ปีหน้า ‘สวัสดิการสุขภาพ’ มุ่งสู่ ‘สังคมสงเคราะห์’ (?) เมื่อรัฐลดบทบาท เพิ่มภาระประชาชน

ทิศทางสวัสดิการสุขภาพปีหน้า ภาคประชาชนหวั่นจากสวัสดิการมุ่งสู่สังคมสงเคราะห์ในอนาคต คาดมีความพยายามแก้กฎหมายหลักประกันสุขภาพลดการมีส่วนร่วมภาคประชาชน นักวิชาการทีดีอาร์ไอมองว่ายังไม่มีการความเปลี่ยนแปลงสำคัญ แต่เนื้อหารัฐธรรมนูญชัดเจนว่ารัฐต้องการลดบทบาท ให้ประชาชนรับภาระมากขึ้น

ภาพจาก เว็บไซต์มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

30 บาทรักษาทุกโรค บัตรทอง หรือชื่ออย่างเป็นทางการว่าหลักประกันสุขภาพ เป็นนโยบายที่ผลักดันโดย นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ และถูกทำให้เป็นจริงโดยอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร กลายเป็นนโยบายที่สร้างความนิยมล้นหลาม ทว่า นับตั้งแต่มี พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 สวัสดิการสุขภาพนี้ก็ถูกท้าทายมาตลอด

ปี 2559 เป็นอีกปีหนึ่งที่หลักการว่าด้วยสวัสดิการสุขภาพต้องเจอแรงเสียดทาน หนักที่สุดเห็นจะเป็นถ้อยคำที่ถูกบรรจุในรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านประชามติไปเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม โดยในมาตรา 47 ที่ระบุในวรรค 2 ว่า บุคคลผู้ยากไร้ย่อมมีสิทธิได้รับการบริการสาธารณสุขของรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายตามที่กฎหมายบัญญัติ ซึ่งถูกตั้งข้อสังเกตว่ารัฐกำลังลดระดับสวัสดิการสุขภาพให้เหลือเพียงการสังคมสงเคราะห์ จากนั้นมาตรการที่ตามมาของรัฐอย่างการขึ้นทะเบียนคนจนก็ถูกตั้งข้อสังเกตจากภาคประชาชนว่า เป็นขั้นแรกๆ ของการคัดกรองคนจนออกจากคนมีเพื่อจัดการ ‘สงเคราะห์’ ให้แก่ผู้ที่มาขึ้นทะเบียน

ไม่ใช่เพียงหลักประกันสุขภาพเท่านั้น สวัสดิการสุขภาพข้าราชการเป็นอีกหนึ่งประเด็นร้อนปลายปีที่แนวคิดการให้บริษัทประกันของเอกชนเข้ามารับหน้าที่แทนกรมบัญชีกลาง ทำให้เกิดกระแสต้าน จนต้องพับเก็บไปในที่สุด

(ยังไม่นับเรื่องยิบย่อยอย่างการแช่แข็งตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือ สปสช. ที่ยังไม่สามารถหาคนมานั่งตำแหน่งได้ เนื่องจากเกิดการร้องเรียน ซึ่งฝ่ายหนุนระบบหลักประกันฯ มองว่า เป็นความพยายามบ่อนเซาะระบบที่มีมาตลอด)

สุรีรัตน์ ตรีมรรคา ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ เคยกล่าวเกี่ยวกับประเด็นการขึ้นทะเบียนคนจนว่า รัฐควรขึ้นทะเบียนคนรวยด้วย โดยให้เหตุผลว่า รัฐให้คนจนไปลงทะเบียนเพื่อจัดสวัสดิการ ซึ่งการลงทะเบียนนั้นเพื่อที่จะรู้ว่าแต่ละคนมีรายได้เท่าไหร่ ถ้าทุกคนในประเทศไทยที่มีบัตรประชาชนไปลงทะเบียนว่าเป็นใคร ทำงานอะไร และชี้แจงเรื่องรายได้ เพื่อจ่ายภาษี ไม่ว่าจะรวยหรือจน จะทำให้รัฐรู้ได้ว่าใครมีรายได้มากหรือน้อย จะเป็นธรรมกว่า และรัฐสามารถจัดสวัสดิการให้คนมีรายได้น้อยได้จริง ไม่ใช่สงเคราะห์ ไม่ใช่มาแอบอ้างลงทะเบียนเป็นคนจน

“รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีวิธีคิดเชิงหลักการเปลี่ยนไป ทั้งที่ควรรับรองสิทธิพื้นฐานของประชาชนทุกคน เช่น ได้รับการรักษาพยาบาลเมื่อเจ็บป่วย ได้รับการศึกษาทุกคนโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เมื่อสูงวัยก็ได้รับบำนาญพื้นฐานถ้วนหน้า ไม่ใช่ระบุว่า ผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไปที่มีรายได้ไม่เพียงพอ มีสิทธิได้รับสวัสดิการของรัฐ ทั้งที่สวัสดิการควรเป็นของทุกคน และรัฐควรต้องจัดหาให้ ซึ่งการเขียนแบบนี้สามารถตีความได้ เช่น ออกกฎหมายให้เบี้ยยังชีพเฉพาะคนแก่ที่จนเท่านั้น หรือแก้กฎหมายหลักประกันสุขภาพให้เป็นสำหรับผู้ยากไร้เท่านั้น คนเกือบจน คนเกือบรวย ก็อาจต้องเสียเงินค่ารักษา เป็นต้น”

ถ้าดูภาพรวมและเจตนารมณ์รวมของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ก็ค่อนข้างชัดว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ต้องการลดบทบาทของรัฐลงในเรื่องเหล่านี้ และให้ประชาชนเข้ามารับภาระมากขึ้น ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องสาธารณสุข ยังมีเรื่องการศึกษา ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะมาแนวนี้ตลอด

ด้าน นิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า

“เรื่องการสังคมสงเคราะห์มันมีวิธีคิดที่ไปทางนั้นอยู่ ที่ไม่ได้มองเรื่องรัฐสวัสดิการเป็นหัวใจหลัก คือถ้ายึดเรื่องนี้ ก็ต้องเชื่อว่าคนทุกคนมีสิทธิที่จะเข้าถึงบริการได้อย่างเสมอภาค ทั่วถึง และเท่าเทียม แต่วิธีคิดนี้หายไป เนื่องจากมองว่าถ้ามีการจัดรัฐสวัสดิการแบบนั้นจะเป็นภาระของประเทศ ที่ง่ายที่สุดสำหรับคนที่มาบริหารประเทศก็คือทำเป็นการสงเคราะห์หรือช่วยเฉพาะกลุ่ม แล้วบอกว่าได้แก้ปัญหาแล้ว เพราะว่ามีเฉพาะคนกลุ่มนี้เท่านั้นที่ต้องการความช่วยเหลือจากรัฐ คนชั้นกลางหรือคนมีสตางค์ควรจะช่วยตัวเอง มันกลายเป็นวาทกรรมนั้น อันนี้เป็นเรื่องที่น่าห่วง เพราะถ้ามีความเชื่อว่ารัฐสวัสดิการทำไม่ได้ เป็นภาระ จึงมีความคิดเรื่องขึ้นทะเบียนคนจนเกิดขึ้น ซึ่งต้องบอกว่าน่าห่วงอันเนื่องจากมีการเขียนแบบนี้ในรัฐธรรมนูญด้วย”

แต่นิมิตร์แสดงทัศนะว่า จากความเข้าใจ ความเติบโตของระบบหลักประกันสุขภาพที่มีรากฐานมาจากกฎหมาย รัฐคงไม่สามารถทำอะไรได้ง่ายนัก เพราะการจะเปลี่ยนระบบสวัสดิการสุขภาพแบบถอนรากถอนโคนจากสวัสดิการเป็นการสงเคราะห์ไม่สามารถทำได้ เว้นเสียแต่จะยกเลิก พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพฯ เนื่องจากในกฎหมายนี้ให้สิทธิคนไทยทุกคนที่ไม่ใช่ข้าราชการและผู้ประกันตนให้เข้าถึงบริการสุขภาพ

“แต่ว่าในเชิงรายละเอียดของการดำเนินการอาจจะมีการแซะกัน เช่น พูดถึงเรื่องการร่วมจ่าย ใครที่มีระดับฐานะเท่านี้ๆ ให้ร่วมจ่าย ซึ่งเป็นวิธีคิดที่มีมาตลอดของคนในวิชาชีพสาธารณสุข คือมีแนวโน้มว่ารัฐคิดเรื่องรัฐสงเคราะห์ ไม่ใช่รัฐสวัสดิการ แต่ผมยังศรัทธาและเชื่อในแนวต้านของประชาชนที่จะส่งเสียงและต้านอยู่”

เหตุนี้ นิมิตร์เห็นว่าจะยังไม่มีความเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ในช่วงเวลาสองสามปีนี้ แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือการลดการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งนิมิตร์มองเห็นสัญญาณดังกล่าว

“มีความพยายามที่จะแก้กฎหมาย ในปีหน้าหรือภายในเร็วๆ อันที่น่าห่วงในการแก้กฎหมายคือกระบวนการมีส่วนร่วมจากหลายภาคส่วนที่เป็นความก้าวหน้าในตัวกฎหมายอาจจะหายไป เช่น มีการปรับสัดส่วนของภาคประชาชนลดลง ไปเพิ่มสัดส่วนของภาควิชาชีพ ซึ่งจะยิ่งก่อให้เกิดความขัดแย้ง ผมเป็นห่วงในเรื่องนี้”

 

“รัฐธรรมนูญฉบับนี้ต้องการลดบทบาทของรัฐและให้ประชาชนเข้ามารับภาระมากขึ้น” วิโรจน์ ณ ระนอง ผู้อำนวยการวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขและการเกษตร

ในมุมมองของนักวิชาการที่ติดตามเรื่องนี้ วิโรจน์ ณ ระนอง ผู้อำนวยการวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขและการเกษตร สถาบันเพื่อการวิจัยและพัฒนาประเทศหรือ ทีดีอาร์ไอ เชื่อว่าจะยังไม่มีความเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ แต่ก็เห็นชัดเจนว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ต้องการลดบทบาทการจัดสวัสดิการต่างๆ ของรัฐลงและให้ประชาชนเข้ามารับภาระมากขึ้น

“เรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทยเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันมาอย่างน้อย 15-20 ปีแล้ว และไม่เคยมีฉันทามติไปในทางหนึ่งทางใด ที่ผ่านมามักเป็นการผลักดันของฝ่ายต่างๆ ขึ้นกับว่าฝ่ายไหนมีอำนาจก็ดันวาระของฝ่ายตัวเองออกมาได้มากหน่อย แต่ก็ยังแทบไม่มีผลในทางปฏิบัติ ตัวอย่างเช่นในรัฐบาลนี้ พลเอกประยุทธ์ก็จะพูดบ่อยๆ ว่า นโยบาย 30 บาท ประเทศอื่นที่รวยกว่าเรา เขาก็ยังไม่ทำกัน ขณะเดียวกันก็มีการผลักดันของบางฝ่ายให้แก้ระเบียบการใช้เงินของ 30 บาท ห้ามใช้เงินกับกิจกรรมที่ไม่ใช่การรักษาโดยตรง เมื่อแก้เสร็จแล้วก็ปรากฏว่าโรงพยาบาลหลายแห่งมีปัญหาไม่กล้าใช้เงินในส่วนที่จำเป็นต้องใช้ ในที่สุดรัฐบาลก็ต้องออกมาตรา 44 มาแก้ปัญหาจากประกาศของรัฐบาลอีกทีหนึ่ง โดยบอกว่าโรงพยาบาลสามารถใช้เงินเพื่อวัตถุประสงค์เหล่านั้นได้ เพราะฉะนั้นในทางปฏิบัติ นโยบาย 30 บาท ก็คงยังไม่น่ามีอะไรเปลี่ยนแปลงในปีหน้า ถึงแม้ว่าภายใต้รัฐบาลแบบนี้ วันดีคืนดีก็อาจประกาศอะไรออกมาได้ แต่ถ้ารัฐบาลยังไม่ได้ใช้วิธีปุบปับแบบนั้น ผมคิดว่าก็ยังไม่มีฉันทามติอะไรที่จะเกิดความเปลี่ยนแปลงใหญ่โตในส่วนนี้ในปีหน้า

“ส่วนที่ 2 ประกันสังคม  ตอนเริ่มนโยบาย 30 บาท คนที่พยายามดันเรื่อง 30 บาท ต้องการรวม 3 โครงการนี้เข้าด้วยกัน ในช่วงแรกคนที่มีส่วนได้เสียกับประกันสังคม รวมทั้งเอ็นจีโอต่างๆ ก็ค้านเสียงแข็ง เพราะมองว่า 30 บาทน่าจะเป็นอะไรที่แย่กว่าประกันสังคม แต่เมื่อเวลาผ่านไปหลายปี ก็มีเอ็นจีโอออกมารณรงค์ไม่ให้จ่ายเงินประกันสังคมส่วนที่ใช้สำหรับสุขภาพ โดยอ้างว่ามีแต่ผู้มีสิทธิ์ประกันสังคมต้องจ่าย ขณะที่ 30 บาท กับข้าราชการไม่ต้องจ่าย ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมวิจารณ์มาโดยตลอดว่าเป็นการเคลื่อนไหวที่เห็นแก่ตัว เพราะในขณะนั้นคนที่อยู่ในประกันสังคมได้รับเงินจากรัฐประมาณร้อยละ 2.75 ของเงินเดือน หรือร้อยละ 2.75 ของ 15,000 บาท ในกรณีที่เงินเดือนสูงกว่านั้น ซึ่งมากกว่าค่าหัวของ 30 บาทที่รัฐบาลจ่ายให้

“ในขณะนี้ มีความพยายามของสำนักงานประกันสังคมให้ขยายเพดานเงินเดือนจาก 15,000 เป็น 20,000 และต่อไป 25,000 บาท ในอนาคตอันใกล้ ถ้าขยายเพดานเงินเดือนไปถึง 20,000 ก็น่าจะช่วยทำให้การรักษาพยาบาลพของประกันสังคมดีขึ้น ซึ่งในระยะหลังนี้ ผมเข้าใจว่ามีโรงพยาบาลเอกชนหลายแห่งถอยไปจากประกันสังคม โดยเฉพาะในต่างจังหวัด ซึ่งส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะเงินค่าหัวและอื่นๆ ที่ประกันสังคมให้โรงพยาบาลโตช้ากว่างบ 30 บาท ส่วนนี้ก็เป็นความพยายามเปลี่ยนแปลงข้อหนึ่งที่ต้องจับตาดูกันต่อไป

“ส่วนที่ 3 สวัสดิการข้าราชการ ปีที่ผ่านมาเป็นข่าวมากที่สุดจากข้อเสนอของกระทรวงการคลัง ที่จะให้บริษัทประกันเอกชนเข้ามาทำหน้าที่แทน ซึ่งตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ผมเชื่อว่าฝั่งนี้เป็นฝั่งที่มีความรู้เกี่ยวกับประกันสุขภาพน้อยที่สุด ทำให้มีข้อเสนอออกมาแบบนี้ หลายคนคิดว่าภาคเอกชนวางแผนเข้ามากินรวบ แต่ข้อเสนอจริงๆ ไปจากภาครัฐ และดูเหมือนว่าภาคเอกชนเองก็เป็นห่วงอยู่เหมือนกัน โดยเฉพาะที่รัฐบอกว่าจะไปกำหนดเงื่อนไขที่มัดมือเขา โดยบอกว่าตอนนี้งบอาจอยู่ที่ปีละ 6.8 หมื่นล้าน ต่อไปจะต้องไม่เกิน 7 หมื่นล้าน ซึ่งผมคิดว่าเรื่องประกันสุขภาพ ไม่มีประเทศไหนในโลกที่จะทำแบบนี้ได้

“สาเหตุหลักก็เพราะปกติค่าใช้จ่ายด้านรักษาพยาบาลมักจะเพิ่มขึ้นด้วย 2 ปัจจัยหลักๆ คือ ส่วนแรกโครงสร้างประชากร ถ้าเรามีผู้สูงอายุมากขึ้น ค่าใช้จ่ายก็จะมากขึ้น ส่วนที่ 2 คือเพิ่มจากการใช้เทคโนโลยีที่ดีขึ้น ถ้าโครงสร้างประชากรเป็นแบบนี้และต้องการให้ประชาชนเข้าถึงเทคโนโลยีที่ดีขึ้น ไม่ใช่แช่แข็งเทคโนโลยี ทำยังไงก็ไม่สามารถแช่แข็งงบเอาไว้ได้

“ผมเข้าใจว่าความเชื่อหนึ่งที่จะโยนสวัสดิการข้าราชการให้ประกันภัย เพราะเชื่อว่ามีการคอร์รัปชั่นและไร้ประสิทธิภาพอยู่เยอะ ความเห็นส่วนตัวผม การคอร์รัปชั่นไม่ใช่ประเด็นใหญ่ ความไร้ประสิทธิภาพต่างหากที่เป็นประเด็น แต่ส่วนหนึ่งมันผูกมากับสิทธิประโยชน์ของข้าราชการ ซึ่งหมายความว่าถ้าจะทำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น คุณต้องไปจำกัดสิทธิของเขาในระดับหนึ่ง เช่น ข้าราชการต้องผูกกับโรงพยาบาลใดเป็นหลัก ยกเว้นกรณีฉุกเฉินที่เป็นอันตรายต่อชีวิต เป็นต้น

“แต่ถ้าคุณไม่จำกัดสิทธิของข้าราชการ มันจะยากมากที่จะคุมค่าใช้จ่าย หรือถ้าคุณไปจำกัดสิทธิเขา ก็ยากที่จะคุมให้งบนี้อยู่ไปได้เป็นสิบปี อย่างทุกวันนี้ สวัสดิการข้าราชการเพิ่มไม่สูง เราอยู่ประมาณ 6 หมื่นล้านบาทมาอย่างน้อยห้าหกปีแล้ว เพิ่มมาปีละประมาณ 2,000 ล้านบาท ซึ่งเมื่อคิดออกมาก็ตกปีละร้อยละ 3 ซึ่งผมคิดว่าไม่สูงสำหรับค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาล ผมเข้าใจว่าส่วนหนึ่งที่สามารถคุมค่าใช้จ่ายได้ระดับนี้ นั่นเป็นเพราะสวัสดิการข้าราชการมีส่วนที่เป็นร่วมจ่ายมากกว่าสิทธิอื่น

“สำหรับในเรื่องนี้ ข่าวหนึ่งที่ได้ยินมาคือข้าราชการรวมทั้งกระทรวงกลาโหมเองก็ออกมาคัดค้าน นายกฯ เองก็สั่งให้หยุดไปก่อน ดังนั้น เรื่องนี้คงไม่มีอะไรคืบหน้าในเร็ววัน เว้นแต่มีใครไปทำให้นายกฯ เชื่อว่าควรทำแบบนั้นแบบนี้ แล้วมีการตัดสินใจแบบฉับพลันทันใด นอกเหนือจากกรณีนั้นแล้ว ทั้งสามโครงการคงไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ

“สำหรับ 30 บาท นั้น ไม่ว่าจะภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับไหนหรือรัฐบาลไหน ก็มีแนวโน้มที่จะถูกทำให้เป็นสวัสดิการชั้น 2 หรือชั้น 3 อยู่แล้ว ตั้งแต่แรก 30 บาทได้รับงบในระดับที่ไม่สามารถจัดบริการที่มีคุณภาพที่ได้มาตรฐานได้อยู่แล้ว งบถูกแช่แข็งตั้งแต่ช่วง 2 ปีแรกสมัยทักษิณ มาช่วงหลัง สมัยคุณหมอประดิษฐ์ สินธวณรงค์ เป็นรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข ก็มีความคิดที่จะแช่แข็งงบ 30 บาทไว้ 3 ปี ซึ่ในที่สุดจะเรียกว่าทำสำเร็จก็คงได้

“คนจำนวนมากและรัฐบาลก็มีความเชื่อว่า ถ้าปล่อยให้งบ 30 บาทขึ้นไปจะทำให้เป็นภาระกับประเทศมาก และจะทำให้ความสามารถในการแข่งขันของไทยลดลง ความเชื่อนี้ไม่ได้เพิ่งเกิดในยุครัฐประหาร แต่เกิดมาในยุครัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งด้วย โครงการ 30 บาทได้เพิ่มงบครั้งแรกในปีที่ 3 ในสมัยทักษิณ จากนั้นก็เพิ่มอย่างช้าๆ หลังจากนั้นมาเพิ่มอีกทีสมัยรัฐบาลสุรยุทธ์ จุฬานนท์ แนวโน้มจริงๆ เป็นการเพิ่มแบบช้าๆ แต่เนื่องจากเวลาผ่านไปแล้วเกือบ 15 ปี งบจึงขึ้นมาจาก 1,200 มาเป็น 3,000 บาท ซึ่งอัตราการเพิ่มไม่ได้สูง และเป็นการเพิ่มจากอัตราที่ต่ำมากตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว

“เพราะฉะนั้นถ้ามันอยู่แบบนี้ไปเรื่อยๆ คือต่อให้ไม่มีใครไปแตะมันเลย  30 บาทก็จะยังเป็นประเด็นเป็นปัญหา  การที่จะจัดบริการ 30 บาทให้มีคุณภาพจริงๆ ด้วยเงินขนาดนี้เป็นเรื่องที่ยากมากๆ ที่ผ่านมา ฝั่งที่คัดค้าน 30 บาท ก็ต้องการให้เก็บเงินจากผู้ป่วยหรือการร่วมจ่าย และอาจารย์ด้านประกันภัยจากนิด้ารายหนึ่งก็เสนอให้ประชาชนร่วมจ่ายอีกเท่าตัวแล้วยกไปให้บริษัทประกันเอกชนทำ แบบเดียวกับโมเดลที่ได้ยินเกี่ยวกับสวัสดิการสุขภาพข้าราชการ โดยมองว่าวิธีนี้จะสามารถปรับปรุงคุณภาพ 30 บาทได้ โรงพยาบาลก็อยู่ได้ แต่การเสนอให้ประชาชนร่วมจ่ายอีกเท่าตัวเป็นเรื่องใหญ่และคงไม่เกิดขึ้นง่ายๆ

“ถ้า 30 บาทได้เงินเท่าที่เป็นอยู่ เราก็จะเห็นสถานการณ์ที่โรงพยาบาลประมาณร้อยละ 10-20 มีปัญหาการเงินต่อไป ตัวเลขนี้ในภาพรวมอาจดูไม่สูงมาก  แต่ไม่ใช่สถานการณ์ปกติแน่ และผู้บริหารและแพทย์พยาบาลในโรงพยาบาลเหล่านั้นก็อาจจะต้องทำงานภายใต้ความกดดันที่สูงกว่าปกติ

“ที่พูดมานี้เป็นส่วนที่ไม่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญฉบับไหนทั้งสิ้น แต่ถ้าจะถามว่ารัฐธรรมนูญนี้มีแนวโน้มทำให้สภาพปัญหาแย่ลงหรือเปล่า ผมเห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้พยายามเขียนป้องกันรัฐบาลมากขึ้น เช่น แทนที่จะเขียนตามโครงการที่เกิดขึ้นจริงที่ปัจจุบันรัฐบาลให้บริการฟรี  ก็เขียนแค่ว่ารัฐบาลมีหน้าที่จัดบริการให้ทุกคนและจัดบริการฟรีให้แก่ผู้ยากไร้ แต่หลายคนที่หนุนรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็จะบอกว่ารัฐธรรมนูญฉบับเก่าๆ ก็เขียนทำนองนี้เช่นกัน ซึ่งก็จริง คือไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับไหนที่กำหนดว่าจะให้บริการฟรีแก่ประชาชนทั้งประเทศ รวมทั้งรัฐธรรมนูญ 2540 ที่ออกมาก่อน 30 บาท  แต่ถ้าดูภาพรวมและเจตนารมณ์รวมของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ก็ค่อนข้างชัดว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ต้องการลดบทบาทของรัฐลงในเรื่องเหล่านี้ และให้ประชาชนเข้ามารับภาระมากขึ้น ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องสาธารณสุข ยังมีเรื่องการศึกษา ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะมาแนวนี้ตลอด

“แต่ก็อีกนั่นแหละ ในประเทศไทย ไม่ว่าจะยุคไหน รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายที่มีผลน้อยที่สุดและฉีกง่ายที่สุด รัฐธรรมนูญอาจจะสะท้อนแนวคิดที่ถกเถียงกันอยู่ แต่รวมๆ แล้ว ผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นโดยตรงจากรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะในระยะเวลาอันสั้นก็คงไม่มี”

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท