Skip to main content
sharethis

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติเผยวันพฤหัสบดีที่ 22 ธ.ค. นี้เป็นวันเหมายัน ซีกโลกเหนือกลางคืนยาวนาน - ส่วนข้อมูลจากกรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ กทม. พระอาทิตย์ขึ้น 06:37 น. ตกเวลา 17:56 น. รวมเวลากลางวัน 11 ชั่วโมง 19 นาที 

ขณะที่ในยุคโบราณ ผู้คนต่างกลัวว่าพระอาทิตย์จะไม่กลับมาอีก จึงต้องมีเทศกาลเอาใจพระเจ้า โดยชาวกรีกจะบูชาเทพเจ้าอพอลโล ชาวโรมันจะบูชาเทพเจ้าดาวเสาร์ ขณะที่เมื่อศาสนาคริสต์แพร่หลาย ก็มีการนำคริสต์มาสไปรวมกับงานเฉลิมฉลองวันเหมายันในความเชื่อเดิม

พระอาทิตย์ขึ้นที่ปากมูน อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี (แฟ้มภาพ)

20 ธ.ค. 2559 - ในวันที่ 22 ธันวาคมนี้ จะเป็นวันเหมายัน (เห-มา-ยัน) (Winter Solstice) เป็นวันที่ดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกและเฉียงไปทางทิศใต้มากที่สุด และตกทางทิศตะวันตกเฉียงไปทางทิศใต้มากที่สุด ส่งผลให้ทั้งซีกโลกเหนือมีช่วงเวลากลางวันสั้นที่สุดและกลางคืนยาวที่สุดในรอบปี โดยประเทศทางซีกโลกเหนือนับเป็นวันย่างเข้าสู่ฤดูหนาว ส่วนประเทศทางซีกโลกใต้จะเป็นวันที่ย่างเข้าสู่ฤดูร้อน เนื่องจากช่วงกลางวันจะยาวที่สุดในรอบปี

ในเว็บไซต์รายงานสภาพอากาศ AccuWeather ระบุว่า วันเหมายันในซีกโลกเหนือจะเริ่มในวันพุธที่ 21 ธันวาคม ตั้งแต่เวลา 05.44 น. ตามเวลา EST หรือ 10.44 น. ตามเวลามาตรฐานกรีนิช (GMT) หรือ 17.44 น. ตามเวลาท้องถิ่นของประเทศไทย ขณะที่สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติจะนับวันที่พระอาทิตย์ขึ้นถัดไปคือ 22 ธันวาคม เป็นวันเหมายันแทน

สำหรับซีกโลกเหนือวันเหมายันเป็นวันที่พระอาทิตย์ขึ้นในตำแหน่งที่เฉียงไปทางทิศใต้มากที่สุด เบรท แอนเดอร์สัน (Brett Anderson) นักอุตุนิยมวิทยาอาวุโสของ AccuWeather ระบุว่า แกนโลกเอียงทำมุม 23.5 องศาจากแนวดิ่ง ทำให้ซีกโลกเหนือและซีกโลกใต้ผลัดเปลี่ยนช่วงเวลาการรับแสงอาทิตย์และความอบอุ่น และไม่ใช่ระยะห่างของโลกกับดวงอาทิตย์ แต่เกิดจากความเอียงของแกนโลกต่างหากที่ทำให้เกิดฤดูหนาวและฤดูร้อน

 

กลางคืนยาวนาน ฤดูกาล และความเชื่อโบราณทั่วโลก

โดยในวันเหมายัน พื้นที่ในซีกโลกใต้ก็จะมีกลางวันที่ยาวนานกว่า 12 ชั่วโมง ในขณะที่ซีกโลกเหนือก็จะมีกลางคืนยาวนานกว่า 12 ชั่วโมง อย่างไรก็ตามสิ่งนี้ก็เป็นเหมือนแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ เพราะหลังจากวันเหมายัน สำหรับซีกโลกเหนือช่วงกลางคืนก็จะเริ่มสั้นลงๆ และช่วงกลางวันก็เริ่มจะยาวนานขึ้นๆ

"สิ่งนี้นับเป็นจุดสำคัญในเรื่องทิศทางเคลื่อนตัวของพระอาทิตย์" แอนโทนี อาเวนี (Anthony Aveni) ศาสตราจารย์ด้านดาราศาสตร์และมานุษยวิทยา และชนพื้นเมืองอเมริกันศึกษา แห่งมหาวิทยาลัยคอลเกต แห่งสหรัฐอเมริการะบุ

อาเวนีระบุว่า ในสังคมโบราณมีความตึงเครียดเกิดขึ้นเพราะกลัวว่าพระอาทิตย์จะไม่กลับมาอีก ทำให้คนในสมัยนั้นคิดว่าพวกเขาคงต้องทำอะไรบางอย่างเพื่อเอาใจพระเจ้า

ภาพพระเยซูประสูติและนมัสการของคนเลี้ยงแกะ (Adoration of the Shepherds) ภาพวาดเมื่อ ค.ศ. 1622 โดย  Gerard van Honthorst (ที่มา: Wikipedia/Google Art Project)

ตัวอย่างเช่น ในกรีกก็จะมีการบูชาเทพเจ้าอพอลโล ชาวอินคาในทวีปอเมริกาก็จะบูชาเทพอินติ (Inti) และชาวมายาก็จะบูชาเทพคินิช อะเฮา (Kinich Ahau) และในสัปดาห์หนึ่งของเดือนธันวาคม ชาวโรมันโบราณก็จะฉลองช่วงวันเหมายันด้วยการยกย่องเทพแห่งดาวเสาร์

และเมื่อศาสนาคริสต์แพร่หลาย การเฉลิมฉลองวันเหมายันก็เข้าไปร่วมอยู่ในคริสต์มาส อย่างเช่นช่วงเวลากำเนิดของพระเยซูก็ไม่ได้ตรงกับเดือนธันวาคมจริงๆ แต่มีการปรับเปลี่ยนเพื่อให้เข้ากับเทศกาลฉลองของฤดูกาลดังกล่าว

 

ประเพณีท้องถิ่นทั่วไทยในช่วงกลางคืนยาวนาน

​ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ในเดือนธันวาคมถึงมกราคม ซึ่งตรงกับเดือนอ้ายถึงเดือนยี่ (หรือเดือนสามเข้าเดือนสี่แบบปฏิทินภาคเหนือ) เป็นช่วงเข้าสู่ฤดูหนาวที่กลางคืนยาวนานกว่ากลางวัน แต่เดิมชาวบ้านจะเริ่มเกี่ยวข้าว และแยกข้าวเปลือกออกจากรวงข้าวหรือนวดข้าวเพื่อเก็บข้าวขึ้นยุ้งฉาง รวมทั้งเริ่มทำสวนและปลูกพืชล้มลุก ในภาคอีสานหลังเก็บเกี่ยวจะมีประเพณี "บุญคูนลาน" โดยนำข้าวเปลือกที่เก็บเกี่ยวได้มาให้พระสงฆ์สวดเจริญพระพุทธมนต์

ส่วนภาคเหนือชาวบ้านจะนำข้าวที่เก็บเกี่ยวใหม่ไปหุงถวายพระ หรือที่เรียกว่า "ทานข้าวใหม่" หรือบางบ้านก็จะถวายข้าวหลามหรือข้าวจี่ รวมทั้งถวายข้าวเปลือกเพื่อให้วัดเก็บข้าวไว้ใช้ในช่วงฤดูฝน นอกจากนี้จะมีประเพณี "ทานหลัวหิงไฟพระเจ้า" ด้วยการก่อกองไฟถวายภายในบริเวณวัด ตรงกับช่วงขึ้น 15 ค่ำเดือนยี่ หรือเดือน 4 เหนือ ซึ่งจะตรงกับวันที่ 12 มกราคม 2560

ส่วนในภาคใต้ที่นครศรีธรรมราช ในเดือนยี่ จะมีประเพณี "ให้ทานไฟ" โดยตั้งแต่เช้ามืดชาวบ้านจะร่วมกันก่อกองไฟถวายพระสงฆ์ และจะร่วมกันทำขนมเพื่อถวายพระ ขนมส่วนมากจะปรุงโดยใช้ไฟแรงและเป็นขนมพื้นบ้าน เช่น ขนมเบื้อง ขนมครก ขนมครกข้าวเหนียว ข้าวเกรียบปากหม้อ ขนมโค ขนมพิมพ์ ขนมจาก ขนมจู่จุน ข้าวเหนียวกวนทอด ปัจจุบันบางแห่งก็จะต้มน้ำชากาแฟ รวมทั้งขนมปังปิ้งด้วย

 

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติให้เหมายันปี 59 เริ่มที่ 22 ธันวาคม

ในเพจของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ศรัณย์  โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เปิดเผยว่าแต่ละวันดวงอาทิตย์จะขึ้นและตกในตำแหน่งต่างกันไป ในวันที่ 22 ธันวาคม 2559 ดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกเฉียงไปทางใต้มากที่สุด และตกทางทิศตะวันตกเฉียงไปทางใต้มากที่สุด ส่งผลให้ช่วงกลางวันจะสั้นและช่วงกลางคืนจะยาวนานที่สุดในรอบปี  ภาษาสันสกฤตเรียกว่า “วันเหมายัน (เห-มา-ยัน) (Winter Solstice) ดวงอาทิตย์จะขึ้นเวลาประมาณ 06:37 น. และจะตกลับขอบฟ้า เวลาประมาณ 17:56 น. (เวลา ณ กรุงเทพฯ) รวมระยะเวลากลางวันเพียง 11 ชั่วโมง 19 นาที เท่านั้น จะทำให้รู้สึกว่าท้องฟ้าจะมืดเร็วกว่าช่วงเวลาอื่นๆ ของปี ประเทศทางซีกโลกเหนือนับเป็นวันที่ย่างเข้าสู่ฤดูหนาว ส่วนประเทศทางซีกโลกใต้นับเป็นวันที่ย่างเข้าสู่ฤดูร้อน

โดยหลังจากวันเหมายันไปแล้วนั้น กลางวันจะกลับมายาวเท่ากับกลางคืนอีกครั้งในวันที่ 21 มีนาคม หรือวันวสันตวิษุวัต (วะ-สัน-ตะ-วิ-สุ- วัด) (Vernal Equinox) ซึ่งดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกและตกทางทิศตะวันตกพอดี ทำให้ช่วงเวลากลางวันเท่ากับกลางคืนเท่ากัน โดยซีกโลกเหนือจะถือว่าเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ ส่วนซีกโลกใต้จะเข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วง

จากนั้นช่วงกลางวันในซีกโลกเหนือจะยาวมากกว่ากลางคืนในวันที่ 21 หรือ 22 มิถุนายน เรียกว่าวันครีษมายัน (ครี-สะ- มา-ยัน) (Summer Solstice) ซึ่งทางซีกโลกเหนือจะเข้าสู่ฤดูร้อน ส่วนซีกโลกใต้จะเข้าสู่ฤดูหนาว และช่วงกลางวันและกลางคืนจะกลับมาเท่ากันอีกครั้งในวันที่ 23 กันยายน หรือวันศารทวิษุวัต (Autumnal Equinox) ซึ่งซีกโลกเหนือจะเข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วง ส่วนซีกโลกใต้จะเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ

 

เวลาพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตกทั่วไทยในวันเหมายัน

สำหรับเวลาพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตกในวันที่ 21 ธันวาคม 2559 นั้น เว็บไซต์กรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ รายงานดังนี้

กรุงเทพมหานคร ที่กรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ พระอาทิตย์ขึ้นเวลา 06:37 น. พระอาทิตย์ตกเวลา 17:56 น.
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี พระอาทิตย์ขึ้นเวลา 06:21 น. พระอาทิตย์ตกเวลา 17:33 น.
ภาคตะวันออก ที่ อ.คลองใหญ่ จ.ตราด พระอาทิตย์ขึ้นเวลา 06:23 น. พระอาทิตย์ตกเวลา 17:50 น.
ภาคกลาง ที่ อ.เมือง จ.นครสวรรค์ พระอาทิตย์ขึ้นเวลา 06:42 น. พระอาทิตย์ตกเวลา 17:54 น.
ภาคตะวันตก ที่ อ.แม่สอด จ.ตาก  พระอาทิตย์ขึ้นเวลา 06:50 น. พระอาทิตย์ตกเวลา 17:58 น.
ภาคเหนือ ที่ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ พระอาทิตย์ขึ้นเวลา 06:52 น. พระอาทิตย์ตกเวลา 17:52 น.
ภาคใต้ฝั่งตะวันออก ที่ อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช พระอาทิตย์ขึ้นเวลา 06:29 น. พระอาทิตย์ตกเวลา 18:07 น.
ภาคใต้ฝั่งตะวันตก ที่แหลมพรหมเทพ จ.ภูเก็ต พระอาทิตย์ขึ้นเวลา 06:35 น. พระอาทิตย์ตกเวลา 18:15 น.

สำหรับเวลาพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตกในวันที่ 22 ธันวาคม 2559 นั้น เว็บไซต์กรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ รายงานดังนี้

กรุงเทพมหานคร ที่กรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ พระอาทิตย์ขึ้นเวลา 06:37 น. พระอาทิตย์ตกเวลา 17:56 น.
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี พระอาทิตย์ขึ้นเวลา 06:21 น. พระอาทิตย์ตกเวลา 17:34 น.
ภาคตะวันออก ที่ อ.คลองใหญ่ จ.ตราด พระอาทิตย์ขึ้นเวลา 06:24 น. พระอาทิตย์ตกเวลา 17:50 น.
ภาคกลาง ที่ อ.เมือง จ.นครสวรรค์ พระอาทิตย์ขึ้นเวลา 06:42 น. พระอาทิตย์ตกเวลา 17:54 น.
ภาคตะวันตก ที่ อ.แม่สอด จ.ตาก  พระอาทิตย์ขึ้นเวลา 06:50 น. พระอาทิตย์ตกเวลา 17:58 น.
ภาคเหนือ ที่ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ พระอาทิตย์ขึ้นเวลา 06:53 น. พระอาทิตย์ตกเวลา 17:53 น.
ภาคใต้ฝั่งตะวันออก ที่ อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช พระอาทิตย์ขึ้นเวลา 06:30 น. พระอาทิตย์ตกเวลา 18:08 น.
ภาคใต้ฝั่งตะวันตก ที่แหลมพรหมเทพ จ.ภูเก็ต พระอาทิตย์ขึ้นเวลา 06:35 น. พระอาทิตย์ตกเวลา 18:16 น.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net