Skip to main content
sharethis
 
จังหวัดลำพูนเปิดโครงการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง
 
ที่หอประชมองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสำพูน ได้จัดโครงการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง เพื่อส่งเสริมให้ความรู้ด้านแรงงาน และสร้างความรัก ความสามัคคี ให้เกิดขึ้นในสถานประกอบกิจการ โดยมีนายมนัส อ่ำทอง รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน เป็นประธาน
 
นางวันทนา จันทร์เกตุ สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดลำปาง ผู้แทนคณะทำงานศูนย์ปฏิบัติการแรงงานสัมพันธ์ภาคเหนือ กล่าวว่า การจัดงานในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้ความรู้ ความเข้าใจด้านแรงงานที่ถูกต้อง และเสริมสร้างแรงงานสัมพันธ์ โดยมุ่งเน้นการทำงานเชิงรุกในการเสริมสร้างความปรองดองสมานฉันท์ลดความขัดแย้งระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างในสถานประกอบกิจการ สร้างความรักความสามัคคี ให้กับนายจ้างกับลูกจ้าง ในการร่วมสร้างสรรค์เศรษฐกิจของประเทศใน ป้องกันปัญหาด้านแรงงาน รวมทั้งเป็นการสร้างความเชื่อมั่นและบรรยากาศการลงทุนของประเทศให้มากขึ้น โดยกิจกรรมในงานประกอบด้วย การร่วมสานดวงใจเป็นหนึ่งเดียวของนายจ้าง ลูกจ้าง และผู้ร่วมงาน กล่าวรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณและถวายความอาลัย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช การจัดนิทรรศการเทิดพระเกียรติ การรับบริจาคโลหิต การจัดนิทรรศการของสถานประกอบการกิจการ การให้บริการของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงาน การจำหน่ายสินค้าราคาถูกและการบรรยายพิเศษเรื่อง “แรงงานสัมพันธ์ 4.0 การอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข นายจ้างลงทุน ลูกจ้างลงแรง “ โดยมีผู้เข้าร่วมโครงการฯ ประกอบด้วย นายจ้าง ลูกจ้าง นักเรียน นักศึกษา เจ้าหน้าที่จากภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนทั่วไป จำนวน 500 คน
 
 
พาณิชย์เผยยอดจดทะเบียนเลิกประกอบธุรกิจ เดือน พ.ย.59 เพิ่ม 51%
 
นางสาวบรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า ในเดือนพฤศจิกายน 2559 มีผู้ประกอบธุรกิจ ยื่นขอจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนบริษัทจัดตั้งใหม่ทั่วประเทศ 5,799 ราย เมื่อเทียบกับเดือนตุลาคม 2559 ที่ผ่านมา ซึ่งมีจำนวน 5,092 ราย โดยเพิ่มขึ้น 707 ราย คิดเป็น 14% และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีจำนวน 4,520 ราย เพิ่มขึ้น 1,279 ราย คิดเป็น 28%
 
ขณะที่มูลค่าทุนจดทะเบียนจัดตั้งใหม่เดือนพฤศจิกายน 2559 มีจำนวนรวม 16,004 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 1,284 ล้านบาท คิดเป็น 9% เมื่อเทียบกับเดือนตุลาคม 2559 ซึ่งมีจำนวน 14,720 ล้านบาท และมีมูลค่าเพิ่มขึ้น 280 ล้านบาท คิดเป็น 2% เมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2558 ซึ่งมีจำนวน 15,724 ล้านบาท
 
ส่วนจดทะเบียนเลิกในเดือนพฤศจิกายน 2559 มีจำนวน 2,397 ราย เมื่อเทียบกับเดือนตุลาคม 2559 ที่ผ่านมา ซึ่งมีจำนวน 1,588 ราย โดยเพิ่มขึ้น 809 ราย คิดเป็น 51% และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีจำนวน 2,722 ราย ลดลง 325 ราย คิดเป็น 12% และมูลค่าทุนจดเลิก เดือนพฤศจิกายน 2559 มีจำนวนรวม 8,229 ล้านบาท ลดลง จำนวน 5,758 ล้านบาท คิดเป็น 41% เมื่อเทียบกับเดือนตุลาคม 2559 ซึ่งมีจำนวน 13,987 ล้านบาท และมีมูลค่าลดลง 79,164 ล้านบาท คิดเป็น 91% เมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2558 ซึ่งมีจำนวน 87,393 ล้านบาท ผลจากผู้ค้าฉลากยกเลิก
 
อย่างไรก็ดี ภาพรวมของการจดทะเบียนการจัดตั้งนิติบุคคลช่วง 11 เดือนแรก (มกราคม-พฤศจิกายน 2559) จำนวน 59,878 ราย เพิ่มสูงขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2558 (มกราคม-พฤศิกายน 2559) คิดเป็น 5% โดยเป็นผลมาจากการจดทะเบียนธุรกิจร้านขายทองที่รัฐ มีนโยบายส่งเสริมให้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล มีจำนวนสูงถึง 1,341 ราย ในปีนี้ ซึ่งจะได้รับสิทธิประโยชน์ด้านอัตราภาษีมากกว่าผู้ประกอบการที่เป็นบุคคลธรรมดา ส่วนจดเลิก ช่วง 11 เดือน (มกราคม-พฤศจิกายน 2559) จำนวน 15,820 ราย ลดลง จากช่วงเดียวกันของปี 2558 (มกราคม-พฤศิกายน 2559) คิดเป็น 6%
 
สำหรับประเภทธุรกิจที่จดทะเบียนจัดตั้งสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจร้านขายปลีกเครื่องประดับ จำนวน 803 ราย ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 649 ราย ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 351 ราย ธุรกิจภัตตาคารและร้านอาหาร จำนวน 120 ราย และธุรกิจให้คำปรึกษาด้านการจัดการ จำนวน 115 ราย
 
ส่วนห้างหุ้นส่วนบริษัทจดทะเบียนจัดตั้งทั้งสิ้น จำนวน 1,355,900 ราย มีมูลค่าทุนจดทะเบียนรวม 20.42 ล้านล้านบาท โดยมีห้างหุ้นส่วนบริษัทที่ดำเนินกิจการอยู่ทั่วประเทศ จำนวน 646,460 ราย มูลค่าทุนจดทะเบียน 15.77 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นบริษัทจำกัด 466,230 ราย บริษัทมหาชนจำกัด 1,152 ราย และ ห้างหุ้นส่วนจำกัด/ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล 179,078 ราย
 
นอกจากนี้ มาตรการกระตุ้นการลงทุนภาครัฐในโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม และการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว ยังส่งผลดีต่อธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว เช่น ธุรกิจภัตตาคาร ร้านอาหาร ให้มีจำนวนการจดทะเบียนจัดตั้งเพิ่มสูงขึ้นในปีนี้ และคาดว่าภาพรวมการจดทะเบียนจัดตั้งทั้งปีจะสูงประมาณ 63,000-65,000 รายได้
 
ส่วนแนวโน้มการจดทะเบียนธุรกิจในปี 2560 ยังคงตั้งเป้าหมายการจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคล เฉลี่ยได้สูง 65,000 รายใกล้เคียงกับปีนี้ เนื่องจากรัฐบาลได้ผลักดันให้เข้ามาสู่ระบบนิติบุคคลคนเดียว นโยบายการสนับสนุนจากภาครัฐ และคาดว่าร้านขายทอง ร้านขายยาที่จะเข้าระบบก็จะทำให้การจดทะเบียนเพิ่มขึ้นด้วย
 
 
เครือข่ายองค์กรประชากรข้ามชาติแถลงรายงานสถานการณ์การโยกย้ายถิ่นฐานสากล พร้อมจัดเสวนาแนวทางจัดการต่อผู้โยกย้ายถิ่นฐานในไทย
 
เครือข่ายองค์กรที่ทำงานด้านประชากรข้ามชาติแถลงรายงานสถานการณ์การโยกย้ายถิ่นฐานสากล ปี 2559 และเสวนาในหัวข้อแนวทางการจัดการคนย้ายถิ่น แรงงานข้ามชาติ และผู้อพยพลี้ภัยในประเทศไทย “ไปไม่สุด หยุดไม่ได้ ไกลเกินถอย” เนื่องในวันผู้โยกย้ายถิ่นฐานสากล ประจำปี 2559 ที่ ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
 
นายอดิศร เกิดมงคล จากเครือข่ายองค์กรที่ทำงานด้านประชากรข้ามชาติ เผยถึง 5 สถานการณ์หลักการโยกย้ายถิ่นฐานตลอดปี 2559 ที่เกิดขึ้นในไทย ประกอบด้วย นโยบายการจัดระบบแรงงานข้ามชาติ ปี 2559 การเลื่อนขั้นจากรายงานด้านการค้ามนุษย์ของสหรัฐไปเป็นบัญชีประเภท 2 ที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ การจัดการประเด็นโรฮิงญา และผู้ย้ายถิ่นเพื่อแสวงหาที่ลี้ภัยของไทย การเดินทางเยือนไทยของนางออง ซาน ซู จี และการลงนามใน MoU 3 ฉบับ และ การคุ้มครองแรงงานข้ามชาติ
 
การเสวนาครั้งนี้ พูดคุยถึงประเด็นที่น่าสนใจอีกหลายเรื่อง เช่น การปกป้องคุ้มครองสิทธิแรงงานบนเรือประมง ซึ่งถือเป็นหนึ่งในวาระแห่งชาติภายใต้รัฐบาลชุดปัจจุบัน การปกป้องคุ้มครองแรงงานที่ทำงานในบ้าน โดยเฉพาะเรื่องสิทธิและสวัสดิการพื้นฐานที่แรงงานพึงได้รับ นโยบายทางเลือกอื่นที่นอกเหนือจากการกักขังผู้ลี้ภัย ทั้งผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่พักพิงชั่วคราว 9 แห่งในจังหวัดชายแดนไทย-เมียนมาร์ ผู้ที่อาศัยอยู่ในเขตเมือง และผู้ที่ถูกกักขังเพื่อรอการส่งตัวไปยังประเทศที่สาม และทางเลือกในการจัดการการโยกย้ายถิ่นฐานไม่ปกติของชาวโรฮิงญา โดยเฉพาะเหตุการณ์ความรุนแรงในรัฐยะไข่ ซึ่งอาจส่งผลให้ชาวโรฮิงญาลี้ภัยเข้าไทยอีกครั้งในปีหน้า
 
 
กรมการจัดหางาน คาดปีหน้าเตรียมส่งแรงงานไทยไปทำงานเกาหลีช่วง ก.พ. 2560 หลังผ่านการทดสอบทักษะและภาษาเผย 2 ปี ส่งคนไทยไปทำงานกว่า 6.1 หมื่นคน
 
เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. นายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล รองอธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า จากที่กรมฯได้เปิดทดสอบภาษาเกาหลีและทักษะการทำงาน (Point System) ครั้งที่ 1 เพื่อหาผู้ที่สนใจสมัครไปทำงานที่สาธารณรัฐเกาหลีตามระบบ EPS ขณะนี้มีผู้ผ่านการทดสอบจำนวน 1,200 คน ในประเภทกิจการเกษตรและปศุสัตว์ 900 คน กิจการก่อสร้าง 300 คน และวานนี้ (15 ธ.ค.59) มีผู้มารายงานตัวพร้อมยื่นเอกสารเพื่อจัดทำรายชื่อให้นายจ้างเกาหลีคัดเลือกจำนวน 1,191 คน โดยคาดว่าในปีนี้จะสามารถจัดส่งแรงงานไทยให้ไปทำงานได้ช่วงเดือน ก.พ.60
 
อย่างไรก็ตามการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานที่สาธารณรัฐเกาหลี เดิมใช้วิธีการสอบผ่านความสามารถภาษาเกาหลี (EPS-TOPIK) เพียงอย่างเดียว แต่ในปี 59 เกาหลีได้ปรับระบบการคัดเลือกแรงงานต่างชาติด้วยระบบ (Point System) ซึ่งเป็นการทดสอบความสามารถภาษาเกาหลี ด้วยระบบคอมพิวเตอร์ และใช้การคัดเลือกจากคะแนนรวมในภาคทฤษฎี ทดสอบภาษาเกาหลี และภาคปฏิบัติคือ การทดสอบสมรรถภาพร่างกาย ทดสอบทักษะพื้นฐาน และสัมภาษณ์
 
รองอธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยอีกว่า ตั้งแต่ปี 47 จนถึงเมื่อวันที่ (30 พ.ย.59) ขณะนี้กรมฯได้จัดส่งแรงงานไทยไปทำงานที่เกาหลีตามระบบ EPS แล้วจำนวนทั้งสิ้น 61,504 คน โดยส่วนใหญ่อยู่ในประเภทกิจการอุตสาหกรรม รองลงมาเกษตร ปศุสัตว์ และก่อสร้างตามลำดับ
 
 
ก.แรงงาน ดูแลลูกจ้าง ‘เหมืองอัครา’ หาตำแหน่งงาน-ฝึกอาชีพ-คุมจ่ายเงินชดเชย
 
เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม นายวรานนท์ ปีติวรรณ รองปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า จากกรณีที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ออกคำสั่งที่ 72/2559 ให้ระงับการประกอบกิจการของเหมืองแร่ทองคำตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2559 นั้น ทำให้บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร ผู้ประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำได้ทยอยลดจำนวนพนักงานลงตั้งแต่กลางปีที่ผ่านมา โดยจะแล้วเสร็จภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2560 กระทรวงแรงงานได้เข้าไปดูแลพนักงานที่ได้รับผลกระทบ และได้ติดตามมาตลอดเพื่อให้เป็นไปตามแผนการช่วยเหลือพนักงานทั้งหมด ซึ่งพบว่า บริษัทฯ ได้ปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานถูกต้องทุกประการจึงไม่พบว่ามีข้อร้องเรียนใดๆ จากพนักงานกรณีไม่ได้รับสิทธิตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน สำหรับบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด มีพนักงานทั้งสิ้น 355 คน ขณะนี้มีการเลิกจ้างพนักงานไปแล้ว 58 คน ได้รับเงินชดเชยไปแล้วเกือบ 12 ล้านบาท ในจำนวนนี้ผู้ถูกเลิกจ้าง 56 คน ได้เข้ารับบริการจากสำนักงานจัดหางานจังหวัด และศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัดที่เข้าไปสำรวจความต้องการ ซึ่งมี 4 คน ที่ได้งานใหม่ทำแล้ว ส่วนที่เหลืออยู่ระหว่างการพิจารณาตำแหน่งงานเพื่อให้ตรงกับความสามารถและคุณวุฒิ โดยในพื้นที่ดังกล่าวมีตำแหน่งงานว่างกว่า 400 อัตรา กรณีการเลิกจ้างลูกจ้างจะได้รับสิทธิค่าชดเชยประกันการว่างงานเป็นเวลา 6 เดือน ส่วนผู้มีอายุ 55 ปี ได้ใช้สิทธิบำนาญชราภาพจากประกันสังคม ส่วนบริษัท โลตัสฮอลวิศวกรรมเหมืองแร่และก่อสร้าง จำกัด ซึ่งมีพนักงานอีก 442 คน ที่จะต้องได้รับเงินชดเชยราว 46 ล้านบาท โดยทั้งหมดจะถูกยุติการจ้างงานในสิ้นปีนี้ ซึ่งกระทรวงแรงงานมีแผนการช่วยเหลือรองรับพนักงานเหล่านี้ทั้งหมด
 
นายวรานนท์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้ยังมีพนักงานทั้ง 2 บริษัท ที่ยังคงมีสภาพการจ้างอยู่อีก 747 คน คิดเป็นเงินชดเชยกว่า 395 ล้านบาท ส่วนประชาชนที่อยู่ในชุมชนรอบข้างในพื้นที่ จ.พิจิตร และ จ.เพชรบูรณ์ ที่ได้รับผลกระทบตามมานั้น กระทรวงแรงงานจะดำเนินการเข้าไปช่วยเหลือในด้านการพัฒนาฝีมือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนด้านอาชีพ โดยปกติในแต่ละปีจะจัดสรรงบประมาณให้จังหวัดละ 3-5 ล้านบาท ซึ่งกรณีนี้อยู่ระหว่างการประสานเพื่อขอรับการจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมจากจังหวัดมาสมทบช่วยเหลือประชาชนอีกจำนวนหนึ่ง
 
 
กรมการจัดหางาน ปล่อยกู้เงินกองทุนเพื่อผู้รับงานไปทำที่บ้านแล้วกว่า 25 ล้านบาท ช่วยสร้างรายได้แก่ผู้รับงานไปทำที่บ้านมากกว่าปีละ 87 ล้านบาท
 
นายวิวัฒน์ จิระพันธุ์วานิช รองอธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า กรมการจัดหางานได้รับงบประมาณเงินกองทุนเพื่อผู้รับงานไปทำที่บ้าน ในลักษณะทุนหมุนเวียน เพื่อให้กลุ่มผู้รับงานไปทำที่บ้านกู้ยืมไปซื้อวัตถุดิบ อุปกรณ์การผลิตหรือขยายการผลิต เพื่อสร้างอาชีพสร้างรายได้และโอกาสมีงานทำแก่ผู้รับงานไปทำที่บ้านได้มีรายได้เลี้ยงดูครอบครัวอย่างยั่งยืน ซึ่งตั้งแต่ปี 2548 จนถึงปัจจุบัน มีการปล่อยกู้แล้ว จำนวน 291 กลุ่ม เป็นเงิน 25,881,000 บาท ก่อให้เกิดรายได้แก่ผู้รับงานไปทำที่บ้านไม่ต่ำกว่าปีละ 87,300,000 บาท สำหรับในปีงบประมาณ 2560 มีแผนการปล่อยกู้เงินกองทุนฯ จำนวน 5 ล้านบาท ให้แก่กลุ่มผู้รับงานไปทำที่บ้าน 50 กลุ่ม ซึ่งคาดว่าจะก่อให้เกิดรายได้แก่ผู้รับงานไปทำที่บ้านเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 15 ล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของกระทรวงแรงงานและรัฐบาลในการสนับสนุนการสร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่ประชาชน
 
คุณสมบัติของผู้กู้ จะต้องเป็นกลุ่มผู้รับงานไปทำที่บ้านที่จดทะเบียนไว้กับกรมการจัดหางาน มีสมาชิกไม่ต่ำกว่า 5 คน มีการบริหารจัดการที่ชัดเจน ทำงานร่วมกันมาแล้วไม่น้อยว่า 3 เดือน มีทรัพย์สินหรือทุนรวมกันไม่น้อยกว่า 10,000 บาท และมีสถานประกอบการที่ชัดเจน สามารถติดต่อได้ ซึ่งจะให้กู้สูงสุดรายละไม่เกิน 200,000 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3 ต่อปี ปลอดเงินต้น 4 เดือน ชำระคืนภายใน 5 ปี โดยสามารถยื่นคำขอกู้ได้ที่ สำนักงานจัดหางานจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานคร
 
 
เจ้าหน้าที่คงเดินหน้าค้นหา 2 คนงานที่ติดอยู่ใต้ซากอาคารที่ถล่มลงมาในซอยสุขุมวิท 87 อย่างระมัดระวัง
 
หลังเจ้าหน้าที่ใช้เวลาทั้งคืนในการระดมหาผู้สูญหายอีก 2 ราย คือนายไพร คะนุนรัมย์ อายุ 38 ปี และนายบุญแจ้ง เลศละออง อายุ 46 ปี ที่คาดว่ายังคงติดอยู่ในอาคารไทยยานยนต์ มิตซู ซอยสุขุมวิท 87 ความสูง 8 ชั้น ที่พังถล่มลงมาขณะรื้อถอน แม้จะใช้รถเครนยกแผ่นปูนขนาดใหญ่ออกเพื่อค้นหาผู้สูญหายตามจุดที่สุนัขตำรวจเข้าดมกลิ่น แต่ด้วยแผ่นปูนมีขนาดใหญ่ และการใช้เครื่องมือหนักอาจส่งผลต่อตึกด้านข้าง ซึ่งอาจพังถล่มลงมา จึงได้ยุติการค้นหาในเวลา 3 นาฬิกาที่ผ่านมา
 
ขณะที่ช่วงเช้าวันนี้(17 ธ.ค.) สภาวิศวกร, สมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ หรือ วสท. กรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ประชุมหารือเพื่อหาแนวทางค้นหาผู้สูญหายอีก 2 คน ที่ยังติดค้างอยู่ภายใน เบื้องต้นจะดูโครงสร้างอาคารเพื่อหาแนวทางในการเคลื่อนย้ายแผ่นปูนออก เนื่องจากคาดว่า 2 คนงาน ติดอยู่ใต้ซากชั้นล่างสุด การจะรื้อแผ่นปูนออกทั้งหมดต้องใช้เวลา และต้องระวังผลกระทบตึกข้างเคียงที่อาจพังซ้ำ
 
พันตำรวจโทบัณฑิต ประดับสุข ผู้แทนสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ ด้านงานปลอดภัยในงานสถาปัตยกรรม เปิดเผยว่า เบื้องต้นพบ อาคารดังกล่าวไม่มีคานรับน้ำหนักแต่ใช้เป็นลวดสลิงในการต่อเพิ่มแต่ละชั้นแทน หากจะรื้อถอนจะต้องหาอุปกรณ์ค้ำยันเพื่อรับน้ำหนักด้านล่าง แต่เท่าที่เห็น ขณะที่รื้ออาคารไม่มีคานค้ำยัน จึงอาจเป็นสาเหตุหลักทำให้เกิดอาคารถล่ม
 
ด้านภรรยาและครอบครัวนายบุญแจ้ง พนักงานขับรถแบคโฮ ที่ติดอยู่ในอาคารมานอนเฝ้าที่ด้านหน้าอาคารอย่างมีความหวังว่าสามีจะรอดชีวิต วอนขอให้ค้นหาสามี ไม่ว่าจะมีชีวิตอยู่หรือไม่ก็ตาม
 
ส่วนเรื่องคดี พนักงานสอบสวนได้สอบพยานไปแล้ว 14 ปาก ทั้งญาติผู้เสียชีวิต, ผู้บาดเจ็บ, พยานใกล้เกิดเหตุ, เจ้าหน้าที่โยธาเขตพระโขนง โดยแจ้งข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 291 คือกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย กับนายสุทธิศักดิ์ ศรีวรรณา กรรมการผู้มีอำนาจดำเนินการ แมกกะทู และนายกฤตัชญ ศรีวรรณา ผู้รับเหมา
 
นายภัทรุฒิ ทรรทรานนท์ ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ภารกิจเร่งด่วนคือต้องค้นหาผู้สูญหายอีก 2 คน แต่ต้องใช้ความระมัดระวังต่อผู้ปฏิบัติงานด้วย เพราะยังมีอาคารด้านข้างที่อาจได้รับผลกระทบและพังลงมาได้อีก จึงใช้ลวดสลิงขึงเพื่อยึดอาคารให้เกิดความปลอดภัยขณะปฏิบัติงาน อุปสรรคของการค้นหาคือ ซากวัสดุอาคารที่กองทับถมกันอยู่หลายชั้น รวมถึงเศษวัสดุแผ่นพื้นที่ห้อยค้างอยู่บนตัวอาคารอาจจะหลุดร่วงลงมาทำให้เกิดอันตรายได้ เบื้องต้น เปลี่ยนจากการใช้รถเครนยกแผ่นปูนออก มาเป็นการเจาะแผ่นปูนทีละแผ่นไปถึงพื้นด้านล่างเพื่อสอดกล้องเพื่อดูว่าจุดนั้นๆมีผู้สูญหายตรงกับตำแหน่งที่สุนัขตำรวจได้ทำสัญญาณไว้หรือไม่ ก่อนจะรื้อแผ่นปูนขึ้นอีกครั้ง จากนี้กรุงเทพมหานคร จะเข้าไปดูแลในสมาคมวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับบริษัทรื้อถอนอาคารมากขึ้น เพราะที่ผ่านมา มักจะเกิดเหตุสลดขึ้นจากความไม่ชำนาญ หรือความไม่เข้าใจของผู้ประกอบวิชาชีพ
 
ด้านศาสตราจารย์อมร พิมานมาศ เลขาธิการสภาวิศกร กล่าวว่า ในการรื้อถอนอาคารที่สูงเกิน 3 ชั้นขึ้นไป จะต้องมีวิศวกรควบคุมการออกแบบและการรื้อถอน เนื่องจากขั้นตอนของการรื้อถอนมีความสำคัญ รวมถึงเครื่องมือและบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ อาคารหลังนี้ เป็นโครงสร้างไร้คานที่เสริมสลิงเข้าไป ซึ่งมีความอ่อนแอกว่าอาคารที่มีเสาคานรับน้ำหนัก หากไม่มีความชำนาญในการรื้อถอน เมื่อพื้นอาคารถูกทำลายไปโดยไม่มีอุปกรณ์รองรับน้ำหนัก จะทำให้พังถล่ม ลงมาเหมือน หลังจากนี้จะต้องเรียกวิศวกรผู้ออกแบบควบคุมการรื้อถอนมาสอบสวนถึงสาเหตุ ที่กรุงเทพมหานคร มีหนังสือให้ยุติการรื้อถอน แต่ยังดำเนินการอยู่ หากมีวิศกรเข้าไปเกี่ยวข้อง จะดำเนินการขั้นสูงสุดคือเพิกถอนใบอนุญาต
 
ขณะที่นายธเนศ วีระศิริ ว่าที่นายกสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ หรือ วสท. กล่าวว่า จากนี้จะจัดตั้งหน่วยวิศวกรอาสาขึ้นมาเพื่อเข้าไปสนับสนุนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการให้ความรู้เจ้าหน้าที่ที่จะเข้าไปช่วยเหลือผู้ได้รับบาดเจ็บ หรือผู้ที่ติดอยู่ในอาคารที่ถล่ม เพื่อจะได้ชี้จุด ปลอดภัยหรือมีความเสี่ยงกับผู้ปฏิบัติงาน
 
เนื่องจากทุกขั้นตอนจะต้องใช้ความระมัดระวัง เพราะทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ต่างคาดหวัวว่าจะมีผู้รอดชีวิต
 
 
ผอ.รพ.แม่ระมาด เสนอแยกกลุ่มนักเรียนไร้สถานะให้ชัด ชี้กลุ่มรอพิสูจน์สถานะควรได้รับสิทธิเข้ากองทุนคืนสิทธิ ส่วนกลุ่มลูกหลานแรงงานไม่เข้าเกณฑ์รักษาฟรี ให้ซื้อบัตรสุขภาพราคาถูกปีละ 365 บาท
 
จากกรณีเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ออกมาทวงถามกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ถึงการจัดทำตัวเลขที่ชัดเจนของกลุ่มคนจีนโพ้นทะเลและเด็กไร้สถานะ หรือนักเรียนตามชายแดนที่ได้รับสิทธิการศึกษาจากกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) หรือนักเรียนกลุ่ม G รวมกว่า 1 แสนคน ที่ตกค้างจากการผลักดันให้เข้าสู่กองทุนคืนสิทธิสุขภาพนั้น
 
วันนี้ (17 ธ.ค.) นพ.จิรพงศ์ อุทัยศิลป์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลแม่ระมาด จ.ตาก กล่าวว่า ปัญหาเรื่องการรักษาพยาบาลของนักเรียนกลุ่มจี คือ พวกเขาไม่มีสิทธิรักษาพยาบาลขั้นพื้นฐานฟรี ตามสิทธิบัตรทองเหมือนคนไทย เพราะไม่มีเลขบัตรประจำตัวประชาชน ซึ่งเด็กกลุ่มนี้มีการปะปนระหว่างลูกหลานของบุคคลที่กำลังรอพิสูจน์สถานะ ลูกหลานของแรงงานต่างด้าวที่เกิดในไทย และเด็กที่เดินข้ามฝั่งชายแดนมาเรียน จากปัญหาตรงนี้ ทำให้การรวบรวมตัวเลขให้ชัดเจนค่อนข้างลำบาก ดังนั้น เมื่อเจ็บป่วยและมารักษาที่โรงพยาบาล ทำให้ต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลกันเอง หากเป็นครูพามา ภาระก็จะตกที่ครู หากเป็นพ่อแม่พามาก็จะตกที่พ่อแม่ อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าโรงพยาบาลจะรักษาโดยเก็บเงินอย่างเดียว เพราะตามขั้นตอนแล้ว เมื่อมาถึงก็จะรักษาพยาบาลก่อน และจะถามสิทธิ หากไม่มีสิทธิบัตรทอง ก็ต้องแจ้งค่ารักษาพยาบาล ส่วนใหญ่พวกเขาไม่สามารถจ่ายได้ ก็จะสอบถามว่าจ่ายได้เท่าไร และหากไม่ได้ ก็ขึ้นอยู่กับผู้อำนวยการโรงพยาบาลแต่ละแห่งว่าจะอนุเคราะห์อย่างไร ในส่วนของ รพ.แม่ระมาด มีการรักษาเด็กกลุ่มนี้ด้วย ปีละประมาณหลักแสนไปจนถึงล้านคน
 
นพ.จิรพงศ์ กล่าวว่า ปัญหาคือจะทำอย่างไรเพื่อลดภาระของแต่ละฝ่าย ซึ่งหากรัฐบาลช่วยก็ถือว่าใช้งบเพิ่มไม่มาก เพราะเด็กกลุ่มนี้ที่ยังมีปัญหาตัวเลขไม่มากมายนัก จากการสอบถามทราบว่า กลุ่มประกันสุขภาพ สธ. เป็นผู้ดำเนินการเรื่องนี้ ซึ่งเข้าใจว่าผู้บริหาร สธ. ให้ความสำคัญอยู่แล้ว เพียงแต่เรื่องนี้ไม่ง่าย เพราะตัวเลขต่างๆ ไม่ได้อยู่ใน สธ. แต่อยู่ทั้งกระทรวงมหาดไทย และ ศธ. จึงขอเสนอทางออกกรณีที่หากแยกตัวเลขได้แล้วว่า นักเรียนกลุ่มจีมีกลุ่มไหนเข้าตามสิทธิรอพิสูจน์สถานะ และกลุ่มไหนเป็นลูกหลานแรงงานต่างด้าว ซึ่งกลุ่มที่ไม่เข้าเงื่อนไขคืนสิทธิสุขภาพ ก็ควรซื้อบัตรสุขภาพ ซึ่งปัจจุบัน สธ. มีบัตรราคาถูกเฉลี่ยวันละ 1 บาท จ่ายปีละ 365 บาท รักษาพยาบาลขั้นพื้นฐาน แต่บัตรดังกล่าวจะดูแลเด็กถึงอายุ 7 ปี เป็นไปได้หรือไม่ที่จะขยายมายังเด็กโต เด็กนักเรียนที่ศึกษาอยู่ด้วย ซึ่งจะครอบคลุมเด็กนักเรียนกลุ่มจีได้
 
 
กกจ.เปิดคัดคนไปทำงานที่เกาหลี 17-19 ธ.ค.
 
นายวิวัฒน์ จิระพันธุ์วานิช รองอธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ขณะนี้กรมการจัดหางาน(กกจ.) เปิดรับสมัครทดสอบภาษาเกาหลีและทักษะการทำงาน (Point System) ครั้งที่ 2 เพื่อสมัครไปทำงานสาธารณรัฐเกาหลีตามระบบการจ้างแรงงานต่างชาติ (EPS) โดยผู้สมัครต้องยื่นใบสมัครด้วยตนเอง ระหว่างวันที่ 17 – 19 ธ.ค.59 เวลา 09.00–16.00 น. ที่ศูนย์การรับสมัคร จำนวน 4 แห่ง คือ
 
1.ศูนย์การรับสมัครกรุงเทพมหานคร ที่อาคาร The Hub @ ZEER Rangsit ชั้น 3 บริเวณศูนย์การค้าเซียร์รังสิต จ.ปทุมธานี
2.ศูนย์การรับสมัคร จ.ลำปาง ที่ศูนย์เยาวชนเทศบาลนครลำปาง ต.สวนดอก อ.เมืองลำปาง จ.ลำปาง
3.ศูนย์การรับสมัคร จ.อุดรธานี ที่วิทยาลัยเทคโนโลยีบ้านจั่น อ.เมืองอุดรธานี จ.อุดรธานี
4. ศูนย์รับสมัคร จ.นครราชสีมา ที่สำนักงานจัดหางานจ.นครราชสีมา
 
นายวิวัฒน์ฯ กล่าวต่อว่า ตั้งแต่ปี 2547–30 พ.ย.59 กรมการจัดหางานจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานที่สาธารณรัฐเกาหลีตามระบบ EPS จำนวนทั้งสิ้น 61,504 คน โดยส่วนใหญ่เป็นประเภทกิจการอุตสาหกรรม ก่อสร้าง และการเกษตรกร และล่าสุดการเปิดทดสอบภาษาเกาหลีและทักษะการทำงาน (Point System) ครั้งที่ 1 เพื่อการสมัครไปทำงานสาธารณรัฐเกาหลีตามระบบ EPS มีผู้ผ่านการทดสอบจำนวน 1,200 คน แยกเป็นประเภทกิจการเกษตร ปศุสัตว์ 900 คน กิจการก่อสร้าง 300 คน ซึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมามีผู้มารายงานตัว ยื่นเอกสารเพื่อจัดทำรายชื่อให้นายจ้างเกาหลีคัดเลือกจำนวน 1,191 คน
 
ทั้งนี้การจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานเกาหลีใช้วิธีการสอบผ่านความสามารถภาษาเกาหลี (EPS-TOPIK) เพียงอย่างเดียว แต่ในปี 59 เกาหลีได้ปรับระบบการคัดเลือกแรงงานต่างชาติ เป็นการทดสอบความสามารถภาษาเกาหลีด้วยระบบคอมพิวเตอร์ คาดว่าจะสามารถจัดส่งให้ไปทำงานได้ในเดือน ก.พ. 2560
 
 
ชาวโคราชแห่สมัครทำงานเกาหลีหลังหมดฤดูกาลเก็บเกี่ยว
 
เมื่อวันที่ 17 ธ.ค.59 เวลา 13.30 น. ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดนครราชสีมา ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นสถานที่รับสมัครทดสอบภาษาเกาหลีและทักษะการทำงาน (Point System) ครั้งที่ 2 เพื่อสมัครไปทำงานสาธารณรัฐเกาหลีตามระบบการจ้างแรงงานต่างชาติ (EPS) ได้มีประชาชนชาวจังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดใกล้เคียง จำนวนมาก ให้ความสนใจเดินทางมาเขียนใบสมัครเพื่อเข้าร่วมการทดสอบวัดความสามารถภาษาเกาหลี ที่ทางกระทรวงแรงงานไทยและสาธารณรัฐเกาหลี โดยกระทรวงแรงงานและการจ้างงานสาธารณรัฐเกาหลี ได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงในการจัดส่งแรงงานไปทำงานตามระบบการจ้างแรงงานต่างชาติ ที่เปิดจุดรับสมัครที่จังหวัดนครราชสีมาและอุดรธานี
 
นายพงษ์ นะโส อายุ 36 ปี ชาวจังหวัดอุบลราชธานี หนึ่งในผู้ที่เดินทางมาสมัครไปทำงานที่ประเทศเกาหลี เปิดเผยว่า ตัดสินใจมาสมัครเพื่อเดินทางไปทำงานที่ต่างประเทศ เนื่องจากมีค่าจ้างสูงกว่าประเทศไทย อีกทั้งที่บ้านได้ทำการเก็บผลผลิตหมดแล้วจึงตัดสินที่จะมาสมัครไปทำงานที่เกาหลี ส่วนสาเหตุที่ไม่หางานอื่นๆ ในประเทศ เพราะว่าค่าครองชีพสูงขึ้นแต่ค่าแรงน้อย ซึ่งคาดหวังว่าค่าตอบแทนที่ได้จากประเทศเกาหลีนั้นจะทำให้สามารถส่งเงินกลับมาบ้านได้เดือนละไม่ต่ำกว่า 15,000 บาท อย่างแน่นอน อีกทั้งการเดินทางไปทำงานในครั้งตนเองก็มั่นใจว่าจะไม่ถูกหลอกเหมือนคนอื่นๆ ที่เป็นข่าวกัน เพราะการเดินทางไปทำงานได้ผ่านกรมแรงงานจึงเป็นการเดินทางไปอย่างถูกต้อง
 
เช่นเดียวกับนายบัณฑิต แก้วดี อายุ 25 ปี ชาวจังหวัดบุรีรัมย์ หนึ่งในผู้ที่มาสมัครไปทำงานที่ประเทศเกาหลี เปิดเผยว่า ยังไม่เคยเดินทางไปทำงานที่ประเทศเกาหลี แต่เมื่อทราบข่าวว่ามีการเปิดรับสมัครไปทำงานที่ประเทศเกาหลี จึงไม่ลังเลเดินทางมาสมัครทันที เนื่องจากทราบว่าไปทำงานที่ประเทศเกาหลีนั้นมีรายได้สูง ซึ่งค่าจ้างค่าแรงที่จังหวัดบุรีรัมย์ ค่อนข้างต่ำ เฉลี่ยเดือนละ 7,000-8,000 บาท ประกอบกับที่บ้านก็ได้เก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตรหมดแล้ว อีกทั้งพี่ชายของตนเองก็เคยเดินทางไปทำงานที่ประเทศเกาหลีมาแล้ว 2 คน ก็สามารถที่จะกลับมาสร้างเนื้อสร้างตัวได้ จึงคิดว่าหากผ่านการทดสอบแล้วมีสิทธิที่จะเดินทางไปทำงานที่ประเทศเกาหลี ส่งเงินกลับมาให้กับที่บ้านเป็นประจำเพื่อนำเงินก้อนนั้นไปสร้างตัวและสร้างอนาคตต่อไป
 
นายอิทธิ คงวีระวัฒน์ จัดหางานจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า การเปิดรับสมัครแรงงานไทยไปทำงานที่ประเทศเกาหลีใต้ เป็นการดำเนินการตามกระทรวงแรงงานไทยและสาธารณรัฐเกาหลี โดยกระทรวงแรงงานและการจ้างงานสาธารณรัฐเกาหลี ได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงในการจัดส่งแรงงานไปทำงานตามระบบการจ้างแรงงานต่างชาติ โดยในครั้งนี้โดยเปิดรับแรงงานไปทำงานใน ภาคอุตสาหกรรมการผลิต ประกอบด้วย การชั่งตวงวัด , การเชื่อม และการประกอบชิ้นงาน การเปิดรับสมัครครั้งนี้ก็ได้รับการตอบรับจากประชาชนทั้งในจังหวีดนครราชสีมาและจังหวัดต่างๆ เข้ามาร่วมกรอกใบสมัครแล้วกว่า 1,500 คน คาดว่า 3 วันที่มีการเปิดรับสมัคร ตั้งแต่วันที่ 17-19 ธันวาคม 2559 จะมีผู้ที่ร่วมมาสมัครไปทำงานที่ประเทศเกหาหลี ไม่ต่ำกว่า 3,000 คน อย่างแน่นอน ซึ่งผู้สมัครจะต้องเข้ารับการทดสอบความสามารถภาษาเกาหลี และจะมีการประกาศหมายเลขผู้มีสิทธิ์สอบ ในวันที่ 30 มกราคม 2560 และจะทำการทดสอบในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2560
 
 
คปภ.ออกประกันผู้ใช้บริการหอพักเบี้ยต่ำ 24 บาทต่อปีคุ้มครอง 1 แสน
 
นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า สำนักงาน คปภ. มีความห่วงใยประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มนักเรียน นิสิต-นักศึกษา ซึ่งมีการเช่าหอพักเป็นที่พักอาศัย ไม่ว่าจะเป็นหอพักของสถานศึกษา หรือของเอกชน
 
"คปภ. จึงร่วมกับสมาคมประกันวินาศภัยไทย และกรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จัดทำกรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครอง ผู้พักในหอพัก เพื่อใช้ระบบประกันภัยในการบรรเทาความเดือนร้อนให้แก่ผู้ใช้บริการหอพัก กรณีเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้น ซึ่งกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าว ให้ความคุ้มครองสอดคล้องกับประกาศคณะกรรมการส่งเสริมกิจการหอพัก เรื่อง การประกันภัยเพื่อคุ้มครองชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของผู้พัก ตามพระราชบัญญัติหอพัก พ.ศ. 2558 ซึ่งได้กำหนดหน้าที่ของผู้ประกอบกิจการหอพักไว้ตามมาตรา 57 ต้องจัดให้มีการประกันภัยเพื่อคุ้มครองชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของผู้พักอาศัย"
 
ทั้งนี้ กรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองผู้พักในหอพัก มุ่งเน้นให้ความคุ้มครองผู้พัก ซึ่งขณะเริ่มเข้าพักครั้งแรกมีอายุไม่เกิน 25 ปี และอยู่ระหว่างการศึกษาในสถานศึกษา ระดับไม่สูงกว่าปริญญาตรี ไม่ว่าจะพักอยู่ในหอพักสถานศึกษา หรือหอพักเอกชน ด้วยเบี้ยประกันภัยเพียง 24 บาทต่อคนต่อปี ให้ความคุ้มครองใน กรณีผู้พักเสียชีวิต หรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิงอันเป็นผลจากหอพักเกิดไฟไหม้ ระเบิด หรือผู้พักถูกฆาตกรรม ถูกทำร้ายร่างกาย โดยอุบัติเหตุซึ่งเกิดขึ้นในขณะพักในหอพัก จะได้รับค่าสินไหมทดแทนจำนวน 100,000 บาทต่อคน
 
กรณีผู้พักได้รับบาดเจ็บ มาจากภัยที่ได้รับความคุ้มครอง จะได้รับเงินค่ารักษาพยาบาลตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 10,000 บาทต่อคน และกรณีทรัพย์สินของผู้พักเกิดความเสียหาย มาจากไฟไหม้ หรือระเบิด ซึ่งเกิดขึ้นที่หอพัก จะได้รับเงินชดเชยตามมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจริงแต่ไม่เกิน 10,000 บาทต่อคน
 
"ผมในฐานะนายทะเบียนได้ให้ความเห็นชอบแบบกรมธรรม์ และอัตราเบี้ยประกันภัยกรมธรรม์ดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว ซึ่งขณะนี้มีบริษัทประกันวินาศภัย แจ้งความจำนงขอร่วมจำหน่ายกรมธรรม์ดังกล่าวแล้ว 42 บริษัท ดังนั้นจึงฝากถึงผู้ประกอบการหอพักให้ยึดถือสวัสดิภาพ และคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้พักเป็นสำคัญ และควรปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด รวมทั้งควรตระหนักถึงความสำคัญของการประกันภัยที่สามารถใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงภัยที่อาจเกิดขึ้นต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้พักอาศัย นอกจากจะถือเป็นการปฏิบัติตามกฎหมายแล้ว จะทำให้ผู้พักมีความอุ่นใจ และเกิดความเชื่อมั่นในการใช้บริการหอพักในระยะยาว"
 
 
สภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทยห่วงเด็กจบใหม่ปี 2560 มีแนวโน้มตกงานสูงถึง 2.1แสนคน
 
ข้อมูลจากสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย ระบุว่าในปี 2560 นักศึกษาจบใหม่จะมีเข้าในระบบเพิ่มขึ้นมากถึง 2.1 แสนคน และมีความเสี่ยงที่จะอยู่ในภาวะตกงาน โดยเฉพาะผู้ที่จบปริญญาตรีที่ไม่ใช่สายเฉพาะทางหรือวิชาชีพเช่น สังคมศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ นิเทศศาสตร์
 
ทั้งนี้ ด้วยนวัตกรรมที่พัฒนาอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะการขับเคลื่อนนโยบายของภาครัฐ ในยุคอุตสาหกรรม 4.0 ทำให้ตลาดแรงงานเริ่มเปลี่ยนไป ที่มุ่งเน้นไปทางด้านไอที คอมพิวเตอร์ ภาษา และทักษะวิชาชีพเฉพาะด้าน แต่ในทางกลับกัน ผู้ที่จบสายอาชีวะหรือสายวิชาชีพ ยังเป็นที่ต้องการตลาดและยังขาดแคลนอยู่มาก
 
ด้านสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ระบุว่า แนวโน้มการจ้างงานในปี 2560 ยังคงมีเพิ่มขึ้นจากปีนี้ตามทิศทางการลงทุนที่คาดว่าจะมีทิศทางดีขึ้นจากการลงทุนภาครัฐและรัฐวิสหกิจและการลงทุนตรงจากต่างประเทศ (FDI) แต่สิ่งที่เป็นกังวลคือเด็กจบใหม่ระดับปริญญาตรีที่ไม่ใช่สายวิชาชีพจะตกงานเพิ่มขึ้น และอยากให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเร่งปฏิรูปการศึกษาอย่างเร่งด่วนและวางเป้าพัฒนาคนที่ตอบโจทย์อุตสาหกรรม 4.0
 
 
ผู้ตรวจฯ เผยเกาหลีใต้แฉคนไทยหนีเข้าเมืองถึง 5 หมื่นราย ทำเสี่ยงถูกตัดโควตาแรงงาน
 
(18 ธ.ค.) พล.อ.วิทวัส รชตะนันทน์ ผู้ตรวจการแผ่นดิน ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวถึงผลการพบปะแรงงานไทย และผู้ประกอบการในสาธารณรัฐเกาหลีใต้ กว่า 200 คน ที่ผู้ตรวจการแผ่นดิน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยร่วมกับคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตและสิทธิพลเมือง ACRC กระทรวงแรงงานเกาหลี สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเกาหลี จัดขึ้น ณ วัดป่าพุทธรังษีโซล ว่า จากการพบปะทำให้ได้รับทราบถึงปัญหาการดำรงชีวิตของแรงงานไทย ความไม่เป็นธรรมในการขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานรัฐในเกาหลี ซึ่งพบว่าบางกรณีอาจต้องเร่งประสานให้ความช่วยเหลือทันที เช่น กรณีแรงงานไทยไม่สามารถต่อวีซ่าได้ เพราะอายุเกิน 40 ปี แต่นายจ้างไม่ยอมให้กลับประเทศ เพราะไว้วางใจในการทำงาน และขอให้อยู่ช่วยงานเนื่องจากทำงานมานานกว่า 17 ปี กรณีนี้เลยทำให้บุคคลดังกล่าวเลยกลายเป็นโรบินฮูดโดยปริยาย ซึ่งตัวผู้ใช้แรงงานเองก็บอกว่าต้องมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ค่อนข้างลำบากต้องหลบซ่อน ซึ่งหน่วยงาน ACRC รวมถึงผู้แทนสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเกาหลีก็ได้รับทราบปัญหาดังกล่าว และจะมีการประสานกันในระดับนโยบายต่อไป หากมีการเสนอแนะแก้ไขระเบียบอาจทำให้ปัญหาได้รับการแก้ไขในเชิงระบบได้
 
ผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังมีการร้องเรียนเรื่องปัญหาการถูกกดขี่ เอารัดเอาเปรียบจากนายจ้าง โดยเฉพาะแรงงานด้านเกษตร และปศุสัตว์ เช่น นายจ้างให้ทำงานวันหยุดโดยไม่มีค่าล่วงเวลาทางด้านผู้ใช้แรงงาน จึงอยากให้เข้าไปดูในรายละเอียดของสัญญาการจ้าง ซึ่งทางหน่วยงาน ACRC และกระทรวงแรงงานของเกาหลี ก็พร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือ โดยขอให้มีการแจ้งเหตุจะได้รีบตรวจสอบและสอบสวนหากนายจ้างมีความผิดจะมีโทษตามกฎหมาย รวมถึงยังมีปัญหาขอให้เข้าไปดูเรื่องการประกอบกิจการของโรงาน เช่น โรงงานเฟอร์นิเจอร์ที่ยังไม่มีระบบควบคุมการผลิตที่ดีพอเกิดฝุ่นละอองจำนวนมาก และแพ้สารเคมี ร่างกายมีตุ่มผื่นขึ้นเป็นพิษต่อระบบทางเดินหายใจ ปัญหาแรงงานโดนโกงค่าจ้าง แรงงานหญิงท้องใกล้คลอดแต่ตั้งแต่เริ่มท้องยังไม่เคยมีโอกาสไปฝากครรภ์ที่โรงพยาบาล บางคนมีลูกเล็กเกิดเจ็บป่วยไม่สามารถซื้อยาตามร้านได้ต้องไปโรงพยาบาลเท่านั้น ตลอดจนปัญหาของผู้ใช้แรงงานเองที่เกิดจากความไม่เข้าใจในการใช้สิทธิของการประกันอุบัติเหตุ จนทำให้กลายเป็นข้อพิพาทระหว่างผู้ใช้แรงงานกับนายจ้าง เช่น มีแรงงานประสบอุบัติเหตุจากการทำงานไม่ถึงกับพิการ แต่มีโรคแทรกซ้อนเกิดขึ้น คือ เป็นความดัน และต้องพบหมอทุก 3 เดือน แต่ประกันมองว่าการรักษาเกี่ยวกับเรื่องอุบัติเหตุนั้นหายดีแล้ว จึงตัดสิทธิในการเบิกเงินประกัน ถึงแม้ว่าจะยังต้องพบหมอเพื่อรักษาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งก็ต้องทำความเข้าใจกัน
 
พล.อ.วิทวัส กล่าวด้วยว่า ได้ขอให้ผู้ใช้แรงงานรักษากฎกติกาหากเข้ามาทำงานอย่างถูกกฎหมายจะทำให้การช่วยเหลือราบรื่นสะดวก รวดเร็ว เพราะมีจำนวนไม่น้อยที่หลบหนีเข้ามาใช้แรงงาน ซึ่งจากตัวเลขที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเกาหลีรายงานมีแรงงานไทยมี่เข้ามาทำงานอย่างถูกกฎหมายราว 4 หมื่นคน และมีแรงงานไทยที่เข้ามาอย่างไม่ถูกกฎหมายสูงถึงราว 5 หมื่นคน ซึ่งทำให้ประเทศไทยเสี่ยงถูกตัดโควตาของผู้ที่จะเข้ามาทำงานอย่างถูกกฎหมาย และต้องมีการปรับตัวฝึกฝนการใช้ภาษาเกาหลีซึ่งได้เสนอให้ทางทูตแรงงานจัดหาครูมาสอนภาษาโดยใช้เวลาหลังเลิกงาน จะได้พึ่งพาตนเองได้ รวมถึงอย่าให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับยาเสพติด เนื่องจากจะทำลายภาพพจน์ของประเทศไทยมาก ซึ่งทางผู้ตรวจการแผ่นดินก็จะเร่งสรุปปัญหาและจัดทำข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล เพราะหลายเรื่องเป็นเรื่องระดับนโยบายระหว่างประเทศ ดังนั้น ต้องมีการหารือกันในระดับประเทศด้วย
 
ด้าน นาย คิน อิน ซู (Kin In-Soo) รองประธานคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตและสิทธิพลเมือง (ACRC) แห่งสาธารณรัฐเกาหลี กล่าวว่า จากปัญหาที่ได้รับฟังหลาย เรื่องเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นใหม่ ทางหน่วยงาน ACRC ก็จะเร่งให้ความช่วยเหลือตามพันธกรณีที่มีแก่กัน หากแรงงานประสบปัญหาแจ้งก็สามารถยื่นเรื่องร้องเรียนทางระบบ E-People ทาง www.epeople.go.kr หรือผ่านทาง www.acrc.go.kr รวมทั้งศูนย์ช่วยเหลือแรงงานตางชาติที่เป็นทางการ 8 แห่ง และศูนย์ช่วยเหลือแรงงานต่างชาติที่ไม่เป็นทางการอีก 88 แห่งได้
 
 
แรงงานอีสานแห่ไปเกาหลีหลังหมดฤดูกาลเก็บเกี่ยว
 
นายอิทธิ คงวีระวัฒน์ จัดหางานจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่าขณะนี้มีผู้ใช้แรงงานจากภาคอีสานสนใจเดินทางไปสาธารณรัฐเกาหลีตามระบบการจ้างแรงงานต่างชาติ โดยพบว่ามีประชาชนจำนวนมากทั้งชาวจังหวัดนครราชสีมาและจังหวัดใกล้เคียง ให้ความสนใจเดินทางมาเขียนใบสมัครเพื่อเข้าร่วมการทดสอบวัดความสามารถภาษาเกาหลี มีจุดเปิดรับสมัครเพียง 2 จุด ประกอบด้วยจังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดอุดรธานี ตั้งแต่วันที่ 17-19 ธันวาคมนี้ โดยเปิดรับแรงงานไปทำงานในภาคอุตสาหกรรมการผลิตประกอบด้วยการชั่งตวงวัด การเชื่อมและการประกอบชิ้นงาน
 
การเปิดรับสมัครครั้งนี้มีประชาชนกรอกใบสมัครแล้วกว่า 1,500 คน โดยคาดว่า 3 วันนี้จะมีผู้สมัครไปทำงานที่ประเทศเกาหลีไม่ต่ำกว่า 3,000 คน ซึ่งผู้สมัครจะต้องเข้ารับการทดสอบความสามารถภาษาเกาหลี และจะมีการประกาศหมายเลขผู้มีสิทธิ์สอบในวันที่ 30 มกราคม 2560 และเปิดทดสอบในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2560
 
นายพงษ์ นะโส อายุ 36 ปี ชาวจังหวัดอุบลราชธานี หนึ่งในผู้ที่เดินทางมาสมัครไปทำงานที่ประเทศเกาหลี บอกว่า ต้องการไปทำงานที่ประเทศเกาหลีเพราะได้รับค่าจ้างสูงกว่าเมืองไทย อีกทั้งที่บ้านของตนก็ได้ทำการเก็บเกี่ยวพืชผลทางการเกษตรหมดแล้ว จึงตัดสินไปทำงานอย่างอื่น ซึ่งคาดหวังว่าค่าจ้างที่ได้รับจากประเทศเกาหลีนั้นจะทำให้ตนสามารถส่งเงินกลับมาบ้านได้เดือนละไม่ต่ำกว่า 15,000 บาท และมั่นใจว่าจะไม่ถูกหลอกไปทำงานเพราะเป็นการจัดส่งโดยภาครัฐอย่างถูกต้องตามกฎหมาย
 
 
เครือข่ายแรงงานภาคเหนือ ยืนข้อเรียกร้องเนื่องในวันแรงงานข้ามชาติสากล 2016
 
(19 ธ.ค. 59) เวลา 14.30 น. ที่ห้องโถงอาคารอำนวยการ ชั้น 1 หน้าศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ นายประจวบ กันธิยะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ รับข้อเรียกร้องเนื่องในวันแรงงานข้ามชาติสากล 2016 เนื่องด้วยในวันที่ 18 ธันวาคมของทุกปี ถือเป็น "วันแรงงานข้ามชาติสากล" (International Migrants Day) เป็นวันที่องค์การสหประชาชาติได้จัดทำอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติและครอบครัว ค.ศ.1999 เพื่อให้แรงงานข้ามชาติในประเทศต่างๆ ได้รับการคุ้มครองสิทธิทั้งสิทธิมนุษย์ชนและสิทธิเป็นแรงงาน ด้วยหลักการที่จะให้ทุกประเทศและทุกฝ่ายตระหนักถึงสิทธิของแรงงานข้ามชาติที่ต้องอพยพจากประเทศต้นทางไปทำงานยังประเทศปลายทางให้ได้รับการปฏิบัติที่เป็นธรรมจากรัฐบาลและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติด้วยความแตกต่างเรื่องเชื้อชาติ ศาสนา สีผิว และเพศสภาพใด ๆ ทั้งนี้ เครือข่ายแรงงานภาคเหนือประกอบด้วย องค์กรที่ทำงานส่งเสริมสิทธิด้านแรงงานกว่า 15 องค์กร นักวิชาการจากสถาบันการศึกษาในจังหวัดเชียงใหม่ และตัวแทนคนงานในพื้นที่ ได้จัดการประชุมร่วมในวันที่ 18 - 19 ธันวาคม 2559 ณ สำนักบริการวิชาการ จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อประเมินและพิจารณาถึงสถานการณ์ด้านแรงงานข้ามชาติภายในพื้นที่ภาคเหนือและพบว่ายังมีปัญหาการละเมิดสิทธิแรงงานและการเข้าถึงสิทธิตามที่กฎหมายคุ้มครองแรงงานกำหนด เช่น แรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับค่าจ้าง ตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ เวลาทำงาน วันทำงาน วันหยุด วันลา ต่างๆ การทำงานล่วงเวลา การทำงานในวันหยุด และมีปัญหาด้านสุขภาพความปลอดภัยในการทำงาน การเข้าไม่ถึงระบบประกันสังคมเนื่องจากนายจ้างไม่ได้นำลูกจ้างขึ้นทะเบียนประกันสังคม และบางส่วนมีปัญหาการเข้าถึงสิทธิประโยชน์ เช่น กรณีรับเงินชราภาพที่ยังไม่มีมาตรการชัดเจนในการรับสิทธิ นอกจากนี้ยังพบว่าแรงงานข้ามชาติถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพในการเดินทางและถูกเรียกรับผลประโยชน์ สำหรับการยืนข้อเสนอต่อผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ มีดังนี้ ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่มีคำสั่งให้ศูนย์ร่วมบริการช่วยเหลือแรงงานต่างด้าวจังหวัดเชียงใหม่ให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาของแรงงานข้ามชาติอย่างมีส่วนร่วมและมีประสิทธิภาพ เนื่องจากแรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่ยังเข้าไม่ถึงสิทธิต่างๆที่ควรจะได้รับตามกฏหมายแรงงานกำหนด เช่น การไม่ได้รับค่าจ้างตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ เวลาทำงาน วันทำงาน วันหยุด วันลาต่างๆ การทำงานล่วงเวลา และการทำงานในวันหยุด พร้อมทั้ง ให้รายงานผลการดำเนินงานต่อผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ทุกสามเดือน และการดำเนินคดีการละเมิดสิทธิแรงงาน ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่มีนโยบายให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องดำเนินการโดยมุ่งคุ้มครองสิทธิแรงงาน โดยไม่คำนึงถึงสถานะการเข้าเมืองของแรงงาน
 
 
แมนพาวเวอร์เผยทิศทางตลาดแรงงานที่ทั้งนายจ้างและลูกจ้างจะต้องปรับตัวในปี 2560
 
แมนพาวเวอร์กรุ๊ป ประเทศไทย เผยรายงานระดับโลก Human Age 2.0 แรงงานแห่งอนาคต แนะเทรนด์ตลาดแรงงานปี2560 ที่เทคโนโลยีมีบทบาทในการทำงานมากขึ้น
 
นางสาวสุธิดา กาญจนกันติกุล ผู้จัดการฝ่ายการตลาด แมนพาวเวอร์กรุ๊ป (ประเทศไทย) กล่าวว่า ยุคที่กำลังจะเกิดยุคใหม่ที่เรียกว่า Human Age โดยมีเทคโนโลยีเป็นส่วนหนึ่งของการทำงาน แรงงานจะพัฒนาตนเอง มุ่งสู่ผู้นำแต่ไม่ยึดติดตำแหน่ง พร้อมเลือกสร้างสมดุลการงาน-ชีวิต จนกลายเป็นพื้นฐานของการปรับโครงสร้างแรงงานในอนาคต ซึ่งในยุค Human Age จะถูกแบ่งออกเป็น 2 ช่วง คือ Human Age 1.0 การปรับตัวของโลกในสู่ศตวรรษที่ 20 โดยมีใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเป็นตัวขับเคลื่อน จนเกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว และการก้าวกระโดดของการพัฒนาทางเทคโนโลยี ส่งผลให้ผู้มีทักษะความสามารถก้าวข้ามข้อจำกัดด้านพรมแดนและระยะทางเพราะเทคโนโลยีช่วยให้ทำงานที่ใดก็ได้ในโลก กำหนดวิธี เวลา และสถานที่ที่จะทำงานได้ในรูปแบบ “การทำงานเสมือนจริง” ผ่านการเชื่อมต่อของ อินเตอร์เน็ตและเครือข่ายสังคม
 
Human Age 2.0 คือ ยุคของการเกิดแรงงานแห่งอนาคต ทำให้เกิดมิติใหม่ในการทำงาน และเกิดคนกลุ่มใหม่ที่เรียกว่า มิลเลนเนียล ด้านของแรงงาน การขับเคลื่อนธุรกิจจะไม่ได้ถูกขับเคลื่อนด้วยเงินทุนอีกต่อไป แต่จะถูกขับเคลื่อนด้วยทุนมนุษย์แทน คือ ความรู้ความสามารถ ด้านนายจ้างจะถูกเปลี่ยนบทบาทจากผู้สร้างกำลังคนไปเป็นผู้บริโภคผลงานแทน ลูกจ้างมีบทบาทในการขับเคลื่อนธุรกิจขององค์กรมากขึ้น มีทางเลือกเป็นของตัวเอง แรงงานเองยังมีการพัฒนาฝีมือตัวเองอย่างต่อเนื่อง จนเกิดเทรนด์การพัฒนาตนเองที่เรียกว่า “ การเรียนรู้แบบไม่มีที่สิ้นสุด ” เพราะฉะนั้นย่อมส่งผลให้รูปแบบการจ้างงานของนายจ้างเปลี่ยนไป การขึ้นค่าแรงจะถูกกำหนดด้วยทักษะ ไม่ใช่ระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่ง
 
นางสาวสุธิดา กล่าวอีกว่าสำหรับตลาดแรงงานในปีหน้าจะมีการมุ่งเน้นในด้านของการใช้เทคโนโลยีเพิ่มมากขึ้น มีการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ มีการปฏิรูปทิศทางการศึกษาที่จะเป็นไปตามความต้องการของแรงงาน สหภาพแรงงานอาจจะมีบทบาทน้อยลงในนอนาคต เพราะว่ารูปแบบการทำงานเปลี่ยน พร้อมกับนโยบายการขึ้นค่าแรงขึ้นต่ำ อาจจะทำให้แต่ละองค์กรอาจจะต้องปรับกลยุทธ์หาพนักงานแบบ outsource มาทำงานเพิ่มมากขึ้น
 
ทิศทางตลาดแรงงานที่ทั้งนายจ้างและลูกจ้างจะต้องปรับตัวในปี 2560 มีดังนี้
 
1. เทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาทในโลกของการทำงานและการใช้ชีวิตส่วนตัว จนกลายเป็นชีวิตเดียว
2. การทำงานจะถูกเชื่องโยงด้วยอินเตอร์เน็ตและเทคโนโลยีตั้งแต่ต้นนำจนถึงปลายน้ำ
3. โลกของการทำงานจะเปลี่ยนไป ทำงานที่ไหน เวลาใดก็ได้
4. โลกของการทำงานและการผลิตจะถูกพัฒนาจาก กึ่งอัตโนมัติ เป็นอัตโนมัติ และกลายเป็นการใช้เทคโนโลยีขั้นสูง
5. การปฏิรูปทุนมนุษย์ ในภาคแรงงาน ภาคการศึกษา และองค์กร จะก้าวเข้าสู่สังคมแห่งการเรียนรู้
6. แรงงานจะแข่งขันด้วยความคิด มากกว่ากำลังแรงงาน
7. ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมแห่งการแบ่งปันและการร่วมมือกันจากกับปรับอัตราค่าจ้างเพื่อลดความเหลื่อมล้ำเพื่อเป็นการกระจายรายได้
8. ตลาดแรงงานจะเป็นตัวกำหนดทิศทางของการศึกษา ทั้งในเรื่องของหลักสูตร วิธีการเรียนการสอน
9. แรงงานที่ยังไม่ได้ใช้ความสามารถอย่างเต็มที่จะถูกผลักดันเข้าสู่ตลาดแรงงาน อาทิ คนสูงอายุ แรงงานผู้หญิง คนพิการ
10. โครงสร้างแรงงานจะถูกปรับให้เป็นแรงงานทักษะสูงมากขึ้น
11. แรงงานจะเกิดการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง ตลอดเวลา เพื่อสร้างความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน
12. ภาษาที่จำเป็นของโลกการทำงาน นอกจากภาษาที่2 อาจจะยังไม่พอต้องภาษาที่ 3 และภาษาเทคโนโลยี
13. ทิศทาง10 อุตสาหกรรมเป้าหมายมีแนวโน้มสดใส ทั้งปริมาณและคุณภาพ พร้อมขับเคลื่อนเศรษฐกิจสู่อนาคต
14. อัตราการว่างงานเพิ่มสูงขึ้นแต่ยังไม่ถึงภาวะขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรม จากการที่ผู้ประกอบการอยู่ในช่วงรอดูทิศทางทั้งเศรษฐกิจในประเทศและเศรษฐกิจโลก
15. อำนาจการต่อรองของสหภาพแรงงานจะลดลงจากภาวะการจ้างงานที่เปลี่ยนไป
 
อีกทั้งในด้านการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ ไทยแลนด์ 4.0จะยังไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในระยะนี้ แต่ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเศรษฐกิจโลกมีการปรับตัวช้าและประเทศไทยเองยังมีรูปแบบประชากรเป็นแบบลูกผสมตั้งแต่ 1.0, 2.0 และ 3.0
 
ประกอบกับอัตราการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตในประเทศไทยยังเป็นสัดส่วนที่ไม่สูงมากนัก นั่นคือ ในปัจจุบันเรามีประชากร 68 ล้านคน มีจำนวนผู้ใช้อินเตอร์เน็ต 56% เท่ากับว่า ยังคงมีประชากรเกือบครึ่งหนึ่งที่ยังไม่ได้ใช้อินเตอร์น็ต และยังต้องพัฒนาอีกในหลายๆด้าน อาทิ การศึกษา แรงงาน เทคโนโลยี แต่ในการนำเทคโนโลยีมาใช้ก็อาจจะทำบางอาชีพหายไป
 
แต่ถึงกระนั้น ทั้งนายจ้างและลูกจ้าง ต่างก็ต้องมีการปรับตัวเข้าหากัน ความยืดหยุ่นของการทำงาน เพราะปัจจุบันต้องยอมรับว่าความทัดเทียมระหว่างนายจ้างและลูกจ้างจะเป็นกลไกลในการขับเคลื่อนองค์กร การหมั่นเพิ่มความรู้อยู่ตลอดเวลาก็เป็นสิ่งที่คนยุคมิลเลนเนียล ให้ความสนใจ อาทิ สมัยก่อนคนหนึ่งคนสามารถทำงานได้งานเดียว แต่ปัจจุบันด้วยเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทเป็นตัวช่วยจนทำให้คนหนึ่งคนสามารถที่จะทำงานในหลายตำแหน่ง หลายสถานที่ และในเวลาเดียวกันได้ อาจจะกล่าวได้ว่า วิธีการใหม่ๆในการทำงานจะยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
 
 
"กทม." เร่งออกโบนัสให้ "ข้าราชการระดับต่ำกว่าอำนวยการต้น-ลูกจ้างประจำ-ชั่วคราว" ให้เป็นของขวัญปีใหม่ ส่วนข้าราชการระดับสูงจ่ายหลังปีใหม่
 
ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร(กทม.) พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า ขณะนี้ได้ลงนามเห็นชอบแนวทางการจ่ายเงินรางวัล หรือโบนัสประจำปี 2559 แก่ข้าราชการและบุคลากรของ กทม. ที่ปัจจุบันมีอยู่ 90,000 คน ตามที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการกรุงเทพมหานคร (กก.) เสนอ เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่และเป็นขวัญกำลังใจให้กับบุคลากรของ กทม. ทั้งนี้ คณะกรรมการจัดสรรเงินรางวัลประจำปีได้เห็นชอบอัตราการจัดสรรเงินรางวัลประจำปี 2558 ในอัตรา 1 เท่า ซึ่งหน่วยงานสังกัด กทม. มีทั้งสิ้น 77 หน่วยงาน และส่วนราชการในสังกัดสำนักปลัดกทม. ที่มีผลการประเมินอยู่ในระดับดีถึงระดับดีมาก คะแนน 4.473 - 4.908 คะแนน จะได้รับอัตราการจัดสรรเงินรางวัลระดับหน่วยงาน 1 เท่าของเงินเดือน ซึ่งพบว่าทุกหน่วยงานมีผลการประเมินอยู่ในระดับดีถึงระดับดีมาก
 
ส่วนการได้รับเงินรางวัลระดับบุคคลทั้งข้าราชการสามัญและลูกจ้างประจำนั้น จะมีการจ่ายตามผลประเมิน ดังนี้ ผลการประเมินดีเด่น ระดับคะแนน 90-100 คะแนน จะได้รับอัตราจัดสรรเงินรางวัล 1 เท่าของเงินเดือน ผลการประเมินเป็นที่ยอมรับได้ ระดับคะแนน 81-89 คะแนน จะได้รับอัตราจัดสรรเงินรางวัล 0.95 เท่าของเงินเดือน ระดับคะแนน 71-80 คะแนน จะได้รับอัตราจัดสรรเงินรางวัล 0.90 เท่าของเงินเดือน ระดับคะแนน 60-70 คะแนน จะได้รับอัตราจัดสรรเงินรางวัล 0.85 เท่าของเงินเดือน ส่วนผลการประเมินต้องปรับปรุง ระดับคะแนน ต่ำกว่า 60 คะแนน จะไม่ได้รับอัตราจัดสรรเงินรางวัล ขณะที่ลูกจ้างชั่วคราว จะได้รับอัตราจัดสรรเงินรางวัล 0.75 เท่าของเงินเดือน เนื่องจากลูกจ้างชั่วคราวมีภาระงานและความรับผิดชอบไม่เท่ากับข้าราชการและลูกจ้างประจำ
 
สำหรับผลการปฏิบัติราชการของหน่วยงานสังกัดกทม. ประจำปีงบประมาณ 2559 พบว่า คะแนนสูงสุดในระดับสำนัก 3 อันดับ ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการกรุงเทพมหานคร (ก.ก.) 4.886 คะแนน สำนักงานเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร 4.858 คะแนน และสำนักปกครองและทะเบียน 4.843 คะแนน ในส่วนของสำนักงานเขต พบว่า คะแนนสูงสูด 3 อันดับ 1.สำนักงานเขตภาษีเจริญ 4.908 คะแนน 2.สำนักงานเขตราษฎร์บูรณะ 4.903 คะแนน และ3.สำนักงานเขตบางบอน 4.900 คะแนน
 
ด้านนางวรรณวิไล พรหมลักขโณ รองผู้ว่าฯกทม. กล่าวว่า ขณะนี้ได้เร่งรัดทุกหน่วยงานให้เบิกจ่ายเงินโบนัส ประจำปี 2559 ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 ธ.ค.นี้ โดยเบื้องต้นจะจ่ายเงินโบนัสให้กับข้าราชการกรุงเทพมหานครสามัญ ประเภทอำนวยการต้นลงไป รวมทั้งลูกจ้างประจำและลูกจ้างชั่วคราว ก่อน ส่วนข้าราชการกรุงเทพมหานครสามัญประเภทอำนวยการสูง บริหารต้นและบริหารสูง จะจ่ายเงินโบนัสในเดือนม.ค.60 อย่างไรก็ตามคาดว่าจะใช้งบประมาณในการจ่ายโบนัส ประจำปี 2559 จำนวน 1,600 ล้านบาท
 
 
กพร.ปช. วางแผนพัฒนากำลังคน 5 ปี ทั้ง 76 จังหวัด ใน 19 อุตสาหกรรมหลัก มีความต้องการแรงงาน 5,021,040 คน 
 
วันที่ 21 ธ.ค. 59 นายธีรพล ขุนเมือง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน แถลงหลัง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการพัฒนาแรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพแห่งชาติ (กพร.ปช.) ครั้งที่ 2/2559 โดยมี พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รมว.แรงงาน ปลัดกระทรวงแรงงาน และทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและเอกชน ร่วมประชุม ว่า มีการพิจารณาแผนพัฒนากำลังคนระดับจังหวัด 76 จังหวัด พ.ศ. 2560-2564 และแผนแม่บทระบบสมรรถนะด้านแรงงานตามความต้องการของประเทศ ทั้งสองแผนจะเป็นแบบแผนในการพัฒนากำลังคนในด้านเชิงปริมาณและคุณภาพให้ได้มาตรฐานสากล แผนพัฒนากำลังคน 5 ปี (2560-2564) ทั้ง 76 จังหวัด ใน 19 อุตสาหกรรมหลัก มีความต้องการแรงงาน 5,021,040 คน แยกเป็นภาคการศึกษา ดำเนินการ 1,017,656 และหน่วยงานด้านการพัฒนากำลังคนดำเนินการอีก 4,003,384 คน ซึ่งในปี 2560 วางแผนพัฒนา 969,741 คน โดยประเภทอุตสาหกรรมและบริการ ที่ต้องการแรงงานเป็นจำนวนมาก 5 อันดับแรก ได้แก่ อันดับที่ 1 เกษตรกรรม ประมงและปศุสัตว์ อันดับที่ 2 อุตสาหกรรมการผลิต อันดับที่ 3 อุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตร อันดับที่ 4 ท่องเที่ยวและบริการ และอันดับที่ 5 ผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูป
 
สำหรับการประชุมครั้งนี้ ได้ร่วมกันพิจารณาแผนแม่บทระบบสมรรถนะแรงงาน ตามความต้องการของประเทศ พ.ศ. 2560-2564 เพื่อให้ระบบสมรรถะของประเทศมีประสิทธิภาพ ตามความต้องการที่แท้จริงของตลาดแรงงาน ผ่านกระบวนการทำงานแบบบูรณาการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในทุกภาคส่วน สามารถเชื่อมโยงมาตรฐานฝืมือแรงงาน มาตรฐานอาชีพ และกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ลดความซ้ำซ้อน รวมถึงแรงงานสามารถเทียบโอนประสบการณ์เพื่อเข้าสู่ระบบการศึกษาได้ด้วย
 
ในส่วนที่เกี่ยวข้องกัน ในการพัฒนาทักษะแรงงาน ก.แรงงาน ได้จัดตั้งสถาบันเทคโนโลยีชั้นสูง 12 แห่งนำร่อง เพื่อแสดงให้เห็นจุดเน้นของการพัฒนาทักษะในแต่ละพื้นที่ เช่น จังหวัดเชียงใหม่ เน้นการพัฒนาทักษะด้านการท่องเที่ยวและบริการ ส่วนจังหวัดสมุทรปราการและระยอง มีจุดเน้นในเรื่องยานยนต์และสิ้นส่วน ซึ่งจะมีการจัดตั้งสถาบันพัฒนาบุคลากรเทคโนโลยีอัตโนมัติและหุ่นยนต์ (MARA: Manufacturing Automation and Robotic Academy) โดยมีสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เป็นผู้ดำเนินการ เพื่อพัฒนาทักษะแรงงาน ทั้งที่อยู่ในสถานประกอบกิจการหรือแรงงานทั่วไป ให้สามารถพัฒนาแรงงานทันต่อความต้องการของภาคอุตสาหกรรม
 
ทั้งนี้ ในปี 2560 กพร.ตั้งเป้าหมายดำเนินการด้านเทคโนโลยีชั้นสูง จำนวน 19,864 คน และตั้งแต่ 1 ตุลาคม–7 ธันวาคม 2559 ดำเนินการแล้วกว่า 4,000 คน ทั้งการฝึกยกระดับฝืมือแรงงานและฝึกเตรียมเข้าทำงาน ผลสำรวจการมีรายได้เพิ่มขึ้นหลังจากเข้าฝึกยกระดับฝีมือแรงงาน จากผู้ตอบแบบสำรวจ 486 คน พบว่า มีรายได้เฉลี่ยต่อคนต่อเดือนเพิ่มขึ้น 228 บาท รวมรายได้เฉลี่ยที่เพิ่มขึ้นต่อปี 1,332,564 บาท นอกจากนี้ รองนายกรัฐมนตรี ได้เน้นย้ำให้ กพร. ดำเนินการพัฒนาทักษะด้านภาษาให้กับแรงงาน ซึ่งได้ตั้งเป้าที่จะดำเนินการในปี 2560 นี้ ไม่น้อยกว่า 20,000 คน
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net