Skip to main content
sharethis

30 ธ.ค. 2559 จากกรณีเมื่อวันที่ 27 ธ.ค.ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบ อนุมัติและรับทราบตามที่กระทรวงคมนาคม เสนอ ดังนี้ 1. เห็นชอบการจัดตั้งกรมการขนส่งทางราง  2. อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่..) พ.ศ. .... และ   ร่างพระราชบัญญัติการขนส่งทางราง พ.ศ. .... รวม 2 ฉบับ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต่อไป 3. รับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรองและกรอบระยะเวลา และแผนการขนส่งทางราง  ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการจัดตั้งกรมการขนส่งทางราง และ 4. มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมเร่งดำเนินการจัดตั้งบริษัทใหม่รวม 3 บริษัท โดยเร็ว (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม)

โดยก่อนหน้านั้นเมื่อวันที่ 20 ธ.ค.59 สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) ได้ออกแถลงการณ์คัดค้านการจัดตั้งกรมขนส่งทางรางและการจัดตั้งบริษัทเดินรถบริษัทซ่อมบำรุงรางและล้อเลื่อนและบริษัทบริหารทรัพย์สิน และหลังจาก ครม.มีมติดังกล่าว วันนี้(30 ธ.ค.59) สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟฯ ได้ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 2 เรื่อง ความเคลื่อนไหว กรณีการจัดตั้ง "กรมการขนส่งทางราง"

เมื่อวันที่ 28 ธ.ค.ที่ผ่านมา มติชนออนไลน์ รายงานด้วยว่า อำพน ทองรัตน์ ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย กล่าวถึง การจัดตั้งกรมการขนส่งทางรางที่ ครม. มีมติดังกล่าวว่า สหภาพฯรถไฟคัดค้านการจัดตั้งกรมการขนส่งทางรางมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอยากจะฝากข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลว่า บทบาทหน้าที่ของกรมขนส่งทางรางควรเป็นแค่ผู้กำกับดูแลนโยบาย ไม่ใช่เป็นผู้เข้ามาบริหารงานอย่างที่ระบุไว้ในเนื้อหาที่ครม.อนุมัติ นอกจากนี้มองว่าการเปิดให้เอกชนเข้ามาแข่งบันบนระบบรางอย่างเสรี การตั้งบริษัทลูกคือ บริษัทเดินรถและบริษัทซ่อมบำรุง เป็นการสอดไส้ในเนื้อหาที่ทางสหภาพฯ ไม่เห็นด้วย

“เนื้อหาที่สอดแทรกทั้งการให้อำนาจกรมการขนส่งทางรางเข้ามาบริหาร การตั้งบริษัทลูกคือ บริษัทเดินรถและบริษัทซ่อมบำรุง ทางสหภาพฯการรถไฟไม่เห็นด้วย และจะดำเนินการคัดค้านให้ถึงที่สุด เนื่องจากมองว่าจำเป็นต้องตั้งกรมการขนส่งทางราง ปัจจุบันสามารถดำเนินการบริหารจัดการภายในองค์กรได้อยู่แล้ว หากให้อำนาจในการบริหาร โดยเฉพาะการเปิดให้เอกชนเข้ามาแข่งขันบนระบบรางอย่างเสรีอาจจะเกิดปัญหากับการรถไฟฯ ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจในอนาคต อย่างไรก็ตาม คาดว่าหลังจากหยุดเทศกาลปีใหม่ทางสหภาพฯ จะนัดประชุมสมาชิกเพื่อหารือและกำหนดยุทธศาสตร์ร่วมกัน” อำพนกล่าว

อำพน กล่าวว่า สำหรับการตั้งบริษัทบริหารทรัพย์สิน ทางสหภาพฯ เห็นด้วย เนื่องจากการบริหารพื้นที่รถไฟกว่าแสนไร่ ที่ผ่านมายังไม่มีผู้ชำนาญการที่จะมาดูแลในเรื่องนี้ จึงมองว่าหากมีการตั้งบริษัทบริหารทรัพย์สินนี้ขึ้นจะทำให้มีการจัดการที่ดินทางรถไฟให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะที่ดินในเชิงพาณิชย์

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net