สนช.มั่นใจประเมินแล้วพระไม่ชุมนุมต้าน 'พ.ร.บ.สงฆ์' ชี้มีเลือกตั้งกลางปี 2561

สนช. มั่นใจประเมินแล้วพระไม่ชุมนุมต้าน 'พ.ร.บ.สงฆ์' อ้างก่อนลงมติประเมินกันแล้วรัฐบาลรับมือไหว ระบุมีกฎหมายอีกร้อยกว่าฉบับต้องพิจารณาก่อนเลือกตั้งประมาณกลางปี 2561
 
31 ธ.ค. 2559 เว็บไซต์แนวหน้า รายงานว่านายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 30 ธ.ค. 2559 โดยไม่ทราบว่าจะเกิดม็อบพระสงฆ์ออกมาต่อต้านหรือไม่หลังจาก สนช.มีมติเอกฉันท์ผ่าน 3 วาระรวดร่างแก้ไข พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 แก้ไขเพิ่มเติม 2535 ให้เป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช โดยตัดอำนาจของมหาเถรสมาคม (มส.)ในการเสนอชื่อแต่งตั้งออกไป
 
"เรื่องที่มีการต่อต้านหรือจะมีม็อบพระนั้น ผมไม่ทราบว่าจะมีหรือไม่ เพราะเราแก้ไขให้กลับไปใช้แบบโบราณราชประเพณี หมายถึงแก้ไขไปสู่ก่อนการแก้ พ.ร.บ.คณะสงค์ปี 2535 ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่าหลังจากแก้ไขเมื่อ 2535 แล้วก็ยังไม่เคยมีการตั้งสมเด็จพระสังฆราชเลย" นายพรเพชรกล่าว
 
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่ากังวลหรือไม่ว่าจะเกิดม็อบพระขึ้นนายพรเพชร กล่าวว่าเรื่องนั้นก็ศึกษามาอยู่แต่ไม่ทราบว่าจะเป็นอย่างไร เราเป็นผู้รับผิดชอบในการออกกฎหมาย ส่วนเรื่องความสงบเรียบร้อย เป็นเรื่องของรัฐบาลที่ต้องดูแล เชื่อว่ารัฐบาลจะทำให้สังคมเดินหน้าต่อไปได้
 
ขณะที่นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธาน สนช. กล่าวว่าเรื่องที่มีแรงต้านก็เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องดูแล แต่ส่วนตัวเชื่อว่าไม่น่าจะเกิดการออกมาชุมนุมต่อต้านของพระสงฆ์ในตอนนี้ เพราะก่อนหน้านี้เรามีข้อสังเกตไปยังรัฐบาลว่าคณะกรรมาธิการฯ ได้ศึกษาแล้วว่า ไม่น่าจะเกิดการชุมนุมของพระ และเท่าที่ฟังทางคณะกรรมาธิการฯ ก็บอกว่ามีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ไม่ใช่มีแต่คนค้านอย่างเดียว ดังนั้นจึงเชื่อว่ารัฐบาลมีข้อมูลและรับมือได้
 
ระบุมีกฎหมายอีกร้อยกว่าฉบับต้องพิจารณาก่อนเลือกตั้งประมาณกลางปี 2561
 
ด้าน มติชนออนไลน์ รายงานว่านายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คนที่หนึ่ง กล่าวถึงการทำงานของ สนช.ตลอดปี 2560 จะมีงานสำคัญ คือ การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ 10 ฉบับ รวมไปถึงกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอีก 50 ฉบับ รวมแล้วประมาณ 60 ฉบับ ซึ่งต้องทำตามกรอบเวลาของรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้ ยังมีกฎหมายที่คณะรัฐมนตรี มีมติเร่งรัดเป็นพิเศษอีก 41 ฉบับ รวมทั้งหมดแล้วประมาณ 100 ฉบับ และยังมีกฎหมายที่อยู่ในบัญชีตามโรดแมปของคณะรัฐมนตรีอีกมากกว่า 100 ฉบับ ซึ่งเป็นภารกิจในปี 2560 ที่ต้องรับผิดชอบเพื่อออกกฎหมายให้เป็นเครื่องมือกับรัฐบาลบริหารประเทศ ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของโรดแมปก่อนนำไปสู่การเลือกตั้งประมาณกลางปี 2561
 
ผู้สื่อข่าวถามว่าตลอดปีที่ผ่านมาประเมินผลงานของ สนช.อย่างไร นายสุรชัยกล่าวว่า ในภาพรวมส่วนตัวให้ 80% ส่วนที่เหลืออีก 20% เป็นเรื่องการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.บางฉบับที่ล่าช้า เพราะขอขยายเวลาหลายครั้ง หรือบางฉบับมีข้อผิดพลาดเล็กๆ น้อยๆ จนนำกลับมาแก้ไข อย่างไรก็ตาม ในช่วงเปลี่ยนผ่านของบ้านเมืองมีเรื่องที่ต้องช่วยกันคิดเยอะๆ ทำอย่างไรไม่ให้กลับไปสู่วังวนเดิม ทำอย่างไรที่จะเห็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งทุ่มเทไปกับการบริหารการเมืองให้เกิดประโยชน์กับบ้านเมือง
 
เมื่อถามว่า ยืนยันได้หรือไม่ว่าการเลือกตั้งจะมีตามโรดแมป นายสุรชัยกล่าวว่า คงไม่ยืนยันในเรื่องนี้เพราะไม่ได้มีหน้าที่จัดการเลือกตั้ง แต่ยืนยันว่าจะพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญให้เสร็จภายใน 60 วันตามกรอบของรัฐธรรมนูญ ที่ผ่านมารัฐบาลยืนยันมาตลอดว่าจะทำตามโรดแมป เมื่อถามว่า ที่ผ่านมาทำไมยังไม่เห็นร่างกฎหมายที่นำไปสู่การปฏิรูปประเทศในเชิงโครงสร้าง เพราะกฎหมายที่เข้าสู่ สนช.ส่วนใหญ่จะเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการปรับการทำงานของส่วนราชการ นายสุรชัยกล่าวว่า ส่วนตัวก็รู้สึกแบบนั้นเหมือนกัน การปฏิรูปยังขับเคลื่อนไปได้ช้า ซึ่งอาจติดขัดในบางส่วน ทั้งนี้ การประชุมคณะกรรมการประสานงาน 3 ฝ่ายที่ผ่านมาก็หารือในเรื่องนี้ค่อนข้างมาก ซึ่งอาจเป็นเพราะการออกแบบการทำงานที่มีขั้นตอนเยอะเกินไป ทั้งๆ ที่สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้คิดเสร็จหมดแล้ว
 
“ผมกลับมองเห็นว่า สปท. (สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ) ควรเข้ามาขับเคลื่อนสิ่งที่ สปช.คิดให้เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา เพียงแค่นี้ก็จบ แต่ปรากฏว่ามีการนำเรื่องนั้นเรื่องนี้มาถกเถียงกันทั้งๆ ที่มีการศึกษากันจบแล้วในชั้นของ สปช. และมาเจอเงื่อนไขว่าถ้า สปท.มีมติขับเคลื่อนเรื่องไหนก็ส่งไปที่รัฐบาลและเข้าสู่คณะทำงานศึกษาของรองนายกฯอีก ซึ่งตามปกติรองนายกฯ มีภารกิจมากอยู่แล้ว ดังนั้น ผมจึงเห็นด้วยกับการที่นายกรัฐมนตรีตั้งคณะกรรมการเร่งรัดการปฏิรูป” นายสุรชัยกล่าว
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท