Skip to main content
sharethis

27 ธ.ค. 2559 เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษกคณะกรรมาธิการกิจการวิสามัญสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(วิปสนช.) แถลงภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมได้พิจารณาวาระการเข้าชื่อของสมาชิกสนช. จำนวน 84 คน เพี่อเสนอแก้ไขพ.ร.บ.คณะสงฆ์ ฉบับปี พ.ศ. 2505 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2535 ในมาตรา 7 เรื่องการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช ซึ่งคณะกรรมาธิการศาสนา และศิลปวัฒนธรรม นำโดย พล.ต.อ.พิชิต ควรเตชะคุปต์ ประธานคณะกรรมาธิการฯ เป็นผู้รับฟังความเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องและได้พิจารณาเสร็จแล้ว คือ “พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชองค์หนึ่ง และให้นายกรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ” โดยให้กลับไปใช้ตามข้อความตามลักษณะเดิมตามมาตรา 7 ของพ.ร.บ.คณะสงฆ์ปี พ.ศ.2505 โดยยกเลิกข้อความในมาตรา 7 ของพ.ร.บ.สงฆ์ ปี พ.ศ.2505 แก้ไข เพิ่มเติม พ.ศ. 2535 ที่ระบุว่า “พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชองค์หนึ่งในกรณีที่ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชว่างลง ให้นายกรัฐมนตรี โดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคม เสนอนามสมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ ขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงสถานปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช ในกรณีที่สมเด็จพระราชคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคมเสนอนามสมเด็จพระราชาคณะรูปอื่นผู้มีอาวุโสโดยสมณศักดิ์รองลงมาตามลำดับ และสามารถปกิบัติหน้าที่ได้ ขึ้นทูลเกล้าฯเพื่อทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช”

ต่อกรณีคำถามว่าเป็นการตัดขั้นตอนการเสนอชื่อสมเด็จพระสังฆราชของมหาเถรสมาคมออกไปใช่หรือไม่ นั้น เจตน์ กล่าวว่า หากดูตามถ้อยคำจะเป็นลักษณะนั้นคือตัดตอนของมหาเถรสมาคมออกไป แต่ทั้งนี้คงต้องดูการศึกษาของคณะกรรมาธิการและครม.อีกครั้งว่าเป็นอย่างไร

โดยขณะนี้คณะกรรมาธิการให้เหตุผลการเสนอแก้ไขดังกล่าวได้รับฟังความเห็นจากผู้เกี่ยวข้องมาแล้ว และเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งเรื่องการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชที่ผ่านมา รวมถึงกลับไปใช้ความเดิมตามโบราณราชประเพณี ที่เป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช อย่างไรก็ตามร่างพ.ร.บ.นี้จะเสนอเข้าที่ประชุมสนช. ในวันที่ 29 ธันวาคมนี้ ซึ่งจากการประสานงานไปยังรัฐบาล ทางครม.จะส่งนายออมสิน ชีวพฤกษ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เข้าร่วมประชุม เพื่อพิจารณารับเรื่องไปศึกษา ซึ่งจะส่งเรื่องกลับมาให้ทางสนช.เมื่อไหร่อย่างไรขึ้นอยู่ทางครม. แต่คาดว่าจะเข้าสู่ที่ประชุมสนช.ได้ภายหลังปีใหม่

ประยุทธ์ไม่รู้แก้ พ.ร.บ.สงฆ์ 

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงกระแสข่าวการเสนอแก้ไข  พ.ร.บ.สงฆ์ ว่า ถือเป็นเรื่องธรรมดา และตนเองยังไม่รู้ ส่วนการแก้ไข พ.ร.บ.ฉบับใดก็ตามถือเป็นหน้าที่ของทุกคนเสนอใช้กฎหมายได้ รัฐบาลก็เสนอได้ สนช. สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ก็เสนอได้ ซึ่งขั้นตอนมีอยู่แล้ว นี่คือขั้นตอนของการทำงาน ในเรื่องการเสนอกฎหมาย ตนไม่ต้องไปสั่งใคร หรือใครต้องมาขออนุญาต ถือเป็นกลไกทางกฎหมายที่ฝ่ายนิติบัญญัติเป็นผู้ดำเนินการ "ผมยังไม่รู้อะไรเลยในเรื่องนี้"

เจ้าคุณประสาร ชี้ผิดปกติอยู่มาก

ด้าน พระเมธีธรรมาจารย์ หรือเจ้าคุณประสาร ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร ซึ่งเป็นแกนนำในการเคลื่อนไหวผลักดันสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ขึ้นเป็นพระสังฆราช ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กถึงกรณี สนช.เสนอแก้ไข พ.ร.บ.คณะสงฆ์

พระเมธีธรรมาจารย์โพสต์ว่า การเสนอแก้ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ในหมวดที่ว่าด้วยการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช มาตรา 7 โดยจะเสนอให้ตัดการเสนอสมเด็จพระราชาคณะที่มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ออกนั้น ในเรื่องนี้อาตมาเห็นว่ามีความผิดปกติอยู่มาก เพราะจากการพยายามปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนาเรื่อยมาจนถึงการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชนี้ ฝ่ายที่ดำเนินการในเรื่องนี้ล้วนมีจุดมุ่งหมายที่ตรงกันอย่างหนึ่ง คือการแก้ที่มาของการเสนอนามสมเด็จพระราชาคณะฝ่ายที่มีอำนาจในปัจจุบันล้วนหายใจในเรื่องนี้เป็นจังหวะเดียวกัน ไม่ว่าคณะไหน กลุ่มไหนจะออกหน้าสื่อก็ตาม เป็นเพราะเหตุใด น่าสงสัยยิ่ง

พระเมธีธรรมาจารย์ หรือเจ้าคุณประสาร
 
"อาตมาขอถามในนามพระสงฆ์รูปหนึ่งว่า ทำไมคฤหัสถ์ญาติโยมเหล่านี้ท่านมีความเดือดร้อนอะไรกันมากมายขนาดนี้ต่อการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชของคณะสงฆ์ไทย" เจ้าคุณประสาร โพสต์
 
พระเมธีธรรมาจารย์ ระบุว่า ทำไมวันนี้ท่านเดือดร้อนดิ้นรนอะไรกันนักหนา เป็นอะไรกันไปแล้ว การเสนอนามสมเด็จพระราชาคณะขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชนั้น เป็นแนวปฏิบัติตามโบราณราชประเพณี และเป็นที่ยอมรับกันในวงการคณะสงฆ์ วันนี้คณะสงฆ์ผู้ใช้กฎหมายฉบับนี้ยังไม่เห็นพระรูปไหนเดือดร้อนอะไรเลย ทุกรูปอยู่กันอย่างปกติ คณะสงฆ์ก็ปกครองกันไป ท่านจะเข้ามาล้วงมาควักอะไรกันนักกันหนา จะไม่ให้ท่านปกครองกันเองได้บ้างหรืออย่างไร"
 
เจ้าคุณประสารระบุต่อว่า ท่านที่เป็นคฤหัสถ์ ท่านต้องศึกษาเรียนรู้วัฒนธรรมเพณีในองค์กรสงฆ์บ้าง เช่น เวลาพระท่านนั่งตามลำดับในพระราชพิธี ท่านลำดับการนั่งอย่างไร ทำไมปฏิบัติเช่นนี้ ท่านเคยรู้บ้างไหม
 
"อาตมาบอกได้เลยว่า วันนี้ถ้า พล.ต.อ.พิชิต ควรเดชะคุปต์ และคณะมวลสมาชิกบางท่านใน สนช. จะฉวยโอกาสในช่วงชุลมุนวุ่นวายฝุ่นตลบนี้ เสนอแก้ไข พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ปี พ.ศ.2505 แก้ไขเพิ่มเติมปี พ.ศ.2535 ในเรื่องการเสนอนามสมเด็จพระราชาคณะ ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชนั้น ท่านก็จะต้องพบต้องเจอกับองค์กรพุทธและพระสงฆ์อีกจำนวนมากมายทั่วประเทศ ที่ไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้" เจ้าคุณประสาร โพสต์

 

ที่มา มติชนออนไลน์, ไทยรัฐออนไลน์, สำนักข่าวไทยไทยโพสต์ และ เฟซบุ๊ก พระเมธีธรรมาจารย์ - เจ้าคุณประสาร

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net