สนช.ผ่าน 3 วาระรวด ถวายคืนพระราชอำนาจกษัตริย์สถาปนาสังฆราช - ตัดมหาเถรสมาคมชงชื่อ

สนช. พิจารณา 3 วาระ ก่อนมีมติเอกฉันท์เห็นชอบการแก้ไข พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ถวายคืนพระราชอำนาจให้พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช และให้นายกรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ  ตัดมหาเถรสมาคมชงชื่อ

ที่มาภาพ เว็บไซต์วิทยุและโทรทัศน์รัฐสภา

29 ธ.ค. 2559 จากกรณี เมื่อวันที่ 27 ธ.ค. ที่ผ่านมา เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษกคณะกรรมาธิการกิจการวิสามัญสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(วิปสนช.) แถลงภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมได้พิจารณาวาระการเข้าชื่อของสมาชิกสนช. จำนวน 84 คน เพี่อเสนอแก้ไขพ.ร.บ.คณะสงฆ์ ฉบับปี พ.ศ. 2505 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2535 ในมาตรา 7 เรื่องการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช ซึ่งคณะกรรมาธิการศาสนา และศิลปวัฒนธรรม นำโดย พล.ต.อ.พิชิต ควรเตชะคุปต์ ประธานคณะกรรมาธิการฯ เป็นผู้รับฟังความเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องและได้พิจารณาเสร็จแล้ว คือ “พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชองค์หนึ่ง และให้นายกรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ” โดยให้กลับไปใช้ตามข้อความตามลักษณะเดิมตามมาตรา 7 ของพ.ร.บ.คณะสงฆ์ปี พ.ศ.2505 โดยยกเลิกข้อความในมาตรา 7 ของพ.ร.บ.สงฆ์ ปี พ.ศ.2505 แก้ไข เพิ่มเติม พ.ศ. 2535 ที่ระบุว่า “พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชองค์หนึ่งในกรณีที่ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชว่างลง ให้นายกรัฐมนตรี โดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคม เสนอนามสมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ ขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงสถานปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช ในกรณีที่สมเด็จพระราชคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคมเสนอนามสมเด็จพระราชาคณะรูปอื่นผู้มีอาวุโสโดยสมณศักดิ์รองลงมาตามลำดับ และสามารถปกิบัติหน้าที่ได้ ขึ้นทูลเกล้าฯเพื่อทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช” นั้น (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม)

ล่าสุดวันนี้ (29 ธ.ค. 59) เว็บไซต์วิทยุและโทรทัศน์รัฐสภา รายงานว่า  สนช.พิจารณา 3 วาระ ก่อนมีมติเอกฉันท์เห็นชอบการแก้ไข พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ถวายคืนพระราชอำนาจให้พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช และให้นายกรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ       

ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)  ที่มี พรเพชร ประธาน สนช. เป็นประธานการประชุม พิจารณาแบบสามวาระรวด ก่อนมีมติในวาระ 3 เห็นชอบ 182 เสียง งดออกเสียง 6 เสียง  จากผู้เข้าร่วมประชุม 188 คน ให้มีการประกาศใช้ ร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)คณะสงฆ์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ซึ่งเป็นการแก้ไขจากกฎหมายฉบับเดิมคือ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 ในมาตรา 7 ที่กำหนดให้การสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช จะต้องผ่านการพิจารณาให้ความเห็นชอบของมหาเถรสมาคมก่อน โดยให้ที่ประชุมมหาเถรสมาคมเสนอนามสมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์และนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช แต่ร่างที่ สนช.เสนอแก้ไขนี้ เสนอมาตรา 3 ให้เป็นการแก้ไขมาตรา 7 ดังกล่าว บัญญัติให้พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชองค์หนึ่ง และให้นายกรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ
 
สำหรับการแก้ไขร่างกฎหมายคณะสงฆ์นี้เกิดขึ้นจากกรณีที่ พล.ต.อ.พิชิต ประธานคณะกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรมและการท่องเที่ยว กับคณะสมาชิก สนช. รวม 81 คน เป็นผู้เข้าชื่อเสนอขอแก้ไข โดยระบุเหตุผลว่า ตามโบราณราชประเพณีที่ปฏิบัติสืบต่อกันมานั้นเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช และได้มีการบัญญัติใน พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พระพุทธศักราช 2484 เป็นต้นมา จึงควรคงไว้ซึ่งการสืบทอดและรักษาโบราญราชประเพณีดังกล่าวไว้
 
ขณะที่ ออมสิน ชีวพฤกษ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ตัวแทนรัฐบาล กล่าวต่อที่ประชุมสภาฯ ว่ารัฐบาลไม่ขัดข้องในการที่สภาจะดำเนินการพิจารณาต่อไป  ทำให้ที่ประชุม สนช. พิจารณาต่อในวาระรับหลักการและต่างแสดงความเห็นด้วยให้มีการแก้ไข พ.ร.บ.สงฆ์ อาทิ สมพร เทพสิทธา ที่ระบุ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พระพุทธศักราช 2484 และ พรบ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 บัญญัติไว้ชัดเจนอยู่แล้วว่า พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาสังฆราช และมีการใช้ติดต่อมาถึง 51 ปี ถือเป็นราชประเพณี แต่ต่อมามีการแก้ไขในปี พ.ศ. 2535 เพิ่มเงื่อนไขให้การสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช ต้องเป็นสมเด็จพระราชาคณะอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ ดังนั้น เมื่อกฎหมายมีปัญหาจึงต้องแก้ไขที่กฎหมาย เช่นเดียวกับ สมชาย แสวงการ ที่เห็นว่าการยึดความอาวุโสเพียงอย่างเดียวในการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราช อาจทำให้เกิดปัญหา ซึ่ง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ถูกแก้ไขเมื่อปี พ.ศ. 2535 ขณะที่ สมเด็จพระสังฆราชองค์ล่าสุด ได้รับการสถาปนาเมื่อปี พ.ศ. 2532 กฎหมายฉบับดังกล่าว จึงไม่เคยถูกใช้มาก่อน จึงไม่เคยเกิดปัญหา รวมถึง ตวง อัณฑะไชย เจริญศักดิ์ สาระกิจ มณเฑียร บุญตัน และ เจตน์ ศิรธรานนท์ ที่เห็นควรให้มีการแก้ไขเพราะมองว่าจะทำให้กฎหมายกลับไปสู่ฉบับเดิมที่ไม่เคยมีปัญหา เป็นการการถวายคืนพระราชอำนาจในการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช และการแก้ไขครั้งนี้ไม่ได้ยุ่งยาก และไม่กระทบหรือเกี่ยวพันกับมาตราอื่น ที่ประชุมจึงเห็นควรรับหลักการให้มีการแก้ไข พ.ร.บ.คณะสงฆ์ด้วยเสียง 184 เสียง โดยไม่มีผู้ไม่เห็นด้วย ก่อนเข้าสู่การพิจารณาวาระ 2 ด้วยกรรมาธิการเต็มสภาแบบเรียงลำดับรายมาตราจนครบทั้งร่าง และพิจารณาทั้งร่าง ท้ายที่สุดมีจึงมติเห็นชอบในวาระ 3 นำไปสู่การประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท