Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 


ทุกสังคมต่างมีวิธีจัดการกับ “อดีตที่ไม่ยอมจากไป” ต่างกันไป ศาสนาคือหนึ่งในอดีตที่ไม่ยอมจากไป พูดแบบนี้ไม่ได้หมายความว่าศาสนาไม่มีคุณค่าและต้องการให้ศาสนาหมดไปจากสังคม แต่คุณค่าของศาสนาต่อชีวิตและสังคมสมัยใหม่ก็ไม่ใช่คุณค่าแบบเดียวกับที่ศาสนาเคยมีต่อชีวิตและสังคมในอดีต บทบาทของศาสนาต่อชีวิตและสังคมสมัยใหม่จึงต่างจากบทบาทของศาสนาในอดีต

ฉะนั้น การเป็นอดีตที่ไม่ยอมจากไปของศาสนา จึงไม่ใช่เพราะยังมีศาสนา แต่เพราะยังมีแนวคิดและโครงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับศาสนจักรที่เป็นกรอบกำหนดให้รัฐสมัยใหม่ทำหน้าที่ทางศาสนาแบบรัฐก่อนสมัยใหม่ และกำหนดให้บทบาทของศาสนาต่อชีวิตและสังคมปัจจุบันเป็นบทบาทแบบเดียวกับยุคก่อนสมัยใหม่

ในการเปลี่ยนแปลงสู่ความเป็นสมัยใหม่ (modernity) สิ่งที่บ่งบอกถึงความเป็นสมัยใหม่ที่สำคัญมากอย่างหนึ่งคือ การจัดวาง “อดีต” ให้อยู่ในตำแหน่งแห่งที่และมีบทบาทที่เหมาะสม เช่น ศาสนจักรและความเชื่อทางศาสนาที่เคยมีอำนาจและอิทธิพลทางความคิดความเชื่อ ทั้งในแง่เป็นอำนาจที่ชอบธรรมและอำนาจครอบงำมายาวนาน ก็ถูกแยกออกจากการมีสถานะอำนาจภายในโครงสร้างการปกครองของรัฐ ศาสนจักรกลายเป็นเอกชน ไม่ใช่องค์กรของรัฐอีกต่อไป

เมื่อแยกศาสนากับรัฐให้เป็นอิสระจากกัน ก็ถือว่าเรื่องศาสนาเป็นเรื่องส่วนตัว หรือศาสนาเป็นพื้นที่ส่วนตัวของปัจเจกบุคคล บทบาทของศาสนาจึงเกี่ยวข้องกับ “ความดีเฉพาะ” หรือความดีส่วนตัวที่เกี่ยวกับเรื่องยกระดับคุณค่าทางจิตวิญญาณของปัจเจกบุคคล หรือความเชื่อเชิงประเพณีวัฒนธรรมของสังคมหนึ่งๆ ส่วนบทบาทของรัฐเกี่ยวข้องกับ “ความดีสาธารณะ” หรือผลประโยชน์สาธารณะของทุกคน และของสังคมพหุวัฒนธรรมที่มีหลากหลายความเชื่อ ฉะนั้นรัฐสมัยใหม่จึงไม่ได้มีหน้าที่ทางศาสนาแบบรัฐยุคเก่าอีกต่อไป รัฐสมัยใหม่มีหน้าที่เพียงรักษาเสรีภาพและความเสมอภาคทางศาสนาเท่านั้น

แต่สยามเปลี่ยนแปลงสู่ความเป็นสมัยใหม่ด้วย “ความกลัว” ที่ต่างจากยุโรป เรากลัวลัทธิล่าอาณานิคม ขณะเดียวกันก็กลัวศาสนาคริสต์ที่มากับลัทธิล่าอาณานิคม พร้อมกับมีการเมืองภายในที่ใช้ศาสนาสร้างความกลัวว่า มีพระบางกลุ่มกำลังประพฤติปฏิบัติย่อหย่อนผิดเพี้ยนจากพระธรรมวินัยที่ถูกต้องในพระไตรปิฎก ดังนั้นแทนที่เราจะแยกศาสนาจากรัฐ เรากลับสร้าง “ศาสนจักรของรัฐ” ขึ้นมา การเข้าสู่ความเป็นสมัยใหม่ของไทยในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับศาสนาจึงเป็นการเดินสวนทางกับความเป็นสมัยใหม่

เพราะขณะที่ยุโรปเขาทำให้ศาสนจักรอยู่ภายใต้หลักการของสภาวะสมัยใหม่ คือหลักการแยกศาสนาจากรัฐและหลักเสรีภาพและความเสมอภาคทางศาสนา แต่สยามยุคอาณานิคมกลับสถาปนาศาสนจักรของรัฐขึ้นมา ทำให้เราไม่สามารถจะมีเสรีภาพทางศาสนาในกรอบคิดเสรีนิยมได้จวบจนปัจจุบัน (เช่นเดียวกับที่สังคมเราไม่สามารถจะมีเสรีภาพทางการเมืองในกรอบเสรีประชาธิปไตยได้นั่นเอง)

การสถาปนาศาสนจักรของรัฐ ส่วนหนึ่งก็เพื่อที่จะใช้ศาสนจักรเป็นกลไกสนับสนุนความชอบธรรมในอำนาจปกครองและอุดมการณ์รัฐ ส่วนหนึ่งก็เพื่อที่จะใช้ศาสนจักรนั้นควบคุมการสอนถูก สอนผิด ปฏิบัติถูก ปฏิบัติผิดของพระสงฆ์ทั่วราชอาณาจักร เราจึงได้เห็นมาตลอดว่า หากมีกลุ่มพระสงฆ์ ชาวพุทธกระด้างกระเดื่องต่อมหาเถรสมาคมและอำนาจรัฐก็จะถูกจัดการอย่างเฉียบขาด

แต่ถ้ากระด้างกระเดื่องต่อมหาเถรสมาคมบนจุดยืนที่ปกป้องสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์อย่างพระพุทธะอิสระหรือย้อนไปถึงกิตติวุฑโฒภิกขุ และกลุ่มอื่นๆ ก็ย่อมไม่ถูกจัดการใดๆ

ปรากฏการณ์ธรรมกายบอกอะไรหลายอย่าง หนึ่งคือธรรมกายถูกมองด้วยสายตาของ “ความกลัว” ว่าเป็น “ลัทธิ” ที่สร้างคำสอนและพิธีกรรมผิดเพี้ยนจากพระไตรปิฎก ซึ่งเป็นความกลัวแบบรัฐยุคเก่าและยุคปรับตัวเข้าสู่สมัยใหม่ที่แยกนิกายและสร้างศาสนจักรขึ้นมาเพื่อจัดการกับความกลัวดังกล่าว ในยุคปัจจุบันมหาเถรสมาคมจึงถูกตั้งคำถามตลอดมาว่า ทำไมไม่จัดการขั้นเด็ดขาดกับธรรมกาย ซึ่งคำถามดังกล่าวกำลังจะบอกว่าศาสนจักรไม่มีประสิทธิภาพในการจัดการกับความกลัว

แต่การมองธรรมกายเป็นสัญญะของความกลัวในเรื่องสอนผิด ปฏิบัติผิดพระไตรปิฎก ก็ไม่อาจทำอะไรธรรมกายได้ เพราะในความเป็นจริงไม่สามารถบอกได้ว่าวัดไหน สำนักไหนที่สอนถูก ปฏิบัติถูกพระไตรปิฎกอย่างแท้จริง ในระยะหลังธรรมกายจึงถูกฝ่ายตรงข้ามกล่าวหาในเรื่องเป็น “ภัยความมั่นคง” พร้อมๆกับการดำเนินการเอาผิดในเรื่อง “ทุจริต” จนนำมาสู่การวางแผนจะนำกองกำลังมหาศาลเข้าจับกุมพระธัมมชโยในขณะนี้

ว่าตามจริงข้อกล่าวหาเรื่องทุจริต ก็ไม่เกี่ยวกับเรื่องสอนผิด สอนถูก ไม่เกี่ยวกับการเมืองสงฆ์ การเมืองทางโลก เป็นเพียงข้อกล่าวหาเรื่องทำผิดกฎหมายธรรมดาๆ ที่เมื่อใครถูกกล่าวหา ถูกแจ้งความก็ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมตามปกติ แต่กรณีของพระธัมมชโยกลับไม่ปกติ หรือไม่สามารถจะดำเนินการอย่างปกติได้ เพราะเป็นเรื่องที่ถูกนำไปเกี่ยวโยงการความเป็นการเมืองอย่างซับซ้อน

หากจะพูดอย่างถึงที่สุด เราไม่อาจพิจารณาปัญหาธรรมกายอย่างเป็นอิสระจาก “ความเป็นการเมือง” ได้จริง เพราะการเติบโตของธรรมกายเอง ก็มีความเป็นการเมืองในตัวเองอย่างซับซ้อน การขยายสาขา ขยายสำนักปฏิบัติธรรมในพื้นที่ซึ่งต้องซื้อที่ดินราคาแพงๆ การขยายบทบาทของธรรมกายที่ก้าวขึ้นมามีบทบาททางศาสนาระดับชาติในการจัดโครงการปฏิบัติธรรม การจัดอุปสมบท บิณฑบาตล้านรูปเป็นต้น ย่อมเป็นไปไม่ได้เลยถ้าไม่ได้รับการสนับสนุนจากอำนาจศาสนจักรและอำนาจรัฐบาล แต่เมื่อขั้วอำนาจรัฐบาลเปลี่ยนไป สถานะและบทบาทของธรรมกายก็เปลี่ยนดังที่เห็น

จากสภาวะความซับซ้อนของปัญหาธรรมกายที่มีความเป็นการเมืองเชื่อมโยงกับอำนาจรัฐ ศาสนจักร และอคติหรือความกลัวในเรื่องการตีความคำสอนเป็นต้นที่มีมาตลอด จึงไม่ใช่เรื่องง่ายๆที่จะทำให้พระธัมมชโยตัดสินใจมอบตัวสู้คดี เพราะกระบวนการยุติธรรมภายใต้สถานการณ์ทางการเมืองที่เป็นยู่ เราก็เห็นอยู่แล้วว่าฝ่ายหนึ่งผิด อีกฝ่ายหนึ่งไม่ผิดตลอดมา ขณะเดียวกันก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ที่เจ้าหน้าที่รัฐจะเข้าจับกุมตัวพระธัมมชโย เพราะธรรมกายมีมวลชน และเป็นมวลชนผู้ปฏิบัติธรรมที่อาจแปรสภาพเป็นมวลชนที่มีความเป็นการเมืองได้ตลอดเวลา

นี่คือภาพสะท้อนของสภาวะที่รัฐกับศาสนาไม่ได้แยกเป็นอิสระจากกัน สภาวะเช่นนี้จึงเป็นรากฐานของปัญหายุ่งเหยิงระหว่างการเมืองสงฆ์-การเมืองทางโลกอย่างสลับซับซ้อนตลอดมา

0000

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net