Skip to main content
sharethis

รมว.ดิจิทัลฯ ย้ำ พ.ร.บ.คอมฯ ไม่มีอะไรเกี่ยวกับ 'ซิงเกิลเกตเวย์' หรือลิดรอนสิทธิประชาชน ออกเพื่อรับการเปลี่ยนไปของสังคมโลก-เทคโนโลยีพัฒนาเร็วมาก ด้าน 'iLaw' ชี้แม้ไม่มี แต่หลักคิดเดินหน้าไปทางนั้น ระบุยังมีกฎหมายคุมใช้เน็ตอีกหลายฉบับที่ต้องจับตา ขณะที่รองปลัดฯ เผย ตร.คุมตัวเยาวชนที่ร่วมกด F5 มาปรับทัศนคติแล้ว

 

ภาพ พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นำคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่หน่วยงานในสังกัดกระทรวงฯ เข้าสักการะท้าวมหาพรหม สิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษาฯ เพื่อความเป็นสิริมงคลเนื่องในโอกาสเข้าปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมวันแรก (21 ธ.ค. 2559) : ที่มา เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล 

เมื่อวันที่ 21 ธ.ค.ที่ผ่านมา ไทยพีบีเอส รายงานว่า พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่ากระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DE) ชี้แจงกรณีการผ่าน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ซึ่งมีกลุ่มผู้คัดค้านในขณะนี้ว่า พร้อมจะชี้แจงให้ฝ่ายคัดค้านเข้าใจว่า ขณะนี้เทคโนโลยีพัฒนาไปเร็วมาก ซึ่งการผ่านกฎหมายดังกล่าว เพื่อรองรับการเปลี่ยนไปของสังคมโลก และสังคมประเทศ ต้องปรับตัวให้ไล่ทันเทคโนโลยีอย่างมีสติ เพื่อร่วมกันพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ในช่วงเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีที่โลกกำลังเป็นระบบดิจิทัล หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน และชุมชนต้องปรับให้ทัน สิ่งปที่ประเทศไทยกำลังเป็นอยู่ คือ การใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในระบบดิจิทัล พัฒนาประเทศให้เป็นแสงสว่าง

“มีเรื่องที่สังคมเข้าผิดใจ และผมอยากขอชี้แจง ว่าเรากำลังเดินหน้าประเทศไทยเพื่อการพัฒนา แต่ระหว่างทางของการพัฒนาประเทศ มันอาจจะมีติ่งอยู่ 5% หรือ 10% ที่เป็นติ่งแบบเงาสลัวๆ ทำให้ประเทศมืดมิดลง เกิดความไม่แน่นอน ไม่ชัดเจน แต่เราอยู่กันในสังคม ก็ต้องดูแลสังคมด้วย เราต้องทำให้สังคมมีความปลอดภัย ขอให้ทุกคนมั่นใจว่าเรากำลังเดินในเส้นทางที่ถูกต้อง อะไรที่เป็นความแน่นอน ส่วนอะไรที่เป็นความคลุมเคลือ เราจะทำให้ถูกต้อง หลายอย่างที่ยังไม่แน่ใจนัก เราจะทำงานร่วมกับผู้เกี่ยวข้อง ผู้ที่กังวล เพื่อทำให้มีการปรับเปลี่ยนประกาศกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเกิดความชัดเจน และยอมรับมากที่สุด” รมว.กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

พิเชฐ กล่าวย้ำว่า พ.ร.บ.คอมพพิวเตอร์ฉบับดังกล่าวไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับประเด็นซิงเกิลเกตเวย์ การลิดรอนสิทธิประชาชน ทั้งนี้ จะมีการตั้งคณะกรรมกลั่นกรอง เพื่อมาพิจารณาความผิดจาก พ.ร.บ.ฉบับนี้ จะปรับเพิ่มจำนวนคณะกรรมการจาก 5 คน เป็น 9 คน และจะให้มีตัวแทนประชาสังคมร่วมด้วย

ส่วนข้อกังวลว่า รมว.กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จะมีอำนาจมากไปนั้น พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว ระบุชัดเจนว่า จะดำเนินการอย่างไร ต้องขอให้ศาลพิจารณาทำให้เกิดความรัดกุมในการกลั่นกรองมากขึ้น แต่ รมว.กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ทำหน้าที่ช่วยดูแลให้ทุกเรื่องเดินไปได้อย่างถูกต้องเหมาะสม เชื่อว่าจะทำให้ผู้กังวลใจยอมรับได้ และขอให้เปิดใจดูการทำงานของรัฐบาลกับกฎหมาย พ.รบ.คอมพิวเตอร์ฉบับนี้

เผย ตร.คุมตัวเยาวชนที่ร่วมกด F5 มาปรับทัศนคติแล้ว

น.อ.สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ระบุว่า ขณะนี้ตำรวจดำเนินการควบคุมตัวเยาวชน ที่มีส่วนร่วมต่อการกด F5 หรือเข้ามาสร้างผลกระทบให้กับเว็บไซด์ราชการใช้งานไม่ได้ ตามคำชักชวนของกลุ่มที่ต่อต้านซิงเกิลเกตเวย์ และ ต่อต้าน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เพื่อนำตัวมาปรับทัศนคติและสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเนื่องจากเห็นว่า การกระทำของกลุ่มเยาวชนในขณะนี้ที่ร่วมกด F5 เพื่อทำให้เว็บล่มนั้น เมื่อได้รับการชี้แจงก็จะเกิดความเข้าใจ ซึ่งภาครัฐไม่ต้องการเอาผิดกับกลุ่มเยาวชนเหล่านี้แต่เมื่อพบว่าผิดก็ต้องชี้แจงเป็นรายบุคคลให้เข้าใจและปล่อยตัวกลับ

iLaw ชี้แม้ไม่มีซิงเกิลเกตเวย์ แต่หลักคิดเดินหน้าไปทางนั้น

สำหรับประเด็น ซิงเกิลเกตเวย์ กับ ร่างแก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ นั้น เมื่อวันที่ 15 ธ.ค.ที่ผ่านมา iLaw หรือ โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน ได้เขียนอธิบายไว้ว่า ร่างแก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับนี้ ไม่มีมาตราไหนเขียนให้รัฐมีอำนาจทำ ซิงเกิลเกตเวย์ หรือระบบการเดินทางของข้อมูลในโลกออนไลน์แบบประตูเข้าออกทางเดียวที่รัฐเป็นผู้ควบคุม ได้โดยตรง เพราะ Single Gateway นั้น ต้องทำใน "ทางกายภาพ" คือต้องสร้างระบบทางเดินของข้อมูลขนาดใหญ่ขึ้นมา แต่ร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับนี้ ให้อำนาจรัฐมากขึ้นในการควบคุมเนื้อหาบนโลกออนไลน์และการเข้าถึงข้อมูลของประชาชนใน "ทางกฎหมาย" เท่านั้น ไม่ใช่ทางกายภาพ

iLaw อธิบานด้วยว่า โดยหลักคิดแล้ว ร่างแก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ กำลังเดินหน้าไปในทิศทางเดียวกับ Single Gateway คือ ทิศทางที่มองว่า "โลกอินเทอร์เน็ตนั้นเป็นภัย ต้องให้อำนาจรัฐเข้ามาควบคุมอย่างเต็มที่" สำหรับคนที่คัดค้านซิงเกิลเกตเวย์ เพราะไม่เห็นด้วยกับแนวคิดเช่นนี้ ก็ย่อมต้องคัดค้าน ร่างแก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ด้วย สำหรับคนที่ไม่เห็นด้วยกับแนวคิด "รัฐเป็นใหญ่" ต้องบอกว่ายังมีกฎหมายที่จะเข้ามาควบคุมการใช้งานอินเทอร์เน็ตอีกหลายฉบับที่ต้องจับตาหลังจากนี้ (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม)
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net