Skip to main content
sharethis

เครือข่ายเพื่อสิทธิผู้มีอาการตาบอดสีแห่งประเทศไทยระบุคนตาบอดสีถูกเลือกปฏิบัติ เช่น ไม่มีใบขับขี่จึงทำให้หางานยากขึ้น โดยเฉพาะงานในสายช่างเทคนิค เสนอให้ไทยปรับประยุกต์ใช้แนวทางการออกใบอนุญาตขับรถตามแนวทางและมาตรฐานของอเมริกาและยุโรป

17 ธ.ค. 2559 เครือข่ายเพื่อสิทธิผู้มีอาการตาบอดสีแห่งประเทศไทย (Thailand Alliance for People with Color Deficiency’s Rights) ได้สำรวจผู้มีอากาตาบอดสีทั่วประเทศในประเด็นปัญหาการเลือกปฏิบัติอันเนื่องมาจากอาการตาบอดสี ซึ่งมีผู้ตอบแบบสอบถามรวม 121 คน พบผู้มีอาการตาบอดสี ร้อยละ 53.7ถูกเลือกปฏิบัติ ทำให้ไม่ได้รับความสะดวกในการใช้ชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การห้ามขับรถทั้งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคลที่คนตาบอดสีทั้งในอเมริกา ยุโรป และอีกหลายประเทศทั่วโลกได้รับอนุญาตให้สามารถขับรถส่วนบุคคลได้แล้วร้อยละ 36.4 ถูกปฏิเสธไม่รับเข้าทำงานเนื่องจากเป็นผู้มีอาการตาบอดสี และร้อยละ 9.9 ถูกห้ามไม่ให้เข้าศึกษาต่อในบางสาขาวิชา

โดยผู้ตอบแบบสอบถามส่วนหนึ่งกล่าวว่าพบปัญหาทั้ง 3 ด้าน เช่น เมื่อไม่มีใบขับขี่จึงทำให้หางานยากขึ้น โดยเฉพาะงานในสายช่างเทคนิค อย่างไรก็ตาม ผู้ตอบแบบสอบถามได้เน้นประเด็นปัญหาสำคัญใน 3 ด้าน ดังนี้

1. ปัญหาการห้ามขับรถทั้งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคลถือเป็นปัญหาหลักร่วมกันของกลุ่มผู้มีอาการตาบอดสี เนื่องจากตามข้อบังคับใบรับรองมาตรฐานสุขภาพ (ใบรับรองแพทย์) ที่จัดทำร่วมกันระหว่างกรมการขนส่งทางบกและแพทยสภากำหนดให้ตาบอดสีถือเป็นโรคชนิดหนึ่งที่ต้องห้ามไม่ให้ขับรถ แม้ตามแนวทางปฏิบัติของกรมการขนส่งทางบกนับตั้งแต่ พ.ศ. 2555อนุญาตให้คนตาบอดสีสามารถสอบใบขับขี่ได้แล้วแต่ต้องผ่านตามมาตรฐานที่กำหนดไว้โดยกรมการขนส่งทางบกซึ่งมีปัญหาสำคัญสำหรับคนตาบอดสีอยู่ 2 ขั้นตอน คือ

(1) การทดสอบสีไฟของกรมการขนส่งทางบกไม่เหมือนไฟสัญญาณจริงบนท้องถนน สำหรับคนตาบอดสี ไฟสัญญาณบนท้องถนนจะสามารถมองเข้าใจได้ง่ายกว่าจากแบบสอบถาม พบคนตาบอดสีที่ขับรถโดยไม่มีใบอนุญาตขับรถ แต่สามารถเข้าใจสีไฟจราจรและสัญญาณไฟได้และไม่เคยเกิดอบุบัติเหตุ แม้จะไม่สามารถเข้าใจสีจากไฟทดสอบได้อย่างถูกต้องทั้งหมด

(2) การทดสอบสายตาทางกว้างโดยใช้สีเป็นเกณฑ์ เนื่องจากคนตาบอดสีมีแนวโน้มที่จอรับสีทำงานได้ไม่ดีอยู่แล้ว การวัดสายตาทางกว้างโดยใช้สีเป็นเกณฑ์วัด คนตาบอดสีจึงมักทดสอบไม่ผ่าน ในความเป็นจริงในขั้นตอนนี้เป็นการวัดลานสายตาหรือความกว้างของการมองเห็นซึ่งไม่จำเป็นต้องใช้สีเป็นเกณฑ์ในการวัด

เกี่ยวกับประเด็นข้างต้น เครือข่ายเพื่อสิทธิผู้มีอาการตาบอดสีแห่งประเทศไทยมีข้อเสนอดังนี้

ประการแรกเสนอให้การทดสอบวัดความเข้าใจสัญญาณแทนการวัดตาบอดสี โดยให้ใช้สัญญาณไฟที่มีสีโทนตรงกับสัญญาณไฟจราจรจริงและไม่ควรสลับตำแหน่ง ไม่ใช่ตรงเฉพาะสี เพื่อวัดว่าคนตาบอดสีมองเห็นและเข้าใจสัญญาณไฟหรือไม่ เพราะคนตาบอดสีเพียงจำเป็นต้องเข้าใจสัญญาณไฟจราจรเท่านั้นโดยไม่จำเป็นต้องเข้าใจสี เช่น เมื่อดวงล่างสุดสว่างคือให้ไปได้ ส่วนดวงบนสุดสว่างคือต้องหยุด ทั้งนี้ ในต่างประเทศมีการปรับสัญญาณไฟอย่างหลากหลายเพื่อให้คนตาบอดสีหรือแม้แต่คนทั่วไปเข้าใจสัญญาณไฟได้ง่ายขึ้น เช่น ในยุโรปไฟเมื่อแสดงไฟเหลืองหรือไฟเหลืองสว่างจะสว่างพร้อมกับสีที่แสดงก่อนหน้านั้นและกระพริบ 3 ครั้ง เพื่อกระตุ้นให้ระวังและการที่มีไฟแสดง 2 สี ก็ช่วยเพิ่มการมองเห็นอีกด้วย นอกจากนี้ ให้วัดลานความกว้างของสายตาโดยใช้วิธีทางการแพทย์ที่ต้องไม่ใช้สีเป็นเกณฑ์ เพราะขั้นตอนนี้เพียงต้องการวัดความกว้างของการมองเห็นซึ่งไม่เกี่ยวกับสี

ประการที่สอง เสนอให้ประเทศไทยซึ่งปรับประยุกต์ใช้แนวทางการออกใบอนุญาตขับรถตามแนวทางและมาตรฐานของอเมริกาและยุโรปอยู่แล้วยกเลิกการห้ามการขับขี่รถส่วนบุคคลสำหรับผู้มีอาการตาบอดสีเช่นเดียวกับมาตรฐานของอเมริกาและยุโรปด้วย เพราะทั้งอเมริกาและยุโรปรวมทั้งอีกหลายประเทศทั่วโลกได้ยกเลิกการห้ามบุคคลผู้มีอาการตาบอดสีขับรถแล้ว เพราะทางการแพทย์สมัยใหม่และด้วยเทคโนโลยีการปรับแสงไฟในปัจจุบันพิสูจน์แล้วว่าผู้มีอาการตาบอดสีสามารถขับรถได้อย่างปลอดภัย

นอกจากนี้ ด้วยความจำเป็นของครัวเรือนสมัยใหม่และทางเศรษฐกิจผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่าส่วนใหญ่ยังขับรถอยู่เป็นปกติ บางคนขับมากกว่า 20 ปี แม้ไม่มีใบอนุญาตขับรถ ทั้งนี้ ผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมดกล่าวว่าไม่เคยเกิดอุบัติเหตุจากการขับขี่เลยบางคนบอกว่าสามารถเข้าใจสัญญาณไฟได้อย่างชัดเจน เพราะในโลกของคนตาบอดสีไม่ใช่สีขาวดำทั้งหมด แต่สีที่เห็นผิดเพี้ยนไปเพียงเล็กน้อยเท่านั้น จึงอยากให้กรมการขนส่งทางบกปรับเกณฑ์การทดสอบที่สอดคล้องกับความเป็นจริง เทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป และข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่เชื่อถือได้แล้วว่าคนตาบอดสีขับรถได้อย่างปลอดภัย

อย่างไรก็ตาม นอกจากการปรับการสดสอบแล้ว ประเทศไทยควรต้องปรับสีและตำแหน่งของสัญญาณไฟทั้งหมดภายในประเทศให้เป็นไปตามมาตรฐานของอเมริกาและยุโรปด้วย พร้อมทั้งควรปรับสีของไฟให้คนตาบอดสีเข้าใจได้ง่าย และควรต้องแก้ไขความเข้าใจผิดในสังคมไทยที่ว่าคนตาบอดสีไม่สามารถขับรถยนต์ได้อย่างปลอดภัย เพราะแม้ประเทศไทยยังคงห้ามผู้มีอาการตาบอดสีขับรถอยู่ แต่หลายประเทศที่มาตรฐานความปลอดภัยในการขับขี่สูงกว่าประเทศไทยได้อนุญาตให้คนตาบอดสีขับขี่ได้แล้ว

2. ในหลายสาขาอาชีพไม่รับผู้มีอาการตาบอดสีเข้าทำงาน แม้ในงานที่ไม่เกี่ยวกับการแยกสี เช่น ทหารและตำรวจในทุกตำแหน่งงานแม้แต่สายอำนวยการหรือสายสำนักงานนอกจากนี้ กาทำงานในภาคเอกชน เช่น สายเจ้าหน้าที่เทคนิค ก็จะไม่รับคนตาบอดสีเข้าทำงาน แม้บางตำแหน่งงานจะไม่เกี่ยวกับการแยกสีโดยละเอียด

3. ผู้มีอาการตาบอดสีพบปัญหาทั่วไปในการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การถูกล้อเลียนจากคนตาปกติการสื่อสารโดยใช้สีเป็นตัวแยกแยะหรือการนำเสนอข้อมูลด้วยกราฟสีที่ใกล้เคียงกันทำให้ผู้มีอาการตาบอดสีไม่เข้าใจหรือทำให้ต้องใช้เวลามากกว่าคนสายตาปกติในการดูผลวิเคราะห์ข้อมูลรวมทั้ง ระบบบริการของภาครัฐหรือบางเอกชนบางแห่งที่ใช้สีเป็นเกณฑ์ในการดำเนินการตามขั้นตอน เช่น บัตรคิวสีทำให้ผู้ใช้บริการที่แยกสีได้ลำบากผู้มีอาการตาบอดสีอยากให้คนในสังคมเข้าใจว่าคนตาบอดสีมีอาการเป็นตาบอดสีไม่ได้ทำอะไรผิดและไม่ใช่ความผิด หากไม่เห็นใจก็จำเป็นต้องเข้าใจและให้เกียรติในความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน 

อาการตาบอดสีมิใช่ความพิการแต่เป็นการบกพร่องทางการมองเห็นสี ซึ่งโดยธรรมชาติมนุษย์ทุกคนมีจอตาที่รับสีได้ไม่เท่ากันอยู่แล้ว แม้จะมีบางคนที่มีอาการคนตาบอดสีจนจอตาไม่สามารถรับสีได้ แต่ไม่ใช่คนตาบอดสีทุกคนมองเห็นทุกอย่างในโลกเป็นสีขาวดำทั้งหมด ด้วยการศึกษาและวิจัยที่เกี่ยวกับตาบอดสีในปัจจุบันพบแล้วว่าคนตาบอดสีสามารถทำอาชีพหรือใช้ชีวิตประจำวันได้เช่นเดียวกับคนทั่วไป เช่น คนตาบอดสีในยุโรปสามารถเรียนสาขาวิชาแพทยศาสตร์ ทันตแพทยศาสตร์ เภสัชศาสตร์ และพยาบาลศาสตร์ที่เป็นสาขาต้องห้ามมานานสำหรับคนตาบอดสี รวมทั้ง สามารถเป็นนักบิน และแน่นอนสามารถขับรถยนต์ส่วนบุคคลได้ ดังนั้น เพื่อไม่ใหเป็นการเลือกปฏิบัติที่สร้างผลกระทบที่เป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพในการใช้ชีวิตประจำวันต่อผู้มีอาการตาบอดสีเกินความจำเป็น หน่วยงานภาครัฐจึงต้องทบทวนกฎเกณฑ์และมาตรการทางการบริหารต่าง ๆ ที่เป็นอยู่ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนตาบอดสีและองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปแล้วด้วย

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net