Skip to main content
sharethis

สนช.ผ่านร่างพ.ร.บ.แร่ กำหนดพื้นที่การทำเหมืองแร่ พร้อมมาตราการป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม คุ้มครองสุขภาพประชาชน ด้านภาคประชาชนชี้ยังมีข้อเสียหลายจุด พร้อมออกแถลงการณ์จี้รัฐถอน พ.ร.บ. ออกจากการพิจารณา แต่ไม่เป็นผล

8 ธ.ค. 2559 เมื่อเวลา 10.00 น. ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้มีการประชุมเพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.แร่ พ.ศ.. ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว โดยมหรรณพ เดชวิทักษ์ ประธานคณะกรรมาธิการฯ ชี้แจงว่า ร่างพ.ร.บ.แร่ พ.ศ... มีทั้งหมด 188 มาตรา และมีบัญชีแนบท้ายเกี่ยวกับอัตราร่าธรรมเนียม โดยร่างพ.ร.บ.แร่ พ.ศ. ... ฉบับนี้ เป็นร่างพระราชบัญญัติที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ในเชิงลบในลักษณะที่ไม่เห็นด้วยจากหลายภาคส่วน และเป็นร่างพ.ร.บ.ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญได้รับเรื่องร้องเรียนพร้อมข้อเสนอแนะจากองค์กรต่างๆ อาทิ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ องค์กรพิทักษ์มนุษยชน กลุ่มประชาสังคมปฏิรูปทรัพยากรและทองคำ กลุ่มเครือข่ายฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมและสุขภาพเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน กลุ่มองค์การโลกสีเขียว รวมทั้งอาจารย์มหาวิทยาลัยและนักวิชาการอิสระ คณะกรรมาธิการวิสามัญจึงได้เชิญผู้แทนจากองค์กรดังกล่าวเข้ามาเป็นที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ และเป็นผู้สังเกตการณ์ และได้เข้าร่วมประชุมเพื่อให้ข้อมูล ข้อเท็จจริง และแสดงความคิดเห็นในประเด็นต่างๆ ต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญ

มหรรณพ กล่าวว่า คณะกรรมาธิการวิสามัญได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติโดยคำนึงถึงดุลยภาพในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนอย่างรอบด้าน โดยคณะกรรมาธิการวิสามัญได้นำหลักการให้มีคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติ ตามร่างระเบียบสำนักนายรัฐมนตรีว่าด้วยคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติ พ.ศ.2559 มากำหนดไว้ในร่างพ.ร.บ.แร่ พ.ศ. ... ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเพื่อให้ร่างพ.ร.บ.มีความสมบรูณ์มากยิ่งขึ้นด้วย

จากนั้นที่ประชุมได้พิจารณาเรียงลำดับรายมาตราจนครบทุกมาตรา โดยที่ประชุมเห็นด้วยกับการแก้ไขเพิ่มเติมตามที่คณะกรรมาธิการฯได้ดำเนินการ และที่ประชุมได้ลงมติให้ความเห็นชอบในวาระ 3 ด้วยคะแนน 183 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง ประกาศใช้เป็นกฎหมายบังคับใช้ต่อไป

สำหรับร่างพ.ร.บ.แร่ พ.ศ... เป็นการนำพ.ร.บ.พิกัดอัตราค่าภาคหลวงแร่ พ.ศ.2509 และพ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2510 ที่ใช้บังคับมานานซึ่งไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน มาปรับปรุง โดยนำหลักการของกฎหมายทั้ง 2 ฉบับมาบัญญัติไว้ในกฎมายฉบับเดียวกัน เพื่อให้การอนุญาตและการจัดเก็บค่าภาคหลวงแร่เป็นไปอย่างมีระบบ โดยกำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติ มีนายกฯ หรือรองนายกฯ ที่นายกฯ มอบหมายเป็นประธานกรรมการ ให้กรมทรัพยากรธรณี เป็นสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการ โดยคณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่เสนอยุทธศาสตร์ นโยบายและแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อให้การบริหารจัดการแร่เกิดประโยชน์สูงสุด และต้องมีการทบทวนแผนแม่บททุกๆ5 ปี ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมมีอำนาจประกาศให้มีการประมูลแหล่งแร่ในพื้นที่และให้ผู้ชนะการประมูลได้สิทธิในการสำรวจแร่และทำเหมืองแรในพื้นที่นั้น

นอกจากนี้ได้มีการกำหนดพื้นที่ให้เป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมืองแร่ต้องไม่ใช่พื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตโบราณสถาน เขตพื้นที่ที่มีกฎหมายห้ามการเข้าใช้ประโยชน์โดยเด็ดขาด พื้นที่เขตปลอดภัยและความมั่นคงแห่งชาติหรือพื้นที่แหล่งต้นน้ำหรือป่าน้ำซึมซับ พร้อมกับกำหนดมาตราการป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน และให้มีการประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ในการทำแนวพื้นที่กันชนการทำเหมืองการจัดทำข้อมูลพื้นฐานด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน ส่วนการขออาชาบัตรสำรวจแร่ในท้องที่ใดให้ยื่นคำขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นนั้น .ทั้งนี้ในร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว ยังมีบัญชีแนบท้ายกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมในการออกอาชญาบัตร ประทานบัตร และใบอนุญาต ค่าธรรมเนียมรายปี ค่าธรรมเนียมต่ออายุ โอนสิทธิการทำเหมืองและใบอนุญาต

จากนั้นที่ประชุมเห็นชอบให้ขยายเวลาร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียม (ฉบับที่... ) พ.ศ... และร่างพ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่... )พ.ศ.. ซึ่งเป็นการขยายเวลา ครั้งที่ 4 ออกไปอีก 30 วัน

ภาพถ่ายขุมเหมือง เหมืองแร่ทุ่งคำ จังหวัดเลย (ที่มา: แฟ้มภาพ/ประชาไท)

อย่างไรก็ตาม เมื่อวานนี้ (7 ธ.ค. 2559) เครือข่ายภาคประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ ได้ออกแถลงการณ์ เรียกร้องให้รัฐ ถอน พ.ร.บ.แร่ ออกจากการพิจารณาของ สนช. โดยระบุว่า ร่าง พ.ร.บ. แร่ ฉบับที่ถูกแก้ไขเพิ่มเติมในชั้นกรรมาธิการวิสามัญฯ ยังมีจุดอ่อนอีกมากจนทำให้เป็นร่างฯ ที่ไม่ดีพอต่อประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ตัวจริง โดยเฉพาะ หนึ่ง-บทบัญญัติเกี่ยวกับ ‘เขตสัมปทานแร่’ หรือ ‘ไมนิ่งโซน’ ที่ถูกแก้ไขเสียจนทำให้ไมนิ่งโซนไม่สมบูรณ์แบบ  เพราะไม่สามารถเฉือนพื้นที่อุทยานแห่งชาติ  เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า  เขตโบราณสถาน  โบราณวัตถุ  พื้นที่ที่มีกฎหมายห้ามการเข้าใช้ประโยชน์โดยเด็ดขาด  พื้นที่เขตปลอดภัยและความมั่นคงแห่งชาติ  และพื้นที่แหล่งต้นน้ำหรือป่าน้ำซับซึมออกมาเป็นเขตสัมปทานแร่ได้ สอง-บทบัญญัติเกี่ยวกับการอนุมัติ/อนุญาตสัมปทานสำรวจและทำเหมืองแร่ที่ กพร. มีอำนาจเต็มเพียงหน่วยงานเดียว โดยไม่ต้องขออนุญาตใช้พื้นที่สงวนหวงห้ามตามกฎหมายอื่น ก็ถูกแก้ไขเสียจนทำให้ กพร. ไม่สามารถมีอำนาจและหน้าที่เกี่ยวกับการอนุมัติ/อนุญาตสัมปทานสำรวจและทำเหมืองแร่ได้เพียงหน่วยงานเดียวอีกต่อไป

ในแถลงการณ์ยังระบุอีกว่า บทเฉพาะกาลในร่างฯ มีลักษณะจงใจเขียนซ่อนเอาไว้เพื่อต้องการคุ้มครองสัญญาสัมปทานผูกขาดหลายฉบับที่ทำขึ้นมาก่อนหน้านี้โดยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย เพราะเป็นสัญญาที่ทำขึ้นภายใต้มติคณะรัฐมนตรีที่ไม่มีบทบัญญัติใดในกฎหมายระดับพระราชบัญญัติให้กระทำสัญญาในรูปแบบ ‘สัมปทานผูกขาด’ ที่ไปจับจองพื้นที่ขนาดใหญ่หลายแสนไร่โดยไม่มีวันหมดอายุได้ ดังเช่น สัญญาให้สิทธิสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำแปลงที่สี่ พื้นที่น้ำคิว-ภูขุมทอง ของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด เจ้าของเหมืองทองคำที่มีปัญหาผลกระทบและความขัดแย้งรุนแรงกับชาวบ้านในพื้นที่รอบเหมืองในเขตตำบลเขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย เป็นต้น ก็ถูกแก้ไขในชั้นกรรมาธิการวิสามัญฯเสียจนอาจทำให้สัญญาฯดังกล่าวและสัญญาในทำนองเดียวกันนี้อีกหลายฉบับถูกยกเลิกเพิกถอนได้หากว่าร่างกฎหมายแร่ฉบับนี้ผ่านวาระสองและสามของ สนช. และตราเป็นกฎหมายใช้บังคับต่อไป

ที่มาส่วนหนึ่งจาก: กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net