Skip to main content
sharethis
คณะทำงานติดตามการร่างรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญพรรคเพื่อไทย ระบุ กกต.จังหวัด และผู้ตรวจการเลือกตั้ง หากมีก็ได้แค่ท่องคาถา "อย่าซื้อสิทธิขายเสียง" และจ้องจับผิดประชาชนแค่อย่างเดียว แก้ปัญหาซื้อเสียงไม่ได้ 'สุริยะใส' ชี้ 4 จุดอ่อน 3 จุดแข็งกฎหมายลูกพรรคการเมือง ด้าน 'ประชาธิปัตย์' ยันฝ่ายการเมือง ไม่ต้าน พ.ร.ป.พรรคการเมือง
 
18 ธ.ค. 2559 เว็บไซต์แนวหน้า รายงานว่านายคณิน บุญสุวรรณ อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ปี 40 ในฐานะประธานคณะทำงานติดตามการร่างรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ พรรคเพื่อไทย ได้กล่าวถึงกรณีที่ถกเถียงกันระหว่างคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กับนายสมชัย ศรีสุทธิยากร คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านกิจการบริหารจัดการเลือกตั้ง ต่อประเด็นที่ว่า ควรจะตั้ง เป็น กกต.จังหวัด แบบเดิม หรือตั้งเป็นผู้ตรวจการเลือกตั้งตามร่างเบื้องต้นของ กรธ.ดี ว่า ถ้ามองในแง่อำนาจหน้าที่ของ กกต.ตามหลักสากล ที่มุ่งให้ประชาชน มีความรู้ความเข้าใจ มีความสะดวกปลอดภัย และมีความอิสระในการไปใช้สิทธิเลือกตั้งแล้ว ถือว่าทั้ง กกต.จังหวัด และผู้ตรวจการเลือกตั้ง ล้วนไม่ตอบโจทย์ทั้งสิ้น เหตุเพราะทั้ง กกต.จังหวัด และผู้ตรวจการเลือกตั้ง ล้วนถูกวางตัวให้มุ่งแต่การจับผิดเรื่องทุจริตเลือกตั้งเป็นสำคัญ จนทำให้เป้าหมายอย่างอื่นที่สำคัญกว่าเป็นต้นว่าการเผยแพร่ให้ความรู้ความเข้าใจ การอำนวยความสะดวกและความปลอดภัย ในการไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ตลอดจนความเป็นอิสระและเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมือง และอื่นๆ ถูกมองข้ามไป
 
นายคณิน กล่าวต่อว่า เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญปี 40 ไม่ได้ต้องการ ให้มี กกต.จังหวัด แต่เป็นเพราะ กกต.กลาง อยากมีอาณาจักรหรือบริวารของตนเองเหมือนเป็นกระทรวงๆ หนึ่ง กกต.จังหวัด ก็เลยกลายเป็นผู้มีอิทธิพลขึ้นมาทันที ที่มีการเลือกตั้ง ยิ่งตอนหลังตั้งข้าราชการประจําเป็น กกต.จังหวัด ได้ ก็เลยวิ่งเต้นกันใหญ่ เพราะจะได้มีอำนาจต่อรองเหนือนักการเมืองหรือผู้สมัครรับเลือกตั้ง แต่ปัญหาก็คือ ถ้าในพื้นที่มีหลักฐานการทุจริต และ กกต.จังหวัด ไม่ส่งหลักฐานอะไรมาที่ กกต.ส่วนกลาง เลย แล้ว กกต.กลาง จะรู้ได้อย่างไรว่ามีทุจริต หรือไม่ทุจริต เพราะในความเป็นจริงถึงแม้จะมีการทุจริตแต่ในพื้นที่ได้จัดการ "ฮั้ว" กันเรียบร้อยแล้ว กกต.ส่วนกลาง จะรู้ไหม
 
ปัญหาเช่นนี้ถึงแม้ กรธ.จะเปลี่ยนจาก กกต.จังหวัด มาเป็นผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัด ก็แก้ไขไม่ได้ เพราะตีโจทย์ผิดตั้งแต่ต้น ยิ่งไปเพิ่มจำนวน กกต.กลาง เป็น 7 คน ก็ยิ่งพากัน เข้ารกเข้าพงกันไปใหญ่ เพราะเป็นคนละเรื่องกัน ในบางประเทศเขามี กกต.เพียงคนเดียว ดูแลจากการเลือกตั้งผู้มีสิทธิเลือกตั้งนับสิบนับร้อยล้านคน ทำไมเขาถึงทำได้เรียบร้อย และผลก็เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย ที่เขาทำอย่างนั้นได้ก็เพราะเขาไม่ได้คิดว่า กกต.เป็นศาล เป็นตำรวจ หรือเป็นพระเอก แล้วมองว่านักการเมืองเป็นอาชญากร และประชาชนเป็นคนโง่ซ้ำเห็นแก่เงินเหมือนอย่างบ้านเรา กกต.ประเทศเขาก็ไม่ได้มีข้าราชการประจำเป็นพันๆ คน เหมือนบ้านเรา พอถึงเวลาเลือกตั้งเขาก็สั่งให้ข้าราชการทั้งประเทศนั่นแหละช่วยดูแลเป็นหูเป็นตาแทน กกต.และอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน ไม่เห็นจำเป็นต้องใช้ กกต.จังหวัด หรือผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัดเลย มันก็เลยกลายเป็นมหกรรมการเลือกตั้งของคนทั้งประเทศ ไม่ใช่มีแต่ กกต.ส่วนกลาง และ กกต.จังหวัด หรือผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัด เหมือนอย่างที่ กรธ.ออกแบบแต่อย่างใด
 
นายคณิน ยังกล่าวด้วยว่า รัฐธรรมนูญซึ่งร่างโดย กรธ.ชุดเดียวกันนี้ เป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่เปลี่ยนถ้อยคำจากคำว่า "อำนาจหน้าที่" ซึ่งใช้กันมาตลอดทั้งในรัฐธรรมนูญในระบบกฎหมายและในระบบราชการไทย มาเป็น "หน้าที่และอำนาจ" ก็ไม่ทราบว่ามีเจตนาหรือมีความหมายอย่างไร แต่ที่แน่ๆ คือ เมื่อได้ตรวจสอบหน้าที่และอำนาจขององค์กรอิสระ และศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญแล้ว จะเห็นได้ว่าองค์กรเหล่านั้นจะมี "อำนาจ" ล้นเหลือ และมากกว่าในรัฐธรรมนูญปี 2550 ด้วยซ้ำ อย่างเช่น อำนาจออกคำสั่งระงับสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้สมัครคนใดคนหนึ่งเป็นการชั่วคราว เป็นระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี ซึ่งเป็นโทษที่แรงกว่าการให้ใบเหลือง เป็นต้น
 
ในขณะที่เมื่อดูในส่วนของ "หน้าที่" แล้วก็จะเห็นว่า กกต.เกือบจะไม่ต้องทำหรือรับผิดชอบอะไรเลย ในกรณีที่จะต้องเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับระบอบประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพของประชาชน เห็นมีแต่ท่องคาถาว่า "อย่าซื้อสิทธิขายเสียง" และจ้องจับผิดประชาชนแค่อย่างเดียว หรืออย่างในกรณีที่จะต้องจัดทำบัญชีรายชื่อของผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้ถูกต้องและพร้อมสำหรับการตรวจสอบและแก้ไขได้ตลอดเวลาก็เกิดปัญหาความยุ่งยากสับสนเดือดร้อนแก่ประชาชนทุกครั้ง ก็ไม่เห็นจะแก้ไขอะไรได้ หรืออย่างกรณีที่จะต้องอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนที่จะ ใช้สิทธิเลือกตั้งนอกภูมิลำเนาในวันเดียวกันทั่วประเทศ ก็ไม่เคยทำได้ แต่กลับไปใช้วิธีให้เลือกตั้งล่วงหน้า ซึ่งยิ่งสร้างปัญหายุ่งยากสับสนและเปิดช่องให้เกิดการทุจริตเลือกตั้งและโกงคะแนนเสียงกันมากยิ่งขึ้น
 
'สุริยะใส' ชี้ 4 จุดอ่อน 3 จุดแข็ง กฎหมายลูกพรรคการเมือง
 
ASTV ผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่านายสุริยะใส กตะศิลา รองคณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต และ ผอ.สถาบันปฏิรูปประเทศไทย (สปท.) กล่าวว่า เห็นว่า ร่าง พ.ร.ป. พรรคการเมือง มีทั้งจุดอ่อนและจุดแข็ง ที่ กรธ. ควรพิจารณาทบทวนและรับฟังทุกฝ่ายเพื่อปรับปรุงให้สมบูรณ์มากขึ้น โดยจุดอ่อนนั้น มีหลายประเด็น เช่น ประเด็นแรก เรื่องการกำหนดให้จ่ายค่าสมาชิกพรรคนั้นปีละ 100 นั้น ในทางปฏิบัติทำได้ยาก แม้ กรธ. จะมีเจตนาดีต้องการให้สมาชิกรู้สึกเป็นเจ้าของพรรค แต่ความเป็นเจ้าของพรรคควรอยู่ที่การออกแบบการมีส่วนร่วมของสมาชิกและสาขาพรรคในการกำหนดทิศทางพรรคน่าจะเหมาะสมกว่า แต่หากพรรคไหนจะเก็บค่าสมาชิกก็ให้เป็นเรื่องของแต่ละพรรคที่สามารถเขียนไว้ในข้อบังคับพรรคได้
       
นายสุริยะใส กล่าวว่า ประเด็นที่ 2 ในมาตรา 44 ของร่าง พ.ร.ป. พรรคการเมือง ที่ห้ามพรรคเรียกรับเงินในการแต่งตั้งรัฐมนตรีและข้าราชการ หากฝ่าฝืนโทษหนักถึงขั้นประหารชีวิตนั้น แม้เจตนาดีแต่อาจเปิดช่องให้กลั่นแกล้งกันได้ และที่สำคัญ เรื่องนี้ก็อยู่ในอำนาจ ป.ป.ช. ที่จะเข้ามาควบคุมตรวจสอบเอาผิดได้อยู่แล้ว ประเด็นที่ 3 กรธ. ยังไม่ส่งเสริมและเพิ่มบทบาทให้กับคณะกรรมการส่งเสริมความเป็นประชาธิปไตยในพรรค กรรมการจัดทำนโยบายพรรคและกรรมการคัดเลือกผู้สมัคร เพราะกรรมการทั้ง 3 ชุดนี้จะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนพรรคให้เป็นสถาบัน ไม่ใช่ตัดสินใจโดยเจ้าของพรรคเพียงไม่กี่คน ทำให้สาขาและสมาชิกพรรคไม่มีความหมายอะไร ประเด็นที่ 4 ควรทำให้กองทุนเงินอุดหนุนพรรคการเมือง มีบทบาทมากกว่านี้เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการทำให้พรรคเล็กเติบโตได้ในระยะยาว ที่ผ่านมา เงินกองทุนจะถูกจัดสรรไปให้เฉพาะพรรคที่มี ส.ส. เท่านั้น
       
ส่วนจุดเด่นนั้น นายสุริยะใส กล่าวว่า ก็มีหลายประเด็นน่าสนใจ เช่น ประเด็นแรก การควบคุมเงินทุนพรรคการเมือง ที่พยายามสร้างกลไกที่รัดกุมขึ้น แต่ กรธ. ต้องไม่ลืมว่าทุนก็มีการปรับตัวจับได้ไล่ทันยากขึ้น ลำพังแต่การคุมเงินบริจาคไม่พอ ต้องดูเม็ดเงินที่อยู่นอกระบบ ซึ่งอาจใช้ กลไกของ ปปง. ป.ป.ช. หรือ DSI เข้ามาช่วยอีกทาง ประเด็นที่ 2 กรธ. กำหนดให้การส่งผู้สมัคร ส.ส. ในระบบเขตต้องถามความเห็นจากสาขาพรรค ถือว่าเป็นกลไกใหม่ที่ดีขึ้น แต่ต้องเขียนให้ชัดเป็นรูปธรรมกว่านี้ เพราะกลไกนี้จะทำให้เกิดระบบไพรมารีโหวต (primary vote) ได้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์พรรคการเมืองไทย ประเด็นที่ 3 การกำหนดให้บัญชีผู้สมัครของพรรคคำนึงถึงสัดส่วนผู้แทนภาคและเพศชายหญิง จะทำให้บัญชีผู้สมัครเปิดกว้าง มีความเสมอภาคมากขึ้น ไม่ใช่แหล่งรวมของนายทุนพรรคเหมือนที่ผ่านมา
 
'ประชาธิปัตย์' ยันฝ่ายการเมือง ไม่ต้าน พ.ร.ป.พรรคการเมือง
 
เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ รายงานว่านายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ปรับแก้ร่างพรป.ว่าด้วยพรรคการเมืองหลังจากรับฟังความเห็นจากฝ่านพรรคการเมืองว่านับว่าเป็นเรื่องดีที่ กรธ. เปิดใจกว้างพร้อมที่จะปรับแก้บางส่วนตามที่พรรคการเมืองเสนอข้อคิดเห็นไปเพื่อให้กฎหมายสามารถปฏิบัติได้จริงให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายไม่เปิดโอกาสให้มีการเลี่ยงกฎหมายเกิดขึ้นทำให้กฎหมายมีความศักดิ์สิทธิ์และได้รับการยอมรับจากประชาชนมากขึ้น 
 
ทั้งนี้ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์เราอยากเห็นพรรคการเมืองเป็นพรรคของประชาชนไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่งหรือของครอบครัวใดครอบครัวหนึ่งรวมทั้งอยากเห็นพรรคการเมืองเป็นพรรคที่มีคุณลักษณะเป็นสถาบันทางการเมืองมากกว่าเป็นพรรคเฉพาะกิจซึ่งตนเห็นว่าพรรคการเมืองส่วนมากไม่ได้ต่อต้านกฎหมายฉบับนี้ หากแต่ท้วงติงและเสนอแนะข้อมูลที่เป็นประโยชน์เพื่อ ให้กฎหมายที่จะออกมามีผลบังคับใช้มีความครอบคลุมที่สมบูรณ์ 
 
นอกจากนี้นายองอาจกล่าวอีกว่าอยากฝากให้กรธ.ดูเนื้อหาสาระของมาตรา 44 ของร่างกฎหมายพรรคการเมืองด้วยว่าข้อห้ามไม่ให้พรรคการเมืองผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองหรือสมาชิกพรรคเรียกรับเงินเพื่อแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีหรือแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งต่างๆในหน่วยงานของรัฐนั้น ควรอยู่ในกฎหมายพรรคการเมืองหรือควรอยู่ในกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องกับการปราบปรามการทุจริตส่วนคนที่ไม่อยู่ในพรรคการเมืองไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคเช่นนายกรัฐมนตรีคนนอกรัฐมนตรีคนนอกซื้อขายตำแหน่งก็ถือว่าไม่เป็นความผิดตามมาตรา44ของกฎหมายพรรคการเมืองใช่หรือไม่ 
 
ที่กล่าวถึงเรื่องนี้เพราะผู้ฝ่าฝืนมาตรา 44 ต้องโทษจำคุกตั้งแต่ 5 ปีถึง 20 ปีจำคุกตลอดชีวิตหรือประหารชีวิตซึ่งเป็นบทลงโทษที่รุนแรงจึงอยากให้กรธ.พิจารณาให้ละเอียดรอบคอบครอบคลุมถึงผู้ที่ไม่อยู่ในพรรคการเมืองแต่ใช้อำนาจทางการเมืองเพื่อแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบด้วยเพื่อช่วยทำให้การเมืองโปร่งใสมากขึ้น
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net