Skip to main content
sharethis

กรธ. แจงสาระสำคัญร่าง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กกต. ระบุ เพิ่มอำนาจ กกต. จัดการเลือกตั้งให้สุจริต ยุติธรรม ยืนยัน กกต.ชุดปัจจุบันยังทำหน้าที่ต่อไปเฉพาะบุคคลที่ไม่ขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญใหม่

15 ธ.ค. 2559 เว็บข่าวรัฐสภา รายงานว่า ประพันธ์ นัยโกวิท กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวชี้แจงสาระสำคัญร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ว่า เจตนารมณ์ของกฎหมายฉบับนี้ ต้องการเพิ่มอำนาจให้ กกต. เป็นองค์กรที่ทำหน้าที่จัดการเลือกตั้งให้บริสุทธิ์ยุติธรรม ทำงานเชิงรุก และมีส่วนร่วมกับสาธารณะ สามารถบังคับใช้กฎหมายเลือกตั้งกับพรรคการเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ และประชาชนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิการเลือกตั้งตามประบอบประชาธิปไตยได้อย่างถูกต้อง เพื่อให้มีผู้แทนราษฎร ที่ดีเข้าสู่รัฐสภา

ประพันธ์ กล่าวด้วยว่ากฎหมายเดิมให้อำนาจหน้าที่ กกต.ไว้ แต่ กกต.ไม่สามารถบังคับใช้อย่างมีประสิทธิภาพได้ เพราะ กกต.ไม่ได้เป็นพนักงานฝ่ายปกครอง ไม่สามารถจับกุมคนทำผิดกฎหมายได้ ร่างฉบับนี้จึงได้ให้อำนาจเพิ่มขึ้น อาทิ  สามารถสืบสวนสอบสวน ตรวจสอบการเลือกตั้งให้มีความเรียบร้อยได้ โดยมีอำนาจแจ้งให้ตำรวจดำเนินคดีและผู้อำนวยการเลือกตั้งสามารถส่งสำนวนคดีให้อัยการฟ้องได้ รวมถึงมีอำนาจระงับการเลือกตั้ง รวบรวมพยานหลักฐานดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด โดยประสานกับ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ในการตรวจสอบเส้นทางการเงินที่ผู้กระทำความผิดซื้อสิทธิ์ขายเสียง ขอให้หน่วยข่าวกรองความมั่นคง ให้ข้อมูลการซื้อเสียงทุจริตเลือกตั้งได้ โดยเก็บเป็นความลับ

ด้าน ปกรณ์  นิลประพันธ์ กรธ. กล่าวว่า ร่างกฎหมายลูกว่าด้วย กกต. ฉบับนี้ กำหนดให้มี กกต.จำนวน 7คน โดยต้องมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ในสาขาวิชาชีพต่างๆ และต้องไม่มีลักษณะต้องห้าม เป็นหรือเคยเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญหรือผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระใด มีวาระดำรงตำแหน่ง 7 ปีนับตั้งแต่วันที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งเพียงวาระเดียว พร้อมยืนยันว่า กกต.ชุดปัจจุบันยังทำหน้าที่ต่อไปเฉพาะบุคคลที่ไม่ขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญใหม่ โดยให้คณะกรรมการสรรหาซึ่งมาจากประธานศาลฎีกา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้นำฝ่ายค้าน ประธานศาลปกครองสูงสุด และบุคคลซึ่งศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระที่ไม่ใช่ กกต. เป็นผู้ชี้ขาด นอกจากนี้ ยังกำหนดให้ตั้งคณะกรรมการตรวจการเลือกตั้ง แทน กกต. จังหวัด โดยผู้ตรวจการเลือกตั้งแต่ละชุดจะตั้งขึ้นเฉพาะช่วงที่มีการเลือกตั้งในแต่ละครั้งเท่านั้น เพื่อตรวจสอบการกระทำผิดเลือกตั้ง การดำเนินการของเจ้าหน้าที่ดำเนินการเลือกตั้ง และรายงานให้กกต.กลางรับทราบเพื่อวินิจฉัยต่อไป ส่วนตำแหน่งผู้อำนวยการการเลือกตั้งจังหวัด ที่เป็นเจ้าหน้าที่ กกต.จากส่วนกลางจะยังคงอยู่เช่นเดิม

อย่างไรก็ตาม ในวันพรุ่งนี้ (16ธ.ค. 59) กรธ. จะจัดสัมมนา ชี้แจงสาระสำคัญและเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นต่อร่างฉบับนี้ ณ ห้องประชุมคณะกรรมาธิการ หมายเลข 213 – 216ชั้น 2อาคารรัฐสภา 2ตั้งแต่เวลา 12.00-16.30น. โดยเชิญตัวแทนจาก กกต. เข้าร่วมด้วย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net