Skip to main content
sharethis

ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ระบุการที่นักการเมือง ออกมาวิพากษ์ วิจารณ์ พ.ร.บ.พรรคการเมือง แสดงว่า กรธ. ร่างกฎหมายออกมาดี พร้อมระบุ หากประกาศใช้แล้วมีเลือกตั้ง รัฐสภาใหม่ต้องการแก้ไข ก็ทำได้

แฟ้มภาพ เว็บไซต์วิทยุรัฐสภา

9 ธ.ค. 2559 ผู้จัดการออนไลน์ และมติชนออนไลน์ รายงานตรงกันว่า  เมื่อเวลาประมาณ 13.45 น. ที่รัฐสภา มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ได้ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ กรธ. ได้เผยแพร่ ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง แล้วมีพรรคการเมืองต่างๆ ออกมาวิพากษ์ วิจารณ์ว่า การออกมาวิพากษ์ วิจารณ์นั้นได้แสดงให้เห็นว่า กรธ. ได้ร่างกฎหมายออกมาดีแล้ว จึงทำให้พรรคการเมืองออกมาท้วงติง แต่ทาง กรธ. ก็พร้อมจะรับฟัง เนื่องจากเห็นว่าผู้ที่ออกมาวิพากษ์ วิจารณ์นั้นเป็นผู้ที่มากด้วยประสบการณ์ทางการเมือง โดยในวันที่ 14 ธ.ค. 2559 กรธ. ได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของภาคส่วนต่างๆ รวมทั้งผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เวลา 13.30 น. ที่สโมสรสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย ถนนพิชัย ดุสิต กทม. หรือหากพรรคการเมืองใดไม่มาในวันดังกล่าวก็สามารถส่งเอกสารมาที่ กรธ.ได้

เมื่อถาม่า มีพรรคการเมืองปฏิเสธที่จะเข้าร่วมการประชุมรับฟังความคิดเห็นในวันที่ 14 ธ.ค. นี้แน่นอน มีชัยกล่าวว่า คงไม่สามารภบังคับใครได้ แต่พรรคการเมืองก็ยังสามารถส่งเอกสารมายัง กรธ. ได้ ส่วนกรณีพรรคการเมืองระบุว่า ที่ไม่มาเข้าร่วมโดยให้เหตุผลว่าเกรงเรื่องผลประโยชน์ขัดกันเนื่องจากเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการใช้กฎหมายฉบับดังกล่าวนั้น เรื่องนี้ตนจะรับฟังความเห็นจากทุกฝ่ายและก็ไม่เคยเปิดเผยที่มาของแหล่งข่าว ดังนั้นจึงอยากให้ส่งความคิดเห็นเข้ามายัง กรธ.

เมื่อถามย้ำว่า หากมีพรรคการเมืองขนาดใหญ่ไม่เข้าร่วมจะมีผลอะไรหรือไม่กับร่าง พ.ร.บ.พรรคการเมือง รวมถึงกฎหมายรัฐธรรมนูญด้วยหรือไม่ ประธาน กรธ.กล่าวว่า ไม่มีผล เพราะกติกาก็ว่ากันไป เมื่อถามต่อว่า ถ้าท้ายที่สุดนักการเมืองได้เข้ามาสู่อำนาจแล้วมาแก้ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ในภายหลังจะทำอย่างไร มีชัยกล่าวว่า ตรงนี้ก็แล้วแต่ เป็นเรื่องของเขา

ขณะที่ ชาติชาย ณ เชียงใหม่ ประธานคณะอนุกรรมการประชาสัมพันธ์และสำรวจความคิดเห็นของประชาชนใน กรธ. เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้ส่งจดหมายแจ้งข่าวไปยังพรรคการเมืองทุกพรรคแล้ว เพื่อเชิญชวนให้เข้าร่วมงานสัมมนาและเสนอความเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.พรรคการเมืองฉบับเบื้องต้นในวันที่ 14 ธ.ค. นี้ โดยประเด็นเบื้องต้นที่อยากรับฟังความเห็นจากฝ่ายการเมือง อาทิ การจ่ายค่าบำรุงพรรค การจ่ายทุนประเดิมเพื่อทำกิจกรรมพรรคการเมือง การกำหนดให้พรรคการเมืองมีหน้าที่ตามร่างมาตรา 23 ซึ่งระบุไว้ 4 ประเด็น การสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.ของพรรคการเมือง ส่วนร่างกฎหมายนั้น ได้แจ้งให้ตัวแทนพรรคดาวน์โหลดในเว็บไซต์ของ กรธ. เพื่อศึกษาก่อนร่วมงานสัมมนา อย่างไรก็ตาม ในวันดังกล่าวตนไม่เชื่อว่าจะเกิดความวุ่นวายใดๆ ระหว่างการจัดงาน

“เจตนารมณ์ของ กรธ. นั้นไม่ได้กลั่นแกล้งหรือเลือกที่รักมักที่ชังพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง แต่เราตั้งใจให้พรรคการเมืองถูกปฏิรูป และให้เป็นสถาบันทางการเมืองของประชาชน รวมถึงจรรโลงประชาธิปไตย ส่วนที่นักการเมืองออกมาท้วงติงนั้น ผมเข้าใจว่าเนื้อหาที่เขียนนั้นสร้างภาระงานให้เพิ่มมากขึ้น คล้ายกับคนชอบกินเผ็ด แต่บนโต๊ะอาหารมีแต่แกงจืด จึงต้องออกมาทวงถาม” ชาติชายกล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net