Skip to main content
sharethis
 

กลายเป็นเรื่องที่ชวนถกเถียงหลังจากที่มีการสั่งระงับการสอนวรรณกรรมเรื่อง "ผู้บริสุทธิ์" (To Kill a Mockingbird) และ "การผจญภัยของฮัคเคิลเบอรี่ ฟินน์" (The Adventures of Huckleberry Finn) ในโรงเรียนบางแห่งในรัฐเวอร์จิเนีย ประเทศสหรัฐฯ เมื่อไม่นานมานี้หลังจากที่มีพ่อแม่ผู้ปกครองร้องเรียนว่าวรรณกรรมเหล่านี้มีการใช้คำพูดในเชิงเหยียดเชื้อชาติ แต่กลุ่มต่อต้านการเซ็นเซอร์ก็แย้งว่าแทนที่จะห้ามทำไมไม่นำเรื่องนี้มาอภิปรายกันในชั้นเรียนเพื่อให้เข้าใจประวัติศาสตร์และเรียนรู้กันและกันเรื่องเชื้อชาติ

ภาพปกของวรรณกรรม  "ผู้บริสุทธิ์" (To Kill a Mockingbird) ประพันธ์โดย ฮาร์เปอร์ ลี และ "การผจญภัยของฮัคเคิลเบอรี่ ฟินน์" (The Adventures of Huckleberry Finn) ประพันธ์โดย มาร์ค ทเวน (ที่มา: Wikipedia) 

8 ธ.ค. 2559 ในเทศมณฑลแอคโคแมค รัฐเวอร์จิเนีย มีแม่ของวัยรุ่นที่เป็นลูกผสมสองเชื้อชาติรายหนึ่งส่งคำร้องเรียนอย่างเป็นทางการต่อเรื่องการใช้คำไม่เหมาะสมในวรรณกรรม "ผู้บริสุทธิ์" (To Kill a Mockingbird) ประพันธ์โดย ฮาร์เปอร์ ลี และ "การผจญภัยของฮัคเคิลเบอรี่ ฟินน์" (The Adventures of Huckleberry Finn) ประพันธ์โดย มาร์ค ทเวน เช่น เรื่องคำหยาบหรือภาษาในเชิงเหยียดเชื้อชาติ

โดยที่คุณแม่คนดังกล่าวบอกกับกรรมการบอร์ดโรงเรียนของรัฐบาลประจำแอคโคแมคว่าลูกของเธอต้องตู่อส้กับความเจ็บปวดเวลาทีต้องการภาษาเหยียดเชื้อชาติพวกนี้ การร้องเรียนของคุณแม่คนดังกล่าวยังมีแรงจูงใจมาจากบรรยากาศการแบ่งแยกเชื้อชาติสีผิวในประเทศสหรัฐฯ หลังจากการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาด้วย

ถึงแม้ว่ายังไม่มีการสั่งแบนหนังสือเล่มนี้โดยถาวรเพราะยังคงอยู่ในระหว่างการหารือของคณะกรรมการแต่ก็มีการถอดการเรียนการสอนเรื่องเหล่านี้ออกจากห้องเรียนซึ่งทำให้กลุ่มแนวร่วมต่อต้านการเซ็นเซอร์ (National Coalition Against Censorship หรือ NCAC) แสดงความไม่พอใจโดยพวกเขาบอกว่าการนำเรื่องนี้ออกจากชั้นเรียนทำให้ไม่เกิดการอภิปรายหารือกันในเรื่องที่ชวนให้เกิดข้อถกเถียงอย่างเรื่องการเหยียดเชื้อชาติทำให้ไม่เกิดประโยชน์ต่อนักเรียน

NCAC ยังต้องการส่งจดหมายให้กับคณะกรรมการโรงเรียนเพื่อสื่อสารว่าหนังสือแต่ละเล่มต่างก็เป็นการสร้างความเข้าใจทางประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างเชื้อชาติในสหรัฐฯ และเชิญชวนให้พวกเขาสำรวจเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างเชื้อชาติในปัจจุบัน ซึ่งถึงแม้ว่าเรื่องนี้อาจจะทำให้บางคนไม่สบายใจแต่คำเหยียดเชื้อชาติในวรรณกรรมเหล่านี้ก็สะท้อนจากสิ่งที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ และควรจะนำมาพูดถึงโดยมีครูคอยให้คำแนะนำด้วย

ก่อนหน้านี้เคยมีกรณีที่คุณแม่ในรัฐเทสเนสซีนำกลุ่มผู้ปกครองเรียกร้องให้มีการสั่งห้ามตำราเรียนเล่มหนึ่งโดยอ้างว่า "ส่งเสริมโฆษณาชวนเชื่ออิสลาม" ในไอโอวาก็เคยมีกรณีคนต้องการให้สั่งห้ามหนังสือ "จดหมายรักจากนายไม้ประดับ" (The Perks of Being a Wallflower) โดยอ้างว่ามีเรื่อง "ความสัมพันธ์ทางเพศโจ่งแจ้ง" แต่คำร้องเรียนนี้ก็ตกไป รัฐวอชิงตันเองก็เคยออกแนวทางเกี่ยวกับนิทานที่อ่านให้เด็กฟังในสถานรับเลี้ยงเด็กโดยบอกว่าไม่ควรจะเป็นหนังสือที่ทำให้เด็กหวาดกลัว

สมาคมห้องสมุดอเมริกันจัดให้หนังสือของลีและทเวนเป็นวรรณรรมคลาสสิกสำหรับเยาวขนที่ถูกต่อต้านบ่อยครั้งที่สุด นอกจากสองเรื่องนี้แล้วยังมีเรื่อง "บันทึกลับของแอนน์ แฟรงค์" (Diary of Anne Frank) ที่เป็นมุมมองของเยาวชนหญิงในช่วงยุดสมัยที่โหดร้ายของนาซีเยอรมนี และวรรณกรรมอมตะอย่าง "โรมิโอ และ จูเลียต" (Romeo and Juliet) ติดโผวรรณกรรมที่ถูกต่อต้านบ่อยครั้งด้วย โดยสาเหตุที่นำมาใช้อ้างต่อต้านเรื่องเหล่านี้มีหลายข้ออ้างแต่ส่วนใหญ่มักจะเป็นเรื่องศาสนาและเรื่องเกี่ยวกับเพศ

เรียบเรียงจาก

To Kill a Mockingbird removed from Virginia schools for racist language, The Guardian, 05-12-2016 https://www.theguardian.com/books/2016/dec/05/to-kill-a-mockingbird-removed-virginia-schools-racist-language-harper-lee

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net