ชนเผ่าพื้นเมืองร่วมขยับหลักสูตร เริ่มเรียนสองภาษา-ปมไร้สัญชาติยังกีดกันศึกษาต่อ

การเรียนแบบทวิภาษา คือ การเรียนภาษาแม่(ภาษาท้องถิ่น)ร่วมกับกับภาษาไทยเพื่อแก้ปัญหาการเรียนภาษาไทยให้เด็กชนเผ่าพื้นเมืองเพื่อพัฒนาความสามารถด้านการคิดและวิเคราะห์ ขณะที่เด็กชนเผ่าพื้นเมืองหลายๆ พื้นที่มีปัญหาไม่ได้รับสัญชาติซึ่งเป็นอุปสรรคในการศึกษาต่อ

เมื่อวันที่ 17 ธ.ค.2559 ณ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ เครือข่ายการศึกษาชนเผ่าพื้นเมือง ได้จัดเวทีเสวนา “รูปแบบการศึกษาที่เหมาะสมสำหรับชนเผ่าพื้นเมือง” และ เวทีเสวนา “แนวทางการสนับสนุนการศึกษาชนเผ่าพื้นเมือง” ในงานมหกรรมการศึกษาชนเผ่าพื้นเมือง: หลากหลายพริกเพื่อพลิกการเรียนรู้ เพื่อนำเสนอประสบการณ์การจัดการศึกษาบนฐานชุมชนอย่างมีส่วนร่วมสำหรับกลุ่มเด็กและเยาวชน

ภาษาไทยกลาง ปัญหาการสื่อสารในชั้นเรียน

“เริ่มต้นจากชนเผ่าแต่ละชนเผ่ามีปัญหาจากการเข้าโรงเรียนเด็กจะพูดแต่ภาษาของตัวเอง ทำให้ไม่อยากมาโรงเรียนเพราะครูพูดได้แต่ภาษาไทย” วรรณา เทียนมี ผู้อำนวยการมูลนิธิภาษาศาสตร์ประยุกต์

“ตอนเข้าอนุบาล ไม่เข้าใจที่เพื่อนและครูพูดภาษาไทยเลย คุยกันไม่รู้เรื่อง ไม่อยากไปโรงเรียน” อรพิน เลิศสินชัยสกุล นักเรียนชั้นประถมศึกษา ชนเผ่าคะฉิ่น

หน่อแอริ ทุ่งเมืองทอง ประธานเครือข่ายการศึกษาชนเผ่าพื้นเมือง ให้ความเห็นว่า เมื่อก่อนการศึกษาในชนบท การเรียนเริ่มแรกคือการเรียนกับพ่อแม่ เรียนรู้ภาษาแม่ เรียนรู้การทำกิน เรียนรู้วัฒนธรรมและรากเหง้าของตนเอง แต่ถ้าเราต้องการเรียนรู้มากขึ้นกว่าเดิมจำเป็นต้องรู้ภาษาที่มากกว่าภาษาแม่ เป็นภาษากลางที่ใช้สื่อสารกัน นั่นคือภาษาไทย  ในชั้นเรียนอนุบาลครูจะบังคับให้เด็กพูดภาษาไทยเพราะครูพูดภาษาถิ่นไม่ได้ มีปัญหาการสื่อสารและการเรียนรู้มาก จึงมีการออกแบบหลักสูตรการเรียนการสอนให้มีครูชนเผ่าเข้ามาช่วยสอนเพื่อพัฒนาการสื่อสารกับเด็ก และนำไปพัฒนาการเรียนรู้เรื่องอื่นๆ ให้มากขึ้น แต่ปัจจุบันจำนวนครูชนเผ่ายังมีจำนวนน้อย ในส่วนของข้าราชการครูที่ได้รับการบรรจุนั้นไม่รู้ความแตกต่างทางวัฒนธรรม ได้แต่สอนไปตามหน้าที่และนโยบาย ขาดความคำนึงถึงวัฒนธรรมในชนเผ่า

การจัดการเรียนแบบทวิภาษา ทางแก้การเรียนภาษาไทยในนักเรียนชาติพันธุ์

นอกจากภาษาไทยที่เป็นภาษาราชการแล้วยังมีภาษาถิ่นอีกมากกว่า 30 ภาษาในประเทศไทยที่กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ใช้ในชีวิตประจำวันและสืบทอดต่อกันมาเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น การจัดการเรียนแบบทวิภาษาหรือไบลิงกวล (Bilingual) ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาการเรียนภาษาของนักเรียนชาติพันธุ์ที่ไม่ได้ใช้ภาษาไทยเป็นภาษาแม่ เพื่อเตรียมความพร้อมทางภาษาให้นักเรียนเหล่านี้เข้าสู่ระบบการเรียนรู้ในกระแสหลักได้เร็วขึ้น

การจัดการเรียนแบบทวิภาษาในช่วงแรกจะเริ่มเรียนด้วยภาษาถิ่น (ภาษาแม่) และใช้ภาษาถิ่นในการสอน รวมถึงใช้ครูที่ใช้ภาษาถิ่นด้วย ขณะเดียวกันก็จะค่อยๆ สอนภาษาไทยเข้าไปเริ่มจากการฟัง พูด อ่านและเขียน เมื่อเด็กเข้าใจภาษาไทยดีแล้วจะเริ่มสอนโดยใช้ภาษาไทยเหมือนเด็กทั่วไป ซึ่งความคุ้นเคยของภาษาของเด็กแต่ละชาติพันธุ์มีผลต่อการเรียนรู้และการพัฒนาความสามารถด้านการคิด วิเคราะห์ เพราะเด็กจะไม่สามารถพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ได้ดีหากไม่ใช่ภาษาที่คุ้นเคย

“การสอนภาษาไทยสำหรับเด็กที่เป็นชนเผ่า ต้องเรียนอ่านเขียนภาษาถิ่นก่อน โดยอนุบาล 1 ใช้ภาษาถิ่นอย่างเดียว เพื่อพัฒนาสติปัญญา ร่างกาย จิตใจ และสังคม สื่อที่ใช้ต้องเป็นเรื่องหรือวิถีชีวิตที่เด็กคุ้นชิน เพื่อทำให้เขาอยากพูด เพราะเป็นภาษาที่เด็กถนัด ส่วนภาษาไทยเริ่มเข้ามาในเทอมที่สอง ซึ่งเริ่มสอนเฉพาะการฟังและสอนคำศัพท์ก่อน เมื่อเรียนถึงอนุบาล 2 เด็กจะรู้จักคำศัพท์ประมาณพันคำ เมื่อขึ้นชั้น ป.1 ภาษาไทยเข้ามามีส่วนในการเรียนการสอนเพิ่มขึ้น กระบวนการเรียนรู้ภาษาไทยในปีนี้เป็นการแจกแจงรูปผสมคำ มีการใช้คำศัพท์ยากๆ และศัพท์วิชาการในการเรียนเข้ามา แต่ยังใช้ครูท้องถิ่นในการสอน เพราะเมื่อเขาเรียนคำศัพท์วิชาการที่มีความหมายในภาษาถิ่นแล้ว เมื่อเรียนในภาษาไทยเขาจะสามารถเชื่อมโยงความหมายของคำตอนเรียนภาษาไทยและทำให้เข้าใจมากขึ้น  ในชั้น ป.2 จะเรียนเป็นภาษาไทยเยอะขึ้น และภาษาถิ่นลดลง ซึ่งวิธีการนี้เราทำเพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องเด็กอ่านออกเขียนได้” วรรณา เทียนมี ผู้อำนวยการมูลนิธิภาษาศาสตร์ประยุกต์กล่าว

“การสอนของครูชนเผ่าในช่วง อนุบาล1 จะสอนโดยใช้ภาษาถิ่นเพียงอย่างเดียว เมื่อขึ้นอนุบาล2 จะเริ่มใช้ภาษาไทยเข้ามาสอนโดยใช้หลัก เช้า 3 คำ เย็น 3 คำ และใช้เทคนิคการสอน TPR (Total Physical Response การสอนโดยใช้ท่าทาง ประสานการฟังกับการเคลื่อนไหวร่างกาย) ผสมกับสื่อการสอน “สื่อภาพใหญ่” นักเรียนดูภาพและอธิบายภาพที่เห็นตามความเข้าใจของนักเรียน” ปรียาพร สายชลค้ำ ครูภาษากระเหรี่ยง โรงเรียนบ้านพุย จ.เชียงใหม่อธิบาย

แนวทางการจัดการศึกษาชนเผ่าพื้นเมืองต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย

จังหวัดเชียงใหม่ มียุทธศาสตร์ปฏิรูปการศึกษาปี 2559-2562 ระยะเวลา 4 ปี แผนนี้ดูแลการศึกษาตลอดชีวิต ทั้งในและนอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัยตั้งแต่ปฏิสนธิจนเสียชีวิต การศึกษาของชนเผ่าพื้นเมืองเป็นหนึ่งในแผนยุทธศาสตร์
ชนเผ่าที่มีภาษาถิ่นของเขาเอง เมื่อเด็กเข้าโรงเรียนจะมีการสอนเป็นสอนภาษาไทยซึ่งมีปัญหาในการสื่อสาร ทำให้ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาย่ำแย่ เด็กอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้

“แต่ในวันนี้พี่น้องชนเผ่าร่วมกับแผนปฏิรูปการศึกษาจังหวัดเชียงใหม่จะจัดให้มีครูท้องถิ่นเข้ามาสอนในโรงเรียน เช่น โรงเรียนที่มีชนเผ่าปกากะญอ ก็จัดให้มีครูปกากะญอเข้าไปสอน โดยเชื่อมโยงภาษาถิ่นกับภาษาไทยในการเรียนการสอน  และใช้การศึกษาบนฐานชุมชน ประเพณีของแต่ละชนเผ่าเข้ามาในหลักสูตรการเรียนการสอน จากเดิมที่การเข้าเรียนโรงเรียนรัฐบาลจะขาดความเชื่อมโยงระหว่างการศึกษากับวิถีชีวิต” ไพรัช ใหม่ชมภู รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่กล่าว

แนวทางของการศึกษาชนเผ่าพื้นเมืองต้องทำควบคู่ทั้งในระดับนโยบายส่วนกลางและท้องถิ่น โดยความคิดต้องออกมาจากคนในท้องถิ่น เพื่อตอบสนองความต้องการท้องถิ่นจริงๆ และทุกสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด(กศจ.) ต้องร่วมมือกัน

“การผลิตครูเพื่อตอบสนองความต้องการของท้องถิ่น โดยผ่านหลักสูตรครูท้องถิ่น ซึ่งทาง มศว.กำลังร่างหลักสูตรอยู่นั้น อยากให้มีการวิพากษ์หลักสูตรเพื่อจะได้มาจากความต้องการของคนในพื้นที่จริงๆ  การศึกษาสำหรับชนเผ่าไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ไม่ได้หมายความว่าเป็นไปไม่ได้ หากได้รับความร่วมมมือจากหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง” สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์ วิทยาลัยโพธิวิชชาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒชี้แจง

สินอาจ  ลำพูนพงษ์ อดีตผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่กล่าวว่า อย่ามองว่าเป็นความท้าทายสำหรับชนเผ่าแต่เป็นปัญหาพื้นฐานของประเทศ  โรงเรียนที่อยู่ไกลไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวก โรงเรียนเหล่านี้ไม่มีครูอยากมาสอน มีความเหลื่อมล้ำ หลักสูตรและนโยบายก็มีปัญหา

“ปัญหาที่สำคัญคือ ครูที่ไปสอนเด็กชนเผ่าไม่เข้าใจว่าเด็กเหล่านี้ต้องใช้วิธีการสอนแบบพิเศษ  เป็นครูจบมาเก่งแต่มาสอนเด็กชนเผ่าไม่ได้ เพราะครูไม่ได้รับการเตรียมพร้อมให้มาสอนเด็กชนเผ่า รัฐจึงต้องเตรียมการอบรมพิเศษ จัดหาอุปกรณ์พิเศษ มีเงินพิเศษให้กับครูที่จะสอนเด็กชนเผ่าด้วย” สินอาจกล่าวเพิ่มเติม

ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ เครือข่ายการศึกษาทางเลือกให้ความเห็นว่า ในส่วนการศึกษาชนเผ่านั้นมีความหลากหลายมาก สิ่งที่จะทำให้เป็นจริงได้ในตอนนี้ คือ ชนเผ่าพื้นเมืองเองต้องจัดทำหลักสูตรที่เหมาะสมกับเรียนรู้ของชนเผ่า ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้งนักวิชาการ ภาคประชาสังคม เครือข่ายที่ทำเรื่องการศึกษา และรัฐต้องเข้ามาสนับสนุนหลักสูตรที่สอดคล้องกับชนเผ่าพื้นเมือง ทั้งยังต้องมีการผลักดันประเด็นนี้เข้าสู่นโยบายการปฏิรูปการศึกษา ซึ่งการรวมตัวเป็นโรงเรียนบนพื้นที่สูงมาร่วมขับเคลื่อนเป็นภาคีการศึกษาถือเป็นการผลักดันอีกช่องทางหนึ่ง ในระดับสากลมีการรับรองสิทธิชนเผ่าและไทยก็ได้เซ็นลงนามด้วย แต่ไม่ได้ทำอะไร เพราะผู้มีอำนาจไม่ฟังเสียงชนเผ่าและมองว่าชนเผ่าเป็นพลเมืองชั้นสอง

ไม่มีสัญชาติ อุปสรรคในการเรียนต่อและตอกย้ำความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

ถึงแม้จะมีการศึกษาแบบทวิภาษาเข้ามาช่วยให้การเรียนรู้ของเด็กชนเผ่าสามารถเรียนรู้หลักสูตรการเรียนที่เป็นภาษาไทยกลางได้มากขึ้น เด็กหลายคนมีความต้องการศึกษาต่อในระดับชั้นที่สูงขึ้นหรือจนถึงระดับมหาวิทยาลัย แต่ความคิดนั้นอาจกลายเป็นเพียงความฝันที่ไม่เป็นจริง เพราะมีปัญหาไม่ได้รับสัญชาติไทย

“ชนเผ่าขมุย้ายมาจากประเทศลาว มาอยู่ที่บ้านห้วยเอียน อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย พ่อแม่พาลูกอพยพมาตั้งแต่แบเบาะ พยายามขอสัญชาติมาเป็นสิบปีแต่ยังไม่ได้ มีปัญหาหลายอย่าง ไปที่อำเภอเขาบอกให้รอ บางครั้งต้องขอให้ผู้ใหญ่บ้านพาไป ต้องมีค่าใช้จ่าย ทั้งค่าเดินทาง ค่าดำเนินการต่างๆ บางครอบครัวไม่มีเงินก็ไม่ได้ แม้ตอนนี้มีบัตรคนต่างด้าว บัตรหมายเลขศูนย์ แต่ก็ใช้ไปเรียนต่อไม่ได้” อนุชา ชนเผ่าขมุ อ.เวียงแก่นจ.เชียงราย

เช่นเดียวกับเด็กๆ ลีซูที่บ้านใหม่สามัคคี อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน หลายคนยังไม่ได้รับสัญชาติ ทำให้ท้อ และขาดโอกาสในการเรียนต่อ

นอกจากนี้ การที่โรงเรียนบนดอยครูไม่พอ สื่อการสอนไม่มี อาคารเรียนไม่พร้อม และบางแห่งกำลังจะถูกยุบเพราะมีขนาดเล็ก สวนทางกับการจัดการศึกษาในเมืองที่มีความพร้อมมากกว่าขณะที่ต้องสนองต่อนโยบายการประเมินคุณภาพของกระทรวงเหมือนๆ กัน ทำให้เห็นความเหลื่อมล้ำที่ชัดเจน

“การศึกษาที่เหมาะสม ควรนำคนเรียนและครูระดับปฏิบติการณ์ไปพูดคุยมากกว่าการที่ผู้จัดทำนโยบายคิดเอง เพื่อป้องกันความเหลื่อมล้ำ และเรื่องสัญชาติอุปสรรคในการเรียนต่อ อยากให้คนที่มีสัญชาติและไม่มี มีสิทธิได้เรียนเท่าเทียมกัน” ชัยภูมิ ป่าแส เครือข่ายเยาวชนต้นกล้าชนเผ่าพื้นเมือง

ขณะที่ผู้เข้าร่วมชนเผ่าม้งแสดงความคิดเห็นว่า ระบบการศึกษานั้นล้มเหลวและเกิดความเข้าใจที่ผิดพลาด ดังนั้น ก่อนจะทำหลักสูตรในท้องถิ่น ควรทำหลักสูตรให้ครูอาจารย์เข้าใจความหลากหลายของชาติพันธุ์และสร้างความเข้าใจการเรียนรู้นอกระบบ

เคน แค้มป์ นักวิชาการอิสระ แสดงความเห็นต่อว่า ประเทศไทยมีความพยายามปฏิรูปการศึกษาตั้งแต่ปี 2521 ยังไม่ประสบความสำเร็จ มีแผนแต่ไม่สามารถปฏิบัติได้ จะทำอย่างไรให้ทุกคนเข้าถึงและมีความเท่าเทียมในการศึกษาที่เป็นสิทธิของทุกคน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท