่านี้ถูกดึงเข้ามาใกล้ตัวเรามากขึ้นเรื่อยๆ ประเด็นสิทธิ ประเด็นการสอดแนม ทุกวันเราใช้โซเชียลมีเดีย โลกเราถูกดึงมาใกล้กันมากซะจนเราไม่รู้ว่าที่เรากด Accept มันนำไปสู่อะไรบ้าง เพราะฉะนั้นสิ่งที่ สโนว์เดนเปิดโปงสิ่งนี้ไม่ใช่ปรากฏการณ์แรก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐอเมริกา อย่างเช่น กรณีสอดแนมแล้วเกิดผลกระทบในวงกว้างทั่วโลก วอเตอร์เกท เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสมัยประธานาธิบดี ริชาร์ด นิกสันของสหรัฐอเมริกาซึ่งอยู่พรรคริพับริกัน ไปสอดแนม ดักฟังการประชุมของพรรคเดโมแครต เหตุการณ์นี้เป็นเหตุให้ริชาร์ด นิกสันต้องลาออกจากตำแหน่งเพราะข้อกล่าวหานี้ หรือกรณีที่สอง แดเนียล เอลฟ์สเบิร์ก เผยแพร่เอกสาร ชื่อ เพนตากอน เพเพอร์ ลงหนังสือพิมพ์นิวยอร์คไทม์ ในเอกสารพูดถึงการวิเคราะห์สงครามเวียดนามตั้งแต่ปี 1970 เป็นต้นมา เหตุการณ์ที่สหรัฐอเมริกามาทำสงครามที่อินโดจีน สหรัฐไม่มีทางชนะแต่ข้อมูลเหล่านี้รัฐบาลปกปิดเป็นความลับไม่เผยแพร่ให้คนได้รู้ ถ้าเกิดเอกสารนี้ถูกเผยแพร่ออกไปจะส่งผลต่อความมั่นคง การดำเนินนโยบาย ของสหรัฐอเมริกาในเวียดนาม ซึ่งเหตุการณ์ในครั้งนี้ได้ถูกนำไปสู่การฟ้องร้องอีกหลายครั้งจนกระทั่งศาลสูงสุดได้ตัดสินว่าสิทธิการรับรู้ข่าวสารของประชาชน ย่อมมาก่อนคำกล่าวอ้างด้านความมั่นคงของรัฐบาล บุคลเหล่านี้ที่ยกตัวอย่างมาเขาเรียกร้องเพื่อเสรีภาพของผู้คนแต่กลายเป็นว่าเขาไม่มีที่ยืนในจุดที่เขาสามารถยืนได้

“ตอนนี้ สโนว์เดนอยู่ที่มอสโก ในรัสเซีย แต่เขาเคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า – I’m not living in Russia but I’m live on internet ทำไม สโนว์เดนถึงไปอยู่รัสเซีย? ลองมองอีกมิติหนึ่ง หลังจากที่ สโนว์เดนออกมาจากฮาวาย เขามาอยู่ที่ฮ่องกง จากนั้นหลบหนีมาที่สนามบินมอสโก จนสหรัฐอเมริกายกเลิกพาสปอร์ตทำให้เขาต้องยื่นขอภาวะผู้ลี้ภัยทางการเมือง สิ่งหนึ่งที่อยากสะท้อนให้เห็นว่า ฮ่องกงอยู่ภายใต้นโยบายจีน ถึงแม้จะมีอำนาจบางประการแต่ยังต้องฟังจีน รัสเซียและจีนมองว่า สโนว์เดน เป็นเหมือนผู้ถ่วงดุล การที่มอสโกยังให้ สโนว์เดนมีสิทธิเสรีภาพในการสื่อสารบอกเล่าเรื่องราวที่จริงแล้วไม่มีใครรู้ว่านอกจากชิพนั้นเขายังมีอย่างอื่นไหม สิ่งนี้คือสิ่งที่เราก็ไม่รู้ที่อื่นก็ไม่รู้ มหาอำนาจเขาบาลานซ์กัน เขาพยายามช่วงชิงพื้นที่กัน” คู่บุญ กล่าว

คู่บุญ กล่าวต่อว่า ประเด็นที่น่าสนใจและที่อยากพูดถึงคือ 3 ปี ของปรากฎการณ์สโนว์เดน ได้ส่งผลให้เกิดความเปลียนแปลงไปหรือไม่

“มันเหมือนเจตนารมณ์ที่ สโนว์เดนออกมาเพื่อบอกกับพวกเราว่าสิ่งเหล่านี้มันเกิดขึ้น รัฐบาลสอดแนมผู้คน รัฐบาลเข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวันของผู้คน การที่ข้อมูลเหล่านี้ถูกเปิดเผยทำให้คนที่มีส่วนเกี่ยวข้องทำอะไรบ้างไหม เปลี่ยนแปลงอะไรบ้างไหม เมื่อปลายปี ที่อังกฤษ ได้ผลักดันให้เกิดกฎหมายที่เรียกว่ากฎหมายการเฝ้าระวังผู้บุกรุก ซึ่งมีผลในการบังคับใช้ในปี 2017 และภายใต้กฎหมายนี้หน่วยข่าวกรองของอังกฤษ สามารถแฮก เข้าไปเก็บข้อมูลไม่ใช่เฉพาะภายในอังกฤษเท่านั้น แต่หมายถึงต่างประเทศด้วย” คู่บุญ

ผศ.ดร.วินัย ผลเจริญ อาจารย์ภาควิชาการเมืองการปกครอง วิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เริ่มต้นได้การกล่าวถึงความรู้สึกว่า ตื่นเต้นเนื่องจากเป็นการพูดท่ามกลางการเฝ้าจับตาของเจ้าหน้าที่รัฐ

“จะเรียกว่าถูกสอดแนมหรือเปล่าผมไม่รู้นะครับ แต่ผมคิดว่ามันมีผู้ที่ติดตามผมอยู่นะครับ ทั้งทางเฟสบุ๊คแล้วก็เวลาที่มาพูดแบบนี้ก็มีนะครับ เมื่อสักครู่ผมอยู่ข้างหลังผมได้ยินเจ้าหน้าที่นะครับ เข้าใจว่าเจ้าหน้าที่ถามผู้ประสานงานที่นี่ว่า อ.วินัยมาหรือยัง ผมรู้สึกว่าตัวเองถูกเฝ้าดูจริงๆ จากประสบการณ์ หลังรัฐประหารไม่นาน 2-3 วัน วันนั้นเป็นวันศุกร์ ผมจำวันที่ไม่ได้ว่าเป็นวันที่ 25 หรือ 26 พฤษภาปี 57 มีนิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคามจำนวนหนึ่ง จะจัดกิจกรรมติดป้ายผ้าต้านรัฐประหาร และจุดเทียนเพื่อให้เกิดสันติวิธี มีอาจารย์ตามไปให้กำลังใจด้วย อาจารย์ทั้งหมด 7 คน วันนั้นมีทหารระดับยศพันเอก พันโท ตำรวจระดับพันตำรวจเอก พันตำรวจโท หลายคนไปอยู่ที่นั่น ในที่สุดเขาก็ไม่ให้จัด ก่อนแยกย้ายกัน ผมเดินจะไปขึ้นรถก่อนก็มีเจ้าหน้าที่มาทักทายมาทักชื่อผมใช่อาจารย์วินัยไหมครับ ผมก็บอกว่าใช่แล้วก็ยืนคุยกัน แต่ในขณะที่กำลังยืนคุยกันมีโทรศัพท์เข้ามาที่เจ้าหน้าที่คนนั้นถามว่า อ.วินัยมาหรือเปล่า” วินัย กล่าว

วินัย เล่าต่อไปว่า เมื่อมีโทรศัพท์โทรเข้ามาที่เจ้าหน้าที่คนดังกล่าว เพื่อถามว่าตัวเองอยู่หรือไม่นั้น เจ้าหน้าที่คนดังกล่าว ได้บอกกับปลายสายว่า อ.วินัยไม่ได้มา ซึ่งนั้นคือการโกหก วินัยตั้งคำถามต่อไปถึงการโกหก โดยโยงกับเรื่องราวที่อยู่ในภาพยนตร์ว่า ไม่รู้ด้วยเหตุผลอะไรในหนังเรืองนี้เราเห็นการโกหกหลายครั้ง ทั้งโดยพระเอกเองก็เคยโกหกคนอื่นหลายคนก็เคยโกหก ผ.อ.ซีไอเอเองก็เคยโกหก เพราะฉะนั้นเรื่องการโกหกไม่รู้ว่ามันส่งผลอย่างไร แต่ถ้าเรามองจากมุมปรัชญา มันมีมุมปรัชญาที่ให้มองว่าการโกหกมันควรจะโกหกหรือไม่ควรโกหก ถ้าโกหกแล้วได้ประโยชน์อะไร ไม่โกหกแล้วได้ประโยชน์อะไร ดีอย่างไร ประเด็นในทางปรัชญาจริงๆ แล้วอยากจะพูดว่าเราจะให้คุณค่ากับมันอย่างไร อย่างเช่นผลประโยชน์แห่งชาติ กับสิทธิเสรีภาพของพลเมือง ซึ่งมันไม่มีความสมดุลกัน ดูเหมือนว่าสิทธิเสรีภาพของพลเมืองจะถูกลิดรอนมาก ด้วยข้ออ้างเรื่องความมั่นคงแห่งชาติ ความมั่นคงของประเทศ ไม่ว่าประเทศไหนก็เป็นอย่างนี้

“ตอนบ่ายก่อนจะมาผมได้ค้นข่าวเกี่ยวกับ สโนว์เดน ทราบว่าข่าวออกเมื่อวานผมได้อ่านข่าวเมื่อบ่าย จากข่าวที่อ่านทราบว่า สโนว์เดนอาจจะถูกส่งตัวจากรัสเซียไปให้สหรัฐอเมริกา ตอนนี้ประธานาธิบดีคนใหม่ก็มีมุมมองที่พวกเราก็เข้าใจว่าไม่ได้ให้คุณค่ากับเรื่องสิทธิเสรีภาพมากนัก ให้คุณค่าในเรื่องความมั่นคงมากกว่าเพราะฉะนั้น สโนว์เดนเองก็รู้สึกว่าไม่มั่นคงในจิตใจของตัวเองเหมือนกัน รู้สึกกังวลเหมือนกันว่าจะถูกส่งไป สโนว์เดน ก็ให้สัมภาษณ์เหมือนกันครับว่าเขาไม่รู้สึกเสียใจเลยที่ได้ทำลงไป แต่เขารู้สึกกังวลใจที่จะถูกส่งไปยังสหรัฐอเมริกา” วินัย กล่าว

วินัย ระบุด้วยว่า ในข่าวบอกว่าสาเหตุที่ สโนว์เดน จะถูกส่งไปให้สหรัฐอเมริกาเพราะว่า สโนว์เดนตอนที่อยู่ในรัสเซียก็พูดถึงประเทศรัสเซียว่าประเทศรัสเซียก็มีกฎหมายที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนเหมือนกัน บางทีเราทำตามหลักการแต่ว่ามันไปขัดผลประโยชน์ของผู้นำ การทำอย่างนี้มันอันตรายต่อตัวเอง ฉะนั้นบางทีเราก็ต้องเลือก บางครั้งการต่อสู้ กลยุทธ์ต่างๆ เราก็อาจจะยอมผ่อนหนักผ่อนเบาบ้าง ยอมถอยมาบ้าง

“แม้ว่าผมเองจะถูกเรียกตัวไปรายงานตัวหลายครั้ง ถูกเรียกไปประชุมตั้งหลายครั้งแต่ผมก็ปฏิเสธ มีอยู่ครั้งหนึ่งที่เขาถามว่าอยากจะเห็นอะไร เราก็อยากให้มีการยกเลิกกฎอัยการศึก ในที่สุดกว่าจะมีการยกเลิกกฎอัยการศึกใช้เวลาปีกว่า ผมก็รู้สึกกลัว ความกลัวเป็นเรื่องปกติขอทุกคนแต่ว่าเราไม่จะเป็นต้องให้ความกลัวชนะเราไปซะทุกครั้ง พอกลัวแล้วก็จะเลิก จะหยุด ยอมถอย ยอมหยุด อำนาจรัฐที่จะมาใช้ก็จะมีมากขึ้น ตอนนี้มันกำลังจะมีร่าง พรบ.คอมพิวเตอร์ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมออกมา ซึ่งในร่างก็เป็นอะไรที่น่ากลัว บางคนบอกว่านี่แหละคือ พรบ. single gateway ในทางเทคนิคในทางเทคโนโลยีถูกระงับไว้ เมื่อไหร่ก็ตามที่ประชาชนคนไทยเผลอเขาก็อาจจะแอบทำ แต่ว่าในส่วนที่เป็นร่าง พรบ.คอมพิวเตอร์น่ากลัวมาก ในร่างฉบับใหม่ที่มันกำลังจะออกมามันมีการรวมศูนย์อำนาจโดยมีการให้มีการตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูลคอมพิวเตอร์ 5 คน 2 คนมาจากเอกชน แต่ 3 คนเขาไม่ได้บอกว่ามาจากไหน แต่มันน่ากลัวตรงที่ว่าตามร่างเดิมมันต้องมีคนไปฟ้อง แล้วก็ให้ศาลตัดสิน แต่ว่าตามร่างใหม่คณะกรรมการมีอำนาจมากเหลือเกินสามารถแก้ไขในมาตราอื่นๆ อีกมากมาย นี่คือความพยายามในการควบคุม ในการสอดส่อง สอดแนม ในการจำกัดชีวิตของคนเรา แล้วเราจะปล่อยให้เรื่องแบบนี้เป็นอย่างนี้ไปตลอดไปหรือ” วินัย กล่าว  

สำหรับ กิจกรรม “เบิ่งหนัง-ตั้งวงโส” จัดขึ้นภายใต้แคมเปญ "Write for Rights 2016" ซึ่งเป็นแคมเปญเพื่อสิทธิมนุษยชนรายปีที่ใหญ่ที่สุดในโลกประจำปี 2559 โดยแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยเลือกเน้นรณรงค์ช่วยเหลือ 4 กรณี ได้แก่ 1.เรียกร้องอภัยโทษ 'สโนว์เดน' ที่เปิดโปงการละเมิดสิทธิของรัฐบาลสหรัฐฯ 2.ช่วยปกป้องชาวไร่ในเปรูที่ถูกบริษัทเหมืองคุกคามบนที่ดินของเธอเอง 3.ช่วยช่างภาพอียิปต์ที่อาจถูกประหารชีวิตเพียงแค่ถ่ายภาพในเหตุ 4.ช่วยคนผิวเผือกในมาลาวีจากการสังหารเพื่อเอาอวัยวะไปขาย (อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ แคมเปญ "Write for Rights 2016" : https://www.amnesty.or.th/news/press/917)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท