Skip to main content
sharethis
'กรณ์ มีดี - สุรพศ ทวีศักดิ์- ศิลป์ชัย เชาว์เจริญรัตน์ - นิพนธ์ โซะเฮ' ร่วมเสวนาประเด็นศาสนาประจำชาติ ศาสนาในฐานะเครื่องมือของรัฐ ความคิดก่อนสมัยใหม่ต่อศาสนา ปัญหา ม. 31 - ม. 67 ในรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติ พร้อมทั้งกรณี 'ธรรมกาย - สันติอโศก' 

เมื่อวันที่ 10 ธ.ค.ที่ผ่านมา วิทยาลัยสหวิทยาการ ม.ธรรมศาสตร์ และ คณะประชาชนเพื่ออิสรภาพ (คปอ.) จัดเวทีเสวนา หัวข้อ "ศาสนากับรัฐธรรมนูญ" ที่ คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยมีวิทยากร ประกอบด้วย กรณ์ มีดี เลขาธิการสมาพันธ์ชาวพุทธแห่งประเทศไทย และนายกสมาคมทางสายกลาง สุรพศ ทวีศักดิ์ นักวิชาการด้านปรัชญาและศาสนา ดร.ศิลป์ชัย เชาว์เจริญรัตน์ นักวิชาการด้านศาสนวิทยาและรัฐศาสตร์ และ ดร.นิพนธ์ โซะเฮง คณะรัฐศาสตร์ ม.รามคำแหง

ที่มาของการเคลื่อนปมศาสนาประจำชาติ

กรณ์ มีดี เลขาธิการสมาพันธ์ชาวพุทธแห่งประเทศไทย และนายกสมาคมทางสายกลาง กล่าวว่า ช่วงนี้ตนเดินสายบรรยายเกี่ยวกันพุทธศาสนาและแนวทางที่จะแก้ไขพุทธศาสนา ที่มาขับเคลื่อนเรื่องศาสนาประจำชาติ เนื่องจากเห็นภัยของพระพุทธศาสนา ที่เป็นทั้งภัยภายนอกและภัยภายใน เกิดขึ้นทั้งตัวบุคคลและมีการบิดเบือนคำสอนบ้างอะไรบ้าง จึงคิดว่าการร่างรัฐธรรมนูญ 2 ครั้งที่ผ่านมามีการรณรงค์บัญญัติพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติแต่ไม่เคยได้รับ ครั้งนี้จึงดำเนินการอีกกัน  

เดิมแล้วพวกเราคิดว่าประเทศไทยมีการบัญญัติไว้แล้วว่าศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ ทั้งที่ประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ แม้จะเป็นพุทธตามบัตรประชาชนก็ตาม หรือแม้แต่ศิลปะวัฒนธรรมก็มาจากพุทธศาสนา เมื่อประชาชนส่วนใหญ่ให้การนับถือศาสนาพุทธ และเมื่อมีภัยเข้ามา ดังนั้นวิธีการที่ดีที่สุด เราจะต้องปกป้อง และคิดว่าที่ดีที่สุดก็คือการระบุไว้เป็นกฎหมาย และกฎหมายที่ดีที่สุดก็คือกฎหมายรัฐธรรมนูญ เราเห็นเช่นนี้จึงควรมีการบัญญัติให้ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ

“เราไม่ได้บัญญัติเพื่อไปบังคับให้ใครมานับถือ ไม่ได้บัญญัติเพื่อให้ใครมาบวช แต่ว่าบัญญัติไว้เพื่อป้องกันไม่ให้ใครทำลาย เราแน่นอนว่าเราไม่มีจิตคิดทำลายอยู่แล้วเพราะเดิมเราคิดว่ามันเป็นศาสนาประจำชาติอยู่แล้ว เราอยู่มานาน ในเมื่อเราคิดว่าเป็นศาสนาประจำชาติ เราก็ไม่เคยรังแกใคร คนพุทธไม่เคยรังแกใคร ไม่เคยไปไล่ศาสนาอื่นที่มาอยู่ในประเทศไทยในแผ่นดินไทย ในเมื่อเราไม่เคยที่จะกระทำการเช่นนี้ โดยที่ผ่านมาเป็นอย่างนี้มาโดยตลอด” กรณ์ กล่าว

รธน.59 แม้ไม่บัญญัติไว้ แต่ก็ดีกว่าทุกฉบับที่ผ่านมา

กรณ์ กล่าว ในการปกป้องพระพุทธศาสนานั้นจะไม่ปกป้องในตัวบุคคลแต่ปกป้องที่คำสอนปกป้องที่องค์กร สุดท้าย รัฐธรรมนูญ 59 นี้ก็ไม่ได้บัญญัติไว้ แต่จะว่าไปแล้วถึงแม้ว่าไม่ได้บัญญัติเป็นศาสนาประจำชาติ แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้เกี่ยวกับเรื่องพุทธศาสนามีการระบุเอาไว้ดีกว่ารัฐธรรมนูญทุกฉบับที่ที่ผ่านมา และมีมาตรการในการป้องกันไม่ให้ถูกบิดเบือน

อย่างไรก็ตาม กรณ์ กล่าวถึงข้อกังวลของเขาต่อรัฐธรรมนูญ 59 ว่า กรณีที่บัญญัติในท่อนท้าย ว่ารัฐพึงสนับสนุนให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเข้าไปอยู่ในมาตรการและกลไกต่อการปกป้องพุทธศาสนา ซึ่งอันนี้ก็เป็นประเด็นที่อันตราย เนื่องจากถ้าคนที่เข้ามามีส่วนร่วม แต่กลับมีทัศนะที่อันตรายต่อพระสงค์ก็จะมีปัญหา เราจึงมีองค์กรเพื่อเคลื่อนไหวให้เห็นภัยของพุทธศาสนาว่าต้นเหตุเป็นมาอย่างไรนี้

ศาสนาเป็นเรื่องส่วนตัว รัฐไม่ควรเข้ามายุ่ง และศาสนาในฐานะเครื่องมือของรัฐ

สุรพศ ทวีศักดิ์ นักวิชาการด้านปรัชญาและศาสนา กล่าวว่าศาสนาเป็นเรื่องของหัวใจ เป็นเรื่องของความรู้สึก ในเมื่อศาสนาเป็นเรื่องความรู้สึกที่ลึกซึ้งจึงเป็นเรื่องส่วนตัวอย่างถึงที่สุด ดังนั้นรัฐจึงไม่ควรเข้ามายุ่ง อย่างไรกามศาสนาก็มีความซับซ้อนมากกว่านี้ เพราะศาสนาเป็นเรื่องที่เข้าไปอยู่ประเพณีและวัฒนธรรม เป็นสถาบันทางสังคมและเกี่ยวข้องกับรัฐ แรกเริ่มศาสนาไม่เสนอให้แก้ระบบสังคม แต่มีลักษณะเห็นใจ สอนให้นายทาสเห็นใจทาส ผู้ปกครองเห็นใจผู้ถูกปกครอง แต่มาสู่ยุคกลาง ศาสนาเป็นส่วนหนึ่งของรัฐแล้ว เรามักจะมองว่าศาสนาที่เข้ามาสู่ความรุนแรงนั้นมักมองว่าเป็นคริสต์ แต่งานวิจัยของตนนั้นไม่ใช่ พุทธก็เข้ามามีส่วนทำให้ความชอบธรรมของชนชั้นนำด้วย เช่นไตรภูมิพระร่วงด้วย ดังนั้นศาสนาจึงเข้ามาเป็นเครื่องมือของรัฐ เข้ามาครอบงำ

การต้องมีศาสนาประจำชาติเป็นกรอบคิดก่อนสมัยใหม่

สุรพศ ตั้งคำถามว่า ทำไมเราต้องมีศาสนาประจำชาติ ปัญหาคือเราใช้กรอบคิดอะไรมาตั้งคำถาม กับศาสนา ใช้กรอบคิดก่อนสมัยใหม่หรือไม่ มันใช่หน้าที่ของรัฐสมัยใหม่ไหมที่จะใช้กรอบคิดแบบรัฐประชาธิปไตยสมัยใหม่ไหม รัฐประชาธิปไตยสมัยใหม่ใช้รัฐธรรมนูญ จึงไม่สามารถใช้หลักการศาสนาได้ แต่ต้องใช้หลักเสรีประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน โดยที่รัฐสมัยใหม่จะมองว่าศาสนาเป็นสิทธิเสรีภาพ เป็นเรื่องของปัจเจก ดังนั้นต้องแยกองค์กรศาสนาเป็นของเอกชน ใครอยากไป และวัดสำนักต่างๆ ก็มีสาระของตัวเองที่จะศึกษาตีความ โดยที่ไม่มีองค์กรสงฆ์ที่เป็นศูนย์กลางมาตัดสินถูกผิด ถ้ามองด้วยหลักรัฐโลกวิสัย การที่มีองค์กรศาสนาไปตัดสินถูกผิดคำสอน มันเป็นการละเมิดเสรีภาพในการนับถือศาสนา

แนะ รธน.ควรบัญญัติรัฐไทยเป็นรัฐโลกวิสัย

สุรพศ กล่าวต่อว่า การเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ความเป็นสมัยใหม่ของสยาม ไม่เหมือนยุโรป ที่แยกศาสนาออกจากรัฐ มีศีลธรรมแบบโลกวิสัย ที่อยู่บนพื้นฐานการปกป้องมนุษย์ที่เป็นปัจเจก มีเสรีภาพและความเสมอภาคของมนุษย์ แต่ในทางศาสนาในหลายอย่างมันขัดแย้ง เช่น การรักเพศเดียวกันในทางศาสนาจะมองว่าผิด ธรรมแบบทางโลกมันแปลงมาเป็นหลักสิทธิมนุษยชนสากล ศาสนาถ้ามาอยู่ในรัฐธรรมนูญ เราก็ไม่สามารถให้ศาสนาใดศาสนาหนึ่งเหนือกว่าศาสนาอื่น สิ่งที่ควรบัญญัติเลยคือว่ารัฐไทยเป็นรัฐโลกวิสัย ไม่ต้องสนับสนุนศาสนาใดศาสนาหนึ่งทั้งสิ้น ศาสนาเป็นเรื่องของเอกชนที่จะแข่งขันกันอย่างเสรี

อย่าทำให้พุทธเป็นอุปสรรคต่อการสร้างประชาธิปไตย

สุรพศ กล่าวอีกว่าถ้าเราตั้งคำถามก่อนรัฐสมัยใหม่ก็จะต้องให้รัฐเข้ามาปกป้องศาสนา แต่รัฐสมัยใหม่ทำแบบนั้นไม่ได้ และมิติทางจิตวิญญาณ จะหายไป เพราะศาสนากลายเป็นเรื่องของอำนาจและการบังคับ เช่น บังคับในแบบเรียน บังคับให้มีการสอบ ศาสนาเลยกลายเป้นเรื่องของอำนาจ การบังคับแบบนี้ไม่ได้ผล ถ้าศาสนาจะเป็นเรื่องที่ดีและมีคุณค่าต่อชีวิตคน ศาสนาต้องให้คนเข้าหาเอง ดังนั้นการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ มันจะขัดกับหลักการประชาธิปไตย แต่จะทำให้ศาสนาพุทธเป็นเครื่องมือและอุปสรรคต่อการสร้างประชาธิปไตย

ฉ.ที่ผ่านมาแม้ไม่ระบุก็ยังเป็นปัญหา แต่ รธน.ใหม่แย่ยิ่งกว่า

ศิลป์ชัย เชาว์เจริญรัตน์ นักวิชาการด้านศาสนวิทยาและรัฐศาสตร์ กล่าวว่าเวลาเราพูดถึงศาสนากับรัฐธรรมนูญ ไม่ได้เพิ่งเป็นประเด็นรัฐธรรมนูญนี้ แต่รัฐธรรมนูญนี้ส่งผลขั้นที่ชุมชนศาสนาหลายชุมชน เช่น ชุมชนในภาคใต้ แสดงมติออกมาว่าไม่รับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เป็นการแสดงออกอย่างชัดเจนว่าไม่สามารถยอมรับได้ อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญมันมีปัญหามานานแล้ว กรณีวัดสันติอโศก เป็นวัดที่ถูกมหาเถรสมาคม ขับออก ด้วยข้อหาผิดจากความเป็นพุทธที่ถูกต้อง และด้วยการที่มหาเถรสมาคมมีอำนาจตาม รัฐธรรมนูญ แม้ไม่ได้ระบุว่ามีศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ แต่สามารถตัดสินได้ ได้รับการยอมรับตามรัฐธรรมนูญมันเท่ากับว่า องค์กรตามรัฐธรรมนูญตัดสินทางธรรมได้ เท่ากับเป็นการตัดสินเรื่องจากก่อนเกิดจนตายได้ เป็นการตัดสินนรก สวรรค์ได้ เป็นเรื่องที่สามารถตัดสินเรื่องวิญญาณ เรื่องโลกนี้โลกหน้า เท่ากับองค์การทางการเมืองสามารถตัดสินว่าใครไปนรกสวรรค์ได้ ส่งผลให้พระสงฆ์ทั้งหมดในสันติอโศกก็ยังถือว่าเป็นพระเถือน และถูกห้ามใส่จีวรสีเดียวกับพระสงฆ์ทั่วไป และห้ามตั้งชื่อเป็นวัด อย่างไรก็ตามถ้าเอาตัวต่อตัว ว่าไปแล้วท่านถือศีลมากกว่าพระสงค์ทั่วไปด้วย ว่าไปแล้วในบางเรื่องเคร่งยิ่งกว่าทั่วไปอีก ในองค์กรของท่านพระสงฆ์ห้ามจับเงิน ไม่ให้ครอบครองเงิน เคร่งขนาดนี้ แต่ถูกถือเป็นพระเถื่อน เป็นผลมาจากรัฐธรรมนูญเดิมด้วย แต่รัฐธรรมนูญใหม่แย่กว่าเก่า

ปัญหา ม. 31 - ม. 67

ศิลป์ชัย ยกตัวอย่างปัญหาเกี่ยวกับศาสนาในรัฐธรรมนูญ 59 มาตรา 31 กับ มาตรา 67 พร้อมกับ มาตรา 27 ที่ระบุว่า บุคคลย่อมเสมอภาคกัน ซึ่งอันนี้ก็อบอเมริกา เป็นเรื่องที่น่าชื่นชม เอกสารสำคัญของอเมริกา มี 2 ตัว คือ คำประกาศเสรีภาพ ที่เน้นว่าคนอเมริกัน ต้องมีสิทธิเสรีภาพ ในเรื่อง และเอกสารรัฐธรรมนูญจองอเมริกาคือเน้นเรื่องความเสมอภาค ในการนับถือศาสนา เช่นกัน และจะต้องไม่มีใครถูกทำให้ด้อยจากเรื่องศาสนา ด้วยเหตุนี้ในอเมริกาก็ให้เสรีภาพในการนับถือศาสนา หรือแม้แต่จะตั้งนิกายใหม่ ก็ได้ทั้งนั้น

ศิลป์ชัย กล่าวถึง รัฐธรรมนูญ มาตรา 31 โดยเฉพาะท่านที่ว่า “ไม่เป็นอันตรายต่อความปลอดภัยของรัฐ” นั้น ศิลป์ชัย มองว่าข้อนี้เป็นการตั้งแง่ เพราะอ่านดูก็พอรูว่าคนร่างหมายถึงใคร เพราะมันจะดูเหมือนมีศาสนาที่เป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ เวลาเขียนรัฐธรรมนูญที่เขียนกว้าง มันมีปัญหาอย่างไร มันต้องตีความ อะไรที่เป็นปัญหาเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ

ศิลป์ชัย กล่าวว่า รัฐต้องมีมาตรการ 3 อย่าง รัฐต้องไม่เอาศาสนามาเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างอำนาจ รัฐต้องให้เสรีภาพและความเสมอภาค ในอดีตให้เสรี แต่ไม่ให้ความเสมอภาค เช่น กรณีพระสันติอโศก มีเสรีภาพในการนับถือ แต่กับอีกอันหนึ่งจะมีสถานะสูงกว่า มีกฎหมายรับรอง มีรัฐสนับสนุนงบประมาณ

ศิลป์ชัย กล่าวถึงมาตรา 67 ในรัฐธรรมนูญ 59 ที่ระบุว่าถึงเถรวาทนั้น ถือว่าเป็นครั้งแรก และคำถามแรกคือ เถรวาทไหน เชื่อว่า พุทธศาสนิกชนในนิกายเดียวกัน ถามไม่เกิน 5 คำถาม ก็จะเห็นต่างกัน ธรรมชาติของศาสนาเป็นไปไม่ได้ที่จะทำให้คนเห็นและเชื่อเหมือนกัน 100% ขณะที่ข้อความในมาตราดังกว่าที่ระบุว่า "ต้องมีมาตรการป้องกันไม่ให้บ่อนทำลาย.." มันตีความให้เข้าได้หมด นี่เป็นปัญหา สมติว่า ในครอบครัวบ้านไหน ไปเช่าบ้านใหม่ เจ้าของบ้านเก่ามีพระพุทธรูปอยู่ แล้วอยากเอาออก อันนี้ถือว่าบ่อนทำลายหรือไม่ มันเอื้อต่อการตีความ

มุสลิมส่วนใหญ่เชื่อว่าไม่ควรแยกศาสนาจากการเมือง แต่รัฐสมัยใหม่พยายามแยก

นิพนธ์ โซะเฮง คณะรัฐศาสตร์ ม.รามคำแหง กล่าวว่าคำถามแรกสำหรับชาวมุสลิมคือ ศาสนาแยกออกจากการเมืองได้หรือไม่ ชาวมุสลิมส่วนใหญ่ไม่แยกศาสนาออกจากการเมืองหรือชีวิตสาธารณะ แต่รัฐสมัยใหม่พยายามแยกศาสนาออกจากการเมือง เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย มีความพยายามแยกศาสนาออกจากการเมืองแต่ไม่ได้แยกขาดจากการโดยสิ้นเชิง บางมุมในการบริหารกิจการของรัฐก็มีการนำเอาเรื่องศาสนามาเกี่ยวพันด้วย ยกตัวอย่างในมาเลเซีย นายกฯ 5 คน คิดนโยบายที่นำศาสนาเข้าไปเกี่ยวพันเนื่องจากคนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลามจึงต้องสร้างความชอบธรรมในการปกครองด้วย แต่ก็ไม่ได้เอาศาสนาเข้ามาเต็มๆ เพราะจะเป็นรัฐศาสนาและเป็นปัญหาในโลกสมัยใหม่ วันนี้มันมีลักษณะเหลื่อมกัน บางเรื่องศาสนาอยู่สูงกว่ากฎหมาย แต่บางเรื่องกฎหมายศาสนาอยู่ต่ำกว่ารัฐธรรมนูญ คอนเซ็ปท์ของสังคมสมัยใหม่มีพลังมาก ปัจจุบันอุดมการณ์ชาติสำคัญกว่าอุดมการณ์ศาสนา อย่างไรก็ดี รัฐธรรมนูญมาเลเซียเพียงระบุว่า อิสลามเป็นศาสนาที่เป็นทางการ ศาสนาอื่นก็ยังคงมีที่ทางตราบเท่าที่มันไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐ ในมาเลเซียก็เป็นอย่างนั้น อันนี้เป็นการยกตัวอย่างรัฐที่พยายามจะปรับตัวเข้ากับโลกสมัยใหม่

คาด รธน.นี้น่าจะสร้างปัญหาต่อไปในอนาคต

นิพนธ์ กล่าวว่า คนในภาคใต้กลัวรัฐธรรมนูญฉบับนี้ในเรื่องการตีความว่าอะไรคือ การเป็นปฏิปักษ์ การเผยแพร่ศาสนาของเขาจะถูกตีความว่าเป็นปฏิปักษ์หรือไม่ ไปทำให้ศาสนาประจำชาติคือศาสนาพุทธอ่อนแอหรือไม่ 

มาตรา 67 นั้นคนมุสลิมภาคกลางรับได้ แต่ทำคนภาคใต้รับไม่ได้ ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ในฐานะอยู่ภาคกลางเห็นว่า มันมีความขัดแย้งในตัวของมันหลายเรื่องโดยเฉพาะในมาตรา 27 ที่ระบุว่าต้องปฏิบัติอย่างเท่าเทียมเสมอภาค ไม่เลือกปฏิบัติ แต่ไปกำหนดอีกข้อที่เลือกปฏิบัติชัดเจน จริงๆ หลายประเทศก็เป็นแบบนี้

นิพนธ์ อ้างถึง นิธิ เอียวศรีวงศ์ ที่เคยอธิบายไว้ก่อนแล้วว่า รัฐธรรมนูญมาจากวัฒนธรรมทางการเมือง ซึ่งอาจแตกต่างกันแล้วเราก็ถกเถียงกัน จนสุดท้ายก็ยอมรับ วัฒนธรรมของเราคือ เรายอม เรายอมมาตลอด แต่อเมริกันหรือโลกตะวันตกคือ วัฒนธรรมของเขาคือการไม่ยอม ไม่ใช่การต่อสู้หัวชนฝา แต่เป็นวัฒนธรรมแบบอาสา และทุกคนเคารพการอาสาของคุณ  โดยสรุปการยอมรับความต่างเป็นเรื่องสำคัญ การอดทนอดกลั้นต่อกันเป็นเรื่องสำคัญ และรัฐธรรมนูญฉบับนี้น่าจะสร้างปัญหาต่อไปในอนาคต

ธรรมกาย - สันติอโศก

สุรพศ กล่าวถึงกรณีธรรมกายว่า มีความซับซ้อน ถ้านึกถึงกิตติวุฒโฑ สังคมคาดหวังว่ามหาเถรสมาคมจะลงโทษกิตติวุฒโฑ แต่มหาเถรสมาคมกลับแถลงว่า ไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าสนับสนุนความรุนแรงและเกี่ยวข้องกับลูกเสือชาวบ้านนวพล แต่พระที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในตอนนั้นถูกไล่ออกจากวัด แต่กิตติวุฒโฑไม่ถูกลงโทษอะไร

อย่างไรก็ตาม ประเด็นธรรมกายมีประเด็นเกี่ยวกับการทุจริต คำถามคือ มันแยกกับการเมืองได้อย่างไร ฝ่ายตรงข้ามมาเรียกร้องการตรวจสอบแล้วเกี่ยวพันกับการตั้งสังฆราชด้วย แล้วธรรมกายก็ไม่ได้เติบโตจากมิติของศรัทธาประชาชนเพียวๆ แต่เกี่ยวข้องกับมหาเถรสมาคม ใช้กลไกรัฐเกณฑ์ข้าราชการมา เกี่ยวพันกับนักการเมืองกับทุนมหาศาล การที่องค์กรศาสนาไปเกี่ยวข้องกับเงินจำนวนมากโดย สตง.ไม่ได้ตรวจสอบ ไม่ใช่แค่ธรรมกายแต่ทุกวันในประเทศไทย ตอนนี้ธรรมกายถูกมองจากผู้มีอำนาจรัฐมองว่าเป็นอันตรายต่อรัฐ  สภาวะแบบนี้สังคมไม่ได้คำตอบว่าธรรมกายเป็นเรื่องอะไรกันแน่ ผิดกฎหมายเพียวๆ หรือเป็นเรื่องการเมือง

กรณีสันติอโศก สุรพศ กล่าวว่า เป็นกลุ่มศาสนาที่แยกออกจากรัฐ ก้าวหน้ากว่ากลุ่มอื่นๆ แต่ความตลกของสันติอโศกก็คือ ศาลฎีกาตัดสินไม่ให้สันติอโศกใช้คำนำหน้าว่าพระสงฆ์ แต่ใช้คำว่าสมณะ เป็นการละเมิดเสรีภาพการนับถือศาสนาชัดเจน แต่ตอนนี้หัวหน้าสันติอโศกออกทีวีเรียกร้องใช้ม.44 จัดการธรรมชโย การทำรัฐประหารเป็นสิ่งสวยงาม แปลว่าไม่ได้แยกออกจากรัฐบนฐานความเชื่อเรื่องเสรีภาพ แต่เป็นเพราะความขัดแย้งกันภายในเฉยๆ

สุรพศ กล่าวอีกว่า ไม่ว่ากลุ่มนิกายไหนในประเทศไทยก็มีปัญหาว่ามักจะตีความการเมืองรองรับอุดมการณ์อนุรักษ์นิยม ศาสนาในบ้านเรายังคิดในกรอบเก่า ก่อนสมัยใหม่ เรายังไม่ตั้งคำถามในกรอบสมัยใหม่ ในทุกสังคมสมัยใหม่จะมีสิ่งที่เรียกว่า "อดีตที่ไม่ยอมจากไป" ไม่ได้หมายความว่าศาสนาของเก่านั้นไม่มีคุณค่าต่อสังคม แต่เราไปคิดว่าศาสนาต้องมีคุณค่าต่อรัฐและสังคมเหมือนในยุคโบราณ ไม่ใช่ มันต้องสอดคล้องกับสังคมสมัยใหม่ จะให้รัฐเอาผิดกับพระที่สอนผิดจากคำสอนพระไตรปิฎกจำคุก10-15 ปี รัฐสมัยใหม่ทำแบบนี้ไม่ได้ ยุคราชาธิปไตยเขายังไม่ทำแบบนี้ แปลกมากที่จะเอากฎหมายไปจัดการกับความเชื่อหรือกลุ่มบุคคล

สุรพศ กล่าวว่า ปัญหาของเราคือ เราไม่เคลียร์ว่าเราจะอยู่ยังไง ศาสนาจะอยู่กับสังคมสมัยใหม่อย่างไร ศาสนาเหมือนแจกันลายครามที่สวยงาม แต่ต้องจัดวางตำแหน่งแห่งที่ที่เหมาะสมจึงจะสวยงาม ศาสนาตอนนี้พยายามมายุ่งกับเรื่องต่างๆ มากเกินไป แต่กลับไม่พยายามเรียนรู้ว่จะอยู่อย่างไรในโลกสมัยใหม่

ข้อกังวลต่อ กลไกในการป้องกันการบ่อนทำลายพุทธใน รธน.

ต่อกรณี มาตรา 67 ตาม รัฐธรรมนญ 59 มีการระบุถึง “..ต้องมีมาตรการและกลไกในการป้องกันมิให้มีการบ่อนทำลายพระพุทธศาสนาไม่ว่าในรูปแบบใด” นั้น นิพนธ์ ตั้งประเด็นว่าสมติ การเผยแพร่ศาสนา เช่น ไปภาคอีสาน เป็นารฟื้นฟูความศรัทธาให้เข้มแข็ง ไปพบใครที่สามารถคุยได้ที่อาจไม่ใช่ศาสนาเดียวกัน หากพูดกันแล้วเขาเลื่อมใสและเปลี่ยนศาสนาขึ้นมา แบบนี้ถือเป็นภัยคุกคามไหม ทั้งที่เป็นสิทธิของเขา

ศิลป์ชัย เสริมว่า เวลามีการนำเสนภาพว่ามีการเปลี่ยนศาสนา จะถูกตีความว่าเป้นภัยคุกคาม

ด้าน กรณ์ กล่าวว่า เรื่องมาตรการนั้น ไม่ใช่จู่ๆ แล้วไปจับหรือมีการเผยแพร่แล้วจับเลย เพราะมันยังไม่มีมาตรการ

ขณะที่ สุรพศ กล่าวว่า ข้อความในรัฐธรรมนูญนี้ถูกบัญญัติด้วยอะไร เสรีประชาธิปไตย ก็ไม่ใช่ หรือศาสนา ก็ไม่ใช่ คิดว่าไม่มีที่พระพุทธเจ้าพูดให้รัฐมาปกป้อง และไม่เน้นให้ชาวพุทธ์มาปกป้อง แต่ให้ชาวพุทธเข้มแข็งเอง สังฆะไม่ได้ขึ้นต่อรัฐ และเป็นอิสระจากวรรณะ 4 และตัวรัฐธรรมนูญ ขัดแย้งตลอด เพราะเอากลุ่มต่างๆ มาร่างๆ แล้วก็ยัดๆ เข้าไป เช่น มาตราหนึ่งรับรองเสรีภาพไว้ แต่อีกมาตราก็เขียนกลไปเสริมการล่าแม่มดเข้าไป เป็นต้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net