จี้ ป.ป.ช.สอบ 'ศานิตย์' รับเงินเดือนบ.ไทยเบฟฯ ชี้คล้ายคดี 'สมัคร' ทำกับข้าวออกทีวี

ศรีสุวรรณ จรรยา ร้อง ป.ป.ช. สอบ พล.ต.ท.ศานิตย์ ผบช.น. กรณีรับเงินเดือนค่าที่ปรึกษา บ.ไทยเบฟฯ ยกเทียบเคียงได้กับกรณีของ สมัคร สุนทรเวช ที่ถูกศาลวินิจฉัยว่าเป็นลูกจ้างบริษัทเอกชนไม่ได้ จึงต้องพ้นจากตำแหน่ง เหตุจัดรายการทำอาหารและรับเงินตอบแทน

ที่มาภาพ เฟซบุ๊ก Srisuwan Janya 

19 ธ.ค. 2559 จากเมื่อวันที่ 13 ธ.ค.ที่ผ่านมา ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้เดินทางไปที่ สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน อาคาร B ศูนย์ราชการฯ เพื่อร้องเรียนกล่าวโทษต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อไต่สวน ตรวจสอบกรณี พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) และ สนช. รับเงินเดือนที่ปรึกษาจากบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ตั้งแต่ปี 2558 จนถึงปัจจุบัน เดือนละ 50,000 บาท มีความผิดต่อจริยธรรมและกฎหมาย ป.ป.ช.มาตรา 100 (4) และมาตรา 103 ด้วยหรือไม่อย่างไร โดยระบุว่า อาจเข้าข่ายขัดหรือแย้งต่อประมวลจริยธรรมของข้าราชการตำรวจและประมวลจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2550 เพราะอาจมีผลประโยชน์ทับซ้อนต่อการปฏิบัติหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมายอีกด้วย

ล่าสุดวันนี้ (19 ธ.ค.59)  มติชนออนไลน์ รายงานว่า ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ศรีสุวรรณ พร้อมด้วย สิระ เจนจาคะ อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปประเทศ (สปท.) ยื่นหนังสือต่อ ป.ป.ช. ให้ไต่สวน โดยเห็นว่าอาจเข้าข่ายกระทำผิดตาม พ.ร.บ.ป.ป.ช. พ.ศ.2542 มาตรา 103 ประกอบมาตรา 122 แห่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติฯ มาตรา 78 (16) (18) พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานและเจ้าหน้าที่รัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 6 และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการให้หรือรับของขวัญของเจ้าหน้าที่รัฐ พ.ศ.2544 ข้อ 7

ศรีสุวรรณ กล่าวว่า กรณีนี้สาธารณชนต่างวิพากษ์วิจารณ์กันโดยทั่วไปว่าเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสมและเข้าข่ายขัดหรือแย้งต่อประมวลจริยธรรมโดยชัดแจ้ง แต่ สตช.กลับพยายามช่วยเหลือ กลบเกลื่อนการกระทำดังกล่าว ทั้งๆ ที่เป็นหน่วยงานที่ต้องเป็นแบบอย่างที่ดีต่อสาธารณชนในการบังคับใช้กฎหมาย ดังนั้น เพื่อเร่งรัดขั้นตอนการดำเนินการกับกรณี พล.ต.ท.ศานิตย์ จึงยื่นเรื่องเพื่อให้ไต่สวนข้อเท็จจริงเพื่อลงโทษตามกฎหมาย ป.ป.ช.ต่อไป

ศรีสุวรรณ กล่าวอีกว่า เรื่องดังกล่าวอาจเทียบเคียงได้กับกรณีของ สมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ถูกศาลวินิจฉัยว่าเป็นลูกจ้างบริษัทเอกชนไม่ได้ จึงต้องพ้นจากตำแหน่ง เพราะไปจัดรายการทำอาหารและรับเงินตอบแทนมาเหมือนกัน อยากให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้อำนาจตามมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 ย้าย พล.ต.ท.ศานิตย์พ้นจากตำแหน่ง เหมือนกรณีที่ดำเนินการกับข้าราชการคนอื่นๆ ถ้าหาก พล.อ.ประยุทธ์ไม่ดำเนินการเรื่องนี้ จะยื่นเรื่องร้องเรียนต่อ พล.อ.ประยุทธ์ต่อไป เพราะหากไม่มีข้อยุติจะเป็นตัวอย่างที่ไม่ดี อาจกลายเป็นการรับส่วย โดยอ้างว่าเป็นค่าที่ปรึกษาได้

โดยก่อนหน้านี้ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ออกมาแถลงกรณีดังกล่าวว่าไม่เข้าข่ายต้องห้ามตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ 2547 มาตรา 78 (17) 

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 9 ธ.ค. ที่ผ่านมา ป.ป.ช. เปิดเผยการยื่นแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กรณีเข้ารับตำแหน่งใหม่ เมื่อวันที่ 13 ต.ค. 2559 จำนวน 31 ตำแหน่ง เข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 27 ต.ค. 2559 จำนวน 2 ตำแหน่ง และกรณีพ้นจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 27 ส.ค. ที่ผ่านมา อีกจำนวน 1 ตำแหน่ง โดยจำนวนนี้ มีกรณี พล.ต.ท.ศานิตย์ ซึ่ง ระบุว่ามีรายได้จากการเป็นที่ปรึกษาบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ตั้งแต่ปี 2558 ได้เงินเดือนเดือนละ 50,000 บาท จนส่งผลให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท