Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

หากขอยืมการจัดประเภทเกษตรกรและผู้ประกอบการในชนบทของ McElwee ที่ กฤตภัค งามวาสีนนท์[2] นำเสนอไว้พร้อมตัวอย่างการเกิดขึ้นของเกษตรกรผู้ประกอบการ และผู้ประกอบการชนบท ในต่างประเทศหลายๆกรณี[3] ซึ่งล้วนเกิดจากเงื่อนไขเฉพาะของเกษตรกรและบริบทของสังคม เศรษฐกิจ การเมือง ของประเทศนั้นๆมาใช้ทำความเข้าใจการปรับตัวของชาวนาไทยในสถานการณ์ที่ชาวนาไทยกำลังเผชิญปัญหาราคาข้าวตกต่ำ  รัฐบาลทหารกำลังจะลดการอุดหนุนด้านราคาข้าว  หรือทำอย่างเสียไม่ได้ และไม่ทันเวลา แล้วหันมาปรับโครงสร้างการเกษตร สารพัดโครงการภายใต้แนวนโยบายประชารัฐ และการทำนาแปลงใหญ่โดยดึงภาคเอกชนยักษ์ใหญ่หลายองค์กรเข้ามามีบทบาทแทนรัฐตามแนวทางเสรีนิยมใหม่ จึงน่าสนใจว่าภายใต้การชูประเด็น “ความมั่นคงทางอาหาร” ของนักส่งเสริมการเกษตรทั้งภาครัฐ และ NGOs จะส่งผลต่อการปรับตัวของชาวนาทั้งในแบบปัจเจกและองค์กรชาวนาอย่างไร

เกษตรกรที่บางเงา[4] ร้อยทั้งร้อยมีพ่อแม่เป็นชาวนา และส่วนใหญ่ไม่เคยเปลี่ยนอาชีพถึงร้อยละ 63.3 ส่วนผู้ที่เปลี่ยนอาชีพจากชาวนาไปเป็นอาชีพอื่น มีสาเหตุการเปลี่ยนอาชีพ 7 ข้อ ซึ่งมี สาเหตุ 3 อันดับแรก คือ 1.รายได้ไม่พอ ร้อยละ 42, 2.ผลผลิตตกต่ำ ร้อยละ 32.5, 3.ภาระหนี้สิน ร้อยละ 26.7, 4.สภาพแวดล้อมไม่เอื้ออำนวย ร้อยละ 20  อย่างไรก็ตามพบด้วยว่า เกษตรกรในบางขุดซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวนาซึ่งส่วนใหญ่มีอาชีพเสริมร้อยละ 61.7  

สำหรับการประเมินทัศนคติต่ออาชีพของตน 4 ประเด็นคือ มีความชอบและมีความสุข ความภูมิใจและความพอใจ การประสบความสำเร็จ และการได้รับการยอมรับจากสังคม ที่ให้กลุ่มเป้าหมายตอบว่าตนอยู่ในระดับไหน ตั้งแต่ มากที่สุด มาก ปานกลาง น้อย น้อยที่สุด เกษตรกรบางเงาส่วนใหญ่ ให้คะแนนว่าอยู่ในระดับปานกลาง กล่าวคือ ตนชอบและมีความสุข เท่ากับความภูมิใจและพอใจในอาชีพ ระดับปานกลาง ร้อยละ 43.3, ประสบความสำเร็จ ปานกลาง ร้อยละ 52.5, และได้รับการยอมรับจากสังคม ปานกลาง ร้อยละ 61.7  

ต่อคำถามถึงระดับความต้องการของตนต่อการสืบทอดอาชีพเกษตรกร พบว่าต้องการให้ลูกหลานสืบทอดอาชีพเกษตรกร ร้อยละ 60.2 และยังต้องการขยายพื้นที่พื้นที่เกษตรกร ร้อยละ 67 ทั้งนี้พวกเขายังประเมินว่าอาชีพเกษตรกรรมมีความมั่นคงในระดับปานกลาง ร้อยละ 55 และ มากร้อยละ 25  ทั้งๆที่รายได้จากครัวเรือนรายปีจากภาคเกษตรน้อยกว่ารายได้นอกภาคการเกษตร  กล่าวคือมีรายได้ที่ไม่ใช่ภาคเกษตรสูงถึงร้อยละ 86.2 และมีรายได้จากภาคเกษตรเพียง 13.5 หรือมีรายได้ที่ไม่ใช่ภาคเกษตรสูงกว่ารายได้ภาคเกษตรถึง 6.39 เท่า  ผลสำรวจจากการสุ่มตัวอย่างเกษตรกร 120 รายที่กระจายตัวใน 12 ตำบลแบบสุ่มตำบลละ 10 รายนี้ทำให้ผู้วิจัยเกิดคำถามว่า “ความมั่นคงในอาชีพเกษตรกร” ของเกษตรกรแต่ละรายเมื่อนำมาประมวลเข้ากันแล้วเราจะนิยามมันอย่างไร?

 

เปรียบเทียบสัดส่วนรายได้ในและนอกภาคเกษตรที่บางเงา  

เมื่อมาดูในระดับไร่นา เกษตรกรที่นี่ไม่มีลูกหลานช่วยกิจกรรมการเกษตรถึงร้อยละ 76.5 และให้ความสำคัญกับให้ลูกหลานมีการศึกษา ดังจะดูได้จากตัวเลขของบุตรที่กำลังศึกษา มีร้อยละ 45.3 และจบการศึกษาแล้วร้อยละ 50.3 โดยบุตรที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับประถมและมัธยมปลาย ในขณะที่บุตรที่จบการศึกษาแล้วมีการกระจายตัวทุกระดับการศึกษา ส่วนใหญ่อยู่ในระดับมัธยมต้นและมัธยมปลาย รองลงมาจบมัธยมปลาย และอันดับ3 มี 2 ระดับ คือจบประถมศึกษาและปริญญาตรี และ อันดับสุดท้าย จบอนุปริญญาหรือปวส.หรือเทียบเท่า  ซึ่งเมื่อถามถึงการคาดการณ์ของพ่อแม่ต่อลูกหลานว่าลูกหลานจะเรียนสาขาการเกษตรหรือไม่ โดยให้ผู้ตอบแบบสอบถามเลือก 5 ระดับ คือ ไม่เลย, น้อย, ปานกลาง, มาก, และมากที่สุด ก็พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 31.1 ตอบว่าไม่คาดหวังเลย อันดับ2 ปานกลาง ร้อยละ 31.1, อันดับ3 เล็กน้อย ร้อยละ 18.5, อันดับ4 มาก ร้อยละ 16.8, และอันดับ5 มากที่สุด ร้อยละ 2.5 ซึ่งนั่นหมายความว่า พ่อแม่เกษตรกรบางขุดส่วนใหญ่ไม่ได้คาดหวังว่าลูกจะเรียนสาขาด้านการเกษตร  ส่วนการคาดการณ์ว่าลูกหลานจะพอใจหรือยินดีประกอบอาชีพเกษตรกรรมหรือไม่นั้นพบว่า  ส่วนใหญ่ร้อยละ 35 คาดหวังระดับปานกลาง รองลงมาร้อยละ 27.5 ไม่คาดหวังเลย และคาดหวังเล็กน้อย ร้อยละ 18.3 ทั้งนี้ยังพบอีกด้วยว่าโอกาสทางการศึกษาเป็นปัญหาอุปสรรคขัดขวางการขยายโอกาสของครัวเรือนในระดับปานกลางถึงร้อยละ 62.5

กล่าวโดยสรุปก็คือเกษตรกรบางเงาเห็นว่าอาชีพการเกษตรดูจะมีความมั่นคงปานกลางและเป็นที่ยอมรับของคนในสังคมระดับปานกลาง ทั้งนี้ปัจจัยที่ทำให้อาชีพเกษตรกรและการดำรงชีพของครัวเรือนคงอยู่ได้ของที่นี่คือการรายได้เสริมนอกภาคการเกษตรซึ่งมีมูลค่าสูงกว่ารายได้จากการทำเกษตร และแม้ต้องการจะให้ลูกหลานสืบทอดอาชีพการเกษตรแต่ก็ไม่ได้คาดหวังว่า ณ ปัจจุบัน จะมีลูกช่วยเหลือกิจกรรมในระดับไร่นา อีกทั้งยังเห็นว่าการให้บุตรได้รับศึกษาเป็นการเพิ่มช่องทางและโอกาสในเพิ่มรายได้ครัวเรือนในอนาคต ซึ่งเมื่อสะสมทุนมากพอก็จะสามารถกลับมาสืบทอดการทำเกษตรของครอบครัวได้  อาชีพเกษตรกรรมจึงเป็นอาชีพค้ำยันเพื่อเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพของลูกหลานในอนาคต


การทำนาใช้หนี้ของชาวนาไร้ที่ดิน

อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่สำคัญประการหนึ่งของชาวนาบางเงาก็คือ ปัญหาที่ดิน  การศึกษานี้พบว่าเกษตรกรที่นี่เป็นเกษตรกรรายย่อยมีกลุ่มเกษตรกรที่การถือครองที่ดินไม่เกิน 15 ไร่ ร้อยละ 59.3  และกลุ่มเกษตรกรที่มีการถือครองที่ดินไม่เกิน 25 ไร่ ร้อยละ 77  ถึงจะมีผู้ที่ไม่มีที่ดินทำกินเพียงร้อยละ 29.13 แต่ยังพบอีกว่าเกษตรกรที่หนี้มีหนี้สินสูงถึงร้อยละ 90 โดย รวมหนี้ค้างชำระทั้งหมด 34,825,886.88 สูงสุด ได้แก่ ธกส. 19,134,999.99 บาท ร้อยละ 55, อันดับ2 สหกรณ์การเกษตร 8,102,000.25 บาท ร้อยละ 23.3, อันดับ3 กองทุนหมู่บ้าน 3,130,819.04 บาท ร้อยละ 9, อันดับ4 เงินกู้นอกระบบ 1,565,000 บาท ร้อยละ 4.5, อันดับ5 ร้านค้าเคมีภัณฑ์การเกษตร 1,228,965.50 บาท ร้อยละ 3.5, อันดับ6 ธนาคารพาณิชย์ 870,000 บาท ร้อยละ 2.5,  อันดับ7 ญาติ เพื่อนบ้าน 460,666.68 บาท ร้อยละ 1.3, และ อันดับ8 กองทุนฟื้นฟู 153,435.00 บาท ร้อยละ 0.4  

พวกเขายังสะท้อนปัญหาที่ดินด้วยว่า การไม่มีที่ดินทำกินเป็นปัญหามากกว่าการออกเอกสารสิทธิ และให้ระดับความสำคัญว่าปัญหาไม่มีที่ดินทำกินเป็นปัญหามากอันดับ1 ร้อยละ 94.9 สอดคล้องกับต้นทุนการผลิตข้าว ที่พบว่า ค่าเช่าที่ดิน เป็นสัดส่วนที่มากที่สุดของการลงทุนการผลิตข้าวร้อยละ 22.43  เมื่อถามถึงสาเหตุการเป็นหนี้  พบว่ามีสาเหตุมากจาก อันดับ1 รายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย ร้อยละ 79.6, อันดับ2 ราคาผลผลิตตกต่ำ ได้น้อย หรือขายไม่ได้ ร้อยละ 64.6,  อันดับ3 ได้รับความเสียหาย 48.7, อันดับ4 มีค่าใช้จ่ายฉุกเฉินในครัวเรือน, อันดับ5 ไม่ได้ใช้เงินตามวัตถุประสงค์ ร้อยละ 1.8, อันดับ6 ติดสารเสพติด ร้อยละ 0.9 และ อันดับ7 อื่นๆ (ส่งลูกเรียน) ร้อยละ 0.8 ดังนั้น การทำนาในที่นี้จึงหมายถึงการทำนาเพื่อไม่ให้โดนยึดที่ดิน หรือทำนาใช้หนี้นั่นเอง


ภัยแล้งและวิธีรับมือของชาวนา

เมื่อพิจารณาปัญหารายได้ไม่พอจ่ายและใช้หนี้จากปัจจัยต่างๆที่เป็นปัญหาอุปสรรคที่ขัดขวางแนวทางการเพิ่มรายได้  14 ปัจจัย โดยให้ผู้ตอบแบบสอบถามจัดเรียงลำดับความรุนแรงออกเป็น 5 กลุ่ม มากที่สุด มาก ปานกลาง น้อย และน้อยที่สุด พบว่ามีความน่าสนใจ ปัจจัยที่เป็นปัญหาสำคัญอันดับต้นๆส่วนใหญ่เป็นปัญหาระดับโครงสร้าง ที่เกษตรกรควบคุมไม่ได้หรือสามารถบริหารจัดการได้เพียงบางส่วนเท่านั้น กล่าวคือปัจจัยที่เป็นปัญหามากที่สุด เรียงลำดับ จากมากไปน้อย ดังนี้ 1.ภัยแล้ง (59.2), 2.ราคาผลผลิตตกต่ำ(57.5), อันดับ3 น้ำไม่เพียงพอ(44.2), อันดับ4 ต้นทุนการผลิตสูง (38.3), อันดับ5 ปริมาณ คุณภาพผลผลิต(28.6), อันดับ6 ขาดการแปรรูป(27.7), อันดับ7 ไม่มีที่ดิน (24.2), อันดับ8 ศัตรูพืช/โรคระบาด(20.8) อันดับ9 ไม่มีอาชีพและขาดแหล่งเงินกู้ (19.3), อันดับ10 น้ำท่วม (18.5), อันดับ11 ขาดแรงงาน(17.6), อันดับ12 ดินไม่อุดมสมบูรณ์(16), และอันดับ13 ข่าวสาร(7.5) 

จึงไม่น่าแปลกใจว่าชาวนาส่วนใหญ่ยังต้องการให้รัฐใช้มาตรการอุดหนุนด้านราคาผลผลิตให้กับชาวนา ส่วนการสำรวจระดับความพึงพอใจในการเข้าร่วมโครงการต่างๆของรัฐ พบว่าชาวบ้านส่วนใหญ่ให้คะแนนทุกโครงการระดับปานกลาง โครงการที่ได้ระดับคะแนนมากที่สุด เรียงจากมากไปน้อย คือ 1.การสนับสนุนช่วยเหลือเกษตรกรร้อยละ 11.8, อันดับ2 มี 2 โครงการเท่ากัน คือการพักชำระหนี้และการชดเชยจากภัยพิบัติ ร้อยละ 9.2, อันดับ3ประกันภัยนาข้าวธกส. ร้อยละ 6.7,  อันดับ4 การช่วยเหลือเกษตรกรลดต้นทุน ร้อยละ 5.8, อันดับ5 การแก้ปัญหาหนี้สินของเกษตรกร ร้อยละ 4.2, และ อันดับ6 หนี้นอกระบบ ร้อยละ 1.7 และเมื่อรวมระดับความพึงพอใจมากที่สุดและมากเข้าด้วยกัน พบว่าโครงการที่ได้คะแนน เรียงจากมากไปน้อย คือ 1.การสนับสนุนเงินช่วยเหลือเกษตรกร ร้อยละ 33.6,  อันดับ2 การพักชำระหนี้ ร้อยละ 32.5, อันดับ3 การประกันภัยนาข้าว ร้อยละ 27.5, และอันดับ4 การชดเชยจากภัยพิบัติ ร้อยละ 25.9

ปี 2559 ประเทศไทยเผชิญภาวะแห้งแล้งที่สุดในรอบ 20 ปี ปริมาณน้ำที่ขาดแคลนสะสมตั้งแต่ปี 2557 ต่อเนื่องถึงปี 2558 พายุฝนมาเพียงน้อยนิด [5] ในขณะที่ปีหลังจากมหาอุทกภัย’2554 คือตั้งแต่ปี2555-2558 ประเทศไทยต้องเผชิญปัญหาภัยแล้งซึ่งค่อยๆทวีความแล้งรุนแรงเพิ่มขึ้นตามลำดับ แม้รัฐบาลคสช.จะมีนโยบายแก้ปัญหาภัยแล้ง เช่น แจกเงินชาวนาไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 15 ไร่ ที่เคยดำเนินงานไปเมื่อปี2557 และแจกซ้ำในเดือนตุลาคม 2559 โดยลดลงเหลือเพียง 10ไร่ ก็เป็นเพียงมาตรการชั่วเหลือเพียงชั่วคราว หรือแม้การส่งเสริมให้เปลี่ยนจากการปลูกข้าวไปเป็นพืชไร่ต่างๆที่ใช้น้ำน้อยกว่า ก็ยังคงมีชาวนาเลือกที่จะทำนาสู้ภัยแล้ง

ในยุครัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ชาวนาปรังภาคกลางหลายพื้นที่ต้องรวมพลกันเป็นร้อยเพื่อไปขอให้เปิด ประตูน้ำ การจัดหาน้ำให้ในหน้าแล้งเป็นประเด็นหาเสียงของสมาชิกสภาเทศบาล เทศบาลหรืออบต.ต่างๆ มักมีงบขุดลอกคูคลองทุกปี  หากเปรียบเทียบการรับมือภัยแล้งของชาวนาในยุครัฐบาลประชาธิปไตยกับยุคคสช. ในพื้นที่เดียวกันเราจะเห็นความแตกต่างของวิธีการและผลกระทบได้ชัดเจน ปี2556 ชาวนาที่ยังทำนาสู้แล้งใน อ.สรรคบุรี จ.ชัยนาท ทำนาข้าวกว่า 7,500 ไร่ ที่ต้องการน้ำทำนาใช้วิธีระดมพลชาวนาพร้อมยื่นหนังสือถึงเจ้าหน้าที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาบรมธาตุให้ปล่อยน้ำและกำจัดผักตบชวาที่ขัดขวางทางน้ำ โดยมีนายกเทศมนตรีเป็นผู้ประสานงาน[6]   แต่ในยุค คสช. หากชาวนาต้องการน้ำวิดเข้านาในช่วงแล้ง ก็จะต้องถูกการระงับอย่างเด็ดขาดโดยหน่วยทหารที่เฝ้าคูคลอง ชาวนาต้องยอมปล่อยนาที่ปลูกข้าวนาปรังรอบแรกต้นปี2559 แล้วกว่า 1,000 ไร่ นาน 70 วัน ยืนต้นตาย[7]

หลังจากรัฐประหาร ทหารเข้ามาในหมู่บ้านแล้วคอยสอดส่องดูว่าภายในบางเงามีความเคลื่อนไหวอย่างไร เมื่อชาวบ้านกลุ่มต่างๆมีแนวโน้มจะรวมตัวกันเคลื่อนไหวก็จะเข้ามาพบ ซักถาม เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการเคลื่อนไหวร้องเรียนเพื่อ “รักษาความสงบ” เอาไว้ ในขณะที่ชาวนาในพื้นที่อื่นๆ กลับมีวิธีการรับมือกับภัยแล้งที่แตกต่างกันไป  อาทิ กรกฎาคม 2558 อบต.บ้านเก้าช่าง อ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี พยายามแก้ปัญหาภัยแล้งให้ชาวนาในพื้นที่ของตนและพื้นที่ข้างเคียงขาดน้ำโดยสร้างคลองส่งน้ำเทียมชั่วคราวด้วยกระสอบทรายบนถนนเลียบคลองชลประทานยาว 4 กม. และใช้เครื่องสูบน้ำสูบน้ำจากแม่น้ำส่งเข้าทุ่ง ซึ่งปฏิบัติการนี้ได้รับความร่วมมืออย่างดีจากสำนักงานชลประทานที่10 สระบุรี และทหารมฑบ.13ลพบุรี[8] และ อบต.ราชสถิต อ.ไชโย จ.อ่างทอง และชาวนาร่วมกันสูบน้ำเข้านา 2,000 ไร่ สู้ภัยแล้ง [9]

ความเข้มแข็งขององค์กรบริหารส่วนท้องถิ่นเหล่านี้คงไม่ได้เกิดขึ้นโดยตัวเองเพียงฝ่ายเดียว หากแต่มีปัจจัยเงื่อนไขที่เกี่ยวเนื่องกับฐานเสียงของสมาชิกในท้องถิ่น รวมทั้งคู่แข่งทางการเมืองในระดับท้องถิ่น ที่ต้องสร้างผลงานให้เป็นที่ประจักษ์กับฐานเสียงซึ่งการเมืองระดับท้องถิ่นนี้มีผลโดยตรงต่อผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นอปท.และฐานเสียงซึ่งเป็นเครือญาติในชุมชนนั้นๆ อย่างไรก็ตาม ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ผู้ใหญ่บ้านกำนันในหมู่บ้านเฉื่อยชาเกิดจากการขาดคู่แข่งทางการเมืองที่จะมาแข่งกันสร้างผลงานให้เข้าตาชาวบ้านที่เป็นผู้ลงคะแนนเสียง ทั้งนี้ตั้งแต่ยุครัฐบาลอภิสิทธิได้แก้ไขให้มีการเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้านที่มีอายุทำงานจนถึงเกษียนอายุราชการแทนการที่ชาวบ้านต้องเลือกทุก 4 ปี จนเมื่อคสช. มีประกาศไม่ให้มีการเลือกตั้งอปท.ตั้งแต่หลังรัฐประหารปี2557 ไม่นาน บทบาทของชาวบ้านในหมู่บ้านที่จะใช้สิทธิในการคัดเลือกผู้ที่เหมาะสมในระบบแข่งกันทำงานและติดตามตรวจสอบตามวิถีประชาธิปไตยก็ยิ่งขาดหายไปเลย


การอุดหนุนชาวนาโดยรัฐ และภาพสะท้อนจากสังคม

เมื่อราคาข้าวตกต่ำ สังคมไทยจะได้ยินรัฐและบรรดาผู้เชี่ยวชาญออกมาบอกกับชาวนาผ่านสื่อต่างๆว่า ชาวนาต้องปรับเปลี่ยนระบบการผลิตไปสู่การผลิตข้าวคุณภาพและปรับตัวให้กลายเป็นเกษตรกรผู้ประกอบการ พัฒนาระบบการผลิตและจำหน่ายผลผลิตครบวงจร และสร้างนวัตกรรมใหม่เพื่อเพิ่มโอกาสในการแข่งขัน หรือไม่ก็ให้กลับไปเป็นชาวนาพอเพียง

สำหรับชาวนาบางเงา อาจกล่าวได้ว่า ปัจจุบันชาวนาที่นี่ส่วนใหญ่เป็นชาวนาทำนาใช้หนี้ การมีหนี้ค้ำคอในขณะที่ราคาผลผลิตตกต่ำจนไม่สามารถใช้หนี้ได้ จึงยิ่งกว่าการทำลายโอกาสสะสมทุนเพื่อขยับขยายหรือปรับปรุงกิจกรรมการผลิตของตนเองได้อย่างที่ผู้เชี่ยวชาญชี้แนะ ลำพังชาวนาไร้ที่ดินที่ส่วนใหญ่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันจึงต้องกู้ยืมจากญาติ คนในชุมชน หรือร้านค้าเคมีภัณฑ์การเกษตร จะซื้อเชื่อปัจจัยการผลิตจากร้านค้าจะต้องจ่ายแพงกว่าคนอื่นถึง 2 ต่อ คือ ราคาปัจจัยการผลิตที่ถูกบวกเพิ่มราคาและดอกเบี้ยในอัตรา 2-3 บาท/เดือน หรือ ร้อยละ 24-36 บาท/ปี นอกจากนี้ชาวนาไร้ที่เหล่านี้จะต้องมีใบอนุญาตกู้จากเจ้าของที่ดินให้เช่า โดยเถ้าแก่ร้านค้าจะต้องให้เจ้าของที่ดินยืนยันรับรองกับร้านว่าผู้เช่านารายนั้นๆจะสามารถใช้เงินคืนได้เมื่อมีการเก็บเกี่ยวและขายผลผลิต

“ชาวนาต้องลดต้นทุน” คำที่ผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายบอกเมื่อมีปัญหาราคาข้าว เราจะพบในทางปฏิบัติของพวกเขาก็คือ เมื่อข้าวราคาตก พวกเขาจะหันไปหาปุ๋ยอินทรีย์ที่มีราคาถูกมาผสมกับปุ๋ยเคมี หรือลดปริมาณปุ๋ยเคมีลง เมื่อราคาข้าวเพิ่มขึ้นราคาปุ๋ยก็มักจะเพิ่มด้วย และหลายๆครั้งที่เมื่อราคาข้าวลดลงแล้ว ราคาปุ๋ยไม่ได้ลงตามราคาข้าว  พฤติกรรมของชาวนาในลักษณะนี้ทำให้เกษตรกรแกนนำในพื้นที่ศึกษารายหนึ่งบอกว่า จำนวนชาวนาที่ทำอินทรีย์หรือชาวนาลดต้นทุนมันขึ้นๆลงๆปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ แต่เมื่อมีวิกฤตราคาข้าวรอบล่าสุด ชาวนาที่นี้ลดต้นทุนการผลิตลงจากเดิมไร่ละ 6,500-7,500 บาท เป็น 4,500–5,500 บาท  ล่าสุดเมื่อมีโครงการนาแปลงใหญ่ใกล้ๆบางเงา ชาวนาบางรายก็จะหันไปใช้การลดปริมาณพันธุ์ข้าวที่เคยหว่านด้วยการจ้างรถเครื่องหยอดเมล็ดแทน ซึ่งลดปริมาณพันธุ์ข้าวจากไร่ละ 3.5 ถัง เป็น 20-30 กก. โดยต้องเสียค่าจ้างหยอดไร่ละ 100-150 บาท แต่บางรายยังตั้งข้อสงสัยว่าวิธีการดังกล่าวจะต้องทำการเขตกรรม จัดการหญ้าต้องประณีตขึ้น และอาจจะต้องลดขนาดพื้นที่ทำนาลง ส่วนบางรายที่มีทุนน้อยก็จะใช้วิธีลดต้นทุนด้วยการลงแรงตัวเองมากขึ้นและจ้างน้อยลง ส่วนการหารายได้เพิ่มจากการรับจ้างในและนอกภาคเกษตรในยุคคสช.กลับกลายเป็นความยากลำบากกว่ายุคที่เพิ่งผ่านมา

สอดคล้องกับผลสำรวจเชิงปริมาณเพื่อหาปัจจัยเงื่อนไขที่มีผลต่อการตัดสินใจปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำเกษตร ที่การวิจัยออกแบบกำหนดไว้ 5 ปัจจัย ราคาผลผลิต ต้นทุน รายได้, กำลังแรงงาน, สุขภาพและการเจ็บป่วย, สภาพดินฟ้าอากาศและสิ่งแวดล้อม, และ การสนับสนุนและการส่งเสริม โดยให้ผู้ตอบเลือกเพียง 1 ข้อ ซึ่งได้คำตอบว่า ราคาผลผลิต ต้นทุน รายได้ เป็นปัจจัยที่ทำให้ตัดสินใจปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิตเป็นอันดับ1 ร้อยละ 61.6, อันดับ2 สภาพดินฟ้าอากาศและสิ่งแวดล้อม ร้อยละ 22.3, อันดับ3 กำลังแรงงาน ร้อยละ 6.3, อันดับ4 สุขภาพและการเจ็บป่วย ร้อยละ 5.4, และ อันดับ5 การสนับสนุนและการส่งเสริม ร้อยละ 4.5

จากข้างต้น ปัญหาชาวนามีหนี้ และชาวนาไร้ที่ดินทำกินไม่สามารถปรับเปลี่ยนระบบการผลิตไปสู่ระบบการผลิตที่เน้นคุณภาพการผลิตมากกว่าปริมาณผลผลิตจึงเป็นปัญหางูกินหาง  จนกระทั่งชาวนาบางเงาหลายรายสะท้อนว่า “การทำเกษตรผสมผสานแบบพออยู่พอกิน มันก็ได้แค่กิน เหลือขายนิดหน่อย แต่ไม่พอใช้หนี้” หรือ “จะใช้หนี้(จากการทำนา)ได้ต้องตัดที่นาขายไปแล้วค่อยทำแบบพออยู่พอกินถึงจะอยู่ได้” และตอบสนองท่าทีของรัฐหรือหน่วยงานที่มาส่งเสริมเกษตรกรในตำบลผ่านกิจกรรมการฝึกอบรมต่างๆ ว่า

“มาตรฐาน GAP สินค้ามาตรฐานของหน่วยงานมาอบรมบางครั้งเราก็ไม่ได้ไป ไม่มีเวลาไปมีภาระมาก หรือต้องไปที่อื่น GAP เป็นมาตรฐานที่ส่งออกข้าวได้แต่เราขาดความรู้และบางทีก็ต้องใช้ทุน”

หรือ “บางครั้งมาอบรมแล้วไม่มีงบประมาณมาลงทั้งที่ชาวบ้านบางคนที่ร่วมอบรมอยากจะเรียนรู้ แต่มาแล้วก็ไป” 

บางครั้งถึงกับย้อนแย้งในเวทีประชุมสัมมนาด้วยลีลาเนิบๆ ว่า  “ถึงเราจะอยู่พอเพียงอย่างไรแต่หนี้มันมีมาตั้งนานแล้ว ประชารัฐให้มาก็เอา แต่เป็นแค่การซื้อเวลา เราต้องยอมรับความเป็นจริงว่าเมื่อก่อนเราอยู่โลกมายา ปีนี้ฝนไม่ตกด่าผู้นำ ข้าวไม่แพงด่าผู้นำ น้ำท่วมก็ด่าผู้นำ อะไรก็ด่าผู้นำ แต่ที่จริงเขาก็ช่วยมาเป็นระยะๆ แต่การช่วยมันก็ต้องมีขั้นตอน เขาก็ต้องมีกรอบรมนโยบาย คิดเอาเอง เอาเหตุเอาผลมาพิจารณาดูว่าเราสมควรไหมเราอยู่กันอย่างนี้ อย่างไรเราก็ต้องประการแรกลดต้นทุน ปลูกผักกินเหลือกินเอาไว้ขาย อย่างไรก็ต้องลดต้นทุน กินอาหารที่ปลอดภัย เราต้องผลิตสินค้าให้ได้ตาม GAP เพราะถ้าไม่ได้ตามมาตรฐานนี้สินค้าจะขายไม่ได้ เราต้องเตรียมตัวไว้อย่างนี้ อนาคตต้องเจอแน่ รัฐส่งเสริมอะไรมาเราต้องรับไว้ ไม่อยากรับก็ฝืนใจหน่อย นั่งหลับใหลฟังเขาไปเถอะ”


ภาพสะท้อนของภาพลักษณ์ชาวนากับปัญหาการลดทอนอำนาจต่อรองของพวกเขาในวิถีประชาธิปไตย

เป็นที่ทราบกันโดยทั่วว่ากระบวนการส่งเสริมเกษตรกรให้ปรับเปลี่ยนระบบการผลิตอาหารเพื่อสุขภาวะยังทำได้จำกัด และถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นกระบวนการผลิตที่ไม่เป็นมิตรต่อเกษตรกรที่ยากจน มีหนี้สิน และไร้ที่ดินทำกิน  อีกทั้งเมินเฉยกระบวนการปรับตัวของเกษตรกรที่เลือกที่จะต่อสู้ในระบบการผลิตแบบก้าวหน้าที่มีความเสี่ยงจากกลไกตลาด โดยละเลยการพิจารณาถึงเงื่อนไขเฉพาะของเกษตรที่ไม่เลือกแนวทางการปรับตัวไปสู่ระบบการผลิตข้าวที่ปลอดภัยต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม จนทำให้เกิดภาพการสร้างภาพชาวนาที่เป็นเหยื่อของการส่งเสริมระบบการผลิตเพื่อส่งออกที่พึ่งพาปัจจัยการผลิตและทำให้มีต้นทุนสูงขึ้นในลักษณาการต่างๆ เช่น การสร้างภาพชาวนาตาโตผู้มีความโลภอันถูกกระตุ้นให้ทำเพื่อขาย ชาวนาเป็นผู้ใช้สารเคมีการเกษตรราวสิ่งเสพติดและขาดไม่ได้ และสุดท้ายก็ผลักให้ชาวนาเหล่านั้นกลายเป็นพันธมิตรที่แนบแน่นกับบรรษัทเคมีการเกษตร เมื่อเกษตรกรคัดค้านข้อเสนอของ NGOs ที่ให้ขึ้นภาษีสารเคมีการเกษตรและนำเงินภาษีเหล่านี้มาพัฒนาส่งเสริมการทำเกษตรกรรมที่ปลอดภัยในเวทีเสนอนโยบายควบคุมสารเคมีการเกษตรหลังที่ คมช.ทำรัฐประหารปี2549 ไม่นาน และมีข้อเสนอของคนทำงานบางท่านที่ต้องการผลักดันนโยบายนี้ให้ผ่านเป็นกฎหมายในช่วงการบริหารประเทศของผู้นำเผด็จการในยุคนั้น

เมื่อบวกกับภาพลักษณ์ที่พวกเขาเห็นว่าชาวนาที่พึ่งพานโยบายประชานิยมอย่างจำนำข้าวยุคยิ่งลักษณ์ของพรรคการเมืองเสียงข้างมากที่พวกเขาเห็นว่ามีส่วนได้ส่วนเสียกับบรรษัทอุตสาหกรรมการเกษตร โดยละเลยความจริงไปบางประการว่า ชาวนาอีกจำนวนมากที่เลือกและสนับสนุนนโยบายนี้ผ่านการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง   นอกจากนี้ยังพบว่าชาวนาที่เป็นลงคะแนนเสียงพรรคเพื่อไทยเพราะโครงการจำนำข้าวก็ไม่ได้หวังจะพึ่งพิงนโยบายนี้ไปอย่างยาวนานเพราะกระแสสังคมรอบด้านมีเสียงวิจารณ์คัดค้านอย่างรุนแรงและต่อเนื่องมาโดยตลอดตั้งแต่เริ่มมีการประกาศนโยบายเพื่อลงสมัครรับเลือกตั้ง สิ่งที่พวกเขาหวังก็คือให้พรรครัฐบาลที่พวกเขาเลือกสามารถบริหารประเทศได้ในระยะเวลา 4 ปีตามวิถีประชาธิปไตย

รังสรรค์และวราภรณ์[10] ชาวนาไร้สังกัดและเป็นนักค้าเร่หลังฤดูนาในทุ่งนาที่ราบลุ่มน้ำท่วมขังรายหนึ่งถึงกับประเมินว่า ถ้าเพียงแค่จำนำข้าวตันละ 15,000 บาท ผ่านไปได้ 4 ปี เธอก็จะสามารถปลดหนี้ที่มีสะสมลงได้ พร้อมกับแสวงหาโอกาสใหม่ๆให้กับตัวเองในการค้าขาย และส่งลูก 3 คนที่กำลังเรียนอยู่ทั้งหมดได้อย่างไม่ลำบากนัก  นอกจากนี้ยังพบอีกว่า ประเสริฐ [11] ชาวนาปรังเช่าไร้สังกัดในพื้นที่แก้มลิงในจ.อยุธยา ประสบความสำเร็จในการทดลองผลิตข้าวลดต้นทุน โดยใช้โอกาสที่แน่ใจว่าการทำนาข้าวจะขายได้ราคาข้าวสูงขึ้นแน่นอน ทดลองรูปแบบการผลิตใหม่ๆเพื่อลดต้นทุนจากการใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในแปลงข้าวนาปรังที่เขาเช่าซึ่งมีราคาต้นทุนสูงขึ้นในช่วงนั้น โดยเขาคำนวณ ต้นทุนที่ลดลง หักลบกับจำนวนผลผลิตที่คาดว่าจะลดลง เปรียบเทียบกับราคาข้าวที่จะได้รับมากขึ้นกว่าการขายข้าวในกลไกตลาดปกติ อีกทั้งตัวเขาเองได้รับค่าจ้างฉีดสารกำจัดศัตรูพืชให้กับเพื่อนบ้านเพิ่มมากขึ้นจาก ไร่ละ 50 เป็น 60 บาท แล้วมีรายได้เพิ่มมากขึ้น  ความสำเร็จในการลดต้นทุนการปลูกข้าวของเขาในช่วงจำนำข้าวยุคยิ่งลักษณ์ ยังถูกนำมาพัฒนาต่อจนเขาได้ปรับเปลี่ยนสถานะวิทยากรเผยแพร่ความรู้ให้กับเกษตรอำเภอ และผู้สนใจ ซึ่งต่อมาเขาได้ยกระดับตัวเองเป็นผู้รับจ้างเหมาช่วง ผลิตสารชีวภาพควบคุมศัตรูข้าวขึ้นเอง และบริการฉีดพ่นให้กับลูกค้า ประเสริฐยังสร้างรายได้สำคัญในช่วงที่ชาวนาขาดแคลนน้ำอย่างรุนแรงจนเขาต้องหยุดเช่าที่ปลูกข้าวลงด้วยการรับจ้างเหมาฉีดพ่นสารกำจัดศัตรูพืชซึ่งมีราคาถูกกว่าสารเคมีให้กับเพื่อนชาวนาของเขาที่ยังตัดสินใจทำนาเผชิญภัยแล้งในช่วงปี 2558-2559    

ไม่เพียงแค่การปรับตัวของชาวนาแบบปัจเจกที่อาศัยนโยบายอุดหนุนด้านราคา ในระดับนโยบาย รัฐบาลยิ่งลักษณ์ได้ปรับเปลี่ยนมาตรการต่างๆให้สอดคล้องกับความเดือดร้อนของชาวนาซึ่งเป็นฐานเสียงของตนและกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากภาคส่วนต่างๆที่คัดค้านโครงการหนักขึ้นทุกขณะ  เช่น มีการปรับลดวงเงินจำนำข้าวเหลือ 500,000 บาท/ครัวเรือน แทนการรับจำนำข้าวไม่จำกัดปริมาณที่เริ่มใช้ตั้งแต่ช่วงเริ่มโครงการในเดือนตุลาคม 2555-กุมภาพันธ์2556   หรือกรณีที่ คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ(กขช.) มีให้มีการปรับลดราคาจำนำข้าวลงดันละ 12,000 บาทแล้วมีกระแสคัดค้านจากชาวนาจำนวนมากในช่วงเดือนมิถุนายน 2556 จนในที่สุด มติครม. อนุมัติตามข้อเสนอของคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ เมื่อ 2 กรกฎาคม 2557 คงให้มีราคาจำนำข้าวตันละ 15,000 บาทเท่าเดิม[12]   อย่างไรก็ดีกระแสสังคมได้บีบให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ต้องทบทวนข้อเสนอจาก กขช.อีกครั้งและมีมติครม.ในวันที่ 27 สิงหาคม 2556 ให้ปรับราคารับจำนำข้าวนาปรังเหลือตันละ 13,000 บาท ในวงเงิน 350,000 บาท/ครัวเรือน และมีผลทำให้ในวันถัดมาสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทยเตรียมยื่นหนังสือร้องเรียนต่อนายกให้ปรับราคารับจำนำข้าวเหลือตันละ 14,000 บาท ในวงเงิน 400,000 บาท แต่ก็ไม่ได้รับการตอบสนอง[13]  เหล่านี้ล้วนชี้ให้เห็นว่านโยบายของรัฐบาลที่ได้รับเลือกเข้ามานั้นมีกระบวนการต่อรองของชาวนาที่มีข้อได้เปรียบเชิงจำนวนคน และการคานอำนาจกันระหว่างกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ

อย่างไรก็ตามข้อวิจารณ์ที่ NGOs มีต่อโครงการจำนำข้าวว่าราคารับจำนำข้าวสูงจนมีผลทำโรงสีชุมชนไม่สามารถรับซื้อข้าวหอมมะลิอินทรีย์จากชาวนาที่อยู่ในโครงการได้เพราะสู้ราคาไม่ไหว เป็นสิ่งที่น่าพิจารณาว่า เอาเข้าจริงเราก็ไม่อาจกล่าวได้ว่าชาวนาอินทรีย์เหล่านี้โลภและเห็นเงินสำคัญกว่าความยั่งยืนของระบบเศรษฐกิจชุมชน หรือขาดจิตสำนึก อย่างที่ NGOs และแกนนำเกษตรกรอินทรีย์มักใช้กับชาวนาที่ยังไม่ปรับเปลี่ยนไปทำนาอินทรีย์ได้เต็มปาก และอาจจะต้องตั้งคำถามกับชาวนาอินทรีย์เหล่านี้ว่าแท้จริงแล้วความมั่นคงทางอาหารที่พวกเขานิยามนั้นแตกต่างอย่างไรกับความมั่นคงทางอาหารของชาวนาที่ผลิตในกระแสหลักแต่ไร้สังกัดอุดหนุนทุนปรับเปลี่ยนระบบการผลิต  และคำถามต่อนักส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ว่าราคาสินค้าอินทรีย์เดิมที่ตั้งขึ้นนั้นตั้งบนฐานอะไรและสร้างความพึ่งพอใจจนจูงใจให้ทำการผลิตได้จริงๆหรือ ทำไมเมื่อมีโอกาสทางราคาพวกเขาจึงได้เปลี่ยนไปขายในราคาที่พึงพอใจกว่า?

เมื่อพิจารณาถึงเงื่อนไขของชาวนากระแสหลักซึ่งอยู่ชายขอบขบวนการส่งเสริมของ NGOs ไม่สามารถเข้าถึงการทำการผลิตที่เน้นคุณภาพได้ด้วยเพียงแค่ดูจากชาวนาต้นแบบแล้วลอกเลียนทางเทคนิควิธีเท่านั้น  การสร้างความมั่นใจที่จะปรับเปลี่ยนของพวกเขามีภาระความเสี่ยงที่ต้องแบกรับเองลำพัง ทั้งนี้เพราะหากพวกเขาตัดใจที่เริ่มกระบวนการทดลองปลูกข้าวอินทรีย์ไปจนถึงกระบวนการเก็บเกี่ยวและขายข้าวนั้น ไม่มีใครประกันความเสี่ยงหรือผลสำเร็จ ซึ่งต่างไปจากชาวนาอินทรีย์ยุคบุกเบิกที่มีงบจากโครงการและแหล่งทุนต่างๆสนับสนุนและส่งเสริมการทำเกษตรอินทรีย์และตลาดทางเลือกจำนวนมากในระยะเวลานานหลายปี ผ่านการล้มลุกคลุกคลานอยู่นานกว่าจะประสบความสำเร็จและเป็นที่ยอมรับแต่ยังขยายผลไปยังชาวนารายรอบได้อย่างจำกัด แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีกลุ่มที่มีทุนและมีความพร้อมกว่า เช่น ชาวนาที่พอมีทุนและที่ดิน ชนชั้นนำ ดารา และหน่วยธุรกิจที่เห็นโอกาสทางธุรกิจสินค้าอินทรีย์เข้ามาร่วมเก็บเกี่ยวและอาจกลายเป็นทั้งพันธมิตรและคู่แข่งในทางการตลาดและการร่วมผลักดันนโยบายระบบผลิตและตลาดอินทรีย์

ปัญหาการไร้ที่ดินทำกิน และปัญหาหนี้สิน ซึ่งเป็นปัญหาของชาวนาที่ต่อสู้เชิงปัจเจกในระบบตลาดทุนนิยม และกลุ่มองค์กรชาวนาทั้งฝ่ายที่สนับสนุนและคัดค้านโครงการจำนำข้าว ที่รัฐบาลทุกยุคยังไม่แก้ไขให้อย่างจริงๆเหมือนกรณีหนี้ NPL ของหน่วยธุรกิจและธนาคารในยุคฟองสบู่แตก แต่รูปแบบและวิธีการแก้ปัญหาเพื่อแสวงหาทางออกของชาวนาแต่ละฝ่ายมีปัจจัยที่เกื้อหนุนให้หลุดออกมาจากปัญหาได้แตกต่างกัน การเหยียดเย้ยหรือกดทับว่าอีกฝ่ายผิด สิ้นคิด หรือโง่ และเป็นเหยื่อของพรรคการเมือง และโครงการประชานิยมจึงเป็นเรื่องที่เกินเลยความเป็นจริง และลดทอนพลังการต่อสู้ และอำนาจการต่อรองของพวกเขาอย่างไม่เป็นธรรม และยกแนวทางการต่อสู้แบบที่ฝ่าย NGOs ชี้นำอยู่เหนือการต่อสู้แบบอื่นๆ

ปัญหาการรับจำนำข้าวโดยไม่จำกัดโควตามีอยู่จริง พอๆกับการที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ไม่ได้ตระเตรียมแผนการเพื่อสนับสนุนเกษตรกรผู้ประกอบการสีข้าวชุมชน ที่ต้องเผชิญกับการแข่งขันด้านราคาจากกลไกตลาด จนทำให้โรงสีชุมชนหลายแห่งต้องปิดโครงการเพราะขาดข้าวและขาดสภาพคล่องทางการเงิน  หรือกรณีที่ชาวนารายย่อยจำนวนหนึ่งที่ทำนาเพื่อเก็บข้าวไว้สีกินเองในภาคเหนือ อีสานและใต้ [14] ไม่ได้รับความเป็นธรรมในการที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการจำนำข้าว[15]  ปัญหาเหล่านี้ของชาวนากลุ่มที่ได้รับผลกระทบอาจจะต้องนำเสนอปัญหาของตนและเคลื่อนไหวต่อรองเพื่อให้มีการปรับเปลี่ยนเงื่อนไขที่เหมาะสมกับสภาพเฉพาะของแต่ละท้องถิ่น ที่สังคมโดยรวมยอมรับได้  เช่นเดียวกับการที่มีแรงบีบจากทุกทิศทางเพื่อล้มโครงการจำนำข้าวจนกระทั่งต้องมีการปรับเปลี่ยนการรับจำนำจากไม่จำกัดปริมาณมาเป็นจำกัดวงเงินต่อครัวเรือน หรือการลดราคารับจำนำข้าวลงเหลือ ตันละ 13,000 บาท จาก 15,000 บาท  หรือการร้องเรียนของกลุ่มชาวนาที่ต้องการให้ปรับเพิ่มราคาที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ปรับใหม่เป็นตันละ 13,000 บาท มาเป็นตันละ 14,000 บาทแทน ซึ่งเป็นการแสดงออกถึงสิทธิที่พึงมีในการปกป้องผลประโยชน์ของตนและกลุ่ม ด้วยรูปแบบแตกต่างหลากหลายได้อย่างเสรีในรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แต่ทำไม่ได้เลยในรัฐบาลเผด็จการ

แต่การที่ NGOs บางส่วนกระโดดเข้าร่วมกับ กปปส. ล้มโครงการรับจำนำข้าวอย่างเอาจริงเอาจังเพื่อหวังผลขับไล่รัฐบาลเสียงข้างมาก แล้วยังต่อเรื่องไปถึง “Shut down ประเทศไทย” จนกระทั่งเชิญทหารเข้ามาแก้ไขและเกิดรัฐประหารในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557  ได้สร้างความคลางแคลงใจให้กับชาวนาที่ได้รับผลประโยชน์จากโครงการรับจำนำข้าวไม่น้อย ซึ่งนั่นไม่ใช่เพียงแค่ผลประโยชน์ที่เป็นเม็ดเงินและโอกาสในการปรับตัวของชาวนาตามทิศทางที่กำหนดเอง แต่ยังรวมถึงการทำลายระบบและกลไกการสร้างอำนาจต่อรองของชาวนา ในฐานะที่เป็นผู้กำหนดและสนับสนุนนโยบายที่ตอบสนองต่อประโยชน์ของกลุ่มตนผ่านกลไกการเมืองในระบบประชาธิปไตยที่รับฟังเสียงและยอมรับการมีส่วนร่วมของประชาชน 

ชาวนาและฝ่ายสนับสนุนนโยบายการอุดหนุนสินค้าเกษตร เฝ้าสังเกตท่าทีของ NGOs เหล่านี้ที่มีต่อนโยบายข้าวใต้เงื้อมเงา ม.44 ของ คสช. เช่น การเมินเฉยต่อข้อเสนอของสมาคมเครือข่ายชาวนาไทยที่ขอให้ คสช. อุดหนุนราคาข้าวนาปรังในราคาตันละ 10,000 บาท [16]  การเดินตามรอยนโยบายประชานิยมของรัฐบาลเลือกตั้งที่ คสช. ใช้เป็นข้ออ้างในการรัฐประหารมาใช้เสียเอง เช่น จำนำยุ้งฉาง นาแปลงใหญ่ประชารัฐ นโยบายลดพื้นที่ปลูกข้าวไปปลูกพืชอื่น การส่งเสริมปลูกข้าวโพดทดแทนนาข้าวในพื้นที่ชลประทานภาคกลาง ฯลฯ

นโยบายลอกแบบของคสช. ถูกแกนนำชาวนากลุ่มต่างๆ และประชาชนพลเมืองออนไลน์วิจารณ์อย่างเซ็งแซ่ ถึงวิสัยทัศน์และความสามารถในการบริหารประเทศ เช่น  โครงการจำนำยุ้งฉางปีตั้งแต่ปี 2587/58 ถึงปี 2559/60 เป็นนโยบายฝนตกไม่ทั่วฟ้า สร้างปัญหาภาระหนี้ให้กับชาวนาปรังเป็นอย่างยิ่ง เป็นการช่วยธกส.มากกว่าชาวนา  การขาดการมีส่วนร่วมของเกษตรในการประเมินความเป็นไปได้ในการกำหนด Agri-farm ในระดับปฏิบัติการในพื้นที่จริง อีกทั้งการทำนาแปลงใหญ่ประชารัฐก็เป็นเพียงการตอบสนองต่อแนวคิดเสรีนิยมใหม่ที่ลดบทบาทของรัฐในการอุดหนุนด้านราคาข้าวและนำเข้าทุนเอกชนรายใหญ่เข้าไปทำแทนที่รัฐโดยไม่ได้เข้าไปแก้ไขปัญหากลไกตลาด ซึ่งส่งผลต่อการแข่งขันของเกษตรกรประกอบการ และผู้ประกอบการในชนบทที่ริเริ่มก่อเกิดและพัฒนาขึ้นมาเป็นผู้บริหารและจัดจำหน่ายข้าวสารต่อผู้บริโภคในอนาคต  ร่วมทั้งความล่าช้าในการในการแก้ปัญหาราคาข้าวตกต่ำด้วยนโยบายลดพื้นที่ปลูกข้าวที่เพิ่งจะมาประกาศเอาเดือนสิงหาคมหลังจากชาวทั้งหลายเรื่องฤดูนาปี2559/60 รอบใหม่ในช่วง มิถุนายน-กรกฎาคม

ชลิตา[17] นักวิชาการด้านมานุษยวิทยาได้ชี้ให้เห็นว่า การที่ชาวนาถูกมองว่าเป็น “ปัญหา” ทั้งจากสายตาของ NGOs และ นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์  ฝ่ายที่มองว่าการทำนาเป็นมรดกทางวัฒนธรรมและระบบการพึ่งตนเองมักประณามการละทิ้งการทำนาว่าเป็นการหลงลืมรากเหง้าวิถีชีวิต ทำให้เกิดความไม่มั่นคงทางอาหาร สร้างผลเสียต่อสังคม ขณะที่การทำนาแบบเข้มข้นและการไม่ยอมเข้าสู่การทำนาอินทรีย์ของเกษตรกร ก็ถูกประณามว่าเป็นความโลภ ความเห็นแก่ตัว ขาดศีลธรรม ความฟุ้งเฟ้อ  ฝ่ายนักเศรษฐศาสตร์ก็มองว่าการทำนาไม่สมเหตุผล เพราะไม่สามารถแก้ปัญหาความยากจนได้ ดังนั้นการเอาคนออกจากภาคการเกษตรจึงเป็นเรื่องควรส่งเสริม แต่ทั้ง 2 ฝ่ายไม่ได้ให้ความสำคัญกับเงื่อนไขเฉพาะในชีวิตของชาวนา รวมทั้งข้อจำกัดเชิงโครงสร้าง จนนำมาสู่การมองชาวนาอย่างไรศักยภาพ ไม่สามารถตัดสินใจอย่างมีเหตุผล ทั้งที่จริงแล้วมีปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมจำนวนมากที่ส่งผลต่อการตัดสินใจของเกษตรกร  ดังนั้นการพยายามทำความเข้าใจเงื่อนไขเฉพาะและข้อจำกัดของชาวนา ทั้งในแง่สภาพแวดล้อมของการทำนา และในแง่ “การดำรงชีพ” และอาชีพนอกภาคการเกษตรและการลงทุนในการศึกษาของบุตรมีความสำคัญ เป็นสิ่งจำเป็นในการสร้างแนวทางการสนับสนุนอันจะช่วยให้พวกเขาลดความเสี่ยงในการผลิต นำมาซึ่งการทำนาที่มีประสิทธิภาพ ต้นทุนต่ำ เป็นมิตรกับส่งแวดล้อม และสอดคล้องกับความต้องการของตลาด ทั้งนี้เพื่อให้การทำนาสามารถเป็นพื้นฐานที่ดีให้แก่ครัวเรือนเกษตรกรในการขยับขยายฐานะทางธุรกิจและสังคมนอกภาคเกษตรได้ ท่ามกลางสถานการณ์ที่ว่าการผลิตในภาคเกษตรไม่สามารถเป็นแหล่งรายได้หลักของครัวเรือนในชนบทอีกต่อไป

สอดคล้อง นิธิ เอียวศรีวงศ์ ซึ่งสนับสนุนว่าโครงการรับจำนำข้าวยิ่งลักษณ์ว่ารายได้ที่ได้เพิ่มขึ้นจากราคารับจำนำนี้ชาวนาอาจนำไปใช้ในการเลื่อนสถานภาพทางสังคม เป็น “นโยบายเปลี่ยนประเทศไทย” [18] และรายได้ที่เพิ่มนี้จะนำไปพัฒนาตนเองเพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองของตนเองและหรือลูกหลานในตลาดแรงงานในอนาคต  และเห็นว่าการคัดค้านโครงการรับจำนำข้าวของฝ่ายจารีตนิยมนั้นเป็นเพียงเพื่อเก็บชาวนาให้เป็นเพียงปัจเจกบุคลตัวเล็ก ที่เป็นแรงงานราคาถูก และอยู่ภายใต้การอุปถัมภ์ของปราชญ์ชาวบ้านที่สยบยอมต่อระบบเท่านั้น[19]

ภาพสะท้อนจากนิธิ กลับฉายชัดเจนยิ่งขึ้นเมื่อนำข้อวิจารณ์ของ เดชา ศิริภัทร หัวขบวนการส่งเสริมทางเลือกเกษตรกรไปสู่ระบบการทำเกษตรเพื่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมที่มีต่อโครงการจำนำข้าว มาเทียบเคียงกับคำของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้นำคสช. ที่พูดถึงนโยบายการเกษตร ชาวนา และโครงต่างๆของรัฐ ผ่านวาระต่างๆ

ประยุทธ์ จันทร์โอชา


 

“วันนี้ถ้าเราไม่ผลิตเกษตรกรรุ่นใหม่จะเป็นปัญหาในอนาคต รัฐบาลไม่สามารถดูแลตลอดไป ต้องผลิตเกษตรกรรุ่นใหม่…    รัฐบาลก็จะเดินหน้าวางรากฐานระบบเกษตรกรของไทยให้พัฒนาอย่างยั่งยืน ไม่มาแก้ปลายเหตุ ไม่มา Subsidize ราคา ไม่มาจำนำหรือประกันอะไรก็แล้วแต่ ทำอย่างไรจะยั่งยืน ทำอย่างไรรัฐบาลต้องไม่ไปช่วย”  (10 ตุลาคม 2557)

 

 “...สำหรับการช่วยเหลือเกษตรกรในเรื่องเงินอุดหนุน หรือสินเชื่อดอกเบี้ยตํ่าต่างๆ นั้น เป็นการแก้ไขปัญหาเพียงชั่วคราว ยังไม่ยั่งยืน”  (21 พฤศจิกายน 2557)

 

“ถ้าแก้ปัญหาด้วยการซับสิไดซ์ ไปตลอด มันก็คือความไม่ยั่งยืนนะ คงแก้ได้เพียงปีเดียวแหละ การจ่ายเงินก็จ่ายได้ครั้งเดียว พอครั้งต่อไปก็จ่ายยากแล้วนะ มันจะกลายเป็นการเพาะนิสัย”

 

ที่มา: สามชาย ศรีสันต์, ประชาไท 9 ธันวาคม 2557  “เกษตรกร-ชาวนา ภายใต้การผลิตสร้างความหมายของนายกรัฐมนตรี ผ่านรายการ ‘คืนความสุขให้คนในชาติ’ ”

http://prachatai.com/journal/2014/12/56894

เดชา ศิริภัทร

 

“ปัญหาดังกล่าวทำให้แทนที่ชาวนาจะเป็นกระดูกสันหลังก็กลับกลายเป็นรากหญ้า แบบนี้เขาเรียกว่า ‘ดูถูก’ และชาวนาก็ช่วยตัวเองไม่ได้ ต้องไปขอให้คนอื่นเขาช่วย เข้าโครงการจำนำข้าวทีก็เอาเงินมาปลดหนี้ที แบบนี้ทั้งตัวเองไม่รอดและเดือดร้อนคนอื่นด้วย”

 

เดชาชี้ว่า ชาวนาที่ยังไม่ปรับเปลี่ยนระบบการผลิตเพื่อลดต้นทุน เป็นชาวนาที่ช่วยตัวเองไม่ได้เพราะทำนาไม่ถูกวิธี ทำต้นทุนสูง และไม่มีเงินเหลือจนต้องไปทำอาชีพอื่น ได้กำไรน้อย มีหนี้มาก เอาตัวไม่รอดต้องขอให้คนอื่นช่วย ทำให้คนอื่นเดือดร้อนด้วยเพราะนโยบายจำนำข้าวนั้นรัฐบาลต้องเอาเงินภาษีจากคนอื่น 3 แสนล้านบาท/ปี มาซื้อข้าว เมื่อต้องนำข้าวนำไปขาย รัฐบาลต้องขาดทุนอีกปี กว่า 1 แสนล้านบาทเป็นอย่างน้อย ชาวนากลายเป็นภาระของสังคมและเบียดเบียนคนอื่น ชาวนาที่ดีต้องทำนาต้นทุนต่ำและอย่าทำให้คนอื่นเดือดร้อน

 

ที่มา: ThaiPublica, 27 พฤษภาคม 2555 “เดชา ศิริภัทร” ปราชญ์ชาวนา (2): “ทำนาผิดวิธี” อนาคต “สิ้นนา สิ้นชาติ” http://thaipublica.org/2012/05/deja-siripat-2/

 

และล่าสุด พลเอกประยุทธ ยังออกมากล่าวถึงนโยบายสนับสนุนการปลูกข้าวอินทรีย์ และนโยบายนาแปลงใหญ่ประชารัฐ และประชาสัมพันธ์ความร่วมมือระหว่างหน่วยงานรัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคม ในโครงการนาแปลงใหญ่ที่สุพรรณบุรี ไว้ตอนหนึ่งว่า

“...ดูตัวอย่างการรวมกลุ่มทางโครงการข้าวขวัญสุพรรณซึ่งน้อมนำศาสตร์พระราชามาในเรื่องการระเบิดจากข้างใน ของมูลนิธิข้าวขวัญ สมาคมโรงสีข้าวสุพรรณบุรี และหอการค้าสุพรรณบุรี ในการร่วมกันพัฒนาพันธุ์ข้าวพื้นเมือง คือข้าวตาเคลือบ(ขาวตาเคลือบ-ผู้วิจัย) เป็นสินค้าเด่นประจำจังหวัด และผลิตในลักษณะข้าวปลอดปุ๋ยเคมี ปลอดสารเคมีฆ่าแมลง นับว่าเป็นผลดีต่อสุขภาพชาวนาและผู้บริโภค รวมทั้งสิ่งแวดล้อมอีกด้วย ที่สำคัญคือ เกษตรกร ชาวนา ที่เข้าร่วมโครงการสามารถจะเข้าร่วมได้ทุกส่วน เพิ่มบทบาทตนเองในห่วงโซ่ผู้ผลิตเป็นผู้จัดจำหน่ายได้อีกด้วย เป็นการปรับตัวเข้าหากันของทุกคนในวงจรข้าว เพื่อจะสามารถพัฒนาตลาดข้าวไทยให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน..”

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา

คืนความสุขให้คนในชาติ ศุกร์ 11 พฤศจิกายน 2559

ที่มา: https://www.youtube.com/watch?v=0oVnGk4qLUA

 

ในขณะที่ข้อเท็จจริงที่ผู้วิจัยสอบทานกับเจ้าหน้าที่มูลนิธิข้าวขวัญเมื่อ วันที่ 18 พฤศจิกายน 2559 ก็ได้ทราบว่า มูลนิธิข้าวขวัญ ซึ่งมีเดชา ศิริภัทรเป็นผู้อำนวยการ รวมทั้งนักเรียนชาวนาที่มูลนิธิฯ ทำงานอยู่ในพื้นที่ทำงานจังหวัดสุพรรณบุรีก็ไม่ถูกนับรวมเป็นสมาชิกผู้ผลิตข้าว หรือกิจกรรมใดๆกับโครงการดังกล่าว[20]

จากที่กล่าวข้างต้น หากนำภาพเทียบเคียงให้เห็นความละม้ายคล้ายกันของ NGOs กับ นักเศรษฐศาสตร์ ที่วิจารณ์โครงการรับจำนำข้าวโดยไม่มีปฏิกิริยาใดๆต่อนโยบายข้าวของ คสช. ก็สามารถเปลี่ยนถ้อยคำ “เทคโนแครต” เป็น “NGOs” ได้ในถ้อยคำวิจารณ์ของฝ่ายที่ต่อต้านการขบวนการล้มโครงการจำนำข้าวไปพร้อมกับระบอบประชาธิปไตยผ่านกระบวนการชัตดาวน์ประเทศไทยของ ธนพล อิ๋วสกุล บรรณาธิการวารสารฟ้าเดียวกันไว้อย่างเผ็ดร้อน

“รูปธรรมก็เป็นอย่างที่เห็นไงครับ เมื่อเทคโนแครตวิจารณ์แต่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แล้วไม่ว่าตั้งใจหรือไม่ตั้งใจได้เป็นเงื่อนไขให้เกิดรัฐประหาร แล้วเทคโนแครตเงียบ หรือไปรับใช้คณะรัฐประหาร ทั้ง ๆ ที่เห็นชัดเจนว่าคณะรัฐประหารคอรัปชั่นเหมือนกัน ในระยะยาว ความน่าเชื่อถือต่อเทคโนแครตหรือองค์กรที่เทคโนแครตนั้นสังกัดก็จะเสื่อมทรามลง”


สรุป

กระบวนการสร้างภาพเป้าหมายของระบบเกษตรกรรมไทยเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนรูปแบบการผลิตเพื่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพิจารณาปัจจัยทางการเมืองที่เปิดโอกาสให้ชาวนากลุ่มต่างๆ ได้ปะทะสังสรรค์กันอย่างเท่าเทียม ไม่มองชาวนาอย่างไร้ศักยภาพ และเปิดโอกาสให้ทุกๆกลุ่มวิจารณ์และเรียกร้องข้อเสนอเพื่อให้เกิดการถกเถียงแลกเปลี่ยนได้อย่างเสนอหน้า ซึ่งมีเพียงวิถีประชาธิปไตยเท่านั้นที่เปิดโอกาสให้พวกเขาค่อยๆพัฒนาการต่อรองและเรียนรู้ไปพร้อมๆกันกับสังคมไทย มิใช่การพึ่งอำนาจนำของฝ่ายของฝ่ายที่ทำลายประชาธิปไตยจนดูเหมือนคล้ายจะฝักใฝ่เผด็จการอำนาจนิยม

 

เชิงอรรถ

[1] นิรมล ยุวนบุณย์ นักสังเกตการณ์อิสระ

[2] ดูเพิ่ม กฤตภัค งามวาสีนนท์, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ , ประชาไท 13 เมษายน 2559 “ชนบทที่เคลื่อนไหว: ความหมายและความหลากหลายของผู้ประกอบการในชนบท http://prachatai.com/journal/2016/04/65226  

[3] กฤตภัค งามวาสีนนท์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ประชาไท 16 มีนาคม 2559 “ทางเลือกบนเส้นทางการเปลี่ยนผ่านจากสังคมชาวนามาสู่สังคมของผู้ประกอบการในชนบท” http://prachatai.com/journal/2016/03/64660   

[4] ชื่อพื้นที่ศึกษา เป็นชื่อสมมติ  พื้นที่ศึกษาอยู่ในภาคกลางตอนเหนือ เกษตรกรส่วนใหญ่ทำนาร้อยละ 80 ในปีการผลิต2558/59 ซึ่งเป็นช่วงที่ประสบปัญหาภัยแล้งต่อเนื่องมาจากปี2556 ชาวนาที่นี่มีจำนวนรอบในการทำนาเฉลี่ย 1.5 ครั้ง

[5]คม ชัด ลึก, 18 มกราคม 2559 ซูเปอร์เอลนีโญ’สงครามแย่งน้ำ2559 http://www.komchadluek.net/news/edu-health/220729

[6]INN News, 27-05-2556 “ชาวนาบุกร้อง ชลประทานชัยนาท สาเหตุไม่มีน้ำทำนา ลำคลองอุดตัน”

[7] ข่าวช่อง7สี, 20 มกราคม 2559 “ทหารคุมเข้มไม่ให้สูบน้ำปลูกข้าวนาปรัง”

[8] สำนักข่าวไทย 7 กรกฎาคม 2558 "สิงห์บุรีผุดไอเดียสูบน้ำเจ้าพระยาไหลไปตามถนนช่วยชาวนา" http://www.tnamcot.com/content/224578

[9] แนวหน้า 14 กรกฎาคม 2558 “อบต.ราชสถิต อ.ไชโย จ.อ่างทองและชาวนาร่วมกันสูบน้ำเข้านา 2,000 ไร่ สู้ภัยแล้ง”   http://www.naewna.com/local/168510

[10]นิรมล ยุวนบุณย์ “ลดราคาจำนำข้าว “เราคิดผิดหรือเปล่าที่เลือกพรรคเพื่อไทย?”  บางส่วนของ รายงานวิจัย “นัยทางสังคมและการเมืองมหาอุทกภัย2554” ศูนย์ศึกษาสังคมและวัฒนธรรมร่วมสมัย คณะมานุษยวิทยาและสังคมวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เผยแพร่ครั้งแรกในประชาไท 16 มิถุนายน 2556 http://prachatai.com/journal/2013/06/47237

[11]นิรมล ยุวนบุณย์, ประชาไท 6 มิถุนายน 2556 “โครงการจำนำข้าว: วิกฤตหรือโอกาสของชาวนาเช่า?”  http://prachatai.com/journal/2013/06/47101

[12] ลำดับเหตุการณ์ 13 วันรัฐบาลพลิกนโยบายจำนำข้าว http://thaipublica.org/2013/07/government-rice-pledging-policy-adjustment/

[13] แนวหน้า 27 สิงหาคม 2556 “ชาวนาขอข้าวตันหมื่นสี่ ถ้าไม่ได้ฟ้องศาลปค. ปปช.เงื้อค้างฟัน ‘ปู’” http://www.paisalvision.com/index.php?option=com_content&view=article&id=10275:2013-08-28-01-48-34&catid=104:outstanding-news&Itemid=75

[14] มูลนิธิชีวิถี 23 ตุลาคม 2555 “ซีรีส์จำนำข้าว (4) วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ: ปัญหาเชิงโครงสร้างไม่(เคย)มีใครแตะ” http://www.biothai.net/node/15111

[15] วิโรจน์ ณ ระนอง ได้ตั้งคำถามกลับกรณีนี้ว่า ในเมื่อรัฐต้องการช่วยให้ราคาข้าวดีขึ้น กรณีชาวนาตั้งใจปลูกข้าวไว้กินเองแล้วทำไมรัฐต้องนำเงินอุดหนุนด้านราคาไปจ่ายให้กับชาวนากลุ่มนี้? ดูเพิ่มที่ Siam Intelligent 23 เมษายน 2013 “ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง: นโยบายจำนำข้าว ประกันราคา ทิศทางที่ไทยควรเลือกเดิน” http://www.siamintelligence.com/interview-dr-viroj-na-ranong-in-case-of-rice-fileds/

[16] ไทยรัฐ 26 กันยายน 2557 "ชาวนาขอข้าวเปลือกตันละ 1 หมื่น ราคานี้พอเหลือกำไรโอด! ต่ำกว่านี้บักโกรกแน่"  http://www.thairath.co.th/content/452833

[17]ชลิตา บัณฑุวงศ์, ประชาไท 11 กันยายน 2556 “ข้าวและชาวนาไทยในกระแสการเปลี่ยนแปลง” http://prachatai.com/sites/default/files/Chalida_Rice_Thaipeasantintransition.pdf

[18] มติชนรายวันรายวัน 5 พฤศจิกายน 2555  “นิธิ เอียวศรีวงศ์ : เปลี่ยนประเทศไทย ด้วยการรับจำนำข้าว”  http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1352088566&grpid=03&catid=03

[19] มติชนรายวัน  3 ธันวาคม 2555  “เปลี่ยนประเทศไทยด้วยการจำนำข้าว (อีกที) โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์”  http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1354506138&grpid=03&catid=03

[20] จ.สุพรรณบุรี เป็น 1 ใน 44 จังหวัด ในโครงการตามแนวนโยบายระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ เอกสารแสดงผลงานการขับเคลื่อนนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แบบเบ็ดเสร็จ จังหวัดสุพรรณบุรี ได้ระบุว่ามูลนิธิข้าวขวัญ เป็น 1 ใน 4 ศูนย์เครือข่ายปราชญ์ชาวบ้านในสุพรรณบุรี  โปรดดูเพิ่มที่ ศูนย์ประเมินผล สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร 4 เมษายน 2559 “ติดตามความก้าวหน้าการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์”  http://www2.oae.go.th/EVA/download/success/4april__SC_confer_full.pdf

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net