Skip to main content
sharethis

สมาคมฟินเทคห่วง พ.ร.บ.คอมฯ ให้อำนาจ จนท.รัฐ เข้าถึงข้อมูลส่วนตัว สวนทาง Thailand 4.0 ผลักผู้ประกอบการออกนอกประเทศ

16 ธ.ค. 2559 วานนี้ กรณ์ จาติกวณิช ในฐานะประธานสมาคมฟินเทคแห่งประเทศไทย แสดงความกังวลผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ต่อร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ซึ่งจะเข้าสู่การพิจารณาวาระ 2 และ 3 ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติวันนี้ว่า ประเด็นที่สร้างความกังวลมากที่สุดคือการมอบอำนาจให้คณะกรรมการที่ได้รับการแต่งตั้งโดยรัฐบาลสามารถเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวของประชาชนได้โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการยุติธรรมปกติ และไม่ต้องมีการบันทึกการปฏิบัติหน้าที่โดยเจ้าหน้าที่เพื่อเป็นหลักฐานในการตรวจความเหมาะสมในการปฏิบัติหน้าที่ในภายหลัง ข้อมูลที่พูดถึงนี้รวมถึงรายละเอียดธุรกรรมทางการเงิน ข้อมูลการใช้โทรศัพท์ และการสื่อสารผ่านโทรศัพท์มือถือในรูปแบบต่างๆ

"อำนาจนี้จึงเกินกว่าแนวทางปกติในกระบวนการยุติธรรมที่เจ้าหน้าที่ควรต้องขอหมายศาลก่อนที่จะมีสิทธิตรวจเช็คข้อมูลประชาชน

"สนช.จึงควรต้องมีคำถามว่า สาเหตุใดผู้ร่างจึงให้การเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลประเภทนี้มีความจำเป็นเร่งด่วนกว่าคดีร้ายแรงประเภทอื่นๆ" กรณ์ระบุ

กรณ์ ระบุด้วยว่า นอกจากนั้นนิยามของสิ่งที่สามารถขอให้ลบออกจากเน็ตได้นั้นกว้างเกินไป (ผิดกฎหมายลิขสิทธิ์ ขัดต่อความมั่นคง เศรษฐกิจ หรือขัดต่อศีลธรรมอันดี) ซึ่งหลายเรื่องอาจไม่ผิดกฎหมาย และขึ้นกับการตีความ ทำให้เกิดความไม่แน่นอนในการทำธุรกิจในภาพรวม เป็นผลร้ายต่ออุตสาหกรรม ISP

"การออกกฎหมายที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ของรัฐเกี่ยวกับการเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวได้ขนาดนี้ อาจจะสวนทางกับสิ่งที่ทีมเศรษฐกิจพยายามผลักดันให้ Thailand 4.0 เป็นเครื่องยนต์เศรษฐกิจตัวใหม่ สร้างความกังวลใจให้กับทั้งผู้ประกอบการ และนักลงทุนที่จะเข้ามา และผลลัพธ์ที่อาจจะได้มาก็จะเริ่มตั้งแต่การไปใช้ server ต่างประเทศ ไล่ไปจนถึงการออกไปตั้งบริษัททำธุรกิจ FinTech ที่ต่างประเทศไปเลย แทนที่จะอยู่พัฒนาคุณภาพชีวิตให้คนประเทศตัวเอง" กรณ์ระบุ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net